3 เดือนก่อน ฉันมีโอกาสติดตามคณะทำงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาว ขึ้นไปสำรวจการฟื้นฟูของพืชพรรณและสัตว์ต่างๆ ตลอดเส้นทางศึกษาธรรมชาติดอยหลวงเชียงดาว ระยะทาง 8.5 กิโลเมตร 

หลังจากที่ผืนป่าดอยหลวงเชียงดาวถูกปิด ไม่ให้มนุษย์ย่างกรายเข้าไปรบกวนนานเกือบ 2 ปี จากเหตุไฟป่ารุนแรงเมื่อ พ.ศ. 2562 และแม้จะเผชิญกับเหตุรุนแรงครั้งใหญ่ แต่ทรัพยากรธรรมชาติกลับฟื้นคืนมาด้วยตัวเองได้อย่างน่าเหลือเชื่อ 

การเดินทางครั้งนี้พิเศษมาก เพราะคณะเดินทางไม่ได้มีเพียงทีมนักวิจัยและนักอนุรักษ์เท่านั้น แต่ยังมีทีมถ่ายทำสารคดี HangOver Thailand 2020 “เชียงดาว Nature Reconnect” ชุดภาพยนตร์สั้นของบริษัท นาดาว บางกอก จำกัด บอกเล่าเรื่องการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบ ที่จะสอนให้นักเดินทางทุกคนซึมซับและเรียนรู้ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ โดยไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม และทิ้งรอยเท้าไว้ในระบบนิเวศให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

โดยได้ ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ มาเป็นโปรดิวเซอร์ และมี ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร นำเรียนรู้ร่วมกับน้องๆ จากนาดาวอีก 3 คนคือ กันต์ ชุณหวัตร, เบลล์-เขมิศรา พลเดช และ อัด-อวัช รัตนปิณฑะ ผู้เป็นกระบอกเสียงเรื่องขยะตกค้างในสิ่งแวดล้อมมาตลอด รับหน้าที่ผู้กำกับสารคดีชุดนี้

และนี่คือบันทึกประสบการณ์ของฉันใต้ร่มเงาผืนป่าแห่งเชียงดาว ที่เริ่มต้นด้วยความต้องการเข้าใจธรรมชาติ และจบลงด้วยความเข้าใจตัวเอง

01

สร้างรอยเท้าในธรรมชาติน้อยที่สุด

อากาศยามพลบค่ำ ในช่วงปลายฝนต้นหนาวของอำเภอเชียงดาวเย็นสบายกำลังดี เบื้องหน้าคือวงสนทนาของทีมเจ้าหน้าที่ ทีมภาคีฯ และทีมสารคดี เพราะเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่มีความเปราะบาง ดังนั้น การเหยียบย่ำเข้าไปแต่ละครั้งของมนุษย์ย่อมส่งผลต่อสิ่งมีชีวิต ทีมสารคดีจึงต้องวางแผนอย่างรัดกุมในทุกย่างก้าวของการถ่ายทำ

ทำไมเราต้องท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบ

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

ในวันที่โลกสงบเงียบกว่าที่เคย การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้กิจกรรมส่วนใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นทุกมุมโลก ทั้งในเมือง กลางมหาสมุทร ลึกเข้าไปในผืนป่า แม้กระทั่งสูงขึ้นไปบนอากาศเหนือพื้นดิน ต่างหยุดชะงัก และเมื่อมนุษย์หยุดเคลื่อนไหว ปรากฏการณ์ฟื้นฟูตัวเองของธรรมชาติจึงเกิดขึ้นอย่างเอิกเกริกทั่วโลก 

สัตว์ป่าปรากฏตัวตามรอยต่อผืนป่าและพื้นที่ชุมชน เต่าทะเลขึ้นมาวางไข่มากที่สุดในรอบหลายสิบปี ปริมาณควันพิษที่ปกคลุมน่านฟ้าลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เหล่านี้คือประจักษ์พยานชัดเจนที่สุดซึ่งบ่งชี้ว่า ที่ผ่านมามนุษย์ใช้ชีวิตท่องเที่ยวและดื่มด่ำกับความสุขของตนเอง บนพื้นที่ซึ่งเจ้าของที่แท้จริงคือธรรมชาติมากขนาดไหน

เมื่อสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย มหกรรมการท่องเที่ยวจะหวนกลับคืนมาอีกครั้ง แน่นอนว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้คนโหยหาการเดินทางและรสชาติของการผจญภัย ประกอบกับปัญหาใหญ่เดิมที่มีอยู่อย่างภาวะโลก การสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืช ไปจนถึงขยะพลาสติกเล็ดรอดไปทุกหนแห่ง 

คำถามคือ จะทำอย่างไรให้การเดินทางท่องเที่ยวแต่ละครั้งของเรา สร้างรอยเท้าในธรรมชาติน้อยที่สุด ให้เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตไปพร้อมกับความยั่งยืนของผืนป่า

สารคดี HangOver Thailand 2020 “เชียงดาว Nature Reconnect” จึงเกิดขึ้นเพื่อสื่อสารความสำคัญของการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบให้คนทั่วไป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ และเพื่อให้เส้นทางศึกษาธรรมชาติเชียงดาวเป็นต้นแบบการจัดการสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติให้กับสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ เพื่อไม่ให้ความสมบูรณ์ของธรรมชาติที่เริ่มหวนคืนมาต้องพังทลายไปอีกครั้ง

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

ชะ-อรช บุญ-หลง สมาชิกภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาว เครือข่ายคนรักสิ่งแวดล้อมที่รวมตัวกันอย่างเหนียวแน่น ทำงานสร้างจิตสำนึกและผลักดันให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม เล่าย้อนไปถึงการคัดค้านการก่อสร้างสถานีกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวง ที่อาจทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพพังทลาย จากการแห่แหนกันมาของนักท่องเที่ยวอย่างควบคุมไม่ได้เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน 

มาจนถึงสถานการณ์ไฟป่า พ.ศ. 2562 ที่ภาคีฯ เปิดรับระดมทุนจากคนทั่วประเทศทางหน้าเพจเฟซบุ๊ก และนำเงินที่ได้มาสนับสนุนการทำงาน จัดหาอุปกรณ์ของเจ้าหน้าที่และชุมชนในการดับไฟป่า 

ภาคีสร้างระบบกล่องอาหารแบบใช้ซ้ำและกระบอกน้ำสเตนเลสของเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า เพราะแม้ภายในสภาวะฉุกเฉินอย่างไฟป่า แต่การระมัดระวังไม่ให้เกิดขยะตกค้างในเขตผืนป่าจากอาหารกล่องโฟมหรือกล่องพลาสติก ก็เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัดควบคู่ไปด้วย

ภาคีฯ มองหาหนทางแก้ปัญหาไฟป่าระยะยาว ตั้งแต่สนับสนุนชุมชนที่ดูแลป่าต้นนํ้า จัดอบรม อาสาสมัครดับไฟป่า ตั้งกองทุนดับไฟป่าในชุมชน ส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์ให้กับชุมชนรอบๆ เพื่อทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องจบด้วยการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ปลูกใหม่

เบิร์ท-ประสงค์ แสงงาม สมาชิกภาคีฯ และกลุ่มรักษ์ล้านนาที่สื่อสารเรื่องตำนานความเชื่อของดอยหลวงเชียงดาวว่าคือดอยศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สิงสถิตย์ของเจ้าหลวงคำแดง เทพอารักษ์ใหญ่ของล้านนา คนเฒ่าคนแก่ในพื้นที่เชียงดาวจึงไม่เคยเดินขึ้นดอยหลวงเชียงดาว ด้วยเหตุว่านั่นคือที่ของเทพอารักษ์ ไม่ใช่ที่ของมนุษย์ ความเชื่ออันฝังลึกนี้ มองอีกด้านก็คือกุศโลบายในการดูแลปกป้องรักษาทรัพยากรธรรมชาติของคนรุ่นเก่านั่นเอง

02

สร้างเกราะป้องกันผืนป่า

เช้าวันต่อมา เรารวมตัวกันตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อออกเดินทางไปทำความเข้าใจบริบทของธรรมชาติและชุมชนในพื้นที่ต่างๆ รอบอำเภอเชียงดาว 

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

ฉันและทีมสารคดีนั่งหลังรถกระบะอย่างสมบุกสมบัน ทิวทัศน์รอบตัวค่อยๆ เคลื่อนจากบ้านเรือน เป็นไร่นา ก่อนจะมาหยุดลงหน้าป่าชอุ่ม ที่นี่คือป่าชุมชนบ้านหัวทุ่ง ขนาดกว่า 800 ไร่ที่ในอดีตเมื่อ 100 ปีก่อน เคยเป็นป่าสัมปทานไม้สักทองให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจค้าไม้ เมื่อต้นไม้ทรงคุณค่าถูกตัดไปจนหมด จากป่าต้นน้ำกลายเป็นพื้นที่แห้งแล้ง

เมื่อชาวบ้านไม่มีน้ำใช้ เกษตรกรรมก็เกิดขึ้นไม่ได้ พวกเขาจึงรวมตัวกันผลักดัน พรบ. ชุมชนจดทะเบียนให้มีการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าที่นี่ เพื่อเป็นแนวกันชนให้ดอยหลวงเชียงดาว ความเขียวชอุ่มที่เราเห็นในวันนี้ใช้เวลา 30 ปีให้ธรรมชาติซ่อมแซมตัวเอง จากการทำร้ายของมนุษย์ พลิกฟื้นผืนป่าอันแห้งแล้งกลับเป็นป่าต้นน้ำอีกครั้ง

จากต้นทาง โอ๊ค-คฑา มหากายี หนึ่งในภาคีฯ ชวนเราถอดรองเท้าเดินเข้าสู่ป่า สำหรับคนเมือง การถอดรองเท้าเดินดูเป็นเรื่องใหญ่ เพราะภาพอัตโนมัติในสมองพาลให้คิดถึงถนนคอนกรีตร้อนจี๋ และเมื่อพูดถึงการเดินป่า จะมีภาพของรองเท้าเดินป่ามิดชิดทันที การถอดรองเท้าเดินป่าจึงเป็นเรื่องที่ดูขัดแย้งมาก

โอ๊คไม่ได้อธิบายอะไรมาก นอกจากบอกว่านี่คือกิจกรรมแรก ‘สัมผัสดิน’ ให้เราเดินห่างกันอย่างเงียบๆ เพื่อให้ตัวเราได้อยู่กับธรรมชาติจริงๆ ฉันสังเกตได้ว่าสมาชิกทีมสารคดีแต่ละคนมีความสนใจต่อเรื่องราวตรงหน้าไม่เหมือนกัน ในขณะที่เบลล์ดูสนอกสนใจทรงพุ่มต้นไม้หลากชนิดที่มีรูปทรงไม่เหมือนกันเลยแม้แต่ต้นเดียว ต่อก็ดูสนุกสนานกับการมองหาแมลงหน้าตาแปลกที่ซ่อนตัวอยู่ตามใบหญ้าเล็กๆ

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

เดินกันมาได้ครึ่งทาง เราจึงมาหยุดฟังความในใจของแต่ละคน หลังจากได้ลองเดินเท้าเปล่าในรอบหลายปี แม้แต่กันต์ที่ปกติกลัวการเดินเท้าเปล่า ลงทะเลก็ต้องใส่รองเท้า ยังเห็นด้วยว่าความอ่อนนุ่มของพื้นดินชื้นแฉะนั้นให้สัมผัสและความรู้สึกร่มเย็น ใกล้ชิดกับธรรมชาติอย่างบอกไม่ถูก อัดบอกว่าเป็นความรู้สึกที่ดีมาก ทำให้เรารับรู้ว่าเราคือส่วนหนึ่งของธรรมชาติและต้องดูแลรักษา ในขณะที่ต่อบอกว่า รองเท้าเหมือนฟิลเตอร์ที่คั่นระหว่างเรากับโลก เมื่อเราถอดฟิลเตอร์ออก มันคือการ Reconnect and Rebalance คืนสัมพันธ์และปรับสมดุล 

เสียงน้ำไหลกระทบหินดังซู่มาแต่ไกล เราเดินต่อมาจนถึงหน้าโตรกผา ขุนน้ำรู สายน้ำที่ไหลทะลักออกมาจากภูเขาหินปูนกลายเป็นน้ำตกขนาดใหญ่สวยงาม เป็นปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นเฉพาะหน้าฝนเท่านั้น 

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

บริเวณนี้ชาวบ้านตั้งศาลแสดงความเคารพเจ้าหลวงคำแดง และในทุกๆ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 9 ตามปฏิทินล้านนา จะมีการทำพิธีบวงสรวงผีขุนน้ำให้ปกปักษ์ป่าและสายน้ำ ความศรัทธาอย่างแรงกล้าและมาตรการทางกฎหมายที่เคร่งครัด ผสมผสานกันกลายเป็นเกราะป้องกันชั้นดีให้ผืนป่ายังอุดมสมบูรณ์

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

03

หนทางสู่งานอนุรักษ์ที่ยั่งยืน

“งานอนุรักษ์ไม่ได้หมายถึงการแยกธรรมชาติและมนุษย์ออกจากกัน การอนุรักษ์เพื่อต่อยอดให้ยั่งยืน หมายถึงการสร้างสมดุลด้วยรูปแบบการใช้ประโยชน์ทรัพยากรแบบไม่ล้างผลาญ ชาวบ้านเรียนรู้ที่จะใช้ภูมิปัญญาและเทคโนโลยี จัดการและสงวนให้ธรรมชาติยังดำรงอยู่ได้ต่อไปได้” มล-จิราวรรณ คำซาว สมาชิกภาคีฯ และนักวิจัยจุลชีววิทยาชาวเชียงดาวเอ่ยขึ้น

ป่าเชียงดาวเป็นถิ่นกำเนิดสมุนไพรหายากหลายชนิดของกระทรวงสาธารณสุข ตอนนี้ชาวบ้านกำลังต่อยอดสมุนไพรเป็นรายได้ โดยแทนที่จะเข้าป่าไปเก็บสมุนไพรอยู่เรื่อยๆ พวกเขาเลือกใช้เทคโนโลยีมาทำให้เพาะปลูกในเชิงเกษตรกรรมได้ 

“บริบทพื้นที่ฤดูกาลที่ชัดเจนของเชียงดาว ร้อน ฝน หนาว ทำให้เกษตรกรปลูกพืชได้หลากหลาย ทั้งยังเป็นพื้นที่ต้นแม่น้ำปิง ทำให้ปลูกพืชอินทรีย์ได้อย่างมีคุณภาพ” แหม่ม-ศรัณยา กิตติคุณไพศาล สมาชิกภาคีฯ ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญในการสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์เชียงดาว เจียงดาว ออร์แกนิก ที่เน้นการขยายชุมชนอินทรีย์ไปยังพื้นที่ป่าต้นน้ำรอบๆ ดอยหลวงเชียงดาว เพื่อให้เกิดการดูแลรักษาธรรมชาติอย่างยั่งยืน

เราได้ไปเยี่ยมชมสวนบัวชมพู ณ จอมคีรี ซึ่งเพาะปลูกพืชพรรณทุกชนิดอย่างอินทรีย์ ตั้งแต่ข้าว ถั่ว อโวคาโด สตรอว์เบอร์รี่ กุหลาบ เก๊กฮวย อัญชัน จากนั้นนำไปแปรรูปต่อยอดเป็นหลากหลายผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ อย่างกุหลาบในแปลงสุดลูกหูลูกตาตรงหน้า ถูกนำไปอบและแปรรูปเป็นชาดอกไม้อินทรีย์กลิ่นหอมกรุ่น

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

แหม่มเล่าว่า การสร้างเครือข่ายคือหนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านเชื่อว่า เกษตรกรรมแบบไม่พึ่งพาสารเคมีจะช่วยให้พวกเขามีอยู่มีกินอย่างยั่งยืน เพราะการรวมตัวกันทำให้เกิดการส่งต่อองค์ความรู้ และทำให้กลุ่มเกษตรกรมีผลผลิตมากพอที่จะส่งให้ลูกค้าตลอดทั้งปี เพิ่มความมั่นใจและความแข็งแกร่งให้ตลาดของเกษตรอินทรีย์เชียงดาว ทั้งหมดคือหนึ่งในกลไกการทำงานร่วมกับชุมชมชนเผ่าต่างๆ ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อให้เขาผู้อยู่กับป่าเหล่านั้นเป็นผู้ที่ดูแลผืนป่าและทรัพยากรของเราทุกคน

04

คืนความสัมพันธ์กับธรรมชาติ

ไฮไลต์ของวันนี้ คือกิจกรรมคืนความสัมพันธ์กับธรรมชาติ (Nature Reconnect) เพื่อเปิดประสาทสัมผัสของเราให้พร้อม ก่อนเดินเท้าขึ้นไปถ่ายทำสารคดีตามเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติสู่ยอดดอยหลวงเชียงดาว ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว 

เราเดินทางไปยังจุดหมายถัดไป นั่นคือสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว ห้องทำงานในผืนป่ากว้างใหญ่ของเหล่านักวิจัยและนักอนุรักษ์ ป่าเชียงดาวเป็นบ้านของสัตว์หลายร้อยสายพันธุ์ เฉพาะปลาที่อาศัยอยู่ในลำธารที่ฉันเดินเลาะไปอยู่นี้ก็มีมากกว่า 90 ชนิด

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

โอ๊คชี้ชวนให้ดูหินก้อนเล็กที่กระจัดกระจายทั่วบริเวณลำธาร หินเหล่านี้ทำให้เกิดคลื่นเล็กๆ ที่เติมออกซิเจนให้สายน้ำอยู่ตลอดเวลา เมื่อก้มลงมองใกล้ๆ จะเห็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กนานาชนิด ตั้งแต่เห็ด กบไปจนถึงแมลงน้ำที่อาศัยที่นี่เป็นบ้าน

ความสนุกเริ่มขึ้นเมื่อฉันและทีมสารคดีได้รับตลับกระดาษขนาดเล็ก โอ๊คสาธิตให้ดูว่าหินเหล่านี้สามารถขูดขีดกันจนกลายเป็นเนื้อสีเหลวๆ ที่ไม่ซ้ำกันเลยสักเฉดเดียว และเราเก็บความทรงจำของการเดินทางครั้งนี้ผ่านสิ่งเล็กๆ อย่างสีหินที่ไม่กระทบต่อธรรมชาติได้ 

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

เบลล์ลองเอาสีที่ค้นพบมาแต่งแต้มใบหน้า เพราะเคยเห็นหลายคนเดินทางมาที่นี่พร้อมโอ๊คและทดลองทำพาเลตเครื่องสำอางจากธรรมชาติ โดยเฉพาะหินเหล่านี้ที่ให้สีโทนสวยน่ารัก

ตลอดวันที่ได้หวนคืนความสัมพันธ์กับธรรมชาติ ตั้งแต่การถอดรองเท้าเดินบนพื้นดินเมื่อเช้า มาจนถึงกิจกรรมภูเขาใบไม้ สีเขียวสีเดียว หน้าต่างใบไม้ และเฉดสีของหินแห่งเชียงดาว ฉันค้นพบว่า แม้แต่ใบไม้ที่สีซีดจางและผุพังก็ยังงดงามในแบบของมันเอง เป็นความธรรมดาแสนพิเศษที่เราหลงลืมไป เมื่อห่างไกลจากธรรมชาติ 

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

ธรรมชาติคือนวัตกรและศิลปินที่ชวนอัศจรรย์ที่สุด รูปทรงใบไม้ไม่เคยซ้ำกัน เช่นเดียวกับสีสันที่มีนับล้านเฉด เมื่อนำตลับกระดาษมาวางเรียงกัน เฉดสีหินเชียงดาวที่แต่ละคนเก็บรวบรวมได้เป็นเชียงดาวโทนนั้นไม่เหมือนกันเลยแม้แต่นิดเดียว 

แคบลงจากมุมมองของมนุษย์ ธรรมชาติมีรายละเอียดให้ค้นหาลงไปเรื่อยๆ ไม่มีที่สิ้นสุด การท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อธรรมชาติ เริ่มต้นตั้งแต่วินาทีที่เราเข้าใจว่าธรรมชาตินั้นแสนยิ่งใหญ่ และเราเป็นแค่มนุษย์เล็กๆ คนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเท่านั้น

05

ทุกอย่างในโลกล้วนสัมพันธ์กัน

ค่ำวันนั้น พวกเราลงมือทำขนมปังกับ โรส-วริศรา มหากายี สมาชิกอีกคนของภาคีฯ การทำขนมปังเกี่ยวข้องหรือส่งผลกับการเดินทางระยะไกลสู่ดอยหลวงเชียงดาวในวันพรุ่งนี้ของพวกเราอย่างนั้นหรือ นี่คือบทเรียนการเปิดประสาทสัมผัสในสตูดิโอสอนทำขนมปังที่เชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ของมนุษย์และธรรมชาติอย่างเหลือเชื่อ 

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

อย่างแรก ขนมปังมีส่วนผสมหลักเพียง 4 อย่างเท่านั้น คือแป้ง น้ำ ยีสต์ และเกลือ การที่ส่วนผสมเหล่านี้จะขึ้นรูปเป็นก้อนแป้ง อบสุกกลายเป็นขนมปังขึ้นมาได้ เราต้องใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ 

การสัมผัส สำหรับนวดปั้นแป้ง สัมผัสความเนียนนุ่มและตรวจสอบอุณหภูมิ

การมองเห็น สำหรับตรวจสอบปริมาณและสีสันของส่วนผสม

การลิ้มรส สำหรับชิมส่วนผสมอื่นๆ เช่น นม เนย น้ำตาล ที่ทำให้ขนมปังของเรามีรสชาติรื่นรมย์ขึ้น นอกเหนือจากส่วนผสมหลัก 

การได้ยิน สำหรับฟังเสียงยีสต์ทำงานในก้อนแป้ง เมื่อเราลงมือนวดเพื่อขึ้นรูปแป้ง

การได้กลิ่น ไว้ดมกลิ่นของส่วนผสม และตรวจสอบเมื่อขนมปังหอมกรุ่นพร้อมออกจากเตา

เปรียบกับการเดินทางเข้าสู่ธรรมชาติที่ต้องอาศัยประสาทสัมผัสทั้ง 5 เช่นกัน ทุกย่างก้าวที่เหยียบย่ำไป คือการสัมผัส มองเห็น ลิ้มรส ได้ยิน และได้กลิ่น สิ่งแวดล้อมรอบตัว เมื่ออยู่ภายใต้ความน่าเกรงขามอันยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ การเดินทางภายนอกจะพาเราเข้าสู่การเดินทางดำดิ่งลึกลงสู่ภายในตัวเอง ดังนั้นแม้จะเดินทางเป็นหมู่คณะ แต่สุดท้ายเราล้วนต้องอยู่กับประสาทสัมผัสของตัวเอง

อย่างที่ 2 การนวดแป้งสะท้อนอารมณ์และบุคลิกของผู้ทำ หากเรามั่นใจจนนวดแรงเกินไป แป้งที่ขึ้นรูปเป็นขนมปังจะแห้งและแข็งกระด้าง หากเราพะว้าพะวัง นวดช้าเกินไปด้วยความไม่มั่นใจ แป้งก็จะเหลวติดมือ ไม่ขึ้นรูปเป็นก้อน การทำขนมปังบางจังหวะสอนให้เรารู้จักอ่อนน้อม แต่ในบางจังหวะก็สอนให้เรามั่นใจ

เช่นเดียวกับการเดินทางอยู่ใต้ร่มเงาของธรรมชาติ เราต้องมั่นใจมากพอที่จะก้าวข้ามอุปสรรคบางอย่าง แต่ก็ต้องไม่หยิ่งผยองในความสามารถ และเรียนรู้ที่จะแสดงความเคารพธรรมชาติอย่างอ่อนน้อมเช่นกัน

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

06

พื้นที่สงวนชีวมณฑล

วันรุ่งขึ้น ฉันตื่นตั้งแต่ตี 3 เพื่อเดินทางจากตัวเมืองอำเภอเชียงดาวขึ้นไปยังหน่วยพิทักษ์ป่าเด่นหญ้าขัด เพื่อเตรียมเดินเท้า 8.5 กิโลเมตรสู่ยอดดอย ไม่ต้องถามถึงสัญญาณโทรศัพท์ เพราะขาดหายไปตั้งแต่ยังไม่ถึงตีนดอยหลวงเชียงดาวเลย

หลายคนอาจไม่รู้ว่า ปีที่ผ่านมาดอยหลวงเชียงดาวได้รับการคัดเลือกเพื่อเสนอเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล (Biosphere Reserve) ขององค์การศึกษาวิยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) แห่งใหม่ของประเทศไทย

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

ก่อนออกเดินทาง หัวหน้ามล-วิมลมาศ นุ้ยภักดี ผู้จัดการพื้นที่สงวนชีวมณฑลแม่สา-คอกม้า จังหวัดเชียงใหม่ และหัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำแม่ตะมาน อธิบายให้ฟังว่า “พื้นที่สงวนชีวมณฑล (Biosphere Reserve) คือพื้นที่สงวนทั้งบนบกและชายฝั่งที่ได้รับการยอมรับโดยนานาประเทศ เพื่อใช้เป็นแหล่งอนุรักษ์ เป็นที่สงวนความหลากหลายทางธรรมชาติและวัฒนธรรม เป็นแหล่งให้ทักษะและคุณค่าของมนุษย์ เป็นต้นแบบในการจัดการพื้นที่และการพัฒนาที่ยั่งยืน

“ดอยหลวงเชียงดาวเป็นเทือกเขาหินปูนทั้งลูก และเป็นตอนท้ายของเทือกเขาหิมาลัย ทำให้พืชพรรณที่นี่มีเอกลักษณ์มาก เราเรียกว่าสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ (Subalpine Vegetation) ชุมชนที่อยู่รอบพื้นที่มีความหลากหลายทั้งทางชาติพันธุ์และวิถีชีวิต ที่สำคัญ เศรษฐกิจชุมชนมาจากการเกษตรและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ”

ความดีงามของการเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล คือไม่ได้ให้ความสำคัญแค่การสงวนรักษาทรัพยากรเท่านั้น แต่มุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ และพัฒนาพื้นที่ของชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืนและเหมาะสม รวมถึงการเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยเพื่อส่งต่อองค์ความรู้เรื่องธรรมชาติต่อไปให้คนรุ่นหลังด้วย

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

ซึ่งสอดคล้องกับที่ หัวหน้าวุฒิ-วุฒิชัย โสมวิภาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ได้กล่าวไว้ว่า “เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า มีวัตถุประสงค์ตามชื่อคือการรักษาสืบทอดพันธุ์สัตว์ป่า มีการบริหารจัดการพื้นที่ต่างจากอุทยานแห่งชาติ จึงนิยามการเข้าไปในพื้นที่ดอยหลวงเชียงดาวแห่งนี้ว่าเป็นการศึกษาธรรมชาติ และขอให้ผู้ที่เข้าไปตระหนักว่าตนเองกำลังเป็นนักศึกษาธรรมชาติ ไม่ใช่นักท่องเที่ยวธรรมดา ขอให้เข้าไปด้วยมุมมองที่ต้องการเรียนรู้ พร้อมกับรักษากฎกติกา และดูแลรักษาธรรมชาติให้อยู่กับเราไปนานๆ” 

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

หัวหน้าหมู-มงคล สาฟูวงศ์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว ช่วยเสริมว่า “เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติดอยหลวงเชียงดาวที่เปิดเป็นเวลาสี่เดือนต่อปี ให้คนทั่วไปเข้ามาเรียนรู้ธรรมชาติได้ เป็นเส้นทางที่ทับซ้อนกับถิ่นที่อยู่ของกวางผา หนึ่งในสัตว์ป่าสงวนของไทย โดยพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวมีการพบจำนวนกวางผามากที่สุดในประเทศไทย” 

เมื่อนักท่องเที่ยวทิ้งทิชชูเปียกหรือขยะอื่นๆ ไว้ตามเส้นทาง กวางผาและสัตว์ป่าอื่นๆ เข้าใจว่าเป็นอาหาร เผลอกินเข้าไป กลายเป็นปัญหาสุขภาพที่คร่าชีวิตสัตว์ป่าตัวนั้นๆ ได้ ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวจึงมีมาตรการเข้มงวด ให้นักศึกษาธรรมชาติทุกคนที่ขึ้นไปยังดอยหลวงเชียงดาวต้องรายงานสิ่งของที่เอาขึ้นไป และต้องกลับลงมาพร้อมขยะครบชิ้น รวมถึงการขับถ่ายเบาในถุงขับถ่ายและนำลงมาทิ้งข้างล่างด้วย

นี่คือตัวอย่างของการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบ นำอะไรติดตัวเข้าไปในผืนป่า ต้องนำกลับออกมาให้หมด

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

07

ห้องเรียนธรรมชาติในผืนป่า

ฝนที่ตกโปรยปรายตั้งแต่เช้า ทำให้เส้นทางชื้นแฉะชวนให้ลื่นไถล ลูกหาบหลายสิบคนขนอุปกรณ์ตั้งแคมป์ สัมภาระ และอาหารกล่อง สำหรับพวกเราทุกคน รวมถึงอุปกรณ์ถ่ายทำสารคดีบางส่วนล่วงหน้าขึ้นไปก่อนอย่างคล่องแคล่ว 

พึงระลึกไว้ว่า ตลอดการเดินทางในครั้งนี้ เราไม่หยิบยืมทรัพยากรใดๆ จากธรรมชาติ ใช้เฉพาะสิ่งที่เรานำติดตัวไปเท่านั้น และเมื่อตัดสินใจเดินทางเข้าสู่ธรรมชาติ เราต้องยอมสละความสะดวกสบายบางอย่าง ดังนั้น เตรียมกายและใจ เรียนรู้ที่จะดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายที่สุดด้วยข้าวของไม่กี่ชิ้น บนพื้นที่ธรรมชาติที่ไม่มีอาคารบ้านพัก ไม่มีน้ำ และไม่มีไฟฟ้า 

ก่อนย่างเท้าเข้าสู่ผืนป่าอันศักดิ์สิทธิ์ ฉันร่วมทำพิธีไหว้เจ้าหลวงคำแดงและเทพอารักษ์ รวมถึงพิธีหับปากสัตว์ บูชาเจ้าที่ประตูป่าเพื่อให้แคล้วคลาดจากอันตราย และทุกคนต้องล้างมือด้วยดินในป่า เพื่อชำระจุลินทรีย์แปลกปลอมจากมือเราไม่ให้เข้าไปปะปนกับระบบนิเวศในป่า

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

หลังเดินฝ่าละอองฝนในม่านหมอกที่ปกคลุมทั่วป่ามาได้ระยะหนึ่ง เบื้องหน้าคือแนวรั้วลวดสูง อัดในฐานะผู้กำกับสารคดีสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่อย่างคล่องแคล่ว หัวหน้ามงคลอธิบายว่า ทางสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาวมีโครงการปล่อยกวางผาสู่ธรรมชาติ เพื่อเพิ่มปริมาณและความหลากหลายของสายเลือดของกวางผาตามธรรมชาติ 

“เราไม่สามารถปล่อยกวางผาที่ถูกเพาะเลี้ยงในกรงเลี้ยงทั้งชีวิตไปในผืนป่าในทันที เพราะพวกมันยังปรับตัวไม่ได้ จึงต้องล้อมรั้วไว้ในป่า เพื่อให้พวกมันทดลองใช้ชีวิตในนี้และเป็นการปรับตัวระยะหนึ่งก่อน จึงจะปล่อยไปเข้าฝูงตามธรรมชาติได้” โดยตอนนี้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่ที่มีจำนวนสัตว์ป่าสงวนอย่างกวางผามากที่สุดในประเทศไทย

เดินมาอีกราว 1 – 2 ชั่วโมง เสียงพูดคุยของคณะเดินทางในตอนแรกค่อยๆ แผ่วลงกลายเป็นเสียงหายใจหอบ ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ที่ซักซ้อมในห้องเรียนธรรมชาติเมื่อวานถูกงัดมาใช้อย่างเต็มที่เมื่อทางเดินเริ่มลาดชัน ก้าวพลาดครั้งเดียวอาจไถลลื่นตกผาเลยเป็นได้ 

ทุกคนเดินอย่างจดจ่อตั้งใจ ตาระแวดระวัง เงี่ยหูฟังเสียงสรรพสัตว์ ฉันรู้สึกว่านี่คือการเดินสมาธิดีๆ นี่เอง 

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

เราหยุดเดินอีกครั้งเพื่อกินอาหารเที่ยง ระพินทร์-สุรวัช คงตระกูล ภาคีฯ และนักพฤกษศาสตร์ผู้เดินเท้าขึ้นมาสำรวจพืชพรรณบนดอยหลวงเชียงดาวมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ชี้ให้ดูต้นเทียนนกแก้วที่สะพรั่งไปทั่วบริเวณ ดอกไม้วงศ์ถั่วสีม่วงนี้คือหนึ่งในพืชถิ่นเดียว (Endemic) ที่พบบนดอยหลวงเชียงดาวเท่านั้น

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

ทุกชั่วโมงที่เดิน สภาพป่าข้างตัวจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ นั่นเพราะดอยเชียงดาวมีป่าหลากหลายประเภทผสมผสานกันไล่ตามระดับความสูง ตั้งแต่ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าสนเขา ป่าดิบเขาสูง จนถึงสังคมพืชป่าละเมาะเขาสูง หรือที่หัวหน้ามลเรียกว่าสังคมพืชกึ่งอัลไพน์ ซึ่งพบที่นี่เท่านั้นในประเทศไทย

ปลายฝนต้นหนาวที่ชุ่มฉ่ำไปด้วยสีเขียวชอุ่มทั่วทั้งป่า จนแทบไม่น่าเชื่อว่าเมื่อปีกว่าที่ผ่านมา พื้นที่เกือบครึ่งของที่นี่ถูกไฟป่าโหมลุกไหม้อย่างหนัก 

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

หัวหน้าเอ-นัยนา เทศนา นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ กลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช อธิบายว่า “พรรณไม้หายากที่พบบนดอยหลวงเชียงดาวส่วนใหญ่ อย่างเทียนนกแก้วหรือพืชถิ่นเดียวของไทยอย่างชมพูเชียงดาว คือไม้พุ่มที่เป็นเหง้าใต้ดิน ซึ่งมีวัฏจักรชีวิตล้มลุกอยู่แล้ว พวกมันออกดอกในฤดูฝน จากนั้นทิ้งใบและแห้งเหี่ยวไปในฤดูแล้ง โดยที่เหง้ายังคงฝังอยู่ใต้ดิน เมื่อฝนฤดูใหม่มาถึงพวกมันก็กลับมาผลิบานอีกครั้ง”

08

ดอยสูงเสียดฟ้า ที่ไม่ปรารถนาผู้พิชิต

ยิ่งสูงยิ่งหนาว คือคำกล่าวที่แสนจะจริงแท้ ในที่สุดฉันก็เดินไต่ดอยเตาะแตะมาจนถึงอ่างสลุง จุดตั้งแคมป์ใกล้ยอดดอยหลวงเชียงดาวที่สุด ณ จุดนี้ฉันขอปรบมือให้ทีมสารคดีจากนาดาวบางกอก ทั้งน้องๆ นักแสดงเบื้องหน้าที่เดินไป ดำเนินรายการไป ทีมช่างภาพวิดีโอที่ต้องถ่ายไปด้วยในทุกสถานการณ์ ทีมย้งที่ดูแลนักแสดง รวมถึง แนน-ชลธิชา ชูจิตร และ อั้ม-พงศ์พัฒน์ โล่ห์สุวรรณ สมาชิกภาคีฯ ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลเรื่องอาหารน้ำท่าของประทังชีพทั้งหมดของคณะ พี่ๆ ช่างภาพภาคีที่ต้องแบกกล้องกันคนละหลายตัว รวมถึงพี่ๆ หัวหน้าและเจ้าหน้าที่ที่แบกของหนักอึ้ง และยังต้องดูแลพวกเราไปตลอดทาง ฉันเองแค่เดินอย่างเดียวยังแทบเป็นลม

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

จัดแจงเต็นท์ที่พักคืนนี้เรียบร้อย พักหายใจหายคอแล้วเดินทางมุ่งหน้าขึ้นสู่ยอดดอยหลวงเชียงดาว ไม่นานเราก็มาถึงจุดสูงสุด แม้จะยังไม่พลบค่ำ แต่ดวงอาทิตย์กลับซ่อนตัวอยู่ในกลีบเมฆ ไม่มีท่าทีจะโผล่ออกมาทักทาย ทำให้ลมที่พัดแรงยิ่งหนาวบาดใจ

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

แม้เมฆลมจะไม่เป็นใจ ทำให้แผนการเดิมของทีมสารคดีที่จะขึ้นมาถ่ายทัศนียภาพพระอาทิตย์ตกบนยอดดอยหลวงเป็นอันต้องล่มไป แต่ทุกคนยังมีความสุขและภาคภูมิใจกับสองมือสองเท้าของตัวเองที่พาเราขึ้นมาอยู่บนจุดที่สูง 2,225 เมตรจากระดับน้ำทะเล ดอยที่สูงเป็นอันดับ 2 ที่มนุษย์เดินถึงได้ในประเทศไทย ใครหลายคนกล่าวไว้ว่าจุดหมายปลายทาง ไม่สำคัญเท่าเรื่องราวระหว่างทางที่ได้พบเจอ

ค่ำคืนนั้นที่ลานกางเต็นท์ เรากินอาหารจากเชฟชาวเชียงดาวที่ปรุงใส่กล่องแบบใช้ซ้ำมาให้ กล่องอาหารเหล่านี้จะถูกหมุนเวียนใช้ไปหลายร้อยครั้ง ท่ามกลางบทสนทนาแผ่วเบาของพวกเรา ฉันมั่นใจว่าตัวเองได้ยินเสียงร้อง และเสียงฝีเท้าแหวกพงหญ้าในความมืดของกวางผาจากที่ไกลๆ

บนเส้นทางศึกษาธรรมชาติดอยหลวงเชียงดาว มีจุดตั้งแคมป์แค่บริเวณอ่างสลุงนี้ ห้ามนักศึกษาธรรมชาติตั้งแคมป์ที่จุดอื่นเพื่อความปลอดภัยและเพื่อไม่เป็นการรบกวนสัตว์ป่า โดยแต่ละคนได้รับอนุญาตให้ค้างคืนได้เพียงคืนเดียวเท่านั้น และแม้จะหนาวแค่ไหน ห้ามก่อฟืนจุดไฟบนดอยแห่งนี้เด็ดขาด เพื่อป้องกันเพลิงที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

ก่อนนอน ทีมสารคดีคุยกันว่าถ้ารุ่งเช้าอากาศเป็นใจ จะเดินขึ้นยอดดอยหลวงอีกครั้งเพื่อดื่มด่ำและเก็บภาพพระอาทิตย์ขึ้น ฉันหมายมั่นว่าจะติดสอยห้อยตามทีมสารคดีไปด้วย แต่ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้น เมฆยังห่มตัวบนยอดดอยหลวงอย่างหนาแน่น ทำให้แผนการเดินขึ้นไปเห็นแสงแรกของวันเป็นอันต้องล่มไปอีกครั้ง

หลังกินข้าวเช้า เราช่วยกับเก็บข้าวของทุกชิ้น ย้ำว่าทุกชิ้นจริงๆ แม้แต่กระดาษทิชชูใช้แล้วก็ต้องนำกลับลงไปเข้ากระบวนการจำกัดขยะมูลฝอยอย่างถูกต้อง และเมื่อทุกคนพร้อมเดินทาง จุดตั้งแคมป์ตรงหน้าที่เมื่อคืนเรียงรายไปด้วยเต็นท์กลับคืนสู่ความว่างเปล่าอีกครั้ง มีเพียงร่องรอยของหญ้าคาที่ถูกถางออกเล็กน้อย และพวกมันจะฟื้นคืนกลับมาในไม่ช้า

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

ระหว่างทางขาลง อาจเพราะไม่เหนื่อยหอบอย่างตอนขาขึ้น ฉันจึงมีเวลาพิจารณาทิวทัศน์อันงดงามมโหฬารตรงหน้า ความน่าทึ่งของดอยหลวงเชียงดาว คือทิวเขาสลับซับซ้อนที่เปลี่ยนโฉมทุกครั้งเมื่อแหงนหน้าขึ้นมอง ทั้งที่เป็นดอยลูกเดียวกันแท้ๆ

แสงแดดยามสายส่องแรงขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดท้องฟ้าก็เปิดโล่ง ฉันหันกลับไปมองแต่ไม่เห็นยอดดอยหลวงเสียแล้ว แต่ไม่เป็นไร เพราะแสงทองที่ส่องสะท้อนดอยสามพี่น้องเบื้องหน้าก็งดงามตระการตาเพียงพอแล้ว

09

ฟังเสียงหัวใจตัวเอง

กว่าจะกลับลงมาถึงตัวเมืองอำเภอเชียงดาวอีกครั้งก็เป็นเวลาพลบค่ำ ได้อาบน้ำอีกครั้งหลังร่างกายผ่านสมรภูมิชุ่มเหงื่อแล้วแห้งหลายครั้งตลอดเส้นทางขึ้นและลงจากยอดดอยหลวงเชียงดาว 

คืนสุดท้าย หลังอาหารค่ำแบบตลาดโบราณทางเหนือหรือที่เรียกว่ากาดหมั้ว ภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาวชวนทีมสารคดีจากนาดาวบางกอก และเพื่อนร่วมทางทุกคนนั่งล้อมวงกันแลกเปลี่ยนเรื่องราว การเรียนรู้ของตัวเองที่ได้ค้นพบตลอด 3 วันแห่งการคืนความสัมพันธ์กับธรรมชาติที่ผ่านมา

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

จริงๆ เรื่องราวทั้งหมดเริ่มจากภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาวติดต่อนาดาวบางกอก เพราะอยากให้ต่อช่วยมาเป็นกระบอกเสียงเรื่องการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบ แต่เมื่อที่ย้งได้ยินเรื่องโปรเจกต์นี้เข้าก็สนใจทันที

“อย่างแรก จุดประสงค์หลักของภาคีฯ ไม่ได้ต้องการทำสารคดีเพื่อเชิญชวนคนมาท่องเที่ยวดอยหลวงเชียงดาว แต่เป็นการให้ความรู้กับคนในการเดินทางเข้าสู่ธรรมชาติอย่างรบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด เราต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ฐานะนักเดินทางที่ดี ไม่เฉพาะที่นี่ แต่ทุกๆ ในโลกที่คุณไป

“อย่างต่อมา ผมเป็นคนชอบเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทยมาก สมัยวัยรุ่นนี่ไปมาหมดแล้ว ภูกระดึงขึ้นมาหกรอบ ผมเริ่มต้นด้วยการทำรายการท่องเที่ยวด้วยซ้ำ เพราะอยากท่องเที่ยวในเมืองไทยให้มากที่สุด แต่มีอยู่ไม่กี่ที่ ที่ไม่ได้ไปสักที หนึ่งในนั้นคือดอยหลวงเชียงดาว พออายุมากขึ้น ถึงจุดหนึ่งคิดว่าคงไม่ได้ขึ้นแล้วแน่ๆ พอภาคีฯ ติดต่อมา คิดว่านี่คือโอกาสที่จะได้มาสัมผัสธรรมชาติของตัวเองด้วย จึงบอกภาคีฯ ไปว่า นาดาวขอเป็นผู้ผลิตและถ่ายทำให้

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

“แล้วก็ไม่ผิดหวังเลย เพราะนี่ไม่ใช่แค่การกลับมาคืนความสัมพันธ์กับธรรมชาติเท่านั้น แต่ทุกกระบวนการของภาคีฯ ทำให้ผมได้เข้าใจตัวเองมากขึ้น อย่างห้องเรียนทำขนมปังของพี่โรส สุดท้ายมันไม่ใช่เรื่องสูตรที่ตายตัว แต่เป็นเรื่องของความรู้สึกและความพอใจของเราต่างหาก เป็นมุมมองที่น่าจะนำกลับไปปรับกับการทำงานได้เยอะเลยครับ”

ย้งบอกว่า สมัยเด็กๆ เดินขึ้นดอยเพื่อไปพิชิต และแบกความคาดหวังที่จะต้องเห็นแสงอาทิตย์หรืออะไรบางอย่างไปด้วยตลอดทาง ถ้าขึ้นไปจนถึงยอดแล้วไม่เห็นจะรู้สึกผิดหวังมาก

“แต่การเดินทางครั้งนี้ต่างออกไป ถ้าไม่นับว่ามาถ่ายสารคดี แล้วอยากเก็บภาพที่เห็นความสวยงามจากยอดดอยให้ผู้ชมทางบ้าน ผมรู้สึกดีกับทุกสิ่งที่พบเจอ แม้ท้องฟ้าปิด เห็นแค่เมฆหมอกบนยอดดอยหลวงเท่านั้น แต่มันก็มีความสวยงามของมัน ป่าที่มีหมอกก็สวย มันก็คือประสบการณ์แบบหนึ่ง และคนที่มาตอนท้องฟ้าเปิดก็มีประสบการณ์อีกรูปแบบที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง”

 HangOver Thailand 2020 “เชียงดาว Nature Reconnect” จึงเป็นการเดินทางของเพื่อน 4 คน เพราะแต่ละคนมีเรื่องราวและความสัมพันธ์ที่ผ่านมากับธรรมชาติไม่เหมือนกัน เมื่อได้มาพบประสบการณ์เดียวกัน แน่นอนว่าพวกเขาจะมีมุมมองและปฏิกิริยาที่ต่างกัน ทำให้เรื่องราวในสารคดีมีมิติ และเชื่อมโยงกับคนหลากหลายกลุ่มได้มากขึ้น 

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

10

บทเรียนครั้งสำคัญ

แม้จะเป็นการกำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่องแรก แต่ฉันเห็นความตั้งใจทุ่มเทและความอินเรื่องสิ่งแวดล้อมของอัด จากที่แอบติดตามโซเชียลมีเดียเขาอยู่เงียบๆ ฉันเห็นอัดชวนเพื่อนไปเก็บขยะชายหาด ทำ Beach Cleanup อยู่เสมอ และยังทำเพจเฟซบุ๊ค Save Thailay เพื่อสื่อสารและสร้างคอมมูนิตี้คนที่รักและอยากรักษาท้องทะเลอีกด้วย

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

“ก่อนหน้านี้ผมไม่ค่อยได้อยู่กับภูเขาหรือสีเขียวเท่าไหร่ ถ้าไม่อยู่ในเมืองก็จะไปทะเลเลย การทำกิจกรรมคืนความสัมพันธ์กับธรรมชาติกับพี่โอ๊ค คือการเปิดโลกของผมมากๆ จากคนที่ไม่ชอบโคลน ไม่ชอบความเลอะ พอเปิดใจ มันทำให้ผมเปลี่ยนมุมมอง โคลนก็คือธรรมชาติ และธรรมชาติคือทุกอย่างรอบตัวที่จะอยู่กับเราตลอดชีวิตนี้ อย่าไปคิดเยอะ (ยิ้ม)

“ที่ป่าชุมชนบ้านหัวทุ่ง พี่โอ๊คให้เราเดินเงียบๆ สำรวจป่าคนเดียว และระหว่างเส้นทางเดินขึ้นสู่ยอดดอยหลวง มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เราเดินไปในธรรมชาติ สำรวจความคิดอยู่กับตัวเองคนเดียว แม้จะมีเพื่อนร่วมทางอีกหลายสิบคนก็ตาม ผมชอบสิ่งนี้มาก เพราะถ้าเดินอยู่ในกรุงเทพฯ สิ่งนี้ไม่มีทางเกิดขึ้นแน่ๆ”

ต่อบอกว่าการขึ้นมาเจอเจ้าหน้าที่และภาคีฯ เป็นสิ่งที่ล้ำค่า “ความรู้สึกที่ใหญ่ที่สุดของผมในนาทีนี้คือความรู้สึกขอบคุณ พลังบวกที่ได้รับมาจากความยิ่งใหญ่ของดอยหลวงส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งคือความจริงใจของทุกคน ก่อนหน้านี้ผมคิดว่าตัวเองรักธรรมชาติ แต่พอได้มาเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่ คงพูดได้แค่ว่าผมชอบธรรมชาติ เพราะตัวผมเทียบไม่ได้เลยกับพี่ๆ ทุกคนที่ตั้งใจทำงานปกป้องดอยหลวงเชียงดาวมาตลอดหลายสิบปี

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

“ทุกประสบการณ์ที่ได้รับ สำหรับผม มันอธิบายออกมาเป็นคำพูดยากมาก บอกออกมาเป็นข้อๆ ไม่ได้ว่าการเปิดประสาทสัมผัสทำให้ผมเรียนรู้อะไร แต่ผมรู้ทันทีว่านี่แหละ ใช่ เมื่อเราก้าวเข้าไปในพื้นที่ธรรมชาติบนดอยเชียงดาว

“ผมรู้สึกโชคดีจังเลยที่ได้มาเจอคนกลุ่มเล็กๆ ที่ทุ่มเทให้ธรรมชาติขนาดนี้ และให้โอกาสผมได้เป็นส่วนหนึ่งกับการทำงานครั้งนี้ พอได้เข้าใจแก่นของการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบแล้ว ผมอยากส่งต่อเรื่องนี้ สื่อสารไปให้ไกลเท่าที่จะทำได้ นี่เป็นการเดินขึ้นดอยครั้งแรกของผม และเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่สำคัญที่สุดในชีวิตผมเลย” 

เบลล์เล่าย้อนกลับไปตอนที่เธอได้อ่านบรีฟงานสารคดีครั้งแรก “ก่อนขึ้นมาที่เชียงดาว เรามีคำถามเยอะแยะเลย ภาคีฯ ทำอะไร กิจกรรมคืนความสัมพันธ์กับธรรมชาติคืออะไร แต่พอขึ้นมาถึง ทุกคำถามถูกตอบด้วยการได้เห็นกับตา ได้ทำกับมือ ได้สัมผัสความตั้งใจ กลายเป็นความเข้าใจแทน

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

“ทุกอย่างที่ได้เรียนรู้ตลอดสามวันนี้ค่อยๆ ขยายขอบเขตบางอย่างในตัวเราที่เคยถูกจำกัดไว้ เราได้เรียนรู้ที่จะมองโลกให้ลึกขึ้น ละเอียดละอ่อนขึ้น ในสีเขียวของใบไม้ยังมีรายละเอียดอีกมากมายซ่อนอยู่ แม้แต่ในขนมปังก็ยังมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อย่างยีสต์อยู่ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราได้นำไปใช้มองธรรมชาติตอนเดินขึ้นดอยหลวงเชียงดาว และจะถูกนำกลับไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันด้วย

“นาทีนี้เลยรู้สึกว่าตั้งแต่ลงมาจากดอยหลวงเชียงดาว เรากลัวสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อย่างพวกแมลงน้อยลงมาก จากที่เมื่อก่อนเห็นแล้วสะดุ้ง (ยิ้ม) ตอนนี้เรามีสติ เพราะตระหนักได้ว่าเขาคือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เป็นความเมื่อยขาที่คุ้มค่ากับบทเรียนที่ได้รับมากค่ะ”

“นี่เป็นการเดินที่เหนื่อยที่สุดในชีวิตผมเลย” กันต์เล่าบ้าง “แต่ในความเหนื่อยมีสิ่งที่ได้เรียนรู้มากมาย ตลอดเส้นทางที่เดินและได้อยู่กับตัวเอง ความคิดผมไหลเร็วมาก นาทีที่แล้วหันไปมองหน้าผา คิดในใจถ้าตกลงไปแย่แน่เลย เราต้องระวังตัว นาทีต่อมาเริ่มเหนื่อย ความคิดเปลี่ยนทันที มาทำอะไรที่นี่เนี่ย เมื่อไหร่จะถึง พอขึ้นไปถึงยอดดอย โอ้โห มีความสุขอยากกลับมาอีก (ยิ้ม) ผมทึ่งที่ตัวเองตามทันความคิดตัวเอง

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

“ก่อนหน้านี้ผมกลัวการเดินเท้าเปล่ามาก ไม่ชอบดิน ไม่ชอบฝุ่น ถ้าในแก้วน้ำมีเศษผงอะไรลอยอยู่ เมื่อก่อนผมเททิ้งเลย แต่ตอนอยู่บนดอยหลวง ผมมือเลอะเปรอะโคลนไปหมด รินน้ำเพื่อดื่ม สังเกตมีอะไรอยู่ก้นขวด ลองมองดีๆ แค่เศษกิ่งไม้ ก็ดื่มได้ปกตินี่นา จริงๆ มันก็แค่นี้

“ปกติผมไม่ชอบความผิดพลาด แต่การเดินขึ้นยอดดอยหลวง ต้องยอมรับว่าลื่มล้มก้นกระแทก หน้าคว่ำหลายรอบ แต่ทุกครั้งที่ล้มลงไป ผมไม่หงุดหงิดอย่างเคย กลับเห็นมุมมองใหม่ๆ ความสวยของหยดน้ำที่เกาะบนยอดหญ้า แมงมุมชักใยบนกอไม้ ถ้าไม่ล้มก็คงไม่ได้เห็น นี่เป็นบทเรียนสำคัญว่าความผิดพลาดอาจพาเราไปสู่มุมมองใหม่ๆ ก็ได้”

นอกจากย้ง อัด ต่อ เบลล์และกันต์ ฉันเองรวมถึงทีมงานทุกคนได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวและสิ่งที่ตัวเองค้นพบ การเดินทางคือการออกจาก Comfort Zone นี่เอง เราจึงเปิดใจมองโลกกว้างและได้เรียนรู้อะไรมากกว่าที่เคย

ติดตามชมสารคดี Hangover Thailand “เชียงดาว Nature Reconnect” ได้ทาง Youtube : Nadao Bangkok 

ตามสมาชิกนาดาว HangOver Thailand ขึ้นดอยหลวงเชียงดาวไปเรียนรู้คุณค่าของผืนป่า

ภาพ : ภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาว

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน