28 มิถุนายน 2021
7 K

“ชายแดนคือสถานที่แห่งความเป็นมิตร” นายแพทย์สมปรารถน์ หมั่นจิต ผู้ปักหลักทำงานในโรงพยาบาลแนวชายแดนไทย-ลาว กล่าวถึงสิ่งที่เขาเห็นมาตลอดตั้งแต่ พ.ศ. 2534

ชีวิตการทำงานกว่า 30 ปี ในฐานะแพทย์ชนบทของหมอสมปรารถน์ได้รับการยกย่องเป็นอย่างมาก เขาคือแพทย์ชนบทดีเด่นคนที่ 39 ของศิริราช ผู้เป็นต้นแบบของแพทย์โรงพยาบาลชุมชนที่ต้องรักษาผู้ป่วย บริหารคน พัฒนาสาธารณสุขชุมชน 

หมอได้รับคัดเลือกให้เป็นแพทย์ชนบทดีเด่น ของกองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์ พูลเกษร ใน พ.ศ. 2545 ซึ่งรางวัลนี้จะมอบให้แพทย์ปีละคนเท่านั้น ในปีถัดมา เขาได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่นของจังหวัดเชียงราย

หลังเกษียณราชการเมื่อ พ.ศ. 2561 หมอสมปรารถน์ก็ได้รับการเลือกให้เป็นแพทย์ในดวงใจของชาวเชียงรายอีกหนึ่งรางวัล

งานใหญ่งานหนึ่งที่มีคุณค่ามากของหมอสมปรารถน์ คือการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาระบบโรงพยาบาลระหว่างพื้นที่เชียงของฝั่งไทยกับบ่อแก้วฝั่ง สปป.ลาว ซึ่งแม้จะกั้นเพียงแม่น้ำโขง แต่ความเหลื่อมล้ำด้านระบบสาธารณสุขนั้นห่างไกลกันมาก

ในอดีตประเทศไทยเคยได้รับความช่วยเหลือจากประเทศที่เจริญกว่า เมื่อเรามีศักยภาพมากขึ้น เราก็พร้อมให้ความช่วยเหลือประเทศอื่นบ้าง เมื่อ 20 ปีก่อน กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ จึงเริ่มต้น ‘การทูตเพื่อการพัฒนา’ โดยเฉพาะกับเพื่อนบ้านโดยรอบ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจและความไว้วางใจ หากเรามีสองสิ่งนี้แล้ว ก็จะทำสิ่งต่างๆ ร่วมกันได้มากขึ้น

​หนึ่งในงานการทูตเพื่อการพัฒนาก็คือ งานสาธารณสุุขชายแดน ซึ่งมีหมอสมปรารถน์เป็นผู้ดูแล

เรื่องเริ่มต้นขึ้นจากหมอสมปรารถน์ ซึ่งทำงานเป็นแพทย์ชนบทที่เชียงรายในขณะนั้น ได้รับการสนับสนุนจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศของไทย ให้ขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดน โดยการช่วยพัฒนาโรงพยาบาลแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ให้รองรับการรักษาผู้ป่วยได้ดีขึ้น

สมปรารถน์ หมั่นจิต แพทย์ชนบทดีเด่นผู้แก้ปัญหาสาธารณสุขทั้งฝั่งไทย-ลาว มากว่า 30 ปี

เมื่อโรงพยาบาลฝั่ง สปป.ลาว ดีขึ้น หมอเก่งขึ้น หมอไทยก็ไม่ต้องเหนื่อยรักษาคนไข้จำนวนมากที่ข้ามฝั่งมา ชาวลาวก็ไม่ต้องเหนื่อยเดินทาง เพราะรับการรักษาที่ สปป.ลาว ได้ 

งานพัฒนาทางการทูตครั้งนี้จึงส่งผลต่อความอยู่ดีมีสุขของคนไทยและลาวอย่างเห็นได้ชัด

ยิ่งไปกว่านั้น บ่อแก้วยังเป็นจุดข้ามแดนของคนและสินค้าเพื่อเข้าสู่ถนน R3A เส้นทางสายหลักที่ต่อจากไทย ผ่าน สปป.ลาว เข้าสู่จีน จึงเป็นพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ของการสร้างความเข้มแข็งให้หลายประเทศที่มีผู้คนใช้ชีวิตเชื่อมโยงกัน 

แม้จะเป็นการพัฒนาด้านสาธารณสุข แต่สุดท้ายก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ซึ่งได้ประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย

สมปรารถน์ หมั่นจิต แพทย์ชนบทดีเด่นผู้แก้ปัญหาสาธารณสุขทั้งฝั่งไทย-ลาว มากว่า 30 ปี

หมอสมปรารถน์

ตลอดชีวิตการเป็นแพทย์ชนบทของหมอสมปรารถน์ เขาอุทิศชีวิตเพื่อรักษาคนไข้และงานพัฒนาสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดน ปัจจุบันเขาเป็นอาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ทำงานวันจันทร์ถึงศุกร์ แต่ช่วงนี้แม้จะเป็นวันหยุด เขาก็ยังต้องตรวจคนไข้โควิด-19 อย่างไม่หยุดหย่อน

ชีวิตของหมอสมปรารถน์เดินทางไกลตลอด จากเด็กโคราช มาเรียนกรุงเทพฯ หนีไปอยู่สุราษฎร์ธานี จนตอนนี้ปักหลักใช้ชีวิตอยู่ที่เชียงราย

“ผมเป็นคนขามสะแกแสง โคราช เกิด พ.ศ. 2500 เรียนหนังสือชั้นประถมที่โคราช ตอนมัธยมเข้าไปเรียนในกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แล้วก็เอ็นทรานซ์ติดที่คณะแพทย์ศิริราชพยาบาล อยู่ทั้งในเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา รอดตายมาได้เพราะหลบในห้องน้ำชั้นสี่ ตึกบัญชี แล้วก็หนีเข้าป่าทางใต้ไปแปดปี” หมอสมปรารถน์เล่าถึงจุดเปลี่ยนของชีวิต

เขาคือ ‘หมอตีนเปล่า’ ทำหน้าที่หมอดูแลเพื่อน พี่ น้อง ที่หนีไปอยู่ป่าแถวเขื่อนเชี่ยวหลานด้วยกัน ราว พ.ศ. 2525 เขาย้ายไปที่จังหวัดชุมพร ก่อนตัดสินใจออกจากป่าที่อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กลับมาเรียนแพทย์ที่กรุงเทพฯ ต่อในวัย 28 ปี

“เราเรียนจบช้าไปสิบปี คนอื่นเรียนจบทำงานตอนอายุยี่สิบสี่ปี แต่เราเรียนจบตอนอายุสามสิบสี่ปี พอเรียนจบแพทย์ก็เลยเลือกไปทำงานอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ประสบการณ์ช่วงไปอยู่ป่าทำให้เราเรียนรู้เรื่องความรับผิดชอบ รวมถึงแง่มุมต่างๆ ของชีวิต ผมเลยอาจจะต่างจากแพทย์จบใหม่คนอื่นๆ ด้วยความที่เราเคยไปอยู่ป่ามันสร้างตัวตนหลายๆ อย่าง ทำให้ผมรู้สึกชีวิตก็ไม่เห็นต้องพึ่งเงินพึ่งทอง ออกสไตล์สมถะไปเลย อยู่ในป่าแปดปี ไม่ต้องมีเงินใช้เลยก็มีชีวิตอยู่ได้ มีความสุข ความร่ำรวยหรือเงินไม่ใช่อันดับแรกของชีวิต” หมอสมปรารถน์เล่าถึงที่มาของชีวิตแพทย์ชนบท

“ตั้งเป้าไว้ว่าเรียนจบคงอยู่ในโรงพยาบาลประจำอำเภอ อยู่ในชนบท เรื่องทำงานในเมืองหรือที่โรงพยาบาลเอกชนไม่มีอยู่ในหัวเลย ก็ตัดสินใจว่า งั้นลองมาใช้ชีวิต มาทำงานที่ภาคเหนือดูสักระยะ เลือกมาอยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นที่แรก เพราะมีตำแหน่งว่าง ไม่เคยรู้เลยนะว่าเชียงของอยู่ตรงไหนของไทย” เขาว่า

ยังจำวันแรกที่มาถึงได้ไหม-เราถาม

“พอลงจากรถก็เห็นว่าที่นี่ติดริมน้ำโขงเลย ฝั่งตรงข้ามเป็นแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว มันต่างจากชีวิตที่เราเคยเห็นและเคยอยู่มาตลอด สมัยโน้นก็ถือว่าเป็นชนบทแหละ เพราะอยู่ขอบสุดประเทศ แต่เราชอบ”

แม้ว่าตอนนี้เขาจะเกษียณแล้ว แต่ก็ไม่ยอมกลับโคราชบ้านเกิด

สมปรารถน์ หมั่นจิต แพทย์ชนบทดีเด่นผู้แก้ปัญหาสาธารณสุขทั้งฝั่งไทย-ลาว มากว่า 30 ปี

“ตอนแรกกะว่าพอเกษียณคงต้องกลับโคราชแล้ว แต่พออยู่ไปก็ชอบที่นี่ คุ้นกับชุมชน งานที่เราทำมันไม่ใช่เฉพาะเรื่องตรวจรักษาคนไข้อย่างเดียว เรายังไปทำงานกับโรงพยาบาลแขวงบ่อแก้ว ไปทำงานพัฒนาระบบสาธารณสุขชายแดน ซึ่งเป็นความท้าทายในใจเรามานาน

“โรงพยาบาลคือชีวิตของผมก็ว่าได้นะ ชายแดนคือสถานที่ที่ผู้คนเชื่อมโยงกัน ยังไงระบบสาธารณสุขชายแดนก็ยังต้องทำงานร่วมกันอยู่ จำเป็นมากในการควบคุมโรค ระบบสุขภาพบ้านเรายังต้องการการพัฒนาอยู่นะ ยังอยากอยู่ทำงานในที่แห่งนี้” หมอสมปรารถน์เล่าถึงหมุดหมายในใจที่ทำให้เขาตั้งใจอยู่ที่นี่ต่อ

สาธารณสุขชายแดนที่เกิดจากความไว้เนื้อเชื่อใจ

หมอสมปรารถน์ได้ร่วมงานกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ทำงานสาธารณสุขชายแดนกับแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 – 2560 โดยการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลแขวงบ่อแก้ว งานที่ทำมีตั้งแต่จัดหาครุภัณฑ์สำหรับโรงพยาบาลแขวงบ่อแก้ว อบรมให้ความรู้ทีมแพทย์ลาว จนถึงการพัฒนาระบบเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ครอบคลุมพื้นที่ถึงแขวงหลวงน้ำทา ซึ่งไกล 180 กิโลเมตรจากเชียงของจนติดชายแดนจีน คนป่วยบางรายที่หนักจริงๆ ก็ส่งต่อข้ามแขวงมาหาโรงพยาบาลฝั่งประเทศไทยได้เลย

สมปรารถน์ หมั่นจิต แพทย์ชนบทดีเด่นผู้แก้ปัญหาสาธารณสุขทั้งฝั่งไทย-ลาว มากว่า 30 ปี

“เป็นงานที่ผมภูมิใจ เราก็มีข้อตกลงกับทางบ่อแก้วเลยนะ เมื่อก่อนสาธารณสุขฝั่งบ่อแก้วเขาด้อยกว่าเรา จึงต้องพึ่งพาเรา ช่วงที่ฝรั่งเศสมายึดครอง ฝั่ง สปป.ลาว มีโรงพยาบาลที่เจริญกว่าเพราะหมอฝรั่งมาอยู่ เขาบอกว่าตอนนั้นคนเชียงของเจ็บป่วยทีต้องข้ามน้ำโขงไปหาหมอฝรั่งฝั่งลาว แต่พอยุคมันกลับกัน เขาเจ็บป่วยก็ต้องมาที่ฝั่งไทย 

“เราประสานข้อมูลเรื่องสุขภาพโดยเน้นไปที่โรคระบาด โรคติดต่อ บางโรคที่บ้านเราไม่ค่อยมีแล้วแต่ฝั่งโน้นยังเจออยู่ อย่างโรคคอตีบ โรคพวกนี้ถ้าไม่มีความร่วมมือกัน บางทีเขาเจ็บป่วยโดยไม่รู้ว่าเป็นอะไร ก็ต้องนั่งเรือข้ามมา พอข้ามมาก็จะติดต่อโรคกันได้ง่าย เราเลยพัฒนาระบบขึ้นมา ถ้าเป็นโรคพวกนี้อีกไม่ต้องข้ามมานะ อยู่รักษาที่โรงพยาบาลเขาได้ ถ้าโรคไหนจำเป็นต้องใช้ยาแล้วฝั่งเรามี ก็ส่งเป็นยาไป” หมอสมปรารถน์เล่าถึงสภาพความสาธารณสุขในสมัยก่อน

