20 กว่าปีที่แล้วเคยคิดจะนั่งเรือช้าไปหลวงพระบาง แต่สุดท้ายพวกเราตัดสินใจนั่งรถไป เพราะไม่อยากเสียเวลาเดินทางนาน 20 กว่าปีผ่านไป เราได้กลับไปหลวงพระบางอีกครั้งด้วยพาหนะที่ช้ายิ่งไปกว่าเรือช้า แถมยังใช้เวลาส่วนใหญ่ของทริปอยู่ที่ระหว่างทาง หลวงพระบางกลายเป็นแค่จุดสิ้นสุดของการเดินทาง 

เส้นทางของเราเริ่มต้นที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย พายเรือกันไปทั้งหมด 300 กิโลเมตร ใช้เวลาทั้งหมด 11 วัน กางเต็นท์นอนริมน้ำ ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา ยกเว้นวันพักตรงกลางทางที่เมืองปากแบง ซึ่งจะย้ายไปนอนโรงแรมกัน 2 คืน เส้นทางนี้เรียกได้ว่าเป็นส่วนสุดท้ายของน้ำโขงที่เราเข้าถึงได้ในแบบที่เป็นธรรมชาติจริง ๆ แบบไม่มีเขื่อนและไม่มีกำแพงปูนกั้นขอบตลิ่ง

การเดินทางครั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อบันทึกเรื่องราวมาประกอบเป็นงานศิลปะของ วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ ซึ่งจะจัดแสดงในงาน Thailand Biennale ที่จังหวัดเชียงราย แต่เรื่องราวระหว่างทางนั้นมีมากกว่าที่จะเล่าในงานศิลปะเพียงแค่ชิ้นเดียว

บันทึกการพายคายัค 11 วันจากเชียงของถึงหลวงพระบาง ไปสัมผัสอิสระสุดท้ายของสายน้ำโขง
เริ่มต้นการเดินทางล่องแม่น้ำโขงด้วยเรือคายัคที่ช้ายิ่งกว่าเรือช้า เพื่อไปให้ถึงหลวงพระบางในเวลา 11 วัน

แม่น้ำที่เห็นข้างหน้าดูสวยงามเหลือเกิน ขอบแม่น้ำที่เป็นทรายสีนวลทำให้แอบนึกไปถึงทะเลอยู่หน่อย ๆ แต่ไม่มีกลิ่นเค็มที่เราคุ้นเคย น้ำจืดไม่ทำให้เราเหนียวตัว การพายคายัคในแม่น้ำแบบนี้ทำให้เราไม่มีปัญหาเรื่องน้ำจืด แค่พกที่กรองน้ำดี ๆ ไปสักอันก็มีน้ำกินน้ำใช้ได้ตลอดทริป 

เราจะไม่รู้เลยว่าน้ำจืดขาดแคลนถ้าไม่เคยไปพายคายัคและแคมปิงในทะเล เราไม่เคยรู้ว่าสิ่งที่เรามีมันดีแค่ไหนจนถึงวันที่เราขาดมันไป เหมือนกับที่การมีอยู่ของขอบกำแพงปูนริมน้ำฝั่งไทย ทำให้เรารู้ว่าสันทรายธรรมชาตินั้นสวยงามเพียงใด

ขอบน้ำโขงในพื้นที่ประเทศลาวไม่มีกำแพงปูนกั้นตลิ่ง ริมน้ำของที่นี่เป็นสันทรายธรรมชาติที่ทั้งดูแปลกตาและสวยงาม บางช่วงเป็นสันทรายสูงต้องแหงนคอดู บางช่วงเป็นหาดกว้าง มีคนนั่ง ๆ ยืน ๆ เดิน ๆ อยู่ริมน้ำเป็นระยะ ทำกิจกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่ร่อนทอง จับจักจั่น หรือเก็บสาหร่าย 

เด็กจับจักจั่นเป็นกิจกรรมที่แปลกตาสำหรับคนเมืองอย่างเรามาก เด็ก ๆ เดินถือเสาไม้ไผ่ที่สูงเกินความสูงของตัวไป 2 – 3 เท่า เดินเรียงกันเป็นแถวริมน้ำ ในกลุ่มนั้นจะมีเด็กตัวเล็กคนหนึ่งถือกระป๋องเดินตาม บนเสาไม้ไผ่มีข้าวเหนียวที่กินเหลือทาเคลือบไว้ จักจั่นที่อยู่ตามพื้นจะบินขึ้นที่สูงด้วยความตกใจเมื่อมีคนเดินผ่าน และมันก็จะบินไปติดเสาเหนียว พอได้จำนวนหนึ่งก็จะหยุดเดิน ปลดจักจั่นมาเก็บลงกระป๋องในมือเด็กท้ายแถว

เราคงไม่ชื่นชมกับธรรมชาติเดิม ๆ หรือกิจกรรมแบบนี้ถ้าเราเห็นทุกวันจนเป็นเรื่องธรรมดา

วิวสันทรายและแนวหินของน้ำโขงสวยงามไปซะทุกจุด ความแรงของแม่น้ำในช่วงน้ำหลากกัดเซาะให้เกิดภูมิประเทศที่ประหลาดตานี้
กลุ่มเด็กจับจักจั่นเดินถือเสาไม้ไผ่ที่สูงเกินตัว จักจั่นจะบินไปติดเสาที่ทาด้วยข้าวเหนียว พอได้มากพอก็จะปลดมาใส่ถังในมือเด็กอีกคน
ฝูงควายริมน้ำเป็นภาพบรรยากาศที่แทบหาดูไม่ได้แล้วในบ้านเรา แต่ที่นี่เป็นภาพธรรมดา

ตลอดเส้นทางแทบไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ โทรศัพท์มือถือทำหน้าที่เป็นเพียงกล้องถ่ายรูปบันทึกความทรงจำและเปิดเพลงเบา ๆ ในบางครั้งเท่านั้น 

การนัดแนะกับทีมซัพพอร์ตเพื่อส่งเสบียงเพิ่มเป็นไปอย่างยากลำบากเมื่อไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ทุกวันนี้เราคุ้นเคยกับการเปิดแอปฯ แผนที่ดูเมื่อหลงทาง และส่งโลเคชันไปนัดเจอเพื่อนล่วงหน้าได้ การตัดโทรศัพท์มือถือออกไปจากชีวิตประจำวันเหมือนเราได้ย้อนเวลากลับไปในโลกเมื่อ 20 กว่าปีก่อนที่โทรบอกเพื่อนไม่ได้ว่าเราจะไปถึงช้าหรือเร็วกว่าเวลานัด

พี่เอ๋ ทีมซัพพอร์ตของเรา ปักธงสีส้มสดเรียงไว้ริมหาดตรงจุดรอส่งเสบียง เพื่อไม่ให้ทีมพายเรือพลาดเลยจุดที่นัดกันไว้ล่วงหน้า เป็นการปรับตัวให้เข้ากับพื้นที่แบบไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยี

เทคโนโลยีช่วยทำให้ชีวิตเราสะดวกขึ้นมาก และเราไม่เคยซาบซึ้งในความพิเศษของมันจนกระทั่งเข้าสู่พื้นที่ไร้สัญญาณแบบนี้ แต่การไม่มีก็ไม่ใช่จะทำให้ชีวิตอยู่ไม่ได้ เราแค่ต้องปรับตัวตามไปเท่านั้น

การพายเรือผ่านแก่งแบบทุ่นแรง คือไหลไปตามวงโคจรของกาแล็กซีน้ำวน ให้น้ำเป็นตัวดันส่งไปข้างหน้า
อีกวิธีในการผ่านแก่ง คือเกาะเรือต่อกันเป็นแพแล้วปล่อยให้ไหลไป

เมื่อโลกออนไลน์และโซเซียลห่างไกลออกไป พวกเราก็ได้คุยกันมากขึ้น ริมน้ำทุกคืนหลังจากกางเต็นท์เสร็จแล้ว พวกเราจะเดินรวบรวมเศษไม้จากหาดมาจุดกองไฟ ทำอาหาร และผลัดกันถาม-ตอบ เรื่องราวต่าง ๆ 

ส่วนใหญ่ของบทสนทนาไม่มีสาระสำคัญอะไร แต่ลื่นไหลต่อเนื่องได้อย่างไม่มีเบื่อหลายชั่วโมง 

แคมป์ไซต์ริมน้ำที่เรานอนไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ ให้ใช้
กิจกรรมนั่งสนทนารอบกองไฟที่ทำทุกคืน เป็นไฮไลต์ของแต่ละวัน

คืนหนึ่งหลังจากเรือของ อังกฤษ อัจฉริยโสภณ ล่ม พวกเรานั่งล้อมวงดูวิดีโอด้วยกัน กล้องตัวเล็กบันทึกเหตุการณ์จังหวะคับขันที่ผ่านมาแล้วไว้ได้ทั้งหมด 

น้ำวนในน้ำโขงเกิดขึ้นแบบไม่มีสัญญาณล่วงหน้า มองเห็นจากผิวน้ำเป็นวงผุดขึ้นตรงนั้นที ตรงนี้ที หมุนวนกว้างขึ้นเรื่อย ๆ สักพักก็จางหายไปแบบไม่มีร่องรอยว่าเคยมีน้ำวนอยู่ตรงนั้น

เรือของพี่อังกฤษหลุดเข้าสู่แรงดูดของน้ำวน จังหวะพอดีที่น้ำไหลพามาชนกับน้ำวนที่ผุดขึ้นมาอีกข้าง ทำให้เรือพลิกคว่ำ แค่พริบตาเดียวน้ำวนใหญ่ผุดขึ้นมาตรงเรือที่คว่ำอยู่ เรือทั้งลำโดนน้ำวนดูดจมหายไปเหลือแค่ส่วนหัวเรือโผล่ขึ้นมา พี่อังกฤษจมน้ำหายลงไป เห็นแต่หัวเรือยกตั้งสูงหมุนอยู่กลางวงน้ำ 

สักครู่เดียวพอหมดแรงดูด น้ำวนก็ปล่อยตัวคนพายหลุดออกมา เรือที่หมุนตั้งก็ล้มลงลอยคว่ำ พี่จอช พายเรือเข้าไปถึงตัวพี่อังกฤษและให้เกาะเรือลอยออกมา 

เวลารวมของทั้งเหตุการณ์ยาวแค่นาทีเดียว แต่ยิ่งดูก็ยิ่งตื่นเต้น พวกเรากดวิดีโอเล่นซ้ำวนไปเกิน 10 รอบในคืนนั้น ถ้าหากว่าเป็นที่บ้าน เราคงกดวิดีโอนี้ดูแค่รอบเดียวแล้วก็กลับไปไถหน้าฟีดโซเชียลมีเดียอย่างไร้จุดหมายต่อ

สันเขาตลอดสองข้างทางมีร่องรอยเผาไร่นา ส่งไอร้อนระอุกระจายไปทั่วบริเวณ

พี่ดอน เป็นนักพายคายัคชั้นครู วันแรกที่มาถึงก็อธิบายเทคนิคการพายเรือผ่านน้ำวนให้พวกเราลองทำ เพื่อให้ประหยัดแรงและรื่นรมย์กับการพายได้มากขึ้น

น้ำวนจะมีแรงดูดและแรงผลักสวนกันซ้ายขวาจากจุดกึ่งกลาง ถ้าเราเข้าผิดด้าน เราก็ต้องพายต้านน้ำที่เหวี่ยงสวนมา ถ้าเราเข้าถูกด้าน เอาเรือเข้าไปเฉียดขอบให้พอดีกับแรงเหวี่ยงที่ผลักออก เรือก็จะพุ่งไปข้างหน้าโดยที่เราไม่ต้องลงแรงพายหนักเลย หนึ่งในทีมนักพายที่ไปด้วยกันรอบนี้เรียกเทคนิคใหม่นี้ว่าเป็นการเดินทางในจักรวาล ผ่านกาแล็กซีน้ำวนที่หมุนอยู่ พอได้ยินประโยคเหล่านี้ จู่ ๆ ก็เหมือนจะมีเพลงวอลซ์ก็ดังขึ้นมาในหัว 

เรานั่งเรือสองตอนคู่กับพี่ดอน เวลาพายพี่ดอนจะเอียงตัวให้เรือกินน้ำมากขึ้น เอียงไปซ้ายที ขวาที วกหลบน้ำวนไปทางซ้ายที ขวาที เรือของเราเคลื่อนที่ไปเหมือนกำลังเต้นระบำอยู่ในห้องกว้าง โดยมีเพลงวอลซ์บรรเลงเป็นแบ็กกราวนด์ในหัว

อีกวิธีในการผ่านน้ำวนแบบไม่เปลืองแรง คือการเอาเรือคายัคหลาย ๆ ลำมาเกาะติดกันเป็นแพแล้วล่องตามน้ำไปด้วยกัน พวกเราตะโกนพร้อม ๆ กันเหมือนหนังหุ่นยนต์ว่า ‘ประกอบร่าง’ เพื่อเรียกให้ทุกลำมารวมตัวกัน แพคายัคของพวกเราหมุนไปตามน้ำผ่านแก่งและน้ำวนพร้อมเสียงหัวเราะของพวกเรา

พี่ดอนเล่าต่อว่าน้ำวนมันดูดเราจมลงไปก็จริง แต่พอดูดไปจนพอใจแล้ว มันก็จะอ่อนแรงลงแล้วบ้วนเราออกมา 

พอคิดตามก็คล้ายกับชีวิตเราซึ่งเคลื่อนที่หลบอุปสรรคไปเรื่อย ๆ ถ้าหาจังหวะที่ลงตัวได้ ชีวิตก็บันเทิงดีอยู่ มิตรสหายที่ดีทำให้ผ่านไปได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าหลบไม่พ้น สิ่งที่เราต้องทำก็คือกลั้นใจอดทน แล้วมันก็จะผ่านไป

ความสงบของธรรมชาติริมน้ำโขง
สะพานรถไฟความเร็วสูงแทงทะลุผ่านสันเขาออกมา เป็นโครงสร้างที่ยิ่งใหญ่เกินธรรมชาติรอบข้าง

ภาพถ่ายจากกล้องออกมาเป็นโทนสีเหลืองทองเหมือนถ่ายเวลาเย็น ไม่ว่าเราจะถ่ายตอนช่วงไหนของวัน ช่วงเดือนเมษายนเป็นเวลาที่ทางเหนือมีปัญหาฝุ่นจากการเผาไร่อย่างหนัก

เรายืนมองพระอาทิตย์ในเวลาเที่ยงวันผ่านม่านฝุ่นได้ด้วยตาเปล่า ข้อดีอย่างหนึ่ง คือตลอดทั้งวันไม่มีแสงแดดร้อนแผดเผาให้แสบผิว แต่มีอาการแสบตา แสบโพรงจมูกนิด ๆ อยู่ตลอดเวลา บางช่วงของการพายเห็นขี้เถ้าสีดำปลิวตกลงมาจากท้องฟ้า และมีไอร้อนระอุวูบผ่านมาพร้อมกับสายลม หลังจากสัมผัสได้ถึงไอร้อนไม่นานหลังจากนั้นก็จะตามมาด้วยวิวเทือกเขาที่ไหม้เกรียม 

ช่วงกลางทริป เราเข้าพักโรงแรม 1 คืน ผ้าเช็ดตัวผืนใหม่ที่วางในห้องพักก็มีกลิ่นควันจาง ๆ ปนกับกลิ่นน้ำยาซักผ้าหอมสะอาด กลิ่นควันคงเป็นเรื่องปกติของคนที่นี่ คงเป็นสิ่งที่คุ้นชินกันไปแล้ว

‘ฤดูฝุ่น’ ถูกเพิ่มเข้ามาในฤดูหลักของไทย การที่ทุกคนยอมรับว่าจะมีสิ่งนี้เกิดขึ้นทุกปี เป็นเรื่องที่น่าเศร้าสำหรับเรา เพราะนั่นหมายถึงว่ามันกำลังจะกลายเป็นสิ่งธรรมดาตามปกติที่เราต้องหาทางอยู่กับมันไป

แต่ในอีกทางหนึ่งก็ทำให้เราเห็นคุณค่าของอากาศในวันที่ไม่มีฝุ่นมากขึ้น

น้ำตกแจ็ค น้ำตกขนาดเล็กที่เขียวชอุ่ม ทำให้เราสดชื่นทั้งร่างกายและจิตใจ

ในแผนที่วางไว้ล่วงหน้านอกจากชื่อหมู่บ้านเรียงรายริมน้ำแล้ว มีจุดหนึ่งเขียนไว้ว่า ‘น้ำตกแจ็ค’ ซึ่งมาจากเมื่อ 4 ปีก่อนพวกพี่ ๆ เคยพายผ่านจุดนี้แล้วมีน้ำตกเล็ก ๆ ที่เขียวสดชื่นมากจน พี่แจ็ค หนึ่งในทีมพายครั้งนั้นปีนขึ้นจากเรือเพื่อไปเล่นน้ำตก

หลังอาหารเที่ยง พายต่อมาได้สักพักเรามองเห็นสะพานรถไฟความเร็วสูงพาดขวางแม่โขงอยู่ข้างหน้า ความสูงและโครงสร้างของสะพานดูแปลกแยกจากรอบข้าง มันดูผิดที่ผิดทาง เป็นความเจริญที่ผ่าทะลุเข้ามาในโลกของธรรมชาติ

ความมึนงงของสะพานรถไฟในใจเรายังจางหายไปไม่หมด น้ำตกสายเล็กก็โผล่ขึ้นมาให้เห็นตรงหน้า ความเขียวชอุ่มรอบข้างน้ำตกและความเย็นของน้ำชะล้างทุกอย่างออกไปจากสมองของเรา เหลือแค่คำว่า ‘สดชื่น’ ค้างอยู่ในนั้น ต้นไม้ใหญ่โอบอยู่ข้างน้ำตก แผ่เงาเย็นให้พวกเราหลบพัก เราเข้าใจแล้วว่าทำไมน้ำตกนี้จึงถูกใส่เข้ามาในแผนที่ มันเป็นหมุดสำคัญทางจิตใจที่ถ้าได้ผ่านตาก็ไม่มีทางลืมแน่นอน

พวกเราเคลื่อนตัวออกจากน้ำตกด้วยความอิดออด เมื่อพ้นโค้งน้ำที่บังทางข้างหน้า จู่ ๆ ก็ได้พบกับจุดก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบางเข้าทันที 

เสียงเครื่องจักรทำงานเหมือนเป็นอสูรกายที่มาจากนอกโลกดังสนั่นกลบเสียงแก่งน้ำไหล รถตักดินเคลื่อนที่มาใกล้ แล้วเทหินกรวดกองใหญ่ลงมาในแม่น้ำ ฝุ่นควันฟุ้งกระจาย เหมือนทุกอย่างกำลังจะแตกสลายลงตรงหน้า เหมือนเห็นแม่น้ำกำลังถูกทุบตีทำร้ายต่อตา

เพียงแค่ไม่กี่กิโลเมตร อารมณ์สุข เศร้า ผลัดกันพุ่งเข้าใส่จนมึนงง พอมีสติจึงนึกขึ้นได้ว่า ระดับน้ำหลังเขื่อนสร้างเสร็จจะสูงขึ้นจากเดิม นั่นคือเหตุผลที่สะพานรถไฟจึงอยู่สูงเทียมฟ้า และน้ำตกแจ็คสายเล็ก ๆ นั้นจะจมอยู่ใต้น้ำ

พอตามความคิดมาจนถึงตรงนี้ คำว่า ‘เสียดาย’ ก็ขยายตัวจนเต็มสมองและจิตใจ ไม่มีที่ว่างเหลือให้จดจำสิ่งอื่นอีกต่อไป

จุดก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบาง
หน้าเมืองหลวงพระบาง ระดับน้ำคงที่ทำให้ตลิ่งน้ำคลุมด้วยหญ้าและพืชต่าง ๆ จนเขียวครึ้ม แต่ไม่มีหาดทรายและแก่งหินสวยงามอีกต่อไป
กำแพงหินธรรมชาติที่มีร่องรอยของระดับน้ำที่เปลี่ยนไปตามแต่ฤดูกาล

เส้นทางช่วงสุดท้ายของการเดินทาง เมื่อเราเข้าใกล้เมืองหลวงพระบาง เรามองเห็นวัด บ้าน ถี่ขึ้น เมืองริมน้ำมีขนาดใหญ่ขึ้น เขื่อนไซยะบุรีที่อยู่ปลายน้ำลงไปด้านล่างทำให้ระดับน้ำตรงส่วนนี้คงที่ เป็นความสะดวกสบายที่เพิ่มขึ้นมาตามกัน

ตลิ่งน้ำเขียวชอุ่มตลอดสองข้างทาง ไม่มีเส้นระดับน้ำที่แตกต่างกันตามฤดูกาล น้ำไม่ไหลเร็วอีกต่อไป ไม่มีแก่งอันตราย ไม่มีน้ำวนผุดขึ้นมาให้กังวลใจ แต่ก็ไม่มีหาดทราย ไม่มีสันทราย ไม่มีซอกเขาและผนังหินที่สวยจนแทบจะหยุดหายใจ

เราจะไม่รู้คุณค่าของสิ่งที่มีจนกว่าเราจะไม่มี ความไม่มีจะช่วยเสริมคุณค่านั้นให้เปล่งประกายมากขึ้น ทำให้มีความหมายมากขึ้น

การนอนแคมป์กลางแจ้งทำให้เรารู้คุณค่าของไฟฟ้าและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของชีวิตเมือง ในทางกลับกัน ชีวิตเมืองใหญ่ที่ไม่เหลืออากาศสะอาดให้หายใจก็ทำให้เรารู้คุณค่าของคำว่าธรรมชาติ 

ถ้าหากเปรียบเทียบทั้ง 2 ด้านว่ามีกำแพงกั้นกลาง การที่เราเดินวนอยู่แค่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งก็จะไม่มีทางมองเห็นคุณค่าของอีกฝั่งกำแพงได้เลย

หนังสารคดีบันทึกการเดินทาง อิสระสุดท้ายของสายน้ำโขง พร้อมภาพถ่ายและบันทึกการเดินทางในแม่น้ำโขงจากทริปนี้ ประกอบกันเป็นผลงานชื่อ Summer Holiday with The Naga โดย วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์อารยธรรมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 จังหวัดเชียงราย ในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 – เมษายน พ.ศ. 2567 โดยภาพถ่ายแม่น้ำโขงที่จัดแสดงอยู่นี้จะถูกเจาะทำลายลงไปทุกครั้งที่มีคนดูสารคดี อิสระสุดท้ายของสายน้ำโขง ไม่ว่าจะผ่านทางจอมือถือหรือจอในนิทรรศการ โดยเราทำอะไรไม่ได้นอกเหนือไปจากแค่ดูและจดจำภาพเหล่านี้ ก่อนที่มันจะถูกทำลายจนไม่เหลืออะไรให้เห็น

Writer & Photographer

Avatar

ชุตินันท์ โมรา

ช่างภาพ/วิดีโอใต้น้ำมือรางวัลระดับเอเชีย ที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกใต้น้ำทั้งในและนอกประเทศมากว่า 17 ปี ทำหนังสือดำน้ำระดับนานาชาติหลายเล่ม เป็นทีมวิดีโอใต้น้ำและคนเบื้องหลังสารคดีและโฆษณาหลายตัว นอกจากนี้ยังเป็นแอดมินเพจ digitalay