16 พฤศจิกายน 2022
4 K

ชาดก, มุทรา, พัทธสีมา, อุททุกเขปสีมา, พระอภิธรรมปิฎก ฯลฯ

ศัพท์เทคนิคภาษาบาลีที่เรี่ยรายอยู่บรรทัดบนนี้ อย่าว่าแต่ฝรั่งต่างชาติจะแปลไม่ออก คนไทยอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ที่เจ้าหน้าที่อำเภอระบุคำว่า ‘พุทธ’ ไว้ในบัตรประชาชนก็ยังงงตึ้บ หากมิเคยบวชเรียนหรืออยู่ใกล้วัดแล้วไซร้ คนทั่วไปที่ไหนจะเข้าใจความหมายของคำเหล่านี้ได้ถ่องแท้

แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าผู้ที่ชวน The Cloud คุยเรื่องนี้กลับเป็นฝรั่งที่พูดไทยชัดแจ๋ว ค้นคว้าเรื่องทางพุทธศาสนาแบบไทย ๆ จนเป็นพหูสูตที่หาตัวจับได้ยากคนหนึ่ง

เล่าอย่างนี้ ก็อย่าเพิ่งคิดว่า ดร.แอนโธนี โลเวนไฮม์ เออร์วิน (Dr.Anthony Lovenheim Irwin) ที่เรากำลังพูดถึงเป็นลูกครึ่งไทย

เขาเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายยิวจากนิวยอร์ก ใช้ชีวิตอยู่ในตระกูลที่นับถือศาสนายูดาห์ตามประสาชาวยิว กระทั่งย่างเข้าวัยหนุ่ม จึงค้นพบความสุขจากศาสนาของพระพุทธองค์ ซึ่งความสุขที่ได้รับนั้นแตกโตเป็นความหลงใหล เมื่อเขาได้ลองมาอาศัยอยู่ที่เชียงรายในฐานะครูสอนเด็กออทิสติก

เพราะความหลงใหลในคติความเชื่อของคนไทย แอนโธนีบินลัดฟ้ากลับไปเรียนต่อในระดับปริญญาโทและเอกที่บ้านเกิด เลือกทำวิจัยเรื่องศาสนาพุทธในไทย นำมาซึ่งคำนำหน้า ‘ดร.’ ที่ได้จากการลงพื้นที่ศึกษาวัดในอำเภอเมืองเชียงรายถึง 164 แห่ง

ก่อนไปเจาะลึกแง่มุมต่าง ๆ ของหนุ่มฝรั่งที่ได้ชื่อว่าเป็นขาประจำในงานทอดกฐินและพิธียกช่อฟ้า เคยบวชเรียนเป็นพระ เคยอู้กำเมืองกับไทลื้อเก่งกว่าภาษาไทยกลาง รู้จักทุกวัดในเมืองพญามังรายทรงสร้าง จนคนในท้องที่เชื่อว่าอดีตชาติเขาเคยเป็นชาวเวียงเจียงฮาย… ขอส่งไม้ต่อให้แอนโธนีได้บรรยายเรื่องราวชีวิต แง่คิด และมุมมองที่เขามีต่อบวรพุทธศาสนาด้วยภาษาไทยชัดเจนประหนึ่งคนไทยแท้แต่กำเนิด

01
ลูกยิวนิวยอร์ก

Anthony Irwin ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญศาสนาพุทธในไทย รักเชียงรายเหมือนบ้าน จนชาวบ้านเชื่อว่าเป็นคนเชียงรายกลับมาเกิด
Photo : Krit Upra

ผมเกิด ค.ศ. 1982 ที่เมืองโรเชสเตอร์ (Rochester) มลรัฐนิวยอร์ก เป็นเมืองที่ไม่ใหญ่มาก ใหญ่กลาง ๆ มีคนอยู่ประมาณ 1 ล้านคน พ่อผมเป็นศิลปิน แม่ก็เป็นศิลปินเหมือนกัน พ่อเป็นคนวาดรูปแบบ Abstract ส่วนแม่ทำศิลปะแบบผ้า (Textile Artist) ทำเสื้อผ้า ชีวิตผมก็เป็นชาวยิว 100 เปอร์เซ็นต์ พ่อ แม่ บรรพบุรุษทุกคนเป็นชาวยิว เกิดมามีชีวิตแบบเด็กชาวยิวธรรมดา ๆ ที่ประเทศสหรัฐฯ

เมื่อนั้นมีผู้ลี้ภัยจากประเทศรัสเซียที่ยังเป็นสหภาพโซเวียตเยอะ สหภาพโซเวียตหรือ U.S.S.R. ไม่ค่อยชอบชาวยิว บอกว่าถ้าเป็นชาวยิวก็ออกไปจากประเทศได้เลย เราไม่แคร์ ชาวยิวเลยลี้ภัยออกจากรัสเซียแล้วมาอาศัยอยู่ที่เมืองโรเชสเตอร์เยอะ แม่ผมนำครอบครัวเราไปช่วยผู้ลี้ภัยที่มาจากรัสเซีย เราไปช่วยพวกเขาสร้างบ้าน พวกเขาไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับสหรัฐอเมริกา สังคม กฎหมาย หรือทำงานได้ยังไง ครอบครัวเราก็จะเป็นคนคอยดูแลผู้ลี้ภัยยิวจากรัสเซีย

แต่เราไม่ค่อยเข้าไปยุ่งเรื่องศาสนา พ่อแม่ผมเป็นฮิปปี้ เป็นศิลปิน ชอบปาร์ตี้ ชอบกัญชาด้วย พ่อผมสูบกัญชาทุกวันเลย (หัวเราะ) เมื่อคิดถึงชีวิตในปัจจุบันแล้วมองกลับไปเห็นอดีต ผมก็ไม่รู้ว่าทำไมพ่อแม่ถึงส่งผมไปเรียนที่โรงเรียนของชาวยิว

ผมมีพี่น้องรวมเป็น 3 คน มีพี่ชายคนหนึ่ง น้องสาวคนหนึ่ง แต่ผมเป็นคนเดียวที่ไปเรียนที่อนุบาลของศาสนายิว เขาสอนเรื่องศาสนา ทั้งที่ที่บ้านไม่เคร่งครัดเลย ทำนิด ๆ หน่อย ๆ แต่เพราะไปเรียนที่อนุบาลนั้น ก็คิดว่ามันเป็นสาเหตุที่ช่วงนี้ผมสนใจเรื่องศาสนา

ที่โรงเรียนเขาก็สอนศาสนายิว สอนภาษายิว สอนพระคัมภีร์ไบเบิล พี่ชายผมเกิดมาก่อนผม 3 ปีครึ่ง เมื่ออายุครบ 13 ชาวยิวเราจะมีพิธีกรรม Bar Mitzvah สำหรับผู้ชาย และ Bat Mitzvah ถ้าเป็นผู้หญิง จนเมื่อผมอายุได้ 10 ขวบ พี่ชายผมก็ได้ Bar Mitzvah ครอบครัวเราเลยเริ่มสนใจศาสนา

02
ครอบครัวคนแปลก

จริง ๆ ผมมีความรู้สึกว่าครอบครัวเราเป็นคนแปลก ๆ 

ครอบครัวผมเป็นชาวยิว หลังออกจากโรงเรียนอนุบาลสอนศาสนานั้น ผมก็ไปเรียนโรงเรียนรัฐ (Public School) ในโรงเรียนรัฐที่ผมไปเรียน ครอบครัวเราเป็นครอบครัวยิวครอบครัวเดียว ทั่วบริเวณไม่มีคนอื่น ผมรู้สึกว่าทำไมครอบครัวเราเป็นกลุ่มผิดปกติ พ่อแม่เป็นฮิปปี้ พ่อแม่ของเพื่อนก็ไม่ใช่ฮิปปี้เลย เขาทำงานกันที่บริษัท Kodak เป็นโรงงานทำกล้องและหนัง เป็นคนทั่วไป ผมเลยรู้สึกว่าเราเป็นคนแปลกมาก รู้สึกอึดอัดเมื่อไปเรียน ไม่ค่อยสบายใจ

ตอนผมเรียนมัธยมศึกษา ในโรงเรียนมัธยมแห่งนั้นมีกลุ่มนีโอนาซี (Neo-Nazi) ที่เป็นพวกเหยียดเชื้อชาติ เป็นวัยรุ่นที่เขาชอบสิ่งที่แรง ๆ บางคนแต่งชุด ติดตราสวัสติกะของนาซีด้วย เขาก็มองว่าผมแปลก แล้วผมไม่ใช่คนที่ชอบสู้กับคนอื่น ผมเลยไม่บอกใครว่าเป็นชาวยิว เพราะผมกลัว โรงเรียนเรามีคนผิวดำด้วย นีโอนาซีก็ไม่ชอบ แต่ผมผิวขาว เขาก็ดูไม่ออก 

แล้วอีกอย่างที่แปลก ครอบครัวเราไม่ค่อยได้สนใจเรื่องศาสนาเยอะก็จริง แต่หลังจากพี่ชายผมได้ Bar Mitzvah พ่อของผมเขาก็เริ่มบ้าศาสนา บ้าคือไม่เคร่งครัด แต่ว่าเขาอ่านเยอะ อ่านเรื่องแนวอาคมในศาสนายูดาห์ (Jewish mysticism) เขาเริ่มวาดรูปในศาสนายิว คล้าย ๆ กับพระอภิธรรมของพุทธ

พ่อวาดรูปสิ่งที่ลึกซึ้งในศาสนา ศาสนายูดาห์อธิบายว่าดวงวิญญาณคืออะไร พ่อผมก็วาดรูปเกี่ยวกับเรื่องนั้น ผมจำได้ว่าผมมองดูพ่อวาดรูปเรื่องศาสนายิว คิดว่านั่นคืออีกรากหนึ่งในชีวิตที่ทำให้ผมสนใจพุทธศิลป์ ศาสนศิลป์ เพราะตอนนั้นผมไม่ค่อยชอบศาสนามาก แต่ชอบสิ่งที่พ่อทำ ชอบสิ่งที่พ่อวาด

03
ค้นพบพุทธศาสนา

Anthony Irwin ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญศาสนาพุทธในไทย รักเชียงรายเหมือนบ้าน จนชาวบ้านเชื่อว่าเป็นคนเชียงรายกลับมาเกิด

ศาสนาเป็นสิ่งที่อธิบายว่ามนุษย์จะเป็นอะไร ชีวิตของเราสร้างอะไร แล้วก็สาเหตุที่เราทำอะไร ผมคิดว่าถ้าเรามาดูที่ศาสนา เราก็จะเข้าใจมากขึ้น แล้วก็คิดว่ารากของความคิดของผมก็อยู่ในนั้น

สหรัฐอเมริกาก็มีคนสนใจศาสนาพุทธเยอะ ในประวัติศาสตร์ ศาสนาพุทธในสหรัฐฯ ก็มีหลายสาย เพราะมีคนเอเชียอพยพมาปลูกบ้านที่นี่ มีวัดอะไร ส่วนมากผมไม่ค่อยได้รู้จัก 

ผมรู้จักพุทธในสหรัฐฯ ครั้งแรกจาก The Poets กวีคนแรกคือ Allen Ginsberg อีกคนคือ Jack Kerouac เป็นกลุ่ม Beat Poets ผมชอบมากเมื่อตอนเป็นเด็ก ตั้งแต่อายุประมาณ 12 ปี พ่อแม่มีหนังสือกวีในบ้านเรา ผมชอบอ่านหนังสือแต่เด็ก ชอบว่าทำไมเขาไปค้นอะไรบ้า ๆ บอ ๆ แล้วยังสนใจเรื่องธรรมะ

เมื่อผมเป็นวัยรุ่น ผมชอบเรียนเกี่ยวกับศาสนาพุทธ ตอนอายุประมาณ 18 – 19 ปี ผมไปสถานที่หนึ่ง ไม่ไกลจากบ้านที่นิวยอร์ก มีสถูปของชาวญี่ปุ่น เรียกว่า Peace Pagoda เป็นสถูปเจดีย์ของคณะพระสงฆ์ญี่ปุ่นแนวนิกายเซน พวกท่านชอบทำ Peace Walk เดินทางเพื่อความสงบของโลก ไปสร้างสถูป สร้างเจดีย์ทั่วโลก ผมไปเห็นว่าเป็นพระเจดีย์ใหญ่มาก อยู่ในป่าเลย สวยมาก เลยชอบมาก 

ไปที่นู่นแล้วก็สงบใจ ไปเที่ยวเฉย ๆ ไม่ได้ถวายอะไร เพราะผมไม่รู้ แต่ทีนี้เห็นว่ามีภิกษุณีรูปหนึ่งตัวเล็กมากชื่อ ภิกษุณีจุนซาน เป็นชาวญี่ปุ่น ท่านขุดดินอยู่ ผมก็ไปคุยกับท่าน ถามว่าผมช่วยได้มั้ย เพราะว่าผมสงสารที่ท่านตัวเล็ก แต่ต้องลงไปขุดดินทำงานหนัก ท่านก็บอกว่า “เอ๊ะ มาถามยังงี้เหรอ ใจดี” ท่านว่าส่วนมากคนสหรัฐฯ ไม่ได้ถามว่าช่วยได้ไหม เพราะว่าเป็นสังคมขี้เกียจมาก (หัวเราะ) 

ผมไปกับกลุ่มเพื่อนฮิปปี้ที่มาด้วยกัน ไปช่วยจุนซานขุดดินทำงาน สักพักเพื่อนผมก็เบื่อ เขาบอกว่าอยากออกแล้ว แต่ผมไม่เอา ยังอยากพักอยู่ที่นู่น แต่เพื่อนผมบอกให้ไป ผมก็ต้องไป แต่หวังว่าวันหน้าผมจะกลับมา ตอนนั้นผมอายุ 18 ปี ตอนนี้ผม 40 แล้ว ผมยังกลับไปที่นู่นบ่อย ๆ ถ้ามีอะไรให้ช่วย ผมก็ช่วยทำความสะอาด ช่วยขุดดิน

04
เฮลโล ไทยแลนด์

หลังจบปริญญาตรี พี่ชายผมเขาอาศัยอยู่ที่เมืองไทย เขาไปกรุงเทพฯ เพื่อทำบริษัท ทำธุรกิจอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้วตอนนั้นผมทำงานสอนเด็กออทิสติก ผมไม่รู้จะทำอะไรดี เพราะคิดว่าน่าจะไปเรียนต่อ พี่ชายเขาก็มาชวนผมไปอาศัยกับเขาที่กรุงเทพฯ

ผมอายุราว 24 ปีในตอนนั้น จบปริญญาตรีมาปีนึง ทำงานอีกปีนึงในโรงเรียนสอนเด็กพิเศษ เป็นการศึกษาแบบ Special Education คือไม่ใช่เด็กพิการ แต่เป็นเด็กนักเรียนที่มีความบกพร่อง บางคนเป็นออทิสติก บางคนโมโหง่าย บางคนเขาเรียนได้โอเค แต่โฟกัสไม่ได้ ช่วงที่เรียนปริญญาตรี ผมก็ทำงานกับเด็กกลุ่มนี้มาตั้งแต่อายุ 18 ทำมาทุกปี ทำงานมาเยอะ

ผมไปเมืองไทยเพราะคิดว่าที่สหรัฐฯ ไม่ค่อยมีอะไรที่น่าสนใจสำหรับตัวผม แล้วผมอยากทำอะไรต่อ เพราะไม่ใช่วัยรุ่นแล้ว เป็นหนุ่มแล้ว ก็ฮึดฮัดอยากจะทำอะไร

Anthony Irwin ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญศาสนาพุทธในไทย รักเชียงรายเหมือนบ้าน จนชาวบ้านเชื่อว่าเป็นคนเชียงรายกลับมาเกิด

ไปเมืองไทยปี 2006 ไปเหมือนกับคนโง่มาก ผมไม่ได้เตรียมอะไร ไม่ได้อ่านหนังสือสักเล่มเกี่ยวกับเมืองไทย ผมไม่รู้ว่าไทยแลนด์คือที่ไหน ก็ไปเพื่อทำงาน ผมเรียนวิชาเพื่อสอน TESOL (สอนภาษาอังกฤษให้ผู้เรียนที่ใช้ภาษาต่างชาติ) คิดว่าจะไปหางานสอนภาษาอังกฤษ ผมสอนเป็น แต่ไม่รู้เรื่องอะไรของไทยเลย แต่ผมก็ไม่ค่อยเครียดเพราะมีพี่ชายอยู่ เขาคงอธิบายถึงทุกสิ่งทุกอย่างให้ผม

ผมไปถึงกรุงเทพฯ ตอนนั้นวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 2006 แล้วต่อมาเกิดอะไรจำได้ไหม? มีรัฐประหารครับ (หัวเราะ) ผมไม่รู้อะไร พี่ชายที่อยู่เมืองไทยก่อนแล้วก็บอกว่าที่นี่ดีมาก ไม่มีปัญหา สงบมาก แต่หลังจากผมอยู่ได้ 1 – 2 สัปดาห์ ก็มีรัฐประหารเลย มีปืนใหญ่ มีรถถัง

ผมเคยคิดว่าไม่ชอบกรุงเทพฯ เลย อยู่ไม่ได้ ไม่น่าอยู่ แต่ช่วงนี้ผมชอบมาก ไปกรุงเทพฯ ก็สนุก แต่ตอนนั้นผมไม่รู้ภาษาไทย ก็ไม่รู้อะไร ไม่ชอบ

05
ชีวิตใหม่ในเชียงราย

ทีนี้พี่ชายกับแม่ผมเคยเที่ยวเชียงราย ผมก็เลยมาเชียงราย ตัดสินใจว่าจะไม่สอนที่กรุงเทพฯ

ตอนนั้นประมาณเดือนตุลาคม ค.ศ. 2006 ผมมาถึงเชียงราย ชอบจังหวัดนี้มาก ผมเช่ามอเตอร์ไซค์ขี่รอบเมือง พิมพ์เรซูเม่เพื่อหาโรงเรียนสอน ไปโรงเรียนหลายแห่งเพื่อเสนอตัวเอง ถามเขาว่ามีงานทำไหม ผมสอนหนังสือเป็น จากนั้นผมก็ไปที่โรงเรียนหลักสูตรมอนเตสเซอรีแห่งหนึ่ง ชื่อโรงเรียนปิติศึกษา เป็นโรงเรียนอนุบาลกับประถมศึกษา

Anthony Irwin ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญศาสนาพุทธในไทย รักเชียงรายเหมือนบ้าน จนชาวบ้านเชื่อว่าเป็นคนเชียงรายกลับมาเกิด

ที่จริงโรงเรียนนั้นมีฝรั่งสอนภาษาอังกฤษอยู่แล้ว เขาบอกว่าไม่มีตำแหน่งว่างนะ เพราะมีคนแล้ว ผมจำได้ว่าผมนั่งคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียนนั้น เขาอ่านเรซูเม่ผมแล้วจำได้ชัดเจนว่าผมเคยทำงานกับกลุ่มเด็กออทิสติก เขาก็ถามว่า “เคยสอนเด็กออทิสติกมาใช่ไหม?” ผมตอบว่าใช่ เคยหลายปี แล้วผมก็เล่าเรื่องให้เขาฟัง พอดีผู้อำนวยการโรงเรียนเขาก็มีลูกชายเป็นออทิสติก ทุกวันเขาไปเรียนที่โรงเรียนนั้น ช่วงอายุประมาณ 8 ขวบ ไม่มีใครที่สอนจริง ๆ เพราะเชียงรายสมัยนั้นยังค่อยมีใครที่ดูแลเด็กที่มีพัฒนาการช้า

ผู้อำนวยการเขาให้ผมทำงานที่นู่น มีนักเรียนออทิสติก 2 คนมาให้ผมดูแล เพราะครูที่ดูแลเขาทำคนเดียวไม่ไหว แล้วก็ให้สอนวิชาพลศึกษาด้วย แต่ผมเป็นคนอ้วน ไม่ใช่นักกีฬา ผมก็รับปากว่า “โอเค ได้”

ตลกมาก เพราะครูที่สอนพละน่าจะเป็นคนที่แข็งแรง หุ่นดีมากใช่มั้ย แต่ผมเป็นคนอ้วนแล้วก็เป็นฮิปปี้ แต่หลังจากนั้นผมก็ได้อยู่เชียงราย 1 ปี

การสอนเด็กออทิสติกทำให้ผมชอบศาสนาพุทธที่เชียงราย แล้วก็เริ่มสนใจ เพราะว่าทุกวันศุกร์ เราพาเด็กออกทิสติก 2 คนนั้นไปเที่ยวเชียงราย แต่เชียงรายไม่รู้ไปเที่ยวไหน ก็ต้องไปวัด มีโอกาสได้ไปวัดเยอะ แล้วก็ได้เห็นพระ เห็นแม่ชีที่มีน้ำใจมากต่อเด็ก ๆ ออทิสติก

วัดใกล้ ๆ บ้านแอนโธนีชื่อวัดพระธาตุดอยเขาควายแก้ว อยู่ในอำเภอเมือง เป็นวัดเก่า จริง ๆ เป็นโบราณสถาน บนดอยมีพระธาตุ ผมก็พาเด็ก ๆ ขึ้นไป มีแม่ชีคนหนึ่งแก่มากแล้ว ท่านมีขนม ผมเห็นท่านพูดไม่ค่อยเยอะนัก แต่ท่านเอาขนมจากมือตัวเองให้เด็กออทิสติกกิน ผมเห็นสิ่งนี้เป็นเรื่องมหัศจรรย์ เป็นสิ่งเล็ก ๆ ที่เปลี่ยนชีวิตของแอนโธนี

06
ปริญญาโทที่วิสคอนซิน

สมัยที่เรียนปริญญาตรี ผมยังสนใจศาสนาฮินดูด้วย เพราะผมชอบวรรณกรรมจากประเทศอินเดีย เช่นของ Salman Rushdie เคยมีความคิดว่าหลังจากปริญญาตรีจบ เราไปเรียนปริญญาโทเกี่ยวกับศาสนาฮินดูดีกว่า ส่วนศาสนาพุทธไม่เคยคิดจะเรียน

แต่พอมาสอนที่เชียงราย ผมอยากรู้มากขึ้นเกี่ยวกับศาสนาพุทธในเมืองไทย และส่วนมากในเชียงราย พยายามหาหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เชียงราย เกี่ยวกับศาสนาพุทธในเชียงราย แต่หาไม่เจอ มีน้อยมาก หายากมาก ข้อมูลเกี่ยวกับเชียงรายในเชิงวิชาการส่วนมากก็จะเกี่ยวกับชนเผ่า โรคเอดส์ เกษตรกรรม หรือไม่ก็เรื่องคอมมิวนิสต์ วัฒนธรรม ศาสนา ประวัติศาสตร์ไม่ค่อยมี ตอนนี้ผมก็เขียนหนังสือเกี่ยวกับศาสนาพุทธในเชียงรายอยู่

Anthony Irwin ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญศาสนาพุทธในไทย รักเชียงรายเหมือนบ้าน จนชาวบ้านเชื่อว่าเป็นคนเชียงรายกลับมาเกิด

ปี 2007 ผมตัดสินใจว่าจะหาที่เรียนปริญญาโทเกี่ยวกับไทยศึกษา พระพุทธศาสนาศึกษา เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับเชียงราย เพราะผมคิดว่าถ้าฟังไทยออก พูดไทยเป็น ผมจะหาข้อมูลได้เยอะ

หลังจากนั้นผมกลับสหรัฐฯ ไปเข้าเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน (Wisconsin-Madison) จริง ๆ ผมไปเรียนที่นั่นเหมือนไปเมืองไทยครั้งแรก ผมไม่เคยรู้ว่าที่นี่มีอะไร รู้แต่ว่าที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินมีอาจารย์คนหนึ่งสอนเกี่ยวกับพุทธศาสนาเถรวาท ชื่อ Professor Charles Hallisey ผมส่งอีเมลหาเขา เล่าเรื่องความคิดของผม เขาตอบมาว่าวิสคอนซินเป็นที่ที่ดี แต่ว่าอาจารย์จะย้ายไปสอนที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดแทนแล้ว

สิ่งที่ดีของมหาวิทยาลัยวิสคอนซินคือเขาสอนภาษาไทย แล้วยังมีวิชาเกี่ยวกับศาสนาพุทธ แล้วก็ไทยศึกษาด้วย ตอนนั้นปี 2008 ผมเริ่มเรียนที่ Center for Southeast Asian Studies เป็นคณะเอเชียอาคเนย์ศึกษา เรียนเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะ มีอาจารย์ที่เป็นคนดัง ๆ ในเรื่องไทยศึกษา เช่น ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย วินิจจะกุล ที่สอนอยู่คณะประวัติศาสตร์ ผมก็ได้ไปเรียนกับท่าน อีกคนคือ Professor Kathleen Bowie เป็นนักมานุษยวิทยาที่สำคัญมากในสายไทยศึกษา

อีกสิ่งที่สำคัญมาก คือที่แมดิสันมีนักศึกษาไทยที่มาเรียนปริญญาโทกับปริญญาเอกด้วย พวกเขาเป็นเพื่อนสนิทของผม เราช่วยกันเรียน เขาสอนภาษาไทย สอนเก่งด้วย เราจึงเป็นเพื่อนที่สนิทกัน 

ที่จริงสหรัฐฯ มีมหาวิทยาลัยเยอะ สถาบันที่มีชื่อกว่าแมดิสันก็มีถมไป อย่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยเยล มหาวิทยาลัยคอร์แนล แต่ว่ามหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสันนี่ดีที่สุดสำหรับนักศึกษาชาวไทยแน่นอน ไปถามใครว่าจะเรียนเกี่ยวกับประเทศไทยในสหรัฐฯ เขาก็จะแนะนำให้มาเรียนที่นี่ ไปเรียนเกี่ยวกับเมืองไทยที่อื่นได้ แต่สู้ที่แมดิสันไม่ได้ มหาวิทยาลัยอื่นอาจจะมีหน้าตากว่า แต่ถ้าพูดถึงเนื้อหาด้านไทยศึกษา จะอย่างไรก็สู้ที่นี่ไม่ได้

07
เรียนไทยกลาง ติดไทลื้อ

ที่แมดิสัน ผมเรียนปริญญาโทกับเรียนภาษา เรื่องภาษา เมื่อผมอยู่เชียงรายไม่ได้เรียนภาษาไทยเป็นประจำ แต่ว่าฝึกพูด เป็นคนที่ชอบพูด มีเพื่อนเยอะ แล้วก็ทำงานกับคนไทย

ตอนอยู่ที่เชียงราย ผมเช่าบ้านอยู่ บ้านของผมอยู่ในบริเวณสวนลิ้นจี่ มีคนดูแลสวน ดูแลสถานที่ เป็นชาวไทลื้อ 2 คน เป็นผัวเมียกัน ผมได้คุยกับพวกเขาเยอะ เรียกว่าเขาทั้งคู่เป็นพ่อแม่บุญธรรมของแอนโธนีที่เมืองไทย

ที่ผ่านมาผมไม่ได้เรียนภาษาไทยจริงจัง แค่พูดได้ แล้วผมยังเป็นนักดนตรีตั้งแต่เด็ก ทำให้ผมเป็นคนหูดี ผมฟังแล้วก็พูดได้ ผมได้สำเนียงเพราะเป็นนักดนตรี ฟังอะไรก็พูดตามได้ แต่อ่านไม่ออก

ไปเริ่มเรียนที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ผมเริ่มเรียนภาษาไทยชั้นที่ 2 ปีแรกไม่ต้อง เพราะว่าพูดได้แล้วนิดหน่อย แล้วผมก็มาเจอปัญหา คือปีแรกเป็นปีที่เรียนตัวสะกดภาษาไทย แต่ผมไม่เคยเรียน ผมเลยเริ่มเรียนในปีที่ 2 พูดเป็นแต่อ่านไม่ออก เขียนไม่เป็น ผมก็ต้องขยันมากเพื่อเรียนตัวสะกดไทย ใช้เวลาประมาณแค่ 2 – 3 อาทิตย์ก็รู้ตัวสะกดไทย

แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่าคือผมเป็น Dyslexic คนที่สลับตัวสะกด บกพร่องในการอ่าน ดีที่ไม่หนักเท่าไหร่ ยังไงก็ตาม การสะกดภาษาไทยเป็นเรื่องยากมากสำหรับผม

ที่ตลกคือผมเริ่มเรียนภาษาไทยในห้องเรียนที่แมดิสันเป็นภาษาไทยกลาง แต่ผมไม่ค่อยรู้ภาษากลางเพราะอยู่เชียงราย รู้แต่ภาษาเมืองซึ่งก็คือภาษาเหนือที่คนภาคกลางเรียก ทุกคืนผมก็นั่งล้อมวงกินข้าวกับพ่อแม่บุญธรรมของผม เขาพูดแต่ไทลื้อ ไม่พูดคำเมือง 

พอไปนั่งเรียนภาษาพูดบางคำของผมแปลกมาก ๆ อาจารย์ที่รักที่แมดิสันชื่อ อาจารย์กรรณิการ์ ท่านก็ว่าทำไมผมพูดแบบนี้ 

แม่บุญธรรมผม ถ้ากินอะไรที่เผ็ด เขาจะพูดเป็นไทลื้อว่า ‘เส็ด’ อาหารเส็ดมาก ผมบอกว่า “ผมชอบอาหารเส็ด” อาจารย์เขาก็งงว่าอาหารเส็ดคืออะไร มีอีกหลายคำเลย

08
พุทธไทยสมัยรัชกาลที่ 4 – 5

วิทยานิพนธ์ปริญญาโทของผมมีชื่อว่า ‘Imagining Boundaries: Sīmā Space, Lineage Trails, and Trans-Regional Theravada Orthodoxy’

Imagining Boundaries ก็คือจินตนาการสมมติ ที่ใช้คำว่า ‘สมมติ’ ก็เพราะผมพูดถึงเรื่องสมมติธรรม แล้วก็การสมมติเกี่ยวกับเรื่องพัทธสีมา คือเขตแดนที่ให้พระภิกษุทำสังฆกรรม รวมถึงเรื่องพัทธสีมาในประวัติศาสตร์พุทธนิกายเถรวาท ความสัมพันธ์ระหว่างลังกากับพม่าและสยาม พูดถึงพัทธสีมา กฎการกำหนดพัทธสีมา การผูกพัทธสีมา ทุกอย่างเลย 

ส่วนมากจะพูดถึง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สมัยที่ทรงผนวชและทรงสถาปนาธรรมยุติกนิกายขึ้นมา ในงานของผมยังพูดถึงเรื่องพัทธสีมาในวัดของกรุงเทพฯ ผมเขียนถึงวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร เขียนลึกมากเพราะผมสนใจเรื่องสถานที่ที่มีอิทธิพลต่อสิ่งที่มนุษย์ทำ

Anthony Irwin ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญศาสนาพุทธในไทย รักเชียงรายเหมือนบ้าน จนชาวบ้านเชื่อว่าเป็นคนเชียงรายกลับมาเกิด

เวลาพูดเรื่องนิกายธรรมยุตที่รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างขึ้นให้พระสงฆ์มีวินัยเคร่งครัด อาจารย์ฝรั่งจะชอบพูดกันว่า พระองค์ท่านเป็นเพื่อนกับชาวยุโรป ชาวยุโรปมีสมองเชิงวิทยาศาสตร์ ใช้หลักเหตุผล พวกเขาจะชอบเขียนกันแบบนี้ แต่ผมอ่านประวัติศาสตร์แล้วคิดว่าไม่น่าใช่ ในวัฒนธรรม ในประวัติศาสตร์ของท่านน่าจะมีอย่างอื่นอีกที่เป็นแรงบันดาลใจให้ท่านทรงสร้างนิกายใหม่ขึ้นมา

แล้วผมคิดว่าคนเขียนข้อมูลเหล่านี้น่าจะเป็นชาวตะวันตก ชาวอังกฤษ ชาวฝรั่งเศส เพราะงั้นผมอ่านแล้วก็เลยรู้สึกไม่ค่อยดี เหมือนเหยียดเชื้อชาติหน่อย ๆ เพราะว่าให้พลังให้อำนาจกับยุโรปทั้งหมด แล้วไม่อยากรู้ ไม่อยากมองเห็นว่าทวีปเอเชียมีความคิดเรื่องตรรกะเหตุผลอยู่แล้ว ผมเขียนเกี่ยวกับเรื่องพัทธสีมา เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎพุทธศาสนาที่ชาวตะวันตกไม่ค่อยรับรู้ พระองค์ทรงฉลาดมาก ถ้ารู้เกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของธรรมยุติกนิกาย รัชกาลที่ 4 ท่านตรัสว่าพัทธสีมาที่เราใช้บวชพระมันผิดหลักพุทธศาสนา ในลังกา พม่า สยาม พูดเรื่องนี้กันเยอะมาก ท่านทำให้ระบบการผูกพัทธสีมามันเปลี่ยน ก็เป็นเรื่องวุ่นวายหน่อยเพราะต้องรู้พระวินัยเยอะ

นอกจากรัชกาลที่ 4 ผมก็สนใจเรื่องสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วย สนใจสิ่งที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทำ และสิ่งที่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระอนุชาของ ร.5 ทำด้วย

พระอุโบสถวัดราชาธิวาสออกแบบโดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เป็นทรงเขมร แต่การออกแบบและบูรณะพระอุโบสถนี้เป็นพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 เอง ที่โปรดเกล้าฯ ให้ออกแบบเป็นสถาปัตยกรรมเขมรก็เพราะว่าเมื่อนั้น รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชประสงค์จะสื่อว่ากรุงรัตนโกสินทร์เรา ราชวงศ์จักรีเรา อยู่ในสายรับวัฒนธรรมเขมร เพื่อให้ได้เป็นศิวิไลซ์ อาจารย์ธงชัยเขียนเรื่องนี้ว่าการเป็นศิวิไลซ์นั้นสำคัญมาก รัชกาลที่ 5 ทรงสื่อสารว่าสยามก็เป็นชาติศิวิไลซ์เหมือนกัน แล้วก็ใช้ศิลปะเขมรเพื่อแสดงออกถึงความเป็นศิวิไลซ์ของสยาม แล้วก็เป็นย้อนยุคด้วย 

ข้างในพระอุโบสถก็มีจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับพระเวสสันดร เป็นมหาชาติ แต่ว่าคนที่วาดภาพเป็นชาวอิตาเลียน เป็นภาพ Perspective นี่เป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดที่ผมเขียนคือเรื่องนี้ Perspective เป็นของที่ออกมาจากยุโรปเลย สุโขทัยไม่มี อยุธยาไม่มี สมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มมีบ้างแต่มีน้อย แต่รัชกาลที่ 5 กับเจ้าชายนริศฯ ทรงใช้ภาพ Perspective เพื่อสื่อสารว่าเราก็เป็นศิวิไลซ์เหมือนในวัฒนธรรมยุโรป

แล้วถ้ามองไปในภาพวาดนั้นน่ะ มันเป็นมหาชาติ เรื่องของพระเวสสันดรใช่ไหม แต่สิ่งที่อยู่หลังเป็นวัดวังในกรุงเทพฯ เป็นวังในปัจจุบัน เพราะฉะนั้น Landscape ที่จิตรกรเขาเขียนก็คือกรุงเทพฯ ปัจจุบันในตอนนั้น อันนี้อาจจะเป็นสิ่งที่ผมคิดเอาเอง คือใช้สถานที่ที่มีพลังในการเมือง ศาสนา แล้วก็ในความหวังของคนที่สร้างอำนาจ (ยิ้ม)

ผมเขียนงานชิ้นนี้จบมาได้ 10 ปีแล้ว แต่ผมยังตื่นเต้นอยู่ สนุก ถ้ามีโอกาสก็ไปวัดราชาธิวาสน่าจะดีนะครับ

09
แฟนพันธุ์แท้วัดในเชียงราย

นั่นคือปริญญาโท ส่วนปริญญาเอกผมทำเรื่องการสร้างพุทธศาสนาในเมืองเชียงราย ชื่อเต็ม ๆ ว่า ‘Building Buddhism in Chiang Rai, Thailand: Construction as Religion’

ที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย มีวัด 200 กว่าแห่ง ประมาณ 208 – 210 ไม่แน่ใจครับ แต่นั่นเฉพาะวัด แล้วก็ยังมีสำนักสงฆ์ อาราม ศูนย์แม่ชี ที่ผมหาเจอมีมากกว่า 200 ผมไปมาแล้ว 164 วัดทั่วเชียงราย ไปเก็บข้อมูลทำปริญญานิพนธ์ ยังเหลืออีกประมาณ 40 กว่าวัดที่ต้องไปต่อ (หัวเราะ)

Anthony Irwin ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญศาสนาพุทธในไทย รักเชียงรายเหมือนบ้าน จนชาวบ้านเชื่อว่าเป็นคนเชียงรายกลับมาเกิด

เวลาไปก็ไปคนเดียวเลย ออกจากบ้าน ขี่มอเตอร์ไซค์ไป สนุก 

ผมจำได้ว่าผมจะออกจากบ้านแต่เช้า แล้วไปหาวัดจนถึงตอนเย็น บางวันต้องไปวัดประมาณ 10 แห่ง ไปเยอะ แล้วไปที่ที่แบบ… อันนี้จริง ๆ แล้วมันอยู่ในอำเภอเมืองทั้งหมดใช่มั้ย แต่บางที่มันดูไกลมาก เป็นวัดบ้านนอกมากเลย

Anthony Irwin ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญศาสนาพุทธในไทย รักเชียงรายเหมือนบ้าน จนชาวบ้านเชื่อว่าเป็นคนเชียงรายกลับมาเกิด

การขับมอเตอร์ไซค์ไปหาเป็นเรื่องสนุกมาก ผมไม่รู้ว่าจะเจออะไรรออยู่ แต่ว่าสิ่งที่ผมได้เจอก็น่าสนใจทั้งนั้น เช่น ศิลปะ พุทธศิลป์แบบแปลก ๆ มาก พุทธศิลป์แบบชาวบ้านเลย บางชิ้นมีแค่ชิ้นเดียวในโลก พระพุทธรูปแบบนี้มีแค่องค์เดียวในโลก แบบที่ชาวบ้านสร้างกันเอง ไม่ใช่พระพุทธรูปที่ไปเจอในพิพิธภัณฑ์ ตามอินเทอร์เน็ต หรือในหนังสือ ต้องมาที่นี่สด ๆ เพื่อเจอ บางทีก็ได้เจอช่างคนที่สร้างเลย

วัดที่สำคัญมากที่สุดในชีวิตของแอนโธนีก็คือวัดพระธาตุเขาควายแก้ว เพราะว่าบ้านของผมที่เชียงรายอยู่ใกล้วัดนี้ แล้ววัดนี้ยังมีเรื่องเล่าว่า พระโคตมพุทธเจ้าเคยเสด็จไป แล้วในอนาคตพระศรีอาริยเมตไตรยก็จะเสด็จไปด้วย 

นอกจากนี้ ที่นี่มีตำนาน ‘แมงสี่หูห้าตา’ ที่กินถ่านไฟกับอุจจาระเป็นทองคำด้วย ผมไปเจอรูปแมงสี่หูห้าตาครั้งแรกปี 2006 ยังรู้สึกแปลก ๆ คืออะไร แล้วก็สนใจแมงสี่หูห้าตามากในตอนนั้น เพราะเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยเจอเลย ผมไม่รู้ว่านี่เป็นศาสนาพุทธได้ยังไง แล้วเจ้าอาวาสที่นู่นชื่อ พระครูบาสนอง ท่านเขียนเรื่องตำนานแมงสี่หูห้าตาลงในกระดาษ ตอนไปเรียนภาษาไทยกับอาจารย์กรรณิการ์ ผมยังเอากระดาษแผ่นนั้นไปให้อาจารย์ดูแล้วบอกว่าอยากแปลเป็นภาษาอังกฤษ

วิทยานิพนธ์ปริญญาโทที่ผมทำเรื่องศาสนาพุทธและประวัติศาสตร์ไทย ผมคิดว่าต้องเข้าใจสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ก่อน จึงจะเข้าใจเชียงรายในปัจจุบันได้ ปริญญาเอกผมถึงค่อยมาทำเรื่องวัดในเชียงรายจริงจัง อยากเข้าใจตำนานแมงสี่หูห้าตา แปลตำนานแมงสี่หูห้าตาเอง

 ถ้าตั้งโจทย์ว่าพรุ่งนี้แอนโธนีจะเสียชีวิต ให้เลือกวัดหนึ่งวัดที่จะไปก่อนจะเสียชีวิต ผมจะเลือกวัดพระธาตุดอยเขาควายแก้ว

10
ฝรั่งเข้าวัด

เวลาชาวบ้านเขาเห็นแอนโธนีไปที่วัดของพวกเขา ผมก็ไม่รู้ว่าเขารู้สึกยังไง เพราะผมไม่ใช่เขา แต่ว่าหลายคนเขาก็ดีใจ ผมจะอธิบายว่า 164 วัดที่เชียงรายที่ผมไปเก็บข้อมูล ถ่ายรูปนี่นู่นนั่น เก็บประวัติศาสตร์ มีอยู่วัดเดียวที่เจ้าอาวาสบอกว่าออกไป ไม่เอา มีแค่วัดเดียว ทำไมไม่รู้ แต่ผมก็ไม่โกรธเขา เพราะว่าเป็นวัดของเขา ผมเข้าใจ แต่มีน้อยมาก มีแค่วัดนั้นวัดเดียว

Anthony Irwin ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญศาสนาพุทธในไทย รักเชียงรายเหมือนบ้าน จนชาวบ้านเชื่อว่าเป็นคนเชียงรายกลับมาเกิด

สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับชาวบ้าน คือเขาไม่ค่อยเข้าใจว่าแอนโธนีสนใจวัดเขาทำไม ส่วนมากเขาคิดว่าไปเพราะสนใจพระธรรม อยากรู้วิธีการตรัสรู้ (หัวเราะ) แล้วผมเริ่มถามคำถาม เขาจะบอกให้ไปคุยกับพระดีกว่า ไปถามพระ ถามท่านเจ้าอาวาสดีกว่า สาเหตุเพราะเขากลัวว่าจะพูดอะไรผิด หรือไม่มีข้อมูลที่ผมกำลังหา เพราะเขาคิดว่าผมหาข้อมูลเกี่ยวกับพระธรรม การฝึกสมาธิ พระอภิธรรม หรืออะไรแบบนั้นน่ะ

แต่สิ่งที่ผมสนใจจริง ๆ ก็คือชีวิตของเขา ชีวิตของชาวบ้าน ชีวิตของชาวพุทธ เขาทำอะไรในวันธรรมดาหรือวันไม่ธรรมดา แล้วก็พระพุทธศาสนามามีอิทธิพลในชีวิตเขาได้ยังไง และเขาร่วมสร้างศาสนาพุทธในชีวิตธรรมดา ที่ผมเห็น ศาสนาพุทธไม่ใช่เป็นสิ่งที่ออกจากข้างบนก็ลงมาถึงชาวบ้าน ผมเห็นว่าเมื่อไปวัดหลายวัด ศาสนาพุทธ แล้วเราพูดว่าศาสนาทุกศาสนาก็ได้ เป็นสิ่งที่เราสร้างด้วยกันกับชุมชน ผู้มีศรัทธา เป็นสิ่งที่เราสร้างด้วยกัน

เมื่อผมไปวัดที่มีการก่อสร้างหรือมีพิธีกรรมการก่อสร้าง เช่น ยกช่อฟ้าหรือกฐิน หลายครั้งชาวบ้านมักบอกว่าในอดีตแอนโธนีน่าจะเกิดมาในหมู่บ้านเรา เป็นเหตุที่กลับมาใหม่ นั่นมีอิทธิผลกับผมมาก ผมฟังจริง ผมไม่ได้พูดว่า “ไม่” เพราะผมไม่รู้ เป็นสิ่งที่สะท้อนความเชื่อของชาวบ้านส่วนมากที่เชียงราย

Anthony Irwin ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญศาสนาพุทธในไทย รักเชียงรายเหมือนบ้าน จนชาวบ้านเชื่อว่าเป็นคนเชียงรายกลับมาเกิด

เชียงรายมีวัดร้างเยอะ คนเชื่อว่าถ้าเราบูรณะวัดร้างนี้ สาเหตุก็คือในอดีตชาติเราเป็นคนสร้างวัดนี้ แล้วก็เกิดมาเพื่อดูแล เป็นความเชื่อของชาวบ้านและของพระด้วย เขาบอกว่าฝรั่งนี่นั่งเครื่องบินมานาน เดินทางไกล เพื่อมาหาวัดที่ไม่สำคัญในหมู่บ้านเรา วัดเล็กหรือวัดที่อยู่ในป่า ซึ่งหลายคนในเชียงรายก็ไม่รู้ว่าที่นี่มีวัดอยู่ 

หลายคนบอกว่าในอดีตแอนโธนีน่าจะเกิดที่นี่ แล้วในอนาคตก็จะเกิดมาในหมู่บ้านนี้ด้วย มีพูดถึงเรื่องอดีตแล้วก็เรื่องอนาคต เป็นสิ่งสำคัญมาก คนจะสร้างความคิดเกี่ยวกับเรื่องเวลาด้วยกับสถานที่ เหมือนกับ Time-Space Continuum 

11
สร้างพุทธสถาน = สร้างพุทธศาสนา

เมื่อผมทำวิจัยปริญญาเอก มีเรื่องที่ไม่เข้าใจ ก็มีคนอธิบายว่าเพราะว่าต้องคิดถึงเรื่องวัดร้าง ซึ่งเชียงรายสู้กับพม่าจึงเป็นเมืองร้างอยู่ประมาณ 40 ปี จาก พ.ศ. 1804 – 1844 จังหวัดนี้ก็เลยมีวัดร้างอยู่หลายวัด วัดใหม่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์สร้างครอบวัดร้าง บางวัดก็ยังร้างมาจนถึงปัจจุบัน

เรื่องการสร้างศาสนสถานนั้น ศาสนาไหน ๆ ก็พูดถึงได้ ไม่ต้องอยู่ในศาสนาพุทธอย่างเดียว ผมเห็นว่าเป็นเรื่องมนุษย์ที่ทำเยอะ การก่อสร้างเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าไม่ใช่เกี่ยวกับศาสนา ถ้าเกี่ยวกับการก่อสร้าง การก่อสร้างเป็นสิ่งสำคัญที่มนุษย์ทำ แล้วเราสร้างความหมายเมื่อเราสร้างโลก

Anthony Irwin ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญศาสนาพุทธในไทย รักเชียงรายเหมือนบ้าน จนชาวบ้านเชื่อว่าเป็นคนเชียงรายกลับมาเกิด
Anthony Irwin ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญศาสนาพุทธในไทย รักเชียงรายเหมือนบ้าน จนชาวบ้านเชื่อว่าเป็นคนเชียงรายกลับมาเกิด

การก่อสร้างศาสนสถานเป็นการก่อสร้างศาสนา เป็นทฤษฎีช่วยให้คนมีประตูเข้าสู่ชีวิตของนักศาสนา ไม่ว่าชาวคริสต์ ชาวยิว ชาวอิสลาม ชาวซิกข์ ชาวพุทธ ชาวฮินดู ทุกคนทุกศาสนาก็สร้าง การสร้างเป็นสิ่งที่มนุษย์ทำ เป็นทฤษฎีที่เราใช้ได้อยู่ ไม่ต้องเกี่ยวกับเมืองไทยหรือศาสนาพุทธ นั่นเป็นสิ่งที่ผมพยายามเขียน เพราะว่าอยากเขียนสิ่งที่คนอื่นก็จะใช้ได้ ไม่ต้องเกี่ยวกับเมืองไทยหรือศาสนาพุทธอย่างเดียว

2 ปีที่แล้วผมได้ Post Doc เป็นงานหลังจบปริญญาเอก เป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล อยู่ในคณะมนุษยศึกษา มีอาจารย์หลายคนที่ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเมืองไทยและพระพุทธศาสนา แต่สิ่งที่เขาชอบเกี่ยวกับเรื่องที่ผมเขียนเป็นวิธีการคิดเกี่ยวกับ Methodology of thinking about religion through how things are built and constructed ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ผมเขียนครับ

12
อยากเรียน ‘จาก’ เมืองไทย

ผมอยากจะสร้างทฤษฎีจากชีวิตของคนที่ผมได้ไปเรียนกับเขา ที่ไปทำวิจัยที่นู่น โดยไม่เอาทฤษฎีข้างนอกมาเพื่ออธิบายชีวิตคนไทย ชีวิตของคนไทยชาวพุทธภาคเหนือช่วยให้ผมมีทฤษฎีเพื่อส่งต่อให้คนอื่นใช้เมื่อเขาเหล่านั้นคิดถึงศาสนาอื่นหรือที่อื่น เราเรียกว่าเรียน ‘จาก’ ไม่ใช่เรียน ‘เกี่ยวกับ’

ผมไม่อยากเรียนเกี่ยวกับเมืองไทย ผมอยากเรียน ‘จาก’ เมืองไทย ไม่ใช่ ‘เกี่ยวกับ’

ผมไม่ได้เรียน ‘เกี่ยวกับ’ ศาสนาพุทธ แต่ผมเรียน ‘จาก’ แล้วก็เรียนด้วยกัน ‘กับ’ คนไทย เพราะว่าผมไม่ใช่คนที่รู้ทุกสิ่งทุกอย่างโดยเอาทฤษฎีจากข้างนอกมาอธิบาย

Anthony Irwin ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญศาสนาพุทธในไทย รักเชียงรายเหมือนบ้าน จนชาวบ้านเชื่อว่าเป็นคนเชียงรายกลับมาเกิด

คนไทยกำลังสอนแอนโธนีว่าโลกนี้คืออะไร เพราะก่อนมาเมืองไทยผมไม่รู้จักโลกนี้เลย แต่คนไทยสอนแอนโธนีมาตลอดว่าโลกนี้คืออะไร ไม่ใช่แอนโธนีรู้ว่าโลกนี้คืออะไรก็ลงมาอธิบายกับคนไทย 

ที่ผ่านมา ผมใช้ทฤษฎีนี้ตลอด ถ้าผมมีโอกาสปรึกษากับพระราชาคณะองค์ที่มีสมณศักดิ์สูง ๆ จนถึงชาวบ้าน คนรับจ้าง คนก่ออิฐ หรือกวาดวัด ก็คิดว่าทุกคนมีอะไรที่สอนแอนโธนีได้ ประสบการณ์ของช่างก่อสร้าง แรงงาน เขามีอะไรสอนแอนโธนีเยอะอยู่ เหมือนกับพระสงฆ์รูปสำคัญ ๆ ในมหาเถรสมาคม ทุกคนมีประสบการณ์ที่มีคุณค่าอยู่เท่า ๆ กัน

13
เตรียมศึกษาเรื่องใหม่

ผมเริ่มวิจัยวิชาใหม่ ที่ผมทำนิดหนึ่งเมื่อทำวิจัยสำหรับปริญญาเอก เกี่ยวกับพระฤาษีดาบสตนหนึ่งที่เชียงราย พระดาบสชื่อ หลวงพ่อดาบส สุมโน ท่านน่าสนใจมาก ท่านมีอาศรมไผ่มรกตที่เชียงราย ใกล้ ๆ ไร่บุญรอด ท่านเป็นช่างก่อสร้าง ช่างทำรูปหลายอย่าง ทำด้วยอิฐและหิน เป็นช่างหินแต่ไม่ได้แกะหรือก่อหิน ท่านขุดถ้ำออกจากดินเลย 

ผมสนใจการขุดถ้ำเพราะว่าสนใจถ้ำอยู่แล้ว เชียงรายมีถ้ำธรรมชาติเยอะและมีชื่อเสียง อย่างถ้ำนางนอนของทีมหมูป่านั่นน่ะ ซึ่งถ้ำเป็นสิ่งที่สำคัญมากในพระพุทธศาสนาตั้งแต่ยุคพุทธกาล การขุดถ้ำเป็นสิ่งที่ชาวพุทธทำมานาน ทำที่อินเดีย ที่จีน แต่ว่าพวกนั้นเป็นอดีตกาลโบราณมาแล้ว ส่วนถ้ำหลวงพ่อดาบส สุมโน ท่านขุดถ้ำในอาศรมไผ่มรกตประมาณ 40 ปีที่แล้ว ผมสนใจเรื่องนี้ อยากรู้แนวคิดท่าน แล้วถ้าอยากรู้เกี่ยวกับถ้ำก็ต้องไปถามคนที่เชียงราย มีเรื่องหลายเรื่องเกี่ยวกับท่านที่น่าสนใจ ต้องไปถามเอง แล้วจะรู้ว่าแอนโธนีสนใจเรื่องนี้ทำไม

14
แอนโธนีนับถือศาสนาอะไร?

Anthony Irwin ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญศาสนาพุทธในไทย รักเชียงรายเหมือนบ้าน จนชาวบ้านเชื่อว่าเป็นคนเชียงรายกลับมาเกิด

การนับถือคืออะไร? ผมทำหลายอย่างที่คนนับถือพุทธทำ เช่น ผมไปวัด 164 วัด กราบพระประธานทุกที่ แล้วก็ถวายปัจจัยต่าง ๆ อย่างนี้เรียกว่านับถือมั้ย? แม้ผมจะเป็นชาวยิวในสายเลือด แต่ว่าผมโชคดีที่ได้โอกาสทำสิ่งที่คนนับถือพุทธทำ

ถ้านับถือคือต้องสร้างชีวิตทั้งหมดเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ผมก็ไม่ แต่ผมได้รับสิ่งที่ดีมากมายจากศาสนาพุทธครับ

15
อยากบอกชาวไทยที่นับถือพุทธ

ผมไม่มีอำนาจจะบังคับหรือบอกให้ใครทำอะไร นอกจากให้พวกคุณดูแลคนอื่น

อยากให้ทุกคนมีการดูแลซึ่งกันและกัน แค่นั้นเอง ง่าย ๆ แล้วไม่ใช่แค่กับชาวพุทธอย่างเดียว ชาวมุสลิม ชาวคริสต์ ชาวเขา ก็อยากให้ดูแลกันไว้ ร่วมมือสามัคคีกันดูแลคนรอบข้าง เพราะต่อให้ศาสนาทุกศาสนาแตกสลายไปจากโลกนี้ แต่ว่าทุกคนดูแลกัน ก็จะทำให้โลกดีได้ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก และผมเชื่อว่าศาสนาเป็นหนทางที่จะให้เราไปถึงสิ่งที่ดีกว่าปัจจุบันนี้ได้ครับ

Anthony Irwin ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญศาสนาพุทธในไทย รักเชียงรายเหมือนบ้าน จนชาวบ้านเชื่อว่าเป็นคนเชียงรายกลับมาเกิด

ภาพ : Krit Upra และ Anthony Lovenheim Irwin

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย