การคืนชีวิตให้อาคารและธุรกิจของบรรพชนนั้นไม่ง่าย

“กว่าจะถึงทุกวันนี้ ร้านอากงต้องผ่านอะไรมาเยอะ” คุณใบตอง-ชิดเดือน พฤกษ์พงศาวลี เอ่ย ร้านเก่าแก่กว่า 100 ปีแห่งนี้ ผ่านมาแล้วทั้งช่วงเวลาที่สดใสและหมอกมัว

“เรา 3 คนพี่น้องตัดสินใจกลับมาช่วยพ่อแม่ทำร้านซีเปียวพาณิชย์ ตอนนั้นเรารู้สึกเลยว่าร้านซบเซาลงมาก มีแต่ลูกค้าหน้าเดิม ๆ ส่วนลูกค้าหน้าใหม่ก็ไม่เข้าร้าน บ้านก็โทรมลงเรื่อย ๆ รู้สึกใจหายนะ เราเคยเห็นร้านในวันที่รุ่งเรืองมาก่อน” เธอเล่าช้า ๆ

“วันนี้เราดีใจมากที่ธุรกิจของครอบครัวไปได้ดี บ้านไม้หลังเดิมยังคงอยู่ และเรามีลูกค้าหน้าใหม่เพิ่มขึ้นมากมาย มีหลาน ๆ จูงมืออาม่าเข้ามาเลือกขนมชิ้นโปรดจากร้านเรา คน 2 รุ่นมาซื้อขนมในร้านที่อากงกับย่าริเริ่มไว้” เธอกล่าวด้วยรอยยิ้ม

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย
ร้านซีเปียวพาณิชย์เป็นอาคารไม้สูง 2 ชั้นอายุกว่า 100 ปีที่ทายาทอนุรักษ์ไว้คู่ถนนธนาลัย

หากใครมีโอกาสเดินทางไปเยือนเชียงราย เชื่อว่าจะสังเกตเห็นอาคารไม้โบราณหลังงามปรากฏเด่นท่ามกลางอาคารพาณิชย์อื่น ๆ บนถนนธนาลัย มีลูกค้ามากหน้าหลายตากำลังเอร็ดอร่อยกับอาหารเช้าและเบเกอรีเมนูโปรดอยู่แน่นร้าน

วันนี้คุณใบตองไม่ได้ฉายเดี่ยว เธอชวนสมาชิกครอบครัวพฤกษ์พงศาวลี อันประกอบด้วย คุณพ่อ คุณปรีชา รวมทั้งพี่สาวและน้องชาย นั่นคือ คุณใบยา-จันทร์เจ้า และ คุณใบไผ่-ตะวัน พฤกษ์พงศาวลี มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวให้เราฟัง

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย
ครอบครัวพฤกษ์พงศาวลี จากซ้ายไปขวา คุณใบไผ่ คุณใบยา คุณพ่อปรีชา และคุณใบตอง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นครินทร์ น้ำใจดี ประธานแขนงวิชาการการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้กรุณาสละเวลามาร่วมสนทนาด้วย เพื่อพาเราไปเรียนรู้เกี่ยวกับร้านซีเปียวพาณิชย์ในบริบทอื่น ๆ ทางสังคม อันสอดคล้องกับวิวัฒนาการของตัวเมืองเชียงรายตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย

ถ้าพร้อมแล้ว ขอเชิญล้อมวงเข้ามาฟังกันเลย

บรรพชนจากเกาะไหหลำ

ชายสกุลหว่าง นามว่า อาน ได้เดินทางจากหมู่บ้านตินจิวพอซุ่ย ตำบลองเถียนเหลียน อำเภอบุ่นเซียว ด้วยเรือสำเภาจากเมืองท่าไหเค้า เกาะไหหลำ ประเทศจีน เพื่อเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารบนแผ่นดินสยามเมื่อกว่า 100 ปีก่อน คาดการณ์ว่าอยู่ในช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

หว่าง อาน ผู้นี้คืออากงหรือคุณปู่ของคุณพ่อปรีชา และเป็นคุณทวดของเหลนทั้ง 3 คน – คุณใบยา คุณใบตอง และคุณใบไผ่

“อากงอานมาแต่งงานกับสาวลำปางเชื้อสายปะโอที่อาศัยอยู่ที่อำเภองาว ชื่อว่า คำ คำแก้ว ซึ่งก็คือคุณยายของผม ต่อมาทั้ง 2 ท่านได้ตัดสินใจย้ายจากลำปางขึ้นมาตั้งรกรากอยู่ที่เชียงราย และบุกเบิกธุรกิจของครอบครัวเราบนผืนแผ่นดินไทย” คุณปรีชาเล่า

อาจารย์นครินทร์ได้กล่าวเสริมว่า “ในสมัยรัชกาลที่ 3 และ 4 ได้มีการทำสนธิสัญญาสำคัญอย่างสนธิสัญญาเบอร์นีและสนธิสัญญาเบาว์ริง ส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศขยายตัวมากขึ้น ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายของผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มชาวจีนที่เข้ามาค้าขายและเป็นแรงงานในสยาม ไม่เฉพาะชาวจีนเท่านั้น ในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังมีกลุ่มหมอสอนศาสนาชาวอเมริกันที่เข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนา และนำเทคโนโลยีต่าง ๆ จากตะวันตกมาถ่ายทอดให้กับคนเชียงรายด้วย”

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย
สนธิสัญญาเบาว์ริง

“ชาวจีนที่อพยพมาอยู่เชียงราย อาจแบ่งออกได้ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มแรก คือจีนยูนนานที่เดินเท้าร่วมกับกองคาราวานขนสินค้า ขึ้นล่องค้าขายอยู่ในเขตจีนตอนใต้ ไทใหญ่ เชียงตุง เชียงรุ้ง พม่า ลาว ฯลฯ จนมาถึงเชียงราย กลุ่มที่ 2 คือจีนโพ้นทะเล เป็นกลุ่มที่อาศัยอยู่ลึกเข้าไปในจีนแผ่นดินใหญ่ เช่น ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว กวางตุ้ง ไหหลำ ฯลฯ แล้วล่องสำเภาสู่สยาม ขึ้นบกที่หัวเมืองทางด้านใต้อย่างกรุงเทพฯ ก่อนจะเดินทางขึ้นเหนือด้วยเรือกลไฟที่วิ่งทวนแม่น้ำเจ้าพระยามายังปากน้ำโพ จังหวัดนครสวรรค์ จากนั้นบางส่วนก็ล่องทวนแม่น้ำวังขึ้นมาจนถึงลำปาง ก่อนจะขึ้นมาตั้งรกรากถึงเชียงราย”

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย
เมืองลำปางในอดีต
ภาพ : Chiangmainews

“เมื่อล่วงเข้าสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 การอพยพของชาวจีนโพ้นทะเลก็ยิ่งทวีจำนวนมากขึ้น เพราะการรถไฟสยามในครั้งนั้นเพิ่งเปิดให้บริการรถไฟสายกรุงเทพฯ – ลำปาง ทำให้การอพยพสู่ภาคเหนือสะดวกขึ้นกว่าแต่ก่อน อย่างไรก็ตาม เราสังเกตได้ว่าลำปางนั้นเป็นเสมือนชุมทางสำคัญสำหรับชาวจีนอพยพที่จะขึ้นมาพักอาศัยอยู่ระยะหนึ่ง หลังจากนั้นจึงตัดสินใจว่าจะตั้งหลักแหล่งอยู่ลำปางหรืออพยพขึ้นเหนือต่อไปเพื่อแสวงหาโอกาสชีวิตที่ดีกว่า กรณีอากงอานก็เป็นเช่นนั้น”

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย
สถานีรถไฟนครลำปางในอดีต
ภาพ : Museumthailand.com

“เมื่อย้ายมาอยู่เชียงรายแล้ว อากงอานได้ประกอบสัมมาอาชีพหลายอย่างเพื่อเลี้ยงครอบครัว มีทั้งเลี้ยงหมู ปลูกใบยาสูบ ทำกิจการโรงเลื่อย รวมทั้งได้รับสัมปทานเลี้ยงและเก็บครั่ง…ครั่งสีแดง ๆ ที่ใช้สำหรับประทับตราหรือทำแผ่นเสียงในสมัยก่อนน่ะครับ รวมทั้งกิจการเดินเรือขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างเชียงรายกับหลวงพระบาง” คุณปรีชาเล่าถึงบรรพบุรุษด้วยนัยน์ตาสดใส

“อย่างบ้านหลังนี้ ที่ที่คุณกำลังนั่งอยู่ตอนนี้ก็เป็นบ้านเดิมของอากงอาน ผมคิดว่าเป็นบ้านที่ทำด้วยมือนะครับ เพราะสร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง และน่าจะเป็นไม้ที่เลื่อยด้วยโรงเลื่อยของอากง ซึ่งใช้มือเลื่อยทีละแผ่น ทุกส่วนของอาคารยังแข็งแรงอยู่ แม้อายุนับร้อยปีแล้ว” คุณปรีชาเล่าถึงโรงเลื่อยมือ ซึ่งเป็นธุรกิจอีกแขนงหนึ่งของอากงอาน พร้อมชวนผมให้ลองสัมผัสความแข็งแรงของเนื้อไม้

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย

แต่เดิมนั้นบ้านไม้ตะเคียนหลังนี้มิได้ตั้งอยู่บนถนนธนาลัย แต่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำกก ที่บริเวณบ้านป่างิ้ว ตำบลรอบเวียง บริเวณที่เราเรียกกันว่าหาดเชียงรายในปัจจุบัน ทั้งนี้เป็นเพราะธุรกิจต่าง ๆ ของครอบครัวอยู่ที่นั่น

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย
ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย
ภาพถ่ายท่าเรือเจ๊กอานเมื่อ พ.ศ. 2478

“ทั้ง 2 ภาพที่เห็นนี้เป็นภาพโบราณ ซึ่งได้บันทึกไว้ว่าเป็นภาพถ่ายท่าเรือเจ๊กอานคุณปรีชาชวนให้ผมชมภาพสำคัญที่ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2478 โดย Dr.Robert Larimore Pendleton จากห้องสมุด American Geographical Society คุณปรีชาเพิ่งได้รับสำเนาภาพมาจาก คุณอภิชิต ศิริชัย สำนักพิมพ์ล้อล้านนา เมื่อปีที่แล้ว

“คำว่า เจ๊กอาน ในที่นี้น่าจะหมายถึงอากงอาน เพราะคำว่า อาน เป็นชื่อของท่าน และคนไทยสมัยก่อนมักจะเรียกชาวจีนว่า เจ๊ก การที่มีท่าเรืออันเป็นที่รู้จักและกล่าวถึงในนามท่านถือเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันคำบอกเล่าได้ และแปลว่าธุรกิจของท่านต้องเฟื่องฟูในระดับหนึ่งทีเดียว” อาจารย์นครินทร์ร่วมกันสรุปข้อสันนิษฐานไปพร้อม ๆ กันกับผม

“กิจการของครอบครัวดำเนินไปเรื่อย ๆ จนกระทั่ง พ.ศ. 2488 หลังสิ้นสุดสงครามมหาเอเชียบูรพา ขณะนั้นได้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้น นั่นคือการเวนคืนที่ดินริมน้ำทั้งผืนของครอบครัว ส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องยุติลงไปโดยปริยาย ในช่วงนั้นอากงอานถึงแก่กรรมพอดี แล้วเราจะทำอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว” คุณปรีชาเล่า

“ในที่สุด ทายาทในรุ่นต่อมา คือ นางกิมเลียง แซ่หว่าง บุตรสาวของอากงอาน ซึ่งได้แต่งงานกับนายซีเปียว แช่หลิ่ม ซึ่งท่านคือแม่กับพ่อของผมเอง ท่านทั้งสองได้ร่วมกันตัดสินใจย้ายครอบครัวเข้ามาอาศัยอยู่ที่ถนนธนาลัย ซึ่งเป็นย่านการค้าสำคัญกลางเมืองเชียงราย การโยกย้ายครั้งนั้นท่านไม่ได้มาแต่ตัว แต่ยังรื้อบ้านริมน้ำหลังเดิมมาปลูกใหม่ด้วย”

การเริ่มต้นครั้งใหม่เพื่อรักษาบ้านและสืบทอดธุรกิจของบรรพบุรุษจึงเกิดขึ้นที่ถนนธนาลัย

บ้านเก่า ที่ใหม่

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย

“ถนนธนาลัยเป็นถนนสายสำคัญของเชียงรายมาตั้งแต่อดีต ผังเมืองเชียงรายในสมัยโบราณมีถนนสายนี้เป็นแนวแกนหลักที่ทอดยาวตลอดตัวเมือง มีแขนงยิบย่อยแตกแยกออกมาเสมือนซอยเล็กซอยน้อย ซึ่งเป็นที่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในเชียงราย ดังนั้นเราจะพบตลาดอยู่ตรงข้ามมัสยิด มีทั้งโบสถ์ วัด ศาลเจ้า ฯลฯ บนถนนสายนี้” อาจารย์นครินทร์เล่า

“ถนนธนาลัยในสมัยก่อนเป็นถนนที่ทันสมัยมาก มีทั้งโรงภาพยนตร์ ร้านขายของนานาชนิด สำนักงานยาสูบ และตลาด เลยไปต้นถนนเป็นคุ้มเจ้าหลวง” คุณปรีชาทบทวนความจำ

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย
ร้านซีเปียวพาณิชย์คืออาคารไม้สูง 2 ชั้นหลังแรกบนถนนธนาลัย

“ในสมัยก่อนเวลามีงานสำคัญ ๆ เช่น งานลอยกระทง จะมีริ้วขบวนเคลื่อนไปตามถนนธนาลัยอยู่เสมอ หรืออย่างขบวนแห่ศพก็เช่นกัน เพราะประตูผีตั้งอยู่ปลายถนน (ปัจจุบันที่ตั้งของประตูผีคือบริเวณใกล้กับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จังหวัดเชียงราย) จากภาพถ่ายเราสังเกตเห็นร้านซีเปียวได้ชัดเจนด้วยความที่เป็นอาคารสูง 2 ชั้นอาคารแรก ๆ ของจังหวัดในขณะนั้น” 

คุณปรีชาเล่าพร้อมชวนให้ชมภาพถ่ายที่ได้รับความอนุเคราะห์มาจาก Facebook ฟองเสรี โดย ผศ.ดร.เฉลิมชัย คำแสน ผู้ถ่ายภาพนี้คือ คุณจรูญ คำแสน เจ้าของห้องภาพฟองเสรี และถ้าเราลองสังเกตภาพขบวนฟ้อนดี ๆ เราจะเห็นเด็กชาวต่างชาติซึ่งเป็นลูก ๆ มิชชันนารีมาร่วมยืนดูขบวนไปกับชาวเมืองด้วย ผมเริ่มรู้สึกแล้วว่าเชียงรายช่างเป็นเมืองที่อินเตอร์เสียจริง

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย

“บ้านลักษณะนี้เป็นสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น (Vernacular Architecture) ประเภทเรือนแถวเพื่อการพาณิชย์พร้อมพักอาศัย ดังนั้นชั้นล่างจะกว้าง โล่ง เพื่อจัดสรรพื้นที่ไว้สำหรับค้าขาย มีที่ว่างพอสำหรับอุปกรณ์แสดงสินค้า เช่น ตู้ไม้กรุกระจก ส่วนด้านบนเป็นที่พักอาศัย” อาจารย์นครินทร์ค่อย ๆ ไล่เลียงลักษณะทางสถาปัตยกรรมไปพร้อมกับผม

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย
ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย

“ด้านหน้าร้านเป็นประตูบานเฟี้ยม ในกรณีร้านซีเปียวคือเป็นบานเฟี้ยมแบบพับ มีอาคารโบราณหลายแห่งที่เป็นบานเฟี้ยมแบบเสียบ ซึ่งนั่นคือการนำไม้กระดานมาเสียบลงร่องทีละแผ่น ๆ เวลาปิด หรือถอนออกจากร่องเวลาเปิด”

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย
บานเฟี้ยมแบบพับ

“องค์ประกอบสำคัญคือป้ายชื่อ เพราะเป็นหน้าเป็นตาของร้าน จึงเป็นสิ่งที่ได้รับความสำคัญเป็นพิเศษ ผู้ที่เขียนป้ายชื่อร้านซีเปียวพาณิชย์ คือ ป.สุวรรณสิงห์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงมากในขณะนั้น”

ป.สุวรรณสิงห์ ย่อมาจากนามเต็มของท่านว่า ปวน สุวรรณสิงห์ เป็นสล่าหรือช่างในอุปถัมภ์ของ เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 13 ต่อมาเมื่อเจ้าบุญวาทย์ฯ ประสงค์จะสร้างวัดบุญวาทย์วิหารให้มีลักษณะงดงามตามแบบรัตนโกสินทร์ ท่านจึงเชิญ พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ช่างหลวงคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 6 ให้มาช่วยสอนสล่าล้านนาเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังแนวประเพณีตามแบบรัตนโกสินทร์ สล่าปวนจึงได้ฝากตัวเป็นศิษย์กับพระยาอนุศาสน์จิตรกรตั้งแต่นั้น

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย
ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย
สล่าปวน สุวรรณสิงห์ ผู้ได้รับยกย่องให้เป็นศิลปินคนสำคัญของจังหวัดลำปาง
ภาพ : Facebook กลุ่มอนุรักษ์ป้าย ป.สุวรรณสิงห์

สล่าปวนได้รับยกย่องว่าเป็นศิลปินคนสำคัญของลำปาง ปัจจุบันมี Facebook กลุ่มอนุรักษ์ป้าย ป.สุวรรณสิงห์ ซึ่งมีสมาชิกผู้ชื่นชอบศิลปะติดตามอยู่หลายต่อหลายคน

“หากมาที่เชียงราย อยากให้ลองไปเดินดูป้ายฝีมือของท่านได้จากร้านค้าเก่าแก่บนถนนธนาลัย เช่น ร้านสามดาวและร้านฮิมกี่ เป็นต้น” อาจารย์นครินทร์ช่วยชี้เป้า และผมก็ได้ไปเก็บภาพมาฝากผู้อ่านเป็นที่เรียบร้อย

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย
ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย

ปัจจุบันร้านซีเปียวพาณิชย์ตัดสินใจรักษาป้ายดั้งเดิมไว้ภายในตัวร้าน ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัย ส่วนป้ายที่ปรากฏอยู่ด้านหน้านั้นเป็นป้ายที่ทำเลียนแบบขึ้นโดยลูกค้าคนสำคัญ นั่นคือ ดร.ดอยธิเบศร์ ดัชนี บุตรชาย อ.ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ นั่นเอง

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย
ป้ายดั้งเดิมอยู่ภายในร้าน ป้ายที่ทำขึ้นใหม่อยู่ด้านนอกร้าน

“ส่วนอาคารนั้นจะหันหน้าสู่ถนน เพราะเป็นทางสัญจรหลัก ด้านหลังจะมียุ้งฉางสำหรับเก็บเมล็ดพรรณพืช มีลานเปิดโล่งเพื่อรับน้ำฝนและกักเก็บลงสู่บ่อเพื่อสำรองไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน พื้นที่โล่งหลังบ้านยังเป็นพื้นที่รับแดดรับลม ช่วยระบายความอับชื้น” อาจารย์นครินทร์เล่าต่อ และทำให้ผมนึกถึง ‘ฉิ่มแจ้’ ที่มักพบในบ้านชาวจีนทุกภูมิภาคของไทย

ฉิ่มแจ้คือลานเปิดโล่งที่ชาวจีนถือว่าเป็นดั่งท้องมังกร ส่วนแสงแดด สายลม และสายฝนนั้น เปรียบเหมือนทรัพย์สินเงินทองที่หลั่งไหลเข้าบ้าน ช่างจะสร้างบ่อเพื่อเก็บน้ำไว้บริโภค รวมทั้งกักทรัพย์สินจากท้องฟ้าตามความเชื่อด้วย ส่วนแสงสว่างนั้น ควรปล่อยให้สาดส่องโดยทั่วถึงเพื่อนำความสุขสดใสมาสู่สมาชิกครอบครัว

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย

จากด้านล่าง เราเดินขึ้นสู่ชั้นบน ลักษณะสำคัญของอาคารนี้คือระเบียงกว้างที่มีราวระเบียงและเชิงชายฉลุลายงดงาม ภาคเหนือเป็นดินแดนป่าไม้ ช่างจีนทางเหนือจึงเป็นช่างไม้ที่มีฝีมือ ฉลุลวดลายได้ละเอียดกว่าภาคอื่น ๆ จุดที่น่าสังเกตคือลายฉลุด้านหน้าอาคารมีรายละเอียดประณีตและมีชั้นเชิงกว่าด้านใน ทั้งนี้เพราะเป็นการประดับตกแต่งอาคารส่วนที่เป็นหน้าเป็นตา สำหรับส่วนอื่น ๆ ที่อยู่ภายในบ้านนั้น ช่างนิยมทำเป็นลายธรรมดา ๆ เช่น ลายกากบาท เพื่อระบายอากาศและเพิ่มความโปร่งและสว่างให้พื้นที่

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย
ลายฉลุด้านหน้าอาคารจะละเอียดประณีตกว่า
ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย
ลายฉลุด้านในอาคารจะเป็นลายกากบาทธรรมดา ๆ

“ระเบียงด้านบนกว้างมาก ๆ เมื่อก่อนเราเคยเชิญชวนให้ชาวเมืองขึ้นมาดูขบวนฟ้อนแห่ประทีปในวันลอยกระทง ระเบียงเราเองก็ประดับโคมไฟสีต่าง ๆ สวยงาม บรรยากาศคึกคักสนุกสนานมาก นึกถึงแล้วมีความสุขจริง ๆ” คุณปรีชารำลึกความหลัง

ในบ้านไม้หลังนี้ยังมีรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เราได้สังเกตกันอีกบ้างประปราย นั่นคืออุปกรณ์ประเภทล็อกและขอสับที่ปรากฏอยู่บนประตูหลายบาน ซึ่งเป็นสินค้าสั่งตรงมาจากเยอรมนี แม้แต่ตะปูก็มาจากประเทศเดียวกัน

“ช่วงหลังสงคราม สินค้าประเภทงานก่อสร้างหาซื้อยากและราคาแพง ไทยไม่ได้ผลิตเอง ร้านเราเลยต้องนำเข้าจากประเทศอุตสาหกรรม อย่างเช่น เยอรมนี” คุณปรีชาช่วยอธิบายเสริมให้พวกเราเข้าใจ

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย
ขอสับและกลอนจากเยอรมนี

ปัจจุบันบ้านไม้อันทรงคุณค่าของครอบครัวได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากลูกหลาน เรี่ยวแรงสำคัญคือ คุณมานะ พฤกษ์พงศาวลี ผู้เป็นน้องชายของคุณปรีชา โดยมีหลาน ๆ เป็นทีมสนับสนุน

“สภาพอาคารทุกวันนี้เกือบจะเหมือนเดิมทุกประการ สิ่งที่หายไปคือพื้นไม้ที่ปูพื้นชั้นล่าง ซึ่งชำรุดมากและปัจจุบันได้กลายเป็นพื้นซีเมนต์ไปแล้ว นอกนั้นแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิมเลย”

ร้านซีเปียวพาณิชย์

“ชื่อร้านซีเปียวพาณิชย์ตั้งตามชื่อคุณปู่ครับ” คุณใบไผ่เล่า 

“ในตอนแรกนั้นร้านเราเป็นร้านชำ ขายของนานาชนิด โดยมีป้า ๆ อา ๆ สมาชิกครอบครัวที่เป็นผู้หญิงทำหน้าที่ดูแลหน้าร้านและขายของ”

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย
คุณปู่ซีเปียว แซ่หลิ่ม สมรสกับคุณย่ากิมเลียง บุตรสาวคุณทวดอาน ชื่อร้านตั้งตามชื่อท่าน

“ส่วนผู้ชายจะทำงานที่โรงบ่มใบยาสูบตามรอยคุณทวดอานต่อไป อย่างคุณพ่อปรีชาก็เคยทำงานที่โรงบ่มมาก่อน คุณทวดอานเชี่ยวชาญเรื่องการปลูกใบยาสูบมาก ท่านเคยทำงานอยู่ในไร่ยาสูบของ British American Tobacco จนกระทั่งปิดตัวลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2”

ธุรกิจร้านซีเปียวพาณิชย์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วตามการเติบโตของเมืองเชียงราย ลูกค้ากลุ่มสำคัญคือกลุ่มอาสาสมัครมิชชันนารีชาวอเมริกัน (Overseas Missionary Fellowship – OMF) และชาวต่างชาติอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในเชียงรายขณะนั้น

“บุคคลสำคัญอีกคนคือ คุณปู่ชุม น้องชายของคุณย่ากิมเลียง ซึ่งคุณทวดอานส่งกลับไปอยู่เกาะไหหลำตั้งแต่อายุ 14 ปี ท่านเป็นผู้ที่รู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี เมื่อกลับมา ท่านเป็นผู้ริเริ่มขายเครื่องกระป๋องและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ให้กับกลุ่มลูกค้าต่างชาติ และทำให้ร้านซีเปียวเป็นที่นิยมของลูกค้ากลุ่มนี้” คุณใบไผ่เล่าต่อ

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย
คุณปู่ชุม แซ่หว่าง คือเด็กชายในภาพ

ผมขอให้คุณใบยา คุณใบตอง และคุณใบไผ่สรุปลักษณะของร้านซีเปียวในยุคแรกเริ่มว่าเป็นอย่างไร และทุกคนก็พร้อมใจกันสรุปสั้น ๆ ว่าร้านซีเปียวนั้นคือ “ร้านชำที่เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว”

“คือเราขายทุกอย่าง (หัวเราะ) ตะปูและกลอนประตูจากเยอรมนี ตะปูนี่ชั่งขายกันเป็นกิโล ๆ น้ำมันก๊าดก็ตวงขาย น้ำปลาขายเป็นไห ๆ อุปกรณ์ไฟฟ้า หลอดไฟก็มี แต่ที่โดดเด่นคือสินค้าสำหรับขายพวกฝรั่ง เราขายเบคอน ไส้กรอก เป็นเจ้าแรกในเชียงราย หรือในระยะหลัง ๆ เราก็ขายยาคูลท์เป็นที่แรกด้วยนะคะ (หัวเราะ) ชีส เนย เนยถั่ว แป้งสาลีหรือแป้งสำหรับทำขนมปังหรือขนมฝรั่งชนิดต่าง ๆ เครื่องกระป๋อง แยม ซอสมะเขือเทศ ซอสพริกทาบาสโก คุกกี้และเค้กซึ่งเมื่อก่อนก็บรรจุในกระป๋อง ฯลฯ”

“สมัยก่อนที่ร้านมีตู้ไม้กรุกระจกตู้ใหญ่ ๆ วางเรียงกัน เราใช้ตู้เหล่านี้กั้นพื้นที่ออกเป็นสัดส่วน บนตู้มีคอกเล็ก ๆ สำหรับให้คนขึ้นไปนั่ง เมื่อมองลงมาจะเห็นได้ทั่วทั้งร้าน คือไม่ต้องติดกล้องวงจรปิดเลยค่ะ (หัวเราะ) คนบนนั้นทำหน้าที่คิดเงินไปด้วย” คุณใบยาเป็นตัวแทนบรรยายให้ฟังถึงสภาพร้านซีเปียวพาณิชย์ในยุคก่อน

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย
ภาพร้านซีเปียวรูปแบบเดิม พื้นยังเป็นพื้นไม้ ภายในร้านเต็มไปด้วยตู้ขายสินค้านานาชนิดที่ใช้กั้นพื้นที่

“จากร้านชำที่เป็นทุกอย่างให้เธอแล้ว ก้าวสู่ยุคต่อมาที่เป็นร้านเบเกอรี ความที่เรามีลูกค้าเป็นครอบครัวมิชชันนารีเยอะ เราต้องเอาของไปส่งที่บ้านลูกค้าบ้าง บางทีเขาก็เชิญเราไปร่วมเทศกาลสำคัญ ๆ อย่างวันคริสต์มาส ลูกค้าฝรั่งก็ถ่ายทอดให้ฟังว่าขนมแต่ละชนิดทำอย่างไร คุณย่ากิมเลียงเริ่มสนใจ แรก ๆ คุณย่าได้ลองนำสูตรที่เรียนรู้และสังเกตมาพัฒนาให้กลายเป็นสูตรของร้านเอง ขนมชนิดแรกที่ลองทำคือโดนัท ซึ่งเราตั้งชื่อว่าอเมริกันโดนัทหรือโดนัทอบเชย ปรากฏว่าขายดีมาก คุณย่ากิมเลียงเริ่มเห็นลู่ทางว่าในเชียงรายยังไม่มีร้านขายขนมพวกเบเกอรี ท่านเลยคว้าโอกาสนั้นไว้ ร้านซีเปียวเคยสั่งเค้กมาจากร้านศรีเวียงเบเกอรี่ที่เชียงใหม่ ขนมเค้กมาส่งทางเครื่องบินเล็กเลยนะคะ บินมาลงที่สนามบินประจำจังหวัด ตอนนั้นใคร ๆ ก็เรียกเค้กร้านซีเปียวว่า ‘เค้กบินได้’ ” คุณใบยาเล่าอย่างสนุกสนานโดยมีคุณพ่อปรีชาและน้อง ๆ ฟังไปยิ้มไป

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย
3 พี่น้อง จากซ้าย คุณใบไผ่ คุณใบตอง คุณใบยา

“ยุคต่อมาเราเริ่มเอาจริงกับธุรกิจเบเกอรี โดย อามาลัย (คุณมาลัย พฤกษ์พงศาวลี น้องสาวคุณพ่อปรีชา) เป็นผู้ริเริ่มทำเบเกอรีสมัยใหม่แบบครบวงจร อามาลัยไปอบรมด้านเบเกอรีมาจากสถาบัน UFM ตอนนั้นทั้งโรงแรมและภัตตาคารในเชียงรายยังไม่มีแผนกเบเกอรีเป็นเรื่องเป็นราว ดังนั้นร้านเราจึงทำหน้าที่นี้ให้กับเขา เวลามีงานแต่งงาน งานวันเกิด งานวันปีใหม่ ฯลฯ ที่ต้องการขนมเค้กแบบต่าง ๆ จะมีออร์เดอร์มาที่ร้านซีเปียว คุณลุงมานิตย์ พี่ชายของคุณพ่อ เป็นผู้เขียนคำอวยพรภาษาจีนบนหน้าเค้กในเทศกาลตรุษจีน ใคร ๆ ก็ชอบกันมาก นอกจากนั้นเรายังริเริ่มเบเกอรีเมนูใหม่ ๆ อีกมากมายอย่างต่อเนื่อง เช่น กะหรี่ปั๊บ ซึ่งขายดีมาก รวมทั้งฟรุตเค้กผสมเหล้ารัม ขนมปังโฮลวีตเราก็ทำเอง อบเอง และขายเป็นเจ้าแรก ๆ ของเชียงรายเช่นกัน”

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย

“ซีเปียวเป็นร้านที่นำ 3 สิ่งมารวมกัน คือร้านชำแบบดั้งเดิมที่ขายของแทบทุกอย่าง ซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีทั้งของสดของแห้งและเครื่องกระป๋องสารพัด รวมทั้งเบเกอรีที่มีเมนูขนมหลากหลาย ใครจะมาซื้ออะไรที่ซีเปียวมีทั้งนั้น” คุณปรีชาสรุปภาพรวมของร้านซีเปียวพาณิชย์ให้ผมฟัง

อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่าธุรกิจในลักษณะนี้อาจเฟื่องฟูได้ในยุคหนึ่ง และอาจต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนใหม่เมื่อเกมการแข่งขันเปลี่ยนไปตามยุคสมัย

“คิดว่าร้านเริ่มไม่มีจุดขายที่ชัดเจน จะให้คนรู้จักและจดจำร้านซีเปียวอย่างไรกันแน่ เราเป็นร้านของทุกคนที่มีของขายทุกอย่างไม่ได้ พอภาพมันไม่ชัด ธุรกิจก็มีปัญหา และเราต้องร่วมกันหาทางออก”

ทั้ง 3 พี่น้องร่วมกันหาข้อสรุปเพื่อพาร้านของบรรพบุรุษให้ผ่านเมฆหมอกสู่แสงสว่างต่อไป

ร้านซีเปียวรุ่นที่ 4

ถ้านับจากคุณทวดอานลงมาจนถึงรุ่นเหลนอย่างคุณใบยา คุณใบตอง และคุณใบไผ่ ก็ต้องนับว่าวันนี้บ้านและธุรกิจของครอบครัวกำลังอยู่ในมือทายาทรุ่นที่ 4 พี่น้องทั้ง 3 คนล้วนจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ โดยคุณใบยาเคยไปเป็นนักเรียนโครงการแลกเปลี่ยนเพื่อการศึกษาและวัฒนธรรมที่ประเทศคอสตาริกาในอเมริกากลาง และใช้ชีวิตอยู่ที่นิวยอร์กระยะหนึ่ง คุณใบตองเรียนด้านละครเวที และเคยทำงานด้าน Event Organiser รวมทั้งสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติ ส่วนคุณใบไผ่ศึกษาด้านประวัติศาสตร์เป็นวิชาเอก

“ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับบัญชี การตลาด อาหาร ขนมอะไรเลยนี่ครับ” ผมเอ่ยขึ้น ส่วนพี่น้องพากันหัวเราะ 

“เราอยากกลับมาอยู่บ้าน อยากมาดูแลพ่อแม่ อยากสืบทอดกิจการของครอบครัวที่บรรพบุรุษได้ริเริ่มไว้ อยากอยู่ที่เชียงรายเพราะสุขภาพกายและใจดีกว่า” เป็นข้อสรุป 4 ประเด็นที่ผมได้รับจากทั้ง 3 คน

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย

เมื่อร้านซีเปียวพาณิชย์จำเป็นต้องเลือกว่าจะโดดเด่นเรื่องอะไรเพื่อทำให้คนรับรู้และจดจำ และทั้ง 3 คนตัดสินใจเลือกเบเกอรีและคาเฟ่มาเป็น Brand Positioning ของร้าน

“เราทิ้งความเป็นร้านชำและปรับเลย์เอาต์ร้านให้เป็นเบเกอรีและคาเฟ่เลย มีมุมที่มีตู้โชว์ขนมต่าง ๆ และเปิดโซนอาหารเช้าเพิ่ม มีพื้นที่ให้แขกได้นั่งทานอาหาร ของว่าง เครื่องดื่ม ฯลฯ แบบคาเฟ่” คุณใบไผ่และคุณใบยาช่วยกันเล่า

“เรารีบทำการตลาดโดยดึงเมนูเดิม ๆ ที่เป็นเมนูขวัญใจชาวเชียงรายกลับมาโปรโมต เพื่อรักษากลุ่มลูกค้าเดิม ๆ ไว้ พร้อม ๆ กับใช้สื่อโซเชียลมีเดียสมัยใหม่ที่ทำให้เมนูเหล่านี้เผยแพร่ไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วย เมนูหลัก ๆ ที่เราเลือกมาโปรโมต คือโดนัทอบเชย กะหรี่ปั๊บ คุกกี้เนยสด ฟรุตเค้กเหล้ารัม เค้กคัสตาร์ด เป็นต้น เมนูเหล่านี้กลับมาขายดี ลูกค้าเป็นคนเชียงรายเกือบ 80% อีก 20% เป็นชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ที่นี่ รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติด้วย”

วันนั้นผมได้มีโอกาสชิมคลาสสิกเมนูของซีเปียวพาณิชย์จำนวนหนึ่ง ขออนุญาตบรรยายให้พอหิวกันดังนี้นะครับ

โดนัทอบเชย เป็นเมนูดั้งเดิมมีส่วนผสมของไข่และไม่ใส่ยีสต์ มีเนื้อร่วนแบบเค้ก ใส่อบเชยและลูกจันทน์เทศหอม ๆ ก่อนนำไปทอดจนกรอบนอกนุ่มใน ทานตอนร้อน ๆ คือสวรรค์ ยิ่งเมื่อทานคู่กับชาหรือกาแฟ

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย

กะหรี่ปั๊บ เป็นอีกเมนูที่ขายมานานกว่า 40 ปี ไส้ดั้งเดิมคือไส้กะหรี่ไก่ที่ผสมมันฝรั่ง หัวหอม และแคร์รอต ส่วนประกอบสำคัญคือเปลือกที่บางและกรอบกรุบสไตล์ซีเปียวพาณิชย์ ซึ่งต้องลอง ต้องลอง และต้องลอง

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย

คุกกี้เนยสด เป็นขนมอบแบบสมัยใหม่ชนิดแรก ๆ ของร้าน เมื่อก่อนบรรจุในขวดโหลอ้วน ๆ แล้วชั่งขายในปริมาณตามใจผู้ซื้อ เวลาอบเสร็จใหม่ ๆ กลิ่นหอมไปทั้งถนนธนาลัย ปัจจุบันที่ร้านได้ทำคุกกี้เนยฆี (Ghee) ซึ่งเป็นเนยหมักที่ใช้ปรุงอาหารอินเดีย ให้กลิ่นหอมแนวถั่วคั่ว อร่อยน่าลองไปอีกแบบ

“ส่วนโซนอาหารเช้าเป็นส่วนที่เราทำเพิ่มขึ้น มีหลายเมนูที่เราคิดว่าดึงดูดได้ทั้งชาวเชียงรายและนักท่องเที่ยว”

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย
คุณใบยา คุณใบตอง และคุณใบไผ่ เตรียมอาหารเช้า

สำหรับอาหารเช้าเมนูเด็ดของร้านซีเปียวพาณิชย์ที่ผมมีโอกาสได้ชิมและอยากบรรยายให้หิวไปด้วยกันมีดังนี้ครับ

ไข่กระทะ ของร้านซีเปียวพาณิชย์จะต่างจากไข่กระทะทั่วไป เพราะเสิร์ฟพร้อมกับน้ำมันพริกสูตรพิเศษของครอบครัว ไข่กระทะที่ประกอบไปด้วยกุนเชียง หมูยอ หมูรมควัน และไส้กรอกกระเทียม นำมาชูรสด้วยน้ำมันพริกแบบเสฉวน ที่ปรุงจากพริกแห้งคั่วและน้ำมัน ซึ่งผ่านการตุ๋นกับเครื่องเทศและสมุนไพรกว่า 8 ชนิด

ไข่กระทะเสิร์ฟพร้อมกับขนมปังโฮลวีตโฮมเมดฉบับซีเปียวพาณิชย์ ซึ่งเป็นขนมปังปอนด์ผสมโฮลวีตเนื้อแน่นแต่นุ่มเพราะหมักแป้งด้วยยีสต์ธรรมชาติในนมเปรี้ยวคีเฟอร์ (Kefir) และขนมปังโฮลวีตของร้านยังคงอบโดยใช้เตาไฟฟ้าเตาเดิมที่คุณย่าเคยใช้มาก่อน

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย
ไข่กะทะ

ไข่กระทะชักชูกา (Shakshuka) ไข่กระทะอีกประเภทที่มีเบสซอสเคี่ยวจากมะเขือเทศสด ๆ ที่สุกและฉ่ำ เพิ่มความกลมกล่อมด้วยฮาริสซา เครื่องปรุงสำคัญของภูมิภาคมัฆริบ (Maghreb) สูตรของร้านทำจากพริกหยวกเผา เครื่องเทศหลายชนิด และพริกแห้งพันธุ์พื้นเมืองของเชียงราย

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย
ไข่กระทะชักชูกา

อีกเมนูเอาใจหนุ่มสาวยุคใหม่สายสุขภาพ คือโยเกิร์ตผลไม้ โยเกิร์ตฉบับซีเปียวพาณิชย์เลือกใช้แต่นมวัวคุณภาพดีจากฟาร์มนมของชาวมุสลิมภายในจังหวัดเชียงราย เป็นโยเกิร์ตรสธรรมชาติที่ไม่หวาน มีรสเปรี้ยวนิด ๆ ตัดกับผลไม้สดที่จัดมาให้จนเต็มถ้วย เสิร์ฟพร้อมกราโนล่าที่ทางร้านทำเอง ราดน้ำผึ้งธรรมชาติพอได้รส

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย

“อาหารเช้าของเราได้รับผลตอบรับดีมาก ตั้งแต่เปิดร้านไปจนสาย ๆ เรา 3 คนพี่น้องวุ่นมาก แทบไม่ได้พักกันเลย แต่สนุกมาก พอตกบ่ายก็เป็นเวลาของเบเกอรี มีคนมาซื้อขนมจากร้านเรากลับบ้าน หรือไม่ก็นั่งทานเค้ก โดนัท พร้อมดื่มกาแฟที่นี่ ใครอยากซื้อกลับบ้านเราก็มีกล่องน่ารัก ๆ สำหรับบรรจุขนม เป็นกล่องที่สมาชิกคนหนึ่งในทีมงานวิจัยของอาจารย์นครินทร์ช่วยออกแบบให้ ด้านหลังกล่องมีประวัติของร้านซีเปียวปรากฏอยู่ ซึ่งสมาชิกในครอบครัวช่วยกันเขียนเล่า”

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย

ที่สำคัญคือทั้ง 3 คนได้ดูแลพ่อแม่ไปพร้อม ๆ กับบ้านและกิจการของครอบครัว ผมเห็นคุณพ่อปรีชาเดินทักทายแขกต่าง ๆ ตามโต๊ะอาหารด้วยรอยยิ้ม เล่าเรื่องราวสนุก ๆ ของเชียงรายให้นักท่องเที่ยวฟัง มีลูก ๆ ทั้ง 3 คนวุ่นวายกับการเตรียมอาหารอยู่ใกล้ ๆ ผมรับรู้ได้เลยว่าคุณพ่อปรีชาต้องมีความสุขมาก ๆ

“สำหรับตัวบ้านไม้นั้น เราพยายามอย่างมากที่จะรักษาทุกอย่างไว้ให้เหมือนเดิม แต่เรากำลังคิดว่าอาจต้องติดเครื่องปรับอากาศในเร็ว ๆ นี้ เพราะเชียงรายกำลังเผชิญปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นเป็นช่วง ๆ ทุกปี ตอนนี้กำลังจะปรึกษากับสถาปนิกอนุรักษ์ว่าต้องทำอย่างไร ช่วงที่มีวิกฤตฝุ่นลูกค้าหายไปเยอะ เพราะร้านเราเป็นร้านโล่ง ๆ รับลมธรรมชาติแบบอาคารโบราณ ลูกค้าไม่กล้าแวะมา”

“นอกจากนี้ยังคิดว่าจะพัฒนาบริเวณระเบียงชั้นบน เปิดเป็นห้องน้ำชา เชียงรายเป็นเมืองชา มีชาคุณภาพหลายชนิด น่าจะเข้ากันได้ดีกับขนมของร้าน” คุณใบยาเล่าถึงแผนการในอนาคตโดยมีน้อง ๆ สนับสนุน

“วันหนึ่งมีผู้หญิงวัยกลางคนเดินเข้ามาในร้าน เขาเดินไปรอบ ๆ มองดูนู่นดูนี่ เราก็ได้แต่สังเกต ไม่ได้เดินเข้าไปถาม แต่รู้สึกว่าผู้หญิงคนนั้นกำลังมีความสุข เพราะเขามองไปยิ้มไป พอเขาเดินมาซื้อโดนัทอบเชยและคุกกี้แล้ว เขาก็เล่าให้ฟังว่าตอนเด็ก ๆ เคยเดินผ่านร้านซีเปียว กลิ่นขนมต่าง ๆ หอมมาก ๆ หาเรื่องมาเดินผ่านร้านอยู่เสมอ แต่ตอนนั้นซื้อขนมร้านซีเปียวไม่ได้ เลยได้แต่เดินผ่านไปเท่านั้น วันนี้เขากลับมาเชียงรายและดีใจมาก ๆ ที่ร้านเรายังอยู่ เขาได้เข้ามาซื้อขนมในนี้ ได้มาเดินสูดกลิ่นขนมหอม ๆ แบบเดิม เป็นความทรงจำที่มีคุณค่าต่อเขามาก” คุณใบตองทบทวนความทรงจำที่มีคุณค่าต่อเธอเช่นกัน

ซีเปียวพาณิชย์ เบเกอรีขนมหวาน-อาหารเช้าเจ้าดังในอาคารไม้ระดับตำนานของเมืองเชียงราย

“วันนั้นตองรู้สึกเลยว่าคนรุ่นปู่ รุ่นย่า รุ่นพ่อ แม่ ป้า และอา ๆ ของเราเจ๋งมาก ๆ เขาสร้างสิ่งที่เป็นความทรงจำไว้ให้กับลูกค้าไว้มากมาย วันนี้เราพี่น้องได้กลับมารักษาและต่อยอดคุณค่าเหล่านั้นให้คงอยู่ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นตัวอาคารบ้านไม้โบราณหลังนี้ หรือวิถีการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสร้างความผูกพันและความทรงจำที่ดีกับผู้คนและเชียงรายต่อไป”

การสนทนาของเราจบลงในตอนใกล้ค่ำ แดดยามเย็นกำลังทอแสงสีแสดสวยทาบทาท้องฟ้า

ร้านซีเปียวพาณิชย์กำลังเดินไปสู่เส้นทางอันสดใส ด้วยพลังกายและใจชองเหล่าทายาท

ผมและผู้อ่าน The Cloud ขอร่วมเป็นกำลังใจให้ครอบครัวพฤกษ์พงศาวลีทุกคนนะครับ

ขอขอบพระคุณผู้ให้สัมภาษณ์
  • คุณปรีชา พฤกษ์พงศาวลี (คุณพ่อปรีชา)
  • คุณจันทร์เจ้า พฤกษ์พงศาวลี (คุณใบยา )
  • คุณชิดเดือน พฤกษ์พงศาวลี (คุณใบตอง)
  • คุณตะวัน พฤกษ์พงศาวลี (คุณใบไผ่)
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์นครินทร์ น้ำใจดี ประธานแขนงวิชาการการจัดการทรัพยากรทางวัฒนธรรม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
ขอขอบพระคุณผู้ช่วยอ่านต้นฉบับเนื้อหาทางด้านสถาปัตยกรรม
  • ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์
ข้อมูลอ้างอิง
  • วารสารสังคมศาสตร์วิชาการ ที่ 37 ปีที่ 13 ฉบับวันที่ 1 มกราคม – มิถุนายน 2563 เรื่อง การสำรวจและศึกษาภาพรวมทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่สำคัญในเขต ย่านเมืองเก่าเชียงราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย1 Survey and Study of Important Cultural Resources in the District Area Chiang Rai Old Town, Mueang District, Chiang Rai Province โดย นครินทร์ น้ำใจดี
  • การจัดการภูมิทัศน์วัฒนธรรมเพื่ออนุรักษ์สภาพแวดล้อมของเมืองเชียงราย โดย ผศ.ดร.เกริก กิตติคุณ และคณะ เผยแพร่ทาง file-113-Thai-704280127.pdf (chula.ac.th)
  • ป.สุวรรณสิงห์ รอยต่อจิตรกรรมแนวคลาสสิกสู่ป้ายร่วมสมัย จาก Facebook คนล้านนา โพสต์เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

อมรทัต สุนทรสวัสดิ์

อมรทัต สุนทรสวัสดิ์

เป็นที่ปรึกษาการสร้างแบรนด์และธุรกิจโดยใจรัก เป็นนักเดินทางโดยเพลิดเพลิน เป็นช่างภาพโดยบังเอิญ