“อยากให้ทุกคนตระหนักว่า พื้นที่ชุ่มน้ำคือพื้นที่ของทุกชีวิต ไม่ได้เป็นแค่ภาชนะเก็บน้ำเท่านั้น”

ใบหม่อน-เพชรลัดดา บุตรมหา กล่าวกับเราด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม แต่น้ำเสียงที่ส่งสารออกมานั้นหนักแน่นในใจความ

ก่อนหน้านี้เธอคือนักศึกษาฝึกงานจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ตัดสินใจเลือกไซต์ฝึกงานตามหลักสูตรภาคประชาสังคมเป็นพื้นที่แก่งละว้า ใน อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น 

ตอนนั้นเธอรู้จักแก่งละว้าไม่มากนัก แต่ที่เลือกเพราะอยากออกจากเซฟโซน กอปรกับช่วง 2 ปีที่ต้องเรียนผ่านออนไลน์เพราะสถานการณ์โควิด-19 จึงต้องการพาตัวเองออกไปคลุกคลีกับชุมชนที่อยู่นอกเมือง โดยไม่รู้เลยว่าการตัดสินใจในวันนั้นจะนำไปสู่การเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ผู้ช่วยขับเคลื่อนพัฒนาและอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้าในฐานะเจ้าหน้าที่ประสานงานเครือข่ายชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า และเจ้าหน้าที่ประสานความร่วมมือและพัฒนาองค์กรเครือข่าย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปี ยกให้เป็น ‘วันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก’ หรือ ‘World Wetland Day’ อีสาน Lifehacker ครั้งนี้จึงขอชวนคุณลงแก่งละว้า เพื่อไปพูดคุยกับใบหม่อนถึงสถานการณ์ปัจจุบันและวิกฤตที่พื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้กำลังเผชิญ รวมถึงแนวทางการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้าอย่างมีส่วนร่วม เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนด้วยพลังและแนวคิดของคนรุ่นใหม่

ย้อนวันวาน เมื่อนักศึกษาฝึกงานลงพื้นที่แก่งละว้า

จากศูนย์วิสาหกิจบ้านไฮ่บ้านสวน ใกล้กับวัดพระเจ้าใหญ่ผือบังของอำเภอบ้านไผ่ที่เรานัดเจอกับใบหม่อน เธอพาเราเดินทางลัดเลาะไปตามถนนของหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อไปยังแก่งละว้า พื้นที่ชุ่มน้ำขนาด 17,000 ไร่ แหล่งน้ำธรรมชาติที่เป็นเสมือนชีวิตของทุกสรรพสิ่งและเป็นแหล่งทำมาหากินของผู้คนรอบแก่ง ทั้งยังเป็นแหล่งน้ำจืดที่ใช้ผลิตน้ำประปาให้กับคนทั้งอำเภอบ้านไผ่และอำเภอบ้านแฮด ของจังหวัดขอนแก่นได้ใช้กัน ซึ่งกลางเดือนกุมภาพันธ์เช่นนี้ ข้าวในนาปรังยังเขียวสวยเย็นตาให้ได้ชม

เพชรลัดดา บุตรมหา สาวสกลฯ ผู้ตกหลุมรักแก่งละว้า พื้นที่ชุ่มน้ำ-พื้นที่ชีวิตในขอนแก่น

“ชาวบ้านที่นี่เขาจะทำนาปรังโดยใช้น้ำจากแก่งละว้า แต่ปีนี้ก็กังวลกันอยู่ว่าน้ำจะพอไหม เพราะปีก่อนเราได้น้ำฝนเติมลงแก่งในช่วงฤดูฝนน้อยกว่าช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ถ้าฝนมาช้าหรือมาน้อย อาจเกิดวิกฤตแย่งชิงน้ำอุปโภคบริโภคได้” 

ใบหม่อนกล่าวกับเราถึงวิกฤติของน้ำที่อาจเกิดขึ้น ก่อนจะเล่าย้อนไปถึงชีวิตช่วงเป็นนักศึกษาสาขาพัฒนาสังคมที่ลงพื้นที่มาฝึกงานยังแก่งละว้า ซึึ่งทำให้เธอรู้สึกอินกับงานอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำให้เราฟังว่า

“ตอนปี 4 เทอม 1 นักศึกษาพัฒนาสังคมต้องเลือกพื้นที่ฝึกงานตามหลักสูตร 3 พื้นที่ ทั้งพื้นที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งตอนฝึกงานภาคประชาสังคมเราเลือกฝึกงานที่แก่งละว้า เพื่อน ๆ เดินมาบอกว่าสู้ ๆ นะ เราก็คิดว่าต้องสู้กับอะไรเหรอ อาจเพราะเพื่อน ๆ ส่วนใหญ่เลือกพื้นที่ฝึกงานในเขตเมืองขอนแก่นกัน ไม่มีใครเลือกแก่งละว้าเลย เรากับเพื่อนอีกคนเลยคุยกันว่าจะเลือกที่นี่แหละ ก่อนลงพื้นที่เราถามกับ แม่โอ๋ (จรูญพิศ มูลสาร) และ พี่เมย์ (ศศิธร มูลสาร) ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงของเราว่าต้องเตรียมอะไรไปบ้าง เขาก็บอกว่าเตรียมแค่ตัวและหัวใจมาก็พอ” 

พอมาถึงสถานที่ฝึกงานแห่งนี้ เธอก็เริ่มเรียนรู้โครงสร้างและภารกิจขององค์กร ลงพื้นที่ไปทำความรู้จักกับผู้คนและเครือข่ายชาวบ้านอย่างลึกซึ้ง-แนบเนียนไปกับวิถีชีวิตชาวบ้านริมแก่ง ถึงขั้นทดลองลงไปเลี้ยงควายทามกับชาวบ้าน ไปกวาดขี้ควายใส่กระสอบช่วยให้ชาวบ้านนำไปขาย หรือตื่นตี 3 – 4 ออกหาปลาพร้อมชาวประมงในแก่งละว้า 

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำความเข้าใจต่อวิถีและความต้องการของผู้คนรอบแก่ง และแสดงถึงความจริงใจของเธอต่อชาวบ้านว่ากำลังจะมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา และนั่นทำให้เธอตกหลุมรักกับวิถีชีวิตเปี่ยมเสน่ห์ของที่นี่

เพชรลัดดา บุตรมหา สาวสกลฯ ผู้ตกหลุมรักแก่งละว้า พื้นที่ชุ่มน้ำ-พื้นที่ชีวิตในขอนแก่น
เพชรลัดดา บุตรมหา สาวสกลฯ ผู้ตกหลุมรักแก่งละว้า พื้นที่ชุ่มน้ำ-พื้นที่ชีวิตในขอนแก่น

แก่งที่เสี่ยงโดนกลืน

ด้วยเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ พื้นที่รอบแก่งละว้าจึงถูกเล็งว่าจะพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวแห่งหนึ่งของขอนแก่น นายทุนจึงเริ่มกว้านซื้อที่ดินรอบแก่งหลายแปลง ใบหม่อนเล่าถึงภัยคุกคามนี้ให้ฟังว่า

“สิ่งหนึ่งที่เราได้รับรู้ คือเรื่องภัยคุกคามที่กำลังเข้ามายังแก่งละว้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนากระแสหลักจากภาครัฐ เช่น การพัฒนาธุรกิจ การทำระเบียงเศรษฐกิจของภาคอีสาน หรือการเข้ามาของนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเรามองว่าที่นี่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความหลากหลายทางระบบนิเวศ จึงเสมือนเป็นพื้นที่ชีวิตของทั้งสัตว์ พืชพรรณในป่าบุ่งป่าทามธรรมชาติ รวมถึงวิถีชีวิตของเราก็อยู่ในนั้นด้วย จึงควรอนุรักษ์ความหลากหลายทางระบบนิเวศนี้ให้ยังคงอยู่ 

“ลำพังแค่ปัญหาทั่วไปอย่างการแย่งชิงฐานทรัพยากร เช่น การแย่งชิงน้ำ ท่ามกลางวิกฤตธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้คนรอบแก่งก็ต้องเผชิญอยู่แล้ว หากเกิดการขยายเมืองหรือมีนิคมอุตสาหกรรมมาตั้ง ยิ่งจะทำให้การแย่งชิงน้ำเกิดมากขึ้นกว่าเดิมแน่ ๆ ยังไม่นับรวมถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้านอื่นที่อาจตามมา หากบริหารจัดการได้ไม่ดีพอ

“นอกจากนั้น ปัจจุบันยังมีวิกฤตเรื่องความมั่นคงทางอาหารเข้ามาด้วย แต่ช่วงที่ผ่านมาแก่งละว้าสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งชีวิต เพราะในช่วงเกิดการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ผู้คนได้รับผลกระทบว่าไม่รู้ว่าจะไปหาอยู่หากินที่ไหน ต้องกักตุนอาหารกัน แต่คนแก่งละว้ากลับมีที่หาอยู่หากินใกล้ตัว นี่สะท้อนให้เห็นชัดเจนเลยว่าธรรมชาตินั้นสำคัญแค่ไหน และเรามองว่าวิกฤตลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต จึงวิเคราะห์ร่วมกันในทีมว่าจะทำยังไงให้คนบ้านไผ่ คนขอนแก่น รวมถึงคนแก่งละว้า หาอยู่หากินได้ปกติท่ามกลางวิกฤต”

ใบหม่อนเล่าให้ฟังอีกว่า อีกเรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วง คือการย้ายถิ่นฐานของคนรอบแก่ง คนรุ่นใหม่ถูกผลักดันให้ออกไปทำงานนอกบ้าน ผู้คนที่เคยหาอยู่หากินตามวิถีก็เลิกทำอาชีพที่บรรพบุรุษเคยทำมา เช่น ชาวประมงที่ลดจำนวนลง ด้วยเหตุผลด้านการเปลี่ยนแปลงไปของสภาพสิ่งแวดล้อม และอีกอย่างคือเพราะพวกเขายังมองไม่เห็นโอกาสที่มีอยู่ในบ้านเกิดและภูมิปัญญาที่มี ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่นักพัฒนาสังคมและชุมชนต้องเผชิญความท้าทาย 

เพชรลัดดา บุตรมหา สาวสกลฯ ผู้ตกหลุมรักแก่งละว้า พื้นที่ชุ่มน้ำ-พื้นที่ชีวิตในขอนแก่น

ชาวบ้านต้องรู้ว่าตัวเองมีสิทธิ์ในทรัพยากร และเชื่อมั่นเรื่องการทำงานอย่างมีส่วนร่วม

หากคนในพื้นที่เข้าใจถึงสิทธิชุมชนที่มีอยู่ จะเกิดความเข้มแข็งของชุมชน และส่งผลดีต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม ใบหม่อนเล่าเปิดประเด็นเรื่องนี้อย่างน่าสนใจ

“ตอนที่เรียนพัฒนาสังคม หลักสูตรเข้มข้นกับเรื่องสิทธิ์มากนะคะ และพอทำงานกับชุมชน เราต้องเรียนรู้เรื่องของสิทธิชุมชนด้วย ตอนลงพื้นที่แรก ๆ มักได้ยินชาวบ้านบอกว่า เฮาบ่มีสิทธิ์เว้าดอก บ่มีสิทธิ์คิดนำเพิ่นดอก เพิ่นคิดมาให้แล้ว สะท้อนให้รู้เลยว่าชาวบ้านไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิ์ในการบริหารจัดการและใช้ประโยชน์ต่อฐานทรัพยากรธรรมชาติ 

“เหตุการณ์หนึ่งในอดีตที่แสดงถึงการใช้สิทธิชุมชนของชาวบ้านแก่งละว้า คือหลังจากภาครัฐมีโครงการพัฒนาโดยสร้างคันกั้นน้ำ ชาวบ้านในพื้นที่เข้าไปประสานกับรัฐตั้งแต่ก่อนการก่อสร้างแล้วว่า หากทำแบบนี้จะเกิดผลเสียอย่างไร อาจทำให้เกิดน้ำท่วมบ้านเรือนและน้ำไม่ไหลลงแก่งละว้าได้ตามธรรมชาติ และยังเสนอแนวทางว่าควรทำแบบไหนจะกระทบน้อยที่สุด แต่รัฐก็ยังดำเนินการก่อสร้างตามแผนเดิมจนทำให้เกิดปัญหาขึ้นจริง ๆ 

“ตอนนั้นเครือข่ายชาวบ้านที่แก่งละว้ากล้าที่จะใช้สิทธิ์ของตัวเอง ไปพังคันกั้นน้ำลงบางส่วนเพื่อให้น้ำไหลกลับลงแก่งดังเดิม นั่นเป็นครั้งที่ชาวบ้านกล้าลุกขึ้นมาเพื่อบอกว่า ฉันมีสิทธิ์ที่จะพังตรงนี้ มันเป็นเงินภาษีของฉัน แล้วมันเกิดผลเสียต่อการดำรงชีวิตของพวกฉัน 

เพชรลัดดา บุตรมหา สาวสกลฯ ผู้ตกหลุมรักแก่งละว้า พื้นที่ชุ่มน้ำ-พื้นที่ชีวิตในขอนแก่น

“จากเหตุการณ์นั้น ทำให้เกิดการออกแบบแผนพัฒนาร่วมกันระหว่างชุมชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งส่งผลดีต่อทุกฝ่าย น้ำไหลเข้าแก่งละว้าได้เหมือนเดิม พันธุ์ปลาที่เคยหายไปก็กลับมา ตรงนี้แหละที่อยากใช้ให้ชาวบ้านได้เห็นประโยชน์และตระหนักถึงสิทธิชุมชน ได้รู้ว่าตัวเองมีสิทธิ์ที่จะบริหารจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติของบ้านเรา หากมีโครงการของรัฐลงมา ก็มีสิทธิ์ที่จะวิพากษ์หรือเสนอได้ว่าดีหรือไม่ดี เราต้องรู้จักใช้สิทธิ์ที่มีอยู่ตรงนี้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการพูดออกมา”

หลังจากที่ชาวบ้านรอบแก่งละว้าเริ่มตระหนักเรื่องสิทธิชุมชนแล้ว ชุมชนก็เข้มแข็งขึ้น ชาวบ้านเริ่มมีส่วนร่วมพัฒนาขึ้น จึงนำไปสู่การพัฒนาขั้นถัดไป คือเรื่องการฟื้นฟูธรรมชาติ โดยเน้นการเฝ้าระวัง เช่น เฝ้าระวังบุคคลที่จะมาทำการเก็บหาแบบล้างผลาญ เป็นต้นว่า การช็อตปลา ใส่ลอบยาว หรือใช้ตาข่ายใหญ่ ๆ ดักนกให้ได้ที่ละมาก ๆ โดยชุมชนช่วยกันเป็นหูเป็นตา แจ้งข่าวสารผ่านวิทยุสื่อสารหากันเพื่อแจ้งเหตุที่เกิดในพื้นที่ ผู้นำชุมชนก็มีการดูแลให้ลูกบ้านมีส่วนร่วมเฝ้าระวัง และการรู้จักทำงานอย่างมีส่วนร่วมนี้เองคือกลไกที่จะทำให้งานอนุรักษ์ฐานทรัพยากรธรรมชาติสำเร็จ

เพชรลัดดา บุตรมหา สาวสกลฯ ผู้ตกหลุมรักแก่งละว้า พื้นที่ชุ่มน้ำ-พื้นที่ชีวิตในขอนแก่น

ปลุกใจชุมชนว่าบ้านเรามีของดี
ด้วยการสร้างงานสร้างอาชีพผ่านผลิตภัณฑ์และกิจกรรมท่องเที่ยว

หลังจากที่ชาวบ้านตระหนักเรื่องสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมแล้ว แนวทางพัฒนาต่อจากนั้นคือ เรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านยังคงดำรงอยู่ในวิถีหาอยู่หากินตามเดิมได้ และเห็นคุณค่าในตัวเองในภูมิปัญญาของบรรพบุรุษและคุณค่าในฐานทรัพยากรธรรมชาติของบ้านเกิด ซึ่งทีมงานลงความเห็นกันว่าจะเลือกใช้การทำแบรนดิ้งให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชนและนำกิจกรรมการท่องเที่ยวมาเป็นกลยุทธ์สำคัญ โดยให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมกับทุกกิจกรรม

“โครงการที่คิดขึ้นในช่วงที่เป็นนักศึกษาฝึกงาน คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้กับชาวบ้าน เพราะผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรสุดท้ายจะมาตายเรื่องการทำตลาดและแบรนดิ้ง ตอนแรกที่เข้ามาสินค้าของชาวบ้านไม่มีเรื่องนี้เลย เราจึงเข้ามาช่วยพัฒนาและชี้ให้เห็นว่าสินค้าของเขาดี ขายได้ เพียงแต่ต้องรู้วิธีและช่องทาง

“ที่เห็นเป็นรูปธรรมก็เช่น ปลาร้าแม่ละเอียด เดิมที แม่ละเอียด ทำอยู่คนเดียว พอเกิดการระบาดของโรคโควิด พี่แจน ลูกสาวของแม่ละเอียดกลับมาอยู่บ้าน เราเลยบอกเขาว่าไม่ต้องกลับไปทำงานกรุงเทพฯ แล้วล่ะ มาช่วยกันทำแบรนด์ปลาร้าให้แม่ดีกว่า เพราะแม่ละเอียดทำปลาร้ามีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ช่วงแรกเขาก็ยังไม่มั่นใจ แต่เราให้กำลังใจ ค่อย ๆ แนะนำและช่วยส่งเสริมทุกด้าน จนวันนี้ปลาร้าแดดเดียวของแม่ละเอียดเป็นที่รู้จักของตลาดและมียอดสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง 

เพชรลัดดา บุตรมหา สาวสกลฯ ผู้ตกหลุมรักแก่งละว้า พื้นที่ชุ่มน้ำ-พื้นที่ชีวิตในขอนแก่น

“อีกวิธีที่เลือกใช้คือจัดกิจกรรมท่องเที่ยวแก่งละว้าขึ้น เพื่อให้คนนอกเข้ามาเรียนรู้และทำให้ชาวบ้านรอบแก่งได้เห็นว่าวิถีชีวิตของเรานี่แหละมีคุณค่า ต่อไปเราจะไม่ได้ขายปลา ขายผักตรง ๆ แล้วนะ แต่จะสร้างการขายผ่านเรื่องราววิถีชีวิตของคนพื้นที่ แปลงผักแทนที่จะเก็บผักขายส่งตลาด ก็ปรับเป็นท่าเรือให้นักท่องเที่ยวลงมาชมและซื้อหาโดยเก็บผักเอง หรือชาวประมงก็ให้เขาได้ขับเรือพานักท่องเที่ยวไปชมวิถีชีวิตหาอยู่หากิน พอกลับมาที่บ้านไฮ่บ้านสวนก็จะมีกิจกรรมสอนทำข้าวต้มมัด และสอดแทรกเรื่องราวของบ้านเมืองเพีย ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่เชื่อมโยงกับจุดกำเนิดของผู้ก่อตั้งเมืองขอนแก่น 

“หลักการทำงานอย่างหนึ่งที่เชื่อมั่น คือการมีส่วนร่วมค่ะ เราต้องการให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่ทำมากที่สุด บางครั้งกิจกรรมเราไม่มีทุนเลยนะคะ ก็เอาทุนจากแก่งละว้านี่แหละเป็นที่ตั้ง ใช้ทุนจากฐานทรัพยากร รวมถึงทุนจากผู้คนรอบแก่งละว้า คอนเนกชันกับผู้คนที่เขาอยากเข้ามาและอยากทำงานกับแก่งละว้า เป็นทุนแบบใจแลกใจ ซึ่งต้องอาศัยการประสานงานเป็นสำคัญ เมื่อชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม ได้เห็นการทำงาน ได้เห็นความเป็นไปได้ของสิ่งที่เราสื่อสารไปว่าพื้นที่บ้านเรา ภูมิปัญญาของเรามีคุณค่า มีคนสนใจ ได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยว ชาวบ้านขายผลิตภัณฑ์ที่เก็บหาหรือพัฒนาจากแก่งละว้าได้ เขาก็จะเกิดความภาคภูมิใจ รัก อีกทั้งหวงแหนธรรมชาติและภูมิปัญญาบนแผ่นดินเกิดของตัวเอง” 

เพชรลัดดา บุตรมหา สาวสกลฯ ผู้ตกหลุมรักแก่งละว้า พื้นที่ชุ่มน้ำ-พื้นที่ชีวิตในขอนแก่น

เปิดห้องเรียนธรรมชาติ จัดค่าย จัดอีเวนต์และกิจกรรมต่าง ๆ กับเยาวชน เพื่ออนาคต

“เรื่องราวการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจบในรุ่นของพวกเราไม่ได้” ใบหม่อนกล่าว เธอจึงเลือกที่จะส่งต่อเจตนารมณ์ไปสู่อนาคต นั่นก็คือเยาวชน

“ทุกวันนี้งานอนุรักษ์ธรรมชาติและงานส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชาวบ้านหลายอย่างเริ่มลงตัว เมื่อก่อนเราทำงานกับพ่อ ๆ แม่ ๆ ที่เป็นชาวบ้านในชุมชนอย่างเดียว แต่เดี๋ยวนี้เราทำงานกับทั้งเด็กและเยาวชนมากขึ้น ทำงานกับคนที่กลับมาอยู่บ้านมากขึ้น เพราะมองว่างานการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องระยะยาว จึงต้องฝากฝังเรื่องราวเหล่านี้ไว้กับเยาวชนซึ่งเป็นอนาคต เด็กเดี๋ยวนี้ก็โดนผลักออกจากชุมชนเยอะ จะทำยังไงให้พวกเขาได้รู้และตระหนักถึงความสำคัญของแก่งละว้า 

“โจทย์นี้เป็นที่มาของห้องเรียนธรรมชาติ เพราะเราเห็นว่าเด็กและเยาวชนยังไม่ตระหนักถึงคุณค่าของแก่งละว้า จึงเริ่มจัดค่ายโดยเอาเด็กในชุมชนในโรงเรียนรอบแก่งมาเข้าค่ายร่วมกัน เพื่อสื่อสารให้เขาเข้าใจและรับรู้ถึงคุณค่า และเสนอแนวทางว่าเขาจะช่วยกันดูแลพื้นที่ธรรมชาติในบ้านเกิดได้ยังไง จากนั้นก็เปิดห้องเรียนธรรมชาติทุกวันเสาร์ ให้เด็ก ๆ เข้ามาเรียนรู้ธรรมชาติและวิถีชีวิตผ่านการเล่น สร้างพื้นที่เรียนรู้ให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์และห่างจากจอโทรศัพท์บ้าง

“ธรรมชาติที่เราสื่อสารกับเด็ก ๆ คือธรรมชาติของมนุษย์ค่ะ มนุษย์ทำอะไรบ้างก็สอนในเรื่องเหล่านั้น เช่น เรื่องอาหาร การกินอาหารจากธรรมชาติ เราเก็บสายบัวแล้วพาเขาทำแกงสายบัว ไม่รู้เลยว่าเด็ก ๆ เดี๋ยวนี้กินสายบัวไหม สอนให้เด็ก ๆ ปรุงแกงเอง แล้วก็เห็นพวกเขากินกันอย่างภาคภูมิใจ เหมือนกับว่าเรากำลังสร้างห้องเรียนที่เป็นพลังบวก ให้เด็กได้ซึมซับกับธรรมชาติและแก่งละว้า เขาจะได้มีความรักความหวงแหนแก่งละว้าและแหล่งธรรมชาติในบ้านเกิด

“ผลตอบรับที่เกิดขึ้นดีมาก ตอนแรกเราใช้วิถีไปบอกกับคุณครูที่โรงเรียนว่า ช่วยประชาสัมพันธ์กับเด็ก ๆ แต่ตอนนี้ก็คือมีเด็ก ๆ เข้ามาเรียนครั้งหนึ่ง 20 – 30 คนเลย การจะเข้ามาเรียนคือวอล์กอินเข้ามาได้เลย ช่วงเวลา 10.00 – 12.00 น. ของทุกวันเสาร์ ที่ศูนย์วิสาหกิจบ้านไฮ่บ้านสวน โดยจะแจ้งบอกผ่าน Facebook : บ้านไฮ่บ้านสวน Banhi-Bansuan ว่าเสาร์นี้จะมีกิจกรรมการเรียนเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งเราไม่ได้สอนคนเดียว มีทั้งอาจารย์ที่ มข. เพื่อน ๆ พี่น้องที่ มข. ที่รู้จักกัน ใครอยากเข้ามาสอนก็แจ้งมาได้ 

เพชรลัดดา บุตรมหา สาวสกลฯ ผู้ตกหลุมรักแก่งละว้า พื้นที่ชุ่มน้ำ-พื้นที่ชีวิตในขอนแก่น

“ห้องเรียนธรรมชาติยังเป็นเครื่องมือที่เราทำงานกับทางอาสาสมัครเพื่อสังคมด้วย และสถาบันสื่อเด็กและเยาวชนก็มาช่วยกันออกแบบ ใช้เครื่องมือ Young Food ทำให้เขาได้เข้าถึงเรื่องอาหารจานชุมชน โดยพาเด็ก ๆ ไปเก็บเห็ดในป่าโคกหนองม่วง เข้าไปหาของป่าเพื่อเอามาทำอาหาร ให้เขาได้เรียนรู้ว่าจริง ๆ แล้วบ้านเขามีของเยอะนะ แล้วเราเองก็ได้เกิดการเรียนรู้จากสิ่งที่เด็ก ๆ ทำ คือไม่ใช่แค่เด็ก ๆ ที่เรียนรู้ แต่คนที่กระบวนการก็ได้เรียนรู้ผ่านการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ไปด้วย 

“นอกจากเด็ก ๆ แล้ว เราเชื่อว่าพลังของวัยรุ่นและการสื่อสารระหว่างวัยรุ่นสู่วัยรุ่นสำคัญมาก อย่างเราดึงเพื่อน ๆ มาช่วยทำงาน ช่วงแรกเพื่อนไม่อินกับสิ่งที่เราทำอยู่เลย แต่พอมาลองทำงานด้วยกันปรากฏว่าเขากลับอิน จึงจับทางได้ว่าแทนที่จะแค่พูดอธิบาย ควรให้เขาได้มาสัมผัสด้วยตนเอง เรื่องราวที่เล่าให้เขาฟังจะรู้สึกสนุกมากขึ้น จึงเกิดอีเวนต์ต่าง ๆ ขึ้นมา และในทุกกิจกรรมก็จะพยายามจะสอดแทรกเรื่องราวของแก่งละว้าเข้าไปแบบเนียน ๆ นี่คือวิธีใหม่ที่ใช้สื่อสาร 

“ปัจจุบันคนหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นนะคะ แต่อาจยังนึกไม่ออกว่าจะมีส่วนร่วมช่วยยังไง จึงใช้วิธีจัดค่ายศึกษาธรรมชาติให้กับเด็กจากโรงเรียนและจากมหาวิทยาลัย โดยสื่อสารเรื่องการต่อสู้ของแก่งละว้าสอดแทรกเข้าไป สัมผัสได้เลยว่าเด็ก ๆ ที่มาเข้าค่ายเขาอินกับเรา และช่วยสื่อสารเรื่องนี้กับคนอื่นด้วย วัยรุ่นบางคนในพื้นที่บอกเราว่า ถ้ามีกิจกรรมพี่ชวนด้วยนะ เราก็ปรับกิจกรรมให้เหมาะกับวัยรุ่น พาลงแก่งไปปลูกไหลบัว ไปดำนาเลยค่ะ สนุกกันใหญ่” 

เพชรลัดดา บุตรมหา สาวสกลฯ ผู้ตกหลุมรักแก่งละว้า พื้นที่ชุ่มน้ำ-พื้นที่ชีวิตในขอนแก่น

วิกฤตธรรมชาติ ปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม

หลังจากจากได้ฟังเรื่องราวการต่อสู้ของชุมชนรอบแก่งไปพร้อม ๆ กับชมภาพวิถีชีวิตของผู้คนรอบแก่งละว้า ทั้งการเลี้ยงควายทาม การปลูกผักริมแก่ง วิถีชีวิตชาวประมงรอบแก่ง เราก็กลับมายังร้านกาแฟบ้านหลังวัด ภายใต้บรรยากาศร่มรื่นของป่าปลูกของวิสาหกิจบ้านไฮ่บ้านสวน ใบหม่อนกล่าวกับเราว่า จากที่เล่ามาคงได้เห็นถึงวิกฤติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของมนุษย์ ทว่าท่ามกลางภัยคุกคามดังกล่าวยังมีปัญหาใหญ่ที่ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นและเราทุกคนต้องเผชิญ 

“เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี่ท้าทายมาก เพราะเราควบคุมไม่ได้ จากข้อมูล 10 ปีที่ผ่านมาพบว่าธรรมชาติเปลี่ยนไป เช่น บางอย่างที่เคยเก็บหาได้ก็ไม่ได้แล้ว นิเวศรอบแก่งละว้าเกิดการเปลี่ยนแปลง ชาวบ้านที่เป็นชาวประมงก็เลิกทำไปเยอะ เพราะเขาบอกว่าหาไม่ได้ คลื่นลมเปลี่ยนไป หรือหาไปแล้วไม่เป็นราคา ไหนจะเรื่องการพัฒนาของรัฐหรือเอกชนที่เข้ามา ท้าทายเราว่าจะรักษาฐานทรัพยากรและวิถีชีวิตรอบแก่งละว้านี้ไว้อย่างไร

เพชรลัดดา บุตรมหา สาวสกลฯ ผู้ตกหลุมรักแก่งละว้า พื้นที่ชุ่มน้ำ-พื้นที่ชีวิตในขอนแก่น

“ในแง่ของการทำงานอนุรักษ์ เรามีภารกิจว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านปรับตัวและเรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จะทำยังไงที่จะให้ชาวบ้านตระหนักรู้ว่า เกิดวิกฤติธรรมชาติแล้วนะ โลกเดือดแล้วนะ ภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นแล้ว เราจะต้องทำยังไงให้พื้นที่เรารับมือปัญหาที่เกิดขึ้นได้

“โจทย์สำคัญคือชาวบ้านจะปรับตัวอย่างไรถ้าต้องเผชิญวิกฤตขาดแคลน ต้องมีแผนการรองรับยังไง หรือว่าแก่งละว้าจะหล่อเลี้ยงเราได้ยังไงบ้าง เบื้องต้นนอกจากกระตุ้นเตือนให้ชาวบ้านตระหนักถึงวิกฤตทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นแล้ว เราก็ใช้วิธีแนะให้ชาวบ้านลองแปรรูปผลิตภัณฑ์ หากวัตถุดิบที่หามาได้น้อยลงหรือมูลค่าน้อย ลองแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าดู เช่น ทำปลาร้า ทำปลาวง หรือส่งไปทำเป็นอาหาร ที่ผ่านมาเราไปสอนชาวบ้านออกแบบพาข้าวแบบอีสาน โดยใช้วัตถุดิบของแก่งละว้า และเสิร์ฟให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มได้ หรือการทำท่องเที่ยวเพื่อให้คนเข้ามาเสพกับวิถีชีวิตของคนแก่งละว้า เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่เราคิดว่าคือการปรับตัวเพื่ออยู่ให้รอด”

เพชรลัดดา บุตรมหา สาวสกลฯ ผู้ตกหลุมรักแก่งละว้า พื้นที่ชุ่มน้ำ-พื้นที่ชีวิตในขอนแก่น

ชาวบ้านแก่งละว้า คือคนแกร่งที่เปี่ยมเสน่ห์

พูดคุยกันมาถึงตรงนี้ เราถามใบหม่อนว่าอะไรคือเสน่ห์ของแก่งละว้า เธอบอกกับเราว่า หัวใจของแก่งละว้าที่สำคัญ คือผู้คนรอบแก่งที่แข็งแกร่ง และนี่แหละคือสิ่งที่มีเสน่ห์ที่สุด

“คนแก่งละว้าเป็นคนแกร่งค่ะ คือเขาพร้อมตั้งรับกับทุกสถานการณ์ เป็นทุนเดิมที่เรามาต่อยอด ถ้ามองว่าอะไรคือสิ่งมีเสน่ห์ที่สุดของแก่งละว้า ขอตอบว่าคือ ‘ผู้คน’ เพราะในวันนี้ทุกคนเข้มแข็งมาก ไม่ต้องเดินไปบอกเขาแล้วว่าต้องช่วยกันรักษาแก่งละว้านะ เพราะลึก ๆ ในจิตวิญญาณของพวกเขาตระหนักดี ว่าที่นี่คือบ้านของพวกเขาที่ต้องดูแลรักษา เขาต้องรักษาพื้นที่นี้ของเขาไว้ ซึ่งตรงใจมาก ๆ เพราะกลไกสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้งานอนุรักษ์ประสบความสำเร็จคือความเข้มแข็งของผู้คน ตรงนี้แหละค่ะที่ทำให้ตัวเราเองมูฟออนจากแก่งละว้าไม่ได้ เพราะเราตกหลุมรักที่นี่จริง ๆ” 

เพชรลัดดา บุตรมหา สาวสกลฯ ผู้ตกหลุมรักแก่งละว้า พื้นที่ชุ่มน้ำ-พื้นที่ชีวิตในขอนแก่น

แก่งละว้าคือครู ก่อนกลับสู่การอนุรักษ์พัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำหนองหารบ้านเกิด

ใบหม่อนเล่าถึงอินไซต์สำคัญอย่างหนึ่งของเธอให้เราฟังว่า แก่งละว้าเสมือนเป็นครู เพื่อไปถึงฝันใหญ่ในชีวิตที่รออยู่ คือกลับไปพัฒนาแหล่งชุ่มน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสานที่จังหวัดสกลนคร บ้านเกิดของเธอ 

“ตอนแรกคิดว่าเราเรียนจบจะกลับไปทำงานที่บ้าน ซึ่งบ้านเราอยู่ที่จังหวัดสกลนคร มีพื้นที่ชุ่มน้ำที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน หนองหารมีพื้นที่ 77,000 กว่าไร่ มากกว่าแก่งละว้า 6 – 7 เท่า เลยอยากกลับไปทำงานที่บ้านมาก ๆ อยากกลับไปพัฒนาหนองหารที่เราอยู่มาตั้งแต่เกิด แต่การมาที่นี่ก็เหมือนกับว่าเราได้เรียนรู้และเก็บประสบการณ์ พอได้มาลองทำ มาฝึกงานที่นี่ ทำให้เรารู้เลยว่าการทำงานต้องมีประสบการณ์ และเราต้องคิดแก้ปัญหา ต้องคิดอะไรใหม่ ๆ แล้วก็ทำงานกับชาวบ้าน เราใช้ใจล้วน ๆ กับการทำงาน เราจึงรู้สึกว่ารักงานนี้มาก และพอมาอยู่ในพื้นที่ เราก็รู้สึกว่าเราได้เรียนรู้และฝึกฝนตัวเอง เพื่อที่วันหนึ่งเราจะได้กลับบ้านเพื่อไปพัฒนาบ้านเกิดของเรา”

พื้นที่ชุ่มน้ำคือชีวิต ไม่ใช่แค่ภาชนะใส่น้ำ ถ้าไม่รักษาก็อย่าทำลาย

เราถามใบหม่อนว่า วันนี้เธออยากจะ Call Out อะไรถึงประเด็นวิกฤตของพื้นที่ชุ่มน้ำบ้าง 

“อยากให้ทุกคนและทุกหน่วยงานภาครัฐเข้าใจว่าพื้นที่ชุ่มน้ำไม่ใช่แค่ภาชนะเก็บน้ำ แต่เป็นพื้นที่แห่งชีวิต มีนิเวศที่น้ำจะเข้าออกตามฤดูกาล มีความหลากหลายทางชีวภาพและจัดการตัวเองตามธรรมชาติได้หากไม่ถูกรุกล้ำทำลาย ฉะนั้นการรักษาพื้นที่นี้เอาไว้ก็เหมือนรักษาสิ่งที่จะหล่อเลี้ยงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ หรือผู้คนไว้ได้ เพราะอย่าลืมว่าเราได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นทั้งฐานผลิตน้ำประปาที่สูบใช้ แหล่งน้ำทางการเกษตร น้ำที่หล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตในน้ำ ทั้งกุ้งหอยปูปลา หรือแม้แต่ควายทามที่เขาเลี้ยง ณ ปัจจุบัน 2,000 กว่าตัว มันยังอยู่ที่แก่งละว้านี้ได้ 

เพชรลัดดา บุตรมหา สาวสกลฯ ผู้ตกหลุมรักแก่งละว้า พื้นที่ชุ่มน้ำ-พื้นที่ชีวิตในขอนแก่น

มีพื้นที่ชุ่มน้ำหลายแห่งที่เกิดวิกฤตขึ้นจากการพัฒนาของรัฐ ยกตัวอย่างเช่น เวียงหนองหล่มที่ตอนนี้ทั้งผู้คนโดยรอบและสิ่งมีชีวิตที่เคยพึ่งพาระบบนิเวศต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า เพียงเพราะการพัฒนาที่ไม่เข้าใจถึงบริบทและความสำคัญของฐานทรัพยากรสิ่งแวดล้อม เราไม่อยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับแก่งละว้าหรือพื้นที่ชุ่มน้ำอื่น ๆ อย่างน้อยที่สุด ถ้าคุณไม่ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ก็ขอให้อย่าไปทำลาย เพราะโดยธรรมชาติระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำจะจัดการตัวเองอยู่แล้ว

“อีกอย่างคือประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำเยอะมาก แต่กลับสื่อสารเรื่องนี้กันน้อย เรามีทั้งพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียนเป็น Ramsar Site (อนุสัญญาว่าด้วยการเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อการอนุรักษ์และการใช้พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างยั่งยืน) หรือ Wetlands ก็เต็มไปหมด ถ้าเป็นไปได้อยากชวนให้ทุกคนลองหันมาทำความรู้จักพื้นที่ชุ่มน้ำกันอย่างลึกซึ้ง หากคิดยังไม่ออกว่าจะเริ่มจากจุดไหน ขอให้แก่งละว้าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแรกที่คุณได้เข้ามาลองเรียนรู้ แล้วคุณอาจตกหลุมรักเหมือนที่ตัวเราเป็นอยู่ก็ได้” ใบหม่อนกล่าวปิดบทสนทากับเราด้วยรอยยิ้ม

เพชรลัดดา บุตรมหา สาวสกลฯ ผู้ตกหลุมรักแก่งละว้า พื้นที่ชุ่มน้ำ-พื้นที่ชีวิตในขอนแก่น

ติดตามทุกเรื่องราวและกิจกรรมอนุรักษ์แก่งละว้าผ่านการเรียนรู้ต่าง ๆ ได้ที่
Facebook : บ้านไฮ่บ้านสวน Banhi-Bansuan

Writer

สิทธิโชค ศรีโช

สิทธิโชค ศรีโช

มนุษย์ผู้ตกหลุมรักอาหารการกินมาตั้งแต่จำความได้ เคยโลดแล่นอยู่ในวงการสื่อสารด้านอาหารกว่าสิบปี ก่อนกลับบ้านนอกมาใช้ชีวิตติดกลิ่นปลาร้าที่อีสาน และยังคงมุ่งมั่นส่งต่อเรื่องราววัฒนธรรมอาหาร สุขภาพ และการดำรงชีวิตของผู้คนบนที่ราบสูง ให้โลกได้รับรู้

Photographer

กานต์ ตำสำสู

กานต์ ตำสำสู

หนุ่มใต้เมืองสตูลที่มาเรียนและอาศัยอยู่อีสาน 10 กว่าปี เปิดแล็บล้างฟิล์ม ห้องมืด และช็อปงานไม้ อยู่แถบชานเมืองขอนแก่น คลั่งไคล้ฟุตบอลไทยและร็อกแอนด์โรล