สำหรับคนชอบสถาปัตยกรรม รักบรรยากาศวินเทจ ชอบเดินเล่นชมเมืองสวยๆ หรือรสนิยมตรงกับทุกข้อที่กล่าวมา ย่านเมืองเก่าภูเก็ตคงเป็นจุดหมายที่น่าไปเยี่ยม อาคาร 2 ชั้นสไตล์เพอรานากันที่เรียงรายตามถนนสายเก่าคล้ายคลึงกับสถาปัตยกรรมที่ปีนังหรือมะละกา ตึกแถวของเมืองท่าติดทะเลผสมวัฒนธรรมจีนเข้ากับกลิ่นอายฝรั่ง ดีเทลเล็กๆ อย่างขอบโค้งของหน้าต่าง ลายฉลุบนกำแพง หรือระเบียงกว้างบนชั้นสอง ล้วนยืนหยัดทนแดด ฝน ลมทะเล และกาลเวลา มาอย่างสง่างาม

ฉันเดินดูตึกเก่าที่ภูเก็ตทั้งวันได้โดยไม่เบื่อ และชอบนอนพักในย่านเมืองเก่ามากกว่าโรงแรมใหม่ ไม่ใช่แค่เพราะความสวยน่ามอง แต่เพราะยุคสมัยของตึกแบบนี้จบลงไปแล้ว อดีตที่อาศัยอยู่ในอิฐปูนทำให้บ้านเรือนที่นี่มีความจริง มีความทรงจำ และมีความหมายพิเศษสำหรับแขกผู้มาเยือน

ชิโน-โปรตุกีส

ตึกสีชมพูพาสเทลแบบหนัง Wes Anderson ในซอยรมณีย์ ถนนถลาง เป็นหนึ่งในอาคารที่ฉันประทับใจมากที่สุด มันสวยเก๋ตามสมัย ขณะเดียวกันก็รักษาความดีงามของยุคเก่าไว้ครบถ้วน ชั้นล่างของตึกเป็นร้านไอศกรีม Torry’s Ice Cream ที่อร่อยเป็นบ้าเป็นหลัง ส่วนชั้นบนเป็นที่พักเล็กๆ ชื่อ 2rooms Boutique House โดยสองสามีภรรยา ทัช-ธรัช กับ ชมพู่-วทัญญู ศิวภักดิ์วัจนเลิศ สถาปนิกจาก Dhamarchitects ตัดสินใจลงทุนรีโนเวตอาคารเก่าเป็นโรงแรมที่สะท้อนตัวตนของพวกเขามากที่สุด

บ่ายวันหนึ่งที่อากาศร้อน (ร้อนพอจะเป็นข้ออ้างให้ซื้อไอศครีมกินหลายลูกโดยไม่รู้สึกผิด) ฉันได้โอกาสเข้าไปเมียงมองห้องพักแสนสวย และพูดคุยกับทัชเรื่องการตบแต่งอาคารเพอรานากันนี้ใหม่ ตั้งแต่โครงสร้างภายนอกจนถึงไอเดียเบื้องหลังทุกซอกทุกมุม

ชิโน-โปรตุกีส

บ้านตัวอย่าง

Dhamarchitects เป็นบริษัทสถาปนิกที่เชี่ยวชาญด้านการออกแบบโรงแรมในภาคใต้ ทัชชอบธรรมชาติ ส่วนชมพู่ชอบศิลปะ ทั้งคู่ผสานจุดเด่นของตนเองเข้ากับบริบทสิ่งแวดล้อมใกล้ทะเล ยิ่งรับงานออกแบบโรงแรมในภูเก็ตและพังงามากเข้า พวกเขาก็เริ่มมองเห็นจุดผิดปกติบางอย่างในการสร้างและรีโนเวตโรงแรมในปัจจุบัน

“เราทำโรงแรมบ่อยจนเป็นของถนัด และเจอว่าโปรแกรมที่เจ้าของโรงแรมให้มามักมีความผิดพลาด เวลาทำโรงแรม เจ้าของต้องไปกู้ต้องแบงก์มา เขาเชื่อว่าต้องทำห้องเยอะๆ เพื่อให้ได้เงินเยอะพอไปผ่อนแบงก์ ทีนี้พอในเมืองมีห้องเต็มไปหมด ก็ต้องแข่งฟันราคากันเละ ทั้งที่เพดานราคาก็ไม่สูงอยู่แล้วเพราะไม่เห็นวิวทะเล เราเลยคิดว่าเมืองเก่าควรมีห้องจำกัด หมดแล้วหมดเลย คุณต้องต่อคิวกันมานอน ยิ่งมีห้องน้อย ห้องก็จะเต็มเร็วขึ้น ราคาย่านนี้ก็สูงขึ้น”

สถาปนิกหนุ่มเล่าว่าเคสที่เขามักเจอคือลูกค้าถูกใจตึกเก่าเลยตั้งใจซื้อมาทำโรงแรม แต่พอคำนวณตัวเลขธุรกิจแล้วก็ต้องทุบตึกโบราณทิ้ง เพราะค่ารีโนเวตแพงกว่าสร้างใหม่ สุดท้ายเรื่องมักลงเอยที่การสร้างที่พักราคาย่อมเยาแห่งใหม่ขึ้นเสมอ

“สมมติคุณมีตึกแถว 1 คูหา 2 ชั้น ชั้นล่างต้องเป็นที่รับแขก มันจะแบ่งได้สักกี่ห้องเชียว แบ่งเป็นห้องข้างหน้ากับห้องข้างหลังดีสุด ตรงกลางมีทางเดินกับห้องเล็กๆ เบ็ดเสร็จแล้วคุณอยากได้เงินเท่าไหร่ บางทีเราก็ถามเขาไปกวนๆ นะ พี่กล้าทำห้องเดียวใหญ่ๆ แล้วขายราคาเท่า 3 ห้องมั้ย ยิ่งห้องเยอะ ต้นทุนก็อีกเรื่องนึงนะ ทั้งค่าเตียง ค่าอุปกรณ์ปูที่นอน เขามักจะไม่เชื่อ ถามกลับเสมอว่าทำได้จริงเหรอ เราเลยอยากทำ mock-up ขึ้นมาให้ดู จำลองธุรกิจให้เขาดูด้วยว่ามันเป็นไปได้”

ชิโน-โปรตุกีส
ชิโน-โปรตุกีส

“จริงๆ ไอเดียของเราคือ 1 room คอนเซปต์แรกคือ 1 ชั้นมี 1 ห้อง แต่เผอิญเราได้ 2 ห้องเลยทำเป็น 2 rooms เราไม่ได้คาดหวังว่าจะมีคนมาพักทุกวัน เดือนนึงมี 10 – 20 วันก็เพียงพอแล้ว เราพยายามบอกเรื่องนี้กับลูกค้าทุกคนที่เข้ามา พาเขามาดูตัวอย่างที่นี่ ล่าสุดลูกค้าที่อยากได้ห้องเยอะก็เปลี่ยนใจแล้ว เอาห้องน้อยๆ ก็ได้ พอเห็นภาพก็นึกออกว่ามันน่าอยู่ เห็นความเป็นไปได้หลายทางในการทำที่พัก”

สถาปนิกหนุ่มสาวใส่ความเชื่อของตัวเองเต็มที่ลงในการออกแบบโรงแรมเล็กๆ เมื่อไม่มีโจทย์ลูกค้ามากำหนด สิ่งเดียวที่เป็นตัวตั้งในสมการออกแบบคือข้อจำกัดของอาคารเก่าเท่านั้น

ชิโน-โปรตุกีส
ชิโน-โปรตุกีส

เชื่ออย่างไหน ทำอย่างนั้น

อาคาร 2 คูหานี้เคยเป็นสำนักพิมพ์ผลิตแผ่นพับภาษาอังกฤษชื่อ Art and Culture ที่รวมรวมเรื่องงานศิลปะในภูเก็ตมานานนับ 10 ปี เมื่อเจ้าของที่เป็นชาวต่างชาติตัดสินใจย้ายออกจากตึก Dhamarchitects เข้ามาเซ้งตึกต่อกับบริษัทตันติโกวิทย์ และเปลี่ยนสำนักงานติดแอร์ทั้งหลังให้กลายเป็นอาคารโปร่งกึ่ง outdoor ตามสไตล์บ้านแบบบาบ๋าย่าหยาอีกครั้ง

เมื่อเดินผ่านหน้าบ้านที่เป็นร้านไอศครีม กลางบ้านสีเหลืองคือคอร์ตกว้าง หลังคาเปิดออกเห็นท้องฟ้า มีบ่อรับน้ำฝนตรงกลาง ด้านหลังมีบันไดขึ้นไปชั้นสองที่แยกออกเป็นห้องพัก 2 ปีก

ชิโน-โปรตุกีส

“การอยู่บนเกาะภูเก็ตทำให้วัสดุที่ใช้แพงขึ้นเพราะมีค่าขนส่ง แต่สิ่งที่ได้มาฟรีคือแดด ลม ฝน ที่นี่แดดจัด ลมแรง ฝนมาทีก็หนักเลย ของพวกนี้มันทำให้ฤดูกาลมันชัด เราไม่สามารถไม่คิดถึงมันได้ อีกอย่างคือตึกเก่าจะมีแพตเทิร์นของมัน เห็นบ่อน้ำก็รู้ว่าเคยเป็นคอร์ต พอเปิดโรงแรมก็ต้องเอาพวกนี้มาเล่น ฝนตกก็ให้เห็นไปเลยว่าตก มีที่ให้ลมระบายได้ แล้วสถาปัตยกรรมที่โอเคมันต้องเล่นกับแสงเงา เราต้องคิดว่าอาคารเราสวยที่สุดตอนกี่โมง อย่างที่นี่ตอนเช้าๆ จะสวยดี สบายหน่อยเพราะไม่ร้อน เน้นให้อยู่สบายแบบกว้างๆ โล่งๆ คือเราจะป้องกันแดดฝน 100% เลยก็ได้ ใครก็ทำได้ ปิดให้หมดเลย แต่เราอยากให้เข้า ให้โดนสักหน่อย เปียกบ้างก็ไม่เป็นไร”

“เราโตมาแบบฝนตกแล้วคว้าสบู่วิ่งออกไป แล้วพี่ชายคว้าแชมพูตามหลัง บางทีฝนหยุด ฟองยังไม่หมดก็มี แต่เดี๋ยวนี้คนกลัวฟ้ากลัวฝนกันหมด นานแค่ไหนแล้วที่เราไม่ได้ตากฝนแบบเบิกบานใจ เลยอยากออกแบบให้ความรู้สึกเก่าๆ มันกลับมา”

ชิโน-โปรตุกีส
ชิโน-โปรตุกีส

ผลของการออกแบบโดยใช้สัญชาติญาณและอ่านร่องรอยสถานที่ ทำให้อาคารหลังนี้กลับไปมีหน้าตาคล้ายคลึงกับสมัยก่อนโดยบังเอิญ ระหว่างที่ค้นข้อมูลเรื่องบ้านเก่า สถาปนิกหนุ่มได้เจอคนเก่าแก่ที่เฉลยให้เขาฟังว่าอาคารหลังนี้เคยเป็นร้านกาแฟมา 70 ปี มีเจ้าของกิจการคนเดียวไม่เคยเปลี่ยนมือ

“ตึกนี้ถือเป็นตึกที่ประหลาด ถ้าเป็นห้องแถวเขามักจะซอยเป็นห้องๆ แต่ตึกนี้ออกแบบมาตั้งแต่แรกให้มี 2 คูหา บ้านอยู่ข้างบน ข้างล่างเป็นร้าน เขาบอกว่าสมัยก่อนมันก็หน้าตาแบบนี้แหละ แค่บันไดเป็นบันไดทึบขึ้นข้างเดียว เราก็เชื่อว่ามันควรจะเป็นแบบนี้”

ชิโน-โปรตุกีส

ลงมือเปลี่ยนแปลง

ก่อน Dhamarchitects เข้ามาปรับปรุงพื้นที่ ชั้นบนของตึกเป็นห้องทำงานเจ้าของสำนักพิมพ์ ส่วนชั้นล่างเป็นที่ทำงานพนักงาน ปัญหาเดิมของตึกทึบเดินแอร์ทั้งระบบคือความมืดและความร้อนอับ บันไดพาดคร่อมปิดบ่อน้ำ สถาปนิกหนุ่มสาวจัดการรื้อพื้นชั้น 2 บันได และหลังคาบางส่วนออก แล้วทำบันไดใหม่เป็นแบบ outdoor ให้พื้นที่เปิดโล่งและบ่อน้ำได้กลับมาใช้งานอีกครั้งหนึ่ง

กำแพงด้านหลังบ้านเจาะรูเป็นวงกลมขนาดใหญ่ 2 วงซ้อนกันเพื่อให้ผนังมีความพรุน ไม่ทึบตัน ทัชอธิบายว่าเขาไม่สามารถรื้อกำแพงได้ตามชอบใจเพราะตึกเก่าใช้ผนังรับน้ำหนัก เลยต้องเลือกเจาะแค่บางส่วนให้แดดส่องและลมระบาย

“ที่เจาะผนังเป็นรูปนี้เพราะ 1 รูมก็คือ 1 เซลล์ มันเป็น 2 เซลล์ผสานกัน และเป็นโลโก้ของ 2 rooms ด้วย มองแล้วมันเหมือนตัวดับเบิ้ลโอของคำว่า room”

ชิโน-โปรตุกีส

เราเดินขึ้นบันไดขึ้นไปชั้นสองที่แบ่งเป็นปีกซ้ายขวา แต่ก่อนพื้นที่นี้ล้อมด้วยกระจกใสและมีบานเลื่อน สองสามีภรรยาไม่รื้อกระจกออกเพราะใช้กันเสียงได้ แต่ใช้วิธีปูไม้ล้อมกระจกอีก 1 ชั้นเพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้ห้องพัก ห้องนอนทั้งสองห้องขนาดไม่สมมาตรเพราะตัวตึกเอียงเล็กน้อย แต่ออกแบบให้คล้ายคลึงเหมือนห้องแฝด ด้านหน้าห้องนอนจะมีห้องน้ำบานเฟี้ยมกึ่ง outdoor ด้านหน้า ส่วนห้องนอนสีน้ำเงินขนาดใหญ่ ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้สีเข้มดูภูมิฐาน ให้ความรู้สึกอบอุ่นน่าอยู่เหมือนบ้าน

ชิโน-โปรตุกีส
ชิโน-โปรตุกีส

ตกแต่งภายใน

นอกจากเตียง ตู้เสื้อผ้า โซฟานั่งเล่น ห้องนอนของ 2rooms Boutique House ยังมีโต๊ะให้เขียนหนังสือและทานข้าว เพราะเจ้าของตั้งใจออกแบบให้แขกที่มาพักนั่งนอนเล่นได้ทั้งวันในห้องแบบ open plan และแทนที่จะซื้อภาพสีน้ำหรือสีน้ำมันมาตกแต่งห้อง พวกเขาก็ติดภาพสเกตช์โรงแรมต่างๆ ที่เคยออกแบบหรือรีโนเวตแทน

ชิโน-โปรตุกีส
ชิโน-โปรตุกีส

“ตัวตึกภายนอกมันช่วยเราได้เยอะ ข้างนอกเราไม่ได้ทำอะไรเลยเพราะมันต่อเนื่องกันทั้งซอยอยู่แล้ว แต่ข้างในเราต้องทำให้มันมีลูกเล่น ทำให้เป็นแบบจีนยุคแรกๆ ไม่ออกสไตล์โคโลเนียล และเครื่องเรือนจะผสมความเป็นจีนกับอย่างอื่นนิดหน่อย เอาเครื่องเรือนมือสองมาผสมปนๆ กัน อย่างโต๊ะเครื่องแป้ง ตู้ใส่ทีวีก็เอามาทำเป็นมินิบาร์ แต่ไม่มีทีวี เพราะเราเป็นคนไม่ดูทีวี และเชื่อว่าคนสมัยนี้ก็ไม่ค่อยดูทีวี เขาดูไอแพ็ดดูมือถือกัน เราว่าถ้าติดไปอย่างงั้นๆ อย่าติดเลยดีกว่า แต่ถ้าเป็นโรงแรมของลูกค้า เขาก็จะอยากให้มีสักหน่อย (หัวเราะ)”

ชาว Dhamarchitects อยากให้แขกอยู่กับตัวเอง อยู่กับความเรียบง่าย และใช้ชีวิตช้าลง พื้นที่หน้าเตียงจึงมีเครื่องเล่นแผ่นเสียงพร้อมแผ่นเสียงพร้อมสรรพแทนที่โทรทัศน์

ชิโน-โปรตุกีส
ชิโน-โปรตุกีส
ชิโน-โปรตุกีส

“เรา 40 แล้ว เราเบื่อที่เราลืมเพลงที่เราฟัง ลืมว่าตั้งค่ากล้องไว้ว่าอะไร เพราะของที่สะดวกมันคิดแทนเราหมด เลยเลือกของที่ดึงสติกลับมาหมดเลย กลับมาใช้อะไรช้าๆ แอนะล็อก ของสมัยที่เรายังเด็กกว่านี้ คิดมากกว่านี้ เวลาฟังเพลงก็ไม่ฟังเพลย์ลิสต์ที่ไหลไปเรื่อยๆ อย่างเครื่องเล่นแผ่นเสียง 5 เพลงก็ต้องลุกขึ้นไปเปลี่ยนแผ่นแล้ว แต่เราก็มีของที่เรารู้สึกว่าสำคัญนะ ไม่ได้ตั้งใจให้แขกต้องลำบาก เตรียมปลั๊กแบบนานาชาติ จานชามเผื่อซื้อของมากินในห้อง คือคิดเผื่อคนพักเลย ไม่ได้คิดว่าทำโรงแรมแล้วต้องทำแค่นั้นแค่นี้พอ”

พื้นที่รื่นรมย์

การพักผ่อนที่ 2rooms Boutique House ไม่มี welcome drink แต่จะมี welcome scoop จากร้านไอศครีมด้านหน้าให้กินวันละลูก ทัชเล่าให้ฟังว่าเขาตัดสินใจให้ร้าน Torry เช่าพื้นที่หน้าตึกทันทีที่ได้ชิมไอศครีม ปัจจุบันซอยรมณีย์จึงเป็นจุดแวะเยี่ยมที่มีชีวิตชีวา ผู้คนเดินเข้าออกเพื่อพักผ่อนหย่อนใจตลอดทั้งวัน

“ซอยรมณีย์ ชื่อนี้บอกแล้วว่ามันเกี่ยวกับธุรกิจโคมเขียวโคมแดงต่างๆ คนจะลงทุนบางคนเขาก็รู้สึกว่าที่มันไม่มงคล แต่เส้นนี้เป็นเส้นเดียวที่ตึกทุกหลังยังสมบูรณ์ใกล้เคียงแบบเดิมอยู่ เราน่าจะลองเปลี่ยนค่านิยมลบๆ จากรมณีย์แบบนั้นให้กลายเป็นรมณีย์อีกแบบนึง เป็นที่พักที่ดี และทำให้ย่านนี้ดีขึ้นได้”

สถาปนิกหนุ่มตบท้าย ฉันกวาดตามองถนนสายเล็กๆ เบื้องหน้าที่ดูอบอุ่นน่ารักแล้วเชื่อมั่นในสิ่งที่เขาพูด รมณีย์ในปัจจุบันกำลังมอบความรื่นรมย์แจ่มใสให้กับทุกคนที่ผ่านมาเยือน

ชิโน-โปรตุกีส

2 rooms Boutique House
  • สถาปนิก: ธรัช ศิวภักดิ์วัจนเลิศ, วทัญญู ศิวภักดิ์วัจนเลิศ
  • 16 ซอยรมณีย์ ถนนถลาง ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต ภูเก็ต
  • 076 354 335
  • 2rooms Boutique House
 

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล