ช่วงเทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2566 ที่ผ่านมา สงขลาแปลงสภาพประหนึ่งย่านอารีย์ นอกจากมีคนต่างถิ่นมาเที่ยว คนท้องถิ่นก็คึกคัก เต็มไปด้วยกิจกรรมน่าสนใจ

ต่อให้จบเทศกาล สงขลาก็ยังน่าสนใจอยู่ดี การได้อยู่ยาวยิ่งทำให้สงขลามีเสน่ห์มากยิ่งขึ้น ลิสต์ด้านล่างนี้อาจไม่อยู่ในอันดับต้น ๆ สำหรับนักท่องเที่ยว แต่เป็นเรื่องที่เราอยากให้คุณลองถ้าต้องอยู่ที่นี่ยาว ๆ เผยให้เห็นมิติอีกด้านของเมืองที่มีเสน่ห์มาก ๆ

#01
ลองนั่งรถสามล้อถีบของลุงแจ้ว

คนปั่นสามล้อถีบคุยเก่งทุกคน โดยเฉพาะ ลุงแจ้ว สามล้อเจ้าเก่าแก่ในสงขลา การใช้บริการขนส่งมวลชนท้องถิ่นแบบนี้จึงได้ทั้งเดินทางและได้ฟังเรื่องราวจากไกด์ท้องถิ่นน่องเหล็ก ถ้าหาลุงไม่เจอ แนะนำเดินมาบริเวณตรงข้าม a.e.y.space หน้าบ้านเขียนเจริญ 

สามล้อถีบเป็นหนึ่งในอาชีพเก่าแก่ การได้ลองนั่งสามล้อจึงเหมือนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านการเดินทาง ปัจจุบันสามล้อถีบในสงขลาเหลือไม่ถึง 3 เจ้าเท่านั้น

#02
ลองฟังเจ้าของร้าน เลโช เล่าเรื่องจักรยาน

เมืองเก่าสงขลาเป็นจุดที่นักปั่นทางไกลในย่านนี้ปั่นผ่าน หนึ่งในร้านที่เป็นจุดแวะขาประจำคือ ‘เลโช’ ร้านกาแฟสำหรับคนรักจักรยาน นอกจากกาแฟจะอร่อย เจ้าของร้านนี้ยังเป็นหนึ่งในทีมผู้ก่อตั้ง Touring Club Thailand(TCT) กลุ่มนักปั่นผู้บุกเบิกเทรนด์การปั่นจักรยานทางไกลให้ขยายวงกว้างไปทั่วประเทศ ประสบการณ์ขนาดนี้จึงมีเรื่องเล่าสนุก ๆ จากทริปเล่าให้ฟังเป็นเข่ง 

จริง ๆ อยากจบด้วยชวนลองปั่นจักรยานกับเจ้าของร้าน แต่กลัวจะโหดไป แต่ถ้าอยากลองและไม่มีจักรยานติดมา ร้านนี้มีขาย (ความอินดี้คือเจ้าของร้านมีขายแบบเดียว แต่เป็นแบบที่คิดมาแล้วว่าเหมาะกับการปั่นย่านนี้) หรือจะลองหาเช่าจากร้านอื่นแล้วลองมาเริ่มทริปที่นี่ก็ไม่เลว

#03
ลองเดินดูตึกเก่าที่ได้อิทธิพลจากจีน 5 เหล่า

ฮกเกี้ยน ไหหลำ กว่องสิว ฮากกา และแต้จิ๋ว คือคนจีน 5 เหล่าที่ย้ายมาตั้งรกรากในสงขลาต่างกรรมต่างวาระ โดยเฉพาะในย่านเมืองเก่า สิ่งที่เห็นเด่นชัดที่สุดคืออาคารเก่าที่เคยเป็นบ้านของคนจีน เก่าสุดที่เราเห็นคือบ้านของคนจีนฮกเกี้ยน มีอายุราว 150 – 180 ปี 

อาคารที่ว่ามีให้เห็นหลายรูปแบบ ทั้งอาคารซึ่งยังเป็นที่อยู่อาศัย ปรับเปลี่ยนเป็นร้านค้า พิพิธภัณฑ์ หรือยังถูกทิ้งร้างอีกไม่น้อย

ความเป็นจีนในสงขลาแปลงสภาพไปหลอมรวมในวิถีชีวิตหลายรูปแบบ รูปแบบป๊อปที่สุดคงเป็นอาหาร ส่วนอาคารเก่าถือเป็นการเรียนรู้ความเป็นจีนที่เสพง่าย สะดวก เดินดูได้สบาย ๆ ยามไม่มีเรื่องต้องทำ แต่ลึกซึ้งกว่าที่ตาเห็น ถ้าศึกษาไปก่อนเดิน เพลินกว่าที่คิด

#04
ลองเข้าร่วมเวิร์กช็อปใน SKA Heritage

สงขลาเป็นแหล่งชุมนุมนักพัฒนาเมืองระดับจอมยุทธ์ หนึ่งในนั้นคือ ดวงใจ นันทวงศ์ สถาปนิกที่สนใจการบูรณะอาคารเก่า ก่อตั้ง บริษัท สงขลาเฮอริเทจ จำกัด รวมกลุ่มคนทำงานด้านเมืองหลากหลายสาขา หนึ่งในงานของดวงใจ คือการจัดเวิร์กช็อปที่น่าสนใจ เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนสงขลา

เวิร์กช็อปเป็นกิจกรรมที่เป็นมิตรสำหรับคนต่างถิ่นที่อยากรู้จักความเป็นเมืองมากขึ้น ลองส่องกิจกรรมได้ที่เพจ SKA Heritage มีทั้งกิจกรรมน่าร่วม สินค้าน่าอุดหนุน ถือเป็นห้องรับแขกสำหรับคนอยากรู้จักสงขลาให้ลึกกว่าเดิม

#05
ลองกินอาหารเช้า 3 แบบที่หาดชลาทัศน์ ฮับเซ่ง และมะลิทอง

หาคำว่า สงขลา ต่อด้วย อาหารเช้า คุณจะเจอตัวเลือกมหาศาล แต่ถ้าให้คัดสรร เราคิดว่ามี 3 ทางเลือกการกินอาหารเช้าแบบคนสงขลาที่น่าลอง

หนึ่ง ลองตื่นเช้าไปกินอาหารเช้าที่ ‘หาดชลาทัศน์’ ประมาณ 7 โมงกำลังสวย บริเวณนี้เป็นร้านเล็ก ๆ แนวรถเข็นที่ขายอาหารหลากหลาย ไข่กระทะ โจ๊ก ข้าวยำ สเต๊กก็มี ที่สำคัญบรรยากาศชิลล์มาก

สอง ร้าน ‘ฮับเซ่ง’ ต่อให้เริ่มแมส เราก็ยังอยากให้ลองกินน้ำชาและอาหารเช้าสไตล์สงขลา เป็น Comfort Food ที่ต้องลอง 

สุดท้าย คือร้าน ‘มะลิทอง’ ร้านนี้บ้าน ๆ แต่เป็นหนึ่งในร้านเก่าแก่ เป็นอาหารเช้าที่ควบรวมสไตล์อาหารตามสั่ง มีเสน่ห์แบบบ้าน ๆ

#06
ลองอุดหนุนซีอิ๊วประจำสงขลา

ความเดิมจากข้อ 3 ความเป็นจีนส่งผลต่อการทำอาหารของคนสงขลา เกิดการหมักปรุงซีอิ๊วที่เป็นเครื่องปรุงอาหารจีนในหลายครอบครัว มีมากมายหลายแบบ

ถ้าอยากลองดูวิธีการทำซีอิ๊วดั้งเดิมด้วย ลองแวะไปที่โรงงานซีอิ๊วอ่องเฮียบเซ่ง โรงงานหมักซีอิ๊วแบบดั้งเดิม มีซีอิ๊วเค็ม ซีอิ๊วหวาน และเต้าเจี้ยว เจ้าของโรงหมักชื่อ เจ็กโห้ ภายในโรงงานเป็นแบบบ้าน ๆ แต่สะสมภูมิปัญญาดั้งเดิมเยอะมาก

#07
ลองเที่ยวสงขลาตอนกลางคืน

ถ้าให้เลือกแค่ย่านเดียว อยากให้ลองแวะไปแถวบริเวณตึกสงครามโลก ย่านนั้นตอนกลางวันเป็นแหล่งรวมตัวของหนุ่มสาวสงขลารุ่นใหม่ที่มาเปิดกิจการของตัวเอง แต่ถ้าไปกลางคืน แถวนั้นถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวของวัยรุ่น ไปดูเฉย ๆ ก็เปิดโลกดี หรือจะไปร่วมด้วยก็ไม่เลว ร้านที่ดัง ๆ เช่น 22 Nakhonnok Listening Bar บาร์เล็ก ๆ ของนักสะสมแผ่นเสียง ต้องจองก่อนไป แต่บรรยากาศดีมาก

ถ้าอยากอินดี้กว่านั้นและหารถเช่าได้ ลองขับแถวชายหาด ย่านนั้นเป็นแหล่งรวมตัวหนุ่มสาวที่มีบรรยากาศเฉพาะในสงขลา ขับดูเฉย ๆ ก็ได้ หรือจะจอดรถหาของนั่งกินริมทะเลก็ไม่เลว

#08
ลองเรียนทำปกหนังสือและเย็บสมุด ร้านซ่อมหนังสือ ของ บาย หินสีครีม

ในสงขลามีร้านซ่อมหนังสือแห่งหนึ่งของ บาย หินสีครีม นามปากกาของ ชาญชัย ยงรติกุล ช่างซ่อมหนังสือมือหนึ่งในสงขลา บริการหลักของที่นี่คือการซ่อมหนังสือ แต่ถ้าโชคดี ในหลายวาระพิเศษ ที่นี่จะเปิดสอนการทำปกหนังสือและเย็บสมุด ฝีมือการทำระดับอาจารย์ ร้านอยู่แถวถนนยะลา ลองไปส่องดูได้ก่อนได้ที่ Facebook : ร้านซ่อมหนังสือ สมุดบันทึกทำมือ

#09
ลองศึกษาปกหนังสือ 1,000 ปกที่ห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย

ยับ เอี่ยน ฉ่อย คือโกดังข้าวเก่าที่แปลงโฉมเป็นห้องสมุด ร่วมสร้างโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม และมูลนิธิวิชาหนังสือ หนึ่งในทีมทำงานของมูลนิธิคือ มกุฏ อรฤดี บรรณาธิการสำนักพิมพ์ผีเสื้อที่คนวงการหนังสือรู้จักกันดี

ที่นี่ไม่ใช่แค่ห้องสมุด แต่เป็นแหล่งเรียนรู้ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับหนังสือ บริเวณเสากลางห้องที่มีหนังสือนับพันปกวางเรียงกัน ไม่ได้ทำเพื่อให้ถ่ายรูป แต่เป็นการซ่อนเสาอาคารที่อ่อนไหว บวกกับจำลองการเรียนวิชาบรรณาธิการศึกษามาไว้ที่ห้องสมุด คนรักหนังสือถ้าได้อยู่ที่นี่ยาว แนะนำให้มาฝังตัวที่นี่ ฟินมาก

#10
ลองดูหนังสารคดีหาชมยาก และร่วมวงสนทนากับชาวสงขลาที่ a.e.y.space

ตอนนี้หลายจังหวัดมีโรงหนังท้องถิ่นที่ทำโดยคนหนุ่มสาวจำนวนไม่น้อย จุดเด่นของ a.e.y.space มีอยู่ 2 ข้อ หนึ่ง หนังที่นี่หลากหลายมาก มาหมดทั้งหนังแมส อินดี้ สารคดีหาชมยาก สอง หลังหนังจบจะมีวงสนทนาที่มีคนน่าสนใจมาร่วมเยอะ หลายคนคือคนหนุ่มสาวที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสงขลาปัจจุบัน โครงการดี ๆ ในสงขลาหลายงานเริ่มต้นที่ห้องฉายหนังแห่งนี้

กิจกรรมฉายหนังส่วนใหญ่จัดวันศุกร์ ประมาณ 1 ทุ่ม ถ้าในวาระพิเศษจะมีกิจกรรมมากมาย ไม่ว่าจะอยู่ยาวหรือแวะพักไม่กี่คืน เราก็อยากแนะนำให้โฉบมาที่นี่สักครั้ง

Writer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก