18 กุมภาพันธ์ 2023
3 K

186 คือค่าฝุ่นในจังหวัดเชียงรายวันที่เราเดินทางมาถึง

ขุนเขาที่เคยปรากฏชัดเจน บัดนี้เป็นเพียงเส้นพร่าเลือนหลังม่านหมอก เราออกจากสนามบิน ขึ้นรถตู้ จุดหมายปลายทางคือเชียงของ เมืองริมแม่น้ำโขงอันเป็นเอกลักษณ์ของเชียงราย 

ถ้าจะไปเชียงของ คุณควรทำใจกับการนั่งรถลัดเลาะผ่านหุบเขา อย่าประมาทเส้นทางคดเคี้ยวจนลืมพกยาดมยาหม่องติดตัว หลังจากสะกดอาการเมารถพักใหญ่ รถตู้ก็มาถึงกาดนัดหัวเวียง เชียงของ เข้าสู่ถนนหมายเลข 1020 ทางสายหลักที่เต็มไปด้วยโรงแรม ร้านกาแฟ ตลาด มีคนพลุกพล่านละม้ายคล้ายเมืองเล็กที่ผันตัวสู่แหล่งท่องเที่ยวอย่างเชียงคาน

เราเลี้ยวรถเข้าสู่โรงแรม ฟอร์จูน ริเวอร์วิว เชียงของ ผ่านตลาดที่ไม่มีชื่อบริเวณสำนักงานเทศบาลเวียงเชียงของ เมื่อลงจากรถก็พบกับ ก๊อต-อนิรุตติ คำวันดี เด็กหนุ่มที่มารอต้อนรับเราด้วยรอยยิ้มกว้างและความเป็นมิตรแบบฉบับคนเชียงของ

ก๊อตเป็นเด็กเชียงของซึ่งกลับมาทำงานที่บ้านเกิด เขาเป็นเจ้าของเพจ Chiang Khong TV สื่อออนไลน์เจ้าเล็กที่พยายามนำเสนอเรื่องราวเล็ก ๆ ที่น่าสนใจของเมือง 

ก๊อตทำงานหลายอย่าง ทั้งเป็นสื่อ ผู้ประสานงาน โปรดิวเซอร์ และเป็นนักจัดการที่พยายามทำงานอนุรักษ์ บุกเบิกกิจกรรมใหม่ ๆ เข้าสู่เมืองบ้านเกิด

A Tale of Two Rivers ที่เชียงของ จ.เชียงราย การแสดงที่เล่าความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ 2 สาย ฉลองครบรอบ 190 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ

เมื่อรู้ว่าเขาทำงานด้านพัฒนาเมือง เราถามถึงเชียงของวันนี้ว่ามีความเคลื่อนไหวอะไรที่น่าสนใจบ้าง คำตอบของเขาชวนเราชะงักไปหลายวินาที

“เชียงของไม่ได้เด่นอะไรครับ สำหรับบางคน มันเป็นแค่ที่นอนเท่านั้น”

แม่น้ำไม่มีฤดูกาล

เราไม่ได้มาเชียงของเพื่อมานอนเฉย ๆ แต่มาดูการแสดงสำคัญที่จะเกิดขึ้นเย็นนี้

‘A Tale of Two Rivers’ เรื่องเล่าสองสายน้ำ เป็นงานแสดงแนว Contemporary Dance กลางพื้นที่กาดกองเก่า ตลาดนัดคนเดินที่จัดช่วงวันหยุดกลางเมืองเชียงของ 

งานนี้ร่วมจัดโดยสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย สถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา เชียงใหม่ ชุมชนเชียงของ Company | E สถาบันศิลปินการเต้นร่วมสมัยจากสหรัฐอเมริกา มูลนิธิประยูรเพื่อศิลปะ และกลุ่มสยามพิวรรธน์ นำศิลปิน 9 ชีวิตจากสหรัฐฯ ลงพื้นที่ชุมชนเชียงของ ร่วมสร้างผลงานศิลปะร่วมสมัยกับศิลปินชาวไทยและเยาวชนเชียงของ เชื่อม 2 ลุ่มน้ำใน 2 ทวีป แม่โขงและมิสซิสซิปปี

A Tale of Two Rivers ที่เชียงของ จ.เชียงราย การแสดงที่เล่าความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ 2 สาย ฉลองครบรอบ 190 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ

ก่อนการแสดงช่วงเย็นจะเริ่มต้น เราอยากรับรู้ความเป็นไปของเชียงของและแม่น้ำโขงมากขึ้น แม้จะเป็นแม่น้ำที่เรารู้จักชื่อ แต่การจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ ต้องอาศัยคำบอกเล่าของคนในพื้นที่และการลงมาเห็นแม่น้ำด้วยตาตัวเอง 

ก็อตหยิบขนมมาฝากพวกเราถุงใหญ่ เป็นสาหร่ายแม่น้ำโขงที่เรียกว่า ‘ไก’ คนเชียงของนิยมไปเก็บไกที่บริเวณแก่ง ซึ่งเป็นกลุ่มโขดหินที่ขึ้นตามแม่น้ำ ต้องรอจังหวะน้ำลงจึงจะลงไปเก็บได้

A Tale of Two Rivers ที่เชียงของ จ.เชียงราย การแสดงที่เล่าความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ 2 สาย ฉลองครบรอบ 190 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ

แก่งเป็นทั้งแหล่งสะสมอาหารให้คนและปลาริมแม่น้ำโขง ตะกอนที่อุดมด้วยสารอาหารทำให้เชียงของในอดีตขึ้นชื่อเรื่องปลาบึกธรรมชาติ มวลมหาชนแห่มาจับปลาจนภาครัฐและเอกชนต้องลงมาป้องกันไม่ให้สูญพันธุ์ 

ปัจจุบันปลาที่เราเห็นในร้านอาหารที่เชียงของเป็นปลาเลี้ยง ส่วนการเก็บไกยังคงมีอยู่ แต่เก็บได้น้อยลงเพราะสภาพอากาศแปรปรวน น้ำขึ้นน้ำลงไม่ปกติ การปลูกผักริมแม่น้ำก็เป็นอีกเอกลักษณ์ของเมือง ผักหน้าตาพื้น ๆ อย่างถั่วงอกและถั่วฝักยาวที่ปลูกแบบนี้รสชาติอร่อยจนน่าตกใจ

อีกหนึ่งปัญหาทางธรรมชาติในเชียงของคือฝุ่น เขาเล่าว่าฝุ่นในเชียงของจะปกคลุมอย่างมากราว 2 อาทิตย์ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเผาในพื้นที่ป่า เป็นปัญหาระดับนานาชาติที่ยากจะแก้ด้วยการลงแรงของชาติเดียว

A Tale of Two Rivers ที่เชียงของ จ.เชียงราย การแสดงที่เล่าความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ 2 สาย ฉลองครบรอบ 190 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ

“มันเพิ่งมาได้ 2 – 3 วัน ก่อนหน้านี้อากาศหนาว ท้องฟ้าสะอาด ตอนนี้เริ่มแห้ง แต่เทียบกับเชียงใหม่ที่ผมทำงานก่อนหน้านี้ถือว่าดีกว่าเยอะ ฝุ่นที่เชียงใหม่ปกคลุมกัน 2 – 3 เดือน เชียงของปีที่แล้วเป็นอยู่สัก 2 อาทิตย์อากาศก็เริ่มกลับมาดี เรามีลม มีน้ำ เชียงของยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่โอเคอยู่”

นอกจากแม่น้ำโขง เชียงของยังมีทรัพยากรที่น่าสนใจอีก 2 อย่าง คือวิถีชีวิตชนเผ่าที่เป็นเอกลักษณ์ สองคือเส้นทางริมแม่น้ำโขงความยาว 4 กิโลเมตรที่จัดกิจกรรมและโปรโมตให้เป็น Sport City ได้ไม่แพ้เมืองอื่น ก๊อตบอกว่าทางเส้นนี้ได้รับความนิยมมาก เขาเองยังหาทางจัดกิจกรรมวิ่งและปั่นจักรยานอยู่บ่อย ๆ เพื่อสร้างสีสันให้คนได้ใช้ประโยชน์จากทางเส้นนี้มากขึ้น

A Tale of Two Rivers ที่เชียงของ จ.เชียงราย การแสดงที่เล่าความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ 2 สาย ฉลองครบรอบ 190 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ
A Tale of Two Rivers ที่เชียงของ จ.เชียงราย การแสดงที่เล่าความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ 2 สาย ฉลองครบรอบ 190 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ

สมัยก่อนคนมาเชียงของเพื่อข้ามไปเมืองดังอย่างหลวงพระบาง สปป.ลาว ด้วยการขึ้นเรือข้ามแม่น้ำ การเดินทางแบบนี้มีเสน่ห์ในสายตาชาวต่างชาติ การข้ามฝั่งต้องทำใบผ่านแดน ใช้เวลารอ 1 – 2 วัน นักท่องเที่ยวจึงนิยมนอนที่เชียงของ เป็นที่มาของธุรกิจโรงแรมริมแม่น้ำที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด

ไม่นานนัก นักท่องเที่ยวก็ไปหลวงพระบางได้ทางเครื่องบิน สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 สร้างเสร็จ ยิ่งทำให้เราเห็นเรือข้ามฝั่งน้อยลง

การพัฒนาเชียงของให้เป็นเมืองที่ดี น่าอยู่ และอยู่ได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ก๊อตไม่ใช่คนเดียวที่ทำงานนี้ อีกหนึ่งบุคคลสำคัญในเชียงของคือ ครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้ว อดีตข้าราชครูที่ผันตัวเป็นนักสิ่งแวดล้อมระดับโลก ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กลุ่มคนที่รวมตัวกันเพื่ออนุรักษ์แม่น้ำโขงด้วยวิธีการที่หลากหลายและสร้างสรรค์

A Tale of Two Rivers ที่เชียงของ จ.เชียงราย การแสดงที่เล่าความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ 2 สาย ฉลองครบรอบ 190 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ

ครูตี๋เป็นผู้ใหญ่ประจำเมือง เขาเป็นคนช่วยวางนโยบายการพัฒนาเชียงของว่า ‘1 เมือง 2 แบบ’ เชียงของไม่ได้มีแค่ถนนริมแม่น้ำโขง แต่เป็นเมืองขนาดกลางที่มี 7 ตำบล มีชนเผ่าท้องถิ่นที่หลากหลาย มีวัฒนธรรมที่ควรรักษาไว้

เชียงของแบ่งเมืองใหญ่ ๆ เป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือเมืองเก่าริมแม่น้ำ เป็นจุดที่เราอยู่ ย่านนี้พยายามรักษาขนบธรรมเนียมของชนเผ่าไว้ให้มากที่สุด ส่วนที่สองคือย่านเมืองใหม่ที่มีโรงงานและบริษัทด้านโลจิสติกส์ โซนนี้สำคัญต่อเมือง เพราะช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชน ทำให้เชียงของอยู่ได้ในระยะยาวโดยไม่ต้องพึ่งการท่องเที่ยวอย่างเดียว 

ครูตี๋และก๊อตไม่ได้อยากแช่แข็งเชียงของไว้เหมือนในอดีต พวกเขาเข้าใจ เปิดรับองค์ประกอบสมัยใหม่ที่จำเป็นต่อเมือง ข้อแม้เดียวของเขาคือต้องไม่ทำลายวิถีชีวิตและธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่ทำให้เชียงของไม่เป็นเพียงที่นอนอีกต่อไป

วิจัยแม่น้ำผ่านสายตาคนเชียงของ

ก๊อตเกิด พ.ศ. 2538 เขาเป็นเด็กรุ่นที่โตมากับเขื่อนซึ่งเริ่มสร้างในแม่น้ำโขง เป็นยุคที่ชายหาดบนแม่น้ำเริ่มหายไปจากสิ่งก่อสร้างของมนุษย์ เรื่องที่คนเชียงของยุคนั้นกลัวกันมากคือ กลัวเขื่อนแตก กลัวว่ามวลน้ำมหาศาลจะไหลมาทำลายเมืองที่อยู่ปลายน้ำเสียสิ้น 

เช่นเดียวกับครูตี๋ที่เริ่มรับรู้ความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ ราว พ.ศ. 2543 เขารู้ข่าวการระเบิดแก่งหินในแม่น้ำโขงเพื่อเปิดทางให้เรือสินค้าหลายร้อยตันวิ่งบนแม่น้ำโขงได้ 

“พวกเขามองว่าเป็นหินโสโครก คนเฒ่าคนแก่มองว่านี่คือบ้านของปลา เป็นที่เกิดของไก แม่น้ำโขงไม่แห้งเพราะหินผาพวกนี้แหละ เวลาหน้าแล้ง หินพวกนี้คอยกั้นน้ำไว้เหมือนเขื่อน ถ้าคุณเอาหินออกมันก็ไปหมด น้ำจะพัดทำลายทุกอย่างไปหมด” ครูตี๋เล่าความคิดชาวบ้านตอนนั้น

A Tale of Two Rivers ที่เชียงของ จ.เชียงราย การแสดงที่เล่าความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ 2 สาย ฉลองครบรอบ 190 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ

ปัญหาใหญ่คือ คนคิดว่าโครงการใหญ่ระดับต่างประเทศขนาดนี้ คนธรรมดาไม่น่าสู้ได้ ยิ่งคุย ครูตี๋พบว่าสิ่งที่เชียงของขาดคือความรู้ ทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติ แม่น้ำ วิถีชีวิต ไม่เคยมีใครรวบรวมมาก่อน เมื่อไม่มีการรวม ไม่มีหลักฐานชัดเจน การไปต่อต้านก็ทำได้ยาก เหมือนเป็นการพูดลอย ๆ ไม่มีหลักฐานมารองรับ 

ครูตี๋ริเริ่มงานที่เขาเรียกว่า ‘งานวิจัยชาวบ้าน’ เป็นการรวบรวมชาวเชียงของไม่ต่ำกว่า 80 คนตลอดเส้นทางริมน้ำโขง 57 กิโลเมตร มารวบรวมความรู้จนเกิดเป็นงานวิจัย 1 ชิ้น ใช้วิธีการเหมือนทำงานวิจัยทุกประการ 

งานวิจัยนี้ทำให้คนรู้ว่าปลาที่ขึ้นมาตามเดือนต่าง ๆ เป็นพันธุ์อะไร วัฒนธรรมที่คนสูงวัยคุ้นเคยแท้จริงแล้วมีที่มาอย่างไร งานวิจัยถูกส่งไปตามหน่วยงานราชการและสถานศึกษา ในที่สุดมันกลายเป็นพลังที่ทำให้โครงการเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงหยุดชะงัก

“พอพูดว่างานวิจัย ชาวบ้านจะคิดถึงอาจารย์ เขาคิดว่างานแบบนี้ทำไม่ได้หรอก ผมบอกว่าเรานี่แหละเป็นอาจารย์ ไปหาปลาอยู่ทุกวัน 40 – 50 ปีจะไม่ใช่อาจารย์ได้ยังไง” 

“เราเห็นความเปลี่ยนแปลงของชาวบ้านในมุมมองของแม่น้ำ ตัวตน และชุมชน ขั้นตอนการทำวิจัยเปลี่ยนพวกเขา ทำให้รู้จักการเก็บข้อมูล รู้จักการอธิบายเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่เชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์ งานที่ขยายทำออกไปยิ่งมีพลัง ชาวบ้านมีหนังสือคนละเล่ม ใครไปใครมาก็เอาหนังสือไปคุยด้วย” ครูตี๋เล่า

A Tale of Two Rivers ที่เชียงของ จ.เชียงราย การแสดงที่เล่าความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ 2 สาย ฉลองครบรอบ 190 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ

ครูนักสิ่งแวดล้อมกำลังทำงานวิจัยเล่มที่ 2 รอบนี้เนื้อหาจะพูดถึงความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงที่เกิดขึ้นหลังจากเขื่อนถูกสร้าง เป้าหมายของงานวิจัยคือการขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้วยความรู้ ในความรู้ไม่ได้มีแค่เรื่องแม่น้ำโขง แต่ยังเกี่ยวพันกับเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วัฒนธรรม และระบบนิเวศ นี่คือแกนของเนื้อหาที่กลุ่มรักษ์เชียงของทำมาตลอด

นอกจากการทำงานวิจัย ครูตี๋ยังสร้าง โฮงเฮียนแม่น้ำของ สถานศึกษานอกโรงเรียนที่ให้ความรู้ผู้คน เปิดตั้งแต่ พ.ศ. 2558 เปิดพื้นที่ให้เด็กเรียนรู้เรื่องแม่น้ำ ทำ MOU ร่วมกับโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อกระจายความรู้ออกไปให้กว้างขึ้น

ในเชียงของมีกลุ่มชาติพันธ์ุ 9 กลุ่ม บางกลุ่มย้ายมาอยู่เชียงของเนิ่นนานเป็นหลักร้อยปี ความรู้ที่ครูตี๋มอบให้จึงเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด ล่าสุดเขาพยายามเข้าไปในโรงเรียนให้มากขึ้น ด้วยการตั้งชมรมสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เด็ก โรงเรียนมีโครงสร้างการเรียนการสอนอยู่แล้ว ขาดแต่เนื้อหาที่สำคัญกับคนในท้องถิ่น ชมรมของกลุ่มรักษ์เชียงของจึงเหมาะสมมาก เพื่อให้คนเชียงของได้รู้จักตัวตนของคน แม่น้ำ และเมืองมากขึ้น

A Tale of Two Rivers ที่เชียงของ จ.เชียงราย การแสดงที่เล่าความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ 2 สาย ฉลองครบรอบ 190 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ
ภาพ : สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

ในช่วงที่ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมถูกพูดถึงในภาคธุรกิจ เชื่อมโยงกับประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ครูตี๋ได้ให้ความรู้ที่ตัวเองถนัด ทั้งต้อนรับกลุ่มธุรกิจที่อยากทำงานเกี่ยวกับแม่น้ำโขงให้เชื่อมโยงกับเรื่อง Carbon Credit และ Net Zero ในช่วงการประชุม APEC รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา Kamala Harris เชิญครูตี๋ไปให้ข้อมูลเรื่องเกี่ยวกับแม่น้ำโขง นโยบายด้าน BCG ของรัฐบาลไทย และสิ่งที่ 2 ประเทศนี้จะทำงานร่วมกันได้เพื่อประเทศที่ยั่งยืน

เรื่องเล่าสองสายน้ำ

แล้วสถานทูตสหรัฐฯ มาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้อย่างไร

เราโยนคำถามในช่วงเวลาที่เราอ้อยอิ่งรอให้ถึงเวลา ปีนี้ไทยและสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 190 ปี (นับจากปีที่ลงนามสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ใน พ.ศ. 2376) ในฐานะประเทศที่ค้าขายร่วมกัน ทั้ง 2 ประเทศต่างมองว่าคู่ค้าคือพาร์ตเนอร์ พยายามมองหากิจกรรมที่ช่วยสนับสนุนเพื่อแก้ปัญหากันและกันอยู่เสมอ

ปีนี้สิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นใหญ่ สหรัฐฯ มองหาว่าปัญหาด้านธรรมชาติของไทยคืออะไร แม่น้ำโขงที่เปลี่ยนไปคือหนึ่งในปัญหาหลัก ไม่ใช่แค่ไทยแต่เกิดเป็นข้อพิพาทในหลายประเทศที่แม่น้ำไหลผ่าน สถานทูตสหรัฐฯ เชื่อเรื่องความรู้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เช่นเดียวกับที่ครูตี๋ ก๊อต และชาวเชียงของส่วนใหญ่เชื่อ

“การคุยเรื่องสิ่งแวดล้อมกับคนในวงกว้างนั้นยาก เหมือนคนไทยไม่ได้สนใจประเด็นเรื่องนี้เท่าไหร่ เพราะเราไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรง หมอกควันมาเป็นห้วง ๆ ไปแล้วจบ จากโจทย์นี้เราเลยนำงานศิลปะเข้ามา” ลิเดีย บาร์ราซา ผู้ช่วยทูตฝ่ายวัฒนธรรมเล่าที่มาของการนำงานแนว Contemporary Dance มาเล่าเรื่องแม่น้ำของ 2 ประเทศ เป็นความพยายามในการสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีที่แตกต่างจากเดิม 

A Tale of Two Rivers ที่เชียงของ จ.เชียงราย การแสดงที่เล่าความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ 2 สาย ฉลองครบรอบ 190 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ
ภาพ : สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

การแสดงชุดนี้เป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม ฝั่งสหรัฐฯ มี 9 ศิลปินจาก Company | E สถาบันการเต้นที่มักนำประเด็นทางสังคมมาเล่าผ่านการร่ายรำ ฝั่งไทยมี แววดาว สิริสุข ศิลปินชาวเชียงรายที่มีผลงานระดับนานาชาติ ร่วมกับคณะนักเต้น Sirisook Dance Centre และเยาวชนเชียงของ ทำงานร่วมกันจนออกมาเป็นการแสดงชุดนี้

พระอาทิตย์ใกล้ตก ชาวเชียงของเริ่มออกมาตั้งร้านค้าในตลาดกาดกองเก่า เช่นเดียวกับกลุ่มนักแสดงที่เริ่มตั้งขบวนช่วงต้นของตลาด จากนั้นจะค่อย ๆ ร่ายรำบนถนนคนเดิน มาแสดงจนจบบริเวณเวทีที่ตั้งอยู่กลางเมือง

A Tale of Two Rivers ที่เชียงของ จ.เชียงราย การแสดงที่เล่าความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ 2 สาย ฉลองครบรอบ 190 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ
A Tale of Two Rivers ที่เชียงของ จ.เชียงราย การแสดงที่เล่าความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ 2 สาย ฉลองครบรอบ 190 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ

โชว์ชุดนี้ท้าทายหลายด้าน ทั้งในแง่การแสดงบนถนนคนเดิน คิวนักแสดงและนักดนตรีที่ต้องเล่นให้เชื่อมกันในพื้นที่กลางแจ้ง เมื่อการแสดงเริ่ม เราได้เห็นปฏิกิริยาที่น่าสนใจของคนเชียงของ เหมือนจะทำตัวไม่ถูกในช่วงแรก แต่พวกเขาก็ค่อย ๆ ชิน การแสดงจะเล่าเรื่องแม่น้ำ 2 ประเทศด้วยดนตรีที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นช่วงดนตรีบลูส์และคณะ Company | E คนจะดูนิ่งเฉยแต่จ้องมองอย่างสนใจ พอเป็นช่วงของไทยซึ่งเป็นการรำฟ้อนแบบล้านนา คนจะออกอาการอยากมาร่วมรำบนท้องถนนด้วยกัน

เนื้อหาการแสดงจะบอกเล่าตำนานจาก 2 สายน้ำ สะท้อนเรื่องอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ มรดกชุมชน การเล่าเรื่องแม่น้ำมิสซิสซิปปีดูสอดคล้องกับการฟ้อนแบบล้านนาอย่างแนบเนียน คงเพราะคล้ายแม่น้ำโขงหลายด้าน เป็นแม่น้ำสายยาวที่สุดในสหรัฐฯ มีระบบนิเวศที่หลากหลาย รุ่มรวยวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ แน่นอนว่ามีปัญหาการสร้างเขื่อนจนทำให้ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปเหมือนกัน 

A Tale of Two Rivers ที่เชียงของ จ.เชียงราย การแสดงที่เล่าความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ 2 สาย ฉลองครบรอบ 190 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ
A Tale of Two Rivers ที่เชียงของ จ.เชียงราย การแสดงที่เล่าความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ 2 สาย ฉลองครบรอบ 190 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ
ภาพ : สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

ความขัดแย้งระหว่างคนและธรรมชาติเป็นสิ่งที่กลุ่มนักแสดงนำมาเป็นธีมหลักของโชว์ เนื้อหาช่วงสุดท้ายพยายามปลุกให้เรารู้ว่าหากคนริมน้ำพูดถึงสายน้ำและธรรมชาติจนกลายเป็นกระแสสังคม ความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีจะเกิดขึ้นในที่สุด โชว์จบอย่างสมบูรณ์ด้วยการเปิดเพลงให้คนในตลาดออกมาเต้นร่วมกันอย่างสนุกสนาน

A Tale of Two Rivers ที่เชียงของ จ.เชียงราย การแสดงที่เล่าความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ 2 สาย ฉลองครบรอบ 190 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ
A Tale of Two Rivers ที่เชียงของ จ.เชียงราย การแสดงที่เล่าความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ 2 สาย ฉลองครบรอบ 190 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ
ภาพ : สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

ฟ้ามืดแล้ว แต่กิจกรรมยังไม่จบ ก๊อตและทีมกลุ่มรักษ์เชียงของยังจัดเทศกาลดนตรีเชียงของในธีมที่พูดถึงความรักแห่งสายน้ำ เป็นกิจกรรมคู่ขนานที่สอดคล้องกับโชว์หลัก มีการฉายหนังสั้นที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับแม่น้ำ การแสดงจากวงดนตรีท้องถิ่นของเชียงของที่สร้างความบันเทิงให้ผู้คนตลอดคืน

หลังจบกิจกรรมนี้ ปัญหาในแม่น้ำโขงอาจยังไม่จบลง มันเป็นปัญหาระยะยาวที่ไม่อาจยุติในเวลาอันสั้น หากความขัดแย้งจะยังคงอยู่ในระยะยาว สิ่งที่กลุ่มรักษ์เชียงของต้องการมากที่สุด คือการสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้เกี่ยวกับแม่น้ำ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม เพื่อเป็นกำลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อไป 

ทั้งกับคน เมือง และแม่น้ำ ที่ผูกชีวิตคนเชียงของเข้าไว้ด้วยกัน

A Tale of Two Rivers ที่เชียงของ จ.เชียงราย การแสดงที่เล่าความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำ 2 สาย ฉลองครบรอบ 190 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐฯ

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก