คนเรียนภาษาฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ รู้กัน ถ้าอยากซื้อหนังสือ ดูหนังฝรั่งเศส หรือร่วมกิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวกับแดนน้ำหอม เราต้องไปสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ หรือ Alliance Française Bangkok เพราะที่นี่เป็นศูนย์รวมภาษาและวัฒนธรรมฝรั่งเศสที่ครบถ้วนที่สุด
ตัวเลือกอื่น ๆ ที่ทำให้ได้ฝึกภาษาหรือค้นพบวัฒนธรรมฝรั่งเศสแบบเต็มอิ่มมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับอัตราผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศส (Francophone) ในไทย
‘Balzac’ ร้านเปิดใหม่ในซอยเจริญกรุง 43 ห่างจากสถานทูตฝรั่งเศสเพียง 500 เมตร เข้ามาตอบโจทย์ชาว ‘ฟรองโกโฟน’ และผู้สนใจวัฒนธรรม La République อย่างเต็มที่ ด้วยการตั้งศูนย์วัฒนธรรมฝรั่งเศส (Centre Culturel Francophone) ขนาดย่อม ๆ มัดรวมร้านหนังสือ แกลเลอรี ร้านแผ่นเสียง / แผ่นหนัง คาเฟ่ เข้าไว้ด้วยกันในอาคารเดียว แถมยังจัดนิทรรศการและกิจกรรมพบปะสังสรรค์เป็นประจำทุกเดือน
Zac
เจ้าของร้านนี้คือ Zac-Chango Zaza Favre ชาวสวิสที่ทำงานด้านอสังหาริมทรัพย์และกฎหมาย และเขาเคยทำงานในเมืองไทยมาก่อน ทั้งที่เชียงใหม่และกรุงเทพฯ
ในช่วงล็อกดาวน์ บริษัทที่ซัคเคยทำงานปิดตัวลง เขาขบคิดเรื่องอาชีพใหม่ และตระหนักว่าใจรักชอบวรรณกรรมและเสียงดนตรี สิ่งที่ปรารถนาจะทำจริง ๆ ในชีวิตคือการเปิดร้านหนังสือฝรั่งเศส และค้นพบว่าเพียงในกรุงเทพฯ ก็มีผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศสอยู่มากกว่า 570,000 คน แต่กลับมีร้านหนังสือฝรั่งเศสแค่ร้านเดียว
“ผมไม่ได้เปิดร้านแค่เอาสนุกเฉย ๆ นะ แต่คิดจริงจังว่าจะทำให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้ ขอแค่ 1% ของ 570,000 คนนี้มาซื้อหนังสือที่ร้าน ผมก็อยู่ได้แล้ว” ซัคย้ำเป็นภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษ
หลังจากหาทำเลทั่วบางกอกและเล็งบ้านย่านสุขุมวิทไว้เรียบร้อย เขาก็ค้นพบอาคารหลังนี้ที่เจริญกรุง ซัคมองว่าย่านสร้างสรรค์ที่มีคนรุ่นใหม่ ศิลปิน คนสนใจศิลปวัฒนธรรมนี้น่าสนใจมาก ลำพังในซอยเจริญกรุง 43 เอง เพื่อนบ้านเขาก็พูดฝรั่งเศสได้ตั้งหลายคน เขาจึงเลือกตั้งหลักสร้างที่นี่ และใช้เวลารีโนเวตตึกถึง 1 ปีเต็ม เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างตึกแถวเดิมให้ได้บรรยากาศที่ใช่มากที่สุด
ภายในร้าน Balzac มีอะไรบ้าง เราจะพามาดูทุกซอกทุกมุม
Bienvenue!
0 Café – Librairie
ก้าวเข้ามาในร้านเพดานสูงที่ตกแต่งกลิ่นอายยุโรป ติดภาพวาดถนนหนทางในเมืองฝรั่งเศสสีสันสดใส พบคาเฟ่และชั้นหนังสือภาษาฝรั่งเศสมากมาย ทั้งมือหนึ่งและมือสอง มีตั้งแต่หนังสือปกแข็งเล่มโต วรรณกรรมต่าง ๆ ตำราอาหาร หนังสือพิมพ์ Le Petit Journal เก่า ไปจนถึงการ์ตูนฝรั่งเศส
หนังสือมือสองทั่วไป หากไม่ใช่เล่มสะสมหายาก แทบทั้งหมดราคาไม่แพงและอยู่ในสภาพดี บางเล่มเพิ่งพิมพ์มาเพียงครึ่งปีเท่านั้น เขาหยิบตัวอย่างหนังสือที่ภาคภูมิใจให้ดู อย่างหนังสือปกแข็งเล่มโต Chagall Lithographe รวมภาพพิมพ์หิน (Lithography) ของศิลปินเบลารุส-ฝรั่งเศส Marc Chagall
Le Petit Prince ฉบับพิมพ์ปี 1951 แม้ไม่ใช่พิมพ์ครั้งแรก แต่เล่มที่พิมพ์ที่ปารีสนี้ก็เก่ามาก และสภาพดีสุด ๆ
On va déguster la France ตำราอาหารฝรั่งเศสโดย François-Régis Gaudry น่าสนใจ ควรมีไว้คู่ครัว
L’art de l’Asie du Sud-Est ศิลปะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีภาพถ่ายสวยงามพร้อมคำอธิบายละเอียด เหมาะกับชาวต่างชาติที่สนใจวัฒนธรรมแถบนี้
ในทางกลับกัน แมกาซีน Paris Match ปก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จากปี 1960 ก็น่าจะถูกใจนักสะสมชาวไทยหลายคน
มีเพียงตำราเรียนกับหนังสือท่องเที่ยวที่ Balzac จงใจไม่ขาย เพื่อไม่ให้ประเภทหนังสือซ้ำกับ Carnets d’Asie ร้านหนังสือฝรั่งเศสที่สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ
“ผมเคยทำงานขายหนังสือเก่าที่สวิตเซอร์แลนด์ วันหนึ่งขายไม่ดีเลย ทั้งที่ผมมั่นใจว่ามีหนังสือที่ดีมาก จู่ ๆ เย็นวันนั้นมีคนไทยเข้ามา เขากว้านซื้อหนังสือไปครึ่งร้าน” ซัคเล่าความประทับใจต่อนักอ่านชาวไทย
นอกจากตอบโจทย์นักอ่าน ที่นี่ยังมีมุมคาเฟ่นั่งสบาย มีเครื่องดื่มร้อน-เย็น แซนด์วิช พาย และขนมอื่น ๆ ขาย ซึ่งในอนาคตจะมีอาหารอื่น ๆ เพิ่มเติม ลูกค้าหลายคนที่ชื่นชอบบรรยากาศแบบร้านหนังสือยุโรปอบอุ่น แวะเวียนเข้ามาอุดหนุนและนั่งฟังเพลงเป็นระยะ
หน้าร้านยังมีมุมขายของมือสองจากยุโรป เช่น กระเป๋า น้ำหอม นาฬิกาแบรนด์เนม ทั้งของฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ ใครอยากมาช้อปปิ้งหรือแลกเปลี่ยนของจากฝรั่งเศสก็เข้ามาติดต่อได้ เนื่องจากเจ้าของร้านชอบของวินเทจมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น จึงมีสายตาเล็งเห็นของดีของงามประเภทต่าง ๆ ที่ถูกใจนักสะสม
กระทั่งฟิกเกอร์การ์ตูนดังก็มี อย่าง Tintin หอบหนังสือการ์ตูนของตัวเอง เป็นหุ่นลิมิเต็ดจากปี 2014
1 Musique
ก้าวขึ้นมาชั้นถัดไป จะพบโซนดนตรี มีแผ่นเสียงภาษาฝรั่งเศสสะสมมากมาย และมีแผ่นเสียงไทยเก่าเก๋กรุบกริบ จากที่ปราดตาดู ศิลปินฝรั่งเศสลือชื่อจำพวก Serge Gainsbourg, Françoise Hardy, Jacques Brel หรือเพลงประกอบหนัง La Boum อะไรแบบนี้ก็มีครบ แต่งานปีลึก เพลงบรรเลง เพลงร่วมสมัยก็มีด้วยเหมือนกัน ส่วนใหญ่แล้วผลิตที่ฝรั่งเศส ขายที่สวิตเซอร์แลนด์ และซัคก็นำมาเมืองไทย
เขาหยิบตัวอย่างงานหายากให้ดู อย่าง L’École du Micro d’Argent อัลบัมเพลงฮิปฮอปปี 1997 ของ IAM
โซนนี้ตอบโจทย์คนรักเสียงเพลง เจ้าของร้านบอกว่าลูกค้าไทยหลายคนฟังไม่ออก แต่ชอบดนตรี จึงเข้ามาอุดหนุนอย่างใจกว้าง หรือถ้าอยากได้แผ่นเสียงฝรั่งเศสแบบไหนก็แจ้งมา ทางร้านจัดหาได้ เขามีเป็นกรุเป็นโกดัง
มุมนี้มีเครื่องดนตรีด้วย ถ้าอนาคตใครอยากเล่นคอนเสิร์ต เจ้าของร้านก็จะให้เล่นที่ชั้นลอยตรงนี้ เสียงดนตรีจะดังกังวานไปถึงชั้นล่างให้ได้ฟังกันถ้วนหน้า
1 Musique
ชั้นบนสุดที่เปิดให้เข้าชม เป็นแกลเลอรีซึ่งจัดนิทรรศการหมุนเวียนรายเดือน เช่น นิทรรศการโปสเตอร์ภาพยนตร์เบลเยียมยุค 50 ภาพถ่ายขาวดำประเทศฝรั่งเศสโดยอาจารย์ชาวไทย ซึ่งในอนาคตจะมีผลงานอื่น ๆ อาจเป็นของศิลปินผู้ใช้ภาษาฝรั่งเศส หรือคนไทยที่ทำงานเกี่ยวข้องก็ได้
ห้องนี้ยังขายแผ่น DVD ภาพยนตร์ฝรั่งเศสคัดสรร รวมถึงให้เช่าแผ่นหนังรายสัปดาห์ด้วย ให้ความรู้สึกเหมือนร้านเช่าหนังสมัยก่อน น่ารัก
และยังเป็นห้องฉายภาพยนตร์ฝรั่งเศสซึ่งจัดแทบทุกสัปดาห์ มีเรื่องเก่าใหม่หลากหลาย รองรับผู้ชมได้ราว 30 คน แม้บางเรื่องเป็นหนังที่อาจหาชมได้ง่าย แต่ค่าตั๋วหนัง 249 บาทของที่นี่ รวมของว่างทั้งแซนด์วิช ป๊อปคอร์น และเครื่องดื่มเรียบร้อย ทั้งยังเปิดโอกาสให้คนรักหนังเรื่องเดียวกันได้มาพบปะพูดคุยก่อนและหลังฉายหนัง
Balzac
ปิดท้ายด้วยเกร็ดชื่อร้าน Balzac ซึ่งไม่ได้มาจากชื่อเจ้าของ แต่หยิบยืมมาจากชื่อนักเขียนระดับพระกาฬ Honoré de Balzac
“ผมชอบบัลซัค เขาเป็นนักเขียนคนสำคัญของฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19 เป็นคนที่รักการใช้ชีวิต และผมก็ชอบใช้ชีวิตเหมือนกัน” ซัคอธิบาย “บัลซัคเสพติดกาแฟ รู้มั้ยครับว่าทำไม”
เพราะเขาเขียนงานตอนกลางคืนและนอนตอนกลางวัน – เป็นคำตอบจากเกร็ดประวัติศาสตร์ที่เคยผ่านตา
“แล้วทำไมเขาต้องเขียนงานไม่หลับไม่นอน เพราะเป็นหนี้ไงครับ เขาชอบใช้ชีวิตมากไปหน่อย ชอบแต่งตัวหรูหรา อยู่บ้านหรู เลยต้องทำงานเยอะมาก ว่ากันว่าบัลซัคดื่มกาแฟวันละ 6 ลิตร และสุดท้าย สาเหตุหนึ่งของการตายก็เพราะกาแฟ
“ผมไม่ได้อยากตายอย่างนั้น ไม่ได้ดื่มกาแฟ 6 ลิตรต่อวันด้วย… แต่ผมแค่อยากทำสิ่งที่ชอบ และเปิดร้านที่ดึงดูดคนน่าสนใจให้มารวมตัวกัน วันก่อนก็มีศิลปิน มีนักเขียนไทยเข้ามาบ้างแล้ว” ซัคตบท้ายแบบยิ้ม ๆ
ไม่ว่าระดับภาษาฝรั่งเศสจะอยู่ในระดับเริ่มต้นหรือเชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหน ขอแค่สนใจภาษาและวัฒนธรรมฝรั่งเศส ประตูร้าน Balzac ก็เปิดต้อนรับเสมอนะ