เกินกว่า 100 ปีแล้วที่โลกของเราฉลองวันสตรีสากลเพื่อทบทวนและส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ มีประเด็นมากมายที่พวกเราเรียกร้องเพื่ออนาคตที่ดีกว่าเดิมของตัวเรา และลูกสาว หลานสาวรุ่นถัด ๆ ไป ตั้งแต่สิทธิเหนือร่างกายของเราเอง สิทธิในครอบครัว จนถึงสิทธิในสังคมภายนอก

หนึ่งในประเด็นที่ฉันในฐานะผู้หญิงวัยทำงานสนใจ คือประเด็นเรื่องที่ทางของผู้หญิงในที่ทำงาน หรือถ้าพูดในภาพกว้างให้เหมาะกับยุคนี้ เราอาจเรียกมันว่า DE&I (Diversity, Equity and Inclusion)

แม้ไม่ใช่การกีดกัน แต่รู้สึกตัวอีกที ก็ต้องยอมรับว่าบางวงการมีผู้หญิงในสัดส่วนน้อยกว่ามาก 

ซึ่งจากประสบการณ์ตรงที่เคยทำงานมา วงการแรกที่ฉันนึกถึงคือ Technology ผู้ชายสาย Tech เป็นคนเนิร์ดที่ฉลาดและน่ารักกับเพื่อนร่วมงานผู้หญิง แต่เมื่อพูดถึงคนดังสาย Tech สุดท้ายเราก็มักนึกถึง Mark Zuckerberg เจ้าพ่อ Facebook หรือ Elon Musk แห่ง Tesla เป็นลำดับต้น จะพูดคำว่าโปรแกรมเมอร์ ภาพแรกที่นึกก็มักเป็นผู้ชาย และแม้แต่ Tech Startup ที่ฉันเคยอยู่ ก็มีสัดส่วนพนักงานผู้ชายถึง 70 เปอร์เซ็นต์

 ในปี 2024 ที่ดูเหมือนเราเดินมาจากวันสตรีสากลครั้งแรกมาไกล ในหนึ่งวงการที่เป็นอนาคตของโลกยุคใหม่ ที่ทางของผู้หญิง ณ วันนี้เป็นอย่างไร และพวกเราทำอะไรกันอยู่

ลองฟังเสียงของ ฝน-กมลพรรณ ลิ้วประเสริฐ และ มิลส์-บุรัสกร สบายยิ่ง Ambassador จากกลุ่ม Women Techmakers Bangkok พื้นที่รวมตัวผู้หญิงสาย Tech ที่ริเริ่มโดย Google เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัยและให้แรงบันดาลใจผู้หญิงในวงการที่สัดส่วนผู้ชายสูงลิ่ว 

สมัยเรียน คณะเรามีผู้หญิงน้อยมาก 

“สมัยเรียน คณะเรามีผู้หญิงอยู่แค่ 10 – 15 เปอร์เซ็นต์” ฝนเริ่มต้นเล่าเส้นทางสาย Tech ของเธอซึ่งหลายคนฟังแล้วคงไม่แปลกใจ 

ขณะที่มิลส์แชร์ข้อมูลที่กูเกิลเองเคยสำรวจไว้แถบยุโรปว่า เหตุผลที่ผู้หญิงปรากฏตัวในวงการนี้น้อย เป็นเพราะปัจจัยสำคัญ อาทิ การไม่เห็นวิชา Computer Science เป็นอาชีพ เนื่องจากนึกภาพ Role Model ที่เป็นผู้หญิงในวงการนี้ไม่ออก และพอหันมองรอบตัว เพื่อนหญิงพลังหญิงที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กันก็บางตา

ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจเช่นกันที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างกูเกิลจะริเริ่มโครงการ Women Techmakers ซึ่งมีสาขากระจายตัวอยู่ในหลากหลายประเทศทั่วโลกเมื่อ 10 ปีก่อน เพื่อให้ผู้หญิงสาย Tech มีพื้นที่รวมตัวเพิ่มพลังให้แก่กัน

แล้วในที่สุด พื้นที่ปลอดภัยแห่งนั้นก็ขยับขยายมาถึงประเทศไทย

พอผู้ชายถามว่าเมื่อคืนดูบอลหรือเปล่า เราก็ไม่รู้จะคุยอะไร

  ทั้งฝนและมิลส์ยืนยันเช่นเดียวกับฉันว่าผู้ชายในวงการนี้ไม่ได้กีดกันและดีกับพวกเรา แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือสุดท้ายเราก็จะมองเห็นบางสิ่งที่เป็นความต่างระหว่างกัน

“การที่วงการนี้มีผู้หญิงน้อย สมมติว่าเรามีบทสนทนาที่ทำงานว่าเมื่อคืนดูบอลหรือเปล่า ผู้หญิงก็อาจจะตอบว่าไม่ได้ดู แล้วจากนั้นเราก็ไม่รู้จะคุยอะไรกัน” ฝนอธิบายความจริงที่เกิดขึ้น

แล้วเมื่อผู้หญิงเป็นคนกลุ่มน้อยในจักรวาล Tech ถึงที่สุดพวกเราก็มองหาพื้นที่ซึ่งเราจะได้เจอคนที่คล้ายกัน

ฝนเล่าว่าตัวเองเริ่มจากการไปร่วมแจมกิจกรรมที่เป็นผู้หญิงล้วนแล้วรู้สึกว่าสบายใจ พอลองถามผู้จัดกิจกรรมเพิ่ม จึงพบว่าเมืองไทยมีกลุ่มที่เรียกว่า Women Techmakers Bangkok อยู่ แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กลุ่ม Inactive ไป เธอจึงตัดสินใจเข้าไปเป็น Ambassador ก่อนที่มิลส์จะตามเข้ามา แล้วทั้งคู่ก็ทำให้โครงการที่เริ่มโดยกูเกิลนี้กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงสาย Tech ของเมืองไทย

Women Techmakers Bangkok มีการทำกิจกรรมทั้งเวอร์ชัน Online และ Offline พวกเธอใช้ช่องทางอย่าง Discord พูดคุยแชร์ข้อมูล ขณะที่ในส่วน Offline กลุ่มมีการจัดอีเวนต์ International Women’s Day ซึ่งเป็นงานเสวนาประจำปี ฉายแสงให้ผู้หญิงไทยในวงการ Tech ผลัดเปลี่ยนกันมาแสดงศักยภาพและสร้างแรงบันดาลใจ นอกจากนี้ยังมี Power Dinner กิจกรรมที่ชวนผู้หญิงสายนี้มาพบเจอเพื่อนใหม่ นั่งกินข้าวแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน 

“มิลส์ได้รู้จักกับน้องคนหนึ่ง พอวันหนึ่งเราตามหาบัตรคอนเสิร์ต Taylor Swift ปรากฏว่าน้องคนนี้กดได้ แล้วเราก็เที่ยวด้วยกัน ได้เป็นเพื่อนกันในชีวิตจริง” มิลส์เล่าถึงมิตรภาพที่ได้จากกลุ่ม ขณะที่ฝนเองก็ได้เจอเพื่อนใหม่ที่ชอบปีนหน้าผาจำลอง ฝนซึ่งไม่เคยปีน แต่เห็นเพื่อนผู้หญิงปีนได้ สุดท้ายก็เลยเปิดใจไปลองปีนกับเขา  

เพราะเป็นพื้นที่ปลอดภัยซึ่งแสนเป็นมิตร เราจึงได้เห็นสาว ๆ สาย Tech แม้แต่ในแบบที่ไม่คุ้นตา เช่น สาวมุสลิม และที่น่ารักมาก ๆ คือพอชุมชนนี้เติบโตขึ้น Women Techmakers Bangkok ก็ได้เปิดประตูต้อนรับผู้ชายสาย Tech เข้ามาร่วมกิจกรรม 

“เขาทำงานฝั่ง UX / UI บอกว่าตัวเองทำงานอยู่ในทีมที่มีผู้หญิง เลยอยากเข้าใจผู้หญิงมากขึ้น” ฝนเล่าถึงเพื่อนใหม่ของเหล่าสาวสาย Tech 

อาจกล่าวได้ว่า ในปี 2024 และต่อจากนี้ เครื่องกีดขวางระหว่างเราอาจไม่ใช่ทัศนคติที่ไม่ดีต่อกัน แต่เป็นความไม่เข้าใจความต่างระหว่างกันที่พร้อมจะหายไปถ้าเราได้คุยกันมากขึ้น เรียนรู้กันมากขึ้น 

และตัวแทนจาก Women Techmakers Bangkok ก็เตรียมตัวพาชุมชนอบอุ่นแห่งนี้สู่ก้าวถัดไป

ความหลากหลายในที่ทำงาน จะช่วยให้เราได้งานดีที่สุด

Women Techmakers Bangkok ยุคปัจจุบันก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ฝนและมิลส์ตั้งใจให้ที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เปิดกว้างรับคนสาย Tech ทุกรูปแบบมาเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจให้กันและกัน โดยสาวสาย Tech ทั้งสองคาดหวังว่าในแต่ละกิจกรรมต่อจากนี้จะเชิญชวนผู้หญิงหน้าใหม่ ๆ ก้าวขึ้นมาเป็นสปีกเกอร์และตั้งใจจะขยับขยายเรื่องการไปร่วมงานกับชุมชนด้านเทคโนโลยีและชุมชนผู้หญิงกลุ่มอื่น ๆ ในเมืองไทยได้ 

“ฝนเรียนรู้ในเชิงที่ว่าฝนไม่เคยจับคอมมูนิตี้หรืออีเวนต์เลย สิ่งที่เจออย่างหนึ่งคือทุกคนเปิด ทุกคนช่วยกันจัด พอดีเพื่อนคนหนึ่งอยู่ออสเตรเลีย เขามาคอยจัดอีเวนต์ด้วยกัน ช่วยหาตากล้อง ช่วยหา MC ให้ คือมองว่าในสังคมไทยก็มีคนที่อยากช่วยอยากสนับสนุนสิ่งนี้ให้เกิด”

การมีอยู่ของ Women Techmakers Bangkok ช่วยให้ผู้หญิงไม่โดดเดี่ยว และหากชุมชนนี้แข็งแรง สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงที่สนใจด้านเทคโนโลยีเข้ามาอยู่ในวงการนี้เพิ่มขึ้น วงการเทคโนโลยีก็จะยิ่งพัฒนา เพราะความหลากหลายคือสิ่งจำเป็นในการสร้างสรรค์งานที่ดีและตอบโจทย์ผู้ใช้ 

ฝนยกเคสที่ชัดเจนขึ้นมาว่า เคยมีบริษัทด้านเทคโนโลยีต้องการออกแบบ Smart Thermometer แต่ทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ไม่มีผู้หญิงอยู่เลย สุดท้ายแล้วเทอร์โมมิเตอร์ที่ได้ก็เป็นเครื่องวัดที่ไม่สมบูรณ์แบบ อุณหภูมิที่เครื่องระบุว่า ‘พอเหมาะ’ ก็เป็นอุณหภูมิที่ผู้หญิงอยู่แล้วหนาวยะเยือก ไม่สบายตัว

“ถ้ามีคนหลากหลาย เราจะได้ความคิดและฟีดแบ็กใหม่ ๆ” ฝนซึ่งปัจจุบันกำลังเรียนต่อปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สะท้อนความคิด

 การมีอยู่ของผู้หญิงในส่วนต่าง ๆ ของสังคมจึงไม่เพียงเป็นสิทธิ์ที่เราควรได้ แต่การมีอยู่ของเรายังช่วยเติมเต็มสังคมให้เคลื่อนต่อไปข้างหน้าอย่างสง่างาม และเพราะอย่างนั้น ความเท่าเทียมเสมอภาคที่พวกเราเปล่งเสียงเรียกร้องมาตั้งแต่กว่าร้อยปีก่อน จึงไม่ได้เป็นเพียงสิ่งที่มีคุณค่ากับผู้หญิง แต่เป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อสังคม

ในวันสตรีสากล ขอให้ผู้หญิงทุกคนและสังคมเติบโตอย่างหลากหลายงดงาม 

ภาพ : Women Techmakers Bangkok

สำหรับผู้ที่สนใจ เข้าร่วมกิจกรรม International Women’s Day 2024 ธีม Impact the Future ของ Women Techmakers Bangkok ได้ที่ K+ Building ในวันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2567 ลงทะเบียนได้ฟรีที่นี่ และติดตามข่าวสารกิจกรรมของชุมชนได้ที่ Facebook : Women Techmakers Bangkok และ Instagram : wtmbkk

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์