ใกล้ถึงช่วงสิ้นปี พ.ศ. 2566 แล้ว ใครมีวัดในดวงใจที่จะไปไหว้พระขอพรหรือสวดมนต์ข้ามปีกันรึยังครับ ถ้าใครมีวัดในใจแล้วก็ไปตามที่เล็งไว้ได้เลยครับ แต่ถ้ายังไม่มี วันนี้ผม ต้า อารามบอย มีวัดมานำเสนอครับ เป็นวัดที่อาจไม่ได้ดังมาก แต่ก็เป็นวัดพิเศษของผม เป็นวัดโปรดที่ชอบที่สุดวัดหนึ่ง เป็นวัดที่มีจิตรกรรมฝาผนังที่สวยที่สุดวัดหนึ่ง เป็นวัดที่มีการแก้บนที่เฉพาะตัวมาก ๆ และยังเป็นวัดที่ปรากฏตัวในซีรีส์เรื่อง บุษบาลุยไฟ ด้วย เพราะเป็นวัดที่มีผลงานของหนึ่งในสุดยอดช่างของแผ่นดินที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์อย่าง ครูคงแป๊ะ และ ครูทองอยู่

ใช่ครับ วันนี้ผมจะขอพาทุกท่านไปชมวัดสุวรรณารามครับ

จากวัดราษฎร์สู่พระอารามหลวง

วัดสุวรรณารามนี้ถือเป็นอีกหนึ่งวัดโบราณในย่านบางกอกน้อย เก่าแก่แค่ไหนไม่แน่ใจแต่ก็เชื่อว่าน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่วัดนี้เดิมน่าจะเป็นวัดราษฎร์ สังเกตได้จากชื่อเดิมของวัดคือ ‘วัดทอง’ อีกหนึ่งชื่อวัดสุดโหลที่เจอได้ทั่วไป เอาแค่กรุงเทพฯ จังหวัดเดียวก็มีวัดทองเกือบ 10 วัดเลยนะ

แต่ตัววัดที่เห็นในปัจจุบันแทบจะไม่เหลืออะไรที่เก่าถึงอยุธยาสักเท่าไหร่แล้ว เพราะวัดผ่านการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 1 โดย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งพระองค์โปรดฯ ให้สร้างทั้งพระอุโบสถ พระวิหาร พระเจดีย์ เก๋ง และอาคารเสนาสนะต่าง ๆ ในวัดขึ้นมาใหม่แทบทั้งหมด เสมือนเป็นการยกสถานะของวัดนี้จากวัดราษฎร์สู่วัดหลวง ยิ่งเมื่อ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ได้โปรดฯ ให้สร้างฌาปนสถานสำหรับเจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่หรือเมรุหลวงที่วัดนี้ ยิ่งทำให้ความสำคัญของวัดนี้เพิ่มขึ้นไปอีก

พอถึงสมัยรัชกาลที่ 3 มีการปฏิสังขรณ์วัดเพิ่มเติมทั้งสร้างศาลาการเปรียญ สร้างกุฏิพระ แต่ที่สำคัญที่สุดคือการเขียนจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถที่ถือเป็นเพชรน้ำงามชิ้นหนึ่งแห่งยุคด้วย ก่อนที่วัดนี้จะเปลี่ยนชื่อจากวัดทองเป็น ‘วัดสุวรรณาราม’ ในสมัยรัชกาลที่ 4

แต่วัดสุวรรณารามยังมีอีกเรื่องที่น่าสนใจ ซึ่งเรื่องนี้ถูกเล่าเอาไว้ใน พระราชพงศาวดาร ฉบับหมอบรัดเล เล่าว่า หลังศึกบางแก้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จับเชลยชาวพม่ามาได้กว่า 1,300 คนมาขังไว้ในกรุงธนบุรี พอต่อมา อะแซหวุ่นกี้ ยกทัพมา พระเจ้าตากจึงสั่งให้รวบรวมพล รวมถึงสั่งให้เชลยศึกชาวพม่าที่จับมาไปรบด้วย แต่เชลยศึกเหล่านี้ปฏิเสธเพราะไม่อยากรบกับพวกเดียวกัน พระองค์เลยสั่งให้เอาเชลยชาวพม่าทั้งหมดไปประหารที่ลานวัดสุวรรณารามก่อนจะนำไปฝังบริเวณป่าช้าเก่าของวัด ซึ่งปัจจุบันคือสนามของโรงเรียนวัดสุวรรณารามครับ

หลวงพ่อศาสดากับการแก้บนพิเศษไม่เหมือนใคร

พอไปถึงวัด อาคารหลังแรกที่เราจะเห็นก่อนเลยคือพระอุโบสถหลังงามของวัด ซึ่งแม้จะมีรูปลักษณ์ไม่ได้แตกต่างจากอุโบสถวิหารแบบไทยประเพณี แต่ถ้าได้ลองดูละเอียด ๆ จะเห็นว่า ไม่ว่าจะหน้าบันรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ซุ้มประตูและหน้าต่างที่มีทั้งทรงปราสาทและทรงบรรพแถลงล้วนแต่ผ่านการออกแบบอย่างประณีตและสวยงามมาก ๆ

ภายในพระอุโบสถเป็นสถานที่ประดิษฐานหลวงพ่อศาสดา พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยที่ชื่อเดียวกับกันพระประธานภายในพระวิหารพระศาสดา วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นที่เคารพศรัทธาอย่างมากสำหรับคนในพื้นที่ แต่ที่น่าสนใจคือ แม้หลวงพ่อศาสดาจะเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่แต่กลับไม่ปรากฏประวัติว่าอัญเชิญท่านมาจากที่ใด โดย สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่าน่าจะอัญเชิญลงมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เพราะวัดนี้ก็ถูกปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในช่วงเวลานี้ แถมรัชกาลนี้ยังเป็นรัชกาลที่มีการอัญเชิญพระพุทธรูปจากหัวเมืองเหนือ (a.k.a. เมืองที่อยู่เหนือกรุงเทพฯ) ลงมามากมายเกิน 1,000 องค์

ทว่าเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้ที่มาของพระพุทธรูปองค์นี้คือ ‘การแก้บน’ ครับ ฟังแล้วงงใช่ไหมครับ แก้บนมันน่าสนใจตรงไหน น่าสนใจสิครับ เพราะชาวบ้านเชื่อว่าหลวงพ่อศาสดาไม่ชอบการแก้บนด้วยดนตรี ละครหรือการละเล่นแบบอื่น ๆ ดังนั้นการแก้บนของที่นี่จึงพิเศษไม่เหมือนใคร แถมไม่ได้มีวิธีเดียว มีถึง 3 วิธีด้วยกัน

วิธีที่ 1 เขกหัวตัวเอง โดยระบุจำนวนว่าถ้าได้ผลตามที่ต้องการจะเขกหัวกี่ที และต้องเขกเอง ห้ามให้คนอื่นเขกให้ มีเรื่องเล่าว่าคนที่แก้บนด้วยวิธีนี้หัวปูดกันทุกคนเพราเหมือนมีคนจับมือเราเขกหัวตัวเอง

วิธีที่ 2 ตุ๊กตาล้มลุก วิธีนี้ไม่ใช่ว่าเราไปซื้อตุ๊กตาล้มลุกมาถวายนะครับแต่ต้องทำตัวเองเสมือนตุ๊กตาล้มลุก เริ่มจากการนั่งชันเข่าหน้าใบเสมา แล้วเอามือทั้ง 2 ข้างสอดเข้าไปกุมใต้ขา แล้วกลิ้งวนขวาไปหาซ้ายเป็นวงกลม โดยการบนจะคล้ายกับบนเขกหัว คือบนเป็นจำนวนรอบ มีเรื่องเล่าว่า ถ้าบนเรื่องการพนันแล้วแก้บนด้วยวิธีนี้จะเจ็บตัวไปตามกัน เพราะหลวงพ่อศาสดาไม่สนับสนุนการพนัน อนึ่ง การแก้บนด้วยวิธีนี้จ้างคนอื่นทำแทนได้

สำหรับวิธีที่ 1 และ 2 นี้ ปัจจุบันไม่ค่อยมีคนมาบนและแก้ด้วยวิธีนี้แล้วเพราะยาก แต่วิธีที่ 3 ยังมีอยู่และเชื่อว่าหลวงพ่อศาสดาโปรดการแก้บนด้วยวิธีนี้มากที่สุด นั่นก็คือแก้บนด้วยการวิ่งม้า

การวิ่งม้านี้ ว่ากันว่าเป็นวิธีที่มีพราหมณ์แนะนำให้ โดยเวลาแก้บนจะเริ่มด้วยการจุดธูปบอกก่อนจะวิ่ง จากนั้นต้องมาคุกเข่าหน้าใบเสมาบริเวณหน้าพระอุโบสถ ตั้งนะโม 3 จบ แล้วบอกว่าจะแก้บนด้วยวิธีการวิ่งม้า จากนั้นจะเริ่มวิ่งเวียนขวารอบพระอุโบสถ โดยอุปกรณ์ที่ต้องเตรียมก็คือ ‘ม้า’ ซึ่งในอดีตจะเป็นม้าก้านกล้วย แต่ปัจจุบันใช้ผ้าขาวม้าผูกเป็นปมหัวขมวดคล้ายหัวม้า ส่วนข้างหลังเป็นส่วนหาง แล้วจึงเริ่มวิ่งพร้อมกับทำเสียงม้าร้อง ‘ฮี้ ๆ’ ไปเรื่อย ๆ จนครบตามจำนวนรอบที่บนไว้ พอครบแล้วก็มากราบอีกทีเป็นอันเสร็จพิธี ซึ่งการวิ่งม้านี้จะวิ่งเองก็ได้หรือจะจ้างคนอื่นวิ่งแทนก็ได้ 

หนึ่งเดียวที่เหลืออยู่ของ 2 ยอดช่าง คงแป๊ะ-ทองอยู่

นอกจากหลวงพ่อศาสดาแล้ว ภายในพระอุโบสถยังตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังแบบจัดเต็มชนิดที่แทบไม่มีที่ว่างเลย ซึ่งแม้ภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังค่อนข้างวาดตามมาตรฐาน คือมีภาพมารผจญ มีภาพไตรภูมิโลกสัณฐาน มีภาพเทพชุมนุม มีภาพ ทศชาติชาดก ที่มี พระเวสสันดรชาดก แบบจัดเต็ม 13 กัณฑ์ มีภาพพุทธประวัติอีกนิดหน่อย แต่ก็เช่นเดียวกันกับสถาปัตยกรรมภายนอก ในความธรรมดา ความมาตรฐานของที่นี่มีความพิเศษแฝงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นฉากมารผจญที่พระพุทธเจ้าแสดงปางสมาธิแทนที่จะเป็นปางมารผจญ หรือภาพชูชกตอนที่เข้าวังพระเจ้าสัญชัยที่แต่งองค์ทรงเครื่องซะหรูหรา ทว่าเป็นที่น่าเสียดายว่าเราไม่รู้ว่าใครเป็นใครวาด นี่ยังไม่รวมภาพในกรอบกระจกที่เป็นรูปนกและดอกไม้ที่งดงามจับใจที่สั่งนำเข้ามาจากเมืองจีนอีกนะ

แต่ใช่ว่าทุกภาพจะไม่มีชื่อผู้วาดเพราะบางภาพก็พอจะรู้ว่าใครเป็นคนวาด แถมคนวาดที่ว่าก็ไม่ใช่ช่างชั้นธรรมดา แต่เป็นช่างระดับครูในแผ่นดินที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีชื่อเสียงและผลงานเป็นที่ประจักษ์มาก และไม่ได้มีเพียงคนเดียว แต่มีถึง 2 คนกันไปเลย ประกอบด้วย หลวงวิจิตรเจษฎา หรือ ครูทองอยู่ เจ้าของผลงานภาพ เนมิราชชาดก และ หลวงเสนีบริรักษ์ หรือ ครูคงแป๊ะ เจ้าของผลงานภาพ มโหสถชาดก ที่เจ๋งไปกว่านั้นคือการที่ทั้ง 2 ภาพนี้อยู่ใกล้กันมากแค่เพียงหน้าต่างคั่นกลางเท่านั้น เพราะชาดกทั้ง 2 เรื่องนั้นอยู่ติดกัน เนมิราชชาดก เป็นชาดกลำดับที่ 4 มโหสถชาดก เป็นชาดกลำดับที่ 5 แต่ผมคงจะขอละเนื้อเรื่องของชาดกทั้ง 2 ไว้นะครับ เพราะเคยเขียนถึงไปแล้ว จะขอพูดถึงตัวภาพแบบเน้น ๆ เลยเพราะช่างทั้ง 2 คนนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร

(อนึ่ง เพื่ออรรถรสในการอ่าน ให้นึกถึง คุณบิ๊ก ศรุต เจ้าของบทครูทองอยู่ และ คุณเต๋า สมชาย เจ้าของบนครูคงแป๊ะจากเรื่อง บุษบาลุยไฟ ไปด้วยนะครับ)

สำหรับครูทองอยู่ นี่ถือเป็นช่างฝีมือครูที่ชำนาญการวาดเส้นลายไทยอย่างมาก เส้นสายที่ตวัดมีความอ่อนช้อยและวิจิตรอลังการ ส่งผลให้ฉากเนมิราชชาดกของครูทองอยู่นั้นงดงามอย่างยิ่ง ทั้งภาพปราสาท ภาพเทวดา การใช้เส้นแบ่งภาพแบบอ่อนพลิ้วที่เรียกว่า ‘เส้นฮ่อ’ แทนที่เส้นสินเธาว์หยักฟันปลาแบบเดิม การแทรกภาพนางมณีเมขลาและรามสูรเข้ามาอย่างแนบเนียน แถมยังเลือกสีพื้นหลังในแต่ละส่วนให้ตัดกันจนขับเน้นภาพหลักตรงกลางให้ยิ่งเด่นขึ้นไปอีก น่าเสียดายที่ฉากนรกด้านล่างลบเลือนไปมาก เลยอดเห็นนรกอลังการสไตล์ครูทองอยู่ไปเลย แต่ด้วยผลงานในระดับนี้ ทำให้ครูทองอยู่ถูกยกย่องแบบสุด ๆ ถึงขนาดที่ชื่อของท่านปรากฏอยู่ในคำไหว้ครูช่างครั้งกรุงเทพฯ เลยทีเดียว

ส่วนครูคงแป๊ะนั้นต่างออกไป เส้นสายลายไทยอาจเทียบครูทองอยู่ไม่ได้ แต่ก็แทนที่ด้วยอารมณ์ขันและภาพที่เต็มไปด้วยพลังและอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งแสดงออกมาผ่านฉากที่พระมโหสถล่อให้พราหมณ์ก้มเก็บแก้วมณีที่แม้ตัวหลักจะวาดตามแบบนาฏลักษณ์ แต่บรรดาภาพกากตัวประกอบต่าง ๆ นั้นกลับน่าดูอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นคนที่กำลังป้องปากหัวเราะ หรือภาพม้าที่พุ่งทะยานคล้ายจะพุ่งออกไปด้วยความเร็วสูง หรือภาพชาวต่างชาติทั้งอาหรับทั้งตะวันตกที่แต่งกายหรูหราสมฐานะอย่างยิ่ง ก็ทำให้ภาพของครูคงแป๊ะนั้นโดดเด่นไม่แพ้ใคร แต่น่าเสียดายว่าชื่อของท่านกลับไม่ปรากฏที่ไหนเลย บ้างก็ว่าเป็นเพราะอุปนิสัยความฉุนเฉียวอารมณ์ร้อนของท่าน ทำให้เคยพลั้งมือฆ่าคนตายจนติดคุกติดตะรางนั่นเอง ครูคงแป๊ะเลยไม่ได้ถูกยกย่องเท่าครูช่างท่านอื่น

แล้วเรารู้ได้ยังไงว่าครูช่างทั้ง 2 เป็นเจ้าของผลงานมาสเตอร์พีซทั้ง 2 ชิ้นนี้ งั้นเรามารู้จักกับ สาส์นสมเด็จ กันก่อนครับ สาส์นสมเด็จ คือชื่อของหนังสือชุด 55 ภาคที่รวบรวมจดหมายสนทนาโต้ตอบระหว่างสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ซึ่งมีการกล่าวถึงชื่อช่างทั้ง 2 เอาไว้ในคราวที่พูดถึงจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ วัดอรุณราชวรารามซึ่งทั้งสองได้ฝากผลงานเอาไว้ในชาดกเรื่องเดียวกัน คือ มโหสถชาดก โดยครูทองอยู่เขียนฉากชักรอกเตี้ยค่อม ส่วนครูคงแป๊ะเขียนฉากอุโมงค์ น่าเสียดายว่าจิตรกรรมฝาผนังชุดนี้ได้สูญหายไปกับเพลิงหมดแล้ว เหลือเพียงวัดสุวรรณารามเพียงแห่งเดียวเท่านั้นเป็นหลักฐานที่ชัดเจนที่สุดของช่างเอกทั้งสอง

ผมเชื่อว่าอ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจเถียงผมในใจว่า แล้ววัดบางยี่ขันกับวัดดาวดึงษารามหายไปไหน เรื่องนี้ต้องขอเล่าสักหน่อย เพราะเรื่องผลงานของครูช่างทั้ง 2 นอกเหนือจากวัดอรุณราชวราราม และวัดสุวรรณารามแล้วก็ไม่ได้มีวัดไหนที่ยืนยันได้อย่างแน่ชัดเลย ส่วนผลงานที่วัดบางยี่ขันกับวัดดาวดึงษารามนั้น เป็นการสันนิษฐานโดย น. ณ ปากน้ำ หรือ อ.ประยูร อุลุชาฎะ ในหนังสือชื่อ ครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ สองจิตรกรเอกแห่งยุคทองของศิลปะจิตรกรรมรัตนโกสินทร์ เท่านั้น ซึ่งส่วนตัวยังแอบตะขิดตะขวงใจนิดหน่อย เพราะรู้สึกว่าผลงานของทั้ง 2 วัดนี้มีความต่างจากวัดสุวรรณารามมากพอสมควร ส่วนใครจะเชื่อจะไม่เชื่อยังไงก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนเลยครับ ใช้จักรยาน เอ๊ย! วิจารณญาณกันได้เต็มที่เลยครับ 

มณีอันวิจิตรในวัดย่านฝั่งธนฯ

แต่ไม่ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะเคยมาประหารเชลยศึกชาวพม่าที่วัดนี้หรือไม่ ผลงานของครูคงแป๊ะและครูทองอยู่จะมีที่อื่นอีกหรือเปล่า ก็ไม่มีสิ่งไหนที่ทำให้ความงดงามน่าชมของวัดสุวรรณารามลดลงแม้แต่น้อย ยังไม่รวมพระวิหารของวัดที่น่าจะเคยเป็นอุโบสถของวัดทองครั้งกรุงเก่าที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสมัยอยุธยา เจดีย์องค์ใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งในย่านฝั่งธนบุรี หรือศาลาการเปรียญที่มีธรรมาสน์องค์งามที่ผมไม่ได้กล่าวถึงอีก ดังนั้นวัดสุวรรณารามจึงถือเป็น The Must ที่ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง สำหรับใครที่เคยไปแล้ว วัดนี้คู่ควรแก่การกลับไปชมซ้ำด้วยประการทั้งปวง ส่วนใครที่ไม่เคยไป ก็อยากชวนให้ไปชมครับ รับประกันว่าไม่ผิดหวังแน่นอน

และวัดสุวรรณารามจะเป็นวัดสุดท