ผมรู้จัก นายแพทย์มารุต เหล็กเพชร หรือ หมอนิล มาร่วมๆ 20 ปี ตั้งแต่เขายังเป็นนักศึกษาแพทย์ เป็นกวี เป็นเจ้าของร้านหนังสืออิสระ เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่เด็กที่สุดในโรงพยาบาลที่เล็กที่สุดในประเทศไทย และตอนนี้เขากลายเป็นไอดอลของเหล่านักศึกษาแพทย์ไฟแรงที่อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงการสาธารณสุข

ปัจจุบันเขาเป็นหมอเวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพรุใน บนเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา ทำหน้าที่ดูแลสุขภาพของชาวบ้าน 10,000 คน

เขาได้รับการยกย่องเรื่องการดูแลสุขภาพของชาวบ้านด้วยวิธีคิดนอกกรอบ เพราะเขามีนิยามของคำว่า หมอ คนไข้ และโรงพยาบาล ที่ไม่ซ้ำใคร

อย่างที่เขาบอก ความหมายเปลี่ยน ทุกอย่างก็จะเปลี่ยน

มารุต เหล็กเพชร หมอคิดนอกกรอบผู้รักษาคนไข้บนเกาะด้วยศิลปะและการออกแบบ, หมอนิล

เขาบอกว่า เขาเป็นนักออกแบบ และบอกหลายรอบว่า เราไม่ควรจำกัดตัวเองว่าเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง

เขาชวนชาวบ้านลุกขึ้นมาออกแบบโรงพยาบาลใหม่ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของมุสลิม และทำระบบสุขภาพร่วมกับชาวบ้าน ซึ่งคิดนอกกรอบไม่แพ้กัน

เขาไปชวนครูสร้างการเรียนรู้ให้เด็กด้วยหลักสูตรแบบเดียวกับที่โรงเรียนทางเลือกค่าเทอมแพงในเมืองสอน เพื่อหวังจะลดความเหลื่อมล้ำ ให้เด็กรวยจนได้เริ่มต้นก้าวแรกทางการศึกษาจากจุดเดียวกัน
เขาคิดงานด้วยสมองทั้งสองซีก

เขาเป็นผู้กำกับหนัง เป็นนักเขียนนามปากกา นฆ ปักษนาวิน หนังสือเรื่อง ออกไปข้างใน ของเขา ชนะเลิศรางวัลประเภทรวมเรื่องสั้นจากเวทีเซเว่นบุ๊คอวอร์ด

เขาเป็นเจ้าของร้านหนัง(สือ) 2521 ที่ภูเก็ต ถือเป็นร้านหนังสืออิสระที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างความคึกคักให้วงการวรรณกรรมในภาคใต้ตลอดช่วงเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา
เขาเป็นหมอที่ไม่มีคลินิก เขาว่า ร้านหนังสือคือคลินิกของเขา 

เขาคุยกับลูกค้าก่อนจะตั้งใจชงกาแฟให้ เหมือนที่พยายามทำความเข้าใจคนไข้แล้วยื่นยาให้ เขาว่ามันคือกระบวนการคิดแบบเดียวกัน ดังนั้น อย่าพยายามให้คำจำกัดความว่า เขาเป็นหมอหรือบาริสต้า

มารุต เหล็กเพชร หมอคิดนอกกรอบผู้รักษาคนไข้บนเกาะด้วยศิลปะและการออกแบบ, หมอนิล

การเป็นหมอคือความฝันในวัยเด็กของคุณไหม

ตอนเด็กผมอยากเป็นหลายอย่าง วิศวะคอมพิวเตอร์ด้วย แต่ตอนมอห้า ผมได้อ่านหนังสือเรื่อง สาธารณทุกข์หรือสาธารณสุข ของอาจารย์ประเวศ วะสี บ้านเราเอาหลักการ Public Health (สาธารณสุข) มาใช้ แต่อาจจะเป็นระบบบริการที่กระจัดกระจาย หรือการมองแยกส่วนของหมอ หรืออะไรบางอย่าง ทำให้คนมีความทุกข์ ซึ่งก็มีคนคิดจะแก้ไขมัน เมื่อก่อนทุกอย่างมันรวมศูนย์ ผมคิดว่าถ้าเป็นหมอก็จะไปอยู่ในชนบท ลองแก้ปัญหาทำบางอย่างให้เกิดขึ้น

คุณเรียนหมอเพราะอยากแก้ระบบสาธารณสุข

ใช่ เมื่อก่อนผมอ่านหนังสือหลายเล่มที่ทำให้มีความคิดแบบโรแมนติก มันหล่อหลอมให้เรามีความฝันบางอย่าง อยากสร้างการเปลี่ยนแปลง เป็นกระแสที่ใครทำแบบนี้แล้วเท่ แต่ไม่ใช่การไปเป็นครูในชนบท หรือทำสิ่งที่มีคนทำแล้ว หนังสือของอาจารย์ประเวศทำให้เห็นว่าที่ทางของเราน่าจะอยู่ประมาณนี้ เป็นเรื่องหมอซึ่งยังไม่ค่อยมีคนทำ ผมมีความคิดเชิงระบบมาตั้งแต่แรก แต่ไม่ได้อยากเป็นรัฐมนตรี อยากทำสิ่งเล็กๆ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่ามันเป็นไปได้

คุณสนุกกับการเรียนวิชาแพทย์ไหม

สนุกครับ ผมชอบวิทยาศาสตร์ ผมพบว่าตัวเองชอบปรัชญา ชอบประวัติศาสตร์ของมัน ตอนเรียนฟิสิกส์ผมก็ชอบเรื่องที่ยุคหนึ่ง มักซ์ พลังค์ กับ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ แข่งกันหาแบบจำลองของอะตอม สำหรับเรามันเท่ว่ะ ผมมองมันเหมือนหนังเรื่องหนึ่ง

มารุต เหล็กเพชร หมอคิดนอกกรอบผู้รักษาคนไข้บนเกาะด้วยศิลปะและการออกแบบ, หมอนิล

อาจารย์สอนให้มองแบบนั้นหรือคุณจินตนาการเอง

ผมว่ามีสองส่วน ส่วนแรกเรารู้ทฤษฎีแล้วจากการอ่านหนังสือมาก่อน มองอะไรก็เห็นเป็นเรื่องเล่าไปหมด ส่วนที่สอง ผมเรียนกับอาจารย์สากล พรหมอักษร ตอนอยู่มอห้า โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช แกสอนเคมีเรื่องพันธะโคเวเลนต์ว่า ธาตุหมู่หนึ่งมีหนึ่งบาท หมู่เจ็ดมีเจ็ดบาท ถ้าจะซื้อขนมแปดบาท สองคนนี้ต้องเอาเงินมารวมกันถึงจะได้กินขนม พอครบแปดตัวก็จะได้พันธะที่แข็งแรงมาก เหมือนพันธะของมนุษย์ที่พึ่งพาอาศัยกัน มันคือความรัก สอนเป็นปรัชญาเลย ผมสอบได้ที่หนึ่งเพราะผมชอบอาจารย์ท่านนี้ แกไม่ได้สอนเคมีอย่างเดียว แต่เป็นกวีด้วย พอผมขึ้นมอหกแกก็เสียชีวิต ทุกคนเศร้ามาก

ผมมีความฝันว่า ถ้ามั่นคงแล้วจะกลับไปที่โรงเรียน ทำกองทุนสากล พรหมอักษร ให้ทุนกับเด็กแปลกๆ หรือเด็กที่มีความคิดเป็นของตัวเอง แต่ไม่มีคนสนับสนุน

คุณได้อะไรจากเรียนกับอาจารย์สากล

วิทยาศาสตร์กับศิลปะเป็นเรื่องเดียวกัน แล้วแต่ว่าเรามองในมุมไหน ในชีวิตผมแยกไม่ออกเลยว่าอันไหนวิทย์อันไหนศิลป์ วิทยาศาสตร์คือสิ่งที่เราต้องไปใช้วิธีหาความรู้ แต่ความรู้นั้นจะไม่มีประโยชน์ถ้าเราไม่มีความรู้สึก วิทยาศาสตร์คือการหาความเหมือนในสิ่งที่แตกต่างเอามาสรุป ส่วนศิลปะคือการหาความแตกต่างในสิ่งที่ดูเหมือนกัน

แล้วผมก็รู้จักสิ่งที่สาม การออกแบบ คือการนำสิ่งที่เป็นไปได้มากที่สุดของสิ่งที่แตกต่างกันมารวมกันเพื่อสร้างสิ่งใหม่ ผมชอบการออกแบบที่สุด รากศัพท์ของคำว่า Design คือการทำให้เกิดความหมายใหม่ เช่น คนอื่นมองคนไข้เป็นคนไข้ แต่เราเห็นว่าเขาออกแบบโรงพยาบาลได้ เป็นหมอของลูกได้ เป็นหมอของพ่อแม่ได้ เมื่อความหมายเปลี่ยน จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลง

อะไรคือปรัชญาของวิชาแพทย์ที่คุณชอบที่สุด

ในการเรียนวิชาเกี่ยวกับมนุษย์ทั้งหลาย เช่น มานุษยวิทยา สังคมวิทยา ถ้าเราสนใจมนุษย์ เราก็จะไปศึกษาเรื่องระบบความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรม แต่หมอเป็นวิชาเดียวที่ได้ผ่าดูข้างในมนุษย์ว่าร่างกายทำงานยังไง แล้วก็แก้ไขมันได้

ผมสนใจวรรณกรรม สังคม ผมโตมากับแนวคิดฝ่ายซ้าย ฮีโร่ของผมคืออัลเบิร์ต ชไวท์เซอร์ หมอที่ไปดูแลคนในแอฟริกา แล้วก็เช เกบารา เขารู้วิชาหมอแล้วก็เป็นนักปฏิวัติ นักเปลี่ยนแปลง ถ้าคุณเป็นนักอย่างอื่นอาจจะเปลี่ยนแปลงระบบได้ แต่ถ้าคุณเป็นหมอ คุณรักษาเขาได้ ช่วยให้เขารอดตาย หรือทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้ และคุณก็ทำระบบให้ดีขึ้นได้ด้วย

มารุต เหล็กเพชร หมอคิดนอกกรอบผู้รักษาคนไข้บนเกาะด้วยศิลปะและการออกแบบ, หมอนิล

หมอคืออะไร

หมอ แปลว่า คนที่รู้ หมองูก็รู้เรื่องงูเยอะ หมอความก็รู้เรื่องกฎหมายเยอะ ซึ่งตรงกับตะวันตก Doctor คือ Doctor of Philosophy (ปริญญาเอก) คือผู้รู้ในเรื่องความคิด หมอต้องเป็นทั้ง Doctor of Philosophy และ Doctor of Medicine (แพทยศาสตรบัณฑิต) ต้องรักในความรู้ และรู้เรื่องมนุษย์ทั้งร่างกายและระบบความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคม

แต่ถ้าถามผม ผมจะบอกว่านิยามของหมอคือนักออกแบบ เพราะออกแบบระบบแก้ไขสุขภาพให้คุณ ก่อนอื่นเราต้องรู้ระบบสุขภาพทั้งหมดของคุณ ถ้าเราเข้าใจว่าตัวโรคก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ความเจ็บป่วยก็เป็นอีกด้านหนึ่ง เวลาเราเป็นโรคอย่างใดอย่างหนึ่ง จะมีสิ่งที่เราเรียกว่าความเจ็บป่วยเกิดขึ้นด้วย ก็คือประสบการณ์ของเราที่มีต่อโรคนั้นๆ เช่นเวลาใครเป็นหนึ่งเป็นโรคหัวใจ เขาอาจจะมีความคิดว่าการเป็นโรคหัวใจเท่ากับเป็นความอ่อนแอ เหนื่อยง่าย ทำให้ทำงานหนักไม่ได้ มีความรู้สึกหวาดกลัว กังวลกับบทบาทหรือตัวตนที่เปลี่ยนแปลงไป มีความคาดหวังว่าสักวันหนึ่งจะกลับไปทำงานอะไรได้บ้าง ความคิด ความรู้สึก บทบาท ความคาดหวังเหล่านี้คือนิยามของความเจ็บป่วย ซึ่งจะมีความพิเศษ มีความเป็นประสบการณ์เฉพาะของแต่ละคน เราต้องรู้ว่าคนไข้แต่ละคนแตกต่างกัน แม้เป็นโรคหัวใจเหมือนกัน นั่นเป็นศิลปะนะ การรักษาก็ต้องเอาใจเอาความรู้สึกใส่เข้าไปด้วย ช่วยคนไข้ออกแบบหนทางแก้ไขปัญหาทั้งโรคและความเจ็บป่วยนั้นด้วยกัน หมอจึงต้องเป็นนักออกแบบที่รู้ทั้งวิทย์และศิลป์ เขาถึงเรียกการรักษาโรคว่าประกอบโรคศิลปะ คุณเป็นศิลปินได้ แต่ประกอบโรคศิลปะไม่ได้ มีแต่หมอเท่านั้นที่ทำได้ ผมโคตรชอบคำนี้เลย

สมัยเรียนคุณเป็นนักศึกษาแพทย์แบบไหน

หยิ่งผยองมาก ผมอาจจะรักษาโรคไม่เก่งนะ แต่ผมคิดว่ารู้จักคนไข้ดีกว่าอาจารย์ ผมไปค่ายอาสาของมหาวิทยาลัยที่เพชรบูรณ์ ได้ไปเห็นบ้านคนไข้ เห็นว่าการเดินทางมาโรงพยาบาลลำบากแค่ไหน เงินก็ไม่ค่อยมี ป่วยครั้งหนึ่งต้องใช้เงินมาก งานก็ไม่ได้ทำ คนที่มาเฝ้าก็ไม่ได้ทำงาน ผมเห็นภาพชัดเลยที่อาจารย์ประเวศเขียนว่า โรงพยาบาลหมอเฉพาะทางกระจุกตัวอยู่ในเมืองเป็นยังไง

เวลาเราเดินตามอาจารย์ดูคนไข้ วิชาหมอบอกว่า Condition นี้ไม่มีโรคแล้ว หายแล้ว แต่เราเห็นเขายังหน้าอมทุกข์อยู่ เรารักษาแค่ Disease (โรค) แต่ Illness (ความเจ็บป่วย) ยังไม่หาย เพราะไม่มีใครรักษา เขาอาจจะยังทุกข์เพราะเห็นญาติต้องนอนใต้เตียง หรือกลับไปพร้อมหนี้สิน ผมหยิ่งผยองมาก เพราะคิดว่าแม้แต่อาจารย์ก็ยังไม่รู้จักภาวะนี้ ผมคิดแบบนี้ตลอดเวลา ถ้ามีโอกาสจะทำโรงพยาบาลเอง ญาติต้องไม่นอนใต้เตียง แล้วจะไม่รักษาด้วยการดูแค่ผลตรวจโรคจากแล็บ ไม่ดูจิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม ความคิดของเขาเลย

ตอนนั้นคุณอยากทำโรงพยาบาลแนวไหน

ตอนเรียนปีห้า ผมไปฝึกงานที่โรงพยาบาลวัดโบสถ์ พิษณุโลก เป็นโรงพยาบาลชุมชน อาจารย์พินิจ ฟ้าอำนวยผล ถามว่า เป็นไปได้ไหมที่จะมีหมอมาอยู่ประจำทุกตำบล ให้หมอหนึ่งคนดูแลคนไข้หมื่นคน ถ้าเป็นไปได้ ช่วยทำให้ดูหน่อย ตอนนั้นเมืองไทยยังมีหมอไม่ครบทุกอำเภอเลย

แนวคิดนี้มาจากหมอจำนวนหนึ่งไปดูงานระบบ Primary Care (การแพทย์ปฐมภูมิ) ที่คิวบา หมอที่คิวบาหนึ่งคนดูแลประชากรร้อยห้าสิบคน เขาทุ่มงบประมาณสิบเปอร์เซ็นต์ของจีดีพีให้สาธารณสุขเท่าๆ กับประเทศสแกนดิเนเวีย ทั้งที่คิวบามีจีดีพีเท่าเรา ก็มีคนพยายามเอาโมเดลคิวบามาทำในไทย

ระบบ Primary Care น่าสนใจตรงไหน

ถ้าเราทำให้ดีเหมือนคิวบา จะใช้เงินน้อยกว่าการไปรักษาเฉพาะทาง เหมือนอเมริกาที่ล้มละลายเพราะเน้นการรักษามากเกินไป คิวบาทำ Primary Care จนคนอายุยืนพอๆ กับคนสแกนดิเนเวียเลย สิ่งที่ผมทำคือการบอกว่า ระบบปฐมภูมิจำเป็นและมีค่า สิ่งที่ผมทำมาตลอดสิบปีก็คือทำตัวอย่างให้เห็นว่า เราสร้างการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ให้เกิดขึ้นได้ คุณค่าของงานปฐมภูมิการดูแลทุกข์สุขของผู้คนในชุมชน คือการออกแบบระบบสุขภาพร่วมกับคนในชุมชน

ในบ้านเรา Primary Care ขับเคลื่อนโดยเวชศาสตร์ครอบครัว หรือ Family Medicine เป็นการแพทย์ปฐมภูมิที่ดูแลเบื้องต้น เป็นหมอคนแรกที่เหมือนหมอประจำครอบครัว คล้ายระบบของอังกฤษ เหมือนในหนังที่เราเห็นหมอถือกระเป๋าไปรักษาคนตามบ้าน หลักการที่ดูแลผู้คน ครอบครัว ชุมชน ในทุกมิติ ทั้งทางกาย จิตใจ คุณค่าทางจิตวิญญาณ และวัฒนธรรม

มารุต เหล็กเพชร หมอคิดนอกกรอบผู้รักษาคนไข้บนเกาะด้วยศิลปะและการออกแบบ, หมอนิล
มารุต เหล็กเพชร หมอคิดนอกกรอบผู้รักษาคนไข้บนเกาะด้วยศิลปะและการออกแบบ, หมอนิล

โรงพยาบาลคืออะไร

ถ้าเป็นคำตอบทั่วไป คือที่ที่คนทำงาน ให้บริการด้านสุขภาพ แต่สำหรับผม งานของเราคือการออกแบบเรื่องสุขภาพ เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องอยู่ที่โรงพยาบาลก็ได้ เราไปออกคลินิกที่มัสยิดก็ได้ คนที่มาโรงพยาบาลก็ไม่ต้องมาเพื่อรับการรักษาเท่านั้น มาสวดมนต์หรือละหมาดก็ได้ สำหรับผมขอบเขตของโรงพยาบาลมันเลือนมาก

ผมนึกถึงตอนเรียนปีสี่ การที่หมอไปเดินตรวจคนไข้ตอนเช้าที่หอผู้ป่วยในโดยที่ไม่รู้จักชื่อคนไข้ แต่รู้ว่าเขาเป็นโรคอะไร แล้วญาติเขานอนใต้เตียง หน้าห้องน้ำ สำหรับผมไม่เรียกว่าโรงพยาบาล เพราะมันไม่ได้แคร์ใคร โรงพยาบาลมันต้องแคร์

แล้วคนไข้คืออะไร

คนที่ต้องการการดูแล แต่ทุกคนก็ต้องการการดูแลเสมอในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การแคร์มนุษย์ทำได้หลายแบบ ถ้าเราช่วยเรื่องการแพทย์ได้เราก็ช่วย นั่งฟังเขาแบบ Deep Listening ก็ถือว่าแคร์ คุณทำสื่อก็คือการแคร์อะไรบางอย่าง ถ้าคุณมาที่นี่เพื่อทำให้ผมอยากรักษาธรรมชาติ หรือมาให้แรงบันดาลใจอะไรบางอย่าง ผมก็เป็นคนไข้ของคุณ เพียงแต่คุณไม่รู้ว่าคุณกำลังแคร์ผมอยู่

แปลว่าเราอาจจะกำลังเป็นหมอโดยไม่รู้ตัว

ใช่ครับ พ่อแม่คือหมอที่ดีที่สุดสำหรับลูก แต่ผมเกลียดการนิยาม เพราะมันจำกัดให้เราเป็นได้แค่อย่างเดียว สมัยมัธยม ผมเรียนเรื่องความยาวคลื่น (แลมบ์ดา) คนค้นพบคือ หลุยส์-วิคทอร์ เดอบรอยล์ เป็นเจ้าชายในยุโรป เป็นนักฟิสิกส์ เป็นนักกีตาร์ เล่นกีตาร์แล้วค้นพบความยาวคลื่น มันได้แรงบันดาลใจว่า เราไม่ต้องเป็นอย่างเดียวก็ได้

การบอกว่าเราเป็นอะไรแค่อย่างเดียวทำให้เราไม่รู้ว่าเราทำอะไรได้อีก มีศักยภาพอะไรอีก เราจะฝากอย่างอื่นให้ผู้เชี่ยวชาญทำ ผู้เชี่ยวชาญเกิดขึ้นในโลกยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่ตอนนี้โลกมัน Disrupt ซับซ้อนมากขึ้น การแก้ไขปัญหาอย่างหนึ่งทำไม่ได้ด้วยกลไกเดียว เราต้องหาคำตอบร่วมกัน ผมเรียกว่าการข้ามศาสตร์ เราต้องทำลายความรู้ศาสตร์ของเราก่อนว่าเราไม่ได้รู้ทั้งหมด ไม่ได้เชี่ยวชาญทุกเรื่อง เพื่อที่จะไป Cross กับศาสตร์อื่น

ยุคนี้หมอต้องการคนอาชีพอื่นมาช่วยรักษาคนไข้ด้วย

เราไม่ได้รักษาคนไข้ด้วยเข็มฉีดยา เพราะมันไม่ใช่โรคอีกต่อไป แต่เป็น Illness ถ้าคนยังจนอยู่ ไม่มีนมให้ลูกกิน ลูกจะแข็งแรงได้ยังไง แล้วมันเป็นหน้าที่ของเราคนเดียวหรือที่จะทำให้ครอบครัวนี้มีนมให้ลูกกิน มันควรเป็นหน้าที่ของคนในชุมชนไหม ต้องมาคุยกันว่า จะทำยังไงให้เด็กคนนี้เติบโตมาเป็นคนมีคุณภาพ ถ้าเขาเป็นโรคขาดสารอาหาร โตมาก็เรียนไม่รู้เรื่อง ต้องออกจากโรงเรียน แล้วก็มาปาดคอลูกคนอื่นอย่างนั้นเหรอ สุขภาพเป็นเรื่องของทั้งหมด มันมีความเจ็บป่วยที่มาจากโครงสร้างสังคมด้วย

ทำไมคุณถึงเลือกมาอยู่โรงพยาบาลเล็กๆ บนเกาะ

ตอนปีห้าผมเคยมาเที่ยวที่นี่ เห็นเขาประกาศรับสมัครหมอเพื่อมาทำโรงพยาบาลใหม่ ที่ไกลๆ แบบนี้ไม่มีใครแย่งแน่ แล้วก็คงไม่ค่อยมีคนติดตาม เราคงทำโรงพยาบาลแบบของเราเองได้ ผมอยากไปอยู่ในที่ที่ไม่ค่อยมีคนอยากอยู่ เพื่อให้เรามีคุณค่าเมื่อไปอยู่ตรงนั้น จะได้ทำอะไรได้ตามใจเรา ถ้าไปอยู่ที่ที่คนแย่งกัน เราต้องทำตามระบบเขา แล้วอยู่บนเกาะมันโรแมนติก มีเวลาเขียนหนังสือแน่ๆ แล้วก็ได้ไปเที่ยวทะเลทุกวัน

มารุต เหล็กเพชร หมอคิดนอกกรอบผู้รักษาคนไข้บนเกาะด้วยศิลปะและการออกแบบ, หมอนิล

งานหลักของคุณคืออะไร

สร้างระบบสุขภาพชุมชน (Community Health System) ใช้ความสนิทสนมกับชาวบ้านชวนเขาทำ เช่น ชวนออกแบบโรงพยาบาล ชวนทำระบบ Refer (ส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน) ถ้าเจ็บป่วยฉุกเฉินต้องส่งตัวไปภูเก็ต ค่าเรือหมื่นบาท เราใช้วิธีเก็บเงินครอบครัวละร้อย พอต้องไปก็ไม่ต้องจ่ายเงิน ครอบครัวไหนไม่ได้ใช้ในปีนี้ก็เท่ากับทำบุญให้คนที่ได้ใช้ เงินกองทุนปีละสองแสน ผมไปชวนสหกรณ์เรือที่ดูเงินสี่ล้านมาช่วยดูแลเงินให้ ทำระบบต่างๆ ร่วมกับชาวบ้าน

อะไรคือสัญญาณที่บอกว่าคุณพร้อมจะลุกขึ้นมาทำโรงพยาบาลในฝันแล้ว

ตอนแรกโรงพยาบาลมีห้องแอดมิตสองเตียง ห้องคลอดติดกับห้องซักล้าง ซึ่งเครื่องนั้นพร้อมจะระเบิด ถ้าระเบิดก็ตายกันหมด อาคารนั้นสามสิบปีแล้ว ชาวบ้านบริจาคเงินปีละห้าหมื่นถึงแสนให้เราทุกปี เราก็เริ่มทำห้องคลอด ห้องฉุกเฉินที่ดีขึ้น วันหนึ่งก็รู้ว่าทำแค่นี้ไม่พอ ชาวบ้านต้องการสิ่งที่ดีกว่านี้

จุดเปลี่ยนมีหลายอย่าง เราเริ่มมีทุกข์แล้ว เพราะตัวตนหยิ่งผยองถือดีตอนเป็นนักเรียนแพทย์มันใช้ประโยชน์ไม่ได้ ผมได้ไปเรียนเวชศาสตร์ครอบครัว ได้เจอปรมาจารย์ด้านนี้ อาจารย์สายพิณ หัตถีรัตน์ ผมเริ่มสนใจการเติบโตภายใน ไปเรียนไดอะล็อก การฟังแบบ Deep Listening ทำให้เราฟังคนอื่นมากขึ้น จุดเปลี่ยนสำคัญคือผมรู้ว่าความจริงมีหลากหลาย ไม่ใช่ความจริงของผมคนเดียว ต้องฟังคนอื่นมากขึ้น ผมเป็นคนลักษณ์สี่ (ตามหลักนพลักษณ์ ที่แบ่งคนออกเป็นเก้าประเภท) เป็นพวกโรแมนติก ไม่ฟังใคร คิดว่าเราดีที่สุด แต่ก็ได้เรียนรู้ว่า ถ้าคิดว่าเราเก่งกว่าคนอื่น มันทำตามฝันเราไม่ได้หรอก ก็เริ่มฟังชาวบ้านมากขึ้น หลังจากผมมาอยู่ได้สามสี่ปีก็เริ่มทำโรงพยาบาล

ทำไมการเรียนเวชศาสตร์ครอบครัวถึงเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของคุณ

เวชศาสตร์ครอบครัวพูดถึงการรักษาแบบองค์รวม ทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ทำให้ผมเห็นว่า คนในเกาะนี้เขาเป็นมุสลิม แต่เราไม่เคยมีโรงพยาบาลที่เหมาะกับคนมุสลิมมาก่อน พอคนไข้จะเสียญาติก็มากันเป็นร้อย แต่ที่ไม่พอ มันต้องการบางอย่างที่เชื่อมร้อยเขาได้ เวลาเกิดก็มีคนมาสวด โรงพยาบาลที่เรามีไม่เคยตอบโจทย์เขา ไม่เคยฟังเสียงเขามาก่อน ผมก็ชวนเพื่อนสถาปนิกชุมชนทำเวิร์กช็อปกับชาวบ้าน ให้ชาวบ้านช่วยออกแบบโรงพยาบาล

มารุต เหล็กเพชร หมอคิดนอกกรอบผู้รักษาคนไข้บนเกาะด้วยศิลปะและการออกแบบ, หมอนิล

โรงพยาบาลสำหรับชาวมุสลิมน่าจะเป็นสิ่งที่หมอหลายคนคิดได้ แต่ทำไมมันถึงไม่เคยเกิดขึ้น

เพราะเขาไม่ได้อยู่ที่เกาะยาวใหญ่ ที่นี่มันไกล การที่เรามาอยู่ที่นี่ คือสิ่งดีที่สุดที่เขามี ดังนั้นจะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ผมคิดว่าจะทำโมเดลแล้วเอาสตอรี่ไปขายบริษัทซัพพลายเออร์ให้บริจาควัสดุก่อสร้าง ผมเชื่อว่าถ้ามันดีพอ ใครก็อยากมีส่วนร่วม

มีคนพูดว่า สร้างไม่ได้หรอก ต้องไปสร้างในที่ดินอื่นที่ไม่ใช่ของรัฐ ฟังแล้วคนลักษณ์สี่ก็ขึ้นเลย มันจะไม่ได้จริงเหรอ พอทำไปถึงรู้ว่า มันผิดระเบียบราชการเกือบทุกข้อ เช่น ถ้าไม่ขอกองแบบแผนก็สร้างไม่ได้ คนที่ถือกฎบอกว่าไม่เคยมีใครทำมาก่อน ทำไม่ได้หรอก แต่ผมคิดว่า ถ้าถามเขาก็ตอบว่าไม่ได้ ทำแบบให้เสร็จแล้วส่งไปขออนุมัติก็ได้ ผมเชื่อว่ามันแค่ผิดระเบียบ ถ้าเราทำในสิ่งที่ถูก มันก็ย่อมเป็นสิ่งที่ถูก

โรงพยาบาลของคุณต่างจากโรงพยาบาลอื่นยังไง

เราขอประชามติจากชาวบ้านก่อนว่าจะสร้างโรงพยาบาลที่สอดคล้องกับเวชศาสตร์ครอบครัวนะ ไม่ใช่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ เราต้องการ Primary Care เราออกแบบโรงพยาบาลที่เหมาะกับคนที่นี่จริงๆ ความน่าอยู่ ความสบาย เป็นไปตามสัดส่วนมนุษย์ (Human Scale) มีห้องที่ชาวบ้านอยากได้ คือห้องคลอดที่ครอบครัวมาอยู่ด้วยกันได้ พ่อมาอยู่ตอนอยู่ไฟได้ เป็นส่วนตัวหน่อย มีห้องให้คนเสียชีวิตได้ทำพิธี มีห้องรวมที่มีความพิเศษ ไม่แออัด เตียงเฝ้าไข้ก็เป็นเตียงอย่างดี มีห้องให้ละหมาด ถ้าญาติมาเยอะก็มีชั้นบนให้ไปนอนได้ คนเอเชียญาติเยอะ เราเชื่อว่าคนมาโรงพยาบาลเยอะก็ดี จะได้เช็กความดัน ตรวจสุขภาพ คนอื่นๆ ได้ด้วย

อย่างที่สอง ต้องเลี้ยงตัวเองได้ เพราะโรงพยาบาลได้งบตามจำนวนประชากร เราคนน้อย ยังไงก็จะขาดทุนแน่ๆ เราต้องหาสิ่งที่มาช่วย ก็ทำเรื่องท่องเที่ยวสุขภาพด้วย ทำวารีบำบัด ทำสปา คนในเกาะก็ได้ใช้ด้วย

มารุต เหล็กเพชร หมอคิดนอกกรอบผู้รักษาคนไข้บนเกาะด้วยศิลปะและการออกแบบ, หมอนิล
มารุต เหล็กเพชร หมอคิดนอกกรอบผู้รักษาคนไข้บนเกาะด้วยศิลปะและการออกแบบ, หมอนิล

ถ้าโรงพยาบาลขาดทุน การหาเงินมาเลี้ยงโรงพยาบาลเป็นหน้าที่ของหมอหรือ

เป็นหน้าที่ของคนทำระบบสุขภาพ ถ้าเราต้องขอเงินรัฐบาลอยู่เรื่อยๆ ระบบสุขภาพก็จะไม่ยั่งยืน ถ้าขาดทุนเรื่อยๆ ค้างจ่ายเงินเดือน แล้วพยาบาลลาออกหมดจะทำยังไง ถ้าเงินซื้อเครื่องวัดความดันยังไม่มี แล้วผมจะไปคิดโครงการอะไรได้ เราต้องอยู่รอดให้ได้ด้วย ประชากรเราน้อย ถ้าเป็นเงินตามระบบยังไงก็ไม่ยั่งยืน

คุณไม่ใช้วิธีขอรับบริจาค

ครับ พี่ตูนช่วยวิ่งกี่รอบก็ไม่พอ เราทำระบบหาเงินด้วยตัวเองดีกว่า

คุณได้งบสร้างโรงพยาบาลมาจากไหน

ช่วงสองปีแรกที่ออกแบบ มีอาสาสมัครมาช่วยทำกระบวนการ มาลงพื้นที่ เราระดมทุนจากการขายขนมบ้าบิ่น แล้วก็มีหน่วยงานที่ทราบข่าวช่วยบริจาคเงิน ส่วนงบก่อสร้างสิบสี่ล้าน ตอนแรกเริ่มจากออกแบบเองแล้วไปขออิฐหินปูนทรายมา แล้วให้ชาวบ้านเป็นคนจัดการ เป็นแรงงานด้วย แต่ก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะวันหนึ่งรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขมาที่เกาะยาวใหญ่ เรามีแบบอยู่แล้ว ชาวบ้านก็ยื่นให้ ผมไม่รู้เรื่องเลย วันนั้นทีมสถาปนิกก็อยู่ สื่อก็มาถ่าย ถ้าไม่ให้มันก็น่าเกลียดใช่ไหม (หัวเราะ) เขาก็เซ็นอนุมัติแบบให้กองแบบแผน แล้วก็หางบประมาณมาให้

มารุต เหล็กเพชร หมอคิดนอกกรอบผู้รักษาคนไข้บนเกาะด้วยศิลปะและการออกแบบ, หมอนิล

พอมีโรงพยาบาลโฉมใหม่แล้วเกาะเปลี่ยนไปยังไง

พอเกิดโรงพยาบาลที่ชาวบ้านเป็นเจ้าของ ก็เกิดระบบสุขภาพอื่นที่ชาวบ้านเป็นเจ้าของตามมา เช่น กองทุน Refer แล้วเราใช้มิติความเชื่อทางจิตวิญญาณมากขึ้น เช่น ทำระบบดูแล Long Term Care ผมเรียกว่า Spiritual Long Term Care ดูแลผู้สูงอายุแบบจิตวิญญาณ ผมถามคนแก่ที่นี่ว่าความสุขของเขาคืออะไร คำตอบคือได้อ่านคัมภีร์อัลกุรอ่านและละหมาด Long Term Care ของผมคือจะทำให้เขาทำสองสิ่งนี้ให้ได้

ถ้าคนตาไม่ดี อ่านหนังสือไม่เห็น ต้องไปผ่าตัดต้อกระจก หรือถ้าแสงในบ้านไม่พอก็ให้เขาติดไฟให้อ่านหนังสือได้ ถ้าเขาข้อเข่าเสื่อม ก็ไปรักษา ให้เขานั่งละหมาดได้ คนป่วยติดเตียง ก็ทำให้กลายเป็นผู้ป่วยติดบ้าน พอฟื้นก็ทำให้ออกไปมัสยิดให้ได้

คนอื่นจะทำแบบ Top Down คือตรวจสุขภาพผู้สูงอายุให้หมด แล้วรักษาโรคที่เป็น แต่ผมทำแบบ Bottom Up แก้สิ่งที่ทำให้เขามีความสุขได้ก็พอ พอไปศึกษามากขึ้น การที่เขาอ่านอัลกุรอ่านได้ แปลว่าเขาอ่านได้สองภาษาคือไทยกับอาหรับ มันช่วยป้องกันความจำเสื่อมได้สี่ปี ถ้าเขายังอ่านหนังสือได้ จะไม่มีทางเป็นสมองเสื่อม

พอเราทำเรื่องที่เป็นคุณค่าความเชื่อสูงสุดของเขา ก็ไม่มีใครไม่อยากมีส่วนร่วม แล้วผมก็เริ่มคลินิกมัสยิด ไปตรวจคัดกรองบางอย่างที่มัสยิด คนแก่จะไปอยู่ที่นั่นเยอะ เราก็ทำระบบเหมือนโรงพยาบาล อย่างที่บอกว่าโรงพยาบาลอยู่ที่ไหนก็ได้ เพราะมันคือระบบไม่ใช่สถานที่

ตอนนี้คุณกำลังเน้นทำเรื่องการศึกษา

ผมเก่งน้อยเกินไปที่จะทำให้คนเป็นโรคแล้วเปลี่ยนพฤติกรรมได้ ซึ่งจะเป็นปัญหาสุขภาพต่อไปในอนาคต ยิ่งเป็นสังคมผู้สูงอายุด้วย ค่าใช้จ่ายในการดูแลยิ่งมาก เราพบว่ามีเด็ก Drop Out มากขึ้น เพราะระบบแพ้คัดออก เรียนไปก็ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ผมเลยชวนครูบนเกาะมาดูวิดีโอโรงเรียนที่ฟินแลนด์ โรงเรียนที่ดีที่สุดในโลกที่ญี่ปุ่น แล้วมาตั้งโจทย์กันว่า เด็กเกาะยาวควรจะเรียนหนังสือยังไง

มารุต เหล็กเพชร หมอคิดนอกกรอบผู้รักษาคนไข้บนเกาะด้วยศิลปะและการออกแบบ, หมอนิล
มารุต เหล็กเพชร หมอคิดนอกกรอบผู้รักษาคนไข้บนเกาะด้วยศิลปะและการออกแบบ, หมอนิล

นี่คือหน้าที่หมอหรือ

ใช่ มีการทดลองอันโด่งดังที่ให้เด็กเข้าไปในห้องที่มีมาร์ชเมลโลหนึ่งชิ้น ถ้าเด็กรอได้สิบนาที ออกจากห้องมาจะได้กินสองชิ้น สี่สิบปีต่อมา มีการไปตามผลแล้วพบว่า เด็กที่รอได้ โตมาก็ประสบความสำเร็จในชีวิต มีหน้าที่การงานดี ถ้าเป็นโรคก็ดูแลตัวเองได้ เด็กที่รอไม่ได้ ส่วนหนึ่งก็ติดยา ความยับยั้งชั่งใจเป็นหนึ่งในทักษะสิบสองด้านของ EF (Executive Functions หรือ ทักษะการคิดเชิงบริหาร แปลง่ายๆ ว่าการพัฒนาสมองเด็ก) การทำ Preschool Intervention เพื่อเพิ่ม EF ให้เด็กเป็นหน้าที่ของหมอสมองในต่างประเทศนะ

ถ้าเราทำ EF กับเด็กตั้งแต่แรก ก็จะได้ประชากรที่มีคุณภาพ ถ้าเด็กมี EF ไม่ดี จะเป็นสาเหตุของทุกอย่างตั้งแต่การ Drop Out จนถึงการป่วย เราเลยทำ Creative Education เป็น EF Care กับพ่อแม่ สอนให้รู้ว่าเด็กต้องการอะไรตั้งแต่เกิด จะได้ดูแลถูกต้อง สอนให้สร้างวินัยเชิงบวกแทนที่จะบังคับหรือห้าม แล้วก็ทำกับครูเพื่อให้มีทักษะที่ถูกต้องในการดูแลเด็ก มีครูอาสามาช่วยออกแบบการเรียนรู้ที่ใช้สัมผัสทุกด้าน การให้เด็กวาดรูประบายสี ถ้าเขามีสมาธินั่งระบายสีได้ ข้างในเขาก็จะสงบ เป็นการทำข้างนอกที่แก้ข้างใน แล้วพ่อแม่ที่ไม่มีเวลาเลี้ยงลูก ต้องฝากคนอื่นเลี้ยง ชุมชนช่วยอะไรได้บ้าง บ้านนี้เลี้ยงเก่ง ฝากสองสามคนได้ไหม แทนที่จะฝากไว้กับใครก็ไม่รู้

Preschool Intervention คิดโดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลนะครับ เป็นการศึกษาที่ให้ก้าวแรกที่เท่าเทียมกับเด็กทุกคน ไม่ใช่ว่ามีแต่ครอบครัวบางแบบที่ได้เรียนโรงเรียนดีๆ เด็กยากจนก็เรียนตามมีตามเกิด เป็นการลดความเหลื่อมล้ำด้วย

เกาะยาวโทนคืออะไร

เป็นวิชาสหศาสตร์ศึกษา สอนให้เด็กรู้ว่าสีในธรรมชาติมีอะไรบ้าง ผมไปดูงานของพี่โอ๊ค (คฑา มหากายี) ที่เชียงดาว เขาให้ลูกไปเก็บสีจากในธรรมชาติ จากหิน จากต้นไม้ ดอกไม้ เขาเรียกว่าเชียงดาวโทน ผมก็เอามาทำบ้าง ให้เด็กกับพ่อแม่ไปช่วยกันเก็บสีจากธรรมชาติ จากเปลือกหอย ดอกไม้ ใบไม้ พืชอาหาร เรียกว่าเกาะยาวโทน เอามาทำสีน้ำ ปั้นเป็นบัวลอยกินกัน บางคนก็ปั้นเป็นหุ่นยนต์

พอได้เกาะยาวโทน ก็เอาสีไปเทียบกับธรรมชาติ ไปเดินป่าหาสีของพืชสมุนไพรที่ตรงกับสีที่เรามี ดูว่าทำไมถึงสีนี้ มันมีสารอะไรให้ประโยชน์บ้าง เป็นยา เป็นอาหารยังไง เด็กจะได้รู้ว่าต้องรักษาต้นไม้ต้นนี้ไว้ เพราะเขาผูกพันกับมัน

เด็กอายุสามถึงห้าขวบสร้างเซลล์สมองผ่านกระบวนการบุคลาธิษฐาน เห็นอะไรก็มีชีวิตไปหมด พูดกับอะไรก็รู้เรื่อง เราต้องรักษาสิ่งนี้ของเด็กไว้ ทำให้เขาเป็นเพื่อนกับต้นไม้ คุยกันรู้เรื่อง คนสาย Deep Ecology จะหาวิธีสื่อสารกับต้นไม้ แต่กับเด็กไม่ต้องพยายามเลย เขาสื่อสารกับต้นไม้ได้ด้วยวัยของเขา ทำแบบนี้ก็จะเกิดจินตนาการ เกิดเซลล์สมอง พร้อมกับความรู้สึก ไม่ใช่แค่ได้ความรู้ แต่ได้ความรักด้วย

คุณพยายามสอนให้เด็กรู้สึก มากกว่ารู้

สิ่งที่เราทำผ่านเกาะยาวโทน คือการสร้างความรู้สึก ซึ่งจะกระตุ้นให้สร้างเซลล์สมอง ก็เหมือนการพัฒนาฮาร์ดแวร์ให้สมบูรณ์ก่อน ใส่โปรแกรมอะไรเข้าไปก็ทำงานได้ แต่การศึกษาทุกวันนี้พยายามใส่โปรแกรมเข้าไปก่อน สอนให้อ่านออกเขียนได้ แต่ถ้าไม่พัฒนาฮาร์ดแวร์ เครื่องก็แฮงก์

ผมไม่ได้ปฏิเสธความรู้นะ ความรู้ก็สำคัญ แต่มนุษย์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเพราะความรู้ เราเปลี่ยนแปลงเพราะความรู้สึก ถ้าวันหนึ่งคุณรู้สึกกับมัน คุณจะเปลี่ยนแปลง เราเลยทำ Preschool Intervention จะได้ผลไหมอีกสิบปีมาดูกัน

นักศึกษาแพทย์ผู้หยิ่งผยองในวันนั้นกับนายแพทย์มารุตในวันนี้ต่างกันยังไง

ความหยิ่งผยองน้อยลง ฟุ้งซ่านน้อยลง แต่โฟกัสมากขึ้น อายุสี่สิบ ครึ่งทางของชีวิตแล้ว รู้แล้วว่าอะไรสำคัญในชีวิต อะไรเหมาะกับเรา สิ่งที่ไม่เหมาะก็ไม่ต้องทำ ไม่ต้องพิสูจน์กับมันแล้ว

มารุต เหล็กเพชร หมอคิดนอกกรอบผู้รักษาคนไข้บนเกาะด้วยศิลปะและการออกแบบ, หมอนิล

คุณเคยพยายามพิสูจน์อะไรมาบ้าง

คนลักษณ์สี่โคตรจะพิสูจน์ว่าตัวเองต่างจากคนอื่น ซึ่งเหนื่อยชิบหาย ย้อนกลับไปดูแล้วก็ มึงทำไปทำไม เราเกลียดการแข่งขัน ตอนเรียนมอปลาย ต้องนั่งรถสองแถวไปโรงเรียน แต่ผมไม่ชอบแย่งขึ้นรถ ก็จะนั่งอ่านหนังสือแล้วไปคันสุดท้ายซึ่งไม่มีใครแย่งขึ้น ก็จะถูกครูตีเพราะไปไม่ทันเข้าแถว แต่ผมได้คะแนนดีที่สุด

ตอนเรียนปีหนึ่ง พวกหมอชอบไซโคกัน ก่อนสอบจะเอาหนังสือมาตั้งๆ อ่านชีทที่เพื่อนไม่มี เป็นการแสดงอะไรบางอย่างเพื่อบางอย่าง ผมว่ามันไม่ใช่ วิธีของผมคือแสดงว่าไม่อ่านหนังสือเลย ผมอ่านนิยายเรื่อง จำปูน ก่อนสอบวิชาชีวะ แต่วันนั้นผมได้คะแนนท็อปของมหาวิทยาลัย เพราะผมตั้งใจเรียนตั้งแต่ในห้องแล้ว วิชาของปีหนึ่งผมก็เรียนตั้งแต่มอหก

แล้วผมก็นึกได้ว่า มึงไม่ได้เกลียดการแข่งขันหรอก มึงน่ะชอบการแข่งขัน แต่แข่งอีกแบบที่มึงจะชนะ มึงแค่ทำสิ่งที่ต่างจากคนอื่น เพื่อบอกว่ามึงเจ๋งกว่า ผมทำแบบนี้มาตลอดทุกเรื่อง

การที่ผมมาอยู่แบบนี้ ก็เป็นการแข่งขันอีกแบบหนึ่ง มันเหนื่อยนะ ถ้าคุณยังเป็นหนุ่มก็อาจจะชนะตลอด แต่วันหนึ่งที่คุณแก่แล้ว คุณไม่มีทางชนะได้อีกต่อไป ด้วยวัยหรือด้วยคุณเบื่อที่จะทำมันแล้ว คุณจะอยากทำสิ่งที่เป็นแก่นสารของมัน แล้วเรียนรู้ที่จะอยู่กับความธรรมดาให้ได้ ไม่ต้องมีชื่อเสียงอีกต่อไปแล้ว แต่คุณค่าของคุณจะอยู่ที่สิ่งที่คุณทำ แม้ว่าจะไม่มีใครเห็นก็ตาม คุณจะยอมรับตัวเองได้

ทุกวันนี้ชื่อเสียงสำคัญกับคุณแค่ไหน

เมื่อก่อนเราบอกว่า ไม่สนใจชื่อเสียง แต่ไม่จริงหรอก ความรู้สึกนี้มันทำงานกับเรามากขึ้นเมื่อไม่มีใครรู้จัก นฆ ปักษนาวิน แล้ว ตอนนี้ผมไม่ได้เขียนหนังสือมานานแล้ว ไม่มีใครรู้จักแล้ว แต่ก็ทำใจได้ง่ายขึ้นที่จะไม่มีตัวตนในวงการนักเขียน

มารุต เหล็กเพชร หมอคิดนอกกรอบผู้รักษาคนไข้บนเกาะด้วยศิลปะและการออกแบบ, หมอนิล

แต่ชื่อของนายแพทย์มารุต เหล็กเพชร ก็เป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นไอดอลของนักศึกษาแพทย์นอกขนบทั้งหลายด้วยซ้ำ

เมื่อก่อนผมอยากให้คนรู้จักในฐานะคนทำงานศิลปะมากกว่า เพราะความเป็นหมอมันธรรมดา มันมีต้นทุนทางสังคมมากพอจะดังได้โดยไม่ต้องทำอะไรมากนัก มาอยู่เกาะก็ดังแล้ว แรกๆ ไม่ได้ทำอะไรเลย คนมาสัมภาษณ์กันใหญ่ คุณก็เคยสัมภาษณ์

สิ่งที่ให้สัมภาษณ์ช่วงนั้น ผมว่ามันโคตรเฟก ได้มาทำงานเป็นหมอบนเกาะ เขียนหนังสือ โรแมนติก พูดแต่เรื่องไลฟ์สไตล์ ไม่ได้พูดถึงงานที่ทำมากนัก พอพูดเรื่องงานมากขึ้น คนก็พยายามให้เราเป็นคนเสียสละ เราก็บอกว่าไม่ได้เสียสละ อยู่ที่นี่สบายนะ

ตอนนี้ใครมาถามจะตอบได้เท่น้อยลง เมื่อก่อนจัดเต็มนะ (หัวเราะ) ตอนนี้ผมชอบเรื่องการออกแบบบางอย่างเพื่อคนอื่น มันคือสิ่งที่ผมโฟกัสอยู่ แล้วก็ยาก ทำคนเดียวไม่ได้ ซึ่งมันท้าทายคนลักษณ์สี่ที่เชื่อว่า ทำด้วยตัวคนเดียวได้

การอยู่โรงพยาบาลเล็กๆ ที่เดิมมาสิบปี รู้สึกไหมว่าไม่มีความก้าวหน้า

ถ้าหมายถึงความก้าวหน้าในวิชาชีพ ไม่ก้าวหน้าแน่ๆ อยู่ที่นี่เป็นเหมือนหมอชั้นสอง มีความรู้สึกต่ำต้อยอยู่บ้าง

คุณไม่แคร์

(คิดนาน) ผมเคยแคร์ ถ้าบอกว่าไม่แคร์เลยก็โกหกนะ เพื่อนไปเป็นอะไรต่ออะไรแล้ว แต่วันหนึ่งผมก็พบว่า ความสุขทั้งหมดของชีวิตไม่ได้ขึ้นกับความก้าวหน้าในเชิงอาชีพอย่างเดียว มันคุ้มที่จะแลก การมีความสุขแบบนี้ทุกวัน คนลักษณ์สี่อาจจะบอกว่า กูมีความก้าวหน้าอีกแบบหนึ่ง แต่ไม่อยากพูดแบบนั้น มันดูขี้แพ้เกินไป ยอมรับเลยดีกว่า ผมเคยคิด แต่ไม่ได้คิดแล้ว ผมไม่ได้อยากก้าวหน้าในเชิงบริหาร เพราะสิ่งที่สร้างขึ้นมาทุกวันนี้ มัน Bottom Up แล้วเป็นแนวราบ แต่ระบบราชการมันยากที่จะเป็นแบบนั้น เราจะเสียพลังงานมากกับสิ่งที่ไม่จำเป็น

ถ้าปฏิรูประบบราชการได้ผมก็อยากเห็นนะ ถ้ามีอำนาจผมจะไม่คิดอะไรใหม่เลย จะทำ Primary Care ต้องปฏิรูประบบราชการให้ได้ ปฏิรูประบบการศึกษา กองทัพด้วย เปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจในทุกระบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องทำด้วยกัน

มารุต เหล็กเพชร หมอคิดนอกกรอบผู้รักษาคนไข้บนเกาะด้วยศิลปะและการออกแบบ, หมอนิล

ถ้าการขึ้นเป็นผู้บริหารไม่ใช่ความก้าวหน้า แล้วแบบไหนเรียกก้าวหน้า

ผมอยากเป็นอาจารย์ ถ้าผมอายุห้าสิบ อยากเอาประสบการณ์ที่ตัวเองมี สิ่งที่เป็นจริงไปบอกคนอื่น แต่ผมก็ไม่รู้ว่าตอนนั้นจะยังทำให้คนอื่นมีแรงบันดาลใจได้เท่าทุกวันนี้หรือเปล่า คนอาจจะไม่สนใจแล้วก็ได้ ผมอยากสอนวิชาที่เป็นความรู้ข้ามศาสตร์ สอนด้วยการเรียนรู้ผ่านโครงงาน ลงชุมชนไปดูว่ามีปัญหาอะไร ไปหาโจทย์และหาคำตอบร่วมกัน อะไรที่เกี่ยวข้องกับงานนี้ก็คงอยากสอนหมด

อยากไปอยู่โรงพยาบาลที่ใหญ่ขึ้นเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้นไหม

โรงพยาบาลที่ใหญ่ขึ้นไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้น เพราะอยู่ในระบบที่แข็งแรง ยากจะขยับเขยื้อน แต่ผมอาจเป็นแรงบันดาลใจให้เขาได้ ผมไม่ได้ชอบโรงพยาบาลเล็กหรือใหญ่นะ แต่ผมอยากทำ Primary Care ให้ชุมชนมีส่วนร่วมทุกอย่างเลย เป็นที่มาของการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research-PAR)

หมอคิวบาต้องทำ PAR กับชาวบ้าน เพื่อเแก้ทุกข์ให้เขาปีละเรื่อง นั่นคือคุณค่าของ Primary Care ที่คนไม่ค่อยเห็น ผมอยากทำตรงนี้ การออกแบบโรงพยาบาลของคนมุสลิมที่ผมทำก็คือ PAR ที่ผ่านมาเรามีความสำเร็จสองสามเรื่องที่เห็นว่าโอเค ถ้าทำต่อไปมันจะเข้มข้นกว่านี้ แล้วก็จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้

ถ้าฝันว่าอีกสิบปี จะมีหมอเวชศาสตร์ครอบครัวมาประจำทุกตำบล จะเปลี่ยนระบบสุขภาพได้ แต่ตอนนี้เรายังทำไม่ได้เพราะยังไม่มีหมอเยอะขนาดนั้น มันต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน เพราะเมื่อก่อนก็ไม่มีหมอครบทุกอำเภอ

ผมทำเรื่องเด็กวันนี้ เพื่ออีกยี่สิบปีข้างหน้าจะได้คนที่มีคุณภาพ สังคมจะดีกว่านี้ ถ้าอยากปลูกข้าวในเวลาหนึ่งปี ปลูกป่าใช้เวลาสิบปี เปลี่ยนแปลงคนใช้เวลาร้อยปี ผมอยู่ที่ปีแรก ถ้าเราทำด้วยกัน ร้อยปีข้างหน้าต้องมีอะไรดีขึ้น

ลืมเลยว่าจะถามอะไรต่อ

คุณต้องถามว่า ผมจะผิดหวังไหม ถ้าเด็กคนนั้นไม่ได้ดีขึ้น

ได้ คุณจะผิดหวังไหม

ถ้าไม่ทำอะไรเลย จะผิดหวังมากกว่า

คม

แม้มีความฝันอยู่มาก แต่ผมคิดว่าตัวเองทำงานอยู่บนความเป็นจริงพอสมควร ถ้าลงมือทำแล้ว แม้อาจจะไม่เห็นผลในอีกสิบปียี่สิบปีข้างหน้าเลยก็ได้ อย่างน้อยได้รู้ว่าไม่สำเร็จ แต่ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ตอนอายุหกสิบเรามองตัวเองในกระจก เราจะอายตัวเองไหม จะอายเด็กคนนั้น (ตัวเราในอดีต) ไหม ผมคงไม่อายเท่าไหร่ อาจจะขอบคุณที่มึงดื้อมาก กูเห็นข้อเสียของมึง แต่กูขอบคุณที่ทำให้เรามีเราทุกวันนี้

มารุต เหล็กเพชร หมอคิดนอกกรอบผู้รักษาคนไข้บนเกาะด้วยศิลปะและการออกแบบ, หมอนิล

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล