วิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ทำให้การสร้างอาคารสูงที่สุดกลางเมืองขอนแก่นของโรงแรมโฆษะต้องหยุดชะงัก เช่นเดียวกับโครงการอสังหาริมทรัพย์มากมายในช่วงเวลานั้น โครงอาคารคอนกรีตขนาดใหญ่ซึ่งสร้างไม่เสร็จจึงถูกปล่อยทิ้งร้างเป็นอนุสาวรีย์ต้มยำกุ้งอยู่กลางเมืองมาร่วม 20 ปี
กระทั่ง คุณอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ บริษัท น้ำตาลมิตรผล ตัดสินใจซื้ออาคารหลังนี้ใน พ.ศ. 2560 เพื่อนำไปพัฒนาต่อ ท่ามกลางความสนใจของคนทั้งเมืองว่าเขาจะเปลี่ยนอาคารร้างหลังนี้ให้กลายเป็นอะไร
พ.ศ. 2565 ตึกร้างกลางเมืองความสูง 29 ชั้น เปิดตัวใหม่ในชื่อ ‘Khon Kaen Innovation Centre (KIC)’ เพื่อใช้เป็นบ้านของศูนย์นวัตกรรม โรงแรม Ad Lib Khon Kaen ห้องอาหาร Seasons 27 และ Food by Fire Grillhouse พร้อมจุดชมวิวสูงที่สุดกลางเมืองขอนแก่น รวมถึง Glowfish Co-working Space ร้านกาแฟ Kaen Ground และ Kaenkaew Live House
โครงการนี้ยังกินพื้นที่รวมถึงตึกคอม ห้างสรรพสินค้า 7 ชั้นที่อยู่ด้านข้าง ซึ่งกำลังจะปรับปรุงใหม่เร็ว ๆ นี้


Khon Kaen Innovation Centre อยากเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเมืองในหลายมิติ ด้วยวิธีคิดที่แตกต่าง รวมถึงการใช้อีสานซอฟต์พาวเวอร์ดึงคนทั่วโลกมาสู่เมืองขอนแก่น
โดยเฉพาะการใช้ดนตรี ซึ่งจังหวัดนี้มีจุดเด่นด้านหมอลำ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘เมืองหลวงแห่งหมอลำ’
อะไรทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาที่ดินเลือกใช้ซอฟต์พาวเวอร์มาเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเจาะตลาดสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ และดนตรีจะดึงคนกับเงินมาสู่ขอนแก่นในรูปแบบไหน คุณกวิน ว่องกุศลกิจ กรรมการ บริษัท ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด หัวเรือใหญ่ผู้อยู่เบื้องหลังแนวคิดนี้จะมาเล่าการเปลี่ยนผ่านของอาคารระดับตำนานที่หวังว่าจะกลายเป็นตำนานบทใหม่ของเมืองให้ฟัง

เริ่มต้นจากตึกร้าง
“จะบอกว่าผมไม่เห็นด้วยก็ได้ ผมไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมคุณพ่อถึงซื้อตึกนี้ มันไม่มีเหตุผลในทางธุรกิจเลย” คุณกวินเล่าถึงนาทีที่รู้ว่าคุณพ่อตัดสินใจซื้อตึกร้างกลางเมืองขอนแก่นมาในราคาหลักพันล้านบาท ซึ่งไม่มีใครมองเห็นว่าจะพัฒนายังไงให้คุ้มทุน
“ขอนแก่นมีประชากรแค่ 2 แสนคน โปรเจกต์นี้มีความเสี่ยงมาก ผมอาจยังไม่เห็นแนวคิดของเขาด้วยแหละว่าเขาคิดจะทำอะไร เห็นแต่ว่าเขาปล่อยทิ้งไว้แบบเดิม” คุณกวินเล่าต่อว่าในช่วงเวลานั้นเขามีส่วนช่วยในการก่อตั้ง Young Entrepreneur Chamber of Commerce (YEC) หรือ เครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของหอการค้าไทย จนเกิดเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งในทุกจังหวัดทั่วประเทศ
ในขณะที่งานหลักของเขาคือการสวมหมวกกรรมการผู้จัดการ บริษัท เฮอริเทจ เอสเตทส์ จำกัด ผู้สร้างโรงแรม Ad Lib, Glowfish Co-working Space และร้านอาหาร Kuppadeli ด้วยความที่มีประสบการณ์ด้านการพัฒนาพื้นที่ คุณพ่อจึงชวนเขามาลองออกไอเดียพัฒนาตึกร้างกลางเมืองขอนแก่นแห่งนี้
“ผมเติบโตมาในครอบครัวมิตรผล แต่ผมไม่ได้ทำงานที่มิตรผล เรียนจบก็มาทำบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของตัวเอง ซึ่งมีคุณพ่อเป็นผู้ถือหุ้น ผมเลยไม่ได้ทำงานนี้ในฐานะพนักงานของมิตรผล ผมต้องคิดงานมาเสนอแข่งกับบริษัทอื่น ๆ” คุณกวินเล่าถึงที่มาของจุดตั้งต้นแนวคิดในการบริหารตึกที่แตกต่าง ซึ่งเขาอธิบายต่อพร้อมเสียงหัวเราะว่า
“ถ้าผมบริหารตึกนี้ไม่ดี ผู้บริหารก็อาจจะเตะผมออกได้”

ตึกแห่งความร่วมมือ
“เมืองนี้มีพลัง มีโอกาสทำอะไรได้เยอะเลย” คุณกวินพูดถึงความพิเศษของจังหวัดของแก่นที่เขาประทับใจ
เมื่อนักธุรกิจหนุ่มวัย 41 ปีซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นหลัก ต้องไปพัฒนาพื้นที่ในจังหวัดที่เขาไม่คุ้นเคย เขาจึงเริ่มต้นจากการลงพื้นที่ไปพูดคุยกับผู้คนผ่านช่องทางของหอการค้าฯ ที่เขาใกล้ชิด นำไปสู่การคุยกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ขอนแก่น และ บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด (KKTT) ซึ่งเป็นกลุ่มนักธุรกิจที่ลุกขึ้นมาพัฒนาเมืองในรูปแบบองค์กรธุรกิจ ซึ่งประสบความสำเร็จจนกลายเป็นโมเดลที่หลายจังหวัดทั่วประเทศนำไปใช้
นั่นทำให้เขาได้พูดคุยกับ คุณสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช ทวี และ ผู้บริหาร บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง คุณกมลพงศ์ สงวนตระกูล ผู้บริหารโตโยต้าขอนแก่น และอดีตประธานหอการค้าจังหวัด และ คุณกังวาน เหล่าวิโรจนกุล รองประธานหอการค้าจังหวัด จนเขาเกิดความเชื่อมั่นบางอย่าง
“ผมเชื่อเรื่องการร่วมมือกัน เชื่อที่สุด เชื่อสุดขีดเลย” คุณกวินพูดด้วยแววตามั่นใจ
นอกจากภาคธุรกิจแล้ว คุณกวินยังได้พบกับ คุณธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น เพื่อขอความเห็นว่าจะเปลี่ยนตึกร้างนี้ด้วยแนวคิดอะไรดี เพราะเป็นตึกสูงที่สุดกลางเมืองเมื่อสร้างเสร็จแล้วย่อมกลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองโดยปริยาย
“ความร่วมมือกัน” คุณกวินเน้นเสียง “เจ๋งว่ะ ผมคิดว่าเขาจะตอบแบบ ตึกสวย อินทีเรียไฮโซ หรือมีสัญลักษณ์ความเป็นอีสาน เขาไม่ได้บอกให้ใช้การร่วมมือกันเป็นคอนเซปต์ทางการตลาด แต่เป็นคาแรกเตอร์ของขอนแก่นอยู่แล้ว เวลาจะทำงานใหญ่ ๆ คนในเมืองจะนัดเจอกัน คุยกัน ช่วยกันทำจนสำเร็จ บางทีก็โทรคุยกันคืนเดียวจบเลย มันเป็นจิตวิญญาณที่ดี เป็นความเป็นขอนแก่นที่น่ารักมาก”

ตึกแห่งความฝันที่อยู่กับความจริง
“ผมเป็นคนช่างฝัน แต่การจะทำฝันให้เป็นจริงได้ เราต้องอยู่กับความจริงด้วย” ชายหนุ่มผู้นิยามตัวเองว่าเป็นมนุษย์ผู้อยู่กับความเป็นไปได้จริงบอก
Khon Kaen Innovation Centre คืออาคารสูง 29 ชั้น รวมถึงพื้นที่ตึกคอมด้านข้างอีก 7 ชั้น และพื้นที่รอบ ๆ ด้วย ซึ่งยังปรับปรุงไม่เสร็จ โดยรวมที่นี่คือพื้นที่ของการทำงานร่วมกันที่อยากเห็นขอนแก่นพัฒนาไปข้างหน้าด้วยนวัตกรรมและสินทรัพย์ท้องถิ่นที่มี
เมื่อกดลิฟต์ขึ้นไปชั้น 27 เราจะได้พบกับล็อบบี้ของโรงแรม Ad Lib ที่แขกทุกคนต้องมาเช็กอินก่อนจะแยกย้ายไปตามห้องพัก สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของโรงแรมที่อยู่ระหว่างชั้น 15 – 28 โดยมีไฮไลต์คือจุดชมวิวบนสะพานกระจกที่ชั้น 28



Ad Lib พยายามนำความเป็นขอนแก่นและอีสานมาอยู่ในโรงแรมกลางตึกสูงได้อย่างลงตัว ทั้งการใช้วัสดุท้องถิ่นอย่างผ้าและงานจักสานมาตกแต่งห้องพักและทางเดิน เตียงที่วางอยู่บนแท่นให้เราได้นั่งห้อยขาเหมือนชานบ้าน และอีกหลายลูกเล่นที่ชวนให้แขกค้นหา
“เราไม่อยากให้โรงแรมอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่อยากให้เป็นส่วนหนึ่งในระบบที่ขับเคลื่อนเมือง รายละเอียดทุกอย่างจึงต้องมีความเป็นท้องถิ่น ใช้ผ้าของคนขอนแก่น งานศิลปะของศิลปินขอนแก่น พยายามให้ค่ากับความเป็นขอนแก่นที่สุด” คุณกวินพูดถึงเอกลักษณ์ของ Ad Lib สาขาขอนแก่น

ถัดมาเป็นเรื่องร้านอาหาร ธุรกิจที่เขาทั้งรักและถนัด ที่นี่มีร้านอาหาร 2 ร้าน อยู่ที่ชั้น 27 เช่นกัน
‘Seasons 27’ เป็นร้านอาหารอิตาเลียนที่เน้นการใช้วัตถุดิบซึ่งปลูกหรือผลิตภายในขอนแก่นและอีสานเป็นหลัก
อีกร้านมีแนวคิดน่าสนใจไม่แพ้กันคือ ‘Food by Fire Grillhouse’ ร้านเนื้อย่างที่ย่างเนื้อด้วยความเรียบง่ายแบบวิถีอีสาน โดยการใช้เนื้อวัวอีสานคุณภาพดีอย่าง Jasmine Wagyu ซึ่งเป็นวัวสายพันธุ์ใหม่ที่ผสมจากวัวญี่ปุ่นกับวัวพันธุ์ท้องถิ่น แล้วเลี้ยงด้วยรำข้าวหอมมะลิพันธุ์ดี จนได้เนื้อวัวที่มีลักษณะพิเศษ
“บางคนไม่รู้ด้วยว่าเนื้อวัวขอนแก่นดีกว่าและแพงกว่าเนื้อวัวจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย บางตัวด้วยซ้ำ เพราะเจ้าเนื้อวัวมะลิผลิตค่อนข้างน้อย เราจึงไม่ค่อยเห็นในตลาด อีสานเรามีของดีเยอะมาก ถ้าเราจัดการดี ๆ มันคือโอกาสในการดึงอุตสาหกรรมหนึ่งให้เติบโตได้เลย” คุณกวินเสนอแผนที่เขาคิดอยู่ในใจ
อีสานซอฟต์พาวเวอร์
“จังหวัดนี้มีประชากร 2 แสนคน แต่คนอีสานมี 20 ล้านคนกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศและแทรกซึมอยู่ทั่วโลก วัฒนธรรมอีสานจึงเชื่อมโยงกับผู้คนมากมาย เราอยากใช้อีสานซอฟต์พาวเวอร์เป็นแรงขับเคลื่อน เพื่อดึงผู้คนจากทั่วประเทศและทั่วโลกมาที่ขอนแก่น และ Khon Kaen Innovation Centre” คุณกวินพูดถึงกลยุทธ์ในการดึงคนเข้าสู่ตึกนี้ ซึ่งเขามองว่าแทนที่จะคิดเรื่องดึงคนเข้าตึก ควรคิดว่าทำยังไงถึงจะดึงคนเข้ามาภาคอีสานและขอนแก่นก่อนเป็นลำดับแรก
จากล็อบบี้ชั้น 27 เราเดินขึ้นบันไดต่อไปยังชั้น 28 ที่ตั้งของจุดชมวิว 360 องศา และ Kaenkaew Live House หอประชุมขนาด 250 ที่นั่งที่ตั้งใจออกแบบระบบเสียงมาเพื่อใช้จัดคอนเสิร์ตระดับโลก


“Kaenkaew Live House มีหน้าที่แสดงซอฟต์พาวเวอร์ของขอนแก่น ที่ไม่ได้มีแค่ดนตรี นอกจากคอนเสิร์ตแล้ว เราอยากใช้เป็นเวทีนำเสนอความเป็นอีสานด้วย” นักธุรกิจผู้เคยเรียนดนตรีอย่างจริงจังเล่าถึงแนวคิดไลฟ์เฮาส์แห่งนี้ ซึ่งใช้จัดคอนเสิร์ตไปแล้วหลายครั้งและพิสูจน์ความเชื่อหลายอย่างของเขา
คุณกวินเปิดเวทีโชว์ดนตรีอีสานแรกด้วยวง The Paradise Bangkok Molam International Band วงดนตรีอีสานร่วมสมัยที่ดังไกลไปทั่วโลก เป็นส่วนผสมที่ลงตัวของดนตรีอีสานแบบดั้งเดิมกับดนตรีสมัยใหม่ที่ทำเอาฝรั่งลุกขึ้นเต้นตามแบบสุดม่วนทุกเวที น่าสนใจว่า ถ้าจับหมอลำมาเล่นในไลฟ์เฮาส์ด้วยระบบเสียงชั้นยอด โปรดักชันชั้นเยี่ยม และราคาที่ขยับตัวสูงขึ้น ผู้ฟังจะรับได้ไหม
ผลคือบัตรขายหมดด้วยความรวดเร็ว
“คนอีสานมองโลกในแง่บวกมาก เพลงหมอลำก็เหมือนเพลง Blues คือสนุก แต่จริง ๆ เป็นเรื่องเศร้า คนอีสานเขาทำเรื่องเศร้าให้สนุกได้” นี่คือเสน่ห์ของหมอลำที่นักธุรกิจรักดนตรีคนนี้รู้สึก เขาร่ายชื่อศิลปินที่อยากเชิญมาจัดโชว์อีกหลายรายชื่อ โดยชื่อที่เขาเน้นเป็นพิเศษคือ รัสมี อีสานโซล
ประตูสู่อีสาน
“ผมคือนักธุรกิจที่ต้องทำตัวเลขให้ได้” คุณกวินย้อนพูดถึงบทบาทที่สำคัญสุดของตัวเอง เขาจำเป็นต้องดึงคนเข้าสู่ตึกให้ได้หลากหลายกลุ่มที่สุด หมอลำจึงเป็นแค่แผนหนึ่งเท่านั้น
แนวคิดพื้นฐานอย่างการให้เช่าพื้นที่จัดสัมมนา อีเวนต์ หรือรับกรุ๊ปทัวร์ เป็นสิ่งที่อยู่ในแผนอยู่แล้ว แต่เขามองว่าทำแบบนั้นเท่ากับไปดึงลูกค้ามาจากโรงแรมอื่น ไม่ได้สร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ เขาจึงพยายามดึงคนเข้าจังหวัดด้วยวิธีคิดใหม่ ๆ ทั้งการทำให้เป็นจังหวัดท่องเที่ยวมากขึ้น ด้วยการทำคู่มือท่องเที่ยวขอนแก่นฉบับพิเศษกับ CEA การผูกเส้นทางท่องเที่ยวกับจังหวัดอื่นในภาคอีสาน ไปจนถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว ซึ่ง คุณอิสระ และ คุณบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล เห็นด้วยและสนับสนุนแนวทางนี้
“เราต้องพยายามดึงคนใหม่ ๆ จากจังหวัดต่าง ๆ เข้ามาขอนแก่น รวมถึงคนจากลาวด้วย” คุณกวินเล่าต่อว่าเครื่องมือสำคัญที่เขาใช้ก็ยังเป็นดนตรี
“เราทำโชว์ที่หาชมที่ไหนไม่ได้ ต้องมาฟังที่นี่เท่านั้น อย่างคอนเสิร์ตของ นภ พรชำนิ กับ ฮิวโก้ จุลจักร ทั้งคู่ทำโชว์ใหม่ด้วยกัน ไม่เอาเพลงเดิม ๆ รูปแบบเดิม ๆ มาเล่น เขาร่วมกันทำโชว์ใหม่ที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน” คุณกวินพูดถึงโชว์ที่จัดไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม แบบที่ผู้ชมล้นฮอลล์ ต่อด้วยคอนเสิร์ตที่คิดอยากทำในอนาคต

“ผมอยากชวนศิลปินระดับโลกอย่าง John Mayer มาเล่นที่นี่”
ใครคุ้นเคยกับวงการคอนเสิร์ตคงทราบดีว่าการเชิญศิลปินจากต่างประเทศมาเล่นมีต้นทุนสูงมาก จึงจำเป็นต้องจัดในสถานที่ขนาดใหญ่ เพื่อขายตั๋วให้ได้จำนวนมาก แล้วอะไรทำให้เขาอยากจัดคอนเสิร์ตต้นทุนสูงในฮอลล์ขนาดเพียง 250 ที่นั่ง
“ถ้าจำนวนที่นั่งน้อย หมายความว่าตั๋วต้องแพง ถ้าจอห์น เมเยอร์ มา เราอยากขายตั๋วราคาหลักหมื่นบาท แต่ผู้ชมต้องได้ประสบการณ์ที่พิเศษกว่าคอนเสิร์ตทั่วไป ทุกคนต้องได้คุยกับจอห์น เมเยอร์ เขาสอนคุณเล่นกีตาร์ แล้ววันรุ่งขึ้นก็ชวนเขาไปสอนกีตาร์ที่มหาวิทยาลัยหรือที่โรงเรียนด้วย”

นั่นคือแผนที่คุณกวินใช้ดึงคนนอกเข้ามาในพื้นที่
“มันไม่ใช่แค่เรื่องดึงคนนอกเข้ามา” คุณกวินพูดถึงสิ่งที่ยากที่สุด “เราอยากให้เขาเห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมอีสาน แล้วนำกลับไปบอกต่อด้วย”
คุณกวินยังใช้เรื่องความร่วมมือเป็นแนวทางในการทำงาน ไม่ใช่แค่ชวนคนอื่นมาร่วมงาน แต่เขาพร้อมร่วมงานของคนอื่นด้วย
“ไม่ต้องมาจัดงานที่เรา เราก็ยินดีร่วม การพัฒนาเมืองมันต้องไปด้วยกันหมด ถ้ามีเทศกาลดนตรีในขอนแก่น จะจัดที่ไหน ห้องพักเราก็เต็ม เราก็เลยมองภาพกว้างว่าดึงคนเข้ามาขอนแก่น เข้ามาอีสานเถอะ เรายินดีร่วมมือกับทุกคน ความสำเร็จของธุรกิจไม่ได้วัดด้วยกำไรของตัวเองเพียงอย่างเดียว ถ้าภาพรวมดี เมืองดี ในที่สุดธุรกิจก็จะดีตามไปด้วย
“ตอนนี้ช่วยกันเอาคนเข้ามาเที่ยวก่อน พอมีคนเข้ามา เดี๋ยวก็มีการลงทุนตามมาเอง เพราะเห็นศักยภาพของเมือง เศรษฐกิจเมืองก็จะดีขึ้น Khon Kaen Innovation Centre เชื่อแบบนั้น และเรากำลังทำสิ่งนั้น” คุณกวินเล่าความฝันที่เขากำลังสร้างให้เกิดขึ้นจริง
