01

ดับไฟป่าด้วยนวัตกรรม

“ปัญหาไฟป่าทางภาคเหนือรุนแรงมานานแล้ว ตอนที่มูลนิธิกระจกเงาขึ้นมาทำงานสังคมที่จังหวัดเชียงรายเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน เวลาขับรถผ่านภูเขาช่วงหน้าแล้ง เราจะเห็นไฟลุกข้ามเขา แดงเถือกเป็นหางมังกร แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดทำเรื่องไฟป่าเลย เพราะความสามารถในการคิดของพวกเรา (ทีมมูลนิธิกระจกเงา) และเทคโนโลยีต่างๆ ไม่เอื้ออำนวย 

“เมื่อสิบกว่าปีก่อน มีชาวต่างชาติและพรรคพวกในเชียงรายมาคุยกับผมที่บ้าน เขาหา NGO มาทำงานเรื่องไฟป่า ฝุ่นและหมอกควัน ผมบอกเขาไปว่าผมเข้าใจปัญหาของคุณ แต่ผมก็ไม่รู้จะจัดการมันยังไง ต้องขอโทษด้วย นั่นเป็นเรื่องที่ติดค้างในใจผมมานับสิบปี จนในที่สุดก็ได้มาทำโครงการอาสาดับไฟป่า”

บ.ก.หนูหริ่ง-สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือที่ทุกคนรู้จักกันในนาม บ.ก.ลายจุด หนึ่งในผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา เท้าความถึงที่มาของภารกิจ

โครงการอาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา ทำงานเรื่องไฟป่าร่วมกับชาวบ้านและหลากหลายหน่วยงานในพื้นที่มาแล้ว 4 ปี โดยมี โจ้-ณัฐพล สิงห์เถื่อน ผู้ผ่านการทำงานฟื้นฟูชุมชนหลังภัยพิบัติมาแล้วหลายเหตุการณ์ ตั้งแต่สึนามิ พ.ศ. 2547 น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ พ.ศ. 2554 จนถึงแผ่นดินไหว พ.ศ. 2557 รับหน้าที่เป็นหัวหน้าศูนย์บัญชาการดับไฟป่า จังหวัดเชียงราย

อาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา การรวมตัวอาสาสมัครจากทั่วไทย เพื่อสร้างภารกิจดับไฟป่าด้วยนวัตกรรม

โจ้เสริม บ.ก.หนูหริ่ง “สี่ปีที่ผ่านมาเราเน้นสนับสนุนทีมดับไฟของภาครัฐ ในส่วนของข้าวปลาอาหารและเติมกำลังใจ รวมถึงนำอาสาสมัครไปร่วมบ้าง แต่ไม่ได้ทำเต็มรูปแบบเหมือนปีนี้ 

“ปีนี้เป็นปีแรกที่เราจัดการเรื่องดับไฟป่าอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งเรื่องอาสาสมัครดับไฟป่า และสนับสนุนให้ชุมชนมีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะเป็นเรี่ยวแรงในการดับไฟ เพราะเราอยู่ในพื้นที่ นอกจากเราต้องสนับสนุนชุมชนแล้ว เราก็ต้องมีส่วนร่วมในการดับไฟป่าด้วย” 

บ.ก.หนูหริ่งอธิบายว่า หนึ่งในภารกิจหลักของมูลนิธิกระจกเงา คือการสร้างนวัตกรรมทางสังคม เพราะเชื่อว่าปัญหานั้นๆ ดำรงอยู่ เนื่องจากวิธีการในอดีตไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาได้อีกต่อไป 

“เราปักธงไว้แล้วว่าจะทำเรื่องไฟป่า และได้ศึกษา ลงพื้นที่ ทำความเข้าใจมาระยะใหญ่ เราพยายามคิดว่าภายใต้ปัญหาเรื่องไฟป่า มีอะไรที่เป็นช่องวางของการจัดการ หรือมีวิธีการอะไรใหม่ที่สมควรนำมาใช้

“นวัตกรรม มาจากคำว่า ‘นว’ แปลว่า ใหม่ และ ‘กรรม’ แปลว่าการกระทำ นวัตกรรมก็คือการทำสิ่งนั้นอีกครั้งด้วยวิธีการใหม่ ดังนั้นสิ่งที่เรากำลังพยายามทำ คือแก้ปัญหาไฟป่าด้วยนวัตกรรม”

อาสาดับไฟป่า การรวมตัวอาสาสมัครจากทั่วไทย เพื่อสร้างภารกิจดับไฟป่าด้วยนวัตกรรม

02

ห้องทดลองในเปลวเพลิง

“ผมพบว่าพลังงานที่เราใช้ในการดับไฟถูกใช้ไปกับการเดินทางมหาศาล ถ้าเราตีโจทย์นี้ได้ ปัญหาจะถูกคลี่ไปหนึ่งเปราะ” บ.ก.หนูหริ่งเล่าถึงปัญหาที่ค้นพบ หลังจากเผชิญหน้ากับเปลวเพลิงนับสิบๆ ลูก ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา

“ทีมอาสาดับไฟป่าเลยลองใช้มอเตอร์ไซค์ โดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์วิบาก มาทุ่นแรงในการเข้าป่าไปหาไฟ ขนคน ขนอุปกรณ์ แม้แต่ขนน้ำไปดับไฟ เพราะบางจุดเราไม่มีน้ำ ปรากฏว่าทุ่นแรงและเวลาไปได้มหาศาล ทั้งหมดนี้คือวิธีคิดเชิงการจัดการ 

อาสาดับไฟป่า การรวมตัวอาสาสมัครจากทั่วไทย เพื่อสร้างภารกิจดับไฟป่าด้วยนวัตกรรม

“อีกข้อสังเกต ผมเห็นหน่วยงานดับไฟแทบทั้งหมดใช้เครื่องเป่าใบไม้เป็นหลัก แต่ในคอมมอนเซนส์ มนุษย์เราใช้น้ำดับไฟมาตลอด รถดับเพลิงในเมืองก็ใช้น้ำดับไฟ คำถามคือทำไมการดับไฟป่าถึงไม่ใช้น้ำดับไฟ 

“จริงๆ แล้วเขาอยากใช้น้ำดับไฟนะ ไปคุยกับเจ้าหน้าที่ดับไฟของกรมอุทยานฯ เขาบอก ‘ตอไม้ติดไฟ ยังไงก็ต้องใช้น้ำ’ แต่เพราะยูนิตหน่วยดับไฟของเขาเล็กมาก มีแค่สิบคน และทุกคนเป็นคอมมานโด เน้นเข้าจู่โจม ทำงานพึ่งพาตัวเอง ทำให้ไม่มีคนมากพอที่ช่วยกันขนน้ำได้”

“มูลนิธิกระจกเงาเป็นองค์กรจัดการอาสาสมัคร ประสบการณ์สอนว่า ถ้าภารกิจดับไฟป่ามีระบบบริหารจัดการที่ดี คนจำนวนมากจะมาเข้าร่วมภารกิจนี้ได้ เราไม่ใช่มืออาชีพ เราเป็นอาสาสมัคร ดังนั้นไม่ใช่ทุกคนจะมีทักษะแบบคอมมานโดหรือทักษะดับไฟ แต่เราทำงานเป็นทีมใหญ่ และไม่ใช่ทุกคนต้องอยู่แนวหน้า”

อาสาดับไฟป่า การรวมตัวอาสาสมัครจากทั่วไทย เพื่อสร้างภารกิจดับไฟป่าด้วยนวัตกรรม

ทุกครั้งที่เข้าไปหาไฟ ทีมอาสาดับไฟป่าแบ่งคนออกเป็นหลายหน่วยย่อย ประกอบด้วย ‘มือมีด’ รับหน้าที่ฟันกิ่งไม้ หญ้ารก เพื่อเปิดทางให้ ‘มือเป่า’ ผู้ใช้เครื่องเป่าขนาดคนแบก เป่าเชื้อไฟอย่างเศษใบไม้เพื่อทำแนวกันไฟ 

และกองสนับสนุน ‘ทีมถังพ่นน้ำ’ สะพายถังน้ำเหลืองขนาด 20 ลิตร ตามเข้าไปในแนวดำซึ่งเป็นแนวที่ไฟไหม้ไปแล้ว เพื่อฉีดน้ำไปยังตอไม้แห้งที่ยังมีไฟสุมตอไม่ให้ไฟกลับมาปะทุ ให้แน่ใจว่าไฟป่าดับสนิทจริงๆ โดยมี ‘พลวิ่งน้ำ’ คอยวิ่งหาแหล่งน้ำเพื่อเอาน้ำมาเติมถังน้ำเหลือง นอกจากนี้เรายังมี ‘นักบินโดรน’ และ ‘หน่วยสวัสดิการ’ เป็นกองสนับสนุน

อาสาดับไฟป่า การรวมตัวอาสาสมัครจากทั่วไทย เพื่อสร้างภารกิจดับไฟป่าด้วยนวัตกรรม
อาสาดับไฟป่า การรวมตัวอาสาสมัครจากทั่วไทย เพื่อสร้างภารกิจดับไฟป่าด้วยนวัตกรรม

“เราอยากให้การดับไฟป่าเป็นเรื่องของทุกคน เราจึงแบ่งหน้าที่ให้คนที่มีทักษะแตกต่างกันสามารถมาเป็นอาสาดับไฟป่าได้ ตอนที่ออกแบบกระบวนยุทธตอนแรก ผมตั้งใจจะชวนนักวิ่งสาย Trail ที่ถนัดวิ่งในพื้นที่วิบากมาช่วยวิ่งแบกน้ำ แต่ติดวิกฤต COVID-19 ทำให้อาสาสมัครหลายคนมาร่วมภารกิจไม่ได้”

03

เปลี่ยนยุทธวิธีตีไฟด้วย ‘น้ำ’

ตลอดฤดูไฟป่าที่ผ่านมา บ.ก.หนูหริ่งและทีมอาสาดับไฟป่าพยายามคิดค้นรูปแบบการลำเลียงน้ำ เพื่อที่จะนำน้ำเข้าไปดับไฟให้ได้

“นี่คือโจทย์ใหญ่ และเราน่าจะเป็นหน่วยเดียวที่พยายามทดลองทำเรื่องนี้อยู่ พอเราแบกน้ำเข้าไปหลายรอบเข้า ก็เกิดไอเดียในการทุ่นแรง ล่าสุดเราทดลองสร้างระบบส่งน้ำ โดยใช้ปั๊มน้ำ DC และสายยางพ่นยาขนาดยี่สิบเมตร เข้ามาเป็นกลไกในการส่งน้ำ ความเร็วในการขนถ่ายน้ำสามจุดห้าลิตรต่อนาทีอาจฟังดูไม่มาก 

อาสาดับไฟป่า การรวมตัวอาสาสมัครจากทั่วไทย เพื่อสร้างภารกิจดับไฟป่าด้วยนวัตกรรม

“แต่นี่คือจุดเริ่มต้นของการออกแบบระบบส่งน้ำที่ไม่ต้องใช้เงินมาก อาศัยการขบคิดและออกแบบ จากความเข้าใจเงื่อนไขและข้อจำกัดของไฟป่า ถ้าเราตีโจทย์นี้แตก เราจะลำเลียงน้ำเป็นหมื่นๆ ลิตร ขึ้นไปตั้งรบแนวไฟขนาดใหญ่ที่เราไม่เคยชนะมันได้ อย่างที่ดอยจระเข้ เมื่ออาทิตย์ก่อน เราแพ้มาสองปีซ้อน มันเป็นไฟใหญ่หลายกิโลเมตร เราพยายามที่จะตั้งรับให้ได้ แต่ก็เอาไม่อยู่ 

“ก่อนฤดูไฟป่าปีหน้า ตอนเราเข้าไปทำแนวกันไฟ เราจะแบกแกลลอนเปล่าสักยี่สิบแกลลอนเข้าไปด้วย เพื่อนำไปวางไว้ตามเส้นทางเดินในป่าเป็นระยะๆ ห่างกันประมาณร้อยเมตร จากนั้นต่อปั๊มน้ำ DC และสูบน้ำด้วยสายยางจากแหล่งน้ำที่ใกล้ที่สุดมาเติมไว้ให้เต็ม จดค่าพิกัด GPS แล้วนำมาบันทึกในฐานข้อมูล ปีหน้าเวลาไฟมา เราจะได้มีน้ำไว้สู้กับไฟได้อย่างสมศักดิ์ศรี”

นอกจากนี้ ยังมีโมเดลการสร้างสถานีน้ำ ซึ่ง บ.ก.หนูหริ่ง อธิบายให้ฟังว่า ถ้าโมเดลนี้พัฒนาจนสำเร็จ จะกลายเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนเกมนี้อย่างแท้จริง ไอเดียตั้งต้นตอนนี้คือใช้รถบรรทุกน้ำ 1,000 ลิตร ขับไปยังจุดที่ใกล้กับไฟป่าที่สุด จากนั้นใช้ปั๊มยนต์ขนาด 6 แรงม้า ปั๊มน้ำจากรถบรรทุกน้ำขึ้นไปด้วยสายยางจนถึงสถานีพักน้ำ ซึ่งมีปั๊มน้ำ DC เล็กขนาด 12 โวลต์ กำลังส่ง 100 เมตร คอยลำเลียงน้ำจากสถานีพักน้ำหนึ่งไปยังอีกสถานีพักน้ำหนึ่ง ต่อขึ้นไปเป็นทอดๆ จนถึงไฟป่า เพื่อให้เจ้าหน้าที่กองหน้ามีน้ำสู้กับเปลวเพลิง

อาสาดับไฟป่า การรวมตัวอาสาสมัครจากทั่วไทย เพื่อสร้างภารกิจดับไฟป่าด้วยนวัตกรรม

บ.ก.หนูหริ่งเล่าว่า ที่ดอยตุงก็มีแท็งก์น้ำขนาดใหญ่หลายสิบแท็งก์รอบดอย

“ผมคิดว่าเขาคงเคยโดนไฟตีมาแล้ว แล้วคนรุ่นนั้นเขาคงคิดแล้วว่าต้องตั้งรับ มันเหมือนสงครามโบราณ ข้าศึกมา ฝ่ายตั้งรับก็มีกำแพงเมือง น้ำก็เหมือนธนู เราอยู่บนที่สูง แล้วยิงลงไป ข้าศึก (ไฟ) ก็ขึ้นมาไม่ได้

“ผมไปคุยกับบริษัทปั๊มน้ำการเกษตรและสปริงเกอร์ ประเภทที่เรียกว่า Big Gun ยิงได้ไกลถึงห้าสิบเมตร แรงดันสูง ถ้าเราอยู่บนเขา ระยะน้ำที่เราฉีดออกไปครอบคลุมพื้นที่กว้างมาก ไม่มีทางที่มันจะมาประชิดด้านบน ยิ่งถ้าเราตั้งสปริงเกอร์ มีน้ำสำรองเพียงพอ ไฟขึ้นมาไม่ได้เลย ต้นไม้จะเปียกและไฟดับในที่สุด”

อาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา การรวมตัวอาสาสมัครจากทั่วไทย เพื่อสร้างภารกิจดับไฟป่าด้วยนวัตกรรม

บ.ก.หนูหริ่งบอกว่า การใช้เฮลิคอปเตอร์เข้าดับไฟป่าที่ทุกคนคิดว่าดีที่สุด จริงๆ แล้วดับไฟไม่ได้ เพราะน้ำไม่ลงจุดที่ต้องโดน

“ในการดับไฟ เราจะไม่พยายามดับที่ตำแหน่งกลางของกองไฟ แต่เราจะดับที่บริเวณรอบกองไฟที่จะขยายลุกลาม ตรงกลางที่มันมีไฟอยู่ สักพักมันจะมอดลง เพราะเชื้อไฟหมด” 

ยุทธวิธีคือใช้น้ำสกัดแค่ริมนอก น้ำที่มีจะนำมาใช้อย่างประณีต การเทน้ำจากข้างบนลงมาบนกองไฟมันไม่ประณีต แต่ถ้ากองไฟขนาดใหญ่ คงต้องมีน้ำจากเฮลิคอปเตอร์มาช่วย เพราะอากาศโดยรอบมีความร้อนสูง ละอองน้ำจะช่วยลดอุณหภูมิ ให้เจ้าหน้าที่ภาคพื้นทำงานได้

04

ดับไฟแบบ 4.0

บ.ก.หนูหริ่งอธิบายต่อว่า ปัจจัยที่จะทำให้ไฟป่ามีขนาดเล็กรับมือง่าย หรือกว้างใหญ่กินพื้นที่หลายกิโลเมตร ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งประเภทของเชื้อเพลิง รวมถึงอากาศ ความร้อน และแรงลม สมมติไฟลามเข้าป่าไผ่ มีเชื้อเพลิงมหาศาล หรือถ้าไฟเข้าไปในป่าสน เช่นที่ภูกระดึงหรือที่ออสเตรเลีย ต้นไม้มีน้ำมัน มันจะลุกเป็นไฟท่วมขนาดมโหฬาร 

“แต่ถ้าไฟมันลงมาที่ใบไม้หน้าดิน การเผาไม้ลุกลามจะต้วมเตี้ยมเหมือนเต่าเลย เหมือนจะไม่มีพิษสง แต่เจ้าไฟต้วมเตี้ยมนี้ก็ยาวเป็นแนวได้หลายกิโลเมตร และลุกลามไปต่อยังเขตป่าอื่นๆ ได้ ดังนั้น การดับไฟป่า ความเร็วจึงสำคัญมาก

อาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา การรวมตัวอาสาสมัครจากทั่วไทย เพื่อสร้างภารกิจดับไฟป่าด้วยนวัตกรรม

“เมื่อต้องเร็ว จะสังเกตแค่สัญญาณควันก็ไม่ได้ เราต้องใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ตอนนี้เราใช้แอปพลิเคชันระบุตำแหน่ง Hotspot (พิกัดความร้อน) ในการหาจุดไฟไหม้ ถ้าเราไปเจอไฟตั้งแต่ขนาดยังไม่ใหญ่ เราก็ตอบโต้มันได้เร็ว แต่ถ้าจะให้ดีที่สุด เราต้องเอาอากาศยานไร้คนขับของกองทัพอากาศ มารายงาน Hotspot แบบเรียลไทม์ เพราะข้อมูลที่เราใช้อยู่ เป็น Hotspot จากดาวเทียม ที่จะหมุนมาสิบสองชั่วโมงครั้งหนึ่งซึ่งดีเลย์”

โจ้เสริม บ.ก.หนูหริ่ง ว่า “เราใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย มีโดรนบินอยู่ข้านบน คอยเป็นหูเป็นตาให้อาสาสมัครระหว่างปฏิบัติงานในพื้นที่ เพราะโดรนดูได้ทั้งทิศทางลม ลักษณะของแนวไฟ พิกัดของไฟ พิกัดของอาสาสมัครว่าอยู่ตรงไหน ลึกเข้าไปในแนวไฟไหม ถ้าเข้าใกล้ไป ต้องให้อาสาสมัครถอยกลับมา เราส่องโดรนดูอาสาสมัครทำงานตลอดเวลา 

“นอกจากจะทำให้เราเห็นเป้าหมายแล้ว โดรนยังคุ้มครองพวกเราจากการโดนไฟล้อมด้วย วันไหนที่โดรนมีปัญหาขัดข้อง ทีมอาสาดับไฟป่าปรับแผนไปทำแนวกันไฟ ที่ไม่ต้องปะทะกับไฟโดยตรงแทน เราไม่เสี่ยงเอาคนเข้าไปในระยะไฟถ้าไม่มีโดรน

อาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา การรวมตัวอาสาสมัครจากทั่วไทย เพื่อสร้างภารกิจดับไฟป่าด้วยนวัตกรรม

“และเรามีเครื่องมือสื่อสาร อาสาสมัครทุกคนต้องมีวิทยุสื่อสารเวลาไปทำงานในป่า เวลาฉุกเฉินจะได้คุยกันได้ โดยเราจะประเมินก่อนว่าไฟแรงขนาดไหน ถ้าแรงไฟเกินกว่าที่จะรับมือได้ เราก็หลีกเลี่ยงที่จะเข้าไป เพื่อความปลอดภัยของอาสาสมัครด้วยเช่นกัน” 

บ.ก.หนูหริ่งอธิบายต่อว่า ทีมกำลังดำเนินการเก็บข้อมูลทำแผนที่ไฟป่าด้วย Gista Map “ไฟเดินทางได้ไกล บางลูกเดินทางข้ามมาจากอีกอำเภอเป็นร้อยกิโลเมตรก็มี ดังนั้น ถ้าเราพล็อตตำแหน่งจุดกำเนิดไฟในแต่ละปีเพื่อวิเคราะห์ เราอาจจะเห็นแพตเทิร์นอะไรบางอย่าง คนทำงานก็จะรู้ว่าในช่วงเริ่มต้นของฤดูไฟป่า ต้องไปตั้งแนวรับที่จุดไหน”

05

ทำงานแบบทีมเวิร์ก

โจ้เล่าว่า “ทุกเช้า เริ่มงานประมาณแปดโมงครึ่ง ผมกับน้องอีกคนจะบรีฟว่า วันนี้เราจะลงพื้นที่ไหน จากนั้นเตรียมตัว เตรียมอุปกรณ์ขนของขึ้นรถ มีรถประมาณสี่ถึงห้าคัน และไปลงพื้นที่กันเลย บางทีเราก็ลุยเอง บางทีเราก็ไปเสริมทัพเจ้าหน้าที่ ในกรณีที่ได้รับแจ้งไฟขนาดใหญ่

“ก่อนเข้าพื้นที่ เราจะเอาโดรนขึ้นเพื่อดูภาพรวมก่อน ไฟแรงไหม ป่าเป็นประเภทไหน โดรนจะบันทึกพิกัดภูมิศาสตร์ของไฟ จากนั้นส่งต่อให้อาสาสมัครใช้สมาร์ทโฟนเดินไปหาพิกัดนั้นๆ ด้วยระยะที่สั้นที่สุด เพื่อเซฟพลังงานของอาสาสมัครที่สุด”

แต่ละวันทีมอาสาดับไฟป่า จะดับไฟประมาณ 2 จุด มากสุด 4 จุด ลากยาวแต่เช้าไปจนถึง 3 – 4 ทุ่ม โดยอาสาสมัครทุกคนต้องเอาข้าวติดตัวไปตั้งแต่เช้า รวมถึงน้ำดื่มอีก 3 ขวด

อาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา การรวมตัวอาสาสมัครจากทั่วไทย เพื่อสร้างภารกิจดับไฟป่าด้วยนวัตกรรม

“เรารู้ว่าการทำงานในพื้นที่มันเหนื่อยมาก มีเหงื่อทั้งวัน อยู่กับความร้อน เมื่อกลับมาจากภารกิจในแต่ละวัน เราก็ล้อมวงกินข้าวกันแบบจัดเต็ม เป็นการซัพพอร์ตหลังบ้านเพื่อให้เกิดกำลังใจที่ดีในการทำงาน เป็นคอมมูนิตี้ ไม่ใช่กลับบ้านใครบ้านมัน

“จากนั้นสรุปงาน แต่ละคนเห็นอุปสรรค เห็นปัญหาอะไรที่ขัดขวางการทำงานในแต่ละวันบ้าง อะไรที่คิดว่าเราต้องพัฒนาต่อ เราต้องการอุปกรณ์อะไรมาช่วยในการทำงานเพิ่มไหม ต้องประชุมทุกวันเพื่ออัปเดตสถานการณ์ทีม เพื่อให้แก้ไขได้ทันที 

อาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา การรวมตัวอาสาสมัครจากทั่วไทย เพื่อสร้างภารกิจดับไฟป่าด้วยนวัตกรรม

โจ้อธิบายว่า จริงๆ สเกลปัญหาเรื่องไฟป่านั้นใหญ่มาก หากเทียบกับจำนวนเจ้าหน้าที่ที่มีอยู่ ทำให้ปัญหาเรื่องไฟป่าอย่างในจังหวัดเชียงใหม่ลุกลามไปใหญ่โต

“จากการที่ผมได้ทำงานกับหลายภาคส่วน อย่างหน่วยดับไฟของภาครัฐ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของภาครัฐไม่เห็นปัญหาพวกนี้นะ แต่โดยข้อจำกัดทางโครงสร้าง เรื่องการแก้ปัญหา หรือการหาอุปกรณ์สนับสนุน มันทำไม่ได้ในทันท่วงทีเหมือนระบบเอกชน 

“โครงสร้างการทำงานของเรา ถ้าบอกว่าพรุ่งนี้ต้องมีสายยางเพิ่ม เราต้องหาเงินมาซื้อทันที ดังนั้นปัญหาเชิงระบบจึงเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจพี่ๆ เจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องรออีกปีกว่าจะพัฒนากลไกได้”

06

ผืนป่าเป็นของใคร

ไฟป่าเกิดจากคนเผา แต่ไม่ได้หมายความว่าชาวเขาผู้อยู่กับผืนป่าทุกคน เป็นผู้จุดเปลวเพลิง

“มีวันหนึ่งที่ผมสะเทือนใจมาก ผมเจอชาวบ้านใช้ก้านไม้ตบไฟ ในขณะที่เราใช้เครื่องเป่า เราเห็นเลยว่าเขาไปถึงกองเพลิงได้ก่อนเรา แต่เขาไม่มีอุปกรณ์พวกนี้ ถ้าเขามีอุปกรณ์ครบครัน เขาจะทำงานเพื่อสังคมได้เยอะขึ้น จิตใจเขาอยากจะดับไฟอยู่แล้ว แต่เครื่องมือเขาไม่ถึง 

อาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา การรวมตัวอาสาสมัครจากทั่วไทย เพื่อสร้างภารกิจดับไฟป่าด้วยนวัตกรรม

“กลไกเรื่องไฟป่า ภาครัฐกดดันให้ทางหมู่บ้านดูแลพื้นที่ป่าในเขตตัวเอง แม้เราจะเห็นว่ามีหน่วยไฟป่าของกรมอุทยานฯ แต่จริงๆ แล้วกลไกเชิงปกครองเขาให้ผู้ใหญ่บ้านดูแลพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้ มีหลายหมู่บ้านขอความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์มาทางมูลนิธิกระจกเงา เราก็กำลังพยายามเร่งมือให้ความช่วยเหลือกันอยู่ 

“ผมใช้ใจทำงาน ชาวบ้านขาดอะไร มูลนิธิได้อะไรมาก็แบ่งปันให้เขา ผมเพิ่งให้เครื่องเป่าลมไปประมาณสิบกว่าเครื่อง ให้ถังน้ำกับชุมชนไปยี่สิบกว่าถัง เรื่องแบบนี้ทำให้เขาเห็นว่าเราจริงใจกับเขา และเราก็เห็นปัญหาของเขาจริงๆ” พี่โจ้เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวของสิ่งที่ชาวบ้านต้องเผชิญ

บ.ก.หนูหริ่ง เสริมโจ้ต่อ “เราจะเห็นว่ากระแสชุมชนนิยม เขาจะพูดเรื่องชุมชนเป็นฐานให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการทำสิ่งเหล่านี้ แต่ว่าในการมีส่วนร่วม ต้องมีการสนับสนุนให้ชุมชนมีเครื่องมือ พร้อมที่จะต่อกรกับไฟ คุณจะเห็นข่าวเรื่องอาสาสมัครและชาวบ้านตาย การมีอุปกรณ์เพียงพอรับมือกับมันจะทำให้เกมส์นี้เปลี่ยนเช่นกัน”

อาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา การรวมตัวอาสาสมัครจากทั่วไทย เพื่อสร้างภารกิจดับไฟป่าด้วยนวัตกรรม

บ.ก.หนูหริ่งอธิบายว่า “ตั้งแต่เมื่อก่อน ชาวเขาอยู่ในป่าหรืออยู่ติดป่า บ้านเขามุงแฝก ดังนั้นไฟป่าทำหมู่บ้านไฟไหม้ได้ ไหม้ทียกหมู่บ้าน เวลาไฟมา ไฟปลิว บินไปตามลม และเขาก็ต้องกันพื้นที่ก่อนจะเข้าเรือกสวนไร่นา เพราะเขามีการทำแปลงเกษตรในพื้นที่สูง

“ชาวเขาเป็นชุมชนที่มีสำนึกสูงมาก ถ้าไฟอยู่ในพื้นที่เขตความรับผิดชอบ เป็นเขตป่าชุมชนของเขา เขาเคารพและพร้อมปกปักษ์ ให้ลุยไฟไปหลายกิโลเมตร เขาก็พร้อมไป ดุเดือดมาก ชาวเขาจะมีจิตสำนึกว่าผืนป่าคือบ้าน 

“จริงๆ แล้วเวลาเกิดไฟป่า ชาวบ้านก็ถูกควันรมนะ อยู่ใกล้ป่ายิ่งหนักเลย เขาก็มีความรู้สึกเหมือนคนเมืองตอนนี้นี่แหละว่ามันไม่ไหว ดังนั้นแค่เขาเห็นพวกเราขยับ เห็นหน่วยงานต่างๆ เข้าไปในพื้นที่เพื่อช่วยแก้ปัญหา เขาพร้อมที่จะร่วมมือแบบสุดตัว”

07

ปัญหาที่ใหญ่กว่าแค่ชายเขา

“แต่ละภาคส่วนในสังคมควร Take Action ยังไงกับเรื่องนี้บ้าง” เราถาม

โจ้ยิ้มแล้วตอบว่า “ไฟป่ามีทั้งพื้นที่เกษตร พื้นที่ป่า พื้นที่ป่าอนุรักษ์ วิธี Take Action ในอุดมคติ อย่างแรกคือเรื่องจิตสำนึก ถ้าเป็นกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่เกษตรกรรม การจุดไฟเผาวัชพืชควรมีการกันแนวเขตพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อไม่ให้ลามเข้าพื้นที่ป่า 

“ในส่วนของชุมชน ไม่ว่าเราจะสร้างจิตสำนึกให้ผู้คนด้วยวิธีการใดก็ตามแต่ ผมคิดว่ายังไงมันก็จะยังมีไฟป่าอยู่ดี ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือการติดอาวุธให้ชุมชน เพราะชุมชนเขาเป็นคนท้องที่ เขามีป่าชุมชนที่หวงแหน อาวุธอุปกรณ์ในการปะทะกับเปลวไฟจึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่างน้อยอย่าให้เขามีเฉพาะไม้ตบไฟ 

“ส่วนภาครัฐก็ควรพัฒนาเชิงกลไกในเรื่องของการดับไฟป่า ทั้งเรื่องของกำลังพลและเครื่องไม้เครื่องมือทางเทคโนโลยี หน่วยดับไฟป่าที่ทำงานหนักๆ กันทุกวันนี้จำเป็นต้องมีโดรน เดี๋ยวนี้ราคาไม่แพงเท่าไหร่ อย่างน้อยเขาต้องรู้จากข้างบนว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นยังไง แนวไฟใหญ่ขึ้นไหม ทิศทางลมเป็นยังไง เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการทำงาน

“และสุดท้ายคือคนในสังคม อย่างแรกต้องเข้าใจว่าปัญหาไฟป่าไม่ได้เกิดจากไม้สีกันแล้วนะ แต่เกิดจากคนเผา และไฟป่าไม่ใช่แค่เรื่องของคนในพื้นที่เกิดไฟป่าเท่านั้น แต่มันเป็นปัญหาระดับสังคม ชุมชนก็อยากจับคนเผา แต่จับไม่ได้ เพราะมันยากมากที่จะไปจัดตั้งหน่วยเฝ้าระวังในป่า

“คุณไม่ต้องมาเป็นอาสาดับไฟป่าก็ได้ แค่เข้าใจ และช่วยสนับสนุนชุมชน องค์กร มูลนิธิ และภาครัฐที่ทำงานเรื่องนี้เท่าที่มีโอกาสและกำลัง ก็เพียงพอแล้วครับ”

อาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา การรวมตัวอาสาสมัครจากทั่วไทย เพื่อสร้างภารกิจดับไฟป่าด้วยนวัตกรรม

สุดท้ายเราได้คุยกับ พัท-พัทธ์ญาดา ธีรปราชญ์สกุล หนึ่งในอาสาสมัครชาวกรุงผู้ขึ้นเหนือ มาใช้ชีวิตใต้หลังคาผืนป่าและร่วมต่อสู้ฟาดฟันกับกองเพลิงมาเป็นเวลานับเดือนแล้ว 

“เราเคยเป็นอาสาสมัครครูดอยกับมูลนิธิกระจกเงาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย และมูลนิธิก็เป็น NGO กลุ่มแรกที่ไปช่วยน้ำท่วมอุบลราชธานี ซึ่งเป็นบ้านคุณแม่ เห็นกระบวนการทำงานที่จริงจัง เป็นรูปธรรม พอเห็นประกาศรับสมัครอาสาดับไฟป่าผ่านเฟซบุ๊ค เราเลยไม่ลังเลที่จะกระโจนเข้ามาเลย 

“เราไม่ได้มาแค่ดับไฟป่า แต่มาช่วยเซ็ตให้มั่นคงยั่งยืน โดยต้องให้ชาวบ้านรู้ว่าหนึ่งในการแก้ปัญหาไฟป่าอย่างยั่งยืนที่สุด คือการเพิ่มน้ำให้ป่าและเติมความหลากหลายทางชีวภาพกลับคืนมา ทุกวันนี้ชาวบ้านปลูกพืชเชิงเดี่ยวเยอะ ทำให้สภาพดิน สภาพน้ำแย่ไปหมดเลย ในเชิงปากท้องและระบบเศรษฐกิจ เราเข้าใจชาวบ้านนะ เขาดิ้นรนหาเลี้ยงชีพและต้องการปลูกอะไรที่มีการันตีว่ามีคนมารับซื้อ

“พอสภาวะวิกฤติไฟป่าผ่านพ้นไปเมื่อฝนฤดูกาลใหม่ตกลงมา เราจะเดินหน้าสร้างโคก หนอง นา พื้นที่เกษตรกรรมผสมผสาน ที่มีระบบจัดการน้ำตามธรรมชาติ ขนาด 4 ไร่ในศูนย์บัญชาการดับไฟป่า เพื่อสร้างศูนย์กระจายความรู้และเป็นโมเดลให้ชาวบ้านเข้าใจการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ต้องให้เขาได้เห็นผลลัพธ์ด้วยตาตัวเอง เขาถึงจะเชื่อ นั่นคืออีกแผนระยะยาวของอาสาดับไฟป่า”

อาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา การรวมตัวอาสาสมัครจากทั่วไทย เพื่อสร้างภารกิจดับไฟป่าด้วยนวัตกรรม

ภาพ : เอกอนันต์ ด่านเพ็ชรดำรง

สนับสนุนภารกิจอาสาดับไฟป่ามูลนิธิกระจกเงา ได้ที่ชื่อบัญชีกองทุนภัยพิบัติ (Special Force) เลขที่บัญชี 202-258298-3 ธ.ไทยพาณิชย์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: อาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน