ภาพตรงหน้าผมคือพระเจดีย์ทององค์ใหญ่ยืนเด่นอยู่ตรงกลาง ขนาบข้างด้วยพระวิหารทิศและพระอุโบสถข้างซ้าย-ขวา มีพระระเบียงโค้งอันเป็นเอกลักษณ์ ทำหน้าที่เชื่อมต่ออาคารแต่ละหลังไว้ด้วยกันเมื่อประกอบเข้ากับพระบรมราชานุสาวรีย์ด้านหน้า กับบรรดาต้นไม้ซึ่งล้วนดูสมจริงไปทุกต้น แม้ภาพจำลองที่เห็นจะดูเหลี่ยม ๆ แข็ง ๆ ไปนิด แต่สายตาคนที่เข้าวัดเป็นนิตย์เยี่ยงผมก็มองออกทันทีว่าภาพนี้คือ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดประจำรัชกาลที่ 5 และที่ประทับของ สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน
ทุกอย่างที่เห็นในโปสต์การ์ดใบนี้ไม่ได้เกิดจากการวาดหรือถ่าย หากเป็นภาพจากการถ่ายหน้าจอเกม Minecraft ที่ได้รับการสรรสร้างโดยกลุ่มผู้ดูแลเพจ ‘Minecraft Architecture’ เพจของคนรุ่นใหม่หัวใจรักศิลปะไทย ซึ่งไม่ว่าใครที่ได้เข้าไปส่องเพจของพวกเขาก็คงต้องอึ้งและทึ่งไปตาม ๆ กันว่าเกมยอดฮิตของวัยโจ๋ที่ทุกอย่างเป็นบล็อกสี่เหลี่ยมจะสร้างงานละเอียดได้ขนาดนี้เชียวหรือ
พวกเขารวมตัวกันเปิดเพจครั้งแรกในชื่อ ‘Minecraft สถาปัตยกรรม’ เมื่อ พ.ศ. 2560 ลองผิดลองถูกกับการสร้างโมเดลวัดและวังสำคัญอยู่หลายแห่ง ทั้งวัดพระแก้ว วัดโพธิ์ พระที่นั่งอนันตสมาคม ฯลฯ
บางครั้งข้ามไปทำอาคารสำคัญ เช่น สถานศึกษาอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนเพาะช่าง
บางโอกาสก็สลับไปทำสถานที่สำคัญในต่างประเทศ เช่น วิหารเวสต์มินสเตอร์ในลอนดอน โชโดอินของญี่ปุ่น หรือพระราชวังต้องห้ามแห่งกรุงปักกิ่ง
บางเวลาก็หาญกล้าถึงขั้นสร้างโบราณสถานที่พังทลายไม่เหลือซากให้มีชีวิตขึ้นมาใหม่
และกำลังวางแผนสร้างโปรเจกต์ใหญ่ยักษ์ที่สาวกเกม Minecraft ทั่วโลกคงต้องสดุดีต่อความคิดสร้างสรรค์กับความอุตสาหะอันแรงกล้าของพวกเขา
โปรเจกต์นั้นจะเป็นอะไร อดใจไว้ก่อน เพราะวันนี้ ณัฐ-ณัฐวุฒิ เอื้อธีรมงคล และ น้ำมนต์-ศิวัช สุขเลิศกมล 2 หนุ่มแอดมิน Minecraft Architecture อยู่กับเราแล้ว พวกเขาพร้อมจะคลายความสงสัยของคุณในทุกเรื่อง พร้อมทั้งพิสูจน์ให้เห็นว่าศิลปะจากเกมรักของพวกเขา ‘สมจริง’ เพียงไร!
แก๊งเด็กรักสถาปัตย์
“เราชอบศิลปะไทย ชอบตั้งแต่ตอนเด็กที่ยังไม่มี Minecraft ชอบเข้าวัดจนกระทั่งโดนญาติไล่ไปบวช” ณัฐซึ่งปัจจุบันทำงานด้านการออกแบบกราฟิก 3 มิติเริ่มเล่าด้วยท่าทีสบาย ๆ ก่อนที่น้ำมนต์ซึ่งขณะนี้เรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะพูดถึงที่มาของตัวเขาบ้าง
“ตอนเด็ก ๆ ผมชอบประวัติศาสตร์อยู่แล้วครับ เมื่อก่อนเวลาศึกษาประวัติศาสตร์ก็เริ่มต้นง่าย ๆ จากหนังสือการ์ตูน มันจะมีสถานที่ฉากหลังของแต่ละเหตุการณ์ ซึ่งผมก็เริ่มสนใจว่าแต่ละที่ วัด พระที่นั่ง เหตุการณ์นี้เป็นยังไง เลยเริ่มมาศึกษาด้านสถาปัตยกรรมมากขึ้นครับ”
จากช่องว่างระหว่างอายุและสาขาวิชาเรียนที่แตกต่าง ณัฐกับน้ำมนต์คงเป็นแค่เพียงคนแปลกหน้าที่ไม่มีวันโคจรมาพบกันได้เลย ถ้าไม่ใช่เพราะทั้งคู่มีความสนใจร่วมกัน นั่นคือ ‘Minecraft’ เกมแนว Sandbox Open World สัญชาติสวีเดนที่ครองใจวัยรุ่นเจน Y เจน Z ทั้งโลก ออกแบบทุกสิ่งมาในรูปทรงลูกบาศก์ ชวนคิดถึงเกมยุค 90 ที่เต็มไปด้วยภาพความละเอียดต่ำจนพิกเซลแตกเป็นบล็อก
“Minecraft เป็นเกมที่กว้าง เราจะเล่นสายไหนก็ได้ สร้าง ทำลาย หรือผจญภัย ตอนแรกผมก็เป็นสายพวกนั้นมาตลอด แต่มันมีอีกโหมดก็คือ Creative เหมือนการขึ้น 3D เราออกแบบอะไรก็ได้ทุกด้าน แค่เป็นสี่เหลี่ยม” ณัฐแจงเหตุผลที่เขาเลือกใช้เกมนี้ในการออกแบบงาน
“ก่อนหน้านี้ผมเคยลองวาดอาคารด้วยโปรแกรม 3D ซึ่งมันยังไม่สุด คำสั่งค่อนข้างเยอะ แล้วคอมพิวเตอร์ก็พังไปเลย พอมาเป็น Minecraft มันค่อนข้างเบา แต่ต้องแลกหน่อย ความงามจะหายไป แต่ก็ทำให้สุดได้ในขีดจำกัดของมัน”
บนความสนใจที่คู่ขนานกันไประหว่างศิลปะไทยกับ Minecraft ณัฐพบว่าแทบไม่มีใครเคยเล่น Minecraft โหมด Creative เพื่อสร้างวัดไทย แต่กลับได้พบว่ามีใครสักคนหนึ่งสร้างรูปยักษ์ไทยในเกมนี้ เขาเลยก่อตั้งเพจขึ้นมาในชื่อตัวเองเป็นอันดับแรก ทำให้เขาได้พบกับน้ำมนต์และอีกหลาย ๆ คนที่ช่วยกันขับเคลื่อนคอนเทนต์บนเพจทุกวันนี้
“พอในกลุ่มมีคนสนใจงานแบบนี้เพิ่มมากขึ้น ก็เลยมาตั้งเป็นเพจนำเสนอผลงานของแต่ละคนในกลุ่ม แล้วก็ทำมาเรื่อย ๆ ครับ” แอดมินรุ่นน้องบอก
ทีมงาน Minecraft สถาปัตยกรรม
ในยุคแรก ณัฐและน้ำมนต์ต่างมีเพจและช่องยูทูบส่วนตัว ต่างออกแบบวัดวาอารามในรูปแบบบล็อกมายคราฟต์ แล้วเปิดแชนเนลยูทูบพาชมผลงานไปด้วย
“ผมทำวัดพระแก้วปี 2015 เป็นดราฟต์แรกสุด ก็ประมาณ 8 ปีมาแล้วครับ เป็นผลงานแรกที่ค่อนข้างหยาบ ทรงต่าง ๆ หลังคามีสามเหลี่ยมด้านเท่า เจดีย์ต่าง ๆ ยังไม่ได้ทรง นั่นเป็นยุคที่เล่นไปแล้วก็ลง YouTube ไป คนดูก็เข้ามาดูเยอะทั้งที่ไม่ได้สวยอะไร แต่งงกับปัจจุบันที่งานอัปเกรดขึ้น แต่คนดูน้อยลง” ณัฐหัวเราะให้กับผลงานรุ่นตั้งไข่ของตัวเอง ก่อนกำชับกับเราด้วยสีหน้าเช่นเดิมว่า
“อันนั้นก็อย่าไปหาดูเลยครับ เป็นเด็กกะโปโลมาก”
หลังจากได้ทดลอง พัฒนาฝีมือมาเป็นระยะ ณัฐและเพื่อนฝูงก็พบว่าผลงานของพวกตนมีดีพอจะอวดโฉมให้สาธารณชนได้ชมจริงจังแล้ว ใน พ.ศ. 2560 เพจ Minecraft Architecture รุ่นแรกจึงเปิดตัวในชื่อ ‘Minecraft สถาปัตยกรรม’
“ที่จริงแอดมินมีหลายคนครับ หลัก ๆ มี 3 คน” 2 ใน 3 คนของแอดมินกลุ่มยืนพื้นพูดเสริมกัน “มีพวกผม อีกคนชื่อ ฟิล เป็น Builder อยู่ในเกม แล้วก็มีคนช่วยประมาณ 3 คน แต่ไม่ได้ประจำ ช่วงนี้เปิดเทอมอยู่ ส่วนใหญ่ยังเรียนกันอยู่ครับ”
นอกจากน้ำมนต์ ยังมีสมาชิกกลุ่มที่เรียนมาทางสถาปัตยกรรมไทยโดยตรงอีกหลายคน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทั้งหมดจะเรียนทางด้านนี้ด้วยกันทั้งหมด บางคนเรียนการตลาด วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ โขน และอื่น ๆ อีกมาก แม้แต่ตัวณัฐเองก็เรียนจบมาจากภาควิชาเครื่องปั้นดินเผา คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทุกคนมาเพราะมีใจรักใน Minecraft และสถาปัตยกรรมทั้งสิ้น
“เป็นความชอบครับ อย่างผมไม่ได้เรียนสถาปัตย์มา ก็มาปรับกันในกลุ่มนี่แหละ รู้ประมาณหนึ่ง แต่ความรู้ไม่เทียบเท่ากับคนเรียนสถาปัตย์” ตัวตั้งตัวตีในการสร้างเพจออกตัว
หน้าที่ของเหล่าแอดมิน
มาถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยครามครันแล้วว่าทีมของณัฐและน้ำมนต์มีวิธีการทำงานกันอย่างไร ในเมื่อต่างคนต่างเรียนมาคนละด้าน ฝีไม้ลายมือในการออกแบบสถาปัตยกรรมในเกมก็คงจะแตกต่างกันไปตามความรู้ความถนัดของแต่ละคน
“งานของแต่ละคนใช่ไหม ผมเป็นคนตรวจความถูกต้อง แล้วก็มีคนตรวจแบบซ้ำอีกคนหนึ่ง คนนี้จะเป็นทั้งคนสร้างและคนตรวจแบบเลย” ณัฐอธิบายทีละส่วน
“ผมหาวิธีแฮ็ก Map คือเอา Map ตัวนี้ไปกางเป็นรูปทรงภาพวาด 3 มิติ (Isometric) ได้ กาง Top Front Side เขียนแบบเลย ให้ใช้วิธีการตรวจแบบสถาปัตยกรรมได้จริง ๆ เอาพิกเซลต่าง ๆ ไปทาบกับแปลนจริง แล้วก็ตัดทอนออกมาให้ได้รูปทรง มันก็จะเป๊ะระดับหนึ่ง ขอแค่มีภาพลายเส้นของแต่ละวัด แล้วอีกคนหนึ่งเป็นผู้ช่วย มาช่วยทำต่าง ๆ อย่างเช่น คนหนึ่งวางโครงสร้างไว้แล้วเป็นหลัก ที่เหลือ เช่น กระเบื้องลอนหลังคาปูให้เต็มแล้วก็ช่วยย้าย ช่วยดูระบบใน Server ต่าง ๆ ครับ”
ก่อนจะดีไซน์งานใดก็ตาม สิ่งแรกที่พวกเขาต้องทำคือการหาแปลนสถานที่แห่งนั้นจาก Google Maps เพราะทุกคนต่างเห็นพ้องว่าเป็นแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ในระดับ 80 – 90 เปอร์เซ็นต์ ขั้นต่อมาคือหาพิมพ์เขียวหรือภาพ Top View อันเป็นลายเส้นที่ผ่านการทำสำรวจรังวัดมา เป็นหนังสือ 1 เล่ม ภาพหลักเป็นลายเส้นทั้งหมด
“ตอนนี้พิมพ์เขียวที่ชัดสุดคือวัดอรุณฯ ครับ แต่ของวัดพระแก้วต้องหาแยกส่วนเอา หาส่วนของวัด แล้วก็หมู่พระที่นั่งต่าง ๆ มาทาบ มาประกอบกันใน Google Maps แผ่นเดียว อย่างที่พระบรมมหาราชวังมีเขตวัด มีหมู่พระมหามณเฑียร พระที่นั่งจักรีฯ แล้วก็หมู่พระที่นั่งดุสิตฯ ผังที่เป็นลายเส้นตรงจริง ๆ ทั้งแผ่นมันหายาก ก็ต้องหาภาพแผ่นไปเรื่อย ๆ ชั้นเลเยอร์ล่างสุดเป็น Google Maps ส่วนเลเยอร์ที่ 2 จะเป็นพิมพ์เขียว เลเยอร์ที่ 3 ถึงจะเป็นตัวเกม เราสร้างอะไรก็จะเอามาดราฟต์กับตัวแปลน ก็จะได้ความเป๊ะขึ้นมา 50 – 80 เปอร์เซ็นต์”
แต่อุปสรรคใหญ่ที่ณัฐและเพื่อนต้องเจอคือภูมิประเทศของกรุงเทพมหานคร
“วัดในกรุงเทพฯ จะมีปัญหาเรื่องความเอียง ความลาดชันของพื้นที่แม่น้ำ บางจังหวะของกำแพงวังก็ต้องสร้างเอียงตามพื้นแม่น้ำ ซึ่ง Minecraft ไม่ใช่ว่าทำเอียงแล้วไม่สวย ทำสวยได้แต่ว่างานต้องมีสเกลที่ใหญ่พอสมควร มันถึงจะสวยได้ครับ”
สร้างลอกเลียน – สร้างสันนิษฐาน
ก่อนจะสร้างวัดหรือวังใด ๆ ด้วยมายคราฟต์ ทีมแอดมินมักต้องลงพื้นที่สำรวจสถานที่จริงเพื่อนำไปลงรายละเอียด บางแห่งทำซ้ำหลายรอบเมื่อได้รับข้อมูลใหม่ หรือพัฒนาทักษะการสร้างได้ดีกว่าเดิม ที่มากที่สุดคือพระบรมมหาราชวังที่พัฒนาจากเดิมทั้งขนาด สัดส่วนสถานที่ องค์ประกอบยิบย่อย จนดูอ่อนช้อยเหมือนจริงในฉบับล่าสุด ซึ่งณัฐลงมือสร้างแล้วสร้างอีกจนมาถึงเวอร์ชันที่ 5
ณัฐกล่าวอีกว่าสไตล์การสร้างของเขาเป็นแบบ Reproduct คือลอกเลียนแบบจากสถานที่จริง ซึ่งมีความท้าทายอยู่ที่การสร้างให้เหมือน หลายครั้งต้องหาภาพถ่ายจากโดรน รวมไปถึงงานถ่ายทอดสดพระราชพิธีทั้งหลายซึ่งจะช่วยให้ได้เห็นบรรยากาศของอาคารบางแห่งที่ปกติไม่เปิดให้เข้าชม ขณะที่น้ำมนต์สร้างงานแนวสันนิษฐาน ต้องออกแบบโดยสันนิษฐานจากซากปรักหักพังที่เหลืออยู่
“ผมสร้างกรุงศรีอยุธยา จำลองพระราชวังโดยสันนิษฐานขึ้นมาใหม่ จุดที่ยากของการทำงานสันนิษฐานก็คือแบบมันไม่นิ่ง บางทีเราได้ข้อมูลใหม่มา เราก็ต้องแก้ แก้ไปเรื่อย ๆ”
น้ำมนต์เล่าพลางอวดภาพพระที่นั่งสรรเพชญปราสาท พระที่นั่งองค์สำคัญในกรุงเก่าที่ปัจจุบันถูกทำลายจนเหลือเพียงฐานและกำแพงบางส่วนเท่านั้น
“วิธีการทำงานหลัก ๆ ก็จะคล้ายกับพี่ณัฐ ต้องหาตัวแผนผังก่อน เป็นผัง Photogrammetry การสแกนตัวพื้นที่ออกมาก็จะได้พื้นที่ที่ค่อนข้างเป๊ะกว่า Google Maps เพราะไม่ติด Perspective ของกล้อง แล้วก็เอาตัวนี้ไปกำหนดพื้นที่ฐานก่อนแล้วค่อยมาทำอาคารแต่ละหลัง เราก็จะอ้างอิงสภาพอาคารจากตัวเอกสารโบราณเป็นหลัก อย่างกรุงศรีอยุธยาก็จะใช้ คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เป็นเอกสารหลัก เพราะอธิบายเยอะสุด แล้วค่อยไปดูเอกสารอื่นประกอบ
“แต่บางทีเอกสารก็ให้ภาพลักษณ์ได้ไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์เท่าไหร่ เราก็ต้องไปอ้างอิงจากอาคารร่วมสมัยอื่น ๆ อย่างจะทำพระตำหนักวังหลวงก็ต้องไปอ้างอิงจากศาลาการเปรียญที่เพชรบุรี ต้องหาข้อมูลจิตรกรรม สถาปัตยกรรมที่เหลืออยู่เอามาประกอบ งานผมเลยจะยากตั้งแต่ขั้นตอนการหาข้อมูล ขั้นตอนการก่อสร้างที่บางทีเราสันนิษฐานรูปภายนอกได้ แต่โครงสร้างไม่ถูกต้อง ก็จะขึ้นโครงต่อไม่ได้ อันนี้เป็นจุดยากอีกจุดหนึ่งครับ”
ครั้งถามถึงขั้นตอนที่ยากที่สุด ทั้งสองตอบได้ทันทีว่าเป็นตอนแรกเริ่ม
“เริ่มทำครับ การจะเอาแผนที่กูเกิลมาทาบกับ Minecraft อันนี้ผมน่าจะรู้ขั้นตอนดีที่สุด เพราะว่าน้องอีกคนเขาไม่ได้ทำในส่วนนี้ ถ้าผมไม่เริ่ม คนอื่นก็จะทำต่อไม่ได้ จุดนี้คือจุดที่จะต้องคั้นตัวเองให้ทำให้ได้ ยากที่สุดเพราะเริ่มต้นจากศูนย์เลย” ณัฐวุฒิพูดด้วยสีหน้าหนักใจเหมือนดังเรื่องที่กำลังเล่า
“แต่เวลาทำก็แป๊บเดียวถ้าตั้งใจหน่อย ต้องมีสมาธิสุด เพราะเราต้องอิงกับงานอื่นที่เคยทำมาแล้ว เช่น ตอนเริ่มทำวัดราชบพิธฯ ให้อยู่ในสเกลเดียวกันกับวัดพระแก้ว อันนี้คือต้องเอาวัดพระแก้วมาทาบทั้งวัดกับผังของวัดราชบพิธฯ ทั้งวัด แล้วต้องวางเส้นต่าง ๆ ให้มันดูสัดส่วนว่าพิกัด X Y Z อยู่ตรงไหนบ้าง ที่เหลือเป็น Follow Process กันแล้วคือต่อขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่จุดนี้คืออย่าพลาดเลย ไม่งั้นทำไปก็สูญเปล่า”
ล้มแล้วต้องลุก
ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 – 2565 ระยะเวลา 5 ปีได้สร้างผู้ติดตามให้เพจ ‘Minecraft สถาปัตยกรรม’ นับหมื่น ส่วนใหญ่มาจากผู้ชื่นชอบด้านสถาปัตยกรรมโบราณเหมือนพวกเขาเป็นทุน อีกประเภทคือกลุ่มลูกเพจที่ชอบเข้าวัด และส่วนน้อยที่เริ่มตามเพราะมี Minecraft เป็นตัวตั้ง
“พวกที่ตามเพราะ Minecraft ก็มีนะครับ ประมาณว่าเขาอยากสร้างอะไรสวย ๆ ก็จะมีกลุ่มที่เปิดเป็นแฟนคลับไว้” สองหนุ่มช่วยกันตอบ “เป็นกลุ่มที่ให้คนติดตามเขามาแลกเปลี่ยนผลงานกันว่าควรจะทำอะไร ทำยังไง ก็จะมีกลุ่มให้พวกเขาครับ
แต่แล้ววันดีคืนดี เพจที่ณัฐ น้ำมนต์ และคนอื่น ๆ ร่วมกันปลุกปั้นมานานกว่า 5 ปี ก็มีอันต้องถูกระงับการเผยแพร่ ด้วยเหตุผลที่พวกเขาเองก็ยังไม่เข้าใจมาจนถึงตอนนี้
“วันที่เพจโดนปิดเป็นวันที่ผมจะปล่อยโปรเจกต์พระราชวังเดิมของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วันนั้นเป็นวันที่ 28 ธันวาคม วันพระเจ้าตาก วันนั้นคือเพจไปเลย ผมจะให้เครดิตเพจที่เป็นคู่ขนานกับเราคือ ‘Minecraft มหาสมาคม’ ใส่เครดิตว่าใครช่วยสร้างบ้าง แท็กให้เพจนั้นขึ้นมาบนเฟซบุ๊กที่มันบั๊ก คิดว่าน่าจะเหตุผลนี้ บั๊กปุ๊ป ขึ้นเตือนว่าเพจคุณโดนระงับการเผยแพร่แล้ว ถึงวันนี้ทำอุทธรณ์ไปก็ยังเงียบอยู่เลย แล้วปัญหานี้เคยเกิดขึ้นกับเพจปัจจุบันด้วย เคยโดนไป แต่แก้ไขได้เร็วกว่า
“เฟซบุ๊กไม่ได้แจ้งว่าทำไมเพจเราโดนปิด เราไม่ได้โดนลบเพจ ข้อมูลในเพจเก่าก็ยังอยู่ เราดูดรูปเก่ามาลงใหม่ทั้งหมดเลยก็ได้ แต่คอนเทนต์ 5 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่เพจเก่าจะโดนปิดมันค่อนข้างเยอะ ถึงทุกวันนี้ยังลงคอนเทนต์เพจเก่าในเพจใหม่ไม่หมดเลย”
เพจเดิมที่มียอดผู้ติดตามกว่า 12,000 คนต้องหยุดดำเนินการไปเพราะเหตุนี้ เหล่าผู้ดูแลได้แต่บอกว่าเสียดาย แต่แค่นั้นไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่พวกเขาจะสร้างเพจใหม่ขึ้นมาทดแทน
“เพจเก่ายอดไลก์ 12,000 คน เป็นหัวคะแนนธรรมชาติล้วน ไม่ได้ซื้อโฆษณาเลย ก็เสียดายครับ แต่ที่สำคัญคือเพจหายได้ แต่ Map อย่าหายก็พอ” แอดมินรุ่นพี่ตอบติดตลก “Map ใน Minecraft มันถ่าย Render ออกมาได้หลายรูปแบบ แล้วเราก็ไม่อยากให้ตรงนี้ตายไป เพจมันปั้นใหม่ได้ แต่ถ้าเป็นเฟซบุ๊กในปัจจุบันนี้ก็อาจลำบากหน่อย”
การเกิดใหม่ของ Minecraft Architecture
จะเป็นเพจเก่าที่ใช้ชื่อไทย หรือโฉมใหม่ที่ตั้งชื่อเป็นภาษาฝรั่ง สิ่งที่น้ำมนต์ ณัฐ และผองเพื่อนในทีมของพวกเขายังมุ่งมั่นทำต่อไป คือการเผยแพร่ผลงานสถาปัตยกรรมไทยและเทศฉบับมายคราฟต์ พร้อมด้วยข้อมูลอันเป็นประโยชน์ของสถานที่เหล่านั้น
ภาพผลงานที่อัดลงบนกระดาษไซซ์โปสต์การ์ดถูกนำไปถ่ายยังจุดต่าง ๆ ทั่ววัดราชบพิธฯ อันเป็นต้นแบบ ตั้งแต่พระระเบียงโค้ง พระเจดีย์ พระอุโบสถ ไล่ไปจนสุสานหลวง ก่อนที่ณัฐกับน้ำมนต์จะชวนผมข้ามถนนอัษฎางค์และรอบกรุงไปถึงวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ทั้งสองจึงเผยโปรเจกต์ปัจจุบันที่พวกเขากำลังทำอยู่ ซึ่งเป็นสาเหตุให้พวกเรานัดพบกันที่นี่…ในวันนี้…
“ตอนนี้เราทำโปรเจกต์วัดประจำรัชกาลอยู่ครับ ที่เสร็จไปแล้วก็มีวัดโพธิ์ (รัชกาลที่ 1) วัดอรุณฯ (รัชกาลที่ 2) แล้วก็วัดราชบพิธฯ (รัชกาลที่ 5) รวม 3 วัด ส่วนวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม (รัชกาลที่ 4) กับวัดราชโอรสาราม (รัชกาลที่ 3) อันนี้กำลังสร้างอยู่ ซึ่งวัดราชประดิษฐ์ก็เป็นวัดต่อไปที่คาดว่าจะเสร็จ แล้วก็จะข้ามไปวัดสุทัศนเทพวราราม (รัชกาลที่ 8) เลย เพราะผังค่อนข้างจะสมมาตร ไม่มีเจดีย์ด้วย มีแต่วิหาร อุโบสถ แล้วก็กุฏิด้านหลังเต็มไปหมด มันน่าจะง่ายกว่าวัดราชโอรสฯ ซึ่งเป็นวัดเล็กกว่า แต่ 2 ข้างที่เป็นกุฏิยังมีข้อมูลไม่ชัดเท่าไหร่ครับ”
พร้อมกับวัดประจำรัชกาล แอดมินในทีมยังมีอีกงานที่อยู่ในช่วงทดลองทำกัน คือการนำผลงานจาก Minecraft มาพรินต์เป็น 3 มิติ เริ่มด้วยพระบรมธาตุเจดีย์ ผลงานการออกแบบของรุ่นน้องชาวนครศรีธรรมราชที่ถูกนำมาปั้นด้วยเรซิ่น เร็ว ๆ นี้กำลังจะเปิด Pre-order เพื่อหารายได้เข้าเพจ
ทีมงาน Minecraft Architecture ยังตั้งเป้าจะขยายฐานลูกเพจของพวกตนไปในแพลตฟอร์มอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น TikTok, Instagram, Twitter รวมถึง Reddit
เหนือกว่าโปรเจกต์ใด ๆ คือความตั้งใจแน่วแน่ของพวกเขาที่จะจำลองแผนผังเกาะรัตนโกสินทร์ทั้งหมดมาอยู่ใน Minecraft ให้ได้ ทั้งวาดหวังว่าสักวันจะได้จัดแสดงงาน ‘ศิลปะ’ ของพวกตนที่ไหนสักแห่ง
“ใครที่คิดว่าเกมไม่มีประโยชน์ ต้องลองมาเล่นดู เพราะว่าพอเล่นปุ๊บ มันก็จะได้มุมมองใหม่ ๆ เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเกมไหนก็ตาม เกมสายนี้มันค่อนข้างจะมีขอบเขตที่กว้าง เพราะเกมไม่ได้กำหนดอะไรให้เราเลย เราเป็นคนกำหนดกฎเกณฑ์เกมนี้เอง เช่น การหาแหล่งข้อมูลอ้างอิงต่าง ๆ มาใช้ในงาน รวมไปถึงความใฝ่รู้ใฝ่เรียนที่ต้องเพิ่มเป็น 2 เท่า ถ้าอยากจะได้งานมาสเตอร์พีซจริง”
ณัฐตบท้ายถึงประโยชน์ที่เขาได้รับจากการเล่น Minecraft เช่นเดียวกับน้ำมนต์ผู้มั่นใจเต็มประดาว่าการเล่นเกมนี้ให้คุณแก่ตัวเขามากกว่าโทษอย่างแน่นอน
“ผมก็อยู่กับเพจนี้มานานพอสมควร อยากจะทำเพจนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะมันก็เป็นหนึ่งในความสุขของเราเวลาเล่นเกม ไม่ใช่ว่าแค่เล่นเกมฆ่าเวลาเฉย ๆ แต่เป็นการเล่นเกมที่ได้ประโยชน์ด้วย ดีใจที่ตอนนี้เพจเราผ่านมาได้ 6 ปีแล้ว ฝากว่าท่านใดที่อยากลองศึกษาสถาปัตยกรรมหรือสนใจด้านงานสถาปัตยกรรม ก็ฝากเพจ Minecraft Architecture ของเราด้วย เชื่อว่าจะเป็นแรงบันดาลใจได้ครับ”
Facebook : Minecraft Architecture
Twitter : Minecraft19555
TikTok : mcarchitecture_
Blockdit : MinecraftArchitecture
Reddit : Minecraft5512