“เมื่อก่อนไม่ได้เป็นแบบนี้นะคะ สภาพห้องโชว์รูมค่อนข้างแย่ มีแต่ฝุ่นจับ” 

ปุ้ย-รุจิราพร เตชะเทพ นักออกแบบและเจ้าของ Earth & Fire Ceramics Thailand โรงงานและแบรนด์เซรามิกอายุมากกว่า 30 ปีในจังหวัดลำปาง เล่าระหว่างพาเราเดินชมผลิตภัณฑ์เซรามิกที่วางเรียงรายอย่างเป็นระเบียบอยู่เต็มชั้น บางจานคล้ายโดนัท บางถ้วยมีหยักมุมสวยเหมือนดอกไม้และน่ารักคล้ายคนมีลักยิ้ม จานใบหนึ่งทำให้เรานึกถึงแป้งพัฟเพสทรี และอีกหลายใบมีรูปทรงอิสระ แปลกตา

ปัจจุบันสถานที่ที่ว่าไม่มีความทรุดโทรมใดหลงเหลือให้เห็นหรือเดาออกว่าโรงงานเก่าแก่ผ่านกาลเวลามา 31 ปี เว้นเพียงเครื่องจักรขาดใหญ่ ขรึมขลัง พอจะทำให้เราเชื่อมโยงไปถึงครั้งที่กิจการเคยรุ่งเรือง ก่อนผลัดใบ แล้วผลิบานสู่ยุคสมัยใหม่อย่างโดดเด่น โดยการพลิกโฉมธุรกิจอันน่าเหลือเชื่อของหญิงสาวตัวเล็ก ๆ ผู้มีประสบการณ์การทำงานเซรามิกเป็นศูนย์

เพียง 2 ปี โรงงานเซรามิกลึกลับแห่งนี้กลายเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว พื้นที่ศิลปะและเวิร์กช็อป พร้อมเติบโตสู่แบรนด์ภาชนะเซรามิกสุดสร้างสรรค์ที่เหล่าเชฟชื่อดังจากร้านไฟน์ไดนิ่ง ร้านอาหารมิชลินสตาร์ รวมถึงโรงแรมชั้นนำ ต่างถูกตาต้องใจและอยากมีไว้ครอบครอง

แต้มแรก

Earth & Fire Ceramics ตั้งต้นจากความหลงใหลในงานศิลปะเซรามิกของ เอก-เอกฤทธิ์ ประดิษฐสุวรรณ สถาปนิกหนุ่มจากเมืองกรุง ผู้ปักหมุดปลูกปั้นโรงงานผลิตเซรามิกของตกแต่งบ้านและเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารดีไซน์ร่วมสมัย บนทำเล 20 ไร่ ในอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง

ผลิตภัณฑ์ของ Earth & Fire เคยติดลมบนในยุคที่งานเครื่องปั้นดินเผาศิลาดลได้รับความนิยม แต่แล้วเมื่อการปรับตัวเริ่มเชื่องช้า สินค้าถูกหยิบฉวยลอกเลียนแบบ กอปรกับกระแสเซรามิกต่างแดนบุกตีตลาด กิจการจึงเดินทางสู่ช่วงขาลง จนเอกเกือบจะตัดใจปิดโรงงานอยู่ร่อมร่อ เขาก็ได้พบเจอกับปุ้ย – หญิงสาวที่เข้ามาช่วยต่อลมหายใจธุรกิจให้กลับคืนชีวิตชีวาอีกครั้ง

ปุ้ยย้อนเล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้าจะเข้ามาดูแลโรงงาน เธอเคยเปิดร้านอาหารที่เชียงใหม่ ธุรกิจที่ต่อยอดจากใจรักด้านการทำอาหาร หลังเรียนจบจากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผ่านคอร์สพัฒนาทักษะเชฟของโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ นี่จึงเป็นเหตุให้ปุ้ยมีเพื่อนฝูงและคนรู้จักในวงการอาหารมากมาย อีกทั้งหลายคนยังเป็นเชฟโรงแรม เชฟร้านไฟน์ไดนิ่ง จุดนี้เองที่กลายเป็นลูกกระทบชิ่ง ส่งแต้มความสำเร็จแรกเข้าประตูในเกมการฟื้นฟูธุรกิจของเอกกับเธออย่างจัง

“เราเข้ามาดูแลที่นี่ได้ประมาณ 6 ปีแล้ว ช่วงแรก ๆ ก็นึกภาพไม่ออกเหมือนกันนะว่าจะต้องไปต่อยังไง เพราะเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับเรา และยังไม่ได้เข้ามาทำเต็มตัวด้วย

“กระทั่ง พ.ศ. 2565 เราย้ายมาอยู่ลำปาง เลยมีโอกาสทุ่มเทกับตรงนี้อย่างเอาจริงเอาจัง เราลองปั้นดิน ออกแบบจานชาม และเรียนรู้กระบวนการผลิตกับทีมงานทุกแผนก” ปุ้ยเท้าความ

ด้วยความชอบงานศิลปะเป็นทุน ทำให้ปุ้ยสนุกและมีความสุขกับการทำงานเซรามิกไม่ต่างจากเวลาเข้าครัวปรุงอาหาร เอกรับบทเป็นอาจารย์ปูพื้นฐานการปั้น องค์ประกอบที่เหลือมาจากความมุ่งมั่นและกล้าลองผิดลองถูก เธอค้นพบแนวทางของตัวเอง โดยต่อยอดจากตำนานที่เอกสร้างไว้ ซึ่งเขานิยามสไตล์นั้นว่า ‘Contemporary Celadon’ มีเสน่ห์ในเส้นโค้ง รูปทรงอิสระ กลิ่นอายศิลปะร่วมสมัย

ผลิตภัณฑ์จานชามชุดประเดิมฝีมือของปุ้ยได้รับความสนใจจากกลุ่มเพื่อน ๆ ชาวเชฟที่แวะเข้ามาคอมเมนต์ในสื่อโซเชียล เธอจึงไม่รอช้า นำฟีดแบ็กกลับมาปรับปรุงผลงาน จนถอดรหัสดีไซน์และฟังก์ชันที่บรรดาเพื่อนเชฟแนะนำ และนั่นกลายมาเป็นจุดเปลี่ยนที่ช่วยพลิกสถานการณ์จากโรงงานเซรามิกแสนซบเซา ขึ้นสู่แบรนด์เซรามิกหมุดหมายของกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์

ไม่สมบูรณ์แบบ

“อย่างจานใบนี้เกิดมาจากตอนเราเห็นเศษดินที่เหลือจากการขึ้นรูปแล้วนึกเสียดาย เลยลองจับมาต่อเป็นก้อน ๆ ขึ้นรูปเป็นจนได้ออกมาเป็น ‘จานก้อนหิน’ ” ปุ้ยเล่าเบื้องหลังวิธีการสร้างสรรค์ของหนึ่งในตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่คัดสรรมาวางบนโต๊ะไม้ตัวเขื่องกลางห้องโชว์รูม พลันเสริมต่ออย่างอารมณ์ดีว่า ทันทีที่ถ่ายรูปจานใบดังกล่าวลงโซเชียลฯ ก็มีคนติดต่อรอจับจองมากมาย

“พอเห็นว่ามีคนสนใจ ทำขายได้ เราก็กลับมาพัฒนาเพิ่มอีกเล็กน้อย เพราะเราได้เรียนรู้จากเพื่อน ๆ แล้วว่าต้องคำนึงถึงเรื่องการใช้งานด้วย จากจานต้นแบบในวันนั้น จึงกลายมาเป็นจานก้อนหินฉบับสมบูรณ์ในวันนี้” เธอว่าพลางหยิบจานก้อนหิน 2 ใบส่งให้สัมผัส แม้รูปร่างหน้าตาค่อนข้างแยกยาก หากจานรุ่นใหม่กลับมีน้ำหนักที่เบากว่ามากและวางเรียงซ้อนกันได้สบาย

นอกจากผลงานที่เกิดจากความช่างสังเกต ช่างคิด ผสมผสานจินตนาการแปลกใหม่ ช่างปั้นเซรามิกสาวยังมักเก็บเกี่ยวแรงบันดาลใจจากการติดตามเทรนด์งานออกแบบเซรามิก สำรวจความสนใจในการเลือกใช้ภาชนะของเชฟระดับหัวกะทิ ตลอดจนศึกษาแนวทางของศิลปินเซรามิกที่ชื่นชอบ เพื่อนำมาต่อยอดออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ร่วมสมัย และมัดใจกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด

“วันที่เราได้รับออร์เดอร์จากร้านอาหารไฟน์ไดนิ่งชื่อดังต่าง ๆ แล้วมียอดขายจากลูกค้าหน้าใหม่ที่ไม่ได้มาจากการแนะนำของกลุ่มเพื่อน ทำให้เรามั่นใจว่าเจอทางของตัวเองแล้วจริง ๆ”

2 ปีหลัง ปุ้ยนั่งเป็นหัวเรือใหญ่และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้ Earth & Fire ธุรกิจค่อย ๆ เติบโตอย่างต่อเนื่อง และขยับขยายสเกลการผลิตด้วยการนำแม่พิมพ์มาใช้ในกระบวนการโดยไม่ทิ้งหัวใจของงานฝีมือ

“พอเริ่มมีออร์เดอร์ล็อตใหญ่เข้ามา เราจึงต้องพัฒนากระบวนการผลิต จากเมื่อก่อนเคยนั่งปั้นเองทุกชิ้นได้ราววันละ 60 – 80 ใบ ตอนนี้ปรับมาใช้วิธีการหล่อแม่พิมพ์จากโมเดลต้นแบบ

“ถึงอย่างนั้น ทุกชิ้นงานก็ยังอาศัยการหล่อ การตกแต่ง หรือการเก็บรายละเอียดโดยช่างฝีมือท้องถิ่นที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน ซึ่งเขาอยู่กับเรามาตั้งแต่แรกเปิดโรงงาน”

ดังนั้น ข้อควรทราบของลูกค้า คือต้องยอมรับได้ในความไม่เป๊ะทุกกระเบียดนิ้วของจานชาม ไม่เว้นแม้แต่สีสันที่อาจมีความแตกต่างจากกรรมวิธีการเผาความร้อนสูงที่ 1,250 – 1,280 องศาเซลเซียส ตามสูตรเซรามิกประเภทสโตนแวร์ (Stoneware) ซึ่งปุ้ยเน้นย้ำกับลูกค้าก่อนเสมอ 

ปุ้ยพบว่าส่วนใหญ่แล้วเป็นเซรามิกต่างหากที่เลือกเจ้าของ เพราะหลายคนที่จับจองผลิตภัณฑ์เซรามิกของ Earth & Fire ต่างมีหัวใจตรงกันกับเธอ นั่นคือ

‘รักในงานฝีมือและหลงเสน่ห์ของความไม่สมบูรณ์ที่สมบูรณ์แบบ’

พิเศษและใส่ใจ

อีกจุดขายที่ได้ใจลูกค้าไม่แพ้กัน คือความยืดหยุ่นในการสร้างสรรค์และพลิกแพลงชิ้นงาน

“เรามีทีมผลิตแค่ 20 คน จะเรียกว่าเป็นแค่สตูดิโอก็ได้ ผลิตภัณฑ์ของเราจึงไม่อาจแข่งขันด้านปริมาณ แต่ความกระชับของทีมและการผลิตในสเกลเล็ก ๆ เอื้อให้ง่ายต่อการปรับแต่งชิ้นงาน ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าร้านไฟน์ไดนิ่งที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์จำนวนไม่มากและมีเอกลักษณ์”

ปุ้ยยกตัวอย่างสิ่งที่ช่วยสร้างแต้มต่อนี้ให้ฟัง ผ่านเคสจานตระกูลโดนัทของแบรนด์ที่ช่วงก่อนได้รับความนิยมมาก กระนั้นลูกค้าบางรายก็กังวลว่าจะซ้ำกับร้านอื่น ๆ หากเป็นโรงงานใหญ่คงหมดหวังทั้งลูกค้าและผู้ผลิต แต่ Earth & Fire ยินดีปรับสีสัน บิดบางอย่างเพื่อสร้างความแตกต่างตามลูกค้าต้องการ ส่วนปริมาณออร์เดอร์ เธอว่าจะแค่ 10 – 20 หรือแม้แต่ชิ้นเดียวก็ทำให้ได้

“เราไม่อยากเรียกว่าเป็นกลยุทธ์นะ แต่เราว่าเรามีหัวใจของคนทำอาหาร จึงรู้สึกเหมือนใจเขาใจเรา เพราะใครก็อยากได้ของที่สร้างซิกเนเจอร์ให้ร้าน และเราก็อยากทำของที่สวยงามและประทับใจลูกค้าด้วย” ปุ้ยเล่าด้วยรอยยิ้ม ก่อนแย้มว่าเรื่องนี้ยังเกี่ยวข้องกับอินไซต์ของลูกค้าหลัก อย่างกลุ่มร้านอาหารที่มักตั้งดีไซน์ ราคา และธีมอาหารแต่ละซีซัน เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อ

“ลูกค้าบางคนบอกเราว่าธีมเมนูอาหารซีซันนี้ เขาอยากได้จานคุมโทนสีธรรมชาติ เช่น น้ำตาล ขาว เขียว ถ้าเกิดจานตัวที่เขาเล็งไว้ไม่มีโทนสีดังกล่าว เราก็ปรับสี ปรับน้ำเคลือบให้ เพราะจานชามคือการลงทุนด้านภาพลักษณ์และตัวตนอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะร้านไฟน์ไดนิ่งที่มักออกคอร์สใหม่ทุก 3 – 4 เดือน พอหน้าตาอาหารเปลี่ยน เขาก็ต้องเปลี่ยนจานคอลเลกชันใหม่ ๆ เหมือนกัน”

นี่คือโอกาสสำคัญจากตลาดกลุ่มร้านอาหารไฟน์ไดนิ่งที่ช่วยพลิกฟื้นธุรกิจและหล่อเลี้ยง Earth & Fire ให้เติบโตด้วยการขายความพิเศษและใส่ใจ เหนือไปกว่านั้น ที่นี่มีบริการรับผลิตสินค้าตามสั่ง ซึ่งลูกค้าออกแบบได้ทั้งรูปทรง สีสัน ขนาดความกว้าง ความสูง และความลึก 

“ถ้าดูแบบของลูกค้าแล้วใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์ที่เรามีอยู่ เราก็จะขึ้นตัวอย่างให้ลูกค้าดูได้ทันที แต่บางอย่างรายละเอียดอาจเยอะหน่อย ก็จะออกแบบส่งให้เขาพิจารณาก่อน”

ว่าด้วยเรื่องราวรายละเอียดอันพิถีพิถัน เอกที่ฟังเรากำลังคุยกันอยู่เอ่ยขึ้นมาว่า หากเป็นเขาคงยกธงขาว เพราะบางรายว่ากันระดับมิลลิเมตร แต่ปุ้ยรับฟังและรับทำให้ลูกค้าทุกรายไป

“ถ้าเราอยากได้ออร์เดอร์นี้หรืออยากให้เชฟคนนี้ใช้จานของเรา จะสั่งมากสั่งน้อยเท่าไหร่ไม่รู้ เราคิดอย่างเดียวว่าต้องทำให้เขาซื้อให้ได้” ปุ้ยพูดพลางหัวเราะ “แต่ต้องเป็นสิ่งที่เราทําได้และเป็นแนวทางเดียวกับ Earth & Fire ถ้าไม่ใช่ก็ไม่ฝืน เราไม่เทลูกค้า เพราะไม่อยากปล่อยโอกาสหลุดมือและเชื่อว่าร้านอาหารดี ๆ เปรียบเสมือนแกลเลอรีที่ช่วยสร้างการรับรู้และคุณค่าให้กับแบรนด์”

พัฒนาให้มากกว่านี้

นอกจากการออกแบบ สิ่งที่ปุ้ยให้ความสำคัญในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจคือการพัฒนาด้านการตลาด ซึ่งเป็นจุดอ่อนและปิดโอกาสขายสินค้าของ Earth & Fire มานานหลายปี

“เราพยายามบูรณาการความรู้การเงิน การตลาด และการบริหารจัดการองค์กรที่ได้เรียนและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ระหว่างทำร้านอาหารมาสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ โดยเฉพาะการตลาด เพราะเมื่อก่อนคนติดต่อเรายากมาก เหมือนตามหาศิลปินสักคนที่หมกตัวอยู่แต่ในป่า ไม่โปรโมต ไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ ทั้งสิ้น” ปุ้ยหัวเราะ “เราจึงโปรโมตตัวเองมากขึ้นผ่านโซเชียลมีเดีย”

เชื่อหรือไม่ว่าลูกค้าที่วางใจในผลิตภัณฑ์ของ Earth & Fire อย่าง ร้านฤดู (Le Du), ศรณ์ (Sorn), บ้านเทพา (Baan Tepa), โพทง (Potong), วรรณยุค (Wana Yook), Blackitch Artisan Kitchen, Navan Navan, Ojo Bangkok, Jim Thompson รวมถึงโรงแรมหรูในประเทศและต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย เยอรมนี และดูไบ แทบทั้งหมดรู้จักและติดตาม Earth & Fire จาก Instagram ซึ่งเป็นเครื่องมือหลักที่ปุ้ยเลือกใช้สื่อสารเรื่องราวของแบรนด์ โดยมี เชฟนิค-วิพิทธิจักษ์ พิทยานนท์ และ ไบร์ท-พีรรัฐ ไทยงามศิลป์ กัลยาณมิตรผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการสร้างสรรค์ภาพถ่ายผลิตภัณฑ์ให้ดึงดูดใจและชัดเจนในตัวตนของแบรนด์

“เราโชคดีที่มีเพื่อนดี เมื่อก่อนใน Instagram เราลงรูปเองแบบบ้าน ๆ สะเปะสะปะมาก แต่พอเชฟนิคกับไบร์ทมาช่วยออกแบบตกแต่งอาหารและจับคู่ถ่ายกับจาน ทำให้การสื่อสารแบรนดิ้งชัดขึ้น เข้าถึงกลุ่มลูกค้า และสร้างการจดจำให้คนนึกถึงเราเมื่อมองหาจานอาหารไฟน์ไดนิ่ง”

ควบคู่กันคือการสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า ปุ้ยศึกษากระบวนการทำงานของทุกแผนกจนให้เห็นจุดอ่อนที่ควรพัฒนา เพื่อมอบบริการฉับไว ตรงต่อเวลา และแก้ปัญหาได้ทันท่วงที

ที่นี่ไม่ได้มีแค่โรงงานเซรามิก ภายในรั้วเดียวกันยังมี หอศิลป์เสรี (Seri Art Gallery) ให้คนรักงานศิลปะมาเยี่ยมชมนิทรรศกาลศิลปะหมุนเวียน ร้านกาแฟบรรยากาศอบอุ่นที่ปุ้ยเผยว่าช่วยเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ที่ไม่ได้เห็นแบรนด์จาก Instagram ได้เป็นอย่างดี มี Artist’s Residence บริการที่พำนักสำหรับศิลปินและรองรับลูกค้า ตลอดจนพื้นที่จัดกิจกรรมเวิร์กช็อปเพนต์เซรามิก

เอกผู้ต้นคิดการต่อยอดกิจการด้วยการสร้างองค์ประกอบต่าง ๆ ขยายไอเดียให้ฟังว่า 

“เราต้องการสร้างบรรยากาศของการเข้ามาอุดหนุนสินค้าที่เหมือนได้มาท่องเที่ยวมากกว่ามาชมโรงงาน ซึ่งแกลเลอรีเป็นตัวเลือกที่ดี เพราะเป็นสากล คนกล้าเข้ามาดู ประกอบกับเราเองก็ชื่นชอบงานศิลปะ พอทำแกลเลอรีเสร็จก็เสริมด้วยร้านกาแฟไปด้วย 

“เราคิดต่ออีกว่าจะทำยังไงให้การมาเที่ยวโรงงานเซรามิกช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเซรามิกได้ด้วย จึงเกิดเวิร์กช็อปเพนต์เซรามิก ปรากฏว่าคนที่สนใจส่วนใหญ่ไม่ใช่นักท่องเที่ยว แต่เป็นชาวลำปางทั้งเด็กและผู้ใหญ่ 

“เราว่ากิจกรรมนี้แหละจะส่งเสริมให้ลำปางเป็นเมืองเซรามิกอย่างแท้จริง และอยากจุดประกายให้โรงงานอื่น ๆ ลองริเริ่มทำดู เพื่อร่วมกันสร้าง ‘ชุมชนศิลปะ’ แทนชุมชนโรงงาน ดึงดูดคนให้เดินทางมาเที่ยวลำปางด้วยกิจกรรมศิลปะที่สร้างสรรค์ สนุกสนาน ไม่ใช่แค่แวะมาซื้อเซรามิกราคาถูกแล้วกลับบ้าน” เอกเล่าความตั้งใจด้วยรอยยิ้ม

ในอนาคต เอกมีความตั้งใจจะจัดตลาดนัดเล็ก ๆ สไตล์ Art & Craft บริเวณลานกว้างแสนร่มรื่นใต้ต้นฉำฉา เพื่อผลักดันงานศิลปะและงานฝีมือของชาวลำปาง ขณะที่ปุ้ยวาดฝันไว้ว่าเธออยากพา Earth & Fire ไปอวดโฉมในเทศกาลดีไซน์วีกที่อิตาลีหรือฝรั่งเศส

“เราไม่ได้ฝันว่าอยากทำยอดขายสูง ๆ แต่เราอยากพา Earth & Fire ไปยืนอยู่ในจุดที่คนรักงานออกแบบเซรามิกนึกถึง เป้าหมายสำหรับเราในตอนนี้จึงเป็นการพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้น และคู่แข่งเพียงคนเดียวของเราก็คือตัวเอง เราย้ำกับตัวเองเสมอว่า ฉันต้องพัฒนาให้มากกว่านี้นะ”

Lessons Learned

  • การทำงานด้วยใจรักจะทำให้ผลลัพธ์ออกมาดี และไม่มีอุปสรรคใดที่เอาชนะไม่ได้
  • ถ้าอยากเห็นความสำเร็จต้องทุ่มเท
  • ซื่อสัตย์และจริงใจ คือกุญแจสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล