71 ปี คือระยะเวลาที่ประเทศไทยและกัมพูชาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้านเรือนเคียงเป็นที่จับตาและถูกพูดถึงอยู่เสมอ แต่มีความร่วมมือมิติหนึ่งที่อาจไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึงและรับรู้เท่าที่ควร นั่นคือ การพัฒนาระบบสาธารณสุขชายแดน ที่ทั้งสองฝ่ายร่วมมือและช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาตลอด

นอกจากจะรักษาชีวิตประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพในวงกว้างแล้ว การจับมือเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาแบบนี้ยังช่วยส่งเสริมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เมื่อผู้คนเจ็บป่วยในฝั่งใดฝั่งหนึ่ง พวกเขาไม่จำเป็นต้องเดินทางข้ามชายแดนที่ยาวต่อเนื่องกันประมาณ 800 กิโลเมตรมาหาสถานที่รักษาให้ลำบาก เพราะโรงพยาบาลในพื้นที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะช่วยบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บ ลดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ และบรรเทาความเหน็ดเหนื่อยของบุคลากรสาธารณสุข

หนึ่งในนั้นคือพยาบาลวัย 27 ปีอย่าง ทาวี-เชง ทาวี รองหัวหน้าแผนกป้องกันโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา ที่ต้องวางแผนรับมือ ป้องกันโรคติดต่อต่างๆ รวมทั้งความท้าทายใหม่ที่หนักหน่วงอย่างโควิด-19 ด้วย

เชง ทาวี พยาบาลชาวกัมพูชารุ่นใหม่ ผู้พัฒนาสาธารณสุขชายแดนให้พร้อมรับมือโรคติดต่อ

เธอใฝ่ฝันอยากเป็นพยาบาลตั้งแต่ยังเด็ก หลังจากบรรจุเป็นข้าราชการ เธอเลือกมาทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลที่ห่างไกลจากบ้าน เพราะเล็งเห็นว่าขาดแคลนบุคลากรที่ช่วยรักษาประชาชน ก่อนจะย้ายไปทำงานที่สำนักงานสาธารณสุขของจังหวัดด้วยเหตุผลเดียวกัน

“เราฝันอยากทำงานสายสุขภาพมานาน อยากส่งเสริมให้คนทั่วไปมีชีวิตและสุขภาพที่ดีขึ้น” ทาวีในชุดกาวน์เล่าความตั้งใจให้เราฟังด้วยภาษาเขมร

บันเตียเมียนเจยเป็นหนึ่งในจังหวัดที่อยู่ติดจังหวัดสระแก้วของไทย เมื่อกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศของไทย ดำเนินโครงการสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมสำหรับโรคติดต่อและโรคอุบัติใหม่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา-เมียนมา-สปป.ลาว ที่เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อ 7 ปีก่อน เพื่อทำงานเชิงรุกเตรียมพร้อมรับมือโรคภัยที่อาจเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านและ 39 จังหวัดในไทยที่อยู่ติดเขตชายแดน หน้าที่ของทาวีจึงครอบคลุมถึงความร่วมมือส่วนนี้ ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2562 และเป็นหนึ่งในบุคลากรคนสำคัญที่ช่วยให้การปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขชายแดนเป็นไปด้วยความราบรื่น เท่าที่จะเป็นไปได้ในสถานการณ์เช่นนี้

ไม่ง่ายเลย แต่เธอมุ่งมั่นบนเส้นทางที่เลือกเดินอย่างไม่ย่อท้อ

เราขอชวนเพื่อนพี่น้องชาวไทยข้ามฝั่งมารู้จักชีวิตพยาบาลและเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขชาวกัมพูชาคนนี้ไปด้วยกัน พร้อมสำรวจเบื้องหลังของความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ที่ทำให้ชายแดนไม่ใช่พื้นที่ของความขัดแย้ง

แต่เป็นพื้นที่แห่งมิตรภาพ งอกงามขึ้นจากเมล็ดพันธุ์ที่หว่านและดูแลรักษาด้วยความใส่ใจเสมอมา

