ทวพ อักษรย่อของ ไทยวัฒนาพานิช มักปรากฏอยู่บนมุมซ้ายของแบบเรียนไทย เพราะเป็นบริษัทรับผลิตหนังสือที่วัยรุ่นยุคหลังสงครามโลกรู้จักกันดี

โกดังเก็บหนังสือของไทยวัฒนาพานิชอยู่แถวซอยนานา มีทั้งหมด 3 ตึก อายุอานามน่าจะถึง 60 ปี

เราเองไม่ได้อยู่ในช่วงรุ่งโรจน์ของมัน มารู้จักเอาก็ตอนตึกนี้ถูกทิ้งร้างหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ไปเมื่อ 20 ปีก่อน จากที่ควรจะได้ยินเสียงเครื่องจักรทำงานก็กลายเป็นการเดินผ่านอย่างไม่ใส่ใจ 

วันนี้เป็นครั้งแรกที่เราหยุดยืนดู 

หน้าตาภายนอกยังคงเดิม แต่ประตูตึกร้างเปิดออกกว้าง เผยให้เห็นแสงสีแสบตาเรียกให้เราเดินเข้าไปหา จนพบว่ามันคือพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ Nine Plus Five Works วิดีโออาร์ตจำนวน 14 ชิ้น และเปลี่ยนชื่อให้เป็น ‘Bangkok Kunsthalle’ ไปเมื่อต้นปี

หลังยืนงกเงิ่นอยู่สักพัก สเตฟาโน ราโบลลี แพนเซรา ชายหนุ่มร่างสูงใหญ่ก็เดินเข้ามาพูดคุยให้เราหายข้องใจ 

เพราะคงไม่มีใครเล่าถึงสถานที่นี้ได้ดีไปกว่าภัณฑารักษ์ที่พ่วงตำแหน่งผู้อำนวยการอีกแล้ว

Urban Jungle

ก่อนไปรู้จักตึก เราขอแนะนำให้คุณรู้จักสเตฟาโนเสียก่อน 

สเตฟาโนเป็นคนอิตาลี จบการศึกษาจาก Architecture association School of Architecture สถาบันด้านสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่สุดในเกาะอังกฤษ และกลับมาเป็นอาจารย์ที่นี่

เคยทำงานกับ Herzog & de Meuron บริษัทออกแบบที่ฝากผลงานไว้มากมาย เช่น สนามกีฬารังนกแห่งกรุงปักกิ่ง ห้องสมุดแห่งชาติของประเทศอิสราเอล หรือสนามฟุตบอล Allianz Arena ของทีมบาเยิร์น มิวนิก และทีมชาติเยอรมัน

เคยเป็นภัณฑารักษ์ของ National Pavilion ในงานเวนิส เบียนนาเล่ จนได้รางวัล Golden Lion จากการออกแบบ Pavilion ของประเทศแองโกลา งานนี้ทำให้เขาเบนเขมจากสถาปนิกสู่การทำงานด้านศิลปะอย่างเต็มตัว และได้เป็นผู้อำนวยการแกลเลอรี Hauser & Wirth ที่กรุงลอนดอน ทำให้เขาได้รู้จักกับมาริษา เจียรวนนท์ นักสะสมชาวไทยผู้เป็นเจ้าของโกดังและให้กำเนิด Bangkok Kunsthalle 

สเตฟาโนเริ่มต้นเล่าถึงสถานที่นี้ให้เราฟังด้วยการบอกว่า สิ่งที่เราเห็นนี้เป็นเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น นั่นเพราะว่า Bangkok Kunsthalle เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์เขาใหญ่อาร์ต จะเปิดตัวเต็มรูปแบบในปลายปีนี้ที่จังหวัดนครราชสีมา โดยทำงานศิลปะกับศิลปินท้องถิ่น ภาคเกษตร ชุมชน และการศึกษา เป็นพื้นที่จัดแสดงงานกลางป่าที่ไม่ได้ใช้งานศิลปะเป็นเพียงของประดับตกแต่ง

“เรากำลังจัดการกับป่าในเมืองและป่าธรรมชาติ” เขาเปรย “ทั้ง 2 โครงการคือการรักษาพื้นที่ เราไม่รื้อถอนและสร้างอาคารใหม่ แต่เราดูแล ซ่อมแซม และปรับแต่ง เพราะเราเชื่อว่าการรักษาธรรมชาติไว้จะทำให้เรารักษาตัวเองได้”

วิธีซ่อมแซมอาคารของเขาคือให้ศิลปินมาร่วมแสดงผลงาน และจะบูรณะอาคารตามความต้องการของศิลปิน 

แทนที่จะปิดอาคารเพื่อปรับปรุงเป็นเวลา 3 ปีแล้วเปิดตัวด้วยนิทรรศการ เขากลับเปิดอาคารให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และค่อย ๆ เสริมเติมแต่งอาคารไปทีละน้อย อย่างที่เราเห็นในวันนี้ว่าตัวตึกก็ยังมีบางส่วนไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่การเดินสำรวจท่ามกลางความผุพังของสถานที่และเถ้าถ่านก็ให้ความรู้สึกแปลกไปอีกแบบ

เราถามสเตฟาโนบ้างว่า ในฐานะสถาปนิกมากประสบการณ์ เขารู้สึกยังไงตอนมาที่โกดังร้างนี้ครั้งแรก 

“ผมชอบที่ข้างในมีพื้นที่หลากหลายมาก เพดานสูง เพดานต่ำ มีแสงจากด้านบน ด้านข้าง มีลานเปิดโล่งที่เห็นความสวยงามทั้งหมด และแต่ละห้องก็มีเอกลักษณ์แตกต่างกันด้วย”

เขาไม่เพียงตกหลุมรักสเปซ แต่ยังชอบมากที่ตึกนี้เป็นโรงพิมพ์เก่า เพราะเปรียบได้กับแหล่งผลิตวัฒนธรรม ก่อนชวนเราคุยต่อถึงที่มาของชื่อ Bangkok Kunsthalle (ภาษาเยอรมัน แปลว่า ห้องจัดแสดงงานศิลปะ) ซึ่งสอดคล้องกันอย่างไม่น่าเชื่อ

“Kunsthalle เป็นการจัดนิทรรศการรูปแบบใหม่ เราไม่จัดแสดงคอลเลกชัน แต่เป็นการผลิตผลงานสำหรับพื้นที่โดยเฉพาะ และเมื่อนิทรรศการจบลงก็กลับสู่ความว่างเปล่าที่รอการสร้างความหมายใหม่ด้วยงานศิลปะ

“ที่นี่ไม่มีของสะสม” เขาย้ำ “เราไม่ใช่พิพิธภัณฑ์”

Back to the Future

“เยาวราชเป็นหนึ่งในย่านที่สร้างแรงบันดาลใจที่สุดในกรุงเทพ” นี่คือคำบอกเล่าจากชาวอิตาลี

เราถามเขาต่อว่าการปรับปรุงโกดังร้างนี้ได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของเดิมหรือไม่ 

“แน่นอน! และผมยังเชิญพวกเขามาด้วย” สเตฟาโนตอบเสียงดังพร้อมรอยยิ้ม 

“เจ้าของคนก่อนและพนักงานสูงอายุมาที่นี่ และได้เห็นว่าอาคารมีการพัฒนายังไง เขาชอบกันมากนะ”

สเตฟาโนชอบให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับพื้นที่มาก โดยเฉพาะตัวศิลปิน งานแรกที่ภัณฑารักษ์มากฝีมือคัดสรรจึงเป็น Nine Plus Five Works โดย มิเชล โอแดร์ 

สเตฟาโนสนใจเรื่องวิดีโออาร์ต สถานที่ และเวลาเป็นทุนเดิม เขามองว่านิทรรศการของมิเชลจะสร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ให้ศิลปินไทย โดยเฉพาะกับศิลปินรุ่นเยาว์ว่าพวกเขาทำอะไรกับวิดีโอได้บ้าง

“ถ้าจะวาดภาพหรือทำงานประติมากรรม คุณต้องมีเงินเยอะมาก แต่ทุกวันนี้วิดีโออาร์ตเป็นศิลปะที่ใครก็ทำได้ ใช้แค่โทรศัพท์มือถือ

“คุณมาดูงานแล้วชอบผมก็ดีใจ แต่ถ้านิทรรศการนี้ท้าทายผู้คนให้มาเป็น Video Artist บ้าง หรือเริ่มพัฒนาคอลเลกชันวิดีโออาร์ตของตัวเอง ผมจะรู้สึกประสบความสำเร็จมาก นี่คือวิธีที่ผมใช้วัดผลสิ่งต่าง ๆ”

มิเชลเป็นผู้บุกเบิกวิดีโออาร์ตเชิงทดลองมาตั้งแต่ยุค 60 สอดแทรกบทกวี ความงดงาม ผ่านการใช้กล้องวิดีโอบันทึกภาพสิ่งต่าง ๆ แม้ผู้คนในยุคนั้นไม่เข้าใจว่าคืออะไร แต่เขาก็มุ่งมั่นสร้างชิ้นงานสำคัญให้ไว้วงการศิลปะมากมาย

งานนี้รวบรวมจากยุค 60 แล้วจบลงในปี 2024 ที่ประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกนำเสนอภาพความสัมพันธ์ระหว่างมิเชลกับธรรมชาติ มีจำนวน 5 ชิ้น กลุ่มที่ 2 เป็นการรวบรวมบันทึกเหตุการณ์ วิดีโอเชิงทดลอง และคอลเลกชันผลงานส่วนตัวอีก 9 ชิ้น โดยมีผลงานที่มีย่านเยาวราชเป็นแรงบันดาลใจจากการเป็นศิลปินในพำนักคนแรกของที่นี่รวมอยู่ด้วย จัดแสดงทั่วบริเวณชั้น 1

สำหรับศิลปินที่อยากโชว์ผลงานของตัวเอง ขอให้ตั้งใจอ่านเกณฑ์คัดเลือกของสเตฟาโนไว้ให้ดี

เขาบอกว่าสิ่งแรกซึ่งสำคัญที่สุด คืองานศิลปะต้องตอบสนองต่อพื้นที่

“ผมไม่ค่อยจัดแสดงงานของศิลปินที่เสียชีวิตไปแล้ว เพราะต้องการให้ศิลปินมีส่วนร่วมกับพื้นที่ ผมต้องการทำงานร่วมกับศิลปินที่พร้อมจะมาที่นี่ ผมอยากให้ศิลปินใช้เวลาอยู่อาศัย ให้พวกเขาผลิตผลงานใหม่ ๆ ที่ได้แรงบันดาลใจจากสภาวะต่าง ๆ อย่างแท้จริง เพราะเราไม่มีเงื่อนไขในการจัดแสดงงานศิลปะทุกประเภท”

ประโยคหนึ่งของสเตฟาโนที่เราชอบมากและสะท้อนจุดยืนของเขาได้เป็นอย่างดีคือ “สิ่งใดที่สัมผัสประเทศไทยจะกลายเป็นไทย” 

นั่นจะทำให้นิทรรศการศิลปะจากศิลปินนานาชาติของ Bangkok Kunsthalle สดใหม่อยู่ตลอดเวลา มากกว่าที่จะมีกำหนดการชัดเจนและบอกว่าปี 2025 จะมีผลงานอะไร

“ผมรักวิธีการนี้ มันเหมือนกับการเติบโต” เขายิ้ม “สิ่งดีที่สุดคือการเรียนรู้มุมมองใหม่ เป็นเรื่องปกติที่บางครั้งจะมีความรู้สึกอึดอัดเล็กน้อยเวลาดูงานศิลปะ เพราะศิลปินเป็นนักคิดที่ดี แต่บางครั้งพวกเขาก็คิดนอกกรอบมาก เมื่อดูแล้วไม่ถูกใจก็คงรู้สึกรำคาญ แต่คุณจะเริ่มคิดเกี่ยวกับมัน เริ่มชอบมัน คิดถึงมันอีกเป็นครั้งที่ 3 แล้วก็ตกหลุมรักมันในที่สุด

“ผมหวังว่าผู้ชมจะให้โอกาสตัวเองได้คิดทบทวนเกี่ยวกับสิ่งที่เขาเห็น และเริ่มหลงใหลในงานศิลปะมากขึ้น”

Bangkok Legacy

เมื่อถามว่างานต่อไปคืออะไร สเตฟาโนพยายามตอบเป็นภาษาไทยหลายครั้งว่า “สิ่งดี ๆ กำลังจะมาถึง” 

เพราะนิทรรศการต่อไปจะเป็นการร่วมงานกับศิลปินไทยแต่ยังบอกไม่ได้ ระหว่างนั้นจะเป็นการตกแต่งพื้นที่ด้วยศิลปะถาวรและผลงานจากคนในชุมชน ที่สำคัญ Bangkok Kunsthalle จะมีภัณฑารักษ์เป็นคนไทยด้วย

“เมื่อบอกว่าจะทำงานร่วมกับชุมชน ผมไม่ได้หมายถึงเฉพาะศิลปินจากกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ผมจะทำงานร่วมกับภัณฑารักษ์ไทย โปรดิวเซอร์ไทย ศิลปินไทย และเราเองก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับสถาบันศึกษาในไทยมาก ผมหวังว่าจะได้ทำงานเชิงสำรวจและแก้ไขปัญหาร่วมกับพวกเขาที่นี่”

สเตฟาโนเล่าแผนงานของเขาในระยะ 5 ปีให้ฟังว่า จะพยายามจัดนิทรรศการให้ได้ 4 – 6 ครั้งต่อปี และรวบรวมกลุ่มคนที่หลากหลายผ่านกิจกรรมฉายภาพยนตร์ ดนตรี หรือการสัมมนา

โดยปีที่ 1 คือการปรับปรุงสถานที่ ปีที่ 3 คือการสร้างชุมชนของตัวเองให้แข็งแกร่ง ผ่านการจัดโปรแกรมนิทรรศการอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่ปีที่ 5 ที่เขาจะผลักดัน Bangkok Kunsthalle ให้เป็นอาร์ตสเปซระดับโลก

ในสายตาเขา กรุงเทพฯ เป็นเมืองมหัศจรรย์ที่มีศักยภาพพอจะเป็นเมืองหลวงศิลปะของโลก เนื่องจากสถาบันทางวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ ยังมีจำนวนน้อย แต่มีอัตราการเติบโตที่ดีมาก

“เราอยากมีส่วนทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงด้านวัฒนธรรมชั้นนำของโลกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แนวคิดคือการนำเสนอพื้นที่นี้ให้เป็นเวทีสำหรับศิลปินต่างชาติที่ไม่เคยมากรุงเทพฯ มาก่อน ศิลปินแนวทดลองและศิลปินไทยมาทำสิ่งที่ไม่เคยกล้าทำที่อื่น

“ผมคิดว่าความพิเศษของวงการศิลปะไทยคือมีศิลปินที่มหัศจรรย์มาก ๆ อยู่ใต้ดิน รอวันค้นพบ” เขาเน้นเสียง 

“When you really talk with Thai artists, they are really artists. 

“พวกเขาไม่ใช่คนทำการตลาด นี่คือสิ่งที่เป็นจุดอ่อนและจุดแข็งไปพร้อม ๆ กัน เพราะถ้าคุณมีตลาดเร็วเกินไป มันจะทำลายความคิดสร้างสรรค์และงานศิลปะ แต่ถ้าคุณไม่มีตลาดเลย ศิลปินก็ต้องดิ้นรนมาก เพราะพวกเขาไม่ได้รับการสนับสนุน ผมจึงชอบค้นหาศิลปินใหม่ ๆ เหล่านี้ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าตลาดจะค่อย ๆ เติบโตโดยไม่มีแรงกดดัน เพื่อช่วยให้ศิลปินอยู่รอดและทำงานต่อไปได้”

ประสบการณ์ของสเตฟาโนครอบคลุมตั้งแต่สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ อิตาลี แอฟริกา แองโกลา โมซัมบิก อัลเบเนีย ไอซ์แลนด์ ฯลฯ เขายืนยันว่านี่คืออีกหนึ่งข้อได้เปรียบ เพราะมีเครือข่ายศิลปะอยู่ทั่วทุกมุมโลก และติดต่อกับพิพิธภัณฑ์นานาชาติเพื่อสร้างพันธมิตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แต่เมื่อถามว่าอะไรทำให้ Bangkok Kunsthalle โดดเด่นจากพื้นที่แสดงศิลปะอื่น ๆ ในไทย เขากลับให้คำตอบที่แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง

“ก่อนอื่นเลย เราคือผู้เล่นในทีม” เขาชี้แจง “ไม่ใช่ว่าเราไม่ต้องการโดดเด่น แต่ทุกที่มีภารกิจแตกต่างกัน 

“ถ้าคุณเป็นแกลเลอรี่ คุณต้องขายผลงาน เราไม่อยากขาย ถ้าคุณเป็นพิพิธภัณฑ์สาธารณะ คุณต้องจัดแสดงผลงานและมีของสะสม เราไม่มีแม้แต่คอลเลกชัน เอกลักษณ์ของเราจึงเป็นการร่วมงานกับภัณฑารักษ์คนอื่น ๆ สถาบันอื่น ๆ ได้อย่างไร้ขอบเขต

“ประเทศไทยมีสถานที่ที่ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว เช่น BACC, Jim Thompson, MOCA ผมแค่อยากเป็นส่วนหนึ่งในนั้น” 

เขาแสดงเจตจำนงทิ้งท้าย ก่อนเราจะถามทิ้งทวนว่า เขานิยามอาร์ตสเปซในโกดังร้างนี้ไว้ยังไง

“This is like a gift for the rebels.”

สเตฟาโนยกยิ้ม

Bangkok Kunsthalle
  • 599 ถนนไมตรีจิตต์ แขวงป้อมปราบ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ (แผนที่)
  • เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 12.00 – 20.00 น. (ปิดวันจันทร์)
  • Bangkok Kunsthalle
  • www.bangkok-kunsthalle.org/en/

นิทรรศการ Nine Plus Five Works โดย มิเชล โอแดร์ เปิดให้เข้าชมฟรีตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม ถึง 10 มีนาคม พ.ศ. 2567 ที่ Bangkok Kunsthalle หากท่านใดต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ Inbox หรือโซเชียลมีเดียของ Bangkok Kunsthalle ทุกช่องทาง

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

โตมร เช้าสาคร

โตมร เช้าสาคร

ชอบถ่ายวิวมากกว่าคน ชอบกินเผ็ดและกาแฟมาก เป็นคนอีโค่เฟรนลี่ รักสีเขียว ชวนไปไหนก็ได้ไม่ติด ถ้ามีตัง