‘ความสุข’ เป็นหนึ่งในคำอวยพรที่มักได้รับเสมอตั้งแต่จำความได้ 

ตอนเด็ก เราไม่เคยสงสัยเลยว่าทำไมต้องขอให้มีความสุข เพราะทุกอย่างล้วนเป็นไปได้แค่จินตนาการ แต่พอเริ่มโตขึ้น สิ่งต่าง ๆ กลับยากขึ้นตาม และจินตนาการที่เคยมีค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยการโหยหาความสมบูรณ์แบบ

พอรู้ตัวอีกที การมีความสุขก็แสนยากและเต็มไปด้วยเงื่อนไขเสียแล้ว

ป่าน-อนิวรรต อัครสุทธิกร คือศิลปินแกะสลักไม้ชาวไทยในสหรัฐอเมริกาที่ใช้ชื่อว่า Wood you mind 

เขาตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานหน้าตาเป็นมิตรและเข้าถึงง่าย อย่างการแกะไม้เป็นยีราฟคอยาว ตาแป๋ว น้องแมว และน้องอันชัน ให้เป็นยารักษาใจผู้คนในวันที่ความสุขเล็ก ๆ หาได้ยากยิ่งกว่าเดิม 

ครั้งแรกที่เห็นงานของป่าน เรานึกถึงของเล่นเด็ก ทั้งวัสดุจากไม้และสีสันสดใสประดับด้วยรอยยิ้ม ราวกับว่าผลงานทุกชิ้นพร้อมกระโดดลงจากชั้นวางมาวิ่งเล่นไปทั่วสนามเด็กเล่นกับเรา

“ผมมองโลกเหมือนตอนเด็ก ๆ ที่เรามองกัน” ประโยคนี้จุดประกายความคิดให้เรา แล้วบทสนทนาเรื่องศิลปะและความสุขแสนง่ายในวัยเด็กก็เริ่มขึ้น

ศิลปะเป็นของนอกกาย

เมื่อตอนยังเป็นนักเรียนศิลปะ ตัวตนของป่านเปี่ยมล้นไปด้วยอีโก้และความเชื่อมั่นว่างานของเขาต้องได้รับการยอมรับ ต้องเป็นที่รู้จัก และมีราคาแพง แต่หากพูดถึงจุดเปลี่ยนแรก เขาบอกว่าต้องย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

“ตอนนั้นผมอายุ 25 ไปบวชที่วัดป่าธรรมอุทยาน จังหวัดขอนแก่น อยู่ประมาณครึ่งปี ขนาดตอนบวชยังแบกกระดานสเกตช์ไปด้วย เพราะเราทั้งรักทั้งชอบ ตัดขาดไม่ได้ และศึกษาแล้วว่าพระวาดรูปได้ ไม่ผิด เลยเก็บรูปไว้ในกุฏิระหว่างศึกษาธรรมะไปด้วย”

เมื่อเวลาผ่านไป เขาค้นพบว่าแม้มีแค่จีวร 2 ผืนและผ้าเช็ดตัวแค่ผืนเดียว เขายังใช้ชีวิตอยู่ได้ 3 – 4 เดือน นั่นจึงแปลว่าสิ่งใดที่ไม่จำเป็น ก็นำออกไปจากชีวิตได้ 

ซึ่งศิลปะไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่ว่านั้น

ป่าน อนิวรรต (Wood you mind) ช่างแกะไม้ชาวไทยในอเมริกา ผู้ใช้ธรรมะและวัยเด็กสร้างงานศิลปะจากความไม่สมบูรณ์แบบ

“ผมกินอาหารที่ไม่อร่อยก็อยู่ได้ ใส่เสื้อสีเดียวได้ เลยตั้งใจจะเลิกวาดรูป”

แต่ก่อนจะได้หยุดเส้นทางศิลปะไว้ที่กุฏิเพื่อใช้ชีวิตอย่างสมถะ เส้นทางของป่านก็เปลี่ยนไป เมื่อได้พบกับอาจารย์ผู้มีความรู้ทางธรรมท่านหนึ่ง 

“ท่านบอกผมว่า ไม่ได้ป่าน ทำแบบนี้เห็นแก่ตัว เอาเรื่องที่คุณฝึกฝนมาไปช่วยคนอื่นจะได้ประโยชน์มากกว่า” แทนที่จะเลือกตัดขาดศิลปะและเดินทางสู่การบรรลุเพียงคนเดียว ป่านหันมาช่วยส่งแรงบันดาลใจและพาผู้คนไปสู่จุดนั้นด้วยสิ่งที่เขามี

นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดหลักอย่าง Positive Art ซึ่งป่านจินตนาการเปรียบศิลปะว่าเป็นยา

“ใครที่แข็งแรงดี สุขภาพจิตใจดีอยู่แล้ว ศิลปะก็เป็นเหมือนยาบำรุง สร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้น แต่ถ้าเป็นคนที่เหนื่อยหรือท้อแท้ ศิลปะคือยาฮีลใจ รักษาอาการบาดเจ็บ” งานศิลปะหลังจากนั้นของป่านจึงเกิดขึ้นบนแนวคิดที่จุดประกายจากธรรมะ เพื่อส่งพลังบวกให้คนรอบข้าง

ป่าน อนิวรรต (Wood you mind) ช่างแกะไม้ชาวไทยในอเมริกา ผู้ใช้ธรรมะและวัยเด็กสร้างงานศิลปะจากความไม่สมบูรณ์แบบ

เติมก่อนตัด

ศิลปินช่างแกะไม้ผู้โด่งดังในสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นเส้นทางจากการปั้นดิน (เซรามิก) ก่อนหันไปเห็นไม้ที่วางอยู่โดยบังเอิญ เขาจึงตัดสินใจลองแกะดู

“งานปั้นเป็นการเติมเข้าไป แต่งานไม้คือการเอาออก” เขาบอกว่างานเดิมคือการเติมโดยไม่จบไม่สิ้น ขณะที่ขั้วตรงข้ามอย่างการแกะสลักไม้ คืองานที่ถึงจุดหนึ่งเราจะเอาอะไรออกไม่ได้อีก เช่นเดียวกับแนวคิดที่ได้เรียนรู้ตอนบวช เขาค้นพบสิ่งใหม่ที่ตอบโจทย์มากกว่า

ภาพ : Wood you mind 

“ความยากคือการเรียนรู้เรื่องการเอาออกนี่แหละ เพราะทั้งชีวิตเราเรียนรู้แต่การเติม จุดแรกคือเรื่องความคิด เราต้องเอาตรงไหนออกถึงจะเป็นทรง ซึ่งยากมากทั้งวิธีทางจิตและทางทฤษฎี” 

นอกจากนี้ การแกะสลักไม้ยังต้องใช้สติในทุกกระบวนการ เพราะบาดแผลที่ได้รับจากอุปกรณ์ก็ส่งผลต่อจิตใจได้เช่นกัน

“แต่พอทำถึงจุดหนึ่งจะคล้ายกับเราขี่จักรยาน ถ้าขี่เป็นแล้วก็คล่อง ทำให้ล้มยังยากเลย”

ป่าน อนิวรรต (Wood you mind) ช่างแกะไม้ชาวไทยในอเมริกา ผู้ใช้ธรรมะและวัยเด็กสร้างงานศิลปะจากความไม่สมบูรณ์แบบ
ป่าน อนิวรรต (Wood you mind) ช่างแกะไม้ชาวไทยในอเมริกา ผู้ใช้ธรรมะและวัยเด็กสร้างงานศิลปะจากความไม่สมบูรณ์แบบ
ภาพ : Wood you mind

“แล้วมันก็ค่อนข้างกลมไปเป็นเรื่องราวของเด็ก ๆ เช่นคำว่า Anchan (อันชัน)” เขาเกริ่นถึงคาแรกเตอร์เด็กผู้หญิงหน้าตาน่ารักหลากหลายตัวที่เราเห็นกัน

เดิมทีป่านไม่ได้ตั้งใจให้ตั้งชื่อหรือสร้างเอกลักษณ์เป็นพิเศษ เพราะเขาเกรงใจพื้นที่ความจำของคนอื่น แต่แล้วนักสะสมคนหนึ่งที่ชวนป่านไปกินข้าวก็ถามถึงชื่อตัวละคร เมื่อกลับบ้าน ป่านจึงตั้งชื่อตามน้ำอัญชันมะนาวที่นักสะสมคนนั้นซื้อให้ 

“ชื่อนี้สะกดด้วย น หนู ทั้งหมด ‘อันชัน’ เหมือนกับเด็กที่สะกดคำไม่ถูก ผมจะสื่อว่าไม่ต้องสะกดถูกก็อ่านได้ แล้วยังมีความสุขด้วย ไม่เห็นเป็นอะไรเลย ไม่ต้องเพอร์เฟกต์หรอก”

ป่าน อนิวรรต (Wood you mind) ช่างแกะไม้ชาวไทยในอเมริกา ผู้ใช้ธรรมะและวัยเด็กสร้างงานศิลปะจากความไม่สมบูรณ์แบบ

เขาบอกว่าจิตใจมีส่วนสำคัญมาก เท่าที่จำความได้ มนุษย์อาจเป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวที่ฆ่าตัวตาย เพราะจิตใจที่ไม่แข็งแรง 

“ไม่มีแมลงวันที่บินอยู่แล้วคิดว่าหยุดบินดีกว่า อยากตาย เพราะฉะนั้น เราคิดว่าศิลปะเป็นหนึ่งในทักษะที่ทำให้จิตใจแข็งแรง”

ในมุมของคนทำงานศิลปะ แต่ละคนมีเรื่องราวการเติบโตที่แตกต่าง แต่สิ่งหนึ่งที่ป่านคิดว่าเหมือนกันคือปลายทางในการช่วยเหลือผู้คน เขาเชื่อว่าพฤติกรรมและจิตใจของมนุษย์เชื่อมโยงกัน ศิลปะของเขาจึงเป็นมิตรและเข้าถึงง่าย เพื่อช่วยสร้างความสุขและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คนให้ดีขึ้น

“ผมอยากให้คนมีความสุข ไม่ใช่ความสุขเชิงหลงใหล และไม่ใช่น้ำตาลที่ขาดไม่ได้”

หรือก็คือ ‘ไม่สุขไม่ทุกข์’ นั่นเอง

แล้วมีผลงานชิ้นไหนที่มาจากตัวตนของคุณเองบ้าง – เราถามหลังเห็นผลงานหลากหลายชิ้นวางอยู่ทั่วห้อง 

“ถ้าบอกว่ายังไม่มีก็เท่ไป ตัวตนจริงก็จะเป็นอย่างหมีชิ้นนั้น” ป่านผายมือไปทางหมีที่กำลังนั่งสมาธิ “ดูแล้วมีความกึ่งธรรมะนิด ๆ สงบและเรียบง่าย ถ้าเป็นตัวตนผมก็จะเป็นแบบนี้”

ป่าน อนิวรรต (Wood you mind) ช่างแกะไม้ชาวไทยในอเมริกา ผู้ใช้ธรรมะและวัยเด็กสร้างงานศิลปะจากความไม่สมบูรณ์แบบ

7 โมงเช้า

เราเคยติดภาพว่าศิลปินต้องทำงานหามรุ่มหามค่ำ เพราะไอเดียส่วนใหญ่มักโลดแล่นในเวลาที่คนอื่นหลับใหล ชีวิตของป่านก็เคยเป็นเช่นนั้น 

“พ.ศ. 2561 ผมทำเซรามิกอยู่ 2 ปี กำลังสร้างตัวในเรื่อง Positive Art อยู่ ชีวิตตอนนั้นเป็นแบบนักเรียนศิลปะ ทำงานตอนกลางคืนเพราะเงียบ จะตื่นเมื่อไหร่ก็ได้เพราะเป็นฟรีแลนซ์” 

แต่อยู่ดี ๆ ก็มีบางอย่างดลใจให้เขาอยากตื่นเช้าขึ้นมา

“วันนั้นตั้งนาฬิกาปลุก 7 โมง ไม่รู้อะไรเข้าสิง แล้วก็มานั่งปั้นดินไป 30 ใบ พอหันไปดูนาฬิกา เอ้า! เพิ่ง 11 โมงเอง เพราะปกติ 30 ใบต้องใช้เวลาเที่ยงวันถึงเที่ยงคืน เท่ากับ 12 ชั่วโมง แต่นี่แค่ 4 ชั่วโมง” เขาจึงค้นพบว่า รู้อย่างนี้ตื่นเช้าตั้งนานแล้ว

“เรียกได้ว่านี่เป็นจุดที่ได้เจอ อิคิไก คือการรู้ว่าเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร พอมีเหตุผลในการตื่น เราจะมีเหตุผลในการนอน ผมจึงอยากรีบนอนเพราะอยากรีบตื่น”

ป่าน อนิวรรต (Wood you mind) ช่างแกะไม้ชาวไทยในอเมริกา ผู้ใช้ธรรมะและวัยเด็กสร้างงานศิลปะจากความไม่สมบูรณ์แบบ
ป่าน อนิวรรต (Wood you mind) ช่างแกะไม้ชาวไทยในอเมริกา ผู้ใช้ธรรมะและวัยเด็กสร้างงานศิลปะจากความไม่สมบูรณ์แบบ
ภาพ : Wood you mind

ตอนเช้าไม่ได้วุ่นวายอย่างที่ป่านเคยเข้าใจ เขากลายเป็นคนที่ชอบตื่นเช้าเพื่อใช้ชีวิตและทำงานศิลปะ 

“ลึกไปกว่านั้น คือตื่นขึ้นมาเพื่อทำอะไรบางอย่างให้คน การตื่นเช้าเป็นแค่เครื่องมือให้เราทำงานได้เยอะขึ้นและมีพลังมากขึ้น” 

ตารางงานของป่านไม่ต่างอะไรกับพนักงานบริษัท เขาเข้าและออกงานตามเวลา แบ่งเวลาให้กับการแกะไม้ในวันจันทร์-ศุกร์ ไปจ่ายตลาดกับภรรยาในวันเสาร์ และทำงานอดิเรกในวันอาทิตย์ 

หากมองไปรอบ ๆ นิทรรศการจะเห็นผนังห้องเต็มไปด้วยรูปวาดเด็กผู้หญิงและสัตว์นานาชนิดที่แต่งแต้มไปด้วยสีสันชวนให้เรายิ้มตาม “รูปวาดที่เห็นทั้งหมดในนี้ ผมวาดเฉพาะวันอาทิตย์เท่านั้น” เขาย้ำ

ป่าน อนิวรรต (Wood you mind) ช่างแกะไม้ชาวไทยในอเมริกา ผู้ใช้ธรรมะและวัยเด็กสร้างงานศิลปะจากความไม่สมบูรณ์แบบ

โลกใต้ทะเล

ผลงานของป่านไม่เพียงสร้างรอยยิ้มให้ผู้ชม แต่สำหรับผู้สร้างเองก็เปรียบเสมือนเครื่องเตือนใจที่มีแรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์วัยเด็ก เหมือนกับเจ้าวาฬตัวน้อยที่ตั้งอยู่ข้างหน้าเรา

ป่าน อนิวรรต (Wood you mind) ช่างแกะไม้ชาวไทยในอเมริกา ผู้ใช้ธรรมะและวัยเด็กสร้างงานศิลปะจากความไม่สมบูรณ์แบบ

“ผมชอบสัตว์ทะเลเพราะเป็นนักดำน้ำมาตั้งแต่เด็ก ใต้ทะเลคือความสวยงามแรกที่เคยเห็น เราได้เจอฉลามวาฬตัวเท่ารถเมล์ยาว 7 – 8 เมตร สิ่งที่ได้เรียนรู้จากฉลามวาฬ คือเขาเคลื่อนไหวแบบไม่สูญเปล่า เคลื่อนไหวเท่าที่จำเป็น ผมเลยได้แรงบันดาลใจมาปรับใช้กับชีวิตตั้งแต่เด็กเลยว่า ไม่ใช่แค่ Work Hard แต่ต้อง Work Smart เหมือนการเคลื่อนไหวของฉลามวาฬด้วย” 

แต่ถ้าเลือกแกะสลัก ฉลามวาฬก็เป็นสัตว์ที่คนนึกภาพออกยาก เขาจึงมองไปที่สัตว์ใหญ่กว่า จึงเลือกทำเป็นวาฬมาเป็นสัญลักษณ์เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจ 

แล้วตอนนั้นไม่กลัวเลยเหรอ 

“ตอนเด็กไม่กลัวหรอก เพราะไม่ได้คิดอะไรเยอะ” ป่านตอบกลับ เพราะจนถึงตอนนี้เขายังมองโลกเหมือนในวัยตอนเด็ก ผลงานของ Wood you mind จึงถ่ายทอดความเป็นวัยเยาว์พร้อมรอยยิ้มสดใสในคาแรกเตอร์ทุกตัว

“ตอนแรกไม่รู้ เพราะไม่เคยจัดแสดง แต่พอได้จัด คนที่มางานมักพูดว่า ‘เหมือนกลับไปเป็นเด็กเลย’ ‘เหมือนอยู่สนามเด็กเล่นเลย’ ‘วันนี้เครียดนะ แต่เข้ามาแล้วยิ้มเหมือนตอนเด็ก ๆ เลย’ ผมจึงเชื่อว่าศิลปะของผมทำงานแบบนั้น” 

เราเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาพูด เพราะตั้งแต่ที่ได้เข้ามาสัมผัสด้วยตัวเอง ก็รู้สึกเหมือนได้กลับเป็นเด็กอีกครั้ง

หาคำตอบ

ตลอดเส้นทางการเป็นศิลปิน เราไม่เคยเห็นงานแสดงของป่านที่ไหนมาก่อน เพราะเขาไม่เข้าใจว่าการจัดแสดงมีจุดประสงค์เพื่ออะไร 

“ผมอาจเป็นศิลปินที่คิดไม่เหมือนคนทั่วไป ถ้าผมไม่เข้าใจ ผมก็จะไม่ทำ” ก่อนหน้านี้เขาเลยไม่เคยตอบตกลง

“ผมแค่มีความสุขกับสิ่งที่ทำ อยู่กับคนที่รัก ไม่จำเป็นต้องทำอะไรเพิ่ม” แต่ด้วยความสงสัยที่มี เขาจึงเลือกลงมือทำเพื่อหาคำตอบ

หลังจากนั้นในเดือนกันยายนที่ผ่านมา นิทรรศการของ Wood you mind จึงจัดขึ้นพร้อมกัน 3 แห่งในไทย และอีก 1 แห่งในฮ่องกง 

“สุดท้ายยังไม่แน่ใจว่าคำตอบที่ได้คืออะไร แต่เบื้องต้นผมรู้สึกดี เพราะได้ฟังฟีดแบ็กจากผู้คนว่าเขารู้สึกอย่างไรกับงาน”

ป่าน อนิวรรต (Wood you mind) ช่างแกะไม้ชาวไทยในอเมริกา ผู้ใช้ธรรมะและวัยเด็กสร้างงานศิลปะจากความไม่สมบูรณ์แบบ

ป่านมักเข้าไปพูดคุยกับผู้ชมงานเสมอ เขาเล่าให้ฟังว่าคนที่มาดูงานส่วนมากไม่ได้สนใจศิลปะหรือรู้จัก Wood you mind มาก่อนด้วยซ้ำ แต่พอเดินเข้ามาแล้วเกิดประทับใจจนซื้อผลงานเลยก็มี

 “ที่ผ่านมาผมได้แต่จินตนาการมาตลอดว่าเขาคงรู้สึกดี เพราะงานของเราอยู่แค่ในโลกอินเทอร์เน็ต แต่วันนี้เราได้เห็นสีหน้าผู้คนที่มาดูงาน ทิศทางในการทำงานของเราจึงชัดเจนขึ้น และมั่นใจมากขึ้นว่ากำลังทำอะไรอยู่” ป่านย้ำชัดว่าเขาเดินมาถูกทางแล้ว

ป่านทิ้งท้ายว่าเขาไม่เคยมีความคิดที่จะเกษียณ เพราะยังคงอยากเดินบนเส้นทางศิลปะเพื่อสร้างความสุขให้คนอื่นต่อไป

Wood you mind ศิลปินไทยในอเมริกาผู้ใช้ธรรมะ ศิลปะการแกะไม้ และวัยเด็ก เยียวยาใจผู้คน

Writers

สหัสวี อารีย์

สหัสวี อารีย์

มนุษย์ผู้หลงรักในมนุษย์ ยึดติดอยู่กับการไม่ยึดติด และคลั่งความไม่สมบูรณ์แบบอย่างสมบูรณ์แบบ

เกวลิน สรรพโรจน์พัฒนา

เกวลิน สรรพโรจน์พัฒนา

ติดกาแฟ ชอบแชร์เรื่องคน หลงรักเกาะเต่า ความฝันคือการเป็น Newyorker

Photographer

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

นักศึกษาเอกญี่ปุ่นจากมหาสารคาม สนใจภาพถ่าย ชีวิตขับเคลื่อนด้วยเสียงเพลง อยากมีเงินไปมิวสิกเฟสติวัลเยอะๆ