ถ้าต้องเล่างานพัฒนาสาธารณสุขชายแดนไทย-ลาว ฉบับเข้าใจง่าย ก็พอจะอธิบายได้ว่า ในช่วง พ.ศ. 2544 รัฐบาล สปป.ลาว ขอให้ไทยเข้าไปช่วยปรับปรุงอาคารผู้ป่วยนอก (หรือตึก OPD) ของโรงพยาบาลแขวงบ่อแก้ว เนื่องจากมีลักษณะเป็นเรือนแถวเก่าชั้นเดียว ทรุดโทรม ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยได้ดีนัก จึงต้องส่งผู้ป่วยมาฝั่งไทยบ่อยๆ

กรมความร่วมมือระหว่างประเทศของไทยได้เจรจากับรัฐบาลลาวในการวางแผนการทำงานร่วมกัน เริ่มจากวางแผนการสร้างอาคารใหม่ให้โรงพยาบาลบ่อแก้ว สนับสนุนอุปกรณ์ทางการแพทย์ และจัดอบรมหลักสูตรพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ฝั่ง สปป.ลาว ให้มีความรู้ความสามารถในการรักษาผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น ผู้ป่วยจะได้หายไว และลดภาระโรงพยาบาลฝั่งไทยด้วย

“ลองนึกถึงสมัยที่ยังไม่มีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว จะข้ามฝั่งมารักษาก็ต้องนั่งเรือหางยาวข้ามแม่น้ำโขง พอสร้างอาคารเสร็จก็ยังมีปัญหาไฟฟ้าที่ยังไม่เสถียร กรมความร่วมมือระหว่างประเทศจึงสนับสนุนโรงปั่นไฟฉุกเฉินต่อ เพื่อให้โรงพยาบาลบ่อแก้วทำการรักษาผู้คนได้ ผมถามหมอของโรงพยาบาลบ่อแก้วว่ายังขาดอะไรอีกบ้างเพื่อจัดซื้อครุภัณฑ์ที่เหมาะสม ตอนนั้นได้งบมาแปดล้าน ก็ไปซื้อรถพยาบาลมาตรฐานคันแรกของแขวงบ่อแก้ว

“พอมีตึก มีครุภัณฑ์ มีรถพยาบาลแล้ว เราก็อบรมให้ความรู้ พัฒนาทั้งแพทย์ ทั้งพยาบาล จัดอบรมสามสิบห้าหลักสูตร ครอบคลุมเจ้าหน้าที่แทบทั้งโรงพยาบาล กรมความร่วมมือระหว่างประเทศก็ศึกษาข้อมูล แล้วก็ให้เราไปช่วยดูว่าตรงกับความต้องการจริงๆ ไหม 

“การทำงานกับฝั่งบ่อแก้วเหมือนการสร้างมิตร ตอนเย็นๆ นัดมาเจอกันเพื่อออกกำลังกาย กินข้าวเย็นด้วยกันจนได้เพื่อนจากฝั่ง สปป.ลาว เพิ่ม สาธารณสุขชายแดนเลยเข้มแข็งมาถึงทุกวันนี้ พอเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน การทำงานและการพัฒนาพื้นที่ก็ทำได้ง่ายขึ้น สองประเทศก็เดินไปด้วยกัน”

กรมความร่วมมือระหว่างประเทศของไทยสนับสนุนให้จัดอบรมคุณหมอฝั่งลาวในโรคปฐมภูมิ สอนผ่าตัดต้อกระจก จนถึงสอนการทำเวชระเบียนและวางระบบต่างๆ ในโรงพยาบาลบ่อแก้ว จนเกิดความก้าวหน้าไปสู่การ Video Conference ระหว่างการผ่าตัด ทีมแพทย์ฝั่งลาวสามารถปรึกษาหารือกับหมอฝั่งไทยได้ทันทีผ่านทางช่องทางออนไลน์

งานพัฒนาสาธารณสุขไทย-ลาว ยังคงดำเนินมาต่อเนื่อง จนเกิดแผนงานโครงการก่อสร้างอาคารผู้ป่วยในและแม่และเด็ก (เป็นอาคาร 2 ชั้น) พร้อมทั้งให้การสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับโรงพยาบาล โต๊ะ เตียง เก้าอี้ สิ่งที่หมอต้องใช้ สิ่งที่คนไข้ต้องการ รวมถึงเครื่องช่วยหายใจของเด็กเล็กที่ฝั่งลาวเขายังขาด

“ผมได้คุยกับแพทย์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ่อแก้ว จึงเห็นความแตกต่างของระบบ เราช่วยเหลือกันคล้ายพี่น้อง ถ้ามีเคสคนไข้ที่ต้องการเลือด แต่ทางเขาไม่มีเลือด ก็ขอมาที่เรา ถ้าเรามีเลือดก็จะส่งให้ มีการช่วยเหลือกันบ้าง อาจยังไม่เป็นทางการนัก เป็นการช่วยเหลือกันเองแบบเพื่อนมนุษย์ที่อยู่อาศัยร่วมกัน”

 การทูตเพื่อการพัฒนา ทำงานเชิงรุกแบบให้คนรัก

การทูตเพื่อการพัฒนาให้ความสำคัญกับการเลือกพื้นที่ยุทธศาสตร์ ซึ่งทำโครงการแล้วจะเกิดผลดีต่อทุกฝ่าย 

​นักการทูตมองว่า พื้นฐานการพัฒนาประเทศมีอยู่ 3 ด้านที่ควรเร่งพัฒนาก่อนคือ เกษตร สาธารณสุข และการศึกษา เพราะมีผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน

บริเวณชายแดน กระทรวงสาธารณสุขไทยมียุทธศาสตร์สาธารณสุขชายแดนอยู่แล้ว จังหวัดชายแดนทั้ง 39 จังหวัดตั้งแต่เหนือจรดใต้ ต่างก็มีปัญหาสาธารณสุขชายแดน ด้วยวิถีชีวิตที่ผู้คนข้ามไปมาหาสู่กันทำให้คนติดโรค เกิดโรคระบาดข้ามประเทศ อาจสร้างปัญหาให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศไทยได้ด้วย หรือไม่ก็เป็นเราเอง ที่แพร่เชื้อโรคจากฝั่งไทยไปให้ประเทศเพื่อนบ้าน

สิ่งที่นักการทูตและนักการแพทย์ทำ ไม่ใช่เปลี่ยนวิถีชีวิต ห้ามผู้คนเดินทางไปมาหาสู่ แต่เป็นการผนึกกำลังสร้างระบบสาธารณสุขในจุดยุทธศาสตร์ให้เข้มแข็ง ทำงานเชิงรุกแบบให้คนรัก

“งานสำนักงานสาธารณสุขชายแดนคือการเฝ้าระวังโรคต่างๆ เมื่อมีโรคใดๆ เกิดขึ้นมาทางฝั่งใดฝั่งหนึ่ง จะมีการเตือนภัย แชร์ข้อมูลกัน จัดระบบการเฝ้าระวัง สอบสวนโรค การเข้าหาพื้นที่อย่างรวดเร็ว ถ้าคุมได้เร็วโรคก็ไม่ระบาด ทำงานเป็นเครือข่าย เพื่อไม่ให้ขาดช่วง ขาดจังหวะ

“คนประเทศเพื่อนบ้านข้ามมารักษาฝั่งไทย เนื่องจากเขาเชื่อมั่นว่าฝั่งไทยมีความพร้อมมากกว่า กระทรวงการต่างประเทศมองในเชิงการต่างประเทศ และผลประโยชน์ระหว่างประเทศ ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขจะเชี่ยวชาญเชิงความรู้ทางวิชาการ เมื่อสองกระทรวงร่วมมือกัน ทำงานกับแพทย์ชนบทในพื้นที่ ช่วยกันดูแลและพัฒนาระบบสาธารณสุขชายแดน ส่วนกรมความร่วมมือระหว่างประเทศก็มีภารกิจบูรณาการทำให้ความร่วมมือจากประเทศต่างๆ มีเอกภาพและตอบโจทย์ได้อย่างชัดเจน” หมอสมปรารถน์อธิบายงานระหว่างประเทศแบบง่าย

ตั้งไหนแต่ไรมา การพบปะและการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้นำประเทศหรือผู้บริหารระดับสูง จะมีการร้องขอให้ไทยช่วยพัฒนาในเรื่องต่างๆ ว่า เขามีปัญหาอย่างไรบ้างที่อยากให้ ไทยช่วย ซึ่งเราจะช่วยเมื่อมีหลักการและเหตุผลรับรอง จนกระทั่งออกมาเป็นความร่วมมือที่เป็น รูปธรรม หรือเรียกกันเป็นสากลที่อาจจะฟังดูไม่ค่อยคุ้นหูว่า ODA*

* ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (Official Development Assistance : ODA) ของประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) ความช่วยเหลือแบบเงินให้เปล่า / ความร่วมมือทางวิชาการ 2) ความช่วยเหลือทางการเงินหรือเงินกู้ ผ่อนปรน และ 3) เงินบริจาค / เงินสนับสนุนแก่องค์กรพหุภาคีและองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกาไร

ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เราเห็นทีมแพทย์ไทยตามจังหวัดต่างๆ ขะมักเขม้นกับการรักษาและคุมโรค ทางแนวชายแดนก็เช่นกัน สาธารณสุขชายแดนก็กำลังขะมักเขม้นตั้งใจกับการช่วยคุมโรคโควิด-19 ไม่ให้เข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทยเพิ่ม

“ระบบสาธารณสุขชายแดนคือการร่วมมือกันและประสานงานกันในการดูแลโรค รักษาผู้ป่วย ควบคุมโรคระบาด ช่วยสกัดกั้นไม่ให้โรคมาแพร่ระบาดในไทย ตั้งแต่มีโรคโควิด-19 กรมความร่วมมือระหว่างประเทศทำโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนา สนับสนุนประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 เพราะประเทศไทยมีอาณาเขตติดต่อกับพรมแดนของประเทศเพื่อนบ้านเป็นระยะทางรวมกันหลายพันกิโลเมตร

“กรมความร่วมมือระหว่างประเทศส่งอุปกรณ์ห้องปฏิบัติการ เครื่องตรวจโรคแบบ RT-PCR ให้ทางบ่อแก้วเพิ่ม เราวางระบบการป้องกัน ติดตาม สอบสวนโรคร่วมกันด้วย ฝั่งเชียงรายเรามีการดูแลอีกแรง เป็นระบบเรียกว่า One Hospital One Province ใช้โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ที่เดียวเป็นศูนย์ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19

“มีการฝึกอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่ฝั่ง สปป.ลาว เพื่อรับมือโควิด-19 ด้วยหลักสูตร Field Epidemiology Training Program (FETP) คือเราไปพัฒนานักระบาดวิทยาให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน พอเขามีความรู้ที่เป็นมาตรฐาน ก็จะไปสอน ไปถ่ายทอดองค์ความรู้ เพื่อสร้างนักระบาดวิทยาต่อไปในประเทศของตัวเอง

“ในระยะยาวกว่านั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ของไทยได้ออกแบบอุปกรณ์และห้องแล็บปฏิบัติการที่ใช้งานได้จริง มีประสิทธิภาพสูง ส่งไปให้โรงพยาบาลในแขวงบ่อแก้ว แขวงไซยะบุรี และแขวงคำม่วนของฝั่งลาวด้วย เพราะเป็นพื้นที่ชายแดน มีการเคลื่อนย้ายของประชาชนและแรงงานจำนวนมาก อีกทั้งช่วยควบคุมโรคอุบัติใหม่ต่างๆ ในอนาคตได้ด้วย” หมอสมปรารถน์อธิบายภาพการทำงานในช่วงเวลานี้ 

คุณหมอสมปรารถน์ทิ้งท้ายถึงเหตุผลที่ทำหมอต้องทำงานหนักทัั้งรักษาโรค ทั้งทำระบบดูแลสุขภาพกับเพื่อนบ้านด้วยน้ำเสียงที่ชื่นใจ “ชายแดนไม่ใช่สถานที่แบ่งแยก แต่ชายแดนคือสถานที่แห่งความเป็นมิตร ผู้คนอยู่อาศัยเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เรามีโอกาสได้ช่วยเพื่อนบ้านทั้งรักษาโรคและให้ความรู้ ตัวเราก็ภูมิใจนะ โรงพยาบาลเป็นที่พึ่งของประชาชนในมิติสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเจ็บป่วย รักษา ป้องกัน งานโรงพยาบาลสะท้อนชุมชน เพราะโรงพยาบาลเป็นที่พึ่งของชุมชนในอีกหลายๆ เรื่องได้เหมือนกัน กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เข้ามาสนับสนุนงบประมาณ โดยใช้ความเชี่ยวชาญของกระทรวงสาธารณสุขไทย ซึ่งก็ตรงกับความต้องการของผู้คนในพื้นที่ตรงนี้จริงๆ”

ภาพ : นายแพทย์สมปรารถน์ หมั่นจิต และ กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

Writer

Avatar

นิภัทรา นาคสิงห์

ตื่นเช้า ดื่มอเมริกาโน เลี้ยงปลากัด นัดเจอเพื่อนบ่อย แถมยังชอบวง ADOY กับ Catfish and the bottlemen สนุกดี