Woman รวมกับคำว่า Manifesto กลายเป็น ‘Womanifesto’ หรือถ้อยแถลงของเหล่าสตรี

Womanifesto เป็นการรวมตัวของศิลปินหญิงยุคกลาง 90 ยุคที่ไร้ซึ่งที่ยืนในวงการศิลปะให้พวกเธอ ด้วยความหวังว่าจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนความคิด การพูดในสิ่งที่อยากจะพูด ทักษะในการทำงานศิลปะ ไปจนถึงความสุขและความเจ็บปวดในฐานะผู้หญิง

จนถึงปี 2023 พวกเธอก็ยังอยู่ด้วยกัน แม้มีสมาชิกเข้าออกบ้างตามแต่สถานการณ์ชีวิต

ผ่านการจัดนิทรรศการมาหลายครั้ง ผ่านการจัดเวิร์กช็อปในชนบทมาหลายหน แต่ละครั้งล้วนมาในธีม ‘ไม่มีธีม’ ไม่มีแม้กระทั่งเป้าหมายชัดเจน มุ่งเน้นไปที่กระบวนการการมีส่วนร่วมของศิลปินหญิงหลากหลายวัย หลากหลายวัฒนธรรม (แม้จะเริ่มจากไทย แต่ตอนนี้เครือข่ายแผ่ขยายไปแทบทุกทวีปแล้ว)

จะเรียกว่านี่เป็นกลุ่มคนที่ปล่อยไหลตามใจฝันที่สุดกลุ่มหนึ่งก็ว่าได้ แต่ความล่องลอยนี้ก็ก่อให้เกิดสิ่งดี ๆ ที่คาดไม่ถึงมากมาย ทั้งมิตรภาพของศิลปินหญิงนานาประเทศ และแรงบันดาลใจที่เผื่อแผ่ไปถึงคนอื่น ๆ ในสังคม โดยเฉพาะชุมชนที่ Womanifesto ได้เข้าไปคลุกคลี

26 ปี Womanifesto จากกลุ่มนักเคลื่อนไหวไทย สู่พื้นที่แสดงออกของศิลปินหญิงนานาประเทศ
26 ปี Womanifesto จากกลุ่มนักเคลื่อนไหวไทย สู่พื้นที่แสดงออกของศิลปินหญิงนานาประเทศ

นิทรรศการ ‘วูแมนิเฟสโต: ความล่องไหลที่ต่อเนื่อง’ ครั้งนี้ เป็นแหล่งรวมงานตลอด 26 ปีของพวกเธอที่บอกเล่าความเป็นศิลปินหญิงเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

ก่อนจะไปเดินชมของจริง เรามาฟัง 4 สมาชิกรุ่นแรกเริ่ม อย่าง ตุ๊ก-นิตยา เอื้ออารีวรกุล, ช้าง-ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ, วาร์ช่า นายร์ และ ตุ้ม-ปรีณัน นานา เล่าย้อนถึงเหตุการณ์ที่ทำให้การรวมตัวนี้เกิดขึ้น จนผ่านร้อนผ่านหนาวมาเป็นเครือข่ายที่แข็งแรงจนถึงทุกวันนี้

26 ปี Womanifesto จากกลุ่มนักเคลื่อนไหวไทย สู่พื้นที่แสดงออกของศิลปินหญิงนานาประเทศ

1995

“ทุกครั้งที่มีการจัดแสดงงานในประเทศไทย ผู้ชายมักได้รับการคัดเลือกก่อน ส่วนผู้หญิงเป็นรองตลอด หรือบางครั้งก็แทบไม่มีงานของผู้หญิงเลย”

ในฐานะคนรุ่นหลัง เราเริ่มบทสนทนาด้วยการถามเหล่าผู้บุกเบิก Womanifesto ว่าบรรยากาศวงการศิลปะในยุค 90 นั้นเป็นประมาณไหน พี่ตุ๊ก นิตยา ก็ตอบมาอย่างชัดเจน ปัจจุบันเธอเป็นผู้ใหญ่ของกลุ่ม ตรงข้ามกับยุคเริ่มต้นที่เคยเป็นศิลปินอ่อนวัยที่สุด

แม้ว่าผู้หญิงจะทำงานศิลปะกันเหมือนกับผู้ชาย แต่เมื่อแต่งงาน มีลูก บทบาททางสังคมในการเป็นผู้ดูแลทำให้พวกเธอมีเวลาทำงานศิลปะน้อยลง จนหลายคนอาจคิดไปว่า ‘ผู้หญิงไม่ได้ซีเรียสกับการทำงานในวงการศิลปะ’ ทั้ง ๆ ที่ตุ๊กเองยืนยันได้ว่า ถึงเธอจะพักไปเลี้ยงลูกเป็น 20 ปี เธอก็ยังอยากทำอยู่เหมือนเดิม

26 ปี Womanifesto จากกลุ่มนักเคลื่อนไหวไทย สู่พื้นที่แสดงออกของศิลปินหญิงนานาประเทศ
26 ปี Womanifesto จากกลุ่มนักเคลื่อนไหวไทย สู่พื้นที่แสดงออกของศิลปินหญิงนานาประเทศ

“โครงสร้างในวงการมันเกิดมาจากสายตาของผู้ชายเป็นใหญ่” ช้าง ภาพตะวัน กล่าวอย่างหนักแน่น

“ทำไมผู้หญิงถึงไม่มีใครเป็นอัจฉริยะทางศิลปะเลย จริงเหรอ ทำไมไม่มีแวนโก๊ะผู้หญิง เพราะอะไรล่ะ เพราะเขาไม่เคยมองว่าอันนี้มันคือศิลปะ เขามองด้วยสายตาว่า นั่นคือทอง ส่วนอันนี้เป็นขี้”

ภาพตะวันผู้เป็นลูกสาวของ ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ นักวาดจิตรกรรมฝาผนังในตำนาน และเธอเองก็เป็นมาสเตอร์ทางจิตรกรรมฝาผนังผู้หญิงคนแรกของประเทศ

เธอบอกว่าตัวเองโตมาในวัด จึงไม่มีต้นแบบบทบาทผู้หญิงให้เธอดู ในงานบวชผู้หญิงก็เป็นคนคอยสนับสนุน ถือหมอน เกาะชายผ้าเหลือง ไม่มีสิทธิ์บวช จะนั่งเขียนจิตรกรรมฝาผนังก็ได้แต่หันหลังให้โลก วาดเขียนเรื่องราวของผู้ชายซึ่งไม่เกี่ยวอะไรกับเธอ

วงการศิลปะก็ไม่ต่างจากในวัดเท่าไหร่

26 ปี Womanifesto จากกลุ่มนักเคลื่อนไหวไทย สู่พื้นที่แสดงออกของศิลปินหญิงนานาประเทศ

เมื่อไม่มีพื้นที่ให้ผู้หญิงมากนัก ผู้หญิงก็ไม่อยากรอให้ใครมาประทานให้ และลงมือสร้างกันเองในปี 1995 เริ่มต้นที่ ‘ศูนย์ศิลปะบ้านตึก’ ซึ่งเป็น Alternative Art Space ของ จุมพล อภิสุข

ประกอบด้วยศิลปินหญิงที่เป็นนักเคลื่อนไหว อย่าง จิตติมา ผลเสวก, มิงค์ นพรัตน์, ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ ที่สำคัญคือคู่รักของจุมพล อย่าง จันทวิภา อภิสุข ซึ่งทำมูลนิธิเรียกร้องสิทธิให้ผู้หญิงบริการ

และนิทรรศการ ‘ประเวณี-ประเพณี’ (TRADISEXION) ก็ถูกจัดขึ้น โดยสื่อสารเรื่องหญิงบริการด้วย สิทธิสตรีในมุมหลากหลายด้วย มีศิลปินหญิงมากมายที่ได้รับเชิญไปเข้าร่วม จิระนันท์ พิตรปรีชา ผู้เป็นนักเขียนก็เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ครั้งนั้น

26 ปี Womanifesto จากกลุ่มนักเคลื่อนไหวไทย สู่พื้นที่แสดงออกของศิลปินหญิงนานาประเทศ

