ว่ากันว่ากองทัพต้องเดินด้วยท้อง
กองทัพความคิดสร้างสรรค์ที่แพร่กระฉับกระเฉงแข็งขัน เพราะ ‘คำมีสตูดิโอ’ สตูดิโอสอนปั้นเซรามิกแห่งแรกของเมืองแพร่ เสิร์ฟพิซซ่าโฮมเมดร้อนๆ จากเตาถึงโต๊ะปั้น

แม้ไม่ใช่เมืองที่มีชื่อเสียงเรื่องเซรามิก แต่สตูดิโอที่เกิดจากความตั้งใจของหนุ่มเมืองเหนือก็ดึงดูดทั้งชาวเมืองแพร่และคนต่างเมืองมาแวะพัก และลงมือทำงานสร้างสรรค์ด้วยตัวเองไม่ขาดสาย
ถ้าสองมือพร้อมเปื้อน ท้องเริ่มส่งเสียงร้อง แล้วก็ไปคุยกับเจ้าของสถานที่สุดอภิรมย์ทางกายและใจนี้ โก้-ธัชพงศ์ พัฒนสารินทร์ กัน

อยู่กับดิน
เรื่องนี้เริ่มต้นเมื่อโก้เรียนจบและทำงานเอฟเฟกต์ในวงการโฆษณา เมื่อชอบงานแต่บรรยากาศไม่ค่อยใช่ คำถามต่อไปคือจะเอายังไงต่อ ด้วยความที่โก้มีไอเดียปั้นตุ๊กตามากมายในหัว คำตอบจึงจะเป็นอะไรไปไม่ได้ นอกจากเดินหน้าปั้นดินขายเต็มสูบ แม้จะเคยเรียนวิชาเซรามิกแค่วิชาเดียวสมัยอยู่มหาวิทยาลัย แต่เมื่อกลับไปหาอาจารย์ที่เชียงราย อาจารย์ศิลปะของเขาก็สนับสนุนความฝันของชายหนุ่มอย่างเต็มที่


ขายที่จตุจักร ผลิตโดยอาศัยเตาเผาที่เชียงราย โก้บินไปกลับเชียงราย-กรุงเทพฯ กรุงเทพฯ-เชียงราย อยู่ระยะหนึ่ง ในตอนแรกสินค้าขายไม่ค่อยดีนักเพราะตนคือพ่อค้าเจ้าใหม่ของจตุจักร โชคดีที่ร้านเซรามิกของโก้ได้ลงนิตยสาร ทำให้งานของเขาขายดีขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เกิดความคิดสำคัญว่าเขาควรจะกลับไปผลิตงานปั้นที่แพร่บ้านเกิด แล้วส่งงานให้ร้านต่างๆ ที่ถนัดการขายจัดการแทนดีกว่า
แพร่ในยุคสิบกว่าปีที่แล้วเศรษฐกิจยังเงียบกว่านี้มาก คุณไม่กลัวหรอ เราสงสัย

“ไม่กลัว เพราะว่าก่อนหน้านั้นด้วยความที่ผมอยู่กับตัวเองมากๆ เวลาว่างก็หยิบหนังสือได้เล่มหนึ่ง ชื่อว่า ปรัชญาขงเบ้ง ข้อแรกเขียนว่า ‘จะทำการใหญ่ต้องมีฐานที่มั่น’ เฮ้ย มันโดน”
ชายตรงหน้าเล่าพร้อมหัวเราะร่วน
ใช่ว่ากลับมาที่บ้านแล้วจะสุขสบายเสมอไป ฐานที่มั่นของเขาคือสวนลำไยเก่าของครอบครัวข้างแม่น้ำคำมี โก้ต้องถางทางใหม่ทุกอย่างด้วยตนเอง ปรับหน้าดิน สร้างบ้านดิน อยู่นานกว่า 1 ปี เหตุที่ต้องเป็นบ้านดินเพราะโก้ยอมรับตรงๆ ว่างบประมาณมีจำกัด มากไปกว่านั้นคือการที่เขาเป็น ‘คนปั้นดิน’
“เราอยู่จตุจักรด้วยความไฟแรงสูง การทำบ้านดินหมายถึงเราอยู่กับบ้านดิน นอนตื่นขึ้นมาจะได้เห็นภาพว่าต้องลุกไปปั้นดินนะ จะได้ไม่ขี้เกียจ”
นักปั้นดินมือฉมังเล่าพร้อมผายมือให้เห็นสิ่งก่อสร้างข้างๆ ที่เกิดจากสองมือของเขาเอง เมื่อบ้านดินพร้อม เตาพร้อม ใจพร้อม ผลผลิตจากคำมีสตูดิโอก็ค่อยๆ ทยอยออกสู่โลกภายนอก

หมิ่นคนบ้านเดียวกันมาก่อน
ในขวบปีแรกๆ ถึงโก้จะกลับมาตั้งฐานที่มั่น ณ แพร่ แต่เขาก็ยังส่งผลงานไปขายที่จตุจักรตลอด
“ปีแรกที่กลับมาอยู่แพร่ ไม่เคยคิดว่าตลาดของเราคือแพร่เลย ค่อนข้างที่จะสบประมาทด้วยซ้ำว่าคนแพร่ไม่น่าจะมาซื้อเซรามิกของเราหรอก ถ้าเขาอยากได้ ลำปางอยู่ใกล้แค่นี้เอง เราคิดแค่นั้น”

“จนวันหนึ่งเพื่อนสมัยประถมเริ่มมาเยี่ยม ข่าวก็เริ่มกระจายว่าแพร่มีคนเพี้ยนๆ มานั่งปั้นดินนะ คนก็เข้ามาหามากขึ้น เลยเห็นว่า เออว่ะ ที่เราเคยสบประมาทเขามาก่อน เราคิดผิด จริงๆ คนแพร่เขารอคอยเราอยู่ เราไม่เคยคิดถึงมุมนี้มาก่อนเลย” โก้กล่าว
นั่นเป็นครั้งแรกที่ขณะปั้นเซรามิก 100 ชิ้น คนเดียว หัวใจเขาคิดถึงคนแพร่

โก้สังเกตว่าเมื่อคนบ้านเดียวกันมาเยี่ยมเยียน ต่างคนมักอุดหนุนผลงานเขาคนละชิ้นสองชิ้น หรือเอ่ยปากอยากลองปั้นดูบ้าง นักปั้นที่ปั้นงานคนเดียวมาโดยตลอด เริ่มคิดถึงการสอนปั้นให้คนอื่น
เริ่มสอนให้คนทั่วไป
นอกจากโก้จะปั้นตุ๊กตุ่นตุ๊กตาสารพัด ตั้งแต่เณรน้อย ดาร์ธเวเดอร์ ไซอิ๋ว สาวชาวเหนือยืนที่ยิ้มกว้าง และจานชามกระถางจุกจิกที่น่ารักเกินกว่าจะต้านทานไหวแล้ว


เขาตัดสินใจเปิดเวิร์กช็อปปั้นดินและเพนต์เซรามิกให้คนทั่วไปได้เรียนรู้ในราคามิตรภาพมากๆ ที่นี่โก้เลือกที่จะเปิดเวิร์กช็อปง่ายๆ ให้คนทั่วไปได้สนุกกับดินตรงหน้าในราคาเพียง 180 บาท ต่อดิน 1 ก้อน รวมค่าเผาอบแล้วเรียบร้อย และยังแถมเครื่องดื่มให้แก้วหนึ่งด้วยนะ
“เราแค่อยากดึงความรู้สึกตอนเราทำเซรามิกครั้งแรกออกมา ไม่ต้องคาดหวัง ไม่ต้องรู้ว่าผลงานมันจะออกมาเป็นยังไง แต่ขอให้ทุกคนได้สนุกระหว่างการทำก็พอ” คุณครูสอนปั้นดินตรงหน้าเล่ารอยยิ้ม


จากไอเดียแรกเริ่มคืออยากให้คนได้รู้สึกสนุกกับดินเหมือนที่เขารู้สึก หารู้ไม่ว่ามีผู้สนใจเยอะกว่าที่คิด คนที่มาสนุกกับงานนี้มีอายุเด็กสุดเพียง 2 ขวบเท่านั้น และนักเรียนบางคนเดินทางไกลมาจากกระบี่และพังงาเลยทีเดียว
ด้วยใจรักศิลปะ
“เราเป็นคนชอบศิลปะแต่ไปเรียนโรงเรียนสายวิทย์ เกรดก็ไม่ค่อยดี แต่ตอนมัธยมมีอาจารย์คนหนึ่งมาเห็นผลงานที่เราวาดแปะผนังห้องเรียน แทนที่จะดุเหมือนอาจารย์คนอื่น อาจารย์คนนี้กลับชมว่า ‘เธอวาดรูปสวยนะเนี่ย วาดให้อาจารย์หน่อย’ เป็นครั้งแรกที่มีคนจ้างวาดรูป แล้วก็ทำออกมาได้ดี จึงค่อนข้างเห็นตัวเองชัดมากว่า ฉันรักศิลปะ ฉันจะมุ่งมั่นให้สุดทาง”
ชายหนุ่มตรงหน้าเล่าถึงในขณะที่เราเห็นเด็กชายในแววตาของเขา
เราแอบสงสัยไม่ได้ว่าความสุขตอนทำเองกับตอนสอนต่างกันไหม

“มันคนละอารมณ์ เวลาปั้นดินเราอยู่กับตัวเองมากๆ พอได้มาสอนมันเปิดโลกทัศน์เรามากเลย เราไม่เคยรู้เลยว่าเด็กที่มาปั้นเขาคิดยังไง มันค่อนข้างที่จะเปลี่ยนมุมมองศิลปะเหมือนกันนะ
“ตอนเป็นเด็กทุกคนอาจจะเคยผ่านประสบการณ์ที่เวลาส่งงานอาจารย์ แล้วอาจารย์บอกว่าไม่สวย จริงๆ ศิลปะคือภาษา มันอยู่ที่คนสื่อสาร พอได้เจอเด็กๆ มากขึ้น พ่อแม่หลายคนบางทีเขาเห็นเด็กปั้น เขาก็ลูกอย่าทำอย่างนี้ มันต้องอย่างนี้ พี่จะบอกว่าปล่อยเขาทำไปเถอะ พี่เผาให้ทุกคนและงานนี้จะอยู่กับเขาไปจนเติบใหญ่ ” โก้กล่าว

เหนื่อยนักก็พักกินพิซซ่า
พิซซ่าร้อนๆ ที่ชวนให้น้ำลายไหลระหว่างปั้นดิน และคาเฟ่เล็กๆ เป็นความคิดของปูนิ่ม ภรรยาของโก้ที่เชี่ยวชาญด้านการทำพิซซ่า และอยากให้ผู้มาเยือนมีอะไรกินเล่นระหว่างเวิร์กช็อป เธอจึงมุ่งมั่นทำพิซซ่าร้อนๆ อบสดๆ จากเตาให้ทุกคนอร่อยและมีแรงสร้างสรรค์ผลงาน
“วันก่อนมีคนปั่นจักรยานเข้ามาซื้อพิซซ่า แม่เขาบอกว่า ถ้าไม่มีเราไปกินพิซซ่าในเมืองก็ได้ น้องคนนี้บอกว่ามันไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่พิซซ่าเป็นมังสวิรัตินะ แต่คนทั่วไปไม่ได้มองตรงนี้ด้วยซ้ำขอแค่เข้าปากแล้วอร่อยเป็นพอ
“หลังๆ มาคนมากินพิซซ่าอย่างเดียวครึ่งๆ เลย” โก้เล่าทำเอาเราหัวเราะตาม
พาแพร่ไปสู่เมืองคราฟต์
ในอนาคต โก้ตั้งใจทำของที่ระลึกในราคาจับต้องได้มากขึ้น เนื่องจากลูกค้าที่มาจากต่างจังหวัดล้วนอยากได้ของที่ระลึกสักชิ้นให้คิดถึงเมืองแพร่
“เหมือนกับเวลาพ่อแม่เราไปเที่ยวแล้วซื้อของที่ระลึกมาฝาก เหมือนกับว่าฉันเคยไปนะ มันคือความรู้สึก
“สมัยก่อนพูดถึงแพร่ เราไม่รู้จะคิดถึงอะไรดี อยากให้ทุกคนมองภาพเดียวกับเราว่า แพร่มันยังมีมุมที่น่าสนใจที่หยิบมาเล่าได้ เวลาเราไปไหนก็ตาม ด้วยความที่เราเป็นวัยรุ่นคนแรกๆ ที่กลับมาอยู่บ้าน ทุกคนก็จะยกยอเรานิดหนึ่งว่า พี่โก้ยังทำได้เลย หมายความว่าใครๆ ก็ทำได้เหมือนกัน เราอยากให้คนมองว่าที่จริงมันอยู่ที่เราหาทาง เรามองว่าการกลับบ้านเป็นไปได้”


“กลุ่มศิลปินชาวแพร่มีความชัดเจนมาก แฟนพี่เป็นคนเชียงราย พอมาอยู่ด้วยกันที่แพร่แฟนก็พี่บอกว่าเธอไม่เคยเห็นที่ไหนที่ศิลปินตัวเล็กตัวน้อยรู้จักกันหมด เป็นปลาเล็กฝูงเดียวกัน ไม่ต้องมีปลาตัวใหญ่ต้องมาค้ำอยู่ นี่คือคนแพร่ และพี่อยากให้เมืองแพร่เป็นอย่างนี้มากขึ้น”
นักปั้นดินชาวแพร่กล่าวถึงความคาดหวังในอนาคตโดยที่เราเริ่มเห็นว่าแพร่กำลังเข้าใกล้สิ่งที่เขาคิดขึ้นแล้วจริงๆ โดยมีชายหนุ่มตรงหน้าเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญ
คำมีสตูดิโอเปิดให้ทุกคนได้สนุกกันงานปั้น ในวันที่ 24 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป เปิดทุกวัน 10.00 – 16.00 น. หยุดเฉพาะวันอังคารกับพุธ (อย่าจำผิดวันนะเออ)

โดยในครั้งนี้จะมีการสอนปั้น เพนต์เหมือนเดิมเพิ่มเติมคือเวิร์กช็อปทำของจุกจิกสเกลเล็กที่คุณสามารถทำแล้วพกกลับบ้านได้เลย เช่น การร้อยกระดิ่ง ตกแต่งกระถางต้นไม้
ใครไม่มั่นใจในความสามารถทางศิลปะของตัวเอง ไม่ต้องห่วง ที่นี่พร้อมมอบโอกาสเริ่มนับหนึ่งแก่คุณ จะปั้นช้อนชา ช้อนกินข้าว ถ้วยกาแฟ จาน ชาม ตุ๊กตาตั้งโต๊ะ แหวน กระดุม ไปฝากพี่ ฝากน้อง ฝากแฟน ฝากตัวเองก็ได้ตามสะดวก การันตีโดยเราเองที่ยืนมองหมู่มวลผลงานของศิษย์เก่าคำมีตรงหน้าที่น่ารักแถมเต็มไปด้วยเอกลักษณ์อย่าบอกใคร
ปั้นเสร็จอย่าลืมชิมพิซซ่าโฮมเมดร้อนๆ ก่อนกลับ
หรือใครทนไม่ไหวจะกินก่อนปั้นตามสโลแกน ‘กองทัพต้องเดินด้วยท้อง’ ก็ไม่ว่ากัน

ป.ล. ตอนนี้ The Cloud และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมมือกับคำมีสตูดิโอ ทำเข็มกลัดเซรามิกรุ่นพิเศษแจกฟรีเป็นของที่ระลึก ใครอ่านเรื่องนี้จบแล้วอยากไปเยี่ยมคำมีสตูดิโอ อย่าลืมไปลงทะเบียนเพื่อรับของขวัญพิเศษนี้นะ