ในที่สุดเมฆก็ไม่ลืมที่จะพาฝนในฤดูร้อนกลับมาใส่ไว้ในปฏิทินเดือนเมษายนตามเดิมเหมือนทุกๆ ปี ความเย็นถูกหอบกลับมาพร้อมกลิ่นหอมของดินแรกฝนที่บ่มไว้ใต้ฝ่าเท้าตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา
ช่วงที่ผ่านมา ไฟที่ไหม้ดอยสุเทพที่ตั้งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง สร้างความตื่นตระหนกและการตระหนักขึ้นในสังคมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเจ้าบ้านอย่างเชียงใหม่เองที่ไม่ได้นิ่งนอนใจกับไฟป่าแต่อย่างใด เราได้เห็นความร่วมมือกันของหลายภาคส่วนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถ้าเราติดตามภารกิจการดับไฟป่าในภาคเหนือตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

เชื้อไฟบาง เปลวไฟเบา
หลายหมู่บ้านเผชิญกับไฟป่าหนักเบาต่างกัน เช่นเดียวกับบ้านหนองเต่า ปีนี้ไฟป่าไม่หนักมาก เพราะนอกจากมีการทำแนวกันไฟแล้ว มีการผลัดเปลี่ยนเวรยามไปนอนป่าเผื่อเฝ้าระวังไฟร่วมเดือน ขณะที่ชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งเฝ้าเวรยามทางเข้าหมู่บ้านเพื่อป้องกันโรค COVID-19
ไฟป่าเกิดขึ้นที่หมู่บ้านใกล้เคียงเป็นอาทิตย์และลามเข้ามาที่หมู่บ้านห้วยตอง รวมถึงลามมาที่หมู่บ้านหนองเต่าของเรา อบต.บะพิ เรียกพวกเราไปที่เกิดไฟป่า เพื่อประเมินเหตุการณ์และควบคุมไฟ ไม่ให้กินพื้นที่เป็นวงกว้างมากไปกว่านี้
เย็นวันนี้เรานัดกันที่ยอดเขาใต้ต้น เส่ ฆอ โพ ไม้ยืนต้นที่พบได้ทางตอนใต้ของภูฏานและทางตอนเหนือของอินเดีย รสชาติหวานเมื่อผลกลายเป็นสีแดงและหวานขึ้นไปอีกเมื่อกลายเป็นสีดำ พวกเขาเรียกมันว่า ‘พัลเบอรี่’

ทีมที่มุ่งหน้าไปก่อนกำลังพักกินข้าวเย็น หลังจากทำแนวกันไฟเมื่อช่วงบ่าย ไฟกำลังรุกคืบใต้ป่าสนที่มีใบสนเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีปูพื้น แต่เนื่องจากป่าแถบนี้เป็นป่าดิบเขาและมีความหลากหลายทางพันธุ์ไม้มาก บวกกับพวกเรารู้จักพื้นที่เป็นอย่างดี จึงไม่มีอะไรต้องกังวลมากนัก
ที่นี่มีไฟป่าเกิดขึ้นแทบจะปีเว้นปี เชื้อไฟสะสมจึงไม่ได้มากจนทำให้เกิดไฟลุกที่ยากต่อการควบคุม การเดินทางของไฟจึงเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่รุนแรง เมื่อเทียบกับป่าที่ไม่เคยเกิดไฟเป็นเวลานาน ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายมากหากเกิดไฟป่า โดยเฉพาะสัตว์ป่าที่มักหนีเอาตัวรอดไม่ทัน
ย้อนกลับไปใน ค.ศ. 2017 ในอุทยานแห่งชาติ Yellowstone ในสหรัฐอเมริกา ที่เกิดไฟป่าเป็นวงกว้าง สภาพป่าสนที่มีใบทับถมกันเป็นเวลานาน จึงทำให้ไฟป่าค่อนข้างรุนแรง เช่นเดียวกับไฟป่าที่แอมะซอนหรือในออสเตรเลีย หรือแม้แต่กับป่าดอยสุเทพที่เกิดไฟป่าในปีนี้ บวกกับภาวะโลกร้อน ยิ่งทำให้สถานการณ์ไฟป่าดูน่ากลัวและรุนแรงขึ้นไปอีก
หลังมื้อเย็นเรามีภารกิจที่ต้องลุยกันต่อ ความมืดทำให้เราเห็นแนวไฟได้ชัดเจน เรามุ่งหน้าไต่ระดับความสูงลงเขา ไฟฉายสำคัญมากในภารกิจดับไฟ เราเลาะลงไปตามห้วย พี่มืดแบกถังน้ำคอยฉีดน้ำดับไฟที่กำลังไหม้ท่อนไม้ล้ม ที่อาจจะเป็นสะพานให้ไฟเดินข้ามแนวกันไฟเข้าไปในป่าชุมชนของเรา เราต้องให้แน่ใจว่ามันดับสนิท ไม่เช่นนั้นแรงที่เราลงไปทั้งหมดจะเท่ากับศูนย์ทันที หากมีลมมาพัดให้เปลวไฟในท่อนไม้ลุกขึ้น และปลิวไปติดใบไม้อีกฟากที่ห่างกันไม่กี่วา

ทีมงานที่เดินหน้าไปก่อนพร้อมกับเครื่องเป่า มีด คราด ข้าวสารอาหารแห้ง หยุดรอเนินเขา เรามองเห็นไฟไม่ไกลจากเรามากกำลังเข้ามาประชิด ที่นี่จะเป็นที่พักของพวกเราในค่ำคืนนี้
ท่ามกลางความมืด ทางลาดชันที่เราต้องกวาดใบไม้ ยกท่อนไม่ที่ผุผังออกจากรัศมีแนวกันไฟ ฝุ่นคลุ้งหนาบดบังวิสัยทัศน์ในการมองเห็นและทำให้หายใจลำบาก เราจึงต้องเหลือบดูทางตลอดเวลา เราอาจจะไถลตกลงไปเบื้องล่างได้ทุกเมื่อ หากเราเหยียบก้อนหินที่ไม่มั่นคงพอ และไม่มีใครรู้เลยว่าจะมีงูหรือสัตว์มีพิษที่กำลังหนีไฟมาเจอกับเราเมื่อไหร่ โดยปกติพวกงูมักจะมาหลบไฟในลำห้วย ท่ามกลางใบไม้สีเขียวเรามักจะเจอกับงูเขียวหางไหม้ ก่อนตัดใบไม้มาใช้ เราจึงต้องตรวจดูให้ดี
เราใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงในการทำแนวกันไฟ เราคาดหวังว่าไฟจะสงบลงเมื่อมันเดินทางลงไปถึงห้วย เพาะต่าโกล๊ะ เราไม่รู้ว่ามันจะเป็นอย่างที่เราคิดไว้หรือเปล่า
ดึกมากแล้ว เราตกลงกันว่าเราควรกลับไปพักผ่อนเอาแรง และพรุ่งนี้ค่อยว่ากันใหม่
เราแยกย้ายกันนอนตามแบบฉบับที่เรียบง่ายที่สุดในโลก ผมผูกเปลใต้ต้นไม้ที่มองลอดขึ้นไปมีดาวส่องสว่างไกลๆ เครื่องดื่มชูกำลังที่เดินทางมาจากเมืองคงมีน้ำใจมากมายผสมลงไปกับคาเฟอีน ทำเอาผมหลับตาไม่ลงเกือบทั้งคืน กลางคืนยิ่งดึกยิ่งหนาว ราวกับไม่ใช่หน้าร้อนและลมแรงขึ้นทุกที ผมเดินไปดูไฟที่ยังคงเดินทางเข้าใกล้เราทุกที กลับมานอนต่อในเปลอีกครั้ง จนหลับตาลงได้สำเร็จ

ต้นไม้คือผู้เก็บไฟ เรื่องเล่าของชาวเมารี

ทาแล เพื่อนชาวเมารีในนิวซีแลนด์ เคยเล่าให้เรื่องของพวกเขาให้ผมฟัง เมื่อครั้งเขาเดินทางมาพักอาศัยที่เชียงใหม่ ชาวเมารีมีเทพแห่งไฟชื่อ ‘มาฮุยคา’ เป็นเทพแห่งไฟใต้ผืนดิน เรื่องเล่าในตำนานของชาวเมารีมีอยู่ว่า วันหนึ่ง มาวี ชายหนุ่มเกิดสงสัยขึ้นมาว่า ไฟมาจากไหน เขาจึงเอาน้ำไล่ดับไฟของทุกคนทั้งหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านต่างพากันเหน็บหนาวและหุงหาอาหารไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น มาวีจึงต้องไปหาไฟกลับมาให้คนในหมู่บ้าน ก่อนออกเดินทาง ผู้เฒ่าสั่งกับมาวีว่า
“มาฮุยคา เทพแห่งไฟเป็นผู้มีจิตใจดี แต่เธอก็โกรธได้หากเราทำให้เธอไม่พอใจ”
มาวีเดินทางมาถึงถ้ำ เขาได้ยินเสียงดังกระหึ่มราวกับฟ้าผ่าถามขึ้นว่า
“เจ้าเป็นใครและมาที่นี่ได้อย่างไร” มาวีเล่าเรื่องทั้งหมดให้เทพแห่งไฟฟังและร้องขอความช่วยเหลือ เทพแห่งไฟเห็นใจ จึงมอบเปลวไฟจากนิ้วมือนิ้วหนึ่งของตัวเองให้มาวีเอากลับบ้าน
“เอาเปลวไฟที่นิ้วข้าไป และขอให้เจ้ามอบความเคารพต่อไฟเหมือนที่เจ้าเคารพต่อข้า”
มาวีน้อมรับไฟด้วยความเคารพและเดินทางกลับ ขณะที่เขากำลังเดินข้ามแม่น้ำ มาวีทำเปลวไฟตกน้ำ เขาจึงต้องกลับไปขอไฟจากเทพแห่งไฟอีกครั้ง และเขาก็ทำมันตกน้ำเช่นเดิม เป็นแบบนี้หลายหน จนทำไฟที่นิ้วของเทพแห่งไฟค่อยๆ หมดไปทีละนิ้ว

เทพแห่งไฟโกรธมาก เธอจึงไล่มาวีกลับไป มาวีวิ่งหนีเอาตัวรอดอย่างสุดชีวิต เทพแห่งไฟวิ่งตามไปติดๆ มาวีใช้พลังพิเศษที่เขามีกลายร่างเป็นเหยี่ยวบินหนีไป เทพแห่งไฟหยิบเปลวไฟสุดท้ายบนนิ้วเท้าของเธอและขว้างไป หวังจะให้โดนเหยี่ยวตัวนั้น เปลวไฟไม่โดนมาวี แต่เปลวไฟไปติดบนต้นไม้ ไฟไหม้และดับไป
หลังจากเหตุการณ์สงบลง มาวีนำไม้ที่ถูกไฟไหม้กลับบ้าน พร้อมกับสอนวิธีติดไฟจากการสีไม้ให้ชาวบ้าน ชาวบ้านต่างปลื้มปีติพอใจที่ได้ใช้ไฟทำอาหารและให้ความอบอุ่นกายเช่นเดิม
ชาวเมารียังมีคนที่ได้รับการนับถือว่าเป็นผู้เฝ้าไฟ พวกเขาได้รับการเรียกขานว่า ‘อาฮิคา’ เป็นผู้ดูแลไฟที่บ้าน ดูแลอาหาร ตลอดจนเฝ้าดูความเป็นอยู่ของบ้านให้ปลอดภัย แม้รูปแบบและหน้าที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่ชาวเมารีก็ยังให้ความสำคัญต่อผู้ที่ดูแลไฟ และหน้าที่ของอาฮิคายังคงดำรงอยู่ต่อไป
ทาแลเล่าให้ฟังอีกว่า ชาวเมารีเคยมีระบบเกษตรแบบไร่หมุนเวียน แต่ภายหลังการเข้ามารุกรานของคนผิวขาว ความเปลี่ยนแปลงแบบฉุดกระชากทำให้พวกเขาตั้งตัวแทบไม่ทัน ทุกวันนี้ชาวเมารีกลับมารื้อฟื้นภาษา วัฒนธรรม กลับมารื้อฟื้นความเป็นชุมชน ที่มีคำตอบให้กับอนาคตของลูกหลานของพวกเขา
ต้อนไฟลงห้วย ดับไฟด้วยความเย็น
หลับตานอนได้ไม่นานเท่าไหร่ ราวตี 4 อบต.บะพิ ปลูกพวกเราให้ตื่น ไฟข้ามแนวกันไฟจนได้ คงเป็นเพราะลมแรงเมื่อคืน เราเตรียมตัวและรีบไปทำแนวกันไฟต่อ เครื่องเป่าลมช่วยเราได้มากเหลือเกิน ลำพังคราดและมีดพร้าเราคงต้องใช้เวลาและแรงกายมากกว่านี้ เราต้อนไฟลงห้วย ให้ไฟปะทะกับความเย็นของต้นกล้วยป่าและลำห้วยเล็กๆ ซึ่งปลอดภัยกว่าและมีโอกาสที่เราจะควบคุมไฟได้มากกว่า
ฟ้าสางแล้ว เราทำแนวกันไฟสำเร็จ ที่เหลือก็เพียงเฝ้าระวังไม่ให้ไฟข้ามมา เรากลับมาหุงข้าวทำอาหาร เป็นเวลาเดียวกันกับนกที่ส่งเสียงออกหากินในตอนเช้า มีเสียงไก่ป่า แต่เราไม่ได้ยินเสียงชะนีฝูงสุดท้าย บางทีพวกมันอาจจะซ่อนตัวใกล้ๆ เรา ถ้าพวกมันอยู่แถวนี้ ผมอยากให้พวกมันรับรู้ว่า อย่างกังวลอะไร วันนี้เราจะอยู่ที่นี่จนกว่าไฟจะดับลง

หลังจากกินข้าวเช้าเสร็จแล้ว เราลงไปตรวจไฟด้านล่างหุบเขาตามลำห้วย ตอนสายๆ เราได้ยินเสียงตะโกนเรียกมาจากอีกฟากของภูเขา พี่น้องของเราที่ตามมาสมทบค่อยๆ ปรากฏตัวออกมาทีละคน ทั้งคนหนุ่มสาว แม่บ้านพ่อบ้านตลอดจนคนรุ่นปู่ ก็ยังอุตส่าห์เดินทางมาให้กำลังใจลูกหลาน
ในเวลานั้นผมรู้สึกโล่งและสบายใจมากขึ้น ผมเชื่อเหลือเกินว่าทุกคนก็รู้สึกเช่นเดียวกัน ไฟป่าครั้งนี้แทบจะกลายเป็นปัญหาเล็กไปทันที เราพักพูดคุยกันก่อนแยกกันเป็นสองทีม ชาวบ้านที่มาสมทบแยกกลับลงไปทำแนวกันไฟ ตามรอยเขตหมู่บ้านหนองเต่าและหมู่บ้านห้วยตอง ผมอยู่ปักหลักเฝ้าระวังไฟที่ยังดับไม่สนิทกับทีมงานชุดเดิม
เรากลับไปกินข้าวเที่ยงที่ฐานที่เรานอนพักเมื่อคืน ปลากระป๋องกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเคล้ากันในหม้อ รอให้นักดับไฟมาเติมท้องที่ว่าง ก่อนจะต้องขึ้นลงเขาสูงเป็นครั้งสุดท้ายของวัน
เราลงไปตรวจดูไฟเป็นครั้งสุดท้าย เสียงต้นไม้หักและล้มลงดังอยู่เบื้องล่าง เราต้องตักน้ำใส่ขวดเอาไปรดอยู่นานกว่าจะดับสนิท

ไฟป่าค่อยๆ มอดดับ จึงได้เวลาที่พวกเราต้องพาตัวเองเดินกลับขึ้นบนสันเขา มอเตอร์ไซค์คันสีแดงของแม่รอผมอยู่นั่นเพื่อพาผมกลับบ้าน ผมลืมไปสนิทเลยว่า ทางขึ้นลาดชันและยาวไกล และผมได้ใช้พลังงานไปมากมายกับการขึ้นลงตลอดช่วงบ่าย ผมน่าจะเอาอะไรยัดใส่ท้องเมื่อมื้อเที่ยงมากกว่านี้ ท้องผมเริ่มร้อง กล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ที่เกี่ยวพันโยงใยตามขาออกอาการงอแง ผมเอาน้ำที่เหลือมากรอกปาก ผมหิวและภาวนาให้มีใครทำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตกระหว่างทางสักห่อหนึ่ง
แล้วโชคชะตาก็เข้าข้างผมจนได้ ไม่ใช่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอย่างที่ผมคาดหวังไว้ แต่เป็นลูกบ๊วยสุกเหลืองฉ่ำเต็มที่ที่พร้อมจะละลายในปากของผม ต้นบ๊วยต้นนี้อายุน่าจะราวๆ 40 ปี มันออกผลเต็มต้นและร่วงเต็มไปหมด มันเป็นบ๊วยที่รสชาติดีที่สุดในโลกต้นหนึ่งตั้งแต่เคยกินบ๊วยมา ผมเก็บลูกบ๊วยกลับบ้านหนึ่งกำมือ หวังว่าจะเอากลับไปเพาะเป็นความทรงจำดีๆ
ในที่สุดผมก็พาตัวเองกลับมาถึงจุดเริ่มต้นที่มีต้นพัลเบอรรี่รออยู่ ผมค่อยๆ เก็บผลไม้มหัศจรรย์ชนิดหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยใส่ปากเพื่อเติมน้ำตาลให้ร่างกาย ภารกิจของวันนี้ปีนี้สำเร็จลงแล้ว แต่ยังมีอะไรให้คิดต่อมากมาย
ไฟป่ารอคอยวงล้อมแห่งการรับฟัง พูดคุย
ไฟป่าดับแล้ว ป่ากำลังฟื้นฟูตัวเองอย่างช้าๆ และไม่นานจะกลับคืนเป็นปกติ คงไม่มีใครปฏิเสธว่าปัญหาเชิงโครงสร้าง คือรากเหง้าของปัญหาที่อยู่ลึกลงไปในเมืองไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราไม่มีบรรยากาศของบ้านเมืองที่มีเสถียรภาพมายาวนานมากแล้ว เรายังมีเรื่องอื่นๆ มากมายที่ต้องติดตาม ในขณะที่ต้องเผชิญกับวิกฤตในปีนี้อย่างอดทนไปด้วยกัน
เราอยากเห็นพื้นที่พูดคุย รับฟัง แลกเปลี่ยน การถกกันด้วยใจเปิดกว้างของทุกภาคส่วน เพื่อหาทางออกที่ยั่งยืนกว่านี้ เวลาที่เราพูดถึงการปกป้องเชียงใหม่ เราไม่ได้พูดถึงแค่เราจะใช้อำนาจอย่างไรเท่านั้น แต่เรากำลังพูดถึงเชียงใหม่ว่ามีองค์ความรู้อะไรบ้างในการจัดการกับไฟป่า ความรู้ในเมืองไทยอะไรบ้างที่เราหยิบจับมาใช้ได้ เราได้ใช้มันอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง เครื่องมือใหม่ๆ อะไรบ้างที่จะมาเสริมให้เกิดความร่วมมืออย่างแท้จริง ภาครัฐเองจะอำนวยโอกาสให้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพื่อให้ปัญหาต่างๆ บรรเทาลง และให้เมืองไทยได้ความผาสุขกลับมาอีกครั้ง
ถึงแม้การดับไฟป่าเป็นวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่เราควรขอบคุณชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ตัวเล็กๆ สภาลมหายใจเชียงใหม่ ทีมงานสายใต้ออกรถ ชาวเชียงใหม่ ชาวไทยทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาครั้งนี้ปีนี้ และขอคาราวะดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับทั้งเจ็ดท่านที่สละชีวิตเพื่อผืนป่าของพวกเราทุกคน
ต่าบลึ๊
