“Colors are the smiles of Nature” – Leigh Hunt
ผู้หลงใหลโลกศิลปะทราบดีว่า เรานำสีจากธรรมชาติหลายอย่างมาทดแทนสีจากเคมีได้ อาทิ สีน้ำตาล สีเทา สีน้ำตาลเข้ม สกัดมาจากดินชนิดต่าง ๆ ที่มีสีไม่เหมือนกัน สีจากธรรมชาติส่วนใหญ่ได้มาจากสีของดอกไม้ ผลไม้ ใบไม้ เปลือกไม้นานาชนิด อาทิ ดอกคำฝอย ขมิ้นชัน ให้สีเหลือง สีส้ม สีแดงอมส้ม ดอกอัญชันให้สีน้ำเงิน ดอกกระเจี๊ยบให้สีแดง เมล็ดคำแสดให้สีแสดหรือสีส้มอมแดง เปลือกเพกาให้ได้ทั้งโทนสีเขียว-เหลือง ฝักของต้นราชพฤกษ์หรือคูน ให้สีส้มอ่อนอมเทา
แต่ใครจะคิดว่า ฟางข้าวที่แทบจะไม่มีประโยชน์ ก็นำมาทำสีจากธรรมชาติได้เช่นกัน
สองสามีภรรยา ก่อคเณศ รุ้งสันเทียะ และ พสธร เดชศิริอุดม แห่งศูนย์การเรียนรู้อ้วนกลม แฮปปี้ฟาร์ม จังหวัดอุดรธานี ได้ริเริ่มการทดลองใช้วัตถุดิบในธรรมชาติเพื่อทดลองทำสีย้อมจากธรรมชาติ มานานนับสิบปี ตั้งแต่ดิน เปลือกไม้ ใบไม้ ผลไม้ ฯลฯ นำมาย้อมสีผ้า และนำไปเผยแพร่ให้กับชุมชนทอผ้าทั่วประเทศ จนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญในเรื่องสีย้อมจากธรรมชาติ

ก่อคเณศจบการศึกษาด้านจิตรกรรม ประติมากรรม จากเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา เป็นศิลปิน นักวาดภาพ นักเขียน ช่างภาพอิสระ เคยทำงานเป็นนักวิจัยชุมชนที่สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ก่อนจะมาก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้อ้วนกลม แฮปปี้ฟาร์ม ร่วมกับภรรยา คุณพสธร หรือ หยก อดีตครูโรงเรียนรุ่งอรุณ ผู้ผันตัวเองมาพัฒนาผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบในชุมชนเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการสอนการแปรรูปวัตถุดิบจากธรรมชาติในการผลิตสีต่าง ๆ
ล่าสุด ทั้งสองคนได้ค้นพบนวัตกรรมสีจากฟางข้าว ทดลองทำจนประสบความสำเร็จ เกิดเฉดสีใหม่ ๆ จากฟางข้าวหลายสายพันธุ์ และอายุของฟางข้าวมากมายหลายสิบสี ตั้งแต่เขียว ชมพู ม่วง คราม น้ำตาล เหลือง น้ำเงิน ดำ ฯลฯ นำมาทำสีย้อมผ้า สีวาดรูปทั้งแบบสีน้ำหรือสีอะคริริก สีผสมอาหาร สีทาบ้าน ฯลฯ


ถือเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจมาก ในยุคที่นำเอาผลผลิตจากธรรมชาติมาใช้ประโยชน์สูงสุด
ก่อคเณศวัย 44 เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า “ปัญหาของโลกปัจจุบันคือ การจัดการวัตถุดิบภาคการเกษตรที่เหลือ มีการนำไปใช้ประโยชน์น้อยมาก และกลุ่มผู้ทำงานสิ่งทอ ซึ่งส่วนใหญ่คือเกษตรกรในชุมชนต่าง ๆ ยังนิยมใช้สีเคมีและสีสังเคราะห์ย้อมผ้า และทิ้งน้ำย้อมลงสู่แม่น้ำลำคลองในชุมชน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เราจึงเล็งเห็นคุณค่าและประโยชน์จากวัตถุดิบในการเกษตรและในธรรรมชาติ เข้ามามีส่วนช่วยขับเคลื่อนเรื่องสีจากธรรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป จึงเล็งเห็นว่านวัตกรรมนี้จะเป็นแนวทางงานสร้างสรรค์กับชุมชน“
ที่ผ่านมาสองสามีภรรยาพยายามคิดค้น ดัดแปลงวัตถุดิบเหลือใช้จากธรรมชาติกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
คุณพสธรเล่าประสบการณ์ครั้งหนึ่งว่า
“ช่วง พ.ศ. 2560 เคยไปเอาเปลือกทุเรียนที่ทิ้งเป็นขยะมาเผาเป็นขี้เถ้า และค้นพบว่าขี้เถ้าจากเปลือกทุเรียนเกือบทุกชนิดมีกำมะถันและแปรรูปเป็นน้ำด่างให้ความเข้มข้นสูง ใช้ทดแทนโซดาไฟ สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อคนและสิ่งแวดล้อม ในงานสิ่งทอ ล้างเส้นไหม ย้อมคราม และเรามาเผยแพร่จนก่อให้เกิดกระแสเก็บเปลือกทุเรียนมาทำน้ำด่างให้เป็นประโยชน์”
สองสามีภรรยายังคิดค้นการทำสีบาติกจากสีโคลน พัฒนาสีแดง สีม่วง เหลือง น้ำตาลจากใบสักที่มีมากมายในภาคเหนือ รวมถึงพัฒนาดอกทองกวาวและยางพาราให้เกิดสีชนิดต่าง ๆ

ล่าสุดพวกเขาได้ลองพัฒนาฟางข้าวที่ถูกทิ้งไว้มากมายตามหัวไร่ปลายนาหลังการเก็บเกี่ยว ให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้กลายเป็นสีธรรมชาติ
กระบวนการผลิตสีจากฟางข้าวมีขั้นตอนพอสรุปได้คือ เตรียมฟางข้าว นำไปล้างทำความสะอาด ต้มจนเดือดแล้วเติม สารส้ม เกลือ ลงไป รวมทั้งน้ำตาลทราย นำฟางข้าวไปหมัก แช่เอาไว้อย่างน้อย 6 – 10 ชั่วโมงจนฟางข้าวนิ่มหรือเปื่อย จากนั้นนำไปต้ม นำผ้าฝ้ายมาจุ่มทดสอบสี หากสีติดคงที่ดีแล้วให้กรอกเอาแต่น้ำสีที่เคี่ยวได้ออกมา
จากนั้นนำวัตถุดิบกลุ่มยางไม้ ยางพารา เมล็ดมะขาม ใส่แก้วสำหรับคนสีให้จับกัน จากนั้นทดสอบอีกครั้งด้วยการนำสีมาสกรีนผ่านบล็อกสกรีนหรือใช้พู่กันระบายสีบนผ้า เสร็จแล้วนำไปทดสอบคุณภาพสีเป็นครั้งสุดท้ายด้วยการซักล้างว่าสีจะติดคงทนไหม
วิธีพื้นฐานทั่วไปในการทำสีจากธรรมชาติ แต่อันที่จริงมีเคล็ดลับอีกหลายอย่างที่ไม่ขอเปิดเผย เพื่อปกป้องลิขสิทธิ์ของสองสามีภรรยา
“เราทดลองจนพบว่า ฟางข้าวชนิดต่าง ๆ นำมาประดิษฐ์สีได้ 64 สี อาทิ ฟางข้าวต้นอ่อน เพิ่งเกี่ยวมามีสีเขียว ฟางข้าวแห้งมีหลายสีหลายเฉด อาทิสีดำ เหลือง น้ำตาล ฟางข้าวก่ำให้สีม่วง ฯลฯ” ก่อคเณศอธิบายเคล็ดลับบางอย่างให้ฟัง
การเล็งเห็นปัญหาของฟางข้าว ส่งผลให้เกิดนวัตกรรมที่ผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาและองค์ความรู้เดิม ผสานองค์ความรู้ใหม่เพื่อมาต่อยอด เน้นการจัดการของเหลือที่มีในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทีมงานอ้วนกลม แฮปปี้ฟาร์ม ได้ดำเนินการจัดการกระบวนการเพื่อผลิตสีจากฟางข้าวตามขั้นตอน ผ่านการทดลองวิจัยและนำเสนอในมิติต่าง ๆ ทั้งการผลิต กระบวนการ ส่งผลตรวจ จัดแสดงนิทรรศการ จนได้รับรางวัลระดับประเทศ อาทิ รางวัลพระราชทานชนะเลิศ นวัตศิลป์สีจากฟางข้าว โครงการนวัตกรรมข้าวไทย พ.ศ. 2564
ทีมงานของพวกเขาประกอบด้วยชาวบ้านละแวกนั้นที่ผันตัวเองมาเป็นผู้ผลิตสีจากธรรมชาติ และกลายเป็นศิลปินวาดภาพโดยใช้สีน้ำจากฟางข้าวจนสร้างและขายผลงานได้
“เราอยากส่งเสริมให้ชาวบ้านช่วงโควิดมีงานทำ โดยเฉพาะคนสูงวัย คนพิการ ที่ใคร ๆ คิดว่าไม่มีประโยชน์ พอทุกคนมาทำงาน ก็ได้ไอเดียว่าอาชีพที่สอดคล้องกับเกษตรกรรมของชาวบ้านคืองานหัตถกรรม จึงอยากส่งเสริมความรู้ด้านศิลปะพื้นถิ่น ที่เรียกว่าหัตถกรรมหรือหัตถศิลป์
“เราถนัดงานศิลปะ วาดภาพ การทำสี จึงเริ่มหาวัตถุดิบที่ไม่สิ้นเปลืองมากคือสีจากฟางข้าว อันดับแรกให้ชาวบ้านย้อมผ้าจากสีธรรมชาติ เมื่อย้อมผ้าเป็น พ่อ ๆ แม่ ๆ ก็จะหวงแหนสีที่ย้อม ถ้าเอาสีย้อมผ้าทิ้งลงดิน ดินก็เสีย ก็เลยเอามาระบายสีและต่อยอดให้ชาวบ้านได้ทดลองงานศิลปะตามแบบของพวกเขา กลายเป็นงานศิลปะจากชาวนาชาวไร่ ผมคิดว่าใครทำงานศิลป์ก็ได้ แค่ระบายสีแล้วรู้สึกมีความสุข ผ่อนคลายในใจก็ถือว่าสำเร็จแล้ว ไม่ว่างานนั้นจะออกมาแบบใด”

สิ่งที่สองสามีภรรยาคิดค้นอยู่นั้น กำลังตอบโจทย์แนวโน้มเศรษฐกิจใหม่ในอนาคตที่เรียกว่า BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) คือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน อันประกอบด้วย Bio Economy นวัตกรรมจากผลผลิตทางการเกษตร Green Econymy ผลิตโดยคำนึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและ Circular Economy ใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
คือออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุด ส่งเสริมการใช้ซ้ำ และให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการแปรสภาพเพื่อกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งต่างจากระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ที่เน้นการใช้ทรัพยากร การผลิต และการสร้างของเสียเป็นขยะล้นโลก
ทุกวันนี้ ก่อคเณศ รุ้งสันเทียะ และ พสธร เดชศิริอุดม แห่งศูนย์การเรียนรู้อ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์มยังเดินหน้าคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ และเดินสายเป็นวิทยากร อบรมชาวบ้านทั่วประเทศในการผลิตสีจากวัสดุในธรรมชาติที่ใคร ๆ คิดว่าไม่มีประโยชน์
“เราภูมิใจที่ได้ทำให้ชาวบ้าน คนสูงวัย คนพิการ เห็นคุณค่าของตัวเอง และภูมิใจที่เราเห็นคุณค่าของตัวเองด้วย” สองสามีภรรยาที่เคยทำงานเป็นพนักงานเงินเดือนในเมืองใหญ่ ได้ค้นพบการทำงานอย่างมีความสุขของตัวเองแล้ว
สนใจผลิตภัณฑ์สีธรรมชาติจากฟางข้าว
ติดต่อ Facebook : อ้วนกลม แฮปปี้ฟาร์ม อุดรธานี
โทรศัพท์ : 09 2656 1614