24 พฤศจิกายน 2023
1 K

เคยทักทายเพื่อนบ้านก่อนออกจากบ้านไหม

เราจะพามาทำความรู้จักกับ เมฆ สายะเสวี ผู้มีเพื่อนบ้านอยู่ทั่วไทย ไม่ได้ทำอะไรเหนือบ่ากว่าแรง เขาแค่เปลี่ยนงานของใครเป็นงานของเรา จนได้เพื่อนติดไม้ติดมือกลับมาทุกครั้ง

ชีวิตของเมฆผ่านการผจญภัยมาในหลายบทบาท ไม่ว่าจะเป็นสถาปนิกชุมชน ศิลปิน คนทำสารคดี หรือน้องชายแสนซนของใครสักคน แต่ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเชื่อมโยงกับการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อชุมชน โดยปัจจุบันเขาปักหลักอยู่ที่ CROSSs ออฟฟิศสถาปนิกที่ทำกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน ย่านฝั่งธนบุรี และยังทำตามสิ่งที่เขาเชื่อมั่นเสมอมา

เขาเชื่อว่างานจะมีความหมาย หากพวกเราช่วยกันทำ

หลายคนอาจเคยเห็น ‘Game of Thon หรือ เกมท่องธน’ เกมนั่นก็เป็นผลงานของเขา

เมฆผ่านวงสนทนาที่สร้างผลกระทบที่ดีให้กับผู้คนและพื้นที่มามากมาย สำหรับบ่ายวันนี้ เขาจะมานั่งคุยกับเราถึงความอิน และภาพแห่งความหวังของงานชุมชน ผ่านเลนส์ของสถาปนิกที่เผชิญการเปลี่ยนผ่านของเมืองใน 10 กว่าปีที่ผ่านมา

เมฆ สายะเสวี แห่ง CROSSs - ยังธน สถาปนิกชุมชนผู้เชื่อในพลังของการมีส่วนร่วมกับชุมชน และความฝันถึงเมืองที่น่าอยู่
เมฆ สายะเสวี แห่ง CROSSs - ยังธน สถาปนิกชุมชนผู้เชื่อในพลังของการมีส่วนร่วมกับชุมชน และความฝันถึงเมืองที่น่าอยู่

คำถามที่ต้องการหลายคำตอบ

ทุกอย่างเริ่มต้นจากการตั้งคำถาม

เมฆเกริ่นให้เราฟังว่าเขามีคำถามกับตัวเองเกี่ยวกับการทำค่ายพัฒนาชุมชนมาตั้งแต่สมัยเรียน ส่วนใหญ่แล้วกิจกรรมที่เกิดขึ้นมักเป็นการสร้างอะไรบางอย่างโดยอาจไม่ได้วิเคราะห์ความต้องการของผู้รับมาก่อน

“มันจะดีกว่าไหม ถ้าเราตั้งคำถามก่อนจะไปสร้างอะไร ไม่ใช่แค่อาคารเรียนที่พอผ่านไปปีสองปีก็โทรม” เขากล่าว

(ว่าที่) สถาปนิกหนุ่มเชื่อว่า สักวันหนึ่งจะใช้ทักษะสถาปนิกมาแก้ปัญหาชุมชนได้

เมล็ดพันธุ์แห่งความสงสัยหย่อนลงไปในใจของเขา รอการงอกเงยเมื่อถึงจังหวะเหมาะสม จนกระทั่งใน พ.ศ. 2552 เมฆเรียนต่อปริญญาโทด้าน Architectural Management ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขามีโอกาสไปช่วยงานโครงการออกแบบโรงพยาบาลที่เกาะยาวใหญ่กับ หมอนิล-มารุต เหล็กเพชร ความคิดเมื่อหลายปีก่อนจึงได้มีเวทีสำแดงจริง

“พี่หมอนิล ผู้อำนวยการโรงพยาบาล อยากสร้างโรงพยาบาลที่ทุกคนมาช่วยกันออกแบบ ตอนนั้นเราเป็นนักศึกษาที่อินกับอะไรแบบนี้ เลยเข้าไปฟังเขาประชุมกันครั้งแรก เราได้เจอผู้คนเก่ง ๆ และมีพื้นที่ได้ทำงานจริง เอาตรง ๆ ก็ไม่เห็นว่าเป็นอาชีพได้หรอก แต่ตอนนั้นมองว่าเป็นโอกาสและพื้นที่ทดลองของตัวเองในช่วงหนึ่งของชีวิต” เมฆกล่าวยิ้ม ๆ

เกาะยาวใหญ่ตั้งอยู่ระหว่างจังหวัดพังงา-ภูเก็ต สมัยนั้นยังไม่มีโรงพยาบาลตำบล มีแค่สถานีอนามัยที่มีคุณหมอประจำอยู่คนเดียว โครงการออกแบบโรงพยาบาลจึงเริ่มจากการที่พี่หมอเล็งเห็นว่า หากคนไข้ป่วยหนัก ต้องนั่งเรือสปีดโบตไปตั้ง 1 ชั่วโมงกว่าจะถึงภูเก็ต เลยอยากให้เกิดโรงพยาบาลตรงนี้ และต้องออกแบบโดยทุกคนที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นคุณหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ หรือกระทั่งผู้ป่วยและญาติ

การออกแบบโรงพยาบาลร่วมกับคนนับร้อยเป็นเรื่องไม่ง่าย เมฆเจอบททดสอบมากมายระหว่างทาง แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เขาได้เรียนรู้และสนุกกับมัน

เมฆ สายะเสวี แห่ง CROSSs - ยังธน สถาปนิกชุมชนผู้เชื่อในพลังของการมีส่วนร่วมกับชุมชน และความฝันถึงเมืองที่น่าอยู่

“สิ่งที่เราจำอยู่ในหัวเลยคือ ‘ป่วยแค่คนเดียว แต่มากันทั้งคันรถ’ คนป่วยก็อยู่ห้องฉุกเฉินไป แต่คนไม่ป่วยก็จะนอนตามระเบียงทั้งคืน เลยเป็นที่มาว่าต้องออกแบบให้มีห้องพักญาติผู้ป่วยขนาดใหญ่” เมฆเล่าย้อนเหตุการณ์ คงเป็นภาพที่ชุลมุนน่าดู “และเราต้องออกแบบห้องครัวใหญ่ด้วย เพราะว่าญาติส่วนใหญ่จะทำอาหารให้ผู้ป่วยกิน หากเราเป็นนักออกแบบปกติก็คงนึกถึงแต่ห้องรักษาผู้ป่วย”

ไม่ลงไปก็คงไม่รู้ การได้ลงพื้นที่จริงและให้ความสำคัญกับเสียงของผู้ใช้งานทุกคน ทำให้เขาเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น ซึ่งนักออกแบบอาจนึกไม่ถึงหากทำงานอยู่แค่บนกระดาษ

ยิ่งให้เวลาคนคุยกันเยอะ พื้นที่ยิ่งมีความหมาย

แม้จะสร้างพื้นที่ที่มีความหมายได้จากการพูดคุยกับทุกคน แต่ในงานกระบวนการมีส่วนร่วม เมฆยังต้องสร้างสมดุลแห่งความคาดหวังระหว่างการรวบรวมความเห็นของทุกคนให้อยู่ในงาน และเวลาส่งแบบเพื่อก่อสร้างที่เร่งเข้ามาทุกขณะ ทว่าสุดท้ายแล้วโรงพยาบาลก็สร้างสำเร็จด้วยพลังของทุกคน

“โรงพยาบาลที่พี่หมอสร้าง ไม่ใช่พี่หมออยากสร้างคนเดียวนี่นา แต่ทุกคนอยากสร้าง”

นอกจากเป็นจุดเริ่มต้นของโรงพยาบาลแห่งนี้แล้ว นี่ยังเป็นหมุดหมายแรกของกลุ่ม CROSSs กลุ่มสถาปนิกที่รวมตัวกันรับงานกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน โดย ณ ขณะนั้นยังเป็นแค่การรวมตัวเฉพาะกิจของกลุ่มเพื่อนสถาปัตย์ ซึ่งเมฆเองก็เป็นคนสำคัญของกลุ่มที่มักชวนเพื่อนมาทำอะไรสนุก ๆ เพื่อชุมชน

“อยากให้เป็นพื้นที่รวมตัวคนที่มีทักษะแตกต่างกัน แต่มีความสนใจร่วมกัน คืออยากสร้างโรงพยาบาลของพวกเรา และเติม s อีกตัว เพราะอยากให้คนมา Cross กันเยอะ ๆ กลายเป็น CROSSs” เมฆอธิบายเพิ่ม

เมฆ สายะเสวี แห่ง CROSSs - ยังธน สถาปนิกชุมชนผู้เชื่อในพลังของการมีส่วนร่วมกับชุมชน และความฝันถึงเมืองที่น่าอยู่

การรวมตัวของคนมีใจ

ดันเจอสิ่งที่ชอบแล้ว แล้วจะทำไงต่อ

หลังจากจบโครงการออกแบบโรงพยาบาลเกาะยาวใหญ่อันแสนตรึงใจ เมฆได้พบเจอผู้คนหลากหลายพื้นที่ จนเหมือนว่าตัวเองมีเพื่อนในทุก ๆ ที่ที่ไป เขาได้เห็นความตั้งใจของคนแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นคนเริ่ม คนตาม ทุกคนมีความอินของตัวเอง และเขาก็ชอบที่จะอยู่ในบรรยากาศแบบนั้น

เขาปักหมุดไว้ว่าเขาอยากทำงานแบบนี้ต่อไป

“จริง ๆ แล้วงานเกี่ยวกับกระบวนการมีส่วนร่วม มีพี่ ๆ สถาปนิกรุ่นบุกเบิกที่เขาทำมานานกว่าเรา ทั้งเครือข่ายสถาปนิกชุมชนในเอเชีย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือบริษัทสถาปนิก แต่เราก็อยากตั้งกลุ่มของตัวเองเหมือนกัน เพื่อทำงานในรูปแบบของเราเอง”

เรียบจบแล้ว สมาชิกกลุ่ม CROSSs เฉพาะกิจก็สลายตัว เมฆเองไปทำอาชีพหลายอย่าง ทำงานแลกจักรยานกับศิลปิน สอนหนังสือบ้าง ว่างก็รับออกแบบ ออกเดินทางค้นหาตัวเองราว 7 ปี โชคชะตาก็เหวี่ยงให้คนมีใจทำงานชุมชนหมุนวนมาเจอกัน

“เรามีจุดพลิกชีวิตตอนอายุ 30 หรือเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว” เมฆนิ่งไปสักพัก แอบพึมพำกับตัวเองว่า เฮ้ย นานขณะนั้นเลยเหรอ จากนั้นก็หัวเราะเบา ๆ “เราเจอ เมืองไทย ที่สนใจงานชุมชน ฮิน ผู้สนใจงานพัฒนาย่านเมืองเก่า และ ชาติ เด็กฝึกงาน เรา 4 คนเลยหันหน้ามาคุยกันจริงจัง ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงหลังจากไปเข้าร่วมงานพัฒนาเมืองชุมแสงที่จัดโดยกลุ่ม CAN (Community Act Network) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ประกอบกับว่ามีงานออกแบบโรงพยาบาลเข้ามาพอดี เป็นจังหวะที่คนพร้อม งานก็เข้า เลยตั้งบริษัทกัน”

พวกเขามีทักษะความถนัดที่แตกต่างกัน รวมตัวกันสร้างผลงานภายใต้ชื่อ CROSSs โดยมีเมฆเป็น Director ประจำทีม

เมฆ สายะเสวี สถาปนิกชุมชนที่เชื่อเรื่องการมีส่วนร่วมและชวนหลงรักฝั่งธนผ่าน Game of Thon

งานพัฒนาเมืองชุมแสง มีที่มาจากการจัดกิจกรรมกระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่ายสถาปนิกชุมชนในเอเชีย โจทย์คือสรุปความคิดชาวบ้านออกมาให้ได้ว่า ‘เมืองนี้อยากเป็นอะไร’ ให้ท่านนายกฯ ฟัง ถือเป็นมิติใหม่แห่งการพัฒนาเมืองขณะนั้น โดยที่ชุมชนมามีส่วนร่วมในการออกแบบทั้งนโยบายและการสร้างกิจกรรมพื้นที่สาธารณะร่วมกัน

ถัดจากงานพัฒนาเมืองชุมแสง เมฆและกลุ่ม CROSSs ก็ได้รับงานเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมมาเรื่อย ๆ ทั้งงานออกแบบ งานจัดกระบวนการ หรืองานผลิตสื่อ อาจด้วยความเชื่อเป็นไฟนำทางพวกเขา ดั่งคำที่เมฆเคยกล่าวไว้ว่า “ตราบใดที่ทำงานเรื่องการมีส่วนร่วม ไม่มีทางอดตายแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม กระบวนการมีส่วนร่วมสำหรับเขา ไม่ได้ผูกว่าต้องเป็นคนมีปัญหา

เมฆแจกแจงว่า โดยปกติงานกระบวนการมีส่วนร่วมมักแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว หนึ่ง คือพลังเชิงบวก มาร่วมกันสร้างร่วมกันทำ สอง คือจะตายอยู่แล้ว เลยต้องมารวมตัวกันแก้ปัญหา การทำงานจึงคาดเดายาก แต่เขาก็ได้ค้นพบว่า ‘คน’ คือปัจจัยสำคัญในเรื่องราวบทนี้

“เมื่อก่อนเราเชื่อเรื่อง Bottom-up มาก แต่เราค้นพบว่างานพัฒนาควรให้ Top หรือฝั่งนโยบาย หรือผู้มีอำนาจเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นเลย จริง ๆ แล้วเขาก็มีหมวกหลายใบ หากเขาทิ้งหมวกเชิงอำนาจออก เขาก็เป็นพ่อหรือเป็นลูกคนหนึ่ง”

แนวทางการทำกระบวนการมีส่วนร่วมของ CROSSs จึงเชื่อว่าการมีส่วนร่วมไม่ควรแยกฝั่งใคร เปลี่ยนเป็นคำว่า เราอยากทำอะไรร่วมกัน

เมฆ สายะเสวี แห่ง CROSSs - ยังธน สถาปนิกชุมชนผู้เชื่อในพลังของการมีส่วนร่วมกับชุมชน และความฝันถึงเมืองที่น่าอยู่


Game of Thon

จากที่ตะลุยงานชุมชนมาทั่วไทยแล้ว เมฆก็อยากทำในพื้นที่ใกล้ตัวบ้าง

“เราถอดหมวกสถาปนิกออก แล้วเป็นผู้ประสบภัยบ้าง” เมฆหัวเราะ

ตัวละครใหม่ที่อยากแนะนำให้รู้จักคือ ‘กลุ่มยังธน’ กลุ่มคนที่อยากพัฒนาพื้นที่ฝั่งธนบุรี เมื่อรวมคนที่อินในพื้นที่เดียวกันได้ พวกเขาก็อยากทำอะไรบางอย่างร่วมกัน และก็มีเสียงหนึ่งเสนอว่า ไหน ๆ ทุกคนอยากทำหลาย ๆ เรื่อง ก็รวมกันทำเป็นเกมไหม

ให้ทุกอย่างมันอยู่ใน 1 เกม – 1 เกม หลายเรื่องราว โครงการนี้พวกเขาได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ใน พ.ศ. 2564 ได้มาทำช่วงสถานการณ์โควิด-19 กำลังระบาดพอดี ใช้เวลาทำประมาณ 2 ปี โดยเกมจะอยู่ในรูปแบบ Mobile Game Application

“ตอนนั้นมีเพื่อนชื่อ ชัช ที่ชอบแต่งคำว่า ‘ธน’ ไปเรื่อย ๆ จะมีคำสนุก ๆ เป็นคลังคำไว้รอแล้ว พอพูดถึงเกม คำว่า ‘Game of Thon’ ก็เด้งขึ้นมา จากนั้นเลยเป็นมติหมู่ว่า เฮ้ย เรามาทำเกมกัน!”

เมฆ สายะเสวี แห่ง CROSSs - ยังธน สถาปนิกชุมชนผู้เชื่อในพลังของการมีส่วนร่วมกับชุมชน และความฝันถึงเมืองที่น่าอยู่
เมฆ สายะเสวี แห่ง CROSSs - ยังธน สถาปนิกชุมชนผู้เชื่อในพลังของการมีส่วนร่วมกับชุมชน และความฝันถึงเมืองที่น่าอยู่

การสร้างเกมของเมฆและชาวยังธนสอดแทรกกระบวนการมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น พวกเขาวางตัวเองว่าไม่ใช่คนออกแบบเกม เริ่มจากหาข้อมูลว่าในบางกอกใหญ่ พื้นที่ที่พวกเขาอยู่นั้นมีปัญหาอะไรบ้าง ถามทั้งผู้นำชุมชนและชาวบ้าน

ข้อสังเกตหลักที่ค้นพบ อย่างแรก คือเรื่องเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว คนมักจะมาเที่ยววัดอรุณฯ แล้วจบแค่ตรงนั้น เขาไม่ได้รู้จักสถานที่อื่น ๆ ในบางกอกใหญ่ ซึ่งเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่น่าค้นหา แถวนี้ยังมีบ้านสวนโบราณ ไอศกรีมโฮมเมดแสนอร่อย มีคลองมอญ มีร้านรวงน่าสนใจ แกลเลอรีสวย ๆ และที่เที่ยวที่น่าเล่นอีกมากมาย พวกเขาเลยอยากให้เกมเป็นสิ่งที่ทำให้คนมาเที่ยวมากขึ้น

นอกจากถามไถ่ข้อมูลจากผู้ใหญ่แล้ว เมฆกับกลุ่มยังธนยังเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ มาช่วยกันคิดว่าอยากจะออกแบบเกมอะไรในพื้นที่ โดยมีโจทย์ว่า ต้องเกิดการกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจให้ชุมชน โดยโจทย์นี้ก็มาจากการสำรวจประเด็นร่วมกับชาวบ้านชุมชน

เมฆ สายะเสวี แห่ง CROSSs - ยังธน สถาปนิกชุมชนผู้เชื่อในพลังของการมีส่วนร่วมกับชุมชน และความฝันถึงเมืองที่น่าอยู่

ข้อสังเกตประการที่ 2 ความสัมพันธ์ของผู้คนในเมืองนั่นเอง

“เราเห็นแล้วว่าในเมืองมีกลิ่น มีความเป็นชุมชน มีความเป็นเพื่อนบ้านอยู่จริง คือเมื่อก่อนสารภาพเลยว่าเราก็ไม่รู้จักใครเลย แต่พอมาทำงานที่เกี่ยวข้องกับชุมชน กลายเป็นว่าเรารู้จักพี่ ๆ ในชุมชนมากขึ้น” เมฆยิ้ม

พวกเขาอยากให้คนในกับคนนอกย่านมีของเล่นสักชิ้นหนึ่งที่ทำให้คุยกันและได้รู้จักกัน

ระหว่างเล่นเกมนี้ ผู้เล่นจะต้องทำภารกิจบางอย่าง ณ สถานที่จริง หากพบเจอคนในพื้นที่ก็อาจเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันและกันได้ และทำให้คนมาใช้เวลาเที่ยวเล่นในพื้นที่กันเป็นกลุ่ม ถือเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ทำให้เมืองมีชีวิตชีวา

“เราอยากให้คนรู้จักกัน และมันก็เป็นที่เราเห็นจากตัวเองว่า ระหว่างทำโครงการนี้เราได้รู้จักเพื่อนบ้านมากขึ้น และรู้สึกว่าเมืองน่าอยู่ขึ้น เป็นพื้นที่ปลอดภัยทางจิตใจ”

หันไปทางไหนก็เจอเพื่อนยิ้มให้ แบบนี้ก็อุ่นใจนะ

เมฆ สายะเสวี แห่ง CROSSs - ยังธน สถาปนิกชุมชนผู้เชื่อในพลังของการมีส่วนร่วมกับชุมชน และความฝันถึงเมืองที่น่าอยู่

บ้านหลังต่อไป

“ตอนนี้เรามีเครือข่ายและคนรู้จักประมาณหนึ่ง เราก็อยากสร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่มาทำกระบวนการมีส่วนร่วม เห็นน้อง ๆ ขึ้นมาทำงานเก่งกว่าเรา ทำงานที่สร้างผลกระทบที่ดีกับเมืองมากขึ้น เราที่ค่อย ๆ โตขึ้นก็จะคอยสนับสนุน”

ปัจจุบันกลุ่มสถาปนิกที่สนใจทำงานชุมชนมีจำนวนมากขึ้น ประตูแห่งโอกาสก็เยอะขึ้น ย้อนกลับไปสมัยเมฆและเพื่อน ๆ เมื่อ 10 กว่าปีกว่าก่อนนั้นมีน้อยกว่านี้มาก กว่าจะเดินทางมาถึงจุดนี้ เมฆเผยให้เราทราบว่าระหว่างทางเขาก็ทุลักทุเลเหมือนกัน

หนึ่งในโครงการล่าสุดของเมฆจึงเกี่ยวกับการปั้นคนรุ่นใหม่มาทำงานที่ส่งผลกระทบที่ดีกับเมือง ชื่อว่า ‘Healthy City Creators’ โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส.

“เราค้นพบว่างานพัฒนาเมืองที่เราอิน จุดร่วมคือการสื่อสาร การที่เราต้องเป็นผู้ฟังที่ดีและนำวงคุยที่สร้างความหมายร่วมได้” เมฆอธิบายด้วยรอยยิ้ม “เราเลยอยากทำโครงการอบรมคนรุ่นใหม่ที่ไม่จำกัดอายุ สมัครมาเป็นกระบวนกรและคนผลิตสื่อ โดยที่มีพื้นที่ทำงานจริงในเขตบางกอกใหญ่ เป้าหมายของโครงการนี้คือผลิตคนที่จบไปแล้วเขียนขอทำงบโครงการได้อย่างถูกต้อง”

เมฆ สายะเสวี แห่ง CROSSs - ยังธน สถาปนิกชุมชนผู้เชื่อในพลังของการมีส่วนร่วมกับชุมชน และความฝันถึงเมืองที่น่าอยู่

ประเด็นสำคัญที่นักพัฒนารุ่นใหม่ต้องการ คือเงินทุนสนับสนุนและผู้ให้คำปรึกษา เมฆเองก็เคยเป็นเด็กรุ่นใหม่คนนั้น เขาเคยอยากได้เงินทุนมาทำสิ่งที่เขาเชื่อ พอตัวเองล้มลุกคลุกคลานจนยืนได้ค่อนข้างมั่นคงแล้ว จึงอยากส่งต่อโอกาสนี้ต่อไป

“เราอยากสร้างให้เกิดพื้นที่ทดลองทำงานจริงให้คนรุ่นใหม่”

การเปลี่ยนแปลงเมืองเกิดขึ้นตลอดเวลา หากไม่มีคนรุ่นใหม่มาสานต่อ เมืองก็คงไม่เกิดประสบการณ์และความสัมพันธ์ที่ดีของผู้คน ก้าวต่อไปเมฆอยากเห็นคนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเมืองร่วมกัน รวมถึงอยากเห็นระบบการทำงานที่คนในพื้นที่มามีส่วนร่วมในเชิงนโยบายอย่างแท้จริง

“การสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบมีส่วนร่วมอาจจะเกิดขึ้นได้จริงนะ” เขาบอกกับเราอย่างหนักแน่น และเราก็อยากเชื่อเขาด้วยเช่นกัน

เมฆ สายะเสวี แห่ง CROSSs - ยังธน สถาปนิกชุมชนผู้เชื่อในพลังของการมีส่วนร่วมกับชุมชน และความฝันถึงเมืองที่น่าอยู่

Writer

Avatar

สุวพร เลี้ยงผาสุข

สถาปนิกตัวน้อย นักวาด นัก(อยาก)เขียน ผู้สนใจภูมินิเวศ ชุมชนนักสร้างสรรค์ มีสารพัดของกุ๊กกิ๊กและงานวาดโทนอบอุ่นในนาม Po.loid

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล