โลกนี้อาจมีเรื่องสะกิดใจเราให้นึกถึงศาสนาอิสลามได้เป็นร้อยเป็นพันอย่าง และสิ่งหนึ่งซึ่งมักผุดพรายในมโนภาพของชนทุกหมู่เป็นอย่างแรก คือภาพของอาคารทรงลูกบาศก์สมมาตร คลุมผ้าดำแซมลายทอง ตั้งเด่นเป็นสง่ากลางคลื่นสาธุชนเรือนล้าน ที่พากันมาเวียนรอบอาคารสี่เหลี่ยมหลังนี้นานนับพันปี
นี่คือศูนย์กลางของศาสนาที่มีผู้นับถือมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ทุก ๆ วัน โลกของเราจะมีผู้ศรัทธากว่าพันล้านคนหันหน้ามายังทิศที่ตั้งของอาคารนี้ ขณะที่พวกเขากำลังสวดภาวนาต่อพระผู้เป็นเจ้า เป็นสถานที่ซึ่งคนมุสลิมใฝ่ฝันจะมาเยือนเพื่อประกอบพิธีฮัจญ์สักครั้งในชีวิต กระทั่งในวันสิ้นลมปราณ ศพในห่อผ้าขาวของพวกเขายังถูกจัดตะแคงให้ผินมองมาที่นี่
ทั้งหมดนี้คือความสำคัญของ ‘กะบะห์’ วิหารสำคัญที่เป็นทั้งหลักหมุดบอกทิศในการละหมาด และจุดหมายสำคัญในพิธีฮัจญ์ที่จะทำกันทุกวันที่ 9 เดือน 12 ของปฏิทินอิสลาม
เรื่องหนึ่งที่คนจำนวนมากยังไม่รู้ คือกะบะห์มีประตูไม้หุ้มทองบานใหญ่ไว้เดินเข้า-ออกได้
และที่หลายคนไม่รู้ยิ่งกว่า คือประตูบานที่มุสลิมทั่วโลกได้เห็น ทั้งจากภาพถ่ายและสายตาตัวเอง ถูกสร้างโดยช่างไม้และช่างทองชาวไทยทั้งหมด 6 คน ใน พ.ศ. 2521 – 2522
บางทีประวัติศาสตร์อาจต้องจารึกเป็นอื่น ถ้าคณะผู้แทนซาอุดิอาระเบียไม่ได้มาพบไกด์นำเที่ยวชาวไทยมุสลิมนามว่า อับดุลเลาะห์ หรือ คฑาวุธ นาคนาวา ผู้ซึ่งปัจจุบันได้เกษียณตัวเองจากอาชีพอาจารย์และมัคคุเทศก์ มาใช้ชีวิตเรียบง่ายตามวิถีอิสลามอยู่ที่เขาใหญ่
“ผมเป็นล่ามและผู้คุมคนงานไทยชุดที่ไปสร้างประตูกะบะห์บานปัจจุบัน นี่เป็นงานที่ภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตแล้ว” ชายวัย 75 ปีจำกัดความหน้าที่เก่าของตนเองพร้อมรอยยิ้มเบิกกว้าง
อาจารย์อับดุลเลาะห์เป็นใครมาจากไหน
เหตุใดจึงได้รับเกียรติให้คุมงานก่อสร้างครั้งสำคัญในโลกมุสลิมเช่นประตูกะบะห์ได้
ที่ทุกท่านจะได้อ่านต่อไปนี้ คือบทสัมภาษณ์ครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งตำนานที่ยังมีลมหายใจถ่ายทอดให้ฟังอย่างหมดเปลือก
01
เกิดเป็นอับดุลเลาะห์
“ผมชื่อ อับดุลเลาะห์ นาคนาวา เกิดมาก็ชื่ออับดุลเลาะห์” อารัมภบทในการแนะนำตัวบอกเป็นนัยให้เราได้รู้ว่า ชื่อภาษาอาหรับของเขามีมาก่อนชื่อไทยว่า ‘คฑาวุธ’
กว่า 7 ทศวรรษก่อน สกุลนาคนาวาซึ่งเป็นตระกูลไทยมุสลิมมีชื่อแถบสวนหลวง ได้ต้อนรับสมาชิกใหม่ในครรภ์ของ นางเนาะ นาคนาวา ครานั้น นายสมาน นาคนาวา ผู้เป็นสามีได้มอบชื่อที่เน้นย้ำถึงศรัทธาที่หล่อเลี้ยงหัวใจคนทั้งครอบครัวแก่ลูกชายที่เพิ่งลืมตาดูโลกว่า ‘อับดุลเลาะห์’ มีความหมายว่า บ่าวของอัลเลาะห์ หรือพระเจ้าที่ชาวมุสลิมเรียกขาน
“สมัยก่อนแถวนั้นขึ้นกับอำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร ปัจจุบันไม่ใช้คำว่าตำบลสวนหลวงแล้ว แยกมาเป็นเขตสวนหลวง ตรงที่ผมเกิดชาวบ้านเรียกว่า ‘บ้านป่า’ ก็คือซอยพัฒนาการ 20 แยก 13”
ครั้นเติบใหญ่เข้าวัยเรียน อับดุลเลาะห์ นาคนาวา เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนสุเหร่าบ้านป่า ซึ่งต่อมาคุณพ่อและญาติ ๆ ของอาจารย์ได้มอบที่ดินส่วนโรงเรียนเพิ่มเติม ทำให้โรงเรียนนี้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น โรงเรียนนาคนาวาอุปถัมภ์ (สุเหร่าบ้านป่า)
ชีวิตวัยเด็กของอาจารย์อับดุลเลาะห์ก็เหมือนกับเด็กมุสลิมอีกมากมายในเมืองไทย ตรงที่มีบ้านอยู่ใกล้สุเหร่า เล่าเรียนศาสนาควบคู่การเรียนสามัญ ได้เรียนภาษามลายูที่มุสลิมไทยนิยมใช้สื่อสารในชีวิตประจำวันกับภาษาอาหรับที่ใช้ในทางศาสนา
แม้มีศรัทธาตั้งมั่นในศาสนาขององค์อัลเลาะห์ แต่การจะเดินทางไปเยือนนครศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์อย่างนครมักกะฮ์ (เมกกะ) ยังคงไกลเกินเอื้อมในสายตาลูกชาวนาตาดำ ๆ
“ไม่เคยคิดว่าจะได้ไปมักกะฮ์เลย พ่อแม่เรายากจน เป็นแค่ชาวนาธรรมดา”
ถึงกระนั้น โอกาสที่มุสลิมทุกคนถวิลหาก็มาเยือนบ่าวของอัลเลาะห์ผู้นี้ไวเกินคาด
02
นักเรียนอาหรับ
“มีปีหนึ่ง ณ ขณะนั้นผมจบ ป.4 แล้ว ยังเรียนภาษามลายูบ้าง เรียนภาษาหลักกับโรงเรียนธรรมดาบ้าง อิหม่ามอับดุรเราะห์มาน เพียรมานะ ก็บอกว่าปีนี้ต้องการวัยรุ่น 10 คนไปเรียนที่มักกะฮ์ ท่านเป็นผู้จัดการพิธีฮัจญ์สมัยนั้น จัดเรือวิ่งจากท่าเรือคลองเตยไปลงมักกะฮ์ 18 – 19 วัน จัดมาทุกปี
“ทางพ่อผมมาถามผมว่าไปมั้ย ไปเรียนที่มักกะฮ์ ผมตอบตกลงเลยเดินทางไปทางเรือชื่อ ฮอยยิง (MV Hoi Ying)” อาจารย์อับดุลเลาะห์เล่าย้อนถึงวันที่จากลาแผ่นดินเกิดเป็นครั้งแรก
นาวาเหล็กสัญชาติฮ่องกงลำใหญ่ นำคนสกุลนาคนาวาเดินทางจากท่าเรือคลองเตย ลอยลำเหนือมหาสมุทรกว้างใหญ่ไพศาลอยู่นานถึง 18 วัน ก่อนทอดสมอเทียบท่า ณ กรุงมักกะฮ์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ตรงช่วงพิธีฮัจญ์พอดี นั่นเป็นครั้งแรกที่เยาวชนไทยทั้ง 10 ชีวิตได้ยลความอลังการของกะบะห์ที่แท้จริง หาใช่เพียงรูปถ่ายตามกรอบรูปหรือภาพพิมพ์ที่ประดับอยู่ในมัสยิดและบ้านเรือนของชาวมุสลิม
นักเรียนไทยทุกคนได้ประกอบพิธีฮัจญ์ตามหน้าที่ของอิสลามิกชนเสร็จสรรพ ก่อนได้พบความจริงที่น่าผิดหวังว่า พวกเขาเรียนที่มักกะฮ์อย่างถูกต้องไม่ได้ ค่าที่ไม่ได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดีฟัยศ็อล บิน อับดุลอะซีซ อัล ซะอูด องค์ประมุขแห่งซาอุดิอาระเบียในเวลานั้น
“เคยมีคนไปเรียนแล้วหนีกลับบ้างอะไรบ้าง เพื่อที่จะอยู่ในประเทศเขาอย่างถูกต้อง เราก็ต้องขออนุญาตเข้าเฝ้าฯ กษัตริย์ฟัยศ็อลให้ได้เรียนอย่างเป็นทางการ ไม่ต้องหนีเขาอยู่ แต่หลังจากที่ทำฮัจญ์เสร็จแล้ว อิหม่ามอับดุรเราะห์มานมารายงานว่า ยังเข้าเฝ้าฯ พระองค์ไม่ได้ คนจะเรียนก็ต้องหนีอยู่ อยู่แบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ ผมเขียนจดหมายแจ้งทางบ้านว่าอยู่มักกะฮ์ไม่ได้ จะต้องกลับ พ่อก็บอกให้กลับมาเลย มาเรียนที่โรงเรียนศาสนวิทยา เขตหนองจอกแทน”
โรงเรียนศาสนวิทยาเวลานั้นเป็นโรงเรียนเพิ่งเปิดใหม่สด ๆ ร้อน ๆ รับนักเรียนรุ่นแรกแค่ 30 คน อาจารย์อับดุลเลาะห์สมัครเข้าเรียนเป็นคนที่ 30 เรียกว่าเป็นคนสุดท้ายของรุ่นแรก
“วิชาที่เรียนส่วนใหญ่เป็นภาษาอาหรับ พ่อผมก็ถามว่าเรียนเข้าใจมั้ย ผมก็ตอบว่าเรียนได้สบายมาก เพราะตอนเราอยู่มักกะฮ์หลายเดือน ผมเจอภาษาพวกนี้มาหมดแล้ว”
อับดุลเลาะห์เรียนที่โรงเรียนศาสนวิทยาได้ 2 ปี คุณพ่อสมานก็ส่งเขาไปเรียนต่อที่เมืองมัทราสในอินเดียอีก 2 ปี จึงได้รับประกาศนียบัตรระดับเตรียมมหาวิทยาลัยจากที่นั่น เขานำประกาศนียบัตรใบนั้นไปสมัครเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร สถาบันสอนศาสนาชื่อดังแห่งอียิปต์ที่อุดมด้วยนักศึกษามุสลิมจากทั่วโลก
“ในบรรดานักเรียนไทยที่ไปที่นั่น ทุกคนก็เริ่มเรียนปี 1 เรียนกัน 4 ปี แต่ของผมมีประกาศนียบัตรจากอินเดีย เลยได้เริ่มที่ปี 3 เรียนแค่ 2 ปีก็จบเลย แล้วก็ทำเรื่องยื่นเรียนปริญญาโทอีกปีกว่า”
ชีวิตอาจารย์อับดุลเลาะห์ในวัยนั้นเต็มไปด้วยสีสันอันโลดโผน ด้วยความรู้ภาษาหลากหลาย ทั้งมลายู อาหรับ อังกฤษ และอูรดูที่ได้จากอินเดีย เป็นเหมือนปีกให้เขาโบยบินไปทั่วประเทศแถบนั้นได้อย่างอิสระ ทั้งจอร์แดน เลบานอน ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ และอีกหลายประเทศ ไม่เว้นแม้แต่เยอรมนี
“สมัยก่อนยังไม่มีตู้ ATM พ่อแม่เราก็ไม่มีเงิน พอต้องหารายได้ช่วงมหาลัยปิด ผมก็ไปล้างจานชามที่กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนีนู่น”
03
ไกด์อาหรับหนึ่งเดียวในสยามประเทศ
ถ้าหากปริญญาตรีที่ ม.อัลอัซฮัร เป็นความสำเร็จยิ่งยวดของอาจารย์อับดุลเลาะห์ ปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเดียวกันนี้ ก็คงจะเป็นความล้มเหลวอันน่าเจ็บช้ำที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของเขา
“ที่มหาลัยนี้เขาใช้ระบบอังกฤษ เช่น สมมติสอบ 8 วิชาก็ต้องสอบผ่านทั้ง 8 วิชาถึงจะเรียนจบได้ ถ้าไม่ผ่านก็ต้องเรียนใหม่หมด ไม่เหมือนระบบอเมริกาที่ตกวิชาไหนก็ซ่อมวิชานั้น ทีนี้ผมสอบตกไปวิชาหนึ่ง ตอนนั้นพ่อก็บอกว่าไม่ค่อยสบาย เลยกลับเมืองไทย ไม่เรียนต่อแล้ว”
แม้ไม่มีปริญญาใบที่ 2 ทว่าดีกรีบัณฑิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัยดังแห่งกรุงไคโรนั้น ดีพอให้เขาไปสอนหนังสือที่ศาสนวิทยา โรงเรียนเก่าที่เขาเคยมีความหลัง 2 ปีที่นี่
“อาจารย์อิมรอน มะกูดี ที่เคยรับผมเข้าเรียนก็จบจากอียิปต์ ผมกลับมาทำงานเป็นครูสอนภาษาอาหรับที่นี่ แต่สอนได้ 2 ปี ก็รู้สึกว่ารายได้ไม่พอกิน อาจารย์อิมรอนเองก็ไม่ได้มีรายได้มาก วันหนึ่งเขาบอกผมว่า อับดุลเลาะห์ ถ้าจะไปทำงานที่อื่นครูไม่ว่า เพราะครูก็ให้ได้แค่นี้”
ด้วยคำพูดของผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้สมัยเป็นนักเรียน อาจารย์หนุ่มจึงบ่ายหน้าไปสมัครงานที่บริษัท เอส.ไอ.ทัวร์ (1996) จำกัด บริษัทนำเที่ยวใกล้ถนนสีลม ซึ่งมีเจ้าของเป็นชาวมุสลิมจากชายแดนใต้ ที่นี่ความรู้ภาษาอาหรับได้ถูกแปลงหน้าที่จากใช้สอนหน้ากระดานดำ เป็นนำนักท่องเที่ยวต่างชาติชมความงามของบ้านเมือง
“เขาให้ผมเป็นไกด์ภาษาอาหรับ ต้องเขียนโบรชัวร์กำหนดการเดินทางส่งไปตามบริษัททัวร์ต่าง ๆ ในกลุ่มประเทศอาหรับ ผมเป็นไกด์ภาษาอาหรับคนเดียว ต้องทำทุกอย่างเองหมดเลย
“ทำงานที่นั่นได้ 2 เดือน มีแขกกรุ๊ปใหญ่มาให้ผมดูแล เป็นพวกเจ้าชายเจ้าหญิงจากประเทศคูเวต มาพักที่โรงแรมดุสิตธานี วันที่กรุ๊ปนี้เดินทางกลับ ผมได้ทิปจากพวกเขา 12,000 บาท ตอนเป็นครูเพิ่งจะได้เดือนละ 1,200” อาจารย์อับดุลเลาะห์ยิ้มหัว เมื่อกล่าวถึงเงินก้อนใหญ่ที่ได้รับจากลูกทัวร์กลุ่มนั้น
จากนั้นไม่นาน เขาก็ได้พบกับลูกทัวร์ที่จดจำไปตลอดชีวิตที่เหลืออยู่
04
แรกพบท่านเชค
“ตอนนั้นผมได้รับการรับรองจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ให้เป็นไกด์ภาษาอาหรับคนเดียวในประเทศ เพราะยังไม่มีไกด์ภาษาอาหรับคนอื่นเลย” อาจารย์อับดุลเลาะห์คะเนถึงสาเหตุที่ตัวเขาได้รับภารกิจให้ปรนนิบัติ เจ้าชายอามีร มายิด เชื้อพระวงศ์และผู้ว่าราชการนครมักกะฮ์
“เจ้าชายพระองค์นี้เป็นเหมือนผู้ว่าฯ กทม. ท่านเป็นผู้ว่าฯ มักกะฮ์ มาเมืองไทยก็พาลูกน้องมาด้วย มาเช่าโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ อยู่กันทั้งชั้นเลย ผมดูแลกรุ๊ปของท่านทุกวัน ตั้งแต่เช้ายันมืด”
อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่อาจารย์อับดุลเลาะห์กำลังจะทานอาหารเช้าที่โรงแรมนั้น เขาก็ทราบว่าแขกอาหรับ 2 คนในคณะของเจ้าชายมายิดที่พูดภาษาอื่นไม่ได้ กำลังลงมาจากลิฟต์
“ถ้าภาษาไทยเรียกแบบนี้ว่า ความบังเอิญที่ไม่รู้จักเขา ไม่รู้จักเรา ภาษาอาหรับก็เรียกว่า ‘ตักดีร’ แปลว่า การกำหนดของอัลเลาะห์ให้มาเจอกันโดยไม่ได้นัดหมาย”
หนึ่งในนั้นคือ เชค อะหมัด อิบรอฮีม บัดร ผู้ค้าทองรายใหญ่ที่ได้รับการวางตัวให้ดูแลเรื่องการสร้างประตูกะบะห์ ทั้งมีศักดิ์เป็นพี่ชายของ ดร.ฟาอีส อิบรอฮีม บัดร ผู้ว่าการท่าเรือเมืองญิดดะฮ์
“พวกเขาถามว่าผมเป็นใคร ผมแนะนำตัวว่าชื่ออับดุลเลาะห์ เป็นคนดูแลเจ้าชายมายิด เชคอะหมัดบอกผมว่าเขาไม่อยู่แล้วโรงแรมนี้ ผมเลยย้ายพวกเขาไปอยู่โรงแรมมณเฑียร ต้นถนนสุรวงศ์ ตอนอยู่บนรถเขาก็พูดให้ผมฟังว่า กำลังมองหาช่างไทยไปสร้างประตูกะบะห์
“ผมกลับมาเล่าให้เจ้านาย ให้พ่อ ให้แม่ฟัง ทุกคนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าจะไปสร้าง อันดับแรกคือต้องมีฝีมือ อันดับสองคือต้องเป็นคนมุสลิม จึงจะไปที่นครมักกะฮ์ได้ ทุกคนก็ส่ายหน้ากันหมดว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่เขาจะมาหาช่างมุสลิมมีฝีมือแถวนี้ เพราะประเทศไทยมีมุสลิมแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ไม่เกินนี้ ที่เหลือพุทธหมด ถ้าจะหาช่าง หาแถว ๆ นั้นก็ได้ ซาอุดี้ อียิปต์ โมร็อกโก จอร์แดน พวกนี้ก็มุสลิมหมด ทำไมเขามาหาจากไทย ใคร ๆ ก็บอกว่าเป็นเรื่องเพ้อเจ้อ”
ไกด์หนุ่มจมอยู่ในห้วงสับสนนานแรมเดือน ประมาณ 1 เดือนให้หลัง เชคทั้งสองก็กลับมาอีกครั้ง พร้อมกับข่าวว่าผู้ว่าการท่าเรือเมืองญิดดะฮ์ได้สั่งซื้อมะค่าโมงจากบริษัทค้าไม้ของ ณรงค์ วงศ์วรรณ ส.ส.จังหวัดแพร่ ไปแล้ว ขณะนั้นไม้ไปถึงประเทศซาอุดี้เรียบร้อย ยืนยันจากเลขาของ ส.ส.ณรงค์
“เชคอะหมัดบอกผมว่าเป็นเรื่องจริงนะ ไม้ใหญ่ ๆ หนา ๆ 8 แผ่นที่สั่งไว้ไปถึงแล้ว ให้อับดุลเลาะห์หาช่างไม้ 3 คน ช่างทอง 3 คน ไปทำประตูวิหารกะบะห์บานใหม่ แล้วให้อับดุลเลาะห์เป็นล่ามถ่ายทอดภาษา พอกลับไปเล่าให้ที่บริษัทกับที่บ้านฟัง ทุกคนก็บอกว่าผมต้องไป นี่เป็นโอกาสสำคัญในชีวิต ผมเลยลาออกจากงานที่บริษัท ตามเชคอะหมัดไปทำงานที่มักกะฮ์”
05
หัวหน้าช่างไทย
งานชิ้นแรกที่อาจารย์อับดุลเลาะห์ต้องเร่งดำเนินการตามคำขอของเชคอะหมัด คือการเฟ้นหาช่างฝีมือชาวไทยมุสลิมที่เหมาะสมต่อการทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้
“ผมมีหลานคนหนึ่งชื่อ ยูซุฟ เขาอยู่คลอง 19 ฉะเชิงเทรา แถวนั้นมีนายช่างที่ชำนาญการสร้างบ้านทรงไทยที่เวลาสร้างจะไม่ใช้ตะปู ยูซุฟก็ไปทาบทามช่างคนนี้มา หวังว่าจะได้ไปด้วย ที่ไหนได้ เขาเอาพรรคพวกคลอง 19 ของเขาไปหมดเลย ยูซุฟเลยไม่ได้ไปด้วย ผมเพิ่งมารู้เร็ว ๆ นี้ก็เสียดายแทนเขา เลยให้เงินเขาไปทำพิธีอุมเราะห์ (ฮัจญ์นอกเทศกาล) แทน” อดีตมัคคุเทศก์ภาษาอาหรับพูดกลั้วหัวเราะเมื่อเล่าถึงที่มาของนายช่างทั้ง 6 ท่าน
เป็นอันว่าอาจารย์อับดุลเลาะห์ก็ได้ช่างฝีมือชาวไทยครบทั้ง 6 ท่าน ประกอบด้วย สุไลมาน ซันหวัง, อีซา กาสุรงค์ และ ฮุเซ็น และอิ่ม ทำหน้าที่ช่างไม้ ส่วน อาลี มูลทรัพย์, กอเซ็ม ชนะชัย และ ฮุไซนี อารีพงษ์ ทำหน้าที่ช่างทอง
นายช่างทั้งหมดเป็นมุสลิมแท้ นับถืออิสลามมาแต่กำเนิด กระนั้นก็ใช่ว่าพวกเขาจะรู้ภาษาอาหรับในระดับสื่อสารได้ ทั้งกลุ่มมีเพียงอาจารย์อับดุลเลาะห์ที่เคยใช้ชีวิตกับชาวอาหรับมาก่อน เขาจึงกลายเป็นที่พึ่งของเพื่อนร่วมชาติทุกคนไปในทันที
“ไม่ได้รู้จักกันมาก่อนเลย ผมเพิ่งมาพบพวกเขาตอนจะไปนี่แหละ” คนเดียวในกลุ่มที่รู้อาหรับกล่าวถึงเพื่อนร่วมโครงการสำคัญโดยรวม “แต่ทุกคนเชื่อฟังผมหมด นายจ้างคนอาหรับสั่งงานอะไรมา ผมก็มาสั่งพวกเขาอีกที เชื่อมั้ยว่างานประตูไม่เคยผิดพลาด ขยันขันแข็งทำงาน ไม่มีงานทิ้งงานเสีย นายจ้างมอบความไว้วางใจให้ผมทำงาน แต่พวกเราก็ทำงานไม่เคยผิดพลาดแม้แต่ครั้งเดียว”
06
ชีวิตในมักกะฮ์
จากนครศูนย์กลางของศาสนาอิสลามไปนานหลายปี กลับมาคราวนี้ อับดุลเลาะห์ นาคนาวา ไม่ใช่นักเรียนชาวไทยที่ต้องอาศัยอยู่อย่างหลบซ่อน หากเป็นล่ามแปลภาษาและผู้คุมช่างไทยในการสร้างประตูบานสำคัญที่สุดในโลกของมุสลิม
คณะช่างไทยรวมทั้งตัวอาจารย์อับดุลเลาะห์ได้อาศัยบ้านของเชคอะหมัด อิบรอฮีม บัดร เป็นที่พักและโรงงานที่ใช้ทำประตูบานนี้ หน้าที่ของช่างไม้เริ่มก่อน พวกเขาต้องแกะสลักบานประตูให้ได้ตามแบบที่ออกแบบไว้โดยช่างชาวซีเรียชื่อ มูนีร ยุนดี
หลายครั้ง นายช่างจากแดนขวานทองก็ได้ต้อนรับบรรดาคนใหญ่คนโตที่เดินทางมาตรวจงาน ณ โรงงานชั่วคราวแห่งนี้เป็นระยะ ไล่มาตั้งแต่ ดร.ฟาอีส อิบรอฮีม บัดร ผู้สั่งซื้อไม้มะค่าโมงจากเมืองไทย, ฯพณฯ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข, ฯพณฯ รัฐมนตรีกระทรวงฮัจญ์และเอาว์กอฟ หรือกระทั่ง มกุฎราชกุมารฟะฮัด บิน อับดุลอะซีซ อัล ซะอูด ซึ่งจะได้เสวยราชย์เป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 5 แห่งซาอุดิอาระเบียในอีกหลายปีหลังจากนั้น
“นั่งเครื่องบินไป อยู่นู่น 2 ปี พ.ศ. 2521 – 2522 ไม่ได้กลับบ้านเลย ช่างไม้ทำเสร็จก่อนก็ยังอยู่ที่นั่น รอให้ช่างทองทำงานต่อ ตัวผมทำงานให้เชคอะหมัดที่ร้านทอง อยู่คนละที่กับพวกช่าง เช้ามาก็มอบหมายงานให้พวกเขา แล้วแยกย้ายไปทำหน้าที่ของตัวเอง ระหว่างวันไม่ได้เจอกัน เว้นแต่มีเรื่องต้องบอก เช่น ได้รับคำสั่งมา ก็ค่อยไปบอกพวกช่าง”
สวัสดิการที่ช่างไทยได้รับคือเงินเดือน คิดเป็นเงินไทยคนละ 15,000 บาท หัวหน้าทีมได้ 25,000 บาท หยุดสัปดาห์ละ 1 วัน คือวันศุกร์ อันเป็นวันละหมาดใหญ่ ตรงนี้อาจารย์เล่าว่าช่างทั้ง 6 ไว้เนื้อเชื่อใจตนมากถึงขั้นที่ยอมให้จัดการทุกอย่าง ตั้งแต่จำนวนทองที่ต้องเบิกมาใช้เคลือบประตู ไปจนถึงเงินเดือนที่ทุกคนได้รับ อาจารย์อับดุลเลาะห์เป็นผู้ควบคุมทั้งหมด
2 ปีที่นครมักกะฮ์มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในชีวิตทีมผู้สร้างประตูกะบะห์ชาวไทย ช่างทั้งหมดได้รับโอกาสให้ประกอบพิธีฮัจญ์ นำมาซึ่งคำนำหน้าว่า ‘ฮัจญี’ อันหมายถึงผู้ผ่านการทำฮัจญ์มาแล้ว ขณะที่ผู้เคยผ่านฮัจญ์มาแต่เด็กอย่างอาจารย์อับดุลเลาะห์ก็ได้มีครอบครัวเป็นฝั่งเป็นฝา
“ผมแต่งงานที่มักกะฮ์ ภรรยาเดิมเป็นคนไทยพุทธมาเข้ารับอิสลาม เขาบินไปแต่งกับผมที่นั่น ท่านเชคจัดงานแต่งให้ผมเสียใหญ่โตทีเดียว ลูกสาวคนโตของผมชื่อ อัสมา นาคนาวา ก็เกิดที่นั่น”
07
ติดตั้งประตู
เนิ่นนานกว่า 2 ปี ในที่สุดงานผลิตประตูกะบะห์รุ่นไม้มะค่าโมงหุ้มทองคำหนัก 280 กิโลกรัมก็แล้วเสร็จ
อาจารย์อับดุลเลาะห์กล่าวติดตลกว่า การเขียนลวดลายอักษรวิจิตรเป็นพระนามของพระเจ้า และข้อความจากอัลกุรอานที่เรียกว่า ‘ค็อต’ นั่นแหละที่เสียเวลาไปมาก ทั้งนี้เนื่องจากปัญหาสุขภาพของ เชค อับดุลรอฮีม อามีน ผู้เขียนค็อต
“ประตูกะบะห์บานเก่าเป็นโลหะ หนักมาก สร้างในรัชสมัย สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลอะซีซ อิบน์ ซะอูด กษัตริย์พระองค์แรกของประเทศซาอุดี้ เชคอามีนคนนี้เป็นคนเขียนค็อตของบานเก่า ซึ่งยังมีชีวิตอยู่ จึงได้มาเขียนบานใหม่ที่เราไปสร้างด้วย ตอนนั้นแกอายุเยอะแล้ว สุขภาพก็ไม่ค่อยดี เขียนได้ประโยคหนึ่งก็เข้าโรงพยาบาลที ที่ทำกันช้าเป็นปี ๆ ก็เพราะเวาะ (ลุง) คนนี้แหละ (หัวเราะ)”
สำหรับขั้นตอนติดตั้งประตูนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ทีมช่างต้องใช้เวลาถึง 10 วันเต็ม ในการนำประตูบานใหม่ไปประกอบเข้ากับบานวงกบของกะบะห์ ตลอดเวลาสัปดาห์เศษที่พวกเขาอยู่กลางมัสยิดฮารอมอันศักดิ์สิทธิ์ อาจารย์อับดุลเลาะห์ยังต้องมีปากเสียงกับหัวหน้าตระกูลอัลชัยบี ซึ่งสืบทอดตำแหน่งผู้ถือกุญแจกะบะห์มาตั้งแต่สมัย ศาสดามุฮัมมัด ด้วยต้นตระกูลนี้เป็นสาวกสำคัญคนหนึ่งของท่าน
“ลูกชายคนโตของตระกูลอัลชัยบีจะถือกุญแจดอกนี้ไว้ตลอด ถ้าเขาไม่เปิดประตูให้ ใครก็เข้าไม่ได้ แม้แต่ระดับผู้นำประเทศก็ไม่ได้ ถ้าเขาไม่อนุญาต” อาจารย์สาธยายสิทธิพิเศษที่ตระกูลนี้มีเหนือกะบะห์ “สมัยนั้นคือ เชค ตอฮา อัลชัยบี ที่นั่งเฝ้าอยู่ตรงหน้านั่น ด่าผมทุกวันว่าช่างไทยชักช้า ถ้าจ้างอียิปต์มาทำ ป่านนี้เสร็จไปถึงไหนแล้ว”
ยิ่งไปกว่านั้น ระหว่างการติดตั้งประตู ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากเชคผู้นี้ให้นำพัดลมเข้าไปด้านใน ชาวไทยทั้ง 7 คนจึงต้องวางพัดลมไว้ด้านนอก แล้วเป่าลมเข้าไปแทน
อย่างไรเสีย นั่นก็คือช่วงชีวิตที่อาจารย์อับดุลเลาะห์พึงพอใจที่สุดช่วงหนึ่ง เพราะเขาเป็นสามัญชนเพียงไม่กี่คนที่ได้ย่างกรายเข้าไปในกะบะห์ ซึ่งมักเปิดให้เข้าไปละหมาดได้แค่กษัตริย์หรือผู้นำประเทศเท่านั้น
“ผมอยู่ในนั้น 10 วันเต็ม ตอนละหมาดก็หันไปทางนี้ที ทางนั้นที ปกติทำแบบนี้ไม่ได้ ต้องหันมาทางกะบะห์เสมอ แต่นี่เราอยู่ในกะบะห์แล้ว หันไปทางไหนก็ได้”
ครั้นเมื่อประตูได้รับการติดตั้งสมบูรณ์ สมเด็จพระราชาธิบดีคอลิด บิน อับดุลอะซีซ อัล ซะอูด กษัตริย์ซาอุดิอาระเบียสมัยนั้น ก็ได้เสด็จฯ มาทำพิธีเปิดประตูกะบะห์บานใหม่อย่างเป็นทางการ เป็นภาพจำที่แจ่มชัดของอาจารย์อับดุลเลาะห์ว่า พระองค์ประทับบนรถเข็น มีทางต่อให้รถเข็นพระที่นั่งของพระองค์เลื่อนขึ้นไปที่หน้าประตูได้
08
ส่งต่อความรู้และประสบการณ์
ประตูกะบะห์ฝีมือช่างไทยได้อวดโฉมต่ออิสลามิกชนทั่วโลกได้ไม่นานนัก ก็เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญกับวิหารสำคัญแห่งนี้ เมื่อชาวอาหรับหัวรุนแรงกลุ่มหนึ่งซ่อนอาวุธบุกเข้าไปในมัสยิดฮารอม พร้อมขู่ว่าจะโค่นล้มราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย จึงเกิดการต่อสู้ยืดเยื้อนานกว่า 2 สัปดาห์ มีคนบาดเจ็บล้มตายเป็นเบือ
ด้วยความเบื่อหน่าย กอปรกับสวัสดิภาพที่สั่นคลอน อาจารย์อับดุลเลาะห์ซึ่งห่างเหินจากมาตุภูมิมาหลายปี จึงตัดสินใจเดินทางกลับไทย แม้ว่าเชคอะหมัดผู้เป็นนายจ้างจะเสนองานอื่นให้ทำก็ตามที
เขาพักอยู่แถวนานาได้ระยะหนึ่ง เป็นอิหม่ามมัสยิดแห่งแรกของซอยนานา จากนั้นจึงตัดสินใจกำเงินซื้อที่ดินบนเขาใหญ่ ซึ่งสมัย พ.ศ. 2531 นั้นยังเป็นที่รกร้าง ถางที่เพื่อทำฟาร์มเลี้ยงไก่และแกะ ก่อนพัฒนาเป็นรีสอร์ตเชิงฮาลาล ดำเนินการทุกด้านถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม ชื่อว่า ‘นาคนาวาฟาร์มแอนด์รีสอร์ท’ อันโด่งดังในหมู่พี่น้องมุสลิมชาวไทยจวบจนวันนี้
“ผมซื้อที่ดินนี้มาเพราะเห็นว่าเป็นเขาสูง มองลงมาเห็นทุกอย่างเหมือนกรุงบอนน์ที่ผมเคยไปอยู่เลย” เจ้าของสถานที่พูดพลางนำชมที่ดินเปล่าเมื่อหลายสิบปีก่อน ซึ่งยากจะเชื่อว่า วันนี้ที่ดินผืนเดียวกันจะมีครบสรรพ ทั้งรีสอร์ต ร้านอาหาร มัสยิด รวมทั้งพื้นที่จัดกิจกรรมที่มีไว้จัดค่ายเยาวชนภาคฤดูร้อนทุกปี
พ.ศ. 2555 อาจารย์อับดุลเลาะห์เปิดหมู่บ้านอาหรับจำลอง เพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมอาหรับที่เขาคุ้นเคย ตลอดจนจัดแสดงประวัติประตูกะบะห์ไว้ ณ จุดสูงสุดของนาคนาวาฟาร์มแอนด์รีสอร์ท
และแล้วใน พ.ศ. 2564 พื้นที่จัดแสดงเรื่องราวประตูกะบะห์ก็ได้ย้ายลงมาในที่ต่ำกว่า เพื่อให้ผู้คนมาเยี่ยมชมได้ง่ายขึ้น ก็คือ ‘ศูนย์การเรียนรู้ประตูกะบะห์มัสยิดฮารอม’ ที่อาจารย์ได้ลงมือเขียนป้ายแสดงข้อมูล ออกทุนซื้อรูปภาพและหาสื่อการสอนทุกชิ้นมาจัดแสดงไว้ด้วยตนเอง
“พวกอาหรับไม่มีใครรู้กันเลยว่าประตูบานนี้ช่างไทยสร้าง ตั้งแต่กลับมาเปิดความสัมพันธ์กับซาอุดี้ พวกเขามาดูที่นี่ก็แปลกใจกันใหญ่ ไม่มีใครเชื่อว่าคนไทยไปสร้างไว้ ทางนั้นเขาก็ไม่ได้บอกกัน” มุสลิมชาวไทยชื่ออับดุลเลาะห์เปิดเผยความคิดที่นำพาเขามาสร้างศูนย์การเรียนรู้นี้ไว้ในพื้นที่ของตนเอง
“บอกลูก ๆ ไว้ว่า ถ้าสติปัญญายังจำได้อยู่ ก็อยากจะสร้างศูนย์เรียนรู้ไว้ คนที่ต้องการไปประกอบพิธีฮัจญ์จะได้รู้ว่าต้องไปขอพรตรงไหน ประตูนี้สร้างยังไง หากใครได้มาศูนย์การเรียนรู้นี้ ก็อยากให้ได้รับประโยชน์กลับไปด้วย”
คนไทยไม่กี่คนที่ได้เข้าไปในกะบะห์ทิ้งท้าย ก่อนเปิดรอยยิ้มซึ่งบ่งชัดว่าเขาภูมิใจเพียงใด ที่ครั้งหนึ่งเคยทำภารกิจยิ่งใหญ่ในบ้านของอัลเลาะห์ สมกับชื่อ ‘อับดุลเลาะห์’ ที่ได้มา