1997

2 ปีพ้นผ่าน วันเวลาล่วงเลยเข้าใกล้ยุค 2000 จากกลุ่มศิลปินหญิงชาวไทยที่ชักชวนกันทำโปรเจกต์ เมื่อเชียงใหม่มีงาน ‘เชียงใหม่จัดวางสังคม’ ก็ได้แผ่ขยายไปสู่ศิลปินหญิงต่างประเทศที่บินมาร่วมงาน จากอินโดนีเซียบ้าง ญี่ปุ่นบ้าง ปากีสถานบ้าง สหรัฐฯ บ้าง 

ชื่อ Womanifesto ถูกตั้งขึ้นมาในตอนนั้น

“ช่วงนั้นเป็นช่วงบูมของ Artist Network เลย” ตุ๊กเล่า

เป้าหมายหลักของ Womanifesto คืออะไร – เราถาม

“เราตั้งใจรวมศิลปินเข้าด้วยกัน มาใช้เวลาด้วยกัน แต่ไม่ได้ตั้งเป้าหมายอะไรนัก” วาร์ช่า ศิลปินชาวอินเดีย หนึ่งในสมาชิกยุคแรกเริ่มตอบ เมื่อก่อนเธอปักหลักอยู่กรุงเทพฯ แต่ตอนนี้ย้ายกลับไปอินเดียแล้ว

ไม่มีหรอก 5-year Plan หรือ 10-year Plan ไม่ใช่วิถีของที่นี่ คิดอะไรขึ้นได้ก็ค่อยทำ

“It is to be fluid, to go with the flow, to response to the situation” วาร์ช่าอธิบายยิ้ม ๆ

26 ปี Womanifesto จากกลุ่มนักเคลื่อนไหวไทย สู่พื้นที่แสดงออกของศิลปินหญิงนานาประเทศ

ใจความของ Womanifesto คือการแลกเปลี่ยนความรู้และพลังงานดี ๆ ทั้งกับชุมชนต่าง ๆ ที่พวกเธอได้ไปร่วมทำกิจกรรมตลอด 26 ปีที่ผ่านมา ทั้งกับศิลปินกันเองซึ่งมาจากหลากหลายวัฒนธรรม หลายเจเนอเรชัน บางครั้งเด็กที่สุดอายุ 24 ปี และมีผู้อาวุโสที่สุดอายุถึง 75 ปี ก็ลองทายดูว่าเขาคุยอะไรกัน

ผู้มาร่วมกิจกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิง ยินดีต้อนรับทุกเพศ หากศิลปินนั้นหลัก ๆ แล้วเป็นผู้หญิง วาร์ช่าบอกว่าปกติแล้วนิทรรศการใหญ่ ๆ ในยุคนั้นมีศิลปินชายราวร้อยละ 90 ส่วนผู้หญิงอยู่ใน 10 ที่เหลือ Womanifesto จึงกระทำตรงข้าม 

“ศิลปินหญิงจะกำหนดหัวข้อที่เราอยากพูด แล้วเชิญศิลปินชายเข้ามาทีหลัง” เธอว่า สิ่งที่น่าสนใจคือพวกเธอรับแทบทุกงานที่ศิลปินหญิงส่งมาจัดแสดง ด้วยเห็นคุณค่าของทุกคน ทุกอย่าง และความงามของสิ่งเล็กสิ่งน้อย

“กลุ่มนี้มีพลังตรงที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ พลังอยู่ที่ความต้องการที่จะทำ เพราะมันก่อกำเนิดมาจากตรงนั้นตั้งแต่แรก” ภาพตะวันเอ่ย “ที่สำคัญคือมันสลายกระบวนการการแสดงนิทรรศการ สลายกระบวนการความคิดว่า ถ้าส่งรูปนี้ไปแล้วจะชนะการประกวด โดยไม่ได้ตั้งคำถามเลยว่าใช้สายตาใครเป็นตัววัด”

26 ปี Womanifesto จากกลุ่มนักเคลื่อนไหวไทย สู่พื้นที่แสดงออกของศิลปินหญิงนานาประเทศ

2001

หลังจากนั้น Womanifesto ก็จัดนิทรรศการร่วมกันในกรุงเทพฯ อีก จนกระทั่งวาร์ช่าเอ่ยปากชวนไปจัดเวิร์กช็อปที่ต่างจังหวัด พวกเขาเลือกไร่บุญบันดาล อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นที่ทำการที่แรก และนี่ก็คือครั้งที่ ตุ้ม ปรีณัน เข้าร่วมกลุ่ม

แต่จะเรียกว่าเวิร์กช็อปก็คงไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะไม่มีคำว่าเวิร์ก ไม่ต้องทำงาน พวกเขาแค่อยู่ที่นั่นด้วยกัน มีบทสนทนาร่วมกัน แบ่งปันความสุขเล็กใหญ่และความทุกข์ทั้งทางกาย-ใจที่เข้ามาในชีวิตแต่ละคน

วาร์ช่าบอกว่าจริง ๆ แล้วผู้หญิงรวมตัวกันมาแต่ไหนแต่ไร ในสังคมเกษตรกรรมอย่างไทยหรืออินเดีย ประเทศของเธอ สตรีก็ล้อมวงพูดคุยกันขณะทำงาน ศิลปินอย่างพวกเธอเองก็เชื่อในการรวมกลุ่มแบบนั้น ไม่ว่าจะมาจากประเทศไหน ผู้หญิงในสังคมชายเป็นใหญ่ได้มาอยู่ด้วยกันก็คุยกันได้ทุกเรื่อง

26 ปี Womanifesto จากกลุ่มนักเคลื่อนไหวไทย สู่พื้นที่แสดงออกของศิลปินหญิงนานาประเทศ

“คุณแน่ใจเหรอว่าเราไม่ต้องทำงานอะไรสักชิ้น” 2 สาวศิลปินชาวญี่ปุ่นถามวาร์ช่าอย่างข้องใจ 

ศิลปินชาวอินเดียก็ย้ำไปอย่างชัดเจน “ใช่ ไม่ต้องทำจริง ๆ” ถ้าอยู่ไปแล้วอยากทำก็ค่อยว่ากันทีหลัง

หลังจากกลับมาครั้งนั้น วาร์ช่าได้เล่าถึงเวิร์กช็อปครั้งนี้ลงนิตยสาร art4d ฉบับ DEC 01 – JAN 02 พาดหัวตัวเบ้อเริ่มว่า ‘No work is good work’ 

26 ปี Womanifesto จากกลุ่มนักเคลื่อนไหวไทย สู่พื้นที่แสดงออกของศิลปินหญิงนานาประเทศ

หลายคนคงเห็นว่าราว 5 ปีที่แล้ว กระแสชีวิต Productive กำลังมาแรงในไทย ต่างคนต่างออกมาแชร์เทคนิคการจัดสรรเวลา 24 ชั่วโมงให้มีประสิทธิภาพที่สุด ก่อให้เกิด ‘ผลลัพธ์’ ที่มีคุณภาพที่สุด แต่เมื่อช่วงโรคระบาดมาถึง กระแสก็เกิดตีกลับ กลายเป็นว่าผู้คนเริ่มพูดถึงการพักผ่อน ใช้ชีวิตตามใจ ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตมากขึ้น บางทีก็ไปจนถึงการต่อต้านทุนนิยมในระบอบชายเป็นใหญ่

พี่สาวศิลปินเหล่านี้เดินทางสายนี้กันมาตั้งนานแล้ว

“ในโลกของศิลปะ มีความกดดันว่าต้องสร้างงานหรือจัดนิทรรศการ เราเลยทำให้ที่นี่เป็นพื้นที่หายใจ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เหมือนได้ชาร์จพลัง” ตุ้ม ผู้เป็นทั้งภัณฑารักษ์และผู้ศึกษาศาสตร์การเยียวยากล่าว

26 ปี Womanifesto จากกลุ่มนักเคลื่อนไหวไทย สู่พื้นที่แสดงออกของศิลปินหญิงนานาประเทศ

เมื่อมาใช้พื้นที่ในชุมชน แน่นอนว่านอกจากจะได้แลกเปลี่ยนกับศิลปินกันเอง พวกเธอยังได้แลกเปลี่ยนกับชาวบ้านในพื้นที่ มีพ่อแก่แม่แก่มาให้ความรู้ด้านการทำงานฝีมือหลายอย่าง สานกระชังจับปลา ทอเสื่อ ทอผ้า ย้อมผ้า ซึ่งล้วนเป็นทักษะเฉพาะตัวของชุมชนที่ไม่ได้มีการจดบันทึก

 คาร์ล่า ซักเซอ ศิลปินชาวเยอรมัน เมื่อได้ความรู้การสานหนังสือพิมพ์จากกลุ่มแม่บ้านก็ประทับใจ ลองสร้างงานของตัวเองเป็นรูปอวัยวะต่าง ๆ บรรจุถ้อยคำที่คนในชุมชนคิดเห็นไว้ในอวัยวะ แล้วทำแบบนี้ในอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศ รวมแล้วกว่า 20 ชิ้น ซึ่งฝั่งชุมชนเองก็ได้รับแรงบันดาลใจจากการที่คาร์ล่านำเทคนิคที่เขาใช้กันปกติไปสร้างสรรค์สิ่งใหม่เช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นการแลกเปลี่ยนทางอ้อม

“มันยังไม่เห็นผลว่าเขาได้อะไรจากเราหรอก แต่เราคิดว่าต้องมีวิธีคิดหรืออะไรสักอย่างที่จะอยู่ในตัวเขา จากการที่เขาได้มาร่วมงานกับเราในแต่ละวัน” ตุ๊กว่า

“Womanifesto มีรูปแบบที่ดูเหมือนไร้รูปแบบ” ตุ้มสรุป

“เหมือนกับการตั้งท้อง ถ้าไม่ได้อัลตราซาวนด์ก็ไม่รู้ว่าได้ลูกผู้หญิงหรือผู้ชาย รู้แต่ว่าจะมีลูกออกมา อันนี้ก็เหมือนกัน มันเป็นกระบวนการที่บางครั้งก็ไม่รู้หรอกว่าจะเกิดอะไรออกมาจากตรงนั้น แต่สุดท้ายก็ได้สิ่งที่สวยงามออกมา”

Finally, 2023

ผ่านมา 26 ปีเต็มตั้งแต่ได้ชื่อกลุ่ม ก็มีศิลปินหญิงเข้า-ออกกลุ่มไปมาตามวาระในชีวิตของแต่ละคน ปัจจุบันมีสมาชิกเกือบ 30 คน ประกอบด้วยคนไทย อินเดีย ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ เยอรมนี และปากีสถาน

แก๊งสมาชิกรุ่นเก่าทั้ง 4 ยังคงอยู่กันเหนียวแน่น แม้วาร์ช่าจะย้ายไปอินเดีย ภาพตะวันจะไปอยู่กับครอบครัวที่ออสเตรเลีย ก็ยังติดต่อกันอยู่ และตัดสินใจร่วมกันว่าจะตั้ง ‘บ้านวูแมนิเฟสโต’ ไว้เป็นศูนย์กลางของทุกคนที่จังหวัดอุดรธานี บ้านเกิดของตุ๊กที่เธอเพิ่งย้ายกลับไปอยู่ โดยเวิร์กช็อปครั้งล่าสุดจัดขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ด้วยทุนของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม

“คราวนี้เราโฟกัสไปที่ Education Program ให้ความรู้นักเรียนในพื้นที่ เชิญนักเรียนประถม-มัธยมในหมู่บ้านมา ส่วนระดับมหาวิทยาลัย เราก็เชิญ ม.ขอนแก่น กับ ม.มหาสารคาม มา” ตุ้มเล่า

มี ภัทรี ฉิมนอก จากเชียงรายที่แสดง Performance Art ให้เด็ก ๆ ดูเป็นครั้งแรก จากนั้นก็ให้เด็ก ๆ ลองทำการแสดงของตัวเอง มี โบว์ มณีรัตน์ จากชุมพรที่สนใจเรื่องวัฒนธรรมพื้นบ้าน แสดงออกผ่าน Installation Art สอนทำ Monoprint จากวัสดุพื้นบ้าน และมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนอ้วนกลม แฮปปี้ฟาร์ม จากอุดรธานีที่ทำเรื่องนวัตกรรมสีธรรมชาติมาให้ความรู้แก่เยาวชน สอนเด็ก ๆ ย้อมผ้า

“ถามว่าทำไมเป็นภาคอีสาน เพราะเราเองก็เป็นคนอีสาน” ตุ๊กอธิบาย “เราอยากสนับสนุนให้เขามีโอกาสที่ดี ปกติเด็ก ๆ จะไม่มีโอกาสได้เห็นอะไรแบบนี้ ที่นั่นไม่มีครูศิลปะด้วยซ้ำ ซึ่งจริง ๆ แล้วศิลปะสำคัญมากสำหรับเด็ก”

พวกเธอยังเล่าถึง ‘LASUEMO’ กิจกรรมที่รวมเอาสมาชิกแต่ละประเทศไว้ด้วยกัน

LASUEMO มาจากคำว่า LAst SUnday of Each MOnth หมายถึงทุกวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือน สมาชิกที่สะดวกจะมาพบกันทาง Zoom พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ทำโปรเจกต์ร่วมกัน กิจกรรมนี้เริ่มมาตั้งแต่โควิดที่มาเจอกันไม่ได้ แต่ทุกวันนี้ก็ยังดำเนินอยู่ตลอด

ซึ่ง “อากาศที่บ้านคุณเป็นยังไงบ้าง ร้อนไหม” ก็เป็นประโยคเริ่มต้นการพบปะในทุกครั้ง เพราะพวกเธออยู่กันทั่วทุกมุมโลก

นิทรรศการ ‘วูแมนิเฟสโต: ความล่องไหลที่ต่อเนื่อง’ ครั้งนี้ เป็นหนึ่งใน Master Series ของ BACC เป็น Archive งานศิลปะทั้งเก่าและใหม่ของศิลปินที่เดินทางร่วมกันมาตลอด 2 ทศวรรษ โดยไม่มีธีมเป็นพิเศษ 

ตุ๊ก นิตยา ทำงานสะท้อนบ้านเกิด ‘ออนซอนอีสาน’ (I am Isan) นำผ้ายาวเฟื้อยที่ชาวบ้านทอมาแช่บ่อน้ำในชุมชน แล้วผสมดินแดงเข้าไป สื่อถึงแนวคิดทุนนิยมที่เบียดบังธรรมชาติอันเรียบง่าย ข้าง ๆ กันก็มีงาน ‘Concern’ นำกระดาษที่ใช้แล้วของตัวเอง ลูก และภาพวาดของเด็ก ๆ นับร้อยแผ่นสมัยที่สอนศิลปะเด็ก ซึ่งเป็นตัวแทนของช่วงเวลา มาแช่น้ำเพื่อสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาใหม่ในช่วงโควิด สื่อถึงการนำสิ่งใกล้ตัวที่โดนละเลยมาเป็นจุดสนใจอีกครั้ง

ช้าง ภาพตะวัน นำผลงาน ‘ตั้งกำแพง-สร้างใหม่’ (Building up a Brick Wall) ที่เคยทำเมื่อยุคการเมืองเหลือง-แดง มีการใช้ความรุนแรง กลับมาจัดแสดงอีกครั้ง เพราะเห็นว่าแม้วันเวลาจะผ่านไป แต่กำแพงที่ว่าก็ยังไม่หายไปไหน โดยเทคนิคการทอผ้านี้ ภาพตะวันเรียนรู้จาก ‘คุณแม่ปาน’ เมื่อครั้ง Womanifesto ไปจัดเวิร์กช็อปกันที่ไร่บุญบันดาล

ตุ้ม ปรีณัน ร่วมกับ อาจารย์พิม สุทธิคำ ศิลปินเครื่องปั้นดินเผา พาน้อง ๆ นักเรียนในกันทรลักษ์ที่แนะนำสรรพคุณสมุนไพรในทุ่งให้พี่ ๆ ใช้ดินเหนียวขึ้นรูปพืชพรรณแต่ละชนิด แสดงให้เห็นคุณค่าของสิ่งเล็กน้อย สื่อสารเรื่องการรับรู้ของเวลา และเรียกผลงานว่า ‘Full Circle’ ถ้าใครได้มาชมนิทรรศการก็มาปั้นดินเหนียวที่ตุ้มเตรียมไว้ให้ได้เช่นกัน

วาร์ช่า สื่อสารเรื่องคำสอนที่ผูกติดร่างกายผู้หญิง ด้วยเซตภาพคอลลาจ ‘Transfiguration’ ที่รวมเอาฟิล์มเอกซเรย์ชิ้นส่วนร่างกายสตรีในครอบครัวกับลายมือของเธอไว้ด้วยกัน และมีชิ้นส่วนกลม ๆ ของหนังสืออินเดียโบราณ (ซึ่งไม่ควรเอ่ยนาม) ที่กำหนดให้ผู้หญิงมีสถานะทางสังคมด้อยกว่า เรียงไว้ชั้นบนสุด เธอใช้ชิ้นส่วนหนังสือนี้ทำศิลปะหลากรูปแบบตั้งแต่ ปี 1997 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการถอนพิษระบอบที่กดผู้หญิงไว้

ทั้งยังมีงานของศิลปินมากมาย รวมถึงรุ่นใหญ่อย่าง กัญญา เจริญศุภกุล และ ศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ จัดแสดงไว้ส่วนแรกของนิทรรศการ

ไฮไลต์หนึ่งของงานคือ ‘WeMend’ ซึ่งเกิดจากการนั่งหน้าคอม ซ่อมเสื้อผ้าร่วมกัน ในโปรเจกต์ LASUEMO Mending Workshop แต่คราวนี้เหล่าศิลปินจะเตรียมเข็มเตรียมด้ายไว้ เปิดให้ผู้มาชมนิทรรศการนำเศษผ้าที่มีเรื่องราวของตัวเองมาเย็บต่อกันให้ยิ่งใหญ่ด้วย มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Womanifesto กันเถอะ

“Womanifesto เกิดในเมืองไทย แต่คนไทยไม่ค่อยรู้จัก ในประวัติศาสตร์ศิลป์ไทยเองก็ไม่ค่อยมีชื่อเราอยู่ในนั้น ในขณะที่นักประวัติศาสตร์ศิลป์หรือนักวิชาการทางศิลปะในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย ญี่ปุ่น มีการนำไปศึกษา บางคนที่เป็นอาจารย์ก็นำไปสอนหนังสือ

“พูดตรง ๆ พี่ดีใจมากที่ทางหอศิลปฯ เขาเชิญพวกเรามาจัดใน Master Series ที่ปกติเป็นการแสดงงานของศิลปินอาวุโสหรือศิลปินชั้นครู” ตุ้มกล่าวอย่างตื้นตัน “ทำมา 20 กว่าปีแล้ว ถ้าเป็นศิลปินหญิงคนหนึ่ง เราก็เดินทางมาถึงวัยอาวุโสแล้วเหมือนกันนะ”

หวังว่าการกลับมาจัดนิทรรศการครั้งนี้จะทำให้ชื่อของ Womanifesto ติดอยู่ในใจของใครหลายคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีโอกาสได้มาดู เชื่อว่าถ้ามีใครได้แรงบันดาลใจไปทำกิจกรรมของตัวเองต่อไป พี่ ๆ ศิลปินเหล่านี้จะต้องดีใจแน่ ๆ

นิทรรศการ ‘วูแมนิเฟสโต: ความล่องไหลที่ต่อเนื่อง’

จัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8

ระหว่างวันที่ 12 กันยายน – 30 ธันวาคม พ.ศ. 2566 (พิธีเปิด วันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2566 เวลา 16.00 น.)

เวลาทำการ 10.00 – 20.00 น.

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

ณัฐวุฒิ เตจา

เกิดและโตที่ภาคอีสาน เรียนจบจากสาขาศิลปะการถ่ายภาพ สนใจเรื่องราวธรรมดาแต่ยั่งยืน ตอนนี้ถ่ายภาพเพื่อเข้าใจตนเอง ในอนาคตอยากทำเพื่อเข้าใจคนอื่นบ้าง