เชง ทาวี พยาบาลชาวกัมพูชารุ่นใหม่ ผู้พัฒนาสาธารณสุขชายแดนให้พร้อมรับมือโรคติดต่อ

พยาบาลเพื่อประเทศ

ความใฝ่ฝันของทาวีเริ่มต้นขึ้นเมื่อเธอออกเดินทางจากจังหวัดตาแกว บ้านเกิดของเธอ เข้ามาเรียนพยาบาลที่มหาวิทยาลัยในกรุงพนมเปญ ก่อนทำงานในโรงพยาบาลระยะหนึ่ง เมื่อรัฐบาลเปิดให้ประชาชนสมัครสอบเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการ เธอตัดสินใจสมัครและได้รับคัดเลือกในการแข่งขันกับผู้คนนับหมื่น

ทาวีเลือกได้ว่าจะทำงานในเมืองใหญ่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่า แต่เธอเลือกทำงานที่บันเตียเมียนเจย จังหวัดที่อยู่บริเวณชายแดน ห่างไกลออกไปจากสถานที่ที่เธอคุ้นเคย 

“เราอาจแบ่งระบบสาธารณสุขในกัมพูชาได้ง่ายๆ เป็นสองส่วนคือ ภาคส่วนที่ดูแลโดยเอกชนกับภาครัฐ เรามองเห็นว่าภาคเอกชนค่อนข้างมีทรัพยากรบุคคลที่ดีพอสมควรแล้ว อยากเข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐบาลเพื่อยกระดับคุณภาพงานสาธารณสุขให้ดีขึ้นไม่แพ้กัน

“ส่วนที่เลือกมาบันเตียเมียนเจยก็เป็นเพราะเหตุผลเดียวกัน กรุงพนมเปญน่าจะพอมีทรัพยากรและบุคลากรที่มีศักยภาพอยู่แล้ว เราคิดว่าต้องพัฒนาต่างจังหวัดให้มีความเท่าเทียมเหมือนกัน” ทาวีเล่า พร้อมเสริมว่าเมื่อทำงานอยู่ที่นี่แล้ว เธอค้นพบว่าความสวยงามของบันเตียเมียนเจยค่อนข้างแตกต่างจากเมืองอื่นๆ เพราะอยู่ใกล้ชิดกับความเป็นธรรมชาติ ในขณะที่เมืองอื่นจะเด่นเรื่องวัฒนธรรม

เมื่อ พ.ศ. 2539 รัฐบาลกัมพูชาปฏิรูประบบสาธารณสุขครั้งใหญ่ และจัดตั้งกระทรวงสาธารณสุข (MOH) เมื่อเทียบกับในอีกหลายประเทศแล้ว อาจถือว่ายังเป็นเวลาที่ไม่นานเท่า ทำให้ยังคงมีข้อจำกัดด้านอุปกรณ์ ความรู้ และบุคลากรผู้ปฏิบัติหน้าที่ที่ขาดแคลน ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนการพัฒนาต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุน

ทาวีเห็นปัญหาเหล่านี้ที่เกิดขึ้น เธอจึงเลือกรับบทบาทนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา และหาทางเชื่อมต่อกับภาคส่วนการพัฒนาต่างๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนาขึ้นจริง

เชง ทาวี พยาบาลชาวกัมพูชารุ่นใหม่ ผู้พัฒนาสาธารณสุขชายแดนให้พร้อมรับมือโรคติดต่อ

สาธารณสุขชายแดนกัมพูชา-ไทย

หนึ่งในภาคส่วนการพัฒนาที่เข้ามาร่วมพัฒนาระบบสาธารณสุขของกัมพูชาตามภาพฝันของทาวีคือ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศของไทย ซึ่งดำเนินโครงการร่วมกับรัฐบาลกัมพูชาในสาขาการพัฒนาที่สำคัญอย่างการศึกษา การเกษตร และสาธารณสุข (ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข) มาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว โดยถือเป็นการทูตเพื่อการพัฒนาที่เชื่อมสัมพันธ์ทั้งสองประเทศให้เข้มแข็งและต่างได้รับประโยชน์ร่วมกัน

ในด้านสาธารณสุข การดำเนินงานมุ่งเน้นไปที่ระบบสาธารณสุขชายแดน ซึ่งเป็นบริเวณที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนทั้งสองประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ชายแดนหลายจุด เนื่องจากกัมพูชามีพรมแดนทางบกร่วมกับ 7 จังหวัดของไทย ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ สระแก้ว จันทบุรี และตราด จึงต้องมีการวางแผนเลือกพื้นที่ให้เหมาะสม โดยมี 4 แผนงานย่อยที่ทำงานร่วมกันในห้วงระยะ 3 ปีของแผนงานสาธารณสุข ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2559 – 2561) ที่ผ่านมา

แผนงานแรก การสอบสวน ป้องกัน และเฝ้าระวังโรคติดต่อตามพื้นที่ชายแดน เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย วัณโรค

“ก่อนหน้านี้ ทางไทยเคยมีการส่งมอบวัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ให้ทางโรงพยาบาลปอยเปตและ Health Center Poipet ในบันเตียเมียนเจย ทำให้เรารักษาผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น”

คุยกับเชง ทาวี พยาบาลชาวกัมพูชาที่ร่วมมือกับไทย ดูแลจังหวัดบันเตียเมียนเจยให้พร้อมรับมือโรคติดต่อและโควิด-19

แผนงานที่ 2 การพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 

เช่น เปิดโอกาสให้บุคลากรจากโรงพยาบาลปอยเปตและโรงพยาบาลมงคลบุรีในบันเตียเมียนเจย เดินทางมาฝึกงานที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้วและโรงพยาบาลอรัญประเทศ มีการสร้างเครือข่ายผ่านทางแอปพลิเคชันออนไลน์ไว้ติดต่อสื่อสาร แจ้งข่าวหากัน หรือกระทั่งปรึกษาการผ่าตัดผ่านทางออนไลน์ก็เคยทำมาแล้ว

แผนงานที่ 3 การพัฒนาระบบส่งต่อระหว่างโรงพยาบาล (Referral Development System) ทั้งภายในและระหว่างประเทศ ช่วยเหลือทั้งด้านอุปกรณ์ รถพยาบาล และการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาล

และแผนงานที่ 4 การพัฒนาความร่วมมือโรงพยาบาลพี่-น้อง จับคู่โรงพยาบาลคู่มิตรฝั่งไทยที่จะคอยสนับสนุนโรงพยาบาลในกัมพูชา นอกเหนือจากคู่โรงพยาบาลในสระแก้วและบันเตียเมียนเจยที่กล่าวถึงในแผนงานที่ 2 แล้ว ยังมีโรงพยาบาลปราสาท จังหวัดสุรินทร์ คู่กับโรงพยาบาลจังหวัดอุดรมีชัย โรงพยาบาลคลองใหญ่ จังหวัดตราด คู่กับโรงพยาบาลจังหวัดเกาะกง และโรงพยาบาลในจังหวัดอุบลราชธานี คู่กับโรงพยาบาลในจังหวัดพระวิหาร จังหวัดเหล่านี้ล้วนเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีคนไทย กัมพูชา และชาวต่างชาติ ไปมาหาสู่ ทำงาน ขนส่งสินค้าและลงทุนอยู่เป็นกิจวัตรในช่วงสถานการณ์ปกติ

“นอกจากเราได้แลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้แล้ว การร่วมมือทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางสาธารณสุข เรากลายเป็นเพื่อนที่คอยช่วยเหลือกันให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพทั้งคู่

“ถ้ามีคนประเทศใดประสบอุบัติเหตุ เจ็บป่วยอยู่อีกประเทศหนึ่ง ด้วยความสัมพันธ์ที่ดีที่เราสร้างกันไว้มานาน การรักษาและส่งตัวผู้ป่วยผ่านทางชายแดนมักจะเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ติดขัด” 

ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เพียงข้ามคืน แต่เกิดจากการวางแผนทางยุทธศาสตร์ เจรจา และดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดช่วง ทำให้ทั้งสองฝ่ายยินดีสนับสนุนกันและกันอย่างจริงใจ

คุยกับเชง ทาวี พยาบาลชาวกัมพูชาที่ร่วมมือกับไทย ดูแลจังหวัดบันเตียเมียนเจยให้พร้อมรับมือโรคติดต่อและโควิด-19

รับมือโควิด-19

“ตอนแรกตกใจ ทำตัวไม่ถูก” รองหัวหน้าแผนกป้องกันโรคติดต่อของบันเตยเมียนเจยที่ทำงานตำแหน่งนี้มาประมาณปีเศษ เล่าความรู้สึกเมื่อทราบเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกัมพูชา

การแพร่ระบาดในวงกว้างเริ่มต้นขึ้นช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานสาธารณสุขของแต่ละจังหวัดจึงต้องเร่งศึกษาหาหนทางการรักษา ปรับมาตรการเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค 

ในช่วงนี้ ประเทศไทยจึงเร่งส่งอุปกรณ์ห้องปฏิบัติการ RT-PCR และชุดตรวจ SARS-CoV-2 ที่ใช้ตรวจหาสารพันธุกรรมของโควิด-19 และโรคอื่นๆ เพื่อเสริมศักยภาพการตรวจให้กับกัมพูชา ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุข จังหวัดสระแก้ว ที่คอยช่วยประสานงาน อำนวยความสะดวก และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ช่วยตรวจสอบอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับความจำเป็นในการใช้งานของทั้งฝ่ายกัมพูชาและไทย ถ่ายทอดความรู้การใช้งานผ่านช่องทางออนไลน์ ถือเป็นการประสานพลังเพื่อผลลัพธ์ที่คาดหวังร่วมกัน โดยมี TICA เป็นหน่วยงานกลางที่วางแผน ดูแลการทำงานแบบบูรณาการให้เกิดเอกภาพ จนทำสำเร็จภายในเวลาไม่กี่วัน จากเดิมที่อาจต้องใช้เวลาตามขั้นตอนเป็นเดือน

คุยกับพยาบาลชาวกัมพูชาที่ร่วมมือกับไทย ดูแลจังหวัดบันเตียเมียนเจยให้พร้อมรับมือโรคติดต่อและโควิด-19
คุยกับพยาบาลชาวกัมพูชาที่ร่วมมือกับไทย ดูแลจังหวัดบันเตียเมียนเจยให้พร้อมรับมือโรคติดต่อและโควิด-19

“ปกติเชื้อที่ต้องนำไปตรวจมีวันละหลายร้อยเคส ต้องเก็บนำไปส่งตรวจที่สถาบันในกรุงพนมเปญ ทำให้ใช้เวลานาน แต่การติดตั้งเครื่อง RT-PCR นี้ ทำให้เราทำงานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และรองรับการตรวจได้ทั้งจังหวัดเลย” ทาวีกล่าว เครื่องมือและการพัฒนาศักยภาพบุคลากรถือเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ช่วยระบบสาธารณสุขรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ 

ยิ่งแต่ละฝ่ายตรวจคัดกรองผู้ป่วยได้เร็วและมากเท่าไร ยิ่งควบคุมการแพร่ระบาดได้เร็ว ทั้งในและระหว่างประเทศ

หลังจากส่งมอบเครื่องมือเพื่อใช้งานในพื้นที่แล้ว ทางไทยและกัมพูชายังคงติดตามผลการใช้งานร่วมกันอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้มั่นใจว่าการใช้งานมีประสิทธิภาพและยั่งยืน บริหารจัดการได้ด้วยตัวเอง

“ขอบคุณที่ช่วยเหลือจังหวัดบันเตียเมียนเจยและกัมพูชา หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือดีๆ เช่นนี้จะดำเนินต่อเนื่อง และเราจะได้แลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกันต่อไป” 

คุยกับพยาบาลชาวกัมพูชาที่ร่วมมือกับไทย ดูแลจังหวัดบันเตียเมียนเจยให้พร้อมรับมือโรคติดต่อและโควิด-19

ก้าวต่อไป

ทาวีถือเป็นคนรุ่นใหม่วัย 27 ปีที่ต้องรับบทบาทสำคัญในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ภาวะความเป็นผู้นำจึงสำคัญอย่างยิ่ง เธอดูแลทีมงาน 5 คนภายในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดโดยตรง แต่สิ่งที่เธอคิดและทำจะมีผลต่อบุคลากรสาธารณสุขและผู้คนอีกจำนวนมากในพื้นที่ 

“เราต้องสร้างขวัญกำลังใจให้คนทำงาน เวลามีอุปสรรค อยู่ใกล้ๆ พวกเขา ไม่ทิ้งไปไหน ไม่ถือตัว ช่วงนี้ทุกคนเหนื่อย ต้องอยู่เคียงข้างและทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์” ทาวีอธิบายสิ่งที่เธอพยายามทำในฐานะหัวหน้า

คุยกับพยาบาลชาวกัมพูชาที่ร่วมมือกับไทย ดูแลจังหวัดบันเตียเมียนเจยให้พร้อมรับมือโรคติดต่อและโควิด-19

เมื่อผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่นี้ไปได้ เธอใฝ่ฝันอยากศึกษาต่อด้านสาธารณสุขและโรคติดต่อโดยตรง เพื่อให้ตัวเองเข้าใจอย่างถ่องแท้และนำมาใช้ปฏิบัติงานจริง

และก่อนหน้าเข้ารับราชการ ช่วงที่เธอยังเป็นพยาบาลในหน่วยงานเอกชน ทาวีเคยเดินทางมาเรียนด้านการฟอกเลือดที่ไทยอยู่เป็นเวลา 6 เดือน ยังไม่ได้ไปไหนต่อไหนมากนัก ถ้ามีโอกาส เธอก็อยากมาศึกษาระบบสาธารณสุขของประเทศไทยเพิ่มเติม และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้คนมากขึ้น

เมื่อเราถามว่าหากทำงานไปจนถึงวัยเกษียณอายุแล้ว อยากให้คนจดจำเธออย่างไร ทาวีตอบว่าไม่ได้มีภาพเรื่องนั้นเลย เพราะยังเป็นเรื่องที่อีกไกลกว่าจะมาถึง ตอนนี้มองสิ่งที่ต้องทำในทุกวันเป็นหลัก แต่ถ้าให้ลองจินตนาการดูแล้ว คงอยากให้ความมุมานะ ตั้งใจ อดทน และความดีที่เคยมอบไว้กับประเทศชาติ สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อไป

หากใครอยากก้าวเท้าเข้ามาทำงานด้านสาธารณสุข เธอเน้นย้ำว่าต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพราะเป็นหน้าที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คน สิ่งสำคัญคือการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพื่อนำมาพัฒนาระบบสาธารณสุขในจุดที่เราปฏิบัติหน้าที่ให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

แต่หากเผชิญความท้าทาย การตามหาหน่วยงานที่ถนัดในด้านต่างๆ เข้ามาร่วมมือและพัฒนาไปด้วยกันจะช่วยให้เรามีกำลังในการทำงานต่อไป เหมือนการร่วมมือกันด้านสาธารณสุขชายแดนร่วมกับประเทศไทยที่ช่วยรักษาชีวิตผู้คนได้ดียิ่งขึ้น และเห็นผลชัดเจนในช่วงที่ไม่คาดฝันอย่างโควิด-19

เพราะความร่วมมือไม่มีวันจบ เพียงแต่อาจเปลี่ยนรูปแบบและความสนใจไปตามสถานการณ์ แต่สุดท้ายแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้คือความเหลื่อมล้ำที่ลดลง ความเจริญก้าวหน้าของทั้งสองฝ่าย และมิตรภาพที่แน่นแฟ้นแบบไม่อาจหาอะไรมาทดแทนได้

คุยกับพยาบาลชาวกัมพูชาที่ร่วมมือกับไทย ดูแลจังหวัดบันเตียเมียนเจยให้พร้อมรับมือโรคติดต่อและโควิด-19


ภาพ : เชง ทาวี และ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

ขอบคุณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ สำหรับการประสานงานและจัดหาล่ามแปลภาษาไทย-เขมร ในบทสนทนาครั้งนี้

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป