16 กุมภาพันธ์ 2024
24 K

ตอนได้รู้จัก ใหญ่-ธำรงรัตน์ ธนภัคพลชัย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น เป็นครั้งแรก เราแปลกใจเมื่อพบว่าชายหนุ่มตรงหน้าอายุเพียง 32 ปี

ถ้ามองในเส้นทางอาชีพทั่วไป คนวัย 30 ต้นน่าจะอยู่ในช่วงตำแหน่ง Manager กำลังเริ่มหัดบริหารทีมด้วยตัวเอง แต่ชายหนุ่มตรงหน้าเราคือหัวหน้าอุทยานฯ ที่ต้องรับผิดชอบอุทยานทั้งหมด บริหารและดูแลตั้งแต่เจ้าหน้าที่ ประชาชนผู้เข้ามาใช้พื้นที่ จนถึงชาวบ้านรายรอบ 

ยิ่งเมื่อเห็นใหญ่พร้อมน้องเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ทำงานด้วยกัน เรายิ่งรู้สึกถึงบรรยากาศที่ต่างจากงานอุทยานในภาพจำเดิม ๆ 

เหมือนเห็นฤดูใบไม้ผลิ – เรารู้สึกอย่างนั้น

ที่สำคัญ ใหญ่ยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ‘โรงเรียนนักเดินป่า’ หลักสูตรสอนให้นักท่องเที่ยวรู้วิธีเดินป่าอย่างถูกต้องและยั่งยืน ซึ่งแทบไม่พึ่งพางบของอุทยาน แต่อาศัยแรงกายแรงใจจากอาสาสมัครผู้รักผืนป่า

ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ เราจึงไม่พลาดที่จะชวนหัวหน้าอุทยานฯ วัย 32 นั่งลงสนทนา

ด้านล่างนี้คือเรื่องราวของ ‘ใหญ่’ และ ‘ป่า’ ที่อยู่คู่ชีวิตเขามาตลอด

เด็กหนุ่มจากเมืองน่านที่เลือกเรียนป่าไม้

ใหญ่แนะนำตัวกับเราว่าตัวเองเป็นคนน่าน จังหวัดที่เต็มไปด้วยภูเขาและผืนป่า อีกทั้งพ่อแม่เป็นเกษตรกร ทำให้เขาเติบโตมากับธรรมชาติตั้งแต่เด็ก

จนเมื่อถึงวัยสอบเข้ามหาวิทยาลัย ขณะที่เพื่อนส่วนใหญ่เล็งคณะวิศวกรรมศาสตร์ ใหญ่รู้สึกว่าไม่ได้อยากเลือกตามเพื่อนไปเฉย ๆ เขากลับเลือกคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากแผ่นพับที่วางในห้องแนะแนว และเป็นคนเดียวในโรงเรียนที่เลือกสาขานี้ 

“ตอนแรกที่ได้ยินคำว่าวนศาสตร์ เราคิดว่าเกี่ยวกับวารสาร จนเริ่มศึกษาเลยรู้ว่าเกี่ยวข้องกับการป่าไม้” ใหญ่ย้อนเล่า

ในที่สุด แม้จะไม่อยากเข้าเมืองใหญ่ ใหญ่ก็ตัดสินใจก้าวเท้าเข้าคณะวนศาสตร์ใน พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่พอดี

นิสิตชั้นปีที่ 1 จากจังหวัดน่านเลยถูกรับน้องอย่างไม่คาดคิด เพราะสังคมสรุปเหตุผลว่า ‘น้ำท่วมเพราะจังหวัดน่านตัดไม้ทำลายป่า’

“เราตั้งคำถามว่า ทำไมบ้านเราถูกโจมตีเยอะขนาดนี้ ทำไมต้องว่าเกษตรกรและคนบนพื้นที่สูง แล้วก็เกิดความคิดว่า เมื่อเรียนจบแล้วกลับไปพัฒนาบ้านเกิด”

และนี่คือจุดเริ่มต้นเส้นทางสายอุทยานฯ ของใหญ่

หัวหน้าอุทยานฯ รุ่นใหม่ที่มองว่าอุทยานแห่งชาติจะดีได้ ถ้าทุกคนเอาด้วย

ใหญ่เริ่มต้นทำงานครั้งแรกที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน เรียกว่าได้กลับมาพัฒนาบ้านเกิดสมใจ ก่อนที่ตำแหน่งการงานจะขยับขยายขึ้นเรื่อย ๆ 

จากการเป็นผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคา และหัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำน้ำงาว จังหวัดน่าน สู่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ในวัยแค่ 32 ปี ซึ่งถือว่าเป็นความก้าวหน้าอันรวดเร็วสำหรับวงการนี้ แล้วเมื่อเรายื่นไมค์ถามหัวหน้าอุทยานฯ รุ่นใหม่ ถึงวิสัยทัศน์ต่อสิ่งที่อยู่ในความดูแล ใหญ่ตอบว่า 

เขามองว่า อุทยานแห่งชาติจะบรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งได้ ถ้า 3 ส่วนสำคัญร่วมด้วยช่วยกัน

นั่นคือเจ้าหน้าที่ ประชาชน และชาวบ้านในพื้นที่โดยรอบ

“ผมคิดว่าเจ้าหน้าที่ต้องมีความมุ่งมั่น ทุ่มเท พร้อมที่จะทำงานตรงนี้อย่างตรงไปตรงมา ถ้าทำแค่ให้มันผ่านไปวัน ๆ การดูแลป่าอาจไม่ยั่งยืนหรือไม่สำเร็จ

“ประชาชนทั่วไปหรืออาจเรียกว่านักท่องเที่ยวก็ควรรู้วิธีการท่องเที่ยวในธรรมชาติอย่างถูกต้อง เคารพในกติกาการใช้พื้นที่สาธารณะ และชาวบ้าน คือหัวใจสำคัญที่จะช่วยดูแลป่าให้คงอยู่อย่างอย่างยั่งยืน” โดยทั้ง 3 กลุ่มเกื้อกูลซึ่งกันและกัน แน่นอนว่าการกระทำส่งเสียงดังกว่าคำพูดและสิ่งที่ใหญ่ลงมือทำซึ่งสะท้อนความเชื่อของเขาก็คือ ‘โรงเรียนนักเดินป่า’ หลักสูตรสอนให้นักท่องเที่ยวเดินป่าอย่างถูกวิธี

คนชอบเที่ยวป่า ผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนนักเดินป่า

โรงเรียนนักเดินป่า คือโปรเจกต์ที่ใหญ่ร่วมก่อตั้งกับ งบ-ธัชรวี หาริกุล บุคคลที่นักเดินป่าในประเทศไทยคุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี เจ้าของ Thailand Outdoor แบรนด์อุปกรณ์สำหรับชีวิตกลางแจ้งชื่อดังของไทย และคณะ 

“มีคนแนะนำเรา 2 คนให้รู้จักกัน ซึ่งมีจังหวัดน่านเป็น Topic ในการพูดคุย สิ่งที่เราเหมือนกัน คือเรารักจังหวัดน่าน พี่งบเองก็เป็นลูกหลานคนน่านที่หลงรักธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แม่น้ำน่าน ประกอบกับเราชอบเดินป่าเหมือนกัน จึงนัดกันเดินป่า และเป้าหมายแรกก็คือน่าน

“เริ่มต้นด้วยเส้นทางเดินป่าดอยภูแวและเส้นทางภูพันเจ็ด ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูคา เราได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ คุยถึงปัญหาต่าง ๆ จากการเที่ยวธรรมชาติแบบไม่ถูกต้อง เช่น นักท่องเที่ยวขาดความรู้พื้นฐานในการเดินป่า ปัญหาขยะ จำนวนคนที่มากเกินพื้นที่รับได้ เส้นทางเดินป่าในไทยที่มีน้อยมาก เลยอยากทำโรงเรียนสอนคนที่สนใจเดินป่า ตั้งแต่พื้นฐานการเดินป่า ซึ่งเป็นสิ่งที่เมืองไทยไม่มี จากนั้นผมก็ไปคุยกับหัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยภูคาในตอนนั้น ท่านเอาก็ด้วย โรงเรียนนี้เลยเกิดขึ้น”

โรงเรียนนักเดินป่าจะให้ผู้เรียนเริ่มจากอบรมแบบออนไลน์ ก่อนมาลงสนามหัดเดินป่า กางเต็นท์ตั้งแคมป์กันจริง ๆ ในอุทยานแห่งชาติ โดยเนื้อหาที่สอนมีตั้งแต่การรู้จักพื้นที่ หลักการปฏิบัติในการเข้าป่า จนถึงการเตรียมอุปกรณ์ให้ตอบโจทย์การเดินป่า 

ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง หลักสูตรได้รับเสียงตอบรับที่ดี ผู้เรียนไม่เพียงได้รับความรู้ แต่หลายคนประทับใจจนกลับมาเป็นอาสาสมัครในรุ่นถัดไป นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่อุทยานซึ่งรับบทคุณครูยังได้รับแรงบันดาลใจเต็มเปี่ยม

“เจ้าหน้าที่ผมบางคนสมัยก่อนทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ เงินเดือน 20,000 กว่าบาท เขายอมกลับมาทำงานเงินเดือน 8,000 – 9,000 บาทที่บ้านเกิด เพราะมีอุดมการณ์ว่าอยากช่วยดูแลป่า แต่ระหว่างทำงานมาเป็นสิบ ๆ ปี อุดมการณ์อาจถูกกลืนไปด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น ทำงานแบบเดิมเป็นกิจวัตร แต่โรงเรียนนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ผมมีพลัง เราเห็นแววตาของความภาคภูมิใจในอาชีพเขา เขาได้กำลังใจในการทำงานต่อ”

มากกว่านั้น ใหญ่ยังวางแผนจะชวนชาวบ้านในชุมชนรอบอุทยานมาร่วมเป็นคนนำเดินป่าให้เหล่านักท่องเที่ยว เพื่อช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้และอยู่ร่วมกับป่ายั่งยืน ป่าให้รายได้กับคน คนจึงรักษาป่า 

โรงเรียนนักเดินป่าจึงเป็นหนึ่งในตัวอย่างงานที่ใหญ่ทำ เพื่อให้ผู้คน 3 กลุ่มที่สำคัญต่ออุทยาน ร่วมด้วยช่วยกันพาอุทยานแห่งชาติของไทยก้าวเดินต่อไปอย่างสวยงาม

คนหนุ่มที่มุ่งมั่นเปลี่ยนโลกโดยไม่ให้ข้อจำกัดขวางทาง

ว่ากันว่าทุกที่ทำงานล้วนมีปัญหา อุทยานแห่งชาติเองก็มีปัญหา มีข้อจำกัดในแบบของตัวเอง 

แต่ในขณะที่คนทำงานหลายคนอาจท้อใจเมื่อรู้สึกว่าชนเพดาน หัวหน้าอุทยานฯ วัย 32 กลับมองต่างออกไป

“ถ้าเราคิดว่าตัวเองควรมีเงิน 10 บาท แต่สุดท้ายมีเงินแค่ 5 บาท แล้วเราจะทำงานไม่ได้ มันไม่ใช่ ผมมองว่าเรามี 5 บาท ก็ต้องคิดว่าจะทำยังไงที่จะใช้เงินจำนวนนี้ให้มีประสิทธิภาพที่สุด” 

เพราะอย่างนี้ โรงเรียนนักเดินป่าในปีนี้จึงมีแผนขยับขยายไปสู่อุทยานแห่งชาติอีกหลายแห่ง รวมถึงเพิ่มหลักสูตรที่ Advance ขึ้นจากหลักสูตรเดิมที่เป็นขั้นพื้นฐาน นอกจากนั้น ใหญ่ยังมีแผนพัฒนาอุทยานแห่งชาติน้ำพองของเขา เช่น ชักชวนชาวบ้านในชุมชนที่อยู่ใจกลางอุทยานที่แทบจะเรียกว่าเป็นปรปักษ์กับอุทยานมาร่วมพัฒนาเส้นทางเดินป่าและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว สร้างรายได้จากทรัพยากรในป่าหลังบ้านและร่วมกันดูแลรักษาให้คงอยู่ 

ใหญ่ยังเล่าให้เราฟังเพิ่มว่า ตอนนี้ที่อุทยานอื่นก็มีคนรุ่นใหม่ไฟแรงเข้ามาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง เป็นตัวช่วยเพิ่มไฟการทำงานให้เขาได้อย่างดี

“ตอนนี้มีคนทำงานรุ่นใหม่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูง ๆ ในอุทยานค่อนข้างเยอะ ผมรู้สึกว่าพี่น้องเรากำลังแข่งกันทำงาน มันเลยสนุก ทำให้เราพยายามพัฒนาตัวเองตลอด”

ว่ากันว่า เราไม่อาจยับยั้งฤดูใบไม้ผลิไม่ให้มาถึงได้ 

เมื่อมองแววตาหัวหน้าอุทยานฯ วัย 32 เราก็รู้ว่าถึงฤดูใบไม้ผลิแล้วจริง ๆ 

ติดตามกิจกรรมจากโรงเรียนนักเดินป่าได้ที่ Facebook : โรงเรียนนักเดินป่า Outdoor Education

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

กานต์ ตำสำสู

กานต์ ตำสำสู

หนุ่มใต้เมืองสตูลที่มาเรียนและอาศัยอยู่อีสาน 10 กว่าปี เปิดแล็บล้างฟิล์ม ห้องมืด และช็อปงานไม้ อยู่แถบชานเมืองขอนแก่น คลั่งไคล้ฟุตบอลไทยและร็อกแอนด์โรล