สมมติว่าวันหนึ่งเราค้นเจอหีบเก่าๆ บรรจุข้าวของเครื่องใช้สมัยร้อยปีที่แล้วของคุณปู่ คิดว่าเปิดมาจะเจออะไร

นั่นคือสิ่งที่หลานๆ เหลนๆ แห่งราชสกุลจิตรพงศ์กำลังทำ พวกเขากำลังค้นของเก่าที่ ‘สมเด็จปู่’ เคยใช้

‘สมเด็จปู่’ พระองค์นั้น หากพูดภาษาสามัญชน มีชีวิตยาวนานถึง 6 รัชกาล เป็นลูกรัชกาลที่ 4 เป็นน้องชายที่รัชกาลที่ 5 ทรงเล็งเห็นความสำคัญถึงขนาดว่า เมื่อท่านบวช รัชกาลที่ 5 ต้องเสด็จฯ ไปพระราชทานผ้าพระกฐิน เพื่อทรงแอบส่งจดหมายน้อย มีความว่า “ขอให้สึกออกมาช่วยทำราชการ” เพราะเกิดข่าวลือว่าท่านอาจไม่ลาสิกขา

เมื่อสึกออกมาแล้ว ปรากฏว่าทรง ‘ทำโน่นทำนี่’ อยู่ตลอดระยะเวลา 83 ปีแห่งพระชนม์ชีพ จนได้รับยกย่องจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ใน พ.ศ. 2506 ให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก

กรมพระยานริศ, บ้านปลายเนิน

กรมพระยานริศ, บ้านปลายเนิน

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ 5 พระองค์นั้น คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ‘สมเด็จครู’ ของศิลปินไทยและนักเรียนศิลปะไทยทุกแขนง ‘สมเด็จปู่’ ที่สมาชิกราชสกุลจิตรพงศ์ภาคภูมิใจ เจ้านายพระบรมวงศานุวงศ์พี่น้องตรัสเรียกล้อว่าท่านเป็น ‘นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม’

นายช่างพระองค์นี้ทรงรอบรู้ราชกิจน้อยใหญ่จนรับราชการสนองพระเดชพระคุณพระเจ้าอยู่หัวได้หลายกระทรวง เป็นทั้งสถาปนิก ช่างเขียนรูป นักออกแบบ นักเขียนสารคดี กวี นักแต่งเพลง นักเขียนบทละคร ฯลฯ เรียกว่าความสามารถรอบตัวจนคนทำงานรุ่นใหม่ที่บอกว่าตนมี ‘หลายจ๊อบ’ ยังต้องชิดซ้าย

บรรดาพระทายาทและทายาทราชสกุลจิตรพงศ์กำลังช่วยกันปะติดปะต่อจิ๊กซอว์ชีวิตของสมเด็จปู่ เป็นจิ๊กซอว์ที่เห็น ‘ภาพสำเร็จ’ แล้วว่าท่านเก่งแค่ไหน แต่คำถามสำคัญคือ ท่านอยู่อย่างไร ทำงานอย่างไร จึงพัฒนาตนเองเป็นช่างที่เก่งขนาดนี้

ม.ล.ตรีจักร จิตรพงศ์ ทายาทรุ่นเหลนกล่าวว่า นี่คือเรื่องราวที่พวกเขาอยากค้นคว้าและนำเสนอผ่านข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ที่พบในตำหนักตึก วังปลายเนิน เป็นภารกิจที่เริ่มทำมาตั้งแต่ พ.ศ. 2555 พวกเขาพบทั้งไม้เท้า แว่นตา เอกสารราชการ นามบัตร จดหมายส่วนตัว ซองจดหมาย และกระดาษสารพัดประเภทที่สมเด็จปู่ทรงใช้สเกตช์ภาพ รายชื่อหนังสือที่ทรง (คืออ่าน) เพื่อเพิ่มพูนความรู้ เพราะท่านสมัครเป็นศิษย์ศิลปินไทยคนไหนไม่ได้เลย เนื่องจากเป็นโอรสกษัตริย์ ยังมีข้าวของอีกมากมายที่รอให้ทายาทรุ่นปัจจุบันไปสืบค้น

สมาชิกราชสกุลจิตรพงศ์ช่วยกันเล่าเกร็ดพระประวัติของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ให้ The Cloud นำมาเล่าต่อ มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อคนทำงานสร้างสรรค์ จำนวนอาชีพที่ท่านทำนั้นอาจเท่ากับคนรุ่นใหม่ 8 – 9 คนรวมกัน แต่หลักการทำงานที่ท่านทรงยึดถือใช้ได้กับทุกงาน

กรมพระยานริศ, บ้านปลายเนิน

พรสวรรค์ที่ถูกปั้นด้วยพรแสวง

หากไม่มีนายช่างใหญ่กรุงสยามพระองค์นี้ กรุงเทพฯ อาจไม่งดงามทันสมัยทัดเทียมอารยประเทศในยุคร้อยกว่าปีที่แล้ว เพราะท่านเป็นเสนาบดีพระองค์แรกของกระทรวงโยธาธิการ (กรมโยธาธิการและผังเมืองในปัจจุบัน) ควบคุมดูแลงาน ‘สร้างเมือง’ ทั้งการก่อสร้างทางรถไฟ ถนน และการสื่อสารโทรคมนาคม คนไทยจะไม่มีถาวรวัตถุและงานวิจิตรศิลป์หลายชิ้นที่เรียกได้ว่างามเลอเลิศ ไม่มีวัดเบญจมบพิตร วัดหินอ่อนงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ไม่มีเพลง เขมรไทรโยค เพลงยอดนิยมของนักดนตรีปี่พาทย์ไทย ไม่มี ‘ละครดึกดำบรรพ์’ ที่เป็นการประยุกต์โอเปราแบบตะวันตกมาแสดงบนเวทีไทย ไม่มีหนังสือชุดสาส์นสมเด็จ เพชรแห่งวงการประวัติศาสตร์ไทย ไม่มีพระเมรุมาศที่สมพระเกียรติยศพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ ไม่มีเนื้อร้องเพลง สรรเสริญพระบารมี ที่ซาบซึ้งกินใจ รวมถึง อาจารย์ศิลป์ พีระศรี อาจไม่มีกัลยาณมิตรพระองค์สำคัญ และถอดใจกลับอิตาลีไปเสียก่อนจะทันได้ทำประโยชน์มากมายแก่ประเทศไทย

คนคนเดียวเก่ง ‘รอบตัว’ ขนาดนี้ได้อย่างไร

หากทราบพระประวัติครั้งทรงพระเยาว์จะพบว่าสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีพรสวรรค์ด้านศิลปะ เพราะเมื่อเจริญพระชนม์ได้เพียง 10 ชันษา และยังดำรงพระยศเป็นพระองค์เจ้าจิตรเจริญ ทรงเขียนภาพสุริยุปราคาที่เห็นจากหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังได้เหมือนจริงจนได้รับรางวัลชนะเลิศจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฝรั่งที่มาเฝ้าดูอยู่ด้วยนั้นขอพระราชทานภาพฝีพระหัตถ์พระองค์เจ้าจิตรเจริญไปตีพิมพ์ในหนังสือดาราศาสตร์ที่ประเทศเขา ปัจจุบันนี้มีหนังสือดังกล่าวถูกเก็บรักษาอยู่ฉบับหนึ่งที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กรุงเทพฯ

แม้จะ ‘ฉายแวว’ แต่เด็ก แต่ต้องยอมรับเช่นกันว่าสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงขัดเกลาพรสวรรค์นั้นด้วยพรแสวง ทรงเป็นศิลปินที่ไม่มีใครสอน ใช้วิธีครูพักลักจำ พัฒนาฝีมือด้วยตัวเอง

กรมพระยานริศ, บ้านปลายเนิน

ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ พระนัดดาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ไขคำตอบว่าทำไมสมเด็จปู่ของท่านต้องทรงใช้วิธีครูพักลักจำ ผิดจากความเข้าใจของคนทั่วไปที่ว่าเป็นลูกกษัตริย์จะจ้างคนเก่งขนาดไหนมาสอนก็ได้

“ประเพณีโบราณของการสมัครเป็นศิษย์ในงานช่างทุกแขนงคือ ศิษย์ต้องเลือกว่าอยากได้ครูคนไหน แล้วจัดหาขันกำนล เป็นขันเงิน บรรจุดอกไม้ธูปเทียนและเงินจำนวนหกบาทไปไหว้ครู ถ้าครูรับขันที่เด็กยื่นให้แปลว่าฉันรับเธอเป็นศิษย์ เด็กจะเก็บข้าวของที่บ้านตัวเองย้ายไปอยู่ที่บ้านคุณครูเพื่อร่ำเรียนวิชา แต่สมเด็จฯ ท่านทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะเป็นพระโอรสของพระเจ้าอยู่หัว ต้องอยู่กับพระมารดาในฝ่ายในของพระบรมมหาราชวังจนกว่าจะโสกันต์ (โกนจุก)”

กรมพระยานริศ, บ้านปลายเนิน

มีหลักฐานว่าทรงสนพระทัยงานศิลปะตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จากบันทึกของพระองค์เองที่ระบุว่า

“วิชาเขียนนั้นตั้งแต่ฉันยังเล็กๆ อยู่ก็ให้นึกรักเป็นกำลัง พอดีกันกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสมอบหมายให้เป็นหน้าที่เลี้ยงพระฉันเวร คือพระฉันทุกวันบนพระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ แต่พอประเคนสำรับแก่พระแล้ว ก็เตร่ไปอยู่แก่พวกปี่พาทย์นั้นอย่างหนึ่ง แม้ไม่อย่างนั้นก็เข้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เดินดูพระระเบียงเสียรอบหนึ่งแล้วก็จำอะไรมา ครั้นกลับมาถึงเรือนก็เขียนสิ่งที่จำมานั้นไว้…”

อย่าลืมว่าสมัยนั้นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ท่านไม่มีโทรศัพท์มือถือหรือกล้องคอมแพ็คไว้ถ่ายรูประเบียงวัดพระแก้วแล้วกลับมาวาดตามที่บ้าน ใช้วิธีดูแล้วจำล้วนๆ

“ช่างเขาเขียนอะไร เขียนอย่างไร บดผงสี ผสมอย่างไร พู่กันเนี่ยเขาผูกขนขึ้นมาเป็นพู่กันอย่างไร ท่านไปด้อมๆ มองๆ พอกลับมาถึงที่ประทับก็มาลองทำตาม” คุณชายจักรรถอธิบาย

ตอนที่สมเด็จฯ ทรงระบุว่าท่าน “เตร่ไปอยู่แก่พวกปี่พาทย์” นั้น คุณชายจักรรถเล่าเพิ่มเติมว่า “สมเด็จฯ โปรดดนตรีปี่พาทย์ไทย ทรงพยายามเข้าไปนั่งในวงแล้วขอให้ครูสอนท่านตีกลอง ตีระนาด เขาก็เอาใจเด็กเล็กๆ คนนี้ สอนให้บ้าง แต่ไม่ได้เรียนจริงจัง เพราะเหตุว่ารับท่านเป็นลูกศิษย์ไม่ได้ ไม่ว่าท่านจะเสด็จฯ ไปไหนท่านจะม้วนเอาผืนระนาดไปด้วย จนพี่น้องท่านเริ่มบ่นว่าเอาไปทำไม ตีอยู่นั่นแหละ น่ารำคาญ” ทรงพยายามฝึกปรือโดยใช้วิธีดูและถามจากนักดนตรีไทย จนทรงเครื่องดนตรีไทยได้หลากหลายชนิดและทรงแต่งเพลงไทยได้ไพเราะ

พ.ศ. 2423 เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เจริญพระชันษาได้ 17 ปี รัชกาลที่ 5 ทรงมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบซ่อมหอพระคันธารราษฎร์และยักษ์หน้าพระอุโบสถวัดพระแก้ว ทรงกราบทูลสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไว้ดังนี้

“ความเบิกบานใจของเกล้ากระหม่อม คราวใดจะเสมอเหมือนคราวนั้นไม่มี เพราะกำลังศึกษาการเขียนด้วยความรัก และตัวก็มีหน้าที่ด้านทำการปฏิสังขรณ์หอพระคันธารราษฎร์อยู่ด้วย ไปตั้งแต่เช้าอยู่จนเย็นทุกวัน เดินรอบพระระเบียงดูร่างดูเขียนกันวันละรอบแล้วเป็นอย่างน้อย ใครเขียนดีดีก็ทอดทางไมตรีวิสาสะด้วยเขา ฟังเขาพูดเรื่องการเขียนบ้าง ช่วยเป็นลูกมือเขาทาสี ตัดเส้นตัวเลวๆ ไปบ้าง จับจำคำติเตียนและคำแนะนำของเขาเป็นครู…”

การระดมช่างฝีมือดีมีชื่อมาช่วยกันบูรณะซ่อมแซมวัดพระแก้วในคราวนั้น เท่ากับเป็นการแข่งขันประชันฝีมือกันในที เป็นโอกาสเหมาะอย่างยิ่งที่จะเรียนวิชา

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงระบุเพิ่มเติมในบันทึกว่า “เวลานั้นเกล้ากระหม่อมเกือบไม่ได้ไปที่อื่น อยู่ที่นั่น ช่วยเป็นลูกมือและฟังพวกท่านอาจารย์พูด และสังเกตกลเม็ดในการเขียนอยู่ตลอดเวลา…”

กรมพระยานริศ, บ้านปลายเนิน

กรมพระยานริศ, บ้านปลายเนิน

เจ้าฟ้าชายผู้ ‘นอกครู’

ช่วงรัชกาลที่ 5 – 6 งานศิลปะไทยต้องเผชิญกับอิทธิพลอารยธรรมตะวันตก สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงอยู่ตรงกลางระหว่างศิลปะไทยที่มีขนบธรรมเนียมเคร่งครัด ให้ความสำคัญกับความงามแบบอุดมคติมากกว่าความเป็นจริง และศิลปะแบบตะวันตกที่นิยมถ่ายทอดลักษณะทางกายวิภาคตามที่เห็นด้วยตา

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสร้างสรรค์งานที่ทั้งงามและล้ำสมัยศิลปินในยุคเดียวกัน จนถูกค่อนขอดจากบรรดาผู้ไม่เห็นด้วยว่าเป็นงาน ‘นอกครู’

“ท่านทรงนอกครูจริงๆ” คุณชายจักรรถกล่าวยอมรับอย่างขันๆ “คำว่า นอกครู มีความหมายซ่อนอยู่ 2 ระดับ ก็คือละเมิดครู ครูสอนให้ทำอย่างไรแล้วไม่ทำตาม ก็ถือว่านอกครู แต่อีกนัยหนึ่งที่จริงสำหรับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ คือท่านไม่เอาอย่างครูด้วยความจงใจ แต่ไม่ใช่เพื่อละเมิดครู แต่ท่านมีความคิดซึ่งสมัยใหม่มาก คืองานศิลปะต้องเป็นงานสร้างสรรค์เพื่อแสดงเอกลักษณ์ของงานชิ้นนั้น เป็นความคิดที่มาจากวัฒนธรรมยุโรป คนยุโรปเนี่ยทำงานนอกครูมาตั้งแต่สมัยเรเนซองส์ (Renaissance) แล้ว ท่านพยายามสร้างความเป็นเอกลักษณ์ ไม่มีใครเหมือน แล้วท่านก็ไม่ทำให้เหมือนงานเก่าๆ ของตนเองด้วยซ้ำไป”

ภาพพระสุริยะชักรถบนเพดานพระที่นั่งบรมพิมาน พระบรมมหาราชวัง ถือเป็นจิตรกรรมไทยแบบใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในจิตรกรรมแบบไทยประเพณี เพราะแต่เดิมจิตรกรรมไทยมักวาดลงบนผนังเท่านั้น แต่คราวนี้ทรงร่างภาพขนาดเล็กประทานให้ช่างอิตาลีคือ แอร์โคเล มันเฟรดี (Ercole Manfredi) ขยายแบบ ให้ คาร์โล ริโกลี (Carlo Rigoli) วาดและลงสี เป็นภาพที่ยึดหลักความถูกต้องตามจริงแบบตะวันตก แต่บอกเล่าเรื่องราวและใช้องค์ประกอบภาพแบบไทย

กรมพระยานริศ, บ้านปลายเนิน

“ท่านเขียนพระอาทิตย์เป็นเทวดาเพศชายที่งามมาก แสดงสรีระกล้ามเนื้อ แสงเงาที่งามมาก นั่งบนราชรถที่มีล้อเดียว ไม่มีอีกแล้วในศิลปะไทยที่จะเป็นรถเทียมม้าที่มีล้อเดียว มีแต่รูปนี้ มีม้าเจ็ดตัวดึงรถเหาะไปในอากาศ วิธีดูภาพนี้ที่ดีที่สุดนะครับ แนะนำให้นอนหงายท้องดูภาพบนเพดานพระที่นั่งบรมพิมาน ผมทำมาแล้ว” คุณชายจักรรถยิ้ม

คนไทยคุ้นเคยกับ ‘งานที่สำเร็จแล้ว’ ของท่าน แต่แทบไม่เคยเห็นงานในขั้นตอนการพัฒนาผลงาน ว่ากว่าจะเป็นงานศิลป์แต่ละชิ้น ทรงคิดและทดลองอะไรบ้าง โชคดีว่าในบรรดาข้าวของที่ค้นพบในตำหนักตึก วังปลายเนิน พบภาพร่างที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงร่างไว้หลายชิ้น “ผมรู้สึกสนุกมาก หน้าที่ของเราคือตามหาว่าสิ่งที่ท่านสเกตช์ไว้ มันคืองานชิ้นไหนที่ท่านเขียนขึ้นมาสำหรับประเทศไทย” ม.ล.ตรีจักร ทายาทรุ่นเหลนเล่า

ในจำนวนนั้นมี ‘ที่มา’ ของภาพพระอาทิตย์ชักรถอันโด่งดังอยู่ด้วย เป็นต้นว่า ร่างราชรถล้อเดียวที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเขียนไว้หลายมุมเป็นกรณีศึกษาของท่านก่อนเขียนภาพจริง ร่างตัวพระอาทิตย์ ร่างแบบอานม้า ร่างลายสลักปลายคานราชรถ ร่างแปลนของราชรถคันนี้ ในภาพร่างมีเส้นกำกับทำมุม Perspective สำหรับให้ช่างเขียนขยายตามให้ถูกต้อง

“ผมยืนยันว่าถ้าใครอยากสร้างรถล้อเดียวออกมาแล้วเทียมม้าวิ่งบนดินก็ทำตามแบบนี้ได้ เพราะท่านเขียนไว้ครบถ้วน” ม.ร.ว.จักรรถ กล่าว

กรมพระยานริศ, บ้านปลายเนิน กรมพระยานริศ, บ้านปลายเนิน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยตรัสยกย่องสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ ว่าภาพครุฑพ่าห์ที่เขียนนั้นงามนัก ดูราวกับจะ ‘กระดิกได้’ รวมทั้งงานจิตรกรรมชิ้นอื่นๆ ก็ได้รับคำกล่าวขวัญจากผู้พบเห็นว่า ดูมีชีวิตชีวาสมจริง

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเฉลยวิธีเขียนรูปเหมือนจริงที่ทรงถือปฏิบัติไว้ว่า “เดาน้อยที่สุด คือต้องดูของจริงในบ้านเรา ถ้าไม่เช่นนั้นก็หลง”

แน่นอนว่า ท่านคงไม่ทรงไปหาครุฑตัวจริงมาเป็นแบบ เพราะไม่มี แต่สำหรับสิ่งอื่นๆ ทรงพยายามเขียนจากของจริง เมื่อจะทรงเขียนรูปวัวเป็นแบบลายปักพัดงานศพเจ้าจอมมารดาหรุ่น ก็ทรงเช่าวัวของแขกมายืนเป็นแบบอยู่หลายวัน เมื่อจะทรงเขียนรูปหมี ซึ่งเป็นพาหนะของอธรรมเทวบุตรในเรื่อง ธรรมาธรรมะสงคราม ก็เสด็จไปทอดพระเนตรหมีจริงที่บ้านคุณพระศัลยเวทย์วิศิษฐ์ (สาย คชเสนี) ภาพม้าในภาพพระอาทิตย์ชักรถ คุณชายจักรรถเล่าว่า ทรงให้คนไปจูงม้ามาผูกไว้ที่สนามหลังตำหนักแล้วเขียน ม้าจึงมีลักษณะเหมือนจริงมาก

งานหนึ่งที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ โปรดมาก คือการออกแบบพระเมรุ เคยตรัสว่า “งานด้านสถาปัตยกรรมนั้นต้องระวัง เพราะสร้างขึ้นก็เพื่อความพอใจ ความเพลิดเพลินตา ไม่ใช่สร้างขึ้นเพราะอยากรื้อทิ้ง ทุนรอนที่เสียไปก็ใช่ว่าจะเอาคืนมาได้ ผลที่สุดก็ต้องทิ้งไว้เป็นอนุสาวรีย์สำหรับขายความอาย”

แต่งานพระเมรุนั้นทรง ‘เล่น’ ได้เต็มที่ เพราะเป็นงานที่เมื่อใช้เสร็จต้องรื้อทิ้งตามโบราณราชประเพณี

“พระเมรุของรัชกาลที่ห้าท่านก็ออกแบบ คือรัชกาลที่ห้าท่านได้เห็นพระเมรุของรัชกาลที่สี่ ซึ่งสร้างตามแบบโบราณ เป็นเมรุสองชั้น ข้างนอกเป็นภูเขา ข้างในเป็นเมรุทอง ตั้งสี่เสา ที่เรียกว่าพระเมรุมาศ รัชกาลที่ห้าท่านสั่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ว่า ‘เมรุของฉัน อย่าสิ้นเปลืองสร้างสองชั้น ให้สร้างแต่ชั้นใน’ คือสร้างแต่พระเมรุมาศอย่างเดียว ซึ่งสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ท่านก็ออกแบบให้ เป็นเมรุทองชั้นเดียวอยู่ข้างใน เป็นแบบพระเมรุที่รักษามาตลอดจนกระทั่งเผาตัวเอง” คุณชายจักรรถกล่าว

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะทรงออกแบบพระเมรุถวายรัชกาลที่ 6 ด้วย และใช้แบบเดียวกันนี้ถวายพระเพลิงรัชกาลที่ 8 ถวายพระเพลิงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และสุดท้ายคือใช้ในการถวายพระเพลิงผู้ทรงออกแบบเองใน พ.ศ. 2493 แม้ผู้ทรงออกแบบจะตรัสว่า งานออกแบบพระเมรุนั้นทดลองใช้ความคิดแผลงได้เต็มที่ แต่ปรากฏว่าเป็นพระเมรุที่งามที่สุดเท่าที่เคยทรงออกแบบไว้

ม.ร.ว.จักรรถ ยังเล่าถึงสมเด็จปู่ว่า ทรงเป็นศิลปินไทยคนแรกที่สร้างผลงานศิลปะสื่อผสม (Mixed Media Art)

ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือที่วัดราชาธิวาสราชวรวิหารที่ทรงออกแบบพระอุโบสถและสะพานหน้าพระอุโบสถเองทั้งหมด รวมถึงการประดับประดาภายในพระอุโบสถที่มีศิลปะหลายแขนงอยู่ในงานชิ้นเดียวกัน

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสรุปลักษณะของช่างที่ดีไว้ว่า “จะทำอะไรต้องนึกเอง จะจำเขามาทำ คือกอปี้ (Copy – สะกดตามอักขระเดิม) นั้นไม่ควร เพราะจะดีไม่ได้ ถ้าหากดี คนที่คิดเดิมเขาก็เอาดีไปกินเสีย ช่างที่ดีก็ไม่ใช่จะเป็นเทวดาเหาะมาจากที่ไหน ถ้าจะเปรียบแล้วก็คือกินของที่เขาทำแล้วเข้าไป แล้วแตกเหงื่อออกมา นี่เองจัดเป็นความคิด…”

กรมพระยานริศ, บ้านปลายเนิน

กรมพระยานริศ, บ้านปลายเนิน

เมื่อช่างเจอช่าง

“สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กับอาจารย์เฟโรชีสนิทกัน แทบจะเรียกได้ว่าราวกับเป็นญาติใกล้ชิดกัน” คุณชายจักรรถเล่าถึงสมเด็จปู่กับศิลปินที่คนไทยเรียกว่า ‘อาจารย์ฝรั่ง’ หรือชื่อภาษาไทยว่า อาจารย์ศิลป์ พีระศรี

“ในสมัยรัชกาลที่หก รัฐบาลไทยทำหนังสือไปอิตาลี ขอให้เขาคัดศิลปินชั้นเยี่ยมให้เดินทางมารับราชการในไทย คนที่เขาส่งมาคือ อาจารย์คอร์ราโด เฟโรชี (Corrado Feroci) ท่านก็เดินทางดั้นด้นมาทางเรือ ท่านพบแต่ความไม่ต้องการจากบรรดาขุนนางไทย เพราะไม่ต้องการศิลปินชาติอิตาลีมาทำงานศิลปะถวายพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมมหาราชวังของเมืองไทย แกก็แปลกใจ ถ้าไม่ต้องการแล้วเชิญมาทำไม” คุณชายจักรรถเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่กำลังจะทำให้อาจารย์เฟโรชีได้พบช่างไทยอีกพระองค์หนึ่ง

กรมพระยานริศ, บ้านปลายเนิน

กรมพระยานริศ, บ้านปลายเนิน

“ในที่สุดท่านก็สอบถามหาศิลปินไทยฝีมือดีเพื่อปรึกษาว่าทำอย่างไรดี ก็ได้มาพบสมเด็จฯ มาเฝ้าฯ ถึงที่นี่ วังปลายเนิน ได้ทำความรู้จักมักคุ้น สมเด็จปู่ของผมรับสั่งว่า ‘มีวิธีช่วยคือ ให้ปั้นฉัน เพื่อเป็นการแสดงฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์’

“ทรงถอดฉลองพระองค์และประทับนั่งให้เฟโรชีปั้น เป็นภาพเหมือนชิ้นแรกโดยฝีมือเฟโรชี ขุนนางทั้งปวงบอกว่า ฝรั่งปั้นพระองค์ท่านไม่ทรงฉลองพระองค์ ถูกเล่นงานจนได้ สมเด็จฯ ท่านก็รับสั่งว่า งั้นเราปั้นอีกภาพหนึ่งก็ได้ คราวนี้ท่านทรงฉลองพระองค์ปิดพระศอเลย ไม่มีใครกล้าติเพราะว่าสวยมาก เหมือนมาก ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในตำหนักตึก วังปลายเนิน”

กรมพระยานริศ, บ้านปลายเนิน กรมพระยานริศ, บ้านปลายเนิน

ต่อมาอาจารย์ฝรั่งทูลลาพระเจ้าอยู่หัวกลับไปเยี่ยมครอบครัวที่เมืองฟลอเรนซ์ เมื่อกลับมาสยามอีกครั้ง ท่านอุ้มรูปปั้นเหมือนของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กลับสยามมาอีกชิ้น เป็นภาพแกะจากหินอ่อนสีแดงเข้ม ซึ่งคุณชายจักรรถเล่าด้วยความแปลกใจว่า “จนบัดนี้เราไม่ทราบว่าอาจารย์เฟโรชีท่านมีอะไรติดมือกลับไป เช่น ภาพถ่าย ภาพสเกตช์ เพื่อเตือนความจำว่ารูปลักษณ์ของสมเด็จฯ ท่านเป็นอย่างไร เพราะปั้นออกมาสวยงามและเหมือนมาก”

มีคำถามว่า สมเด็จฯ ทรงสื่อสารกับเพื่อนฝรั่งด้วยภาษาอะไร เพราะอาจารย์เฟโรชีเพิ่งมาจากอิตาลี และไม่ปรากฏหลักฐานที่ทำให้แน่ใจว่าสมเด็จฯ ทรงสื่อสารภาษาอังกฤษได้ คุณชายจักรรถตอบว่า น่าจะใช้ล่าม

แต่เมื่อช่างเจอช่าง เพื่อนเจอเพื่อน เรื่องภาษาคงไม่เป็นอุปสรรคสักเท่าไร ตลอดพระชนม์ชีพของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศนุวัดติวงศ์ ปรากฏว่าอาจารย์เฟโรชีปั้นรูปเหมือนของพระองค์ไว้ถึง 7 รูป ซึ่งคุณชายจักรรถระบุว่า ไม่น่าจะมีช่างคนใดในโลกที่สร้างรูปเหมือนของผู้อื่นไว้มากขนาดนี้

กรมพระยานริศ, บ้านปลายเนิน กรมพระยานริศ, บ้านปลายเนิน

10 มีนาคม พ.ศ. 2490 บรรยากาศโศกเศร้าปกคลุมทั่ววังปลายเนิน เมื่อพระผู้นำของบ้านสิ้นพระชนม์ลง อาจารย์ฝรั่งอยู่ที่นั่นด้วย เพื่อแสดงความอาลัยต่อกัลยาณมิตรของท่าน

“ท่านสิ้นพระชนม์เมื่อผมอายุแค่สองขวบครึ่ง ผมจำพระองค์ท่านได้ในวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ ผมถูกพาขึ้นไปบนห้องบรรทมบนตำหนักตึกที่วังปลายเนินแห่งนี้ มีเตียงเหล็กตัวหนึ่ง มีคนแก่มากนอนอยู่ ผอมจนเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก ตาผมสูงกว่าขอบที่นอนแค่นิดเดียว แค่จมูก ผมเข้าใจว่าเป็นวันที่ท่านสิ้น ผู้หลักผู้ใหญ่ก็พาผมไปกราบลาท่านก่อนสิ้นพระชนม์” ม.ร.ว.จักรรถ ระลึกความทรงจำที่เคยได้เข้าเฝ้าฯ ‘สมเด็จปู่’

“ผมจำได้ชัดๆ ว่ามีเสียงผู้ใหญ่พูดว่า ‘จักร ไปได้แล้ว’ เด็กอายุสองขวบเศษก็เลยเข้าใจเอาเองว่าถูกพาขึ้นไปกราบลาหรือส่งเสด็จ พอลงมาข้างล่าง จำได้ว่าเห็นอาจารย์ศิลป์ยืนอยู่ข้างล่างของตำหนักตึก เอาศีรษะโขกกับฝาผนัง ปากก็พึมพำอะไรฟังไม่รู้เรื่อง แต่ผู้ใหญ่เล่ากันว่า แกพึมพำว่า ‘พอกันที พอกันที…’”

แม้เมื่อสิ้นนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม แต่พระเกียรติคุณยังคงอยู่ พระทายาทและทายาทราชสกุลจิตรพงศ์ได้ช่วยกันสืบสานจิตวิญญาณศิลปินผ่านการมอบ ‘รางวัลนริศ’ แก่นักเรียนศิลปะไทยฝีมือเยี่ยมที่ต้องผ่านคัดเลือกอย่างเข้มข้น มอบรางวัลไปแล้วกว่า 1,500 คน หลายคนเจริญก้าวหน้าเป็นกำลังสำคัญของชาติในด้านศิลปะ อีกทั้งยังมีการจัดการเรียนการสอนดนตรีไทยและนาฏศิลป์ไทยที่วังปลายเนิน สมดังที่ท่านเจ้าของวังทรงเป็นเอกทั้งด้านสถาปัตยศิลป์ วิจิตรศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และวรรณศิลป์

สมัยนั้นอาจไม่มีใครกล้าขอประทานสัมภาษณ์เกี่ยวกับทัศนคติการดำเนินชีวิต แต่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงทำให้ดูว่า สิ่งที่คนรุ่นใหม่ชอบพูดกันว่า ‘ใช้ชีวิตให้คุ้ม’ และ ‘You only live once.’ นั้นมีความหมายว่าอย่างไร เพราะทรง ‘ทำโน่นทำนี่’ จนเกินคุ้มมาตลอด 83 ปีแห่งพระชนม์ชีพ และเป็นการทำงานที่ยังประโยชน์และความภาคภูมิใจแก่ประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง ชาวต่างชาติที่ศึกษาประวัติศาสตร์ไทยต่างรู้ดีว่า Prince Naris คือใคร และทรงทำอะไร

“ผมภาคภูมิใจมากที่ชีวิตนี้ได้เกิดมาเป็นหลานปู่ของท่าน” ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย

ถ้าใครสนใจร่วมเดินทำความรู้จักบ้านปลายเนินกับราชสกุลจิตรพงศ์ในกิจกรรม Walk with The Cloud : บ้านปลายเนิน วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2562 สามารถอ่านรายละเอียดและสมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่นี่

กรมพระยานริศ, บ้านปลายเนิน

กรมพระยานริศ, บ้านปลายเนิน กรมพระยานริศ, บ้านปลายเนิน

ภาพ : บ้านปลายเนิน

เอกสารประกอบการเขียน

ฐิระวัฒน์ กุลละวณิชย์. เบิกศิลป์ปรีชาแท้ เลิศแล้วเมธี. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งและพับลิชชิ่ง, 2554
ลาวัณย์ โชตามระ. ย้อนรอยราชตระกูล. กรุงเทพฯ: โชคชัยเทเวศร์, 2530
บ้านปลายเนิน คลองเตย. กรุงเทพฯ: รำไทยเพรส, 2537

ขอขอบคุณ

พระทายาทและทายาทราชสกุลจิตรพงศ์

Writer

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

กรณิศ รัตนามหัทธนะ

นักเรียนเศรษฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแนวไปเรียนทำอาหารอย่างจริงจัง เป็น introvert ที่ชอบงานสัมภาษณ์ รักหนังสือ ซื้อไวกว่าอ่าน เลือกเรียนปริญญาโทในสาขาที่รู้ว่าไม่มีงานรองรับคือมานุษยวิทยาอาหาร มีความสุขกับการละเลียดอ่านหนังสือและเรียนรู้สิ่งใหม่ผ่านภาพถ่ายเก่าและประวัติศาสตร์สังคม

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan