นี่คือวัดที่ถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

นี่คือวัดที่เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชถึง 3 พระองค์รวมถึงพระองค์ปัจจุบัน

นี่คือวัดที่เป็นที่ตั้งของสุสานหลวงแห่งเดียวในกรุงเทพมหานคร นี่คืออีกหนึ่งวัดที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคารของในหลวงรัชกาลที่ 9 และนี่ยังเป็นอีกวัดที่นำพาโลกตะวันตกเข้ามาผสมผสานกับโลกตะวันออกอย่างลงตัวที่สุด

คุณสมบัติทั้งหมดนี้ชี้นำไปสู่วัดเพียงแห่งเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามสร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยโปรดฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ และเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) เป็นแม่กองอำนวยการสร้างวัดตามลำดับ

การก่อสร้างวัดแห่งนี้เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2412 เมื่อแรกสร้างวัด ทรงซื้อวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ ฑีฆชนม์เชษฐประยูร และเจ้าจอมมารดาคล้าย พร้อมกับซื้อบ้านเรือนข้าราชการและชาวบ้านเพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับสร้างวัด สิ้นพระราชทรัพย์ไปเป็นเงิน 2,806 บาท 37 สตางค์ (ดูเหมือนน้อย แต่เราต้องไม่ลืมนะครับว่านี่คือค่าเงินในสมัยรัชกาลที่ 5) พร้อมกันนั้นยังทรงนิมนต์พระสงฆ์จากวัดโสมนัสราชวรวิหารมาจำพรรษา พร้อมกับอัญเชิญ ‘พระนิรันตราย’ มาประดิษฐานเอาไว้ด้วย

โดยมูลเหตุในการก่อสร้างก็เพื่อให้เป็นไปตามโบราณราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์จะทรงสร้างวัด และยังแสดงถึงพระราชศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ด้วย

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ที่ตั้งสุสานหลวงกับศิลปะลูกครึ่งไทย-ฝรั่ง

หากเราเดินทางมายังวัดจากทางฝั่งคลองรอบกรุง วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม และอนุสาวรีย์หมู สิ่งแรกที่เราจะเจอก็คือสุสานหลวง แต่ผมขอพูดถึงพื้นที่ส่วนหลักของวัดจากทางฝั่งถนนราชบพิธฯ ก่อนนะครับ

วัดแห่งนี้มีพระมหาเจดีย์เป็นประธานของวัดอยู่ตรงกลางล้อมรอบด้วยระเบียงกลม มีพระอุโบสถอยู่ด้านหน้าและพระวิหารอยู่ด้านหลัง ระเบียงคดกลมนี้ถือเป็นประดิษฐกรรมใหม่ที่เพิ่งพัฒนาขึ้นในรัชกาลก่อนหน้าที่วัดพระปฐมเจดีย์ ก่อนจะนำมาใช้ที่วัดแห่งนี้ ดังนั้น เมื่อถนนราชบพิธอยู่ทางทิศเหนือของวัด สิ่งแรกที่เราจะเห็นเมื่อเดินผ่านประตูวัดที่แกะเป็นรูปทหารแต่งกายอย่างตะวันตกก็คือพระอุโบสถของวัด

พระอุโบสถหลังนี้เป็นอาคารแบบไทยประเพณี มีหน้าบัน 2 ชิ้น หน้าบันของมุขทำเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ซึ่งมักจะพบในพระอารามหลวงที่สร้างโดยพระมหากษัตริย์ ในขณะที่หน้าบันด้านในเป็นรูปช้าง 7 ช้างเทินพานรองพระเกี้ยว พระราชลัญจกรประจำพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ซึ่งช้างทั้งเจ็ดหมายถึงช้างเผือกทั้งเจ็ดช้างในรัชกาลของพระองค์

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ที่ตั้งสุสานหลวงกับศิลปะลูกครึ่งไทย-ฝรั่ง
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ที่ตั้งสุสานหลวงกับศิลปะลูกครึ่งไทย-ฝรั่ง
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ที่ตั้งสุสานหลวงกับศิลปะลูกครึ่งไทย-ฝรั่ง
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ที่ตั้งสุสานหลวงกับศิลปะลูกครึ่งไทย-ฝรั่ง

แม้ว่าข้างนอกจะดูไทยขนาดไหน แต่ข้างในนี่ผิดกันคนละเรื่องเลย ยังจำวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหารที่ผมเคยพาไปดูได้ไหมครับ วัดแห่งนั้นใช้สถาปัตยกรรมแบบโบสถ์คริสต์มาประดิษฐานพระพุทธรูป แต่ที่นี่ตกแต่งภายในเหมือนโบสถ์คริสต์ไม่มีผิด โดยนำเอาการตกแต่งภายในแบบโกธิคมาใช้ ซึ่งเป็นไอเดียของหม่อมเจ้าประวิช ชุมสาย นั่นเอง

ประตูและหน้าต่างด้านนอกประดับด้วยงานประดับมุกเป็นรูปเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นที่ 1 รวม 5 ดวง เครื่องราชอิสริยาภรณ์ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในรัชกาลที่ 5 และเริ่มนำมาประดับอาคารครั้งแรกในรัชกาลนี้เช่นกัน

ในขณะที่กรอบซุ้มด้านนอกทำเป็นยอดปราสาท เหนือกรอบซุ้มทำเป็นตราพระบรมราชสัญลักษณ์ประจำรัชกาลที่ 9 โดยตกแต่งเป็นลวดลายอุณาโลมสลับกับอักษร ‘จ’ บริเวณผนังระหว่างหน้าต่าง ส่วนผนังด้านข้างเดิมทีเคยมีจิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่องพุทธประวัติแต่ถูกลบออกไปในสมัยรัชกาลที่ 7 โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โปรดให้แก้ไขตกแต่งเป็นแบบตะวันตก

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ที่ตั้งสุสานหลวงกับศิลปะลูกครึ่งไทย-ฝรั่ง
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ที่ตั้งสุสานหลวงกับศิลปะลูกครึ่งไทย-ฝรั่ง
วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ที่ตั้งสุสานหลวงกับศิลปะลูกครึ่งไทย-ฝรั่ง

พระประธานภายในพระอุโบสถมีนามว่า ‘พระพุทธอังคีรส’ พระพุทธรูปปางสมาธิครองจีวรยับย่นสมจริงตามแนวคิดแบบตะวันตกที่เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 4 พระพุทธอังคีรสเป็นอีกพระนามหนึ่งของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีความหมายว่ามีพระรัศมีแผ่ซ่านออกมาจากพระวรกาย

พระพุทธรูปองค์นี้มีประวัติว่าหล่อขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 4 ถึงต้นรัชกาลที่ 5 แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ พระพุทธรูปเนื้อทองคำองค์นี้หล่อขึ้นจากเครื่องทรงของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเดิมพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงนำไปประดิษฐานยังวัดพระปฐมเจดีย์แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้นำมาประดิษฐานยังวัดแห่งนี้

ยิ่งไปกว่านั้น พระรัศมีของพระพุทธรูปองค์นี้สามารถถอดออกเพื่อเปลี่ยนได้ ซึ่งผมเองก็ไม่เคยรู้มาก่อน จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารคและเสด็จฯ มายังวัดแห่งนี้ ทรงเจิมพระรัศมีทองคำลงยาราชาวดีและทรงอัญเชิญพระรัศมีนี้สวมที่พระเศียรของพระพุทธอังคีรส

อีกเรื่องหนึ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ ใต้ฐานบัลลังก์ของพระพุทธอังคีรสนั้นเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีถึง 4 พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมไปถึงพระอัฐิของสมเด็จพระศรีสุลาลัย พระสนมเอกในรัชกาลที่ 2 พระราชชนนีในรัชกาลที่ 3 และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราประยูร พระราชธิดาในรัชกาลที่ 3 ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาทรัพย์

โดยทั้งหมดนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าเป็นผู้บรรจุไว้ ก่อนที่ต่อมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาบรรจุที่ฐานพุทธบัลลังก์หินอ่อนเมื่อ พ.ศ. 2492

ก่อนที่ใน พ.ศ. 2528 ได้นำพระราชสรีรางคารของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 มาบรรจุเอาไว้ด้วย และใน พ.ศ. 2560 ภายหลังการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเชิญพระราชสรีรางคารของรัชกาลที่ 9 มาประดิษฐานไว้ที่ฐานหินอ่อนนี้ด้วยเช่นกัน

ในขณะที่พระวิหารที่อยู่ตรงข้ามกันมีรูปร่างหน้าตาภายนอกแทบจะถอดแบบมาจากพระอุโบสถเลยครับ เราสังเกตได้จากบานประตูและหน้าต่างที่แม้จะทำเป็นรูปเครื่องราชอิสริยาภรณ์เช่นเดียวกับพระอุโบสถ แต่เปลี่ยนเทคนิคจากงานประดับมุกเป็นงานแกะสลักไม้แทน

การเปลี่ยนเทคนิคนี้ทำให้เราได้เห็นสีของเครื่องราชอิสริยาภรณ์แต่ละประเภทด้วยครับ ภายในเองก็ไม่ได้แตกต่างจากพระอุโบสถเท่าไหร่ เว้นแต่โทนสีที่ออกเป็นสีชมพูต่างจากพระอุโบสถที่ออกเป็นโทนสีเย็น ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยนาม ‘พระประทีปวโรทัย’

วัดราชบพิตรฯ พระอารามหลวงที่รวมโลกตะวันออกและตะวันตกไว้ด้วยกัน

อาคารสำคัญแกนกลางของวัดแห่งนี้ก็คือพระเจดีย์ประดับกระเบื้องเคลือบ ตั้งอยู่เหนือคูหาที่ประดับด้วยซุ้ม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรกศิลปะขอมและพระพุทธรูปอื่นๆ อีก 6 องค์ (ซึ่งส่วนตัวผมเองยังไม่เคยเห็นเหมือนกันครับเลยไม่มีภาพมาให้ชม) รูปทรงของพระเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงระฆังที่น่าจะถ่ายแบบมาจากพระเจดีย์ที่วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามที่อยู่ตรงข้ามคลองเพราะหน้าตาคล้ายกันมาก และที่สำคัญ พระเจดีย์องค์นี้ถือเป็นเจดีย์ประธานองค์สุดท้ายที่สร้างขึ้นตามแบบแผนประเพณีนิยมที่ทำกันมาแต่โบราณ ก่อนที่จะฟื้นฟูขึ้นอีกครั้งในยุคปัจจุบัน

วัดราชบพิตรฯ พระอารามหลวงที่รวมโลกตะวันออกและตะวันตกไว้ด้วยกัน
วัดราชบพิตรฯ พระอารามหลวงที่รวมโลกตะวันออกและตะวันตกไว้ด้วยกัน

สุสานหลวงถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ของวัดราชบพิธฯ ถือเป็นขนบใหม่ที่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากในอดีต การถวายพระกุศลให้แก่เจ้านายที่ล่วงลับไปแล้วมีเพียงการสร้างสิ่งของหรือถาวรวัตถุเป็นการเฉพาะเท่านั้น

สุสานหลวงของวัดราชบพิธฯ แห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระอัฐิและพระราชสรีรางคาร ด้วยมีพระราชประสงค์ให้ผู้ที่รักใคร่ห่วงใยอย่างใกล้ชิดได้มาอยู่รวมกันหลังจากที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งภายในสุสานหลวงแห่งนี้มีอนุสรณ์สถานและอนุสาวรีย์อยู่ถึง 34 แห่ง ขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกัน และยังมีรูปแบบที่ต่างกัน บ้างมาแนวตะวันตกจ๋า บ้างมาแนวตะวันออกจ๋า บ้างจำลองมาจากสถานที่ที่มีอยู่จริงๆ

ครั้นจะพาไปดูจนครบก็คงต้องแยกไปเล่าเป็นหนึ่งตอนเพียวๆ เลย วันนี้เลยจะขอแนะนำองค์สำคัญๆ ที่น่าสนใจเพียงบางองค์เท่านั้น

เริ่มกันด้วยกลุ่มสำคัญซึ่งมีรูปแบบคล้ายกัน เป็นอาคารทรงไทย ยอดเป็นเจดีย์ประดับด้วยโมเสกสีทองจำนวน 4 องค์ ทั้ง 4 องค์นี้มีชื่อคล้องจองกันทั้งหมด ประกอบด้วย ‘สุนันทานุสาวรีย์’ บรรจุพระสรีรางคารของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี หรือที่เรารู้จักกันในนาม ‘พระนางเรือล่ม’ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ รังสีวัฒนา พระราชธิดาของพระองค์ที่สิ้นพระชนม์พร้อมกัน

‘รังษีวัฒนา’ บรรจุพระราชสรีรางคารพระราชโอรสและพระราชธิดาของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระปัยยิกาหรือทวดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 รวมถึงสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ด้วย

‘เสาวภาประดิษฐาน’ บรรจุพระราชสรีรางคารของพระราชโอรสในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง พระราชมารดาของรัชกาลที่ 6 และ 7

และ ‘สุขุมาลย์นฤมิตร์’ บรรจุพระสรีรางคารของสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวีและสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งถ้าใครชมสุสานหลวงแล้วไม่รู้ว่าองค์ไหนในกลุ่ม 4 องค์นี้ชื่ออะไร ลองสังเกตที่ด้านหน้าดูได้ครับ เพราะทุกองค์มีชื่อกำกับไว้ทั้งหมด

วัดราชบพิตรฯ พระอารามหลวงที่รวมโลกตะวันออกและตะวันตกไว้ด้วยกัน

จริงๆ แล้วภายในสุสานหลวงยังมีอนุสาวรีย์และอนุสรณ์สถานอีกหลายแห่งที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นอนุสรณ์สถานของพระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ ซึ่งทำเป็นรูปปรางค์สามยอด เนื่องจากพระราชโอรสของพระองค์ท่านคือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฑัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์

อนุสรณ์สถานทรงตะวันตกนอกโดมของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี และพระธิดา รวมถึงเจ้านายที่สืบเชื้อสายของเจ้านายฝ่ายเหนือ อนุสาวรีย์เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ หรือวิหารน้อย

อาคารทรงยุโรปหลังคามุงกระเบื้องประดับกระจกสีที่ประตูและหน้าต่าง บรรจุพระสรีรางคารของเจ้าจอมมารดาแพ บุนนาค และพระธิดา รวมถึงเจ้าจอมมารดาโหมด บุนนาค และทายาท ตลอดจนสมาชิกราชสกุลอาภากรและราชสกุลสุริยง

อาคารทรงยุโรปหลังคามุงกระเบื้องประดับกระจกสีที่ประตูและหน้าต่างที่มีหน้าบันเป็นรูปพระอาทิตย์ตามนามของราชสกุล ‘อาภากร’ รวมถึงอนุสรณ์สถานของเจ้าจอมก๊กออถึง 3 พระองค์ ได้แก่ เจ้าจอมเอิม เจ้าจอมอาบ และเจ้าจอมเอี่ยม

วัดราชบพิตรฯ พระอารามหลวงที่รวมโลกตะวันออกและตะวันตกไว้ด้วยกัน
วัดราชบพิตรฯ พระอารามหลวงที่รวมโลกตะวันออกและตะวันตกไว้ด้วยกัน
วัดราชบพิตรฯ พระอารามหลวงที่รวมโลกตะวันออกและตะวันตกไว้ด้วยกัน

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในรายละเอียดมากมายที่ซ่อนอยู่ในวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เนื่องจากวัดแห่งนี้ถือเป็นพระอารามหลวงที่มีเนื้อที่กว้างขวาง จึงยังมีสิ่งน่าสนใจอีกมากภายในวัดที่รอให้เราเข้าไปสัมผัส ผมเลยอยากเชิญชวนทุกคน หากใครผ่านไปผ่านมาแถวนั้น หรืออ่านบทความนี้แล้วสนใจ ลองเข้าไปสัมผัส เข้าไปละเลียดชมความงามของพระอารามหลวงแห่งนี้กันครับ รับรองว่าไม่ผิดหวังแน่นอนครับ

เกร็ดแถมท้าย

  1. ตรงข้ามกับวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามแห่งนี้คือวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม พระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ 4 ที่มีความงามและความน่าสนใจไม่แพ้กัน ถ้าได้ไปชมวัดราชบพิธฯ แล้ว ลองเดินข้ามไปชมวัดแห่งนี้ไปพร้อมๆ กันด้วยนะครับ
  2. หรือถ้ายังอยากชมงานช่างสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งผสมผสานความเป็นตะวันออกกับตะวันตก แนวคิดแบบดั้งเดิมกับแนวคิดสมัยใหม่ ในกรุงเทพมหานครเองยังมีอีกหลายแห่ง ไม่ว่าจะวัดราชาธิวาส วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วัดเทพศิรินทราวาส หรือในต่างจังหวัดก็มีเช่นกัน เช่น วัดนิเวศธรรมประวัติ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  3. แต่ถ้าใครจะไปสักการะและเยี่ยมชมวัดประจำรัชกาลแบบครบทุกวัด ให้รอช่วงวันสำคัญ เช่น ปีใหม่ ขสมก. จะมีรถเมล์ให้บริการพาไหว้พระตามวัดประจำรัชกาลอยู่ครับ ลองตามข่าวกันดูครับผม
  4. นอกจากวัดแล้ว อนุสาวรีย์หมูหรืออนุสาวรีย์สหชาติที่อยู่กึ่งกลางระหว่างวัดราชประดิษฐ์ฯ และวัดราชบพิธฯ บริเวณเชิงสะพานปีกุนก็น่าสนใจนะครับ เพราะสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2456 เมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง มีพระชนมายุครบ 50 พรรษา โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงร่วมกับพระยาพิพัฒน์โกษา (เซเลสติโน ซาเวียร์) และพระยาราชสงคราม (กร หงสกุล) สร้างขึ้น

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