The Cloud เชื่อเรื่องการออกไปรู้จักวัตถุดิบถึงต้นทางว่าการได้สัมผัสประสบการณ์เหล่านี้ด้วยตัวเองจะทำให้เข้าใจสิ่งที่กินมากยิ่งขึ้น และเราก็เชื่อว่าประสบการณ์เล็ก ๆ จากการได้กินอาหารที่ดีจากวัตถุดิบตามธรรมชาติ ถูกต้องตามฤดูกาล จะมีผลไปถึงความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม อีกทั้งอาจได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมเรื่องการกินแบบคนในพื้นที่จากการออกเดินทางอีกด้วย 

เมื่อต้นเดือนเมษายน อากาศกำลังร้อนได้ที่ เราเลยพาผู้ร่วมทริป 20 ชีวิตออกเดินทางเข้าป่า ไปรู้จักกับผลไม้หน้าร้อนแห่งภาคเหนือของประเทศไทยกัน

The Cloud Journey : Foraging with Blackitch 01 – Wild Plum เป็นทริปแรกจาก 4 ทริปใน Foraging with Blackitch ซีรีส์การเดินทางที่จะพานักกินผู้สนใจอาหารและแหล่งที่มาของอาหาร ไปเป็นทีมของ Blackitch Artisan Kitchen หนึ่งในร้านอาหารที่บุกเบิกการเดินทางตามหาวัตถุดิบท้องถิ่นในไทยมาทำเป็นอาหารด้วยความคิดสร้างสรรค์และทำมาอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปี 

ทริปนี้เราไม่เพียงได้รู้จักแหล่งที่อยู่ของวัตถุดิบ แต่ยังได้รู้จักและใช้เวลาร่วมกับคนที่ดูแลมัน ได้เข้าใจการเลือกกินอาหารตามฤดูกาล และได้มาโอบกอดความหลากหลายของหน้าตาวัตถุดิบ และรูปแบบที่มันเป็นว่า ไม่ว่าอะไรก็กลายไปเป็นของที่มีคุณค่าและอร่อยได้ไม่ต่างกัน

อาหารจากบ๊วย

เราเปิดทริปกันด้วยการกิน!

เพราะทริปนี้เราอยากให้ชาวทริปเจอกับบ๊วยใกล้ตัวที่สุดก่อน เลยให้เริ่มจากการกินอาหารที่ทำจากบ๊วยที่ Blackitch Artisan Kitchen ในตัวเมืองเชียงใหม่ อ่านแล้วเหมือนเป็นมื้อที่จะต้องเปรี้ยวเข็ดฟัน แต่ที่จริงไม่เลย เชฟแบล็ก-ภานุภน บุลสุวรรณ ปรุง 9 เมนูที่ใช้บ๊วยได้หลากหลายวิธีมาก

ปกติอาหารของร้าน Blackitch จะเป็นแบบ Tasting Menu เสิร์ฟอาหารเรียงกันทีละจาน แต่เราขอให้เชฟแบล็กทำอาหารแบบสำรับกลางที่จะได้ให้สมาชิกใหม่ทุกคนล้อมวงทั้งทำความรู้จักบ๊วยและทำความรู้จักกันเอง

บ๊วยถูกใช้ในทุกเมนูตั้งแต่แบบสด แบบดอง เหล้าบ๊วยที่นำมาปรุงอาหาร แม้แต่ความหมายของคำว่าบ๊วยก็เอามาใช้

เมนูสำรับที่เชฟเสิร์ฟมีทั้งเมลอนกับแฮมยูนนาน ราดซอสบ๊วยป่าและน้ำผึ้งป่า ขนมปังหน้ากุ้งกับน้ำจิ้มเหล้าบ๊วย พล่ากุ้งที่ใช้ระกำกับบ๊วยดองมายำ เมนูคลาสสิกจากบ๊วยดองอย่างหมูสับต้มบ๊วยก็มี จานไฮไลต์อย่างหอยนางรมคลุกกับบ๊วยรมควัน กินกับปวยเล้งผัดกุ้งแห้ง ถูกใจชาวทริป พอ ๆ กับปลาเก๋าย่างราดด้วยยำสามชียำด้วยน้ำบ๊วย กินกับข้าวคลุกบ๊วยที่มาแค่กลิ่นหอมอ่อน ๆ ก่อนจะปิดท้ายด้วยไอศกรีมพริกเกลือและบ๊วยซอร์เบต์ จบด้วยขนมปังกับข้าวโพดคลุกเนยและไอศกรีมน้ำตาลมะพร้าวที่ไม่มีบ๊วยผสมเลย แต่มาเป็นจานบ๊วยสุด

มื้อนี้บ๊วยมาในทุกรูปแบบแม้แต่ในเครื่องดื่ม แต่ไม่รู้สึกว่ามีจานไหนที่ใช้ซ้ำกันเลย 

เชฟเล่าเรื่องในแต่ละจาน และเล่าถึงที่มาว่าเขาใช้บ๊วยจากหมู่บ้านห้วยอีค่าง อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นบ๊วยป่าที่ชาวบ้านเก็บด้วยมือ

ถ้าเป็นมื้อปกติ เรื่องเล่าบ๊วยคงจบแค่นี้

แต่ทริปนี้เราพาชาวคณะทุกคนขึ้นรถตู้ แล้วเดินทางต่อไปดูต้นจริงที่หมู่บ้านห้วยอีค่างกันเลย

ณ หมู่บ้านห้วยอีค่าง 

หลังจากผ่านความโหดของโค้งแบบหักศอก ทางชันแบบคอแทบตั้งบ่า ความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวตามจุดล่องแพ และหมอกควันที่คลุมท้องฟ้าขมุกขมัวจากเมืองเชียงใหม่มาได้ชั่วโมงกว่า เราก็มาถึงหมู่บ้านห้วยอีค่าง อำเภอแม่วาง ในสภาพค่อนข้างสะบักสะบอม แต่พอได้เห็นรอยยิ้ม การต้อนรับ และเสียงทักทายจากคนในหมู่บ้าน ความตื่นเต้นก็เข้ามาแทนที่ 

น้ำ-กัลยา เชอมื่อ ผู้ก่อตั้ง Seeds Journey กลุ่มนักสื่อสารอาหารชาติพันธุ์ ชาวอาข่า และเป็นผู้ร่วมทำเนื้อหาของทริปนี้ ต้อนรับพวกเราด้วยชาร้อน น้ำเสาวรส และชี้ชวนให้ดูหม้อเคี่ยวน้ำตาลอ้อยที่จะได้ลองดื่มกันในวันถัดไป เป็นการการันตีความอิ่มหนำระหว่างการมาเรียนรู้ที่นี่ 

ยะที-หน่อยะที ไศลทองเพริศ ตัวแทนหมู่บ้านและชาวปกาเกอะญอรุ่นใหม่ บัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง ที่เลือกกลับบ้านมาพัฒนาชุมชน เพื่อเติมเต็มความฝันและความสุขที่อยากแก้ปัญหาต่าง ๆ ของชุมชนโดยไม่ต้องลงเล่นการเมือง แนะนำว่า “อยู่ที่นี่ไม่ต้องใช้นาฬิกานะคะ ขอให้ทุกคนสบาย ๆ” 

และก็เป็นอย่างยะทีว่า เพราะระหว่างอยู่ในหมู่บ้าน กิจกรรมลื่นไหลไปตามจังหวะและความพร้อมของผู้ร่วมทริป แดด ฝน ร้อน หนาว หมุนเวียน เราก็เคลื่อนชีวิตกันไปตามนั้น

ยะทีเล่าถึงหมู่บ้านห้วยอีค่างว่าเป็นหมู่บ้านที่มีกลุ่มสตรีเข้มแข็ง มีผู้นำเป็น ‘แม่หลวง’ ที่ไม่ส่งสาวในหมู่บ้านคนใดเข้าประกวดนางสงกรานต์ เพราะไม่เชื่อว่ามีใครสวยกว่าใคร 

วันที่พวกเราไปถึงมีตลาดในหมู่บ้าน แบบที่เรียกว่า ตลาดนัด เพราะชาวบ้าน ‘นัด’ กันมาเปิดวันนี้ที่มีผู้มาเยือนซึ่งเป็นวันอาทิตย์ แทนที่จะมีตลาดแค่วันเสาร์อย่างปกติ ชาวบ้านนำอาหารคาวหวานและผลไม้ออกมาขาย ผู้ร่วมทริปเริ่มทำความรู้จักกับอาหารจากท้องถิ่นกันแบบไม่รอช้า กะละแมมะพร้าวที่ทำห่อใบตองมาร้อน ๆ มีถั่วปนด้วยนิดหน่อย เคี้ยวแล้วกรุบกรับ สตรอว์เบอร์รีที่แม้จะลูกไม่ใหญ่แต่หวานฉ่ำ กินแล้วหยุดไม่ได้ ข้าวโพดคลุกเม็ดอวบ ๆ น้ำมะพร้าวแช่เย็น ๆ ล้วนใช้เป็นเครื่องมือให้พวกเราได้คุยกับชาวบ้าน และเริ่มเปิดบทสนทนาระหว่างกัน 

ก่อนออกเดินทางเราได้รับข้อมูลมาว่าที่หมู่บ้านนี้มีไฟและอินเทอร์เน็ตแรง แต่ช่วงเย็นวันแรกหลังกินข้าวเย็นเสร็จ ไฟก็ดับทั้งหมู่บ้าน และมีคนตะโกนว่า ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์เหมือนกัน

หลังจากผู้ร่วมทริปมองหน้ากันตาปริบ ๆ โดยมีฉากหลังเป็นพระอาทิตย์ที่กำลังตอกบัตรเลิกงาน หย่อนตัวลงช้า ๆ ไปหลบหลังทิวเขา ยะทีก็มาบอกว่า มีไฟไหม้ป่าละแวกใกล้ ๆ การไฟฟ้าเลยต้องหยุดจ่ายกระแสไฟ ป้องกันไว้ก่อนไฟจะลาม และเครือข่ายโทรศัพท์ก็คงคิดเหมือนกัน 

คืนนั้นพวกเราเลยต้องล้อมวงกันรอบแสงเทียนที่จุดขึ้นเป็นหย่อม ๆ แม้แสงจะสลัว แต่บทสนทนากับเชฟแบล็กผู้คลุกคลีกับคนต้นน้ำ ทั้งในฐานะผู้รับซื้อวัตถุดิบและนำรายได้จากการขายสินค้านั้นกลับมาสนับสนุนชุมชนให้ผลิตวัตถุดิบดี ๆ ต่อไป ก็ได้ตอบข้อสงสัยหลายข้อที่คนเมืองช่วยกันตั้งคำถาม เกี่ยวกับไฟป่า อาหารปลอดภัย และส่วนร่วมของผู้บริโภคที่จะสนับสนุนอาหารที่ดี ก่อนจะแยกย้ายกันเข้านอน แบบที่ไฟฟ้าก็ยังไม่มาสักที

เข้าป่าหาบ๊วยหน้าตาไม่คุ้น

เราชวนกันเริ่มกิจกรรมแต่เช้า เพราะกลัวว่าช่วงเที่ยงจะร้อนเกินไป

ว่าแล้วก็กระโดดขึ้นหลังรถกระบะ มุ่งหน้าสู่ป่าชุมชนที่เราจะต้องเดินไปอีกประมาณ 600 เมตร ทักทายวัวและน้องหมาเจ้าถิ่น แวะทำความรู้จักต้นสาลี่และฮ่อวอ (สมุนไพรปกาเกอะญอที่กลิ่นหอมคล้ายสะระแหน่) แล้วก็เดินขึ้นเนินได้ Cardio ประมาณ Zone 2 ก่อนจะได้เจอต้นบ๊วยยืนเรียงรายกันอยู่ 

มันไม่ใช่พืชท้องถิ่น แต่นำมาปลูกไว้เกือบ 100 ปีแล้ว 

“ตอนนั้นมีการส่งเสริมให้ปลูกพืชเมืองหนาวหลายอย่าง แต่ไม่มีการให้ความรู้เรื่องการแปรรูป ชาวบ้านก็ไม่รู้ว่าปลูกแล้วจะเอาไปทำอะไรได้ บางส่วนเลยโค่นทิ้ง ที่ไม่โค่นทิ้งก็ไม่ได้รับการดูแลทั้งตัวต้นและคุณภาพผลผลิต” ยะทีเล่า 

“หลังจากมีกระแสทำเหล้าบ๊วยแบบญี่ปุ่นเข้ามา ราคาก็ดีขึ้น มีคนเมืองสั่งเข้ามา แต่ก็ติดว่ายังชอบเฉพาะลูกเขียว ๆ ติดภาพมาจากบ๊วยญี่ปุ่น แต่ชาวบ้านรู้ดีว่าลูกที่เริ่มเหลืองแล้วต่างหากที่หอมกว่า ฝาดน้อยกว่า ติดแค่ว่าส่งไปกรุงเทพฯ ไม่ได้ แค่ลงจากดอยก็พร้อมจะเน่าแล้วเพราะอุณหภูมิสูงเกินไป” น้ำเสริม 

และนี่ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่เราอยากพาทุกคนมาเข้าป่าเก็บบ๊วยกันช่วงปลายฤดู ในยุคสมัยที่สภาวะโลกรวนกลายเป็นปัญหาที่ใคร ๆ ก็สัมผัสได้ 

บ๊วยเป็นสินค้าเกษตรที่มีผลผลิตแค่ปีละครั้ง เป็นโอกาสเดียวในรอบปีที่ทั้งสายพานการผลิตไม่ว่าจะเป็นคนรับจ้างเก็บ คนแปรรูป คนส่ง คนขาย จะได้รายได้จากบ๊วย และอย่างที่เล่าว่าบ๊วยไม่ใช่พืชท้องถิ่น ความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศก็เลยน้อย 4 – 5 ปีมานี้อากาศเปลี่ยนแปลงอย่างวิกฤตมาก การคาดการณ์ผลผลิตจึงเพี้ยนไปหมด มีช่วงเวลาเก็บบ๊วยเขียวน้อยลง สุกเร็ว ร่วงเร็ว ไม่ได้มีลักษณะพิมพ์นิยมอย่างที่จะได้ราคา

บ๊วยที่เราช่วยกันเลือกเก็บจากพื้นวันนี้เป็นสีเหลือง หน้าตาบิดเบี้ยว แต่กลิ่นหอมฟุ้งน่ากิน น้ำบอกว่า “ไม่สวย แต่คอนเฟิร์มว่าอร่อยและปลอดภัย” 

เราใช้เวลากันสบาย ๆ ใต้ต้นบ๊วย เก็บจากต้นบ้าง จากพื้นบ้าง เลือกเฉพาะลูกที่พร้อม คือเริ่มมีสีเหลืองอมเขียวแล้ว จนได้บ๊วยมาค่อนตะกร้า บางคนก็นอนหย่อนใจบนพื้น ชวนกันล้อมวงคุยกับเชฟ ไม่ก็ดูเจ้า เจดีย์ หนุ่มน้อยลูกคนโตของยะทีแสดงการปีนต้นบ๊วยอย่างคล่องแคล่ว พร้อมสร้างความหวาดเสียวให้ป้า ๆ น้า ๆ ด้านล่างเป็นระยะ ๆ

เวลาผ่านไปเท่าไหร่ไม่รู้เพราะไม่ได้ใส่นาฬิกา ยะทีก็มาชวนให้กลับขึ้นรถไปเที่ยวที่ป่าสะดือกัน

ป่าสะดือและกลยุทธ์ให้ชุมชนดูแลกันและกัน

ทางเข้าป่านี้มีประตูรั้ว ดูแปลกสำหรับความเป็นป่า

ยะทีอธิบายว่า ป่านี้เกิดจากการที่ชาวบ้านบริจาคพื้นที่ของตัวเองให้เป็นป่าชุมชน โดยเปิดให้คนเข้ามาศึกษาและเก็บพืชผักไปกินไปใช้ได้ 

ในระหว่างที่เชฟแบล็กชี้ชวนให้ดูพืชผักตรงนั้นตรงนี้ สำหรับเรา สารภาพว่ามันดูเหมือนกันหมด สมาชิกในทริปหลายคนต้องคอยถามกันว่าอันนี้ต้นอะไร แบบนี้กินได้ไหม เก็บได้หรือยัง ทำให้เราถามตัวเองว่า เวลาเลือกซื้อผักตามซูเปอร์มาร์เก็ต เราเลือกที่ผักหรือเลือกที่ป้ายกันแน่ 

ตั้งแต่ที่สวนบ๊วยจนถึงป่าสะดือ เจดีย์ หนุ่มน้อย ทั้งวิ่งทั้งปีนป่ายแสดงความคุ้นเคยและแข็งแรงสมเป็นเด็กที่ได้ใช้ชีวิตกับธรรมชาติ ยะธีในโหมดคุณแม่เล่าให้พวกเราฟังว่า ที่นี่มีความเชื่อเรื่องพิธีกรรมที่ทำกันเพื่ออวยพรให้เด็ก ๆ เติบโตอย่างปลอดภัยและแข็งแรง ด้วยการนำรกมาผูกไว้กับต้นไม้ใหญ่

“เจดีย์เขาคลอดที่โรงพยาบาล แล้วก็เอารกมาผูกไว้ตรงต้นไม้ของสวนใกล้บ้าน เมื่อก่อนโรงพยาบาลในเมืองไม่เข้าใจว่าทำไมพวกเราต้องขอให้เก็บรกเด็กกลับมา แต่แม่หลวงก็ไปทำความเข้าใจ จนเดี๋ยวนี้พยาบาลมาถามเองแล้วว่าจะเก็บรกกลับไปด้วยไหม” ยะทีเล่าให้เห็นภาพความเชื่อที่ยังคงเหนียวแน่นแต่ก็ไม่ปฏิเสธการสาธารณะสุขยุคใหม่

รกนี้จะใส่กระบอกไม้ไผ่แล้วให้ผู้เป็นพ่อมาผูกไว้ที่ต้นไม้ ผ้าที่ใช้ผูกเป็นผ้าสีดำจากเสื้อแม่หรือยาย ยะทีบอกว่ายิ่งเก่ายิ่งดี ถือว่าเป็นผ้าที่โอบกอดป้องกันสิ่งชั่วร้าย และ 3 วันหลังจากนั้นก็จะทำพิธีให้พ่อเด็กใช้มือซ้ายปามีดเพื่อตัดเชือก พ่อมีโอกาส 3 ครั้ง โดยมีปู่ ย่า ตา ยาย มาร่วมพิธี และต้นไม้ต้นนั้นก็จะเป็นต้นไม้ประจำตัวของเด็กคนนั้น ครอบครัวและเด็กคนนั้นก็จะเติบโตมากับต้นไม้ของเขา ทั้งชุมชนจึงเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ที่ทุกคนผูกพันเหมือนลูกหลาน

ในทริปนี้พวกเราก็ได้เล่นกับเด็ก ๆ และทำความรู้จักกับน้อง ๆ ที่เริ่มจะเป็นวัยรุ่นหลายคน ไม่ว่าจะเป็น ต้นต้น ไอติม ต้าเหนิง และ หอม บางคนเรียนหนังสือในชุมชน บ้างก็ไปเรียนในตัวเมืองเชียงใหม่ แต่ไม่ว่าจะได้รับการศึกษาจากสถาบันไหน เราว่าเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญที่พาโลกข้างนอกเข้ามาหาเด็ก ๆ เทคโนโลยีและโลกภายนอกไม่ใช่ตัวร้าย เรายืนยันและเชื่อว่าเป็นเรื่องดีที่เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตเหมือนกับเด็ก ๆ จากทั่วโลก ความเป็นเจเนอเรชันใหม่ ความเป็นประชากรของโลก กับความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรมของชนเผ่าและชุมชนจะอยู่ร่วมกันต่อไปอย่างไร คงต้องเป็นเรื่องที่เด็ก ๆ ต้องออกแบบร่วมกันในวันหน้า

นำบ๊วยฉ่ำ ๆ ลงโหล โบกน้ำตาล

เราหอบข้าวหอบของกลับมาที่บ้านยะทีกันช่วงหลังเที่ยงนิดหน่อย ทีมงานของน้ำก็ล้างโหลแก้วเตรียมไว้ให้ทำเวิร์กช็อปไซรัปบ๊วยเรียบร้อยแล้ว

“บ๊วยเป็นผลไม้ที่นำไปแปรรูปเองได้ง่ายและสนุก รสชาติของมันมีความเปรี้ยวเค็มอยู่แล้ว แค่เติมความหวานก็จะกลายเป็นเครื่องดื่มที่เพิ่มความสดชื่นได้” น้ำเริ่มเล่า

เชฟแบล็กอธิบายการทำไซรัปจากบ๊วยสุก ๆ ที่เราเก็บกันมาว่ามีส่วนประกอบเรียบง่ายเพียงแค่บ๊วยกับน้ำตาล ถ้าทิ้งไซรัปนี้ไว้จะกลายเป็นไวน์และน้ำส้มสายชูได้ แต่ถ้าหยิบใช้ได้ถูกจังหวะ ก็เอามาดองกับเหล้าดีกรีแรง ๆ ให้กลายเป็นเหล้าบ๊วยก็ได้เหมือนกัน แถมยังอร่อยได้เร็วกว่าดองจากบ๊วยเป็นลูก ๆ ด้วย

“ข้อดีของบ๊วยที่ไม่เขียวมาก คือไม่ต้องเจาะผิวและไม่ต้องแช่น้ำนาน ๆ เพราะไม่ฝาด เนื้อก็ไม่แข็งแล้ว” เชฟชี้ให้เห็นความดีของบ๊วยเหลืองที่มักถูกมองข้าม

“ผมทำเหล้าบ๊วยมา 10 ปี ลองมาหมดแล้วว่าแบบไหนดีหรือไม่ดี” เชฟแบล็กเสริมความมั่นใจให้ทุกคน “บ๊วยเหลืองที่ไม่ช้ำคือดีที่สุด เราเลยต้องค่อย ๆ เก็บทีละเม็ดจากพื้นหรือจากต้น”

วิธีการทำไซรัปบ๊วยเป็นการยืดอายุวัตถุดิบ ทำให้ไม่ต้องทิ้งผลผลิตที่เก็บไม่ทัน “บางคนได้บ๊วยมาแล้วไม่ว่างทำทันที นำไปแช่ช่องแข็งก่อนเอาออกมาดอง จริง ๆ ก็ทำได้ แต่บ๊วยจะเสียรสชาติ เลยอยากแนะนำให้ทำเป็นไซรัปไว้ดีกว่า เก็บได้ 2 – 3 ปี เลย ถ้าไม่ดองเหล้าก็เอามาใส่โซดา เปรี้ยว ๆ หวาน ๆ อร่อยสดชื่นมาก” เชฟแบล็กแนะนำ 

และเชฟยังแจกเคล็ดลับที่จะทำให้ได้ไซรัปบ๊วย หัวเชื้อที่นำไปต่อยอดเป็นอะไร ๆ ได้อีกมาก อีกทั้งมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ โดยให้ลองแช่กับน้ำตาลประเภทต่าง ๆ เช่น น้ำตาลทรายแดง (ในทริปนี้เราใช้น้ำตาลทรายแดงเป็นหลัก ไม่ใช่น้ำตาลกรวด เพราะละลายง่ายกว่าและหอมกว่า เพียงแต่สีจะเข้มหน่อย) น้ำตาลอ้อยหรือน้ำผึ้ง ซึ่งให้รสชาติต่างกัน จะใช้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือผสมกันก็ได้ 

วิธีการคือนำบ๊วยใส่โหล เติมน้ำตาลอัตราส่วน 1 : 1 เขย่า ๆๆๆ วางทิ้งไว้ 2 – 3 วันก็จะค่อย ๆละลายกลายเป็นไซรัปแล้ว หรือถ้ารีบก็เทลงหม้อเคี่ยวเป็นแยมได้

ทริปนี้เราให้สมาชิกย้อมผ้าห่อโหลของตัวเอง เป็นการย้อมสีจากธรรมชาติแบบย้อมเย็น แต่ละคนจึงได้ผ้าสีสันที่ทำให้คิดถึงป่าหน้าร้อนในแบบของตัวเองด้วย

ปิดฝาโหล ดองความทรงจำ ไว้กลับมาพบกันใหม่

การทำของหมักดองมีส่วนประกอบหลัก คือเวลา

ทีมงาน The Cloud จึงเตรียมโหลใบยักษ์ให้ทุกคนช่วยกันลำเลียงบ๊วย หยอดน้ำตาลอ้อย ก่อนปิดฝาแล้วร่วมกันจารึกข้อความสั้น ๆ บนขวดโหล ฝากไว้ที่หมู่บ้านห้วยอีค่าง นัดกันหลวม ๆ ว่าจะมาล้อมวงเปิดโหลจิบผลผลิตจากกาลเวลากันในอีก 1 ปีข้างหน้า 

ผู้ร่วมทริปหลายคนได้เพื่อนใหม่ ได้แรงบันดาลใจใหม่ ๆ รวมทั้งได้เห็นแง่งามของชีวิตที่ต่างไปจากวิถีปกติ ได้เห็นพลังงานระหว่างคนกับป่าที่เกื้อกูลกัน และเราหวังว่าการเดินทางครั้งนี้จะเป็นความทรงจำที่เปรี้ยว หวาน และสดชื่น สำหรับทุกคน 

Writers

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น

Avatar

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2

Photographer

Avatar

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2