อิคิไก แปลว่า ความหมายของการมีชีวิตอยู่ เหตุผลของการมีชีวิตอยู่

เราเกิดมาเพื่ออะไร ใช้ชีวิตอยู่ไปทำไม

ปัจจุบัน มีหนังสือเกี่ยวกับอิคิไกออกวางขายเป็นจำนวนมาก แต่เล่มที่คนญี่ปุ่นเป็นคนเขียนเล่มแรกนั้น คือ The Little Book of Ikigai : The secret Japanese way to live a happy and long life โดยอาจารย์เคน โมหงิ (แปลภาษาไทยโดย คุณวุฒิชัย กฤษณะประการกิจ)

อิคิไก

ในญี่ปุ่น อาจารย์เคน โมหงิ เป็นนักวิทยาศาสตร์วิจัยด้านสมองที่มีชื่อเสียง และออกรายการโทรทัศน์เป็นประจำ

ดิฉันพบอาจารย์เคน โมหงิ ครั้งแรกที่ร้านซุคิบายาชิ จิโร ร้านซูชิมิชลิน 3 ดาวชื่อดัง

ดร.ณัชร สยามวาลา (ผู้เชี่ยวชาญด้านการเจริญสติและภาวะผู้นำ) เป็นเพื่อนกับอาจารย์โมหงิ และแนะนำให้ดิฉันรู้จักกับท่าน ในคืนนั้น ดร.ณัชร ถามอาจารย์โมหงิว่า ปู่จิโร่ เชฟซูชิวัย 94 ปี ที่ยังยืนปั้นซูชิให้เราทานอยู่ในทุกวันนี้ เป็นแรงบันดาลใจให้อาจารย์เกิดไอเดียในการเขียนหนังสืออิคิไกใช่หรือไม่ อาจารย์โมหงิพยักศีรษะอยู่หลายครั้ง… ใช่… ใช่เลย

เชฟซูชิที่ ‘ไม่ได้’ เริ่มเลือกงานนี้เพราะความรักหรือความถนัด แต่กลับทุ่มเทปั้นซูชิทุกคำเพื่อให้ลูกค้ามีความสุข… นั่นคือต้นแบบของอิคิไก

ครั้งนี้ ดร.ณัชร และสำนักพิมพ์อะไรเอ่ยเชิญอาจารย์โมหงิมาบรรยายในงาน ‘Happiness Mastery : ความสุขสร้างได้’ และดิฉันได้มีโอกาสสัมภาษณ์อาจารย์ก่อนที่ท่านจะขึ้นเวทีบรรยายเรื่องอิคิไก

มาสัมผัสโลกของอิคิไกจากชาวญี่ปุ่นต้นตำรับกันค่ะ

อิคิไก

 

อะไรทำให้อาจารย์ตัดสินใจเขียนหนังสือเรื่องอิคิไกคะ

มี 3 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญและทำให้ผมตัดสินใจศึกษาเรื่องนี้มากขึ้น หนึ่งคือ ตอนที่ผมไปร่วมงาน TedxTokyo มีผู้หญิงอเมริกันคนหนึ่งพูดเกี่ยวกับอิคิไก ซึ่งเป็นแนวคิดที่เหมาะกับชีวิตสมัยใหม่ สอง หลังจากนั้นครู่เดียว Dan Buettner ก็เล่าใน TED เกี่ยวกับแนวคิดอิคิไกในโอกินาว่า สาม หลังจากนั้นไม่นาน ตัวแทนสำนักพิมพ์ในโตเกียวก็ถามผมว่า สนใจจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับอิคิไกเพื่อตีพิมพ์ในลอนดอนไหม 3 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นติดๆ กันโดยบังเอิญ ผมเลยคิดว่าผมต้องเริ่มเขียนเกี่ยวกับอิคิไกบ้างแล้วล่ะ

 

น่าแปลกที่คนญี่ปุ่นไม่ค่อยใช้คำว่า ‘อิคิไก’ ในชีวิตประจำวันหรือบทสนทนาทั่วไปเท่าไหร่นะคะ

มันเป็นสิ่งที่ปกติและเราทำกันตามธรรมชาติ ในโลกปัจจุบัน เรามักพูดกันว่าทำอย่างไรเราถึงจะประสบความสำเร็จ ทำอย่างไรจะได้เลื่อนตำแหน่ง หากอยากเป็น CEO จะเป็นได้อย่างไร แต่ผมคิดว่าคนญี่ปุ่นมีความคิดว่าความสำเร็จไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิต

 

ยังไงคะ

ยกตัวอย่างเช่นมีคนญี่ปุ่นจำนวนมากที่จริงจังกับงานอดิเรก หรือมี โคดาวาริ* คนอื่นไม่สนหรอกว่างานอดิเรกของคนคนนั้นจะเป็นอะไร ตราบใดที่คนคนนั้นดูมีความสุขดีนั่นก็โอเคแล้ว มีคนจำนวนมากคลั่งไคล้รถไฟ มังงะ (หนังสือการ์ตูน) หรือแอนิเมะ (ภาพยนตร์การ์ตูน) คนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียงหรือได้รับการยอมรับจากสังคม ตราบเท่าที่พวกเขามีความสุขในแบบของเขาเอง มันก็ดีแล้ว

ผมรู้จักหลายคนที่ทำงานประจำปกติทั่วไป แต่อินกับอะไรบางอย่าง และทุ่มเทกับกิจกรรมเหล่านั้นในเวลาว่าง ล่าสุดผมเพิ่งเจอบรรณาธิการนิตยสาร Bungeishunju** เขาสะสมปลาเมดะกะ*** 2,000 ตัวที่บ้าน! มีบ่อ 10 บ่อ! เขาเรียนรู้และพัฒนาความรู้ด้านนี้ไปเรื่อยๆ ประเทศญี่ปุ่นมีคนแบบนี้อยู่ครับ

* ความพิถีพิถันใส่ใจในบางเรื่องเป็นพิเศษ เช่น คนที่ชอบเครื่องเขียนมากๆ จะพิถีพิถันในการเลือกปากกา สมุด ดินสอที่ตนเองจะใช้ เพราะฉะนั้น คนที่มีโคดาวาริเหล่านี้จะศึกษาเครื่องเขียนจนถึงที่สุด วิเคราะห์ ทดลอง จนพบว่าเครื่องเขียนแบบใดที่ตนเองหลงใหลที่สุด

** นิตยสารชื่อดังด้านศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรมของญี่ปุ่น

*** ปลา Killifish ปลาตัวเล็กๆ คล้ายปลาหางนกยูง

อิคิไก

คนญี่ปุ่นถ่ายทอดแนวคิดอิคิไกแบบนี้กันอย่างไรคะ มันอยู่ในดีเอ็นเอของพวกคุณเหรอ

อืม เป็นคำถามที่น่าสนใจมาก ไม่รู้สินะ นี่เป็นครั้งแรกที่ผมมาประเทศไทย และผมรู้สึกประทับใจกับความหลากหลายของอาหารมากๆ อย่างตอนที่พวกเราทานบะหมี่ เอ่อ

 

บะหมี่เกี๊ยวหมูแดง

ใช่ ผมเห็นพวกคุณใส่เครื่องปรุงต่างๆ ลงในชามก๋วยเตี๋ยว แถมมีหนังปลากรอบลงไปคลุกด้วย มันคือความหลากหลายนะ ผมคิดว่านั่นคือสิ่งที่ญี่ปุ่นเองก็มีเหมือนกัน ในญี่ปุ่นเรายกย่องเรื่องความหลากหลายมาก หากลองนึกถึงอาหารญี่ปุ่นแบบไคเซกิ* มันคือความหลากหลาย

เรานำแนวคิดเรื่องอิคิไกไปปรับใช้กับชีวิตและสังคมได้ บางคนอาจชอบเรื่องเงินๆ ทองๆ และอาจจับจ่ายใช้สอยเงินบ้าง แต่ไม่จำเป็นที่ทุกคนควรเป็นแค่ทนาย นายธนาคาร หรือนักลงทุนเท่านั้น บางคนอาจเลือกที่จะเป็นนักเขียนการ์ตูนแม้ค่าตอบแทนจะน้อย แต่นั่นก็เป็นอิคิไกของเขา

* ชุดอาหาร Full Course แบบญี่ปุ่นมีทั้งปลาดิบ ซุป อาหารย่าง ฯลฯ ตกแต่งอย่างประณีตตามฤดูกาล

 

อิคิไกของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน

ใช่ ต่างคนอาจมีค่านิยมที่ต่างกัน ซึ่งสะท้อนในรูปแบบชีวิตที่แตกต่างกันก็ได้ อิคิไกเป็นเรื่องของความหลากหลายนะ

อิคิไก อิคิไก

หลากหลายในชีวิต วัฒนธรรม หรืออาชีพ

ใช่ๆ ผมคิดว่าสังคมญี่ปุ่นพยายามผลักดันให้เด็กๆ ทุกคนตามหาอิคิไกของตนเอง เราจะไม่บอกว่า งานนี้เงินดี ทำสิ หรืองานนี้เงินน้อย อย่าไปทำเลย ถ้าคุณถามนักศึกษาว่า พวกเขาอยากทำงานอะไร พวกเขาคงไม่ตอบว่าเลือกทำที่บริษัทนี้เพราะเงินเป็นอันดับแรกหรอก เด็กญี่ปุ่นทั่วไปน่าจะตอบเหตุผลเกี่ยวกับอิคิไกของพวกเขานะ ผมก็ไม่รู้ว่าทำไมคนญี่ปุ่นถึงคิดแบบนั้น

 

อาจเป็นเพราะสื่อต่างๆ เช่น ละคร รายการทีวี ด้วยหรือเปล่าคะ ฉันเห็นคนทุกรูปแบบได้รับการให้เกียรติและชื่นชมเสมอ

คุณคิดอย่างนั้นเหรอ

 

ใช่ อย่างรายการ Jonetsu Tairiku*, NHK Professional**

* สารคดีเกี่ยวกับชีวิตคนญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จในวงการต่างๆ เช่น ด้านศิลปะ กีฬา แพทย์ จัดทำโดยสถานีโทรทัศน์ TBS

** สารคดีเกี่ยวกับชีวิตคนญี่ปุ่นที่เป็น ‘มืออาชีพ’ ในด้านต่างๆ เช่น ช่างฝีมือ พนักงานโรงแรม หรือแม้แต่แม่บ้านทำความสะอาดสนามบิน อาจารย์โมหงิเคยเป็นผู้ดำเนินรายการรายการนี้ จัดทำและออกอากาศโดยสถานีโทรทัศน์ NHK

นั่นสินะ เร็วๆ นี้มีละครที่โด่งดังมากๆ ในญี่ปุ่น ชื่อ….

 

Shitamachi Rocket*?

* ละครยอดนิยมของญี่ปุ่น ชื่อภาษาอังกฤษ คือ Downtown Rocket เนื้อหาเกี่ยวกับผู้ชายคนหนึ่งที่เป็นเจ้าของโรงงานเล็กๆ เขาฝันจะนำเครื่องยนต์จรวดของบริษัทตนเองไปอวกาศให้ได้

คุณรู้จักด้วยเหรอ ใช่ ใช่เลย! แล้วก็เรื่อง Rikuou ซึ่งเป็นเรื่องคนทำรองเท้า เจ้าของโรงงานอยู่ในเขตชุมชนเล็กๆ พวกเขาคงไม่ได้ทำรายได้จากการขายรองเท้าได้เยอะหรอก แต่นั่นก็ไม่เป็นไร

 

เหมือนอิคิไกแตกต่างจากคำว่า ‘ความสำเร็จ’ นะคะ

ใช่ คนญี่ปุ่นรู้ว่าชีวิตไม่ได้มีแค่เรื่องประสบความสำเร็จ อิคิไกสำคัญกับชีวิตมากกว่า คุณอาจจะประสบความสำเร็จ แต่คุณอาจไม่มีอิคิไก ในทางกลับกัน แม้คุณไม่ประสบความสำเร็จ คุณอาจจะมีอิคิไกก็ได้ ซึ่งชีวิตคุณอาจจะมีความสุขมากกว่า

อิคิไก

อาจารย์นิยามคำว่า ‘ความสำเร็จ’ อย่างไรคะ

ความสำเร็จ คือสิ่งที่คุณจะได้รับการยอมรับจากคนในสังคมหรือบริบทสังคมนั้นๆ แต่อิคิไกมาจากหัวใจของคุณ มาจากความสุขส่วนตัวของคุณ คนอื่นอาจจะไม่ได้มองว่านั่นคือความสำเร็จ

 

อิคิไกเป็นสิ่งที่เฉพาะบุคคล เราสามารถมีความสุขในแบบของเราเอง

ใช่ จำเรื่องนักกีฬาซูโม่ได้ไหมครับ

 

ที่แข่งแล้วแพ้ตลอดใช่ไหมคะ

แข่ง 132 ครั้ง ชนะ 2 ครั้ง อีก 130 ครั้งแพ้หมดเลย แต่คนญี่ปุ่นก็ไม่ประณามหรือต่อว่าเขานะ ตัวนักซูโม่คนนั้นก็มีความสุขที่เขาได้เล่นซูโม่ และพวกเราก็ไม่มีใครต่อว่าเขาหรือขอให้เขาเลิกเล่นซูโม่ เขาก็แข่งซูโม่ของเขาไปเรื่อยๆ

 

เราไม่ตัดสินความสุขของคนอื่น และให้เขามีความสุขในแบบของเขาเอง …งดงามจังเลยค่ะ

หรือใน ราคุโกะ*  มีเรื่องหนึ่งที่พระเอกไม่ค่อยเก่งเท่าไร ชื่อโยทาโร่ เขาทำอะไรๆ ก็ไม่ประสบความสำเร็จเลยสักอย่าง แต่นักเล่าราคุโกะพรรณนาถึงเขาได้น่ารักมาก ทุกคนในหมู่บ้านนั้นอยากช่วยโยทาโร่ โยทาโร่เริ่มเปิดร้านของตนเอง แต่ก็ล้มเหลวอีก คนในหมู่บ้านก็ไม่ได้ตำหนิอะไร ตราบเท่าที่เขายังมีความสุขในชีวิตอยู่

* การพูดตลกชนิดหนึ่งที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ 400 กว่าปีก่อน คล้ายเดี่ยวไมโครโฟน ผู้พูดจะสวมชุดกิโมโนเล่าเรื่องราวต่างๆ เสน่ห์ของราคุโกะคือ นักแสดงคนหนึ่งจะสวมบทบาทหลายคน ฝึกจินตนาการผู้ฟังด้วย

 

ไม่เคยทราบเรื่องนี้มาก่อนเลย น่าสนใจจริงๆ ค่ะ แต่ถ้านักวาดการ์ตูนทำในสิ่งที่รัก มีอิคิไก แต่รายได้น้อย เขาจะเลี้ยงชีพอยู่ได้อย่างไรคะ

อย่างนักวาดการ์ตูนที่ทำงานให้กับ ฮายาโอะ มิยาซากิ*  รายได้เขาอาจไม่สูงเท่าพวกนายธนาคารหรือคนในวงการการเงินนะ แต่เขาได้รับอิคิไกจากฮายาโอะ มิยาซากิ นั่นเป็นชีวิตที่ดี

* นักวาดการ์ตูน ผู้กำกับ และผู้สร้างแอนิเมะชื่อดังของญี่ปุ่น เป็นผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ มีผลงานเด่น ๆ เช่น My neighbor Totoro, Spirited Away (ได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์อะนิเมะ)

แต่พวกเขาได้ค่าตอบแทนน้อยนะคะ

ยังไงๆ พวกเขาก็หาทางมีชีวิตอยู่รอดได้แหละ (หัวเราะ)

 

สังคมญี่ปุ่นมีข่าวเรื่องการฆ่าตัวตาย หรือมีคนที่เป็นฮิคิโคโมริ*  คนเหล่านั้นสูญเสียอิคิไกไปเหรอคะ

ใช่ครับ โลกาภิวัตน์ (Globalization) ทำให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรง มีแรงกดดันให้เราต้องพยายามประสบความสำเร็จ คนญี่ปุ่นเองก็กำลังลืมภูมิปัญญาโบราณดีๆ แบบนี้ แต่มันก็เป็นจังหวะที่ดีที่ให้คนญี่ปุ่นกลับมาทบทวนว่า อะไรที่เป็นเอกลักษณ์ของพวกเรา

ในประเทศไทย คุณมีแนวคิดแบบนี้ไหม

* อาการเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่แต่ในห้อง ไม่ยอมออกไปพบผู้คน

 

คิดว่าไม่นะคะ ฉันแปลกใจมากตอนฟังอาจารย์เล่าเรื่องของนักซูโม่ที่แพ้มาตลอด สมัยก่อน สังคมไทยเป็นสังคมเกษตร เราก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แต่ไม่ได้มีคำพูดว่า อิคิไก แบบญี่ปุ่น หลังๆ เราแข่งขันกันมากขึ้น คนไทยก็เครียดขึ้นเหมือนกัน

เหมือนอเมริกาเลยเนอะ ผมคิดว่าอิคิไกเป็นวิธีคิดสากลนะ มันเป็นสิ่งที่เคยมีในหลายประเทศ ในหลายวัฒนธรรม แต่เราอาจจะลืมไปแล้ว

 

น่าเสียดายนะคะ สังคมอเมริกาดูแข่งขันกันมากๆ เวลาอาจารย์ไปบรรยายเรื่องนี้ที่อเมริกา คนอเมริกันเข้าใจแนวคิดนี้เหรอคะ

พวกเขาเข้าใจแนวคิดนะ แต่อย่างที่คุณบอก สังคมที่โน่นแข่งขันกัน ในหนังสืออิคิไกผมเล่าเกี่ยวกับพนักงานทำความสะอาดรถไฟชินคันเซ็นซึ่งกลายมาเป็นกรณีศึกษาของ Harvard Business School คนญี่ปุ่นมองว่างานนี้เป็นงานที่น่าเคารพและสามารถยึดเป็นอาชีพได้ แต่คนอเมริกันอาจไม่เห็นเช่นนั้น

หากเราให้ความสำคัญและความเคารพกับความหลากหลาย ทั้งในอาชีพ ทั้งในวัฒนธรรม คงจะดีนะคะ อิคิไกของอาจารย์คืออะไรคะ

อิคิไกมีทั้งระดับใหญ่ (Big Ikigai) และระดับย่อย (Small Ikigai) ผมทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางสมอง ผมศึกษาเรื่องการรับรู้ การรับรู้เกิดขึ้นจากการทำงานของสมองอย่างไร อิคิไกใหญ่ของผม คือ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้

 

อิคิไกเล็กล่ะคะ

สิ่งสำคัญของอิคิไกคือ คุณมีความสุขเล็กๆ น้อยๆ จากเรื่องที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือเปล่า เช่น ตอนเด็กๆ ผมชอบศึกษาเกี่ยวกับผีเสื้อ เวลาผมไปวิ่งออกกำลังกายแล้วเห็นผีเสื้อสวยๆ ผมก็สัมผัสได้ถึงอิคิไก หรือบางทีอาจเกิดขึ้นตอนที่ผมรู้สึกตลกๆ ก็ได้ ผมเห็นเด็กผู้ชายคนหนึ่งบอกพ่อว่า “พ่อๆ ต้องทำอย่างนี้สิ” เวลาผมได้ยินบทสนทนาแบบนี้ ผมก็รู้สึกถึงอิคิไก

 

เพิ่งรู้ว่าอิคิไกมาจากการสังเกตคนอื่นหรือฟังบทสนทนาคนอื่นได้ด้วย ตอนที่อาจารย์มาเมืองไทย มีอิคิไกอะไรที่เกิดขึ้นบ้างคะ

วันที่ผมเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ผมตัดสินใจออกไปวิ่งเลย พนักงานโรงแรมบอกผมว่า ฝนจะตกแล้วนะ แต่ผมก็ไม่สน พอวิ่งไปได้สัก 30 – 40 นาที ฝนตกลงมา ตัวผมก็เปียกชุ่มเลย แต่ผมกลับรู้สึกถึงอิคิไกนะ มันเป็นครั้งแรกที่ผมมากรุงเทพฯ ผมได้วิ่งตามซอยเล็กๆ ที่นี่ คนอื่นวิ่งหลบฝน แต่มีผมคนเดียวที่ทำอะไรบ้าๆ แบบนี้ มันรู้สึกยอดเยี่ยมมากเลยล่ะ!

 

อิคิไกเป็นเรื่องความสุขในแบบของแต่ละคนโดยที่เราไม่ต้องแคร์ใครจริงๆ นะคะ

ผมรู้สึกขอบคุณมากที่ได้มาเมืองไทยครั้งนี้ อากาศอุณหภูมิ 32 องศาเซลเซียส ไม่เย็นเกินไป พอวิ่งเสร็จแล้วไปอาบน้ำ มันก็เป็นอิคิไกที่เยี่ยมยอดเหมือนกัน! ผมพักโรงแรมที่ดีมากๆ แต่แทนที่จะอยู่เฉยๆ ในห้อง ผมกลับทำอะไรงี่เง่าอย่างไปวิ่งตากฝน ปีนี้ผมอายุ 56 ปีแล้ว แต่สุขภาพยังดีอยู่ มันเป็นเรื่องน่าขอบคุณจริงๆ ครับ!

หากพวกเราอยากมีอิคิไกบ้าง เราควรเริ่มจากอะไรดีคะ

เริ่มจากการสัมผัสความสุขจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก่อน มันเริ่มทำได้ง่ายที่สุด ในสมองเรามีสารชื่อโดพามีน หากเราทำอะไรสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ โดพามีนจะหลั่งออกมา วงจรนั้นจะช่วยทำให้คุณมีความสุข การมีความสุขกับสิ่งเล็กๆ เช่นนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก สำหรับหลายคน แนวคิดเรื่องอิคิไกอาจเข้าใจยาก หรือยากสำหรับบางคนที่ชีวิตพวกเขากำลังอยู่ในช่วงยากลำบาก กำลังรู้สึกหมดหวัง ท้อแท้ หรือไม่ได้เคารพตนเอง เพราะฉะนั้น เริ่มจากความสุขเล็กๆ น้อยๆ ก่อนครับ

 

มันเหมือนการคิดบวกไหมคะ

อิคิไกเป็นส่วนหนึ่งนะ เวลาเราคิดถึงชีวิต หรือคิดหาวิธีการคิดบวก มันเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก สำหรับบางคนคำว่า ‘คิดบวก’ อาจฟังดูกดดันสำหรับพวกเขา เพราะฉะนั้น เริ่มจากการมองเห็นความสุขจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัว สิ่งเล็กมากๆ เช่นการได้ตื่นมาชงกาแฟดื่ม การได้วิ่งกลางสายฝน

 

สุดท้ายนี้ มีอะไรที่อาจารย์อยากบอกคนไทยไหมคะ เราควรใช้ชีวิตอย่างไรดี

ตอนผมอยู่ที่อังกฤษ ผมได้ดูสารคดี BBC เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และพระราชินีของไทย น่าจะเป็นกษัตริย์พระองค์ก่อนนะ ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าพระองค์ทรงช่วยประเทศไทยมากขนาดนี้ ผมรู้สึกว่าทั้งสองพระองค์ทรงสง่างามมากๆ ทั้งวิธีพูด วิธีวางพระองค์ นับจากวันนั้นผมคิดมาตลอดเลยว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่งดงาม และมีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง

พอผมมาที่นี่ ผมเห็นวิธีการที่คนไทยประดับตกแต่งอาหาร ผมรู้สึกว่าคนไทยนำเสนอสิ่งต่าง ๆ ในแบบที่เป็นเอกลักษณ์และสง่างามจริงๆ ผมหวังว่าพวกคุณจะรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ และยิ่งพัฒนาให้เหมาะกับยุคสมัยใหม่แบบนี้มากขึ้น เพราะโลกกำลังเปลี่ยนแปลง ญี่ปุ่นก็กำลังเปลี่ยน ประเทศไทยเช่นกัน แต่ผมหวังว่าคนไทยจะรักษาความประณีต งดงาม สง่างาม แบบนี้ไว้ และผมอยากกลับมาเมืองไทยอีกครับ

 

พวกเรารออาจารย์เสมอค่ะ

ภาพ : มณีนุช บุญเรือง

Lesson from Ken Mogi

  1. อิคิไก ไม่ใช่การแสวงหาความสำเร็จหรือความร่ำรวย แต่เป็นการรู้สึกหรือสัมผัสถึงความสุขในชีวิตของตนเอง จนทำให้เราเห็นความหมายของชีวิตเราในแบบของเรา
  2. อิคิไกไม่ใช่สิ่งที่สังคมนิยามหรือโลกให้ความสำคัญ แต่ละคนมีอิคิไกที่แตกต่างกัน และมีความสุขกับชีวิตในแบบของตนเอง ที่เราเลือกเอง
  3. เราไม่ควรตัดสินคนอื่นหรือบีบบังคับคนอื่น เช่น ลูก แฟน ให้ใช้ชีวิตในแบบที่เราคิดว่าใช่ แต่เราควรเคารพความหลากหลายนั้น
  4. มองคนที่มีอิคิไกหรือกำลังสนุกกับสิ่งที่พวกเขารักด้วยรอยยิ้ม และคอยช่วยเหลือหากพวกเขาลำบาก
  5. อิคิไกมีทั้งระดับใหญ่ ซึ่งเกี่ยวกับแนวทางชีวิตหรือคุณค่าของงาน และอิคิไกระดับเล็กคือการสัมผัสความสุขเล็กๆ น้อยๆ ที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน
  6. อิคิไก เริ่มต้นจากมองหาความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในวันนี้

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล