13 กุมภาพันธ์ 2024
862

ขณะที่กำลังเขียนต้นฉบับนี้ มีผู้ชายวัย 30 กว่ากำลังแบกเป้เดินทางคนเดียวเลียบแม่น้ำโขงระยะทางพันกว่ากิโลเมตรเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อเตือนให้ผู้คนรับทราบว่า

ไม่มีอารยธรรมใดอยู่ได้ ในระบบนิเวศที่ล่มสลาย

บาส-ปรมินทร์ วัฒน์นครบัญชา จบการศึกษาจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยทำงานอยู่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเคมีภัณฑ์ เรียนต่อการตลาดระดับปริญญาโทที่ University of Strathclyde ที่สกอตแลนด์ กลับมาทำแบรนด์ Pasutara เป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติร่วมสมัยที่ถ่ายทอดความงามและคุณค่าของเทือกเขาตะนาวศรี และตอนนี้เป็นนักอนุรักษ์เต็มตัว เป็นผู้ริเริ่มโครงการ Ecowalk บันทึกความหลากหลายทางชีวภาพและสำรวจความสัมพันธ์กับธรรมชาติเมือง

อีกด้านหนึ่ง แม่น้ำโขงมีความยาวทั้งสิ้น 4,909 กิโลเมตร เป็นแม่น้ำที่มีความยาวเป็นอันดับที่ 10 ของโลก มีปริมาณน้ำถึง 475,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีจำนวนชนิดของพันธุ์ปลาน้ำจืดมากกว่า 850 ชนิด ถือว่ามีความหลากหลายของพันธุ์ปลาในแม่น้ำมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากแม่น้ำแอมะซอน และรวมถึงปลาขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วย คือปลาบึก

แม่น้ำโขงมีต้นกำเนิดมาจากการละลายของหิมะบนเทือกเขาในทิเบตระดับความสูง 5,000 เมตร แล้วทิ้งดิ่งไหลลดระดับลงมาอย่างรวดเร็ว ผ่านจีน เมียนมา พอถึงบริเวณใกล้ ๆ กับที่บาสเริ่มออกเดินทาง ก็เหลือความสูงเพียง 500 เมตรจากระดับน้ำทะเล

“อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย คือจุดเริ่มต้นของการเดินทางระยะไกลริมแม่น้ำโขง สู่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ระยะทางราว 1,000 กิโลเมตรครับ การเดินนี้เกิดขึ้นเพราะผมติดตามสถานการณ์และสุขภาพของแม่น้ำโขง รวมถึงผู้คนริมฝั่งโขงอยู่บ้าง ทำให้รู้ว่าหลายอย่างกำลังเจ็บป่วย และผมอยากมีส่วนร่วมกับการดูแลแม่น้ำโขง

“ผมเลยทำสิ่งที่ผมทำได้ คือการใช้เท้าสองข้างออกเดิน เพื่อให้ผมรู้จักและก่อสายสัมพันธ์กับแม่น้ำโขงกับผู้คน ตลอดจนสรรพสิ่งต่าง ๆ ในแม่น้ำโขง ช่วงที่ไหลผ่านดินแดนอีสานมากขึ้น เพื่อพบปะ ‘ความหวัง’ ครับ”

บาสเริ่มต้นออกเดินทางพร้อมกับความรู้สึกเหล่านี้ และอีกประการหนึ่ง คือบาสบอกว่า

“คือเส้นทางจาริกระดับโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครับ ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เพราะถ้าไปดูต้นกำเนิดของแม่น้ำโขง จะเห็นว่ามันไหลมาจากทางเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นแชงกรีล่า พื้นที่พิเศษของโลก จากนั้นก็ไหลผ่านมาหลายภูมิภาค จากจีนตอนใต้ไล่เข้ามาจนถึงเมียนมา ลาว ไทย ไหลไปออกกัมพูชาแล้วก็เวียดนาม หล่อเลี้ยงผู้คนมายาวนานเลย

“บริเวณริมฝั่งโขงในประเทศไทยจะเห็นว่ามีชุมชนมาตั้งบ้านเรือนอยู่นับพันปีแล้ว ดูได้จากภาพเขียนผนังที่ผาแต้ม อำเภอโขงเจียม เรื่อยลงมาถึงเขมร จะเห็นอารยธรรมของนครวัดซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากทะเลสาบเขมร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับน้ำโขงอย่างยิ่งยวด เกิดอารยธรรมยิ่งใหญ่อยู่ในภาคพื้นทวีปของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปออกปากแม่น้ำที่เวียดนาม ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปเก้ามังกร เป็นอู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของโลก

“แม่น้ำสายนี้จึงมีเรื่องราวผูกพันกับผู้คนในอย่างยาวนาน มีความศักดิ์สิทธิ์ ผมจึงกำลังเดินอยู่บนเส้นทางระดับโลก”

อันที่จริงในต่างประเทศมีเส้นทางระดับโลกให้ผู้คนเดินหลายแห่ง เช่น เส้นทางจาริกแสวงบุญ El Camino de Santiago ในประเทศสเปน หรือเส้นทางแสวงบุญ Kumano-Kodo ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเส้นทางเก่าแก่และเกี่ยวพันกับความเชื่อ วัฒนธรรม และธรรมชาติ และในประเทศก็มีการเดินธรรมยาตราระยะไกลไปตามที่ต่าง ๆ เช่นกัน

“ผมอยากชวนให้คนจำนวนมากหันมาสนใจเส้นทางจาริกสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผมไม่ใช่คนแรกที่มาเดิน ที่ผ่านมามีพระธุดงค์สายป่าเดินเลาะแม่น้ำโขงกันอยู่แล้วเป็นประจำ

“การเดินกับการนั่งรถมันคนละความรู้สึก ผมเดินทางข้ามจังหวัด ใช้เวลาหลายวัน ทั้งที่ขับรถไม่ถึงชั่วโมง ความเร็วแบบนั้นก็แทบจะไม่ได้เห็นอะไร แต่การเดินทำให้เราได้เห็น ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ตลอดเส้นทาง และผมสนใจระบบนิเวศน้ำ จึงได้เห็น ได้เรียนรู้อะไรมากมาย”

เขาเชื่อว่าการเดินทำให้เห็นสิ่งรอบ ๆ ตัวชัดขึ้น และเห็นคุณค่าของมัน

“เวลาที่เราเห็นสวนสาธารณะในเมือง เรารู้สึกว่า ‘ก็ดีที่มีสิ่งเหล่านี้’ แต่ถ้าเราลงไปเดินในพื้นที่สีเขียวเหล่านั้นจริง ๆ เราจะรู้ถึงคุณค่าของมัน ได้สัมผัสความเย็น ความร่มรื่น ตอนนั้นแหละเราถึงเห็นความสำคัญของมันจริง ๆ เช่นเดียวกับแม่น้ำโขง เราเรียนรู้จากหนังสือว่ามันสำคัญ แต่ถ้าได้ออกมาเดินสัมผัส เราจะเห็นถึงคุณค่ามากขึ้น และเห็นว่าการปกป้องแม่น้ำโขงนั้นสำคัญเพียงใด”

บาสรู้ว่าการเดินทางไกลเลียบแม่น้ำโขงทำให้เขาได้ซึมซับกับความสำคัญของลำน้ำสายนี้จริง ๆ

“ที่ผ่านมาผมติดตามข่าวมาตลอดว่าแม่น้ำโขงกำลังเปลี่ยนไป ตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง จึงอยากมาสัมผัสด้วยตัวเองว่าเกิดอะไรขึ้นด้วย”

รัฐบาลจีนกำหนดให้มณฑลยูนนานเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าสำคัญของจีนทางตอนใต้ จึงมีโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบน 14 เขื่อน คาดว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้า 25,000 เมกะวัตต์ ขณะที่แม่น้ำโขงตอนล่าง รัฐบาล 4 ประเทศ ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม ก็ร่วมกันเสนอแผนสร้างเขื่อน 11 โครงการ ภายใต้นโยบาย ‘แบตเตอรี่ของเอเชีย’

การสร้างเขื่อนทำให้ระบบนิเวศในแม่น้ำโขงที่หล่อเลี้ยงผู้คนสองฟากฝั่ง 60 ล้านคนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป โดยเฉพาะน้ำที่ใช้ในการเกษตรและการประมง ซึ่งอาหารประเภทโปรตีนของคนในลุ่มน้ำโขงร้อยละ 75 มาจากปลาแม่น้ำโขง

ในฐานะที่ผมเป็นคนเมือง ก็อยากชวนคนเมืองมามีส่วนร่วมรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับแม่น้ำสากลสายนี้ แล้วมันมีผลกระทบต่อผู้คนอย่างไร พื้นที่นี้มีสถานะพิเศษและมีความสำคัญกับคนมาก ถ้าไปดูจากประวัติศาสตร์ จะพบว่าพื้นที่อารยธรรมต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่มีแห่งใดคงอยู่ได้ในระบบนิเวศที่ล่มสลาย ไม่ว่าจะเป็นทางนครวัดหรือหลายแห่งในทวีปอเมริกากลางหรืออเมริกาใต้

บาสเล่าให้ฟังว่าระยะทางร่วม 200 กิโลเมตร เขาเห็นสภาพความหลากหลายของภูมิประเทศแม่น้ำโขงชัดเจน ตั้งแต่ออกเดินทางจากอำเภอเชียงคาน แม่น้ำโขงบริเวณนี้กว้างใหญ่ ไม่มีเกาะแก่ง เพราะเป็นที่ราบร่องเขาขนาดกว้างใหญ่ ไม่มีภูเขาตัดผ่าน มีหาดทรายมากมาย แต่พอต่ำลงมาถึงอำเภอปากชม จะมีเกาะแก่งมากมาย เพราะตัดผ่านภูเขาที่ทอดตัวเหนือ-ใต้จากประเทศลาวลงมาเป็นเวลานับหลายล้านปี กัดเซาะภูเขากลายเป็นเกาะแก่งกลางแม่น้ำ และถ้าดูจาก Google Earth ก็จะเห็นสภาพชัดเจน

“บริเวณหาดทราย เราพบหญ้าหวีด (Cryptocoryne sp.) กำลังออกดอกหอมฉุยเป็นดง ที่สำคัญคือมีหญ้าหวีดเมืองเลย (C. loeiensis) ชนิดเฉพาะที่พบในลุ่มน้ำโขงแถบเมืองเลย ไม่มีที่ไหนอื่นอีกแล้วในโลกนี้ และยังพบนกแอ่นทรายสีน้ำตาล (Grey-throated) นกหายากชนิดหนึ่งที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างจังจากความแปรปรวนของน้ำ”

ระหว่างทางการเดิน บาสได้เข้าใจคำว่า เด็ดดอกไม้ดอกเดียว กระทบถึงดวงดาว

“ปกติแม่น้ำโขงจะมีพืชชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ไคร้น้ำ และตอนนี้ชาวบ้านบอกว่าตั้งแต่มีการสร้างเขื่อน การไหลของน้ำเปลี่ยนไป ไคร้น้ำจึงลดลงกว่าครึ่ง ผมมาเห็นเองกับตาว่ามีต้นตายครึ่งต้นเป็นครึ่งหนึ่งตลอดเส้นทาง

“ผลคือเมื่อรากไคร้น้ำอันเป็นที่วางไข่ของปลาหายไป ปริมาณปลาก็ลดลง ปลาหายไป ซ้ำร้ายนกกินปลาก็ลดลงอีก ทำให้ชาวประมงที่จับปลาด้วยการสังเกตตำแหน่งของฝูงปลาจากนกที่บินบนท้องฟ้าก็จับปลายากขึ้นด้วย เช่นเดียวกับตัวชีปะขาวนับล้านตัว อาหารของนกและปลาที่อาศัยในแม่น้ำโขงก็ลดลง ปลากับนกก็ลดลงเช่นกัน

“พอปลาลดลง คงอาชีพและดำรงชีพด้วยปลาไม่ได้ คนก็หาอาชีพอื่นมาทดแทน ตอนนี้เป็นสวนยางพารา พออาชีพเปลี่ยน วิถีชีวิตเดิมก็เปลี่ยนไปหมด ตลกร้ายที่สุด คือผมพบแผงปลาแม่น้ำโขงที่ไม่มีปลาแม่น้ำโขงซักตัว มีแต่ปลาทูใส่เข่งขายครับ

“สาเหตุสำคัญคือการไหลของน้ำผิดปกติจากการเปิดปิดประตูน้ำเขื่อน คือถ้าแม่น้ำไหลอิสระ ปริมาณน้ำจะค่อนข้างคงที่ แต่วันที่วันผมมาเชียงคานวันแรก ระดับน้ำลดลง หาดทรายเต็ม แต่วันรุ่งขึ้นน้ำขึ้นเต็ม หาดทรายหายไป ผิดวิสัยมาก การผันผวนของระดับน้ำในแม่น้ำโขงส่งผลกระทบกับชีวิตอื่น ๆ เยอะแยะมากมาย ระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นโดยไม่รู้เวลาแน่นอนก็ทำให้ต้นไม้ที่ปรับตัวมาตามเวลาล้มหายตายจากไป เช่นเดียวกับนกหลายชนิดที่วางไข่ริมหาดทรายในช่วงฤดูน้ำแล้งที่หายไป”

ก่อนออกเดินทางในเช้าวันรุ่งขึ้น หลังจากเช็กสภาพอากาศและภูมิประเทศใน Google Maps แล้ว บาสทิ้งท้ายว่า

“ผมคาดหวังว่าตอนแรกการเดินทางของผมอาจทำให้คนเห็นความงามของแม่น้ำโขง และสุดท้ายก็จะรับรู้เรื่องการแย่งชิงทรัพยากรสาธารณะ การที่เราพูดเรื่องเขื่อนในแม่น้ำโขง คือการแย่งชิงทรัพยากรที่เป็นแม่น้ำสาธารณะหล่อเลี้ยงผู้คนจำนวนมากที่จะเป็นสมบัติของทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่เข้ากระเป๋าคนไม่กี่คนจากการสร้างเขื่อน อยากให้คนตระหนักว่าแม่น้ำมีสิทธิ์ มีศักดิ์ศรี และหวังว่าผู้คนจะเข้ามาร่วมกันส่งเสริมการพัฒนาฟื้นฟูระบบนิเวศ

“และเป้าหมายการเดินจริง ๆ ของผมไม่ใช่การพิชิตเส้นทาง แต่คือการได้เรียนรู้สรรพสิ่งระหว่าง และพบว่า ‘ไม่มีอารยธรรมใดอยู่ได้ ในระบบนิเวศที่ล่มสลาย’ ”

เหลือระยะทางอีกหลายร้อยกิโลเมตร และเวลาร่วม 2 เดือนกว่าจะถึงเป้าหมายที่อำเภอโขงเจียม แต่แววตาและความมุ่งมั่นของเด็กหนุ่มคนนี้ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง และรอยยิ้มของชาวบ้านระหว่างทางที่ให้ความช่วยเหลือตลอดทาง ตั้งแต่ที่พัก อาหาร และกำลังใจจากคนที่ทราบข่าวมาตลอด

ติดตามข่าวสารการเดินเลียบโขงได้ที่ Facebook : Mekong walk – เดินโขง

ภาพ : Facebook : Mekong walk – เดินโขง

Writer

Avatar

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

นามปากกา วันชัย ตัน นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี อดีตรองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย (THAIPBS) อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าว สถานีโทรทัศน์ PPTVHD36 มีผลงานเขียนตีพิมพ์เป็นหนังสือ 28 เล่ม เป็นนักเดินทางตัวยง จากความเชื่อที่ว่า การใช้ชีวิตให้มีความสุขควรประกอบด้วยสามสิ่ง คือ ทำงานที่ใจรัก ช่วยเหลือคนรอบข้าง และเดินทางท่องเที่ยว