ได้เปิดร้านกาแฟเล็ก ๆ สักร้าน อาจเป็นความฝันของใครหลายคน แต่สำหรับร้านกาแฟในป่าทำเลติดรั้ววัดอย่าง ‘บ้านหลังวัด Coffee’ กลับไม่ได้ทำหน้าที่แค่เป็นสถานี Sip คาเฟอีนเข้ากระแสเลือดหรือนั่งหย่อนใจเท่านั้น ทว่ายังเป็นพื้นที่สื่อสารเรื่องราวของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ห้องเรียนธรรมชาติสำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิชาชีวิตของเด็กและเยาวชน จุดพักเติมแรงบันดาลใจและรอยยิ้ม และเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้คนในชุมชน รวมไปถึงแขกเยือนที่แวะเวียนเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย 

ไม่น่าเชื่อว่าทั้งหมดที่เล่ามานี้เกิดขึ้นหลังจากร้านซึ่งเปิดขึ้นเพียงปีกว่า จนชวนสงสัยว่าอะไรคือกลยุทธ์ของการทำร้านกาแฟของพวกเขาให้เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว

บนทำเลไกลปืนเที่ยงหลังวัดบูรณะสิทธิ์ หรือที่คนท้องถิ่นแถวนี้เรียกว่า ‘วัดพระเจ้าใหญ่ผือบัง’ ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ศูนย์รวมใจของคนทั้งอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ไว้ด้วยกัน เมื่อ 20 ปีก่อน บริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายเพื่อทำการเกษตรเชิงเดี่ยว ทั้งปลูกปอและทำไร่มันสำปะหลัง กระทั่ง โอ๋-จรูญพิศ มูลสาร และสามี ลูกหลานคนบ้านนี้ ได้กลับบ้านและเริ่มปรับปรุงพื้นที่ ก่อตั้ง ‘วิสาหกิจบ้านไฮ่บ้านสวน’ ขึ้น เธอกับชาวบ้านช่วยกันปลูกป่าขึ้น โดยเลือกใช้ไม้มรดกอย่างต้นยางนา ตะเคียน พะยูง ฯลฯ ท่ามกลางคำปรามาสว่า “จะทำได้หรือ” 

แต่เมื่อเวลาผ่านไป พื้นที่แห้งแล้งจากน้ำมือมนุษย์ก็กลับมาชุ่มชื้นด้วยน้ำมือมนุษย์อีกครั้ง พิสูจน์ว่าเราทุกคนคืนความสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ได้หากตั้งใจ

ด้วยภารกิจของวิสาหกิจ มุ่งเน้นขับเคลื่อนสังคมสู่ความยั่งยืน กิจกรรมของที่นี่จึงมีทั้งงานหนุนเสริมชุมชนให้เข้มแข็ง การอนุรักษ์ธรรมชาติ ทั้งป่าชุมชนแหล่งชุ่มน้ำธรรมชาติอย่างแก่งละว้า นั่นดึงดูดให้มีนักอนุรักษ์ตลอดจนนักศึกษาด้านพัฒนาสังคมของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในภาคอีสานเข้ามาศึกษาดูงานเป็นประจำ และล่าสุด ด้วยพลังของวัยรุ่นที่เข้ามาฝึกงานนี้เอง กลายเป็นจุดกำเนิดของร้านกาแฟในป่าอย่าง บ้านหลังวัด Coffee จุดเช็กอินในจังหวัดขอนแก่นที่กำลังเป็นที่กล่าวถึงอย่างมาก ด้วยสุ้มเสียงในทางเดียวกันว่า “ร้านแห่งนี้มีดีมากกว่าเป็นแค่ร้านกาแฟ” 

อโรม่าของสถานที่นี้คือกลิ่นหอมใด ไยจึงเชื้อเชิญผู้คนมากมายให้เข้ามาเยือนและซึมซับเรื่องราวดี ๆ กลับไปอย่างไม่รู้จบ อีสาน Lifehacker ตอนนี้ อาสาพาคุณไปตามหากลิ่นหอมลึกล้ำที่ซ่อนอยู่ในแก้วกาแฟของร้านแห่งนี้กัน

ป่าปลูกและนักพัฒนาสังคมวัยรุ่น คือจุดเริ่มต้น

เช้าวันมาฆบูชาปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์พอดี ทุกวันเสาร์ ณ ร้านบ้านหลังวัด Coffee จะมีห้องเรียนธรรมชาติเปิดสอนให้เด็กและเยาวชนที่สนใจ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำไมเราถึงเลือกนัดคุยกับพวกเขาในวันนี้ 

ภายใต้บรรยากาศร่มเย็นของต้นไม้ทั้งที่เป็นฤดูร้อน สะท้อนให้เราเห็นถึงคุณค่าของต้นไม้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด ขณะเดียวกันก็เริ่มมีเด็ก ๆ เข้ามาวิ่งเล่นในพื้นที่ร้าน อุ๊บอิ๊บ-พัชราพรรณ กองมณี ผู้จัดการร้านวัย 24 ปี พร้อมทั้งทีมงาน ต้อนรับเราด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม วัยรุ่นกลุ่มนี้คืออดีตนักศึกษาฝึกงานคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาพัฒนาสังคม บ้างก็มาจากวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยขอนแก่น บางคนเป็นวิศวกรสิ่งแวดล้อมที่มีจิตอาสามาช่วยสอนเด็ก ๆ ในห้องเรียนธรรมชาติ เราถามอุ๊บอิ๊บว่า อะไรคือจุดเริ่มต้นของร้านกาแฟแห่งนี้ เธอเล่าให้ฟังว่า

“ตอนแรกหนูกับเพื่อน คือ ใบหม่อน-เพชรลัดดา บุตรมหา มาฝึกงานภาคประชาสังคมที่นี่ก่อนค่ะ เป็นการฝึกงานที่ทำงานกับชาวบ้าน แล้วรู้สึกว่าฝึกแค่ 2 เดือนยังไม่พอ พอฝึกจบตามหลักสูตร ต้องไปฝึกสหกิจอีก 4 เดือน ก็คุยกันว่าจะไปที่ไหนต่อดี แต่เรา 2 คนรู้สึกเหมือนกันว่าฝึกตรงนี้แล้วมันยังไม่สุด เลยตกลงกันว่าอย่างนั้นอยู่นี่ต่อก็ดีนะ 

“ตอนใกล้จะฝึกสหกิจจบ เพื่อนหนูชื่อ อันเอิร์น มาเยี่ยม พอเห็นป่าที่แม่โอ๋ปลูกเอาไว้ร่มรื่น จึงเกิดไอเดียว่าน่าเปิดร้านกาแฟเป็นแนวร้านกาแฟในป่า ความคิดนี้ดันไปตรงกับแม่โอ๋เจ้าของพื้นที่ซึ่งคิดไว้นานแล้วแต่ยังไม่ได้ลงมือทำ จึงสนับสนุนทันที หนูกับอันเอิร์นก็เริ่มคิดชื่อร้านกัน บ้านข้างวัดที่เชียงใหม่ก็มีแล้ว บ้านติดวัดคำไม่สวย ‘บ้านหลังวัด’ เออ คำนี้แหละ ติดหู สปาร์ก ด้วยความเป็นวัยรุ่น ถึงจะเป็นร้านเล็ก ๆ แต่เราสนุก มันต้องเปี่ยมด้วยไอเดีย อันเอิร์นก็เริ่มวาดลายเส้นเป็นโลโก้ร้าน และเปิดเพจเฟซบุ๊ก มีอินสตาแกรมไว้ให้คนติดตาม 

“แรก ๆ ขายไม่ค่อยได้ นั่งตบยุงกัน แม่โอ๋ก็อุดหนุนวันละ 5 – 6 แก้ว แม่โอ๋บอกว่าไปประชุมมา เขาบอกว่าถ้าร้านกาแฟขายได้วันละ 40 แก้วถึงจะอยู่ได้ หนูก็คิดในใจว่าจะได้หรือ ตอนนี้ยังขายได้ไม่กี่แก้วเอง 

“ทีนี้อันเอิร์นถูกเรียกตัวไปทำงานในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เลยมาตกอยู่ที่หนูเพราะเป็นคนริเริ่ม เปิดได้ไม่ถึงเดือน มีงานบุญประจำปีที่วัดพระเจ้าใหญ่ซึ่งติดกับพื้นที่เรา นั่นเป็นครั้งแรกที่ขายกาแฟได้ 200 แก้วเลย แล้วก็มีอีกครั้งหนึ่งหลังจากนั้น จู่ ๆ มีรถมาจอด 5 คัน มีคนนั่งเต็มทุกโต๊ะ หนูรีบถ่ายภาพเก็บไว้ เพราะรู้สึกว่า เฮ้ย นี่มันเหมือนร้านกาแฟแล้ว แต่หนูอยู่คนเดียว ทำไม่ทัน จุดพีกคือหนูนั่งร้องไห้ในบาร์เลยค่ะ อยากจะปิดร้านเลย แต่สุดท้ายก็ผ่านไปได้ด้วยดี หลังจากวันนั้นก็มาวางแผนว่าจะทำอย่างไรให้รองรับสถานการณ์แบบนี้ได้ แต่ก็ไม่ได้มีแบบนั้นทุกวัน เพราะหลังจากนั้นมันก็เงียบ” 

ร้านกาแฟข้างทางคือครู 

แน่นอนว่าหลักสูตรพัฒนาสังคมที่พวกเขาเรียนมาคงไม่มีคอร์สสอนชงกาแฟเป็นแน่ เช่นนั้น พวกเขาเรียนรู้วิธีชงกาแฟมาจากไหน คำตอบที่ได้น่าสนใจไม่น้อย 

“พวกหนูใช้เวลาวางแผน 5 วันเองค่ะ ร้านกาแฟดัง ๆ เขาใช้เวลา 5 ปีเตรียมตัว แต่พวกหนูคิดแล้วทำเลย เพราะแม่โอ๋เองก็เป็นคนที่เร็ว พอบอกว่าจะทำก็สนับสนุนทันที พวกเราออกไปตามหาซื้ออุปกรณ์ชงกาแฟ ไปดูตามร้านขายของมือสองบ้าง แล้วก็มาทดลองต้มชิมกันดู ลองผิดลองถูกกันเองจากที่เคยเห็น จนกระทั่งมีกิจกรรมของ The Cloud Journey : Work Life ปลาร้า ที่มาเยือนบ้านไฮ่บ้านสวน ตอนนั้นเป็นครั้งแรก ๆ ที่เราชงกาแฟขาย กระซิบถามกันกับเพื่อนว่า เอาไงดี ถ้าไม่อร่อย เขาว่าเราแน่ ๆ นะ เพื่อนก็บอกว่า เออ ก็เราเรียนมาแค่นี้ ไม่เป็นไร ทำขายไปก่อนค่อยว่ากัน 

“พอเสร็จกิจกรรม เราก็คิดว่าไม่ได้แล้ว ต้องไปลองหาความรู้เรื่องการชงกาแฟเพิ่มเติมกัน เราเริ่มจากการใช้หม้อต้มโมกาพอต จะไปถามจากคนที่ใช้เครื่องชงก็ไม่ได้ โชคดีที่ตอนกลับเข้าตัวเมืองขอนแก่น เราไปเจอร้านริมทางร้านหนึ่งก่อนที่จะเข้าย่านกังสดาล แถวโรงพยาบาลกรุงเทพขอนแก่น ชื่อ ร้านกาแฟริมทาง เลยแวะลองสั่งกาแฟชิม ระหว่างจิบกาแฟก็แอบนั่งดูเขาทำ เพราะเขาใช้โมกาพอตแบบที่เราใช้ แล้วก็ลองเลียบ ๆ เคียง ๆ ถามว่านี่มันอะไร ทำไมชงแล้วอร่อยมากเลย ต้องชงอย่างไร เขาก็ถามกลับเลยว่า อยากได้สูตรไหมล่ะ เดี่ยวพี่จดให้เอาไปทำที่บ้านก็ได้ 

“จู่ ๆ พี่ปราบ เจ้าของร้าน เขาก็พูดขึ้นมา พวกเราก็เลยบอกกับพี่เขาไปตามตรงว่า พวกหนูกำลังจะเปิดร้านกาแฟ แต่มันยังไม่เกิดขึ้น กำลังปั้นกันอยู่ ไม่รู้จะทำเมนูน้ำออกมาอย่างไรให้อร่อย พี่เขาก็ตอบกลับมาว่า ถ้างั้นพรุ่งนี้ เอากระดาษปากกามาจด มาเรียนกับพี่ เขาสอนให้เราฟรีเลยค่ะ 3 ชั่วโมง สอนชง จดสูตรให้ บอกแหล่งซื้อวัตถุดิบว่าต้องซื้ออะไรที่ไหน เหมือนฟ้าประทานพี่ปราบมาโปรดพวกหนูมาก ขอบคุณพี่เขามากเลยค่ะ”

ร้านกาแฟของชุมชน ทุกคนคือครอบครัว 

“ตั้งแต่เปิดร้าน เราไม่ได้คิดว่าจะต้องมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ ขายกาแฟแก้วละ 35 บาท มันแทบจะไม่ได้อะไรเลย แต่เราต้องการเป็นร้านกาแฟเพื่อชุมชน ราคาขายเกิน 20 บาท ชาวบ้านก็รู้สึกว่าแพงแล้วนะคะ แต่เพราะเราก็อยากทำให้เขาเห็นว่าเราเป็นกาแฟสดที่ใช้เครื่องทำ มีเครื่องบด มีหม้อต้มโมกาพอต อยากสร้างการเรียนรู้ให้กับชาวบ้านด้วย” อุ๊บอิ๊บกล่าวกับเรา แล้วเล่าต่อไปว่า 

“เด็ก ๆ รู้สึกว่า 35 บาท มันแพง คือเขากำเงินมาซื้อ 35 บาท สมัยนั้นสงสารเด็กมาก บางทีก็ให้กินฟรีค่ะ เด็กบางคนเดินมาบอกว่าหนูขาดเงินไป 5 บาท เราบอกไม่เป็นไร กินไปเถอะ ตอนนี้ก็ยังทำอยู่ค่ะ เด็กน้อยก็ยังกำเงินมา 35 บาทอยู่ แต่ตอนนี้กาแฟที่ร้านขึ้นราคาแล้ว เราก็ยังให้เขากิน บอกเขาว่ารอบนี้ให้ตามราคาเดิมก่อนนะ คือเราไม่อยากให้รู้สึกว่า ถ้าคุณไม่มีเงินคุณไม่ได้กินหรอก เพราะเราทำงานร่วมกับเขา คลุกคลีกับคนในหมู่บ้านมานาน เราเข้าใจ นี่คือจุดประสงค์แรกของร้านเราและยังคงเจตนารมณ์นี้ไว้

“ร้านเราไม่ใช่แค่ร้านกาแฟนะคะ แรก ๆ ลูกค้าที่แวะเข้ามา มีอะไรในบ้านเราก็เอามาให้เขากินค่ะ มีผลไม้ก็เอามาให้เขากิน เรารู้สึกว่าเขาเหมือนพี่เหมือนน้อง ให้ความสัมพันธ์ระหว่างคนขายกับลูกค้าเป็นเหมือนคนในครอบครัว 

“อีกอย่างที่สำคัญ คือเราต้องการให้ลูกค้ารับรู้ว่าบ้านหลังวัด Coffee เป็นพื้นที่ปลอดภัย เขามานั่งได้นาน ๆ เราพยายามเพิ่มทุกอย่างให้นะคะ เช่น พัดลม เมื่อเรามีรายได้ก็อยากเพิ่มเติมอะไรให้ร้านพัฒนาไปพร้อมกับลูกค้า เดี๋ยวนี้มีเด็กมัธยมจากโรงเรียนในตัวเมืองมานั่งคุยงาน ทำการบ้าน ทำงานกลุ่ม ซึ่งเรารู้สึกดี เพราะนี่เป็นหนึ่งในลิสต์ความฝันที่อยากให้วัยรุ่นมีพื้นที่ปลอดภัย เขามานั่งกัน 10 คนสั่งกาแฟ 3 แก้วแล้วนั่งทำงานกันทั้งวันเราก็ไม่ได้ว่าอะไร บางทีไปถามเขาด้วยว่าต้องการอุปกรณ์อะไรเพิ่มไหม ถ้าเรามีและช่วยได้ก็หยิบยื่นให้เขา”

ดึงดูดคนด้วยคอร์สสอนภาษาอังกฤษฟรี ความเชื่อเรื่องกฎของแรงดึงดูดและ TikTok

เมื่อเปิดร้านมาสักพักแล้วชักเงียบเหงา ทีมงานจึงระดมความคิดและตกตะกอนว่า เนื่องจากบ้านหลังวัด Coffee เป็นส่วนหนึ่งของวิสาหกิจบ้านไฮ่บ้านสวน ซึ่งเชื่อมโยงการทำงานกับเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แก่งละว้าอยู่แล้ว และไม่ได้มองเรื่องผลกำไรที่ตัวเงินเป็นหลัก จึงคิดเปิดพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ อุ๊บอิ๊บเล่าต่อไปว่า

“ตอนนั้นร้านเปิดมาได้ 3 เดือนแล้ว คนยังไม่ค่อยมี ทีมงานก็มานั่งคิดกันว่าจะทำอย่างไร พอดีที่ พี่น้อง ซึ่งเป็นคนอีสานคืนถิ่นและอยู่ใกล้กับพื้นที่เรา เขามีจิตอาสามาช่วยกิจกรรม จึงเสนอว่าไหน ๆ ที่ผ่านมาแก่งละว้าเริ่มเปิดการท่องเที่ยวชุมชน ต่อไปต้องมีชาวต่างชาติเข้ามาแน่ หากเด็กหรือคนในพื้นที่พูดภาษาอังกฤษได้น่าจะเป็นประโยชน์ จึงเสนอว่างั้นเปิดสอนภาษาอังกฤษฟรีทุกวันเสาร์ดีไหม จุดนี้เองที่ทำให้คนเริ่มรู้จักร้านเรามากขึ้น 

“ทีนี้ก็เริ่มมีคนถ่ายภาพไปลงเพจเฟซบุ๊กประจำอำเภอ บ้านหลังวัด Coffee ก็ยิ่งเป็นที่รู้จักและเริ่มเป็นร้านกาแฟที่มีชีวิตแล้ว วันหนึ่งมีลูกค้ามาบอกว่าร้านเราจะดังแล้วนะ เตรียมตัวรองรับดี ๆ เพราะเขาเห็นใน TikTok พอลองโหลดแอปฯ และติด #บ้านหลังวัดCoffee ดู ปรากฏว่าคนดูคลิปนั้น 2 แสนคนค่ะ ซึ่งลูกค้าเขาทำคลิปของเขาเอง เขาบอกหนูว่า พี่แค่ว่างก็เลยทำ แต่อัลกอริทึมไปโดนใจคนบ้านไผ่ หลังจากนั้นร้านเราก็เริ่มบูม

“หนูมีความเชื่อเรื่องกฎของแรงดึงดูดค่ะ ว่าอะไรที่เหมือนกันจะดึงดูดเข้าหากัน อย่างที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นพ่อกับแม่โอ๋ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ หนู ครูจิตอาสาทุกคนที่เข้ามาที่นี่ หรือแม้แต่ลูกค้า ล้วนเป็นคนที่มี Mindset ในทิศทางเดียวกัน คืออยากมีส่วนร่วมทำอะไรดี ๆ เพื่อสังคม กฎของแรงดึงดูดมันทำงานค่ะ ร้านเราจึงได้ใจพวกเขาในที่สุด” 

ธรรมชาติของเด็ก ๆ คือหลักสูตรห้องเรียนธรรมชาติ 

เล่าถึงตรงนี้ จึงต้องหันไปถามกับ ครูน้อง-วิญาณี วงษ์ธรรม คุณครูจิตอาสาผู้มาสอนหนังสือในห้องเรียนธรรมชาติให้เด็ก ๆ ถึงที่มาที่ไปในการได้มาร่วมงานเป็นครูอาสาที่นี่ และเรื่องแนวคิดการเรียนการสอนในคลาสเรียนธรรมชาติ

“เราทำงานเป็นวิศวกรสิ่งแวดล้อมมานาน พอถึงช่วงวิกฤตโควิด จึงเริ่มคิดว่าชีวิตคนไม่แน่นอน เลยตัดสินใจกลับบ้าน มาสร้างพื้นที่สวนเกษตรอินทรีย์ของตัวเองเอาไว้ เผื่อว่าถ้าเสียชีวิตไปก่อนพ่อกับแม่ อย่างน้อยพวกท่านก็ยังมีผลผลิตในสวนไว้หล่อเลี้ยงตัวเองได้ พอกลับมาทำได้สักพักก็กลัวจะเป็นโรคซึมเศร้า เพราะอยู่คนเดียว ทำแต่สวน อยู่แต่กับพ่อ ไม่มีเพื่อน เลยออกมาดูว่าพวกพี่โอ๋เขาทำอะไร ช่วงนั้นมีงานมหกรรมเปิดประตูสู่แก่งละว้าพอดี เลยอาสาไปช่วยขายบัตรล่องเรือ” 

“พอทางวิสาหกิจเปิด บ้านหลังวัด Coffee ได้สักพัก คนยังมาน้อย ทีมเลยคิดกันว่าจะทำอย่างไร จึงตกตะกอนความคิดกันว่าจะเปิดพื้นที่ร้านให้เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ เราเสนอว่าเราสอนภาษาอังกฤษได้ และน่าจะเป็นประโยชน์กับชุมชน เผื่อมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาก็จะสื่อสารได้ 

“ตอนเปิดสอนใหม่ ๆ เราวางแผนสอนภาษาอังกฤษแบบมีหลักการเลยค่ะ เขียนขึ้นกระดานไวต์บอร์ด ซึ่งสิ่งที่เราไม่รู้และมารู้หลังจากสอนได้ 2 เดือน คือด้วยการที่ห้องเรียนคละอายุกัน เด็กเล็กหลายคนอ่านหนังสือยังไม่ออก และพอหลัง ๆ เวลาสอนบนกระดาน เด็กเริ่มไม่มีสมาธิ เริ่มเล่นกัน เลยปรึกษากับทีมงานครูพี่เลี้ยงว่าจะทำอย่างไรดี

“ช่วงนั้นบ้านหลังวัดมีอีเวนต์จัดร่วมกับโครงการ Young Food พูดถึงอาหารจานชุมชนและวิกฤตอาหารที่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม เราได้กระบวนการคิดและเรียนรู้จากโครงการนั้น จึงรู้ว่าเด็ก ๆ เป็นวัยที่มีพลังเยอะ จะให้เขานั่งจดจ่อกับการเรียนบนกระดานอย่างเดียวคงไม่ได้ จึงเปลี่ยนการสอนใหม่ โดยสอนเรื่องธรรมชาติผ่านการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ ธรรมชาติที่ว่านี้ นอกเหนือจากเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังหมายถึงธรรมชาติของเด็ก ธรรมชาติของมนุษย์ การรู้จักพึ่งพาตัวเอง เช่น ให้พวกเขาเรียนทำอาหารกินเอง สานใบไม้ ทำปุ๋ย บางทีก็พาไปจับปลาข่อน (การจับปลาในฤดูแล้งบนแหล่งน้ำที่ลดลงจนเกือบแห้ง) ปรากฏว่าเด็ก ๆ ชอบมาก เราจึงเรียนรู้ว่าพวกเขามีพลัง ไม่ได้กลัวร้อน กลัวลำบาก แค่สนุกเขาก็พร้อมเรียนรู้แล้ว

“พอจับทางได้ ห้องเรียนของเราก็ปรับเปลี่ยนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อาจจะเรียนภาษาอังกฤษก่อนสัก 30 นาที หลังจากนั้นก็ให้เรียนภาคปฏิบัติ โดยใช้วิธีสอดแทรกคำศัพท์ภาษาอังกฤษเข้าไป บางทีแผนการเรียนการสอนปรับกันหน้างานเลย โดยดูจากสภาพอากาศ เทศกาล อย่างเช่นวันนี้เป็นวันมาฆบูชาและเป็นงานบุญข้าวจี่ ตามฮีตสิบสองคองสิบสี่ของคนอีสาน เราก็จะพาเด็ก ๆ พับดอกไม้จากใบเตยไปถวายพระเจ้าใหญ่ผือบัง แล้วก็ทำข้าวจี่กินกัน 

“เราจะเปิดสอนห้องเรียนธรรมชาติให้ฟรี และยังมีอาหารที่ครบโภชนาการเลี้ยงเด็ก ๆ ฟรีด้วย เพราะบางครั้งเวลามาเรียน เราถามเขาว่ากินข้าวเช้ากับกับอะไร เด็กหลาย ๆ คนตอบว่ากินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งวัยของพวกเขาต้องการอาหารที่มีประโยชน์เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการทั้งทางสมองและร่างกาย ครูพี่เลี้ยงกับแม่บ้านก็จะเตรียมอาหารที่เสริมผัก มีโภชนาการครบ 5 หมู่ไว้ให้เด็ก ๆ ได้กินตอนมื้อเที่ยง อย่างน้อยที่สุด มาอยู่ที่นี่ เขาก็ยังได้รับอาหารที่มีคุณภาพ 

“นอกจากนี้เรายังสอดแทรกอีกหลายเรื่องที่สำคัญ เช่น การรู้จักอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเคารพสิทธิ์ส่วนบุคคล สิทธิ์ส่วนรวม เราสอนให้เด็กรู้จักเคารพตัวเองและเคารพผู้อื่น เช่น บางทีก็จัดสอนวาดภาพ และให้เด็ก ๆ เอาดอกไม้ไปโหวตว่าภาพไหนสวยที่สุด เด็กถามว่าหนูโหวตตัวเองได้ไหม เราก็บอกว่าได้สิ มันเป็นสิทธิ์ของเรา เวลาโตขึ้น ถ้ามีการเลือกตั้ง ต่อให้เราเป็นผู้สมัครและอยากโหวตให้ตัวเองก็ไม่ผิด หรือจะโหวตให้ญาติพี่น้องก็ได้ เพราะเป็นสิทธิ์ของเรา 

“เราจะไม่ทำให้เด็กรู้สึกแบ่งแยก เพราะในคลาสมีเด็กที่มาจากหลากหลายสังคม ทั้งจากชุมชนแออัด เด็กในตลาด ลูกเจ้าของกิจการ เราปฏิบัติกับทุกคนเท่าเทียมกัน ส่วนเรื่องการเรียนการสอน เราเข้าใจดีว่าเด็กที่มาจากต่างสังคมกันมีนิสัยใจคอต่างกัน ก็จะหาวิธีบอกสอนในแต่ละคนแต่ละแบบต่างกันไป บนเป้าหมายเดียวกัน คือให้เขาได้สัมผัสกับความดีงาม รู้จักรักและหวงแหนธรรมชาติและเรียนรู้เรื่องมิตรภาพ เราแอบคาดหวังลึก ๆ ว่าต่อไปในอนาคตเด็กกลุ่มนี้จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ยังเป็นเพื่อนกัน และพากันสร้างสรรค์สังคมต่อจากพวกเรา ณ เวลานี้เราจึงต้องปูทางต่าง ๆ ให้กับพวกเขา” 

สิ่งที่ครูน้องกล่าวไม่เกินจริง เพราะจากภาพ เด็ก ๆ ในคลาสห้องเรียนธรรมชาติวันนี้ต่างกำลังจดจ่อพับดอกไม้จากใบเตย บูดเบี้ยวไปบ้าง แต่พวกเขาก็ตั้งใจสุด ๆ พอเสร็จก็หันไปทำข้าวจี่กัน ความน่ารักคือเด็ก ๆ แบ่งหน้าที่กันเอง พี่ที่โตหน่อยสัมผัสความร้อนได้มากกว่าน้องน้อยก็คอยพลิกข้าวจี่ ส่วนเด็กน้อย ๆ ก็ปั้นข้าวชุบข้าวกับไข่ เราไม่เห็นภาพการทะเลาะกัน เห็นแต่การช่วยเหลือ พอทำข้าวจี่เสร็จ ครูพี่เลี้ยงรวมถึงพี่ ๆ นักศึกษาฝึกงานจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่มาศึกษาดูงานก็พาเด็ก ๆ ต่อแถวแล้วถือดอกไม้ เดินเรียงกันเข้าวัดเพื่อนำดอกไม้ไปถวายพระ 

เป็นภาพที่น่าชื่นใจ ไม่น่าเชื่อว่าทำเลติดวัดที่เคยห่างไกลและดูเปลี่ยวร้างในวันวาน มาวันนี้ได้กลายเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงเยาวชนกับศาสนาได้อย่างงดงาม

อีเวนต์ในร้านกาแฟ พื้นที่เรียนรู้ปลอดภัยของทุกคน 

สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของบ้านหลังวัด Coffee คือคนที่ร่วมก่อตั้งแทบทั้งหมดล้วนเป็นนักพัฒนาสังคม รวมถึงจิตอาสาที่มีความตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม จึงเรียกได้ว่าหัวใจสำคัญของร้านกาแฟแห่งนี้ คือการเป็นพื้นที่ปลอดภัยของทุกคน และเป็นเสมือนเวทีสื่อสารความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติให้ผู้ที่แวะเวียนมาจิบกาแฟ 

“พอพื้นที่พร้อม ผู้คนเริ่มหมุนเวียน พวกเราก็คิดจัดอีเวนต์กันขึ้น โดยมีทั้งที่จัดร่วมกับโครงการต่าง ๆ หรือจัดขึ้นเองโดยร้านกาแฟ ซึ่งเราจะมุ่งเน้นสื่อสารไปในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหาร หรือสัมพันธภาพของผู้คนและชุมชน โดยทีมงานแบ่งหน้าที่ช่วยเหลือกันในทุกด้าน

“ในระยะเวลา 1 ปีที่ร้านเปิดมา เราจัดอีเวนต์ไปทั้งหมด 4 ครั้งแล้ว เริ่มตั้งแต่ตลาดเขียวบ้านไผ่ ภายใต้ชื่อ Local Market Revolution จัดครั้งแรกในช่วงเดือนมกราคม และครั้งที่ 2 ในเดือนมีนาคมนี้ และมีอีเวนต์ที่จัดร่วมกับโครงการ Young Food สื่อสารเรื่องความมั่นคงทางอาหาร อาหารจานชุมชน วิกฤตสิ่งแวดล้อม และการอนุรักษ์ฐานทรัพยากรให้ยั่งยืน 

“และยังมีอีเวนต์ที่บ้านหลังวัด Coffee จัดขึ้นเอง คือเทศกาลวันวาเลนไทน์ ผลตอบรับดีมากเลยค่ะ ขายจนถึงทุ่มหนึ่งเลย น้ำแข็งหมดก็ไปหามาเพิ่ม เพลงก็เปิดไป จอยมาก กิจกรรมนี้สะท้อนเลยว่าเราเป็นพื้นที่ของวัยรุ่นจริง ๆ เขามาร่วมกิจกรรมกับเรา ได้เผยความในใจ มานั่งร้องไห้ เหมือนเขาสบายใจที่ได้อยู่กับเรา แต่ว่าด้วยความเป็นวัยเด็กวัยโต เราจะไม่บลัฟกัน เราจะเทกแคร์กันเหมือนเป็นเพื่อน ไม่ใส่ตัวตนลงไป แต่จะรับฟังอย่างเข้าใจแบบลึกซึ้ง 

“เรายังเชื่อมโยงความรักในกิจกรรมวันวาเลนไทน์ไปถึงการรักษ์โลกด้วย โดยมีกิจกรรม ‘ภาวะโลกเลิฟ’ ที่สอนให้เด็กวัยรุ่นรู้จักแยกขยะ ส่งต่อให้ขยะเหล่านั้นไปอยู่ถูกที่ เพื่อจะได้ง่ายต่อการนำไปกำจัดหรือรีไซเคิล เด็ก ๆ ชอบ รุ่นพี่ที่เป็นรุ่นเดอะก็ชอบ ทุกคนที่เข้ามาต่างชมว่าดีมาก และบอกว่าไม่ค่อยมีเลยนะ พื้นที่ป่าที่พวกมาเรียนรู้ ผ่อนคลาย เป็นพื้นที่สงบแบบนี้ ได้ยินแบบนี้แล้วก็ชื่นใจค่ะ

“หนูว่าการจัดอีเวนต์ช่วยทำให้ความคิดของผู้บริโภคหรือผู้เสพเปลี่ยนมุมมองไปด้วย แรกเริ่มเขาเดินเข้ามาอาจสงสัยว่าเราทำอะไร พอเดินเข้ามาแล้ว ได้เข้าไปดูตรงจุดเวิร์กช็อป ก็เข้าใจในสิ่งที่พื้นที่ต้องการสื่อสาร อาจงง ๆ อยู่บ้างว่า นี่ร้านกาแฟนี่นา มันมีเรื่องพวกนี้ได้อย่างไร ร้านกาแฟแบบเรามันเป็นแนวคิดและมุมมองใหม่ค่ะ หนูว่าแค่ตัวพื้นที่ร้านที่เป็นป่าก็น่ามาเยือนแล้ว และพอมีกิจกรรมดี ๆ ที่ฟรีด้วย ได้ความรู้ด้วย ผู้บริโภคก็ชอบ” 

มองลูกค้าเป็นมากกว่าลูกค้า แก่นแท้ของร้านกาแฟโดยนักพัฒนาสังคม 

เราถามคำถามสุดท้ายกับอุ๊บอิ๊บว่า ในฐานะนักพัฒนาสังคมที่มาเปิดร้านกาแฟ อะไรคือแก่นสำคัญของร้านแห่งนี้ เธอตอบเราอย่างชวนรู้สึกอิ่มเอมใจว่า

“เมื่อเราเป็นพัฒนาสังคมที่มาทำร้านกาแฟ ความคิดแรกจึงไม่ใช่เรื่องเงิน แต่คิดว่าคงดีถ้าการที่ใครสักคนได้เข้ามากินกาแฟ แล้วร้านนั้นสื่อสาร แลกเปลี่ยนเรื่องราวดี ๆ รอยยิ้ม แรงบันดาลใจ ที่จะผลักดันให้พวกเขากลับไปช่วยกันสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้สังคมได้ พื้นที่เราไม่ได้หรูหราหรอกค่ะ เป็นพื้นที่ป่า เป็นแอร์ธรรมชาติที่แสนจะธรรมดา หนูเทียบกับร้านแฟหรู ๆ แพง ๆ ไม่ได้เลยทั้งในเรื่องรสชาติและคุณภาพ แต่เรามีพื้นที่ค่ะ ซึ่งพื้นที่ของเราเหมาะกับการดื่มกาแฟและส่งเสริมให้เยาวชนรู้จักเรื่องธรรมชาติไปด้วยในตัว และจะมีพวกยาย ๆ ที่นำสินค้าชุมชนที่พวกเขาทำเองมาขาย ลูกค้าที่เข้ามาก็ได้สนับสนุนชุมชนโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางไปด้วย

“อย่างที่บอกว่าเราไม่ได้มองเรื่องการหาผลกำไรมาตั้งแต่แรก ดังนั้นการที่ลูกค้าแวะเวียนมาอุดหนุนกันขนาดนี้ถือว่าเป็นกำไรมากแล้ว สิ่งที่เราหวังเป็นอย่างอื่นมากกว่าเงิน เพราะมุมมองในฝั่งนักพัฒนาสังคมจะมีความเกรงอกเกรงใจ เวลามีเด็กเข้ามาในร้าน เราไม่ได้มองเขาว่าเป็นลูกค้าหรือมุ่งเน้นแต่จะวางกลยุทธ์ให้เขาซื้อของมาก ๆ แต่สิ่งที่เราทำคือมองว่าพวกเขาเหล่านั้นคือผู้คนและอนาคตของชาติที่จะขับเคลื่อนสังคมให้ดีต่อไป เช่นนั้นแล้วเราจะส่งต่อเรื่องราวอะไรให้เขาได้บ้าง แบบที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีจากภายในโดยไม่ยัดเยียด แต่ใช้การสอดแทรกแบบเนียน ๆ ผ่านพื้นที่ ผ่านมิตรไมตรีของพวกเรา และเมื่อกลับไป เขาอาจนำสิ่งดี ๆ ที่ได้ซึมซับจากพวกเราไปส่งต่อยังสังคมที่เขาอยู่ขยายต่อไปอีก ท้ายที่สุดดอกผลของเมล็ดพันธุ์ดีที่เพาะปลูกไว้ในใจของลูกค้าก็จะผลิบานงดงามเป็นวงกว้าง และนำสังคมไปสู่ความสุขในวันข้างหน้าได้ เราก็หวังกันแค่นั้นค่ะ” 

บ้านหลังวัด Coffee
  • บ้านหนองร้านหญ้า 164 หมู่ 5 ตำบลหัวหนอง อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น (แผนที่)
  • เปิดบริการทุกวัน เวลา 08.30 – 17.30 น. (ลูกค้านั่งอยู่ต่อได้ถึงประมาณ 19.00 น.)
    คลาสห้องเรียนธรรมชาติมีทุกวันเสาร์ เวลา 10.00 – 12.00 น. สินค้าชุมชนมีวางขายเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์
  • 09 8618 3622
ติดตามความเคลื่อนไหวของร้านหรืองานอีเวนต์ดี ๆ ที่จะจัดขึ้นได้ทาง

ป.ล. ใครที่มีความรู้ดี ๆ อยากส่งต่อก็ติดต่อมาเป็นครูอาสาเพื่อสอนเด็ก ๆ ในห้องเรียนธรรมชาติได้เลย

Writer

สิทธิโชค ศรีโช

สิทธิโชค ศรีโช

มนุษย์ผู้ตกหลุมรักอาหารการกินมาตั้งแต่จำความได้ เคยโลดแล่นอยู่ในวงการสื่อสารด้านอาหารกว่าสิบปี ก่อนกลับบ้านนอกมาใช้ชีวิตติดกลิ่นปลาร้าที่อีสาน และยังคงมุ่งมั่นส่งต่อเรื่องราววัฒนธรรมอาหาร สุขภาพ และการดำรงชีวิตของผู้คนบนที่ราบสูง ให้โลกได้รับรู้

Photographer

กานต์ ตำสำสู

กานต์ ตำสำสู

หนุ่มใต้เมืองสตูลที่มาเรียนและอาศัยอยู่อีสาน 10 กว่าปี เปิดแล็บล้างฟิล์ม ห้องมืด และช็อปงานไม้ อยู่แถบชานเมืองขอนแก่น คลั่งไคล้ฟุตบอลไทยและร็อกแอนด์โรล