“จุดที่หนึ่ง ไหว้ฟ้าดิน จุดธูปห้าดอก…”

ข้อความข้างต้นนี้ ผมแน่ใจว่าคนไทยเชื้อสายจีนที่นับถือเทพเจ้าจีนรวมทั้งแฟนพันธุ์แท้ศาลเจ้าทั้งหลายคงเคยผ่านหูผ่านตามาไม่มากก็น้อย บางคนอาจจะร้องอ๋อ พลันเกิดจินตภาพเห็นแท่นบูชาหน้าพื้นที่โล่งแจ้งของศาลเจ้าแล้วด้วยซ้ำไป

แต่เล็กแต่น้อย ผมในฐานะคนกรุงเทพฯ เชื้อสายจีนแต้จิ๋วได้รับการปลูกฝังจากญาติผู้ใหญ่ให้จุดธูปไหว้ฟ้าดินเป็นลำดับแรกทุกครั้งที่เข้าศาลเจ้า ซึ่งในความรับรู้ของผม ‘ทีกง’ หรือเทพเจ้าแห่งท้องฟ้านั้นไม่มีศาล ถ้าจะไหว้ก็ต้องไปไหว้ที่ศาลเจ้าเป็นหลัก แต่หากอยู่ที่บ้าน เราจะไหว้ศาล ‘ตี่จู้’ หรือเทพเจ้าแห่งผืนดินที่เป็นศาลเจ้าสีแดงเล็ก ๆ บนพื้นบ้านชั้นล่างสุดกัน

ทีกง เทพเจ้าแห่งท้องฟ้าของชาวจีนที่ชาวภูเก็ตมีวิธีบูชาไม่เหมือนใคร

“เทพเจ้าฟ้าไม่มีศาลไว้สถิตอยู่ ถ้าจะไหว้ก็ต้องไปไหว้ที่ศาลเจ้า”

ผมอยู่กับความเข้าใจเช่นนั้นมาตลอด จวบจนวันหนึ่งได้เห็นภาพถ่ายถนนหนทางในภูเก็ต สิ่งแรกที่สะดุดตาผมตั้งแต่วูบแรกเห็น ก็คือศาลเจ้าสีแดงหน้าตาเหมือนศาลตี่จู้ที่แขวนอยู่หน้าบ้านในระดับสายตา แทนที่จะตั้งพื้นอย่างที่เคยเห็นทั่วไป

นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมรู้ว่าตามบ้านคน ท่านเทพเจ้าฟ้าก็มีศาลเป็นที่อยู่ของท่านเช่นกัน เพียงแต่คนจีนกลุ่มที่สร้างศาลให้ท่านในบ้านพวกเขา เป็นคนละกลุ่มกับคนจีนหมู่มากในกรุงเทพฯ

และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ ผมจึงดั้นด้นบินลัดฟ้าไปถึงภูเก็ตเพื่อไปเก็บบันทึกภาพศาลเทพเจ้าฟ้าหรือ ‘ศาลถี่ก๊อง’ ที่ชาวภูเก็ตเรียกขานกันโดยเฉพาะ

ทีกง เทพเจ้าแห่งท้องฟ้าของชาวจีนที่ชาวภูเก็ตมีวิธีบูชาไม่เหมือนใคร

ศาลเจ้าจุ้ยตุ่ยเต้าโบ้เก้ง ศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในภูเก็ต 

หากไม่นับหาดสวย น้ำใส หรือเกาะแก่งน้อยใหญ่ที่กระจายพรายพร้อยทั่วท้องทะเลแล้ว จังหวัดภูเก็ต เจ้าของสมญาไข่มุกอันดามันแห่งนี้ยังมีชื่อเสียงอุโฆษในแง่วัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมจีนซึ่งจัดว่าเข้มข้นที่สุดจังหวัดหนึ่งในเมืองไทยก็ว่าได้

วัฒนธรรมจีนในภูเก็ตมีความพิเศษอยู่อย่างหนึ่งคือลักษณะจีนแบบฮกเกี้ยน ในขณะที่คนจีนส่วนใหญ่ในประเทศของเราเป็นจีนแต้จิ๋ว เพราะเหตุนี้ ร่องรอยอารยธรรมจีนที่พบในภูเก็ตจึงมีความแตกต่างจากที่พบในจังหวัดอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นภาษา พิธีกรรม คติความเชื่อ อาหารการกิน ฯลฯ

ทีกง เทพเจ้าแห่งท้องฟ้าของชาวจีนที่ชาวภูเก็ตมีวิธีบูชาไม่เหมือนใคร

อันที่จริง จีนฮกเกี้ยนและจีนแต้จิ๋วถือเป็นกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกันราวกับพี่น้อง ทั้งสองภาษาสื่อสารกันได้พอรู้เรื่อง เนื่องจากจัดอยู่ในตระกูลภาษาเดียวกัน ชาวแต้จิ๋วไม่น้อยมีความเชื่อว่าชาวฮกเกี้ยนเป็นบรรพบุรุษของพวกตน ประจักษ์ชัดจากภาษิตจีนแต้จิ๋วว่า “เตี่ยว์จิวนั้ง ฮกเกี่ยงโจ๊ว – คนแต้จิ๋ว บรรพบุรุษเป็นฮกเกี้ยน” แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องไม่ลืมว่าประเทศจีนกว้างใหญ่ไพศาล แม้กลุ่มคนจีนที่ได้ชื่อว่าใกล้ชิดกันอย่างสองจีนนี้ ก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยทางวัฒนธรรมที่ต่างกันสารพัน

หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ได้แก่การที่ตามบ้านจีนแต้จิ๋วตั้งศาลไหว้เทพเจ้าดิน ตรงข้ามกับตามบ้านจีนฮกเกี้ยนที่ตั้งศาลไหว้เทพเจ้าฟ้านี่เอง

ทีกง เทพเจ้าแห่งท้องฟ้าของชาวจีนที่ชาวภูเก็ตมีวิธีบูชาไม่เหมือนใคร

เมืองภูเก็ตเติบโตขึ้นมาได้ด้วยผลพวงจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดีบุก ในยุคที่ดีบุกถูกขุดกันเป็นล่ำเป็นสัน เรือสำเภาได้นำพากุลีชาวจีนข้ามน้ำข้ามทะเลมาแสวงโชคยังเกาะสวรรค์แห่งนี้เป็นจำนวนมาก ครั้นเวลาล่วงเลยไป กุลีจีนเหล่านั้นก็ได้ตั้งรกราก ขยายเผ่าพันธุ์เป็นบรรพบุรุษของคนเชื้อสายจีน ซึ่งถือได้ว่าเป็นประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดภูเก็ตทุกวันนี้

ชาวจีนที่อพยพมาภูเก็ตเป็นจีนฮกเกี้ยนมากที่สุด รองลงมาเป็นจีนกวางตุ้งและจีนไหหลำ ต่างนำวัฒนธรรมดั้งเดิมของกลุ่มตนมาเผยแพร่ที่นี่ ด้วยจำนวนชาวฮกเกี้ยนที่มีมากที่สุดก็เหมือนจะเป็นคำตอบกลายๆ แล้วว่า เพราะเหตุใดวัฒนธรรมแบบฮกเกี้ยนในจังหวัดนี้ถึงได้เข้มแข็งนัก

เนื่องด้วยเทพเจ้าฟ้าเป็นเทพที่ชาวจีนฮกเกี้ยนผูกพันและให้ความเคารพสูงสุด จึงไม่แปลกที่ตามหน้าตึกแถวบ้านเรือนคนจีนในภูเก็ต ปีนัง มะละกา สิงคโปร์ หรือที่ใดก็ตามที่ชาวฮกเกี้ยนอยู่กันอย่างหนาแน่น จะละลานตาไปด้วยศาลเทพเจ้าฟ้า

ทีกง เทพเจ้าแห่งท้องฟ้าของชาวจีนที่ชาวภูเก็ตมีวิธีบูชาไม่เหมือนใคร

ในยุคโบราณที่มีเพียงลัทธิบูชาธรรมชาติ ชาวจีนถือว่าท้องฟ้าถือเป็นธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ แผ่ขยายอาณาเขตออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด พวกเขาจึงเคารพสักการะท้องฟ้าในฐานะผู้ให้กำเนิดสรรพสิ่งต่างๆ และดลบันดาลความเป็นไปของมนุษย์ 

เมื่อลัทธิเต๋าและลัทธิขงจื๊อถือกำเนิดขึ้น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติที่ผู้คนบูชามาแต่เดิมก็ได้รับการส่งเสริมโดยลัทธิเต๋า ซึ่งกำหนดแบบแผนเรื่องสถานะของเทพเจ้า และลัทธิขงจื๊อที่ให้ความสำคัญกับความกตัญญูรู้คุณ ท้องฟ้าจึงได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าชั้นสูงซึ่งเชื่อกันว่าให้กำเนิดสิ่งใหม่ๆ ทั้งยังคอยบันดาลความเป็นไปของสิ่งนั้นๆ ชาวจีนกราบไหว้เทพเจ้าฟ้าก็เพราะทั้งสองคติความเชื่อนี้ ด้วยเชื่อว่าเป็นเทพเจ้าผู้สูงส่ง และต้องการแสดงความกตัญญูที่ฟ้าดินคุ้มครองพวกเขาให้อยู่เย็นเป็นสุขเรื่อยมา

ทีกง เทพเจ้าแห่งท้องฟ้าของชาวจีนที่ชาวภูเก็ตมีวิธีบูชาไม่เหมือนใคร

เทพเจ้าฟ้ามีชื่อเรียกต่างกันออกไปในแต่ละสำเนียงภาษา ภาษาจีนกลางเรียกเทพองค์นี้ว่า ‘เทียนกง’ จีนแต้จิ๋วเรียกว่า ‘ทีกง’ ส่วนชาวจีนฮกเกี้ยนในภูเก็ตสะกดชื่อท่านหลายแบบด้วยกัน อาทิ ‘ถี่ก๊อง’ ‘ถี่ก้ง’ ‘ถี่ก๋ง’ ‘ทีก้ง’ ไปจนถึง ‘ทีกง’ เหมือนอย่างจีนแต้จิ๋วเลยก็มี 

แต่ไม่ว่าจะเรียกด้วยสำเนียงใด คนจีนทุกสำเนียงก็รู้เรื่องทันทีถ้าเขียนชื่อท่านว่า ‘天公’ อันมีความหมายว่าปู่สวรรค์หรือปู่ฟ้า 

ทีกง เทพเจ้าแห่งท้องฟ้าของชาวจีนที่ชาวภูเก็ตมีวิธีบูชาไม่เหมือนใคร

ศาลถี่ก๊องแขวนบนเพดานร้านค้า รอผู้มีจิตศรัทธาเช่าไปบูชาที่บ้าน

โดยทั่วไป ชาวจีนส่วนใหญ่จะไม่นิยมสร้างรูปเคารพของเทพเจ้าฟ้า เนื่องเพราะถือกันว่าท่านเป็นเทพที่ยิ่งใหญ่ อยู่ทุกหนแห่ง ไร้สภาพที่ตายตัว ศาลเจ้าทุกแห่งจึงสร้างศาลบูชาท่านเป็นเพียงแท่นบูชา วางกระถางธูปพอเป็นพิธี ไว้กลางแจ้งหรือบริเวณที่เปิดกว้างเห็นท้องฟ้าได้เท่านั้น ก่อนจะไหว้เทพอื่นใด หากย่างเท้าเข้ามาในศาลเจ้าแล้ว ก็เป็นที่รู้กันว่าต้องกราบไหว้เทพเจ้าฟ้าก่อนเสมอ ค่าที่ท่านเป็นบ่อเกิดแห่งชีวิตและทุกสรรพสิ่งบนโลกนั่นเอง

สำหรับชาวจีนฮกเกี้ยนที่ผมกล่าวไปแล้วว่าพวกเขานับถือ ‘ถี่ก๊อง’ มากเป็นพิเศษนั้น พวกเขาเชื่อว่าเทพเจ้าฟ้ากับจักรพรรดิหยกผู้เป็นประมุขของเหล่าทวยเทพนั้นเป็นเทพองค์เดียวกัน

คนไทยทั่วไปจะรู้จักกันในชื่อผสมแต้จิ๋ว-ฮกเกี้ยนว่า ‘เง็กเซียนฮ่องเต้’ แต่ขอกระซิบบอกคนต่างถิ่นหน่อยว่า คนภูเก็ตเขาเรียกท่านตามภาษาฮกเกี้ยนแท้ๆ ว่า ‘หยกอ๋องส่งเต่’ นะครับ

ทีกง เทพเจ้าแห่งท้องฟ้าของชาวจีนที่ชาวภูเก็ตมีวิธีบูชาไม่เหมือนใคร

แท่นบูชาถี่ก๊องในศาลเจ้าแสงธรรม ในที่นี้สะกดว่า ‘ทีก้ง’

สำหรับทริปตระเวนชมศาลถี่ก๊องครั้งนี้ ผมเริ่มการทัศนาจรของผมที่บริเวณวงเวียนสุรินทร์ที่ซึ่งหอนาฬิกาเก่าแก่ยืนเด่นเป็นสง่า ก่อนออกเดินไปตามถนนในย่านเมืองเก่า ทั้งถนนดีบุก ถนนพังงา และถนนถลาง ซึ่งล้วนงามตรึงตาด้วยสถาปัตยกรรมชิโน-โคโลเนียลที่สร้างดาษดื่นเต็มสองฟากฝั่ง

สิ่งหนึ่งที่ผมเพิ่งสังเกตระหว่างเดินเที่ยวอยู่นั้น คือศาลถี่ก๊องหน้าบ้าน (ที่จริงสำนักงาน ร้านค้าอาคารสาธารณะต่างๆ ก็มีเหมือนกัน แต่ขออนุญาตเรียกรวมๆ ว่า ‘บ้าน’) จะแขวนอยู่ข้างขวามือของประตูบ้านเสมอ กรณีที่เรามองจากข้างนอกเข้าไปหาบ้าน

ทีกง เทพเจ้าแห่งท้องฟ้าของชาวจีนที่ชาวภูเก็ตมีวิธีบูชาไม่เหมือนใคร

สันนิษฐานว่าแต่เดิมชาวฮกเกี้ยนบูชาจักรพรรดิหยกเป็นหลัก ส่วนเทพเจ้าฟ้า พวกเขากราบไหว้ตะเกียงน้ำมันทรงแปดเหลี่ยมที่แขวนไว้หน้าปากประตูทางเข้าเป็นสัญลักษณ์แทน โดยเรียกตะเกียงแปดเหลี่ยมนี้ว่า ‘ถี่เต๊ง’ หรือ ‘ถี่ก้องหล่อ’

ต่อมาเมื่อจีนฮกเกี้ยนรับธรรมเนียมจีนกวางตุ้งที่สักการะเทพเจ้าฟ้าด้วยแผ่นป้าย ชาวฮกเกี้ยนก็ได้มีการปรับเปลี่ยนธรรมเนียม ผสมผสานจักรพรรดิหยกกับเทพเจ้าฟ้าให้เป็นองค์เดียวกัน และเริ่มไหว้ป้ายบูชาตามชาวกวางตุ้งตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ป้ายบูชาถี่ก๊องรุ่นเก่า จะมีเพียงแผ่นป้ายสีแดงแผ่นเดียว บนแผ่นป้ายจารอักษรภาษาจีน 4 ตัวเขียนว่า ‘天官赐福’ ฮกเกี้ยนออกเสียงว่า ‘เทียนก๊วนซู่ฮก’ มีความหมายว่าเทพฟ้าประทานพร จุดนี้ที่ฮกเกี้ยนรับต่อมาจากกวางตุ้ง ขณะที่จีนแต้จิ๋วและจีนไหหลำจะเขียนว่า ‘天地父母 เจ้าพ่อเจ้าแม่ฟ้าดิน 

ทีกง เทพเจ้าแห่งท้องฟ้าของชาวจีนที่ชาวภูเก็ตมีวิธีบูชาไม่เหมือนใคร
ทีกง เทพเจ้าแห่งท้องฟ้าของชาวจีนที่ชาวภูเก็ตมีวิธีบูชาไม่เหมือนใคร
ทีกง เทพเจ้าแห่งท้องฟ้าของชาวจีนที่ชาวภูเก็ตมีวิธีบูชาไม่เหมือนใคร

เมื่อเวลาผ่านไป ศาลถี่ก๊องที่เคยเป็นเพียงแผ่นป้ายสลักอักษรจีน 4 ตัวก็ได้รับการประดิดประดอยให้วิจิตรพิสดารยิ่งขึ้น หลายศาลมีรูปลักษณ์ภายนอกเหมือนกับศาลตี่จู้ที่เห็นได้ทั่วไปในบ้านคนจีนแต้จิ๋ว แต่ในความเหมือนก็มีความต่าง ที่เห็นกันคือศาลตี่จู้หลายหลังวาดภาพ ‘ตี่จู่เอี๊ย’ หรือเจ้าที่เข้าไป บ้างก็ปั้นรูปเคารพลอยตัวตั้งอยู่ในศาล ศาลถี่ก๊องที่นี่จะไม่มีรูปเทพเจ้าอยู่เลย เหตุผลก็อย่างที่กล่าวมาแล้วว่าถี่ก๊องเป็นเทพเจ้าที่ไร้รูปพรรณสัณฐานที่ชัดเจนนั่นเอง

ทีกง เทพเจ้าแห่งท้องฟ้าของชาวจีนที่ชาวภูเก็ตมีวิธีบูชาไม่เหมือนใคร
ทีกง เทพเจ้าแห่งท้องฟ้าของชาวจีนที่ชาวภูเก็ตมีวิธีบูชาไม่เหมือนใคร

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมเพิ่งสังเกตระหว่างเยี่ยมชมศาลถี่ก๊องก็คือสับปะรดซึ่งอยู่ในสำรับของไหว้แทบทุกหลัง นับว่าเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์สำหรับผมไม่น้อย เพราะไม่เคยเห็นคนจีนที่ไหนไหว้สับปะรดกัน

ภายหลังเมื่อได้ค้นคว้าข้อมูลแล้ว ถึงได้เข้าใจว่าสับปะรด ภาษาฮกเกี้ยนเขาเรียก ‘อ่องหลาย’ มีความหมายพ้องกับคำว่าโชคลาภ จึงถือเป็นผลไม้มงคล อีกทั้งสับปะรดภูเก็ตเลื่องชื่อด้านรสชาติที่หวานฉ่ำอมเปรี้ยว ทั้งยังมีเนื้อกรอบอร่อยเป็นเอกลักษณ์ จนได้รับฉายาว่า ‘ราชินีผลไม้อันดามัน’ 

ชาวไทยเชื้อสายจีนในภูเก็ตนิยมซื้อสับปะรดเป็นของเซ่นไหว้และส่งมอบแก่ญาติมิตรมานานแล้วเพราะเหตุผลเดียวกันนี้ ผู้คนจึงนิยมนำสับปะรดมาถวายแด่เทพเจ้าที่พวกเขาเคารพสูงสุด

ทีกง เทพเจ้าแห่งท้องฟ้าของชาวจีนที่ชาวภูเก็ตมีวิธีบูชาไม่เหมือนใคร
ทีกง เทพเจ้าแห่งท้องฟ้าของชาวจีนที่ชาวภูเก็ตมีวิธีบูชาไม่เหมือนใคร
ทีกง เทพเจ้าแห่งท้องฟ้าของชาวจีนที่ชาวภูเก็ตมีวิธีบูชาไม่เหมือนใคร

วันประสูติถี่ก๊องตรงกับวันที่ 9 เดือน 1 ตามปฏิทินจีน ถือเป็นวันเกิดเทพเจ้าวันแรกสุดของปี ทั้งนี้ก็เป็นไปตามความเชื่อที่ว่าท่านเป็นผู้ให้กำเนิดทุกสรรพสิ่งบนโลก วันเกิดท่านจึงควรมาก่อนใคร

เป็นที่รู้กันว่า วันที่ 9 เดือน 1 หรือ 8 วันหลังวันตรุษจีนนั้น ทั้งศาลเจ้าขนาดใหญ่เรื่อยไปถึงศาลถี่ก๊องเล็กๆ ตามบ้านเรือนในภูเก็ต ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ หรือที่ใดๆ ก็ตามที่ชาวฮกเกี้ยนอาศัยอยู่มาก จะคึกคักด้วยผู้คนมากหน้าหลายตาที่พากันออกมา ‘ป้ายถี่ก๊อง-ไหว้เทพเจ้าฟ้า’

ตรงนี้มีเรื่องเล่าสนุกๆ ที่เล่าลือต่อกันมาว่า สมัยราชวงศ์หมิง ญี่ปุ่นเคยบุกมารุกรานบริเวณที่ชาวจีนฮกเกี้ยนอาศัยอยู่ พวกชาวบ้านกลัวจึงพากันไปหลบอยู่ในดงอ้อย จนกระทั่งญี่ปุ่นล่าถอยกลับไปในวันประสูติของถี่ก๊องพอดี พวกเขาเชื่อว่าที่พวกตนรอดชีวิตมาได้เพราะถี่ก๊องคุ้มครอง จึงนำต้นอ้อยที่หาได้มาร่วมบูชา อนึ่งคำว่าอ้อยเรียกว่า ‘ก้ามเจี่ย’ ฟังละม้ายคำว่า ‘กำเสี่ย’ ซึ่งแปลว่า ขอบคุณ อีกด้วย

ปัจจุบันธรรมเนียมการป้ายถี่ก๊องด้วยต้นอ้อยถูกลดทอนลงไปแล้ว หลายที่ในภูเก็ตจึงปรับเปลี่ยนใช้น้ำอ้อยถวายเป็นเครื่องบูชาแทน

ทีกง เทพเจ้าแห่งท้องฟ้าของชาวจีนที่ชาวภูเก็ตมีวิธีบูชาไม่เหมือนใคร

ถ้ามองด้วยสายตาที่ฉาบฉวย ศาลถี่ก๊องที่พบเห็นได้ลายตาทั่วเกาะภูเก็ต ก็คงเป็นได้เพียงหิ้งบูชาเจ้าที่เจ้าทางธรรมดา

แต่ถ้าเราเพ่งสายตานั้นด้วยความพินิจพิเคราะห์ ศาลเล็กๆ ที่แขวนหน้าบ้านเหล่านี้คงเป็นมากกว่าหิ้ง หากแต่เป็นภาพสะท้อนวัฒนธรรมจีนฮกเกี้ยนอันรุ่งเรืองที่อยู่คู่เมืองภูเก็ตมานานนับร้อยๆ ปี

สุดท้ายนี้ ขอให้ผู้อ่านทุกท่าน “เทียนก๊วนซู่ฮก-เทพฟ้าประทานพร” สมดังข้อความอวยพรที่จารึกบนศาลถี่ก๊องทุกหลังกันถ้วนหน้านะครับ 

ข้อมูลอ้างอิง

https://th.wikipedia.org/wiki/เง็กเซียนฮ่องเต้

Facebook : Charlie Lew 

Facebook : 陳俊平

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย