Busui คือ เด็กใหม่

เราได้ยินชื่อ Busui Ajaw (บู้ซือ อาจอ) ครั้งแรกจากงาน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 โดยที่ยังไม่รู้จักและไม่เคยพูดคุยกันมาก่อน ใคร ๆ ต่างก็บอกว่าเธอคือศิลปินหญิงชาวอาข่าผู้ไม่เคยเรียนศิลปะ แต่ชอบวาดภาพตั้งแต่เด็ก และภาพของเธอก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพราะสื่อสารเรื่องราวจากประสบการณ์ตรงทั้งที่เห็นและไม่เห็นด้วยตา ผ่านสีสันและลายเส้นที่บางคนบอกว่า ‘ดิบ’ บ้างก็บอกว่า ‘แปลก’

แต่สำหรับเรา ผลงานของเธอ ‘น่าค้นหา’

ชื่อของ Busui ในภาษาอาข่า แปลว่า เด็กใหม่ เพราะเธอเกิดในเดือนมกราคม เดือนแรกของปีใหม่ และเมื่อ 2 ทศวรรษก่อน เธอก็ถือเป็นเด็กใหม่ของวงการศิลปะที่ไม่รู้จักทฤษฎีสี ไม่มีเทคนิคซับซ้อน ไม่รู้จักแสงเงา ไม่มีกรอบ มีเพียงจินตนาการและความเป็นธรรมชาติ ปล่อยมือให้ขีดเขียนอย่างอิสระ

ชีวิตของ Busui ช่วงวัยเด็กเกิดและโตในหมู่บ้านเล็ก ๆ ติดแม่น้ำใหญ่ใสสะอาด อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสาหร่าย กุ้ง หอย ปู ปลา เต่า ในป่าเขากว้างใหญ่ไพศาลก็เต็มไปด้วยสัตว์ป่าและพืชพรรณเกินคณานับ ชาวอาข่านับถือผี แต่ครอบครัวของเธอนับถือคริสต์ คุณพ่อมีอาชีพล่าสัตว์ ทำให้ต้องจากบ้านนานเป็นเดือน สิ่งที่ลูกสาวจำได้และยังประทับใจจนถึงตอนนี้จึงเป็นภาพคุณพ่อขี่แพไม้ไผ่กลับบ้านมาพร้อมอาหารมากมาย รวมไปถึงความทรงจำในวันที่กระโดดแม่น้ำเล่น จับหอยมาให้คุณแม่ทำอาหาร

ทุกอย่างคือความสุขที่ Busui อยากย้อนกลับไปสัมผัสอีกครั้ง แต่ทำไม่ได้ หลังจากโดนทหารเมียนมาร์รุกราน บุกยึดพื้นที่ทำกิน ดูดน้ำจากแม่น้ำจนเกือบเหือดแห้งเพื่อทำการเกษตร ขโมยไก่-หมูของชาวบ้านไปโดยไม่ได้รับอนุญาต กระทำชำเราหญิงสาว แจกจ่ายยาบ้าให้คนเสพติด และเริ่มไล่ชาวอาข่าออกจากบ้านของตัวเอง ครอบครัวของศิลปินหญิงคนนี้จึงตัดสินใจหนีข้ามเขาเพื่อมายังดินแดนที่จะได้เริ่มต้นชีวิตอีกครั้ง

เธอกลายเป็นเด็กใหม่บนแผ่นดินไทย

Busui คือต้นไม้ป่าที่ตั้งใจใช้ชีวิตให้ดีที่สุด

กราฟความสุขของ Busui พุ่งขึ้นสูงสุดในวัยเด็กและร่วงหล่นเมื่อต้องจากบ้านหลังแรก เมื่อย้ายมาแล้ว ความเป็นอยู่ในเมืองไทยก็ไม่ง่าย แม้หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของเธอขึ้นด้วยเลข 0 ซึ่งหมายถึงผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน แต่อาศัยในประเทศได้ ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ยังโดนกดขี่ กดค่าแรง เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ไม่มีตัวตน ไม่มีใครคุ้มครอง และไม่กล้าเรียกร้อง

“มีชีวิตแต่ก็เหมือนตายไปแล้ว” เธอเปรียบตัวเองเหมือนต้นไม้ป่าที่ถูกปลูกทิ้งไว้และต้องดิ้นรนเอาตัวรอด ไม่มีแม้กระทั่งต้นไม่ใหญ่ให้เกาะ ไม่มีใครให้คำปรึกษา คนรอบข้างก็ไม่มีพลังพอจะปกป้อง ไม่เหมือนต้นไม้บางต้นที่เจ้าของใส่ใจรดน้ำใส่ปุ๋ยจนเติบโตอย่างแข็งแรง

ตอนนั้นเคยฝันอะไรไว้บ้างไหม – เราถามโดยเดาคำตอบไว้ว่าความลำบากอาจทำให้เธอไม่กล้าฝัน

“อยากเป็นนักร้อง อยากเป็นนางแบบ” เธอเว้นวรรค เราคิดผิด “แต่ไม่มีทางได้เป็น เพราะไม่มีช่องทางให้เราเข้าไป” อีกฝ่ายยิ้มและเล่าต่อด้วยแววตาภูมิใจว่าตัวเองยังคงแต่งเพลงโดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับความลำบากจนถึงความตาย เวลาร้องเพลงก็ถึงขั้นมีคนร้องไห้ตามด้วย

ที่ผ่านมาลำบากขนาดนี้ แต่คุณยังตั้งใจชีวิตอย่างดีเสมอมา ขอถามได้ไหมว่า สำหรับคุณ อยากมีชีวิตอยู่ต่อเพื่ออะไร – เราสงสัย

“เคยคุยเรื่องนี้กับคุณพ่อคุณแม่เหมือนกัน ต้องยอมรับว่าบางคนอาจจะไม่ได้อยากเกิดมา เกิดมาแล้วอายุขัยพวกเราก็สั้น ไม่มีอะไรมากกว่าการเกิดมาแล้วตาย Busui เลยอยากใช้ชีวิตให้เต็มที่โดยแสดงออกผ่านงานศิลปะ บางคนอาจทำงานเพื่อความสวยงาม แต่เราทำงานศิลปะเพื่อคนยากคนจน เพราะเรามาจากจุดนั้น”

Busui เล่าเรื่องในวัยเด็กต่อว่าพื้นที่ทำกินในเมืองไทยมีน้อยจนแทบปลูกอะไรไม่ได้ ประกอบกับความไม่ชอบเรียนหนังสือจึงตามคุณแม่ลงมาทำงาน เป็นตั้งแต่เด็กขายรองเท้า แม่บ้าน รับจ้างล้างจาน และเป็นเด็กเสิร์ฟ ซึ่งที่ร้านอาหารนั่นเองที่ทำให้ได้พบกับศิลปินชาวเชียงรายผู้เปลี่ยนชีวิตเธอไปอีกขั้น

Busui ชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก มีความข้องเกี่ยวกับศิลปะอยู่บ้างเมื่อพี่สาวที่ทำงานที่แม่สายส่งการ์ตูนและสีมาให้ระบายเล่น ตัวเธอเองยังคงวาดรูปอยู่ตลอด กระทั่งตอนเป็นเด็กเสิร์ฟ อาจารย์ใหญ่-สยาม พึ่งอุดม มาเห็นผลงาน เขาประทับใจและนำภาพไปขาย ซึ่งการได้เงิน 200 บาทจากการขายภาพกลายเป็นกำลังใจสำคัญของคนที่ตื่นตี 5 ขายข้าวแกง ล้างจาน และเสิร์ฟอาหารทั้งวันแต่ได้เงินเพียง 100 บาท

อาจารย์ใหญ่นำสีชอล์กและกระดาษมาให้ Busui ก็ขยันวาดภาพไม่หยุด เมื่อเรื่องราวของศิลปินหญิงชาวอาข่าไปถึงหูของศิลปินและคิวเรเตอร์อย่าง อั๋น-อังกฤษ อัจฉริยโสภณ เขาจึงชักชวนให้เธอจัดนิทรรศการครั้งแรกที่ Angkrit Gallery จังหวัดเชียงราย หลังจากนั้นก็มีผู้คนสนใจผลงานของเธอจำนวนมาก โดยเฉพาะอาจารย์ในวงการหลายท่าน รวมถึง อาจารย์เทพศิริ สุขโสภา ที่ขอซื้อภาพทุกเดือนโดยส่งทั้งสี กระดาษ และข้อความให้กำลังใจมา

Busui คือศิลปินชาวอาข่าผู้สื่อสารกับจิตวิญญาณ

ผลงานของศิลปินหน้าใหม่เป็นที่ชื่นชมและชื่นชอบ แต่ Busui บอกว่าชีวิตไม่ได้สวยงามอย่างนั้นตลอดเวลา มีขึ้นก็ย่อมมีลง บางช่วงเงียบเหงาไม่มีคนเข้าหาเหมือนตอนแรก

“แต่คิดว่าการไม่มีคนมาสนับสนุนก็ไม่ใช่ปัญหาหลักของคนที่อยากทำงานศิลปะ เพราะเราไม่ได้ทำเพื่อเงิน แต่ทำเพราะรัก ไม่มีทางที่ใครจะมารักมาชอบเราตลอดเวลา อาชีพนี้ไม่ง่าย ตอนนั้นก็ท้อมาก เราเหมือนเป็นต้นไม้ที่โดนเหยียบ แต่เคยเห็นว่าต้นไม้พวกนี้จะเติบโตอีกครั้ง ออกดอก ออกผลงดงาม เราก็เลยคิดว่าต้องเป็นแบบนั้น สักวันก็จะดี” เธอเล่าอย่างศิลปินที่เข้าใจความเป็นไปในวงการและคนที่เข้าใจชีวิต

แม้เวลาในวงการจะผ่านมากว่า 20 ปี แต่เอกลักษณ์เจ้าตัวยังไม่เปลี่ยนไป ผู้คนยังจดจำ Busui ในฐานะผู้สร้างสรรค์ผลงานแปลกตา แต่ตรงไปตรงมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพที่เธอเห็นด้วยตาจากประสบการณ์ที่ไม่อาจอธิบายได้ รวมถึงการสื่อสารกับโลกจิตวิญญาณ ซึ่งศิลปินเกิดและโตในชนเผ่าที่นับถือผี เรื่องเหล่านี้จึงอยู่ใกล้ตัวมาตั้งแต่เด็ก

“เป็นความเชื่อว่าคุณแม่ ปู่ย่าตายาย มีดวงจิตของคนแก่ติดตาม เราเป็นผู้สืบทอด เคยเห็นผู้ชายมายืนนอกหน้าต่างบอกว่าจะขอเข้าร่าง แต่เราไม่อนุญาต เขาก็มาให้เห็นเรื่อย ๆ เราเลยเชื่อว่าโลกจิตวิญญาณมีจริง” – แล้วเธอใช้วิธีไหนในการสื่อสาร เราถามต่อ

“Busui เป็นคนที่วาดรูปโชว์ไม่ได้ ออกไปวาดข้างนอกก็ไม่ได้ ต้องปิดประตูอยู่เงียบ ๆ คนเดียว วิธีการคือทำจิตให้สงบ ทำสมาธิ เราเคยวาดรูป ‘อมามาตะ’ แม่คนแรกของชนเผ่าอาข่า ตอนนั้นแทบไม่มีใครรู้จักแล้ว เราก็อยากรู้ว่าเขาหน้าตาเป็นยังไง ช่วยมาบอกหน่อย แล้วเขาก็มาจริง มาพร้อมกับลมวูบหนึ่ง เราเห็นอะไรก็วาดไปอย่างนั้น”

ชาวอาข่าเชื่อว่าอมามาตะเป็นยักษ์ที่กินสามี 7 พี่น้อง กระทั่งน้องคนสุดท้องเอาเขี้ยวออก ทำให้เธอกลายเป็นแม่ของชนเผ่า และเป็นคนแรกที่ทำชุดของเผ่าขึ้นมา ซึ่งหลายคนคงคุ้นเคยกับเครื่องหัวที่มีแผ่นเงินกลมห้อยอยู่ Busui มองว่าแผ่นกลม ๆ นั้นคือหัวของสามีที่อมามาตะกินไป

ในงาน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ผลงานของ Busui พูดถึงตำนานการเกิดขึ้นของโลกในความเชื่อของชาวอาข่า ตลอดจนโลงศพดั้งเดิมที่กลายเป็นวัฒนธรรมใกล้สูญหาย แนวคิดการนับถือผีบรรพบุรุษที่เชื่อว่าปู่ย่าตายายที่ตายไปแล้วจะมาดูแลลูกหลาน รวมถึงโลกแห่งจิตวิญญาณที่ชีวิตยังดำเนินต่อไป มีการปลูกข้าว เลี้ยงควาย ขณะที่วิญญาณคนทำชั่วจะยังอยู่บนโลกมนุษย์ในฐานะผีเร่ร่อน โดยหมู่บ้านอาข่าจะมีการป้องกันผีร้ายด้วยประตูจิตวิญญาณซึ่งต้องทำใหม่ทุกปี 

ผลงานประตูจิตวิญญาณและโลงศพชาวอาข่า

แต่น่าเสียดายว่าปัจจุบันประเพณีของชนเผ่าลดจำนวนและถูกลดความสำคัญลงมาก คนรุ่นใหม่มีความเชื่อที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้วัฒนธรรมหลายอย่างเริ่มสูญหาย ยกตัวอย่าง 12 พิธีกรรมของชาวอาข่า หลายแห่งก็ลดเหลือเพียง 3 พิธีกรรมหลัก ๆ คือโล้ชิงช้าสำหรับผู้หญิง ปีใหม่ไข่แดงสำหรับเด็ก และปีใหม่ลูกข่างสำหรับผู้ชาย

ส่วนอีกสิ่งที่ศิลปินตั้งใจศึกษาและสะสมไว้เป็นจำนวนมากเพื่อไม่ให้สูญหาย คือลายปักผ้าของชาวอาข่า ซึ่งในอดีต นอกจากพวกเขาจะสื่อสารกันแบบปากต่อปากแทนการจดบันทึก พวกเขายังนำเสนอสิ่งต่าง ๆ เป็นภาพ รวมถึงลายผ้าทั้งผีเสื้อ ดอกหญ้า ดวงดาว มีธงชาติที่พูดถึงฤดูกาล ทั้งหมดเก็บไว้เพื่อให้ลูกหลานได้รู้จักที่มาของตัวเองมากขึ้น ไม่อย่างนั้นคงหายไปอย่างน่าเสียดาย

“เสน่ห์ของสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่เป็นวัฒนธรรม แต่เป็นประวัติศาสตร์ให้เรียนรู้ สมัยก่อนเราไม่ได้ปักผ้าเพื่อขาย แต่เป็นการปักให้ลูกหรือคนรัก กว่าจะได้เสื้อสักตัวอาจใช้เวลาเป็นปี ลวดลายสวยงามด้วยความรักที่ใส่เข้าไป ไม่เหมือนทำด้วยเครื่องจักรที่ไม่มีจิตวิญญาณ ไหนจะเรื่องราวที่บันทึกไว้อีก เลยไม่อยากให้อะไรหายไป” เธอเล่าอย่างภูมิใจ แต่ก็ยังกังวลว่าอนาคตจะชะล้างอดีตออกไปไวเกิน

Busui คือลูกหลานผู้รักษาความเป็นอาข่า

นอกจากสื่อสารเรื่องชนเผ่า ความลำบาก การถูกข่มเหงรังแก ผลงานจำนวนมากของ Busui เกี่ยวกับผู้หญิงและเด็ก 

สาเหตุหนึ่งมาจากผู้หญิงที่รายล้อมรอบตัวเธอมีจำนวนมากกว่าผู้ชาย และตัวเธอเองก็เห็นเรื่องราวความเข้มแข็งจนถึงการกดขี่สตรีมาตั้งแต่เด็ก หญิงชาวอาข่าอดทนและเสียสละ ต้องตื่นเช้ามาทำอาหารอย่างดีให้สามีและลูกกิน หากได้สามีดี เขาจะเหลืออาหารให้ภรรยา แต่ถ้าไม่ ภรรยาก็ไม่มีข้าวกิน นอกจากนี้ ผู้ชายส่วนใหญ่จะเฝ้าบ้าน ผู้หญิงต้องออกไปทำงานทำไร่และเลี้ยงลูก

ส่วนปัจจุบัน บทบาทที่เพิ่มมาได้ 5 ปีแล้วคือการเป็นคุณแม่

Busui บอกว่าสมัยเด็กได้ความรักจากพ่อแม่ แต่การเป็นผู้รับทำให้ยังไม่รู้จักการรักใครอย่างลึกซึ้งเท่าไหร่ กระทั่งลูกของเธอลืมตาดูโลก อีกฝ่ายบอกว่าทำงานศิลปะเรื่องแม่ลูกเยอะมากก่อนจะมีลูกเองเสียอีก เพียงแต่แนวคิดไม่เหมือนกันแล้ว

ช่วงแรกเธอสื่อสารเรื่องการเกิดมาพบความลำบาก ตั้งคำถามจนถึงโทษว่าพ่อแม่ทำให้เราเกิดมาทำไมผ่านภาพเด็กเกิดในกองไฟ หรือในอีกทางหนึ่ง ความรักคือกิเลสที่ทำให้มนุษย์ยึดติด ไม่หลุดพ้น การมีลูก รักลูก อยากดูแลให้ดีก็เป็นกิเลสอย่างหนึ่งที่หลายคนไม่อาจสลัดทิ้ง Busui เคยวาดภาพตัวเองถูกพันธนาการเอาไว้ แต่สุดท้ายก็ค้นพบว่าทั้งเธอและแม่อีกหลายคนเต็มใจที่จะรักและตั้งใจดูแลลูกให้ดีที่สุดถึงขั้นยอมมอบชีวิตให้ได้

ตอนนี้ Busui บอกว่ากำลังทำผลงานชุดใหม่เกี่ยวกับเด็กกำพร้าชาวอาข่า ซึ่งเธอลงพื้นที่แล้วได้แรงบันดาลใจมาจากเด็ก ๆ เหล่านั้น หลังวาดภาพเสร็จ เธอพาเด็ก ๆ มาดู 

พวกเขาร้องไห้

“ศิลปะคือการสื่อสาร มีภาพที่เราวาดไว้เกี่ยวกับเด็กถูกทิ้ง คนสมัยนี้อยากได้อะไรก็หาง่าย แต่นั่นคือสิ่งของ กลับกัน ทำลูกก็ง่าย ทำให้เขาเกิดมา ไม่ต้องการก็ทิ้ง เราอยากให้คนเห็น อยากให้คนรู้สึก ตั้งคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับมนุษย์

“ส่วนปลายทางที่อยากเห็น แม้จะรู้ว่าหลายคนเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่ก็อยากให้คนรู้ว่าสิ่งนี้มีอยู่ เรากำลังจะกลายเป็นหุ่นยนต์ที่ไม่มีความเมตตามอบให้คนอื่น เหลือแต่เพียงความเห็นแก่ตัว ทุกวันนี้ Busui ทำหลายอย่างด้วยตัวเอง คงจะดีหากมีผู้ใหญ่หรือใครสักคนที่ยินดีมาช่วยสานต่อวัฒนธรรม และช่วยเด็ก ๆ ของเรา”

Busui บอกว่าโลกเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ชีวิตเปลี่ยนไปทุกช่วงวัย และศิลปะก็เช่นกัน 

ศิลปะสอนให้เธอรู้จักชีวิตมากขึ้น ศิลปะสอนเธอว่าปลายทางของชีวิตควรรู้จักปล่อยวาง แต่ในขณะนี้ที่ยังมีแรงทำอะไรสักอย่างเพื่อโลกที่จิตใจคนน่ากลัวขึ้นทุกวัน เธอก็ยังอยากใช้ศิลปะจุนเจือช่วยเหลือชีวิตอื่น โดยเฉพาะชีวิตของชาวอาข่าที่อดทนดิ้นรนกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

“อยากให้ชื่ออาข่ายังมีอยู่ ถ้าทำได้ คงถือเป็นความสำเร็จในชีวิตที่ได้ทิ้งอะไรไว้ให้คนอื่น”

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

จารุเกียรติ หน่อสุวรรณ

งานประจำก็ทำ ช่างภาพก็อยากเป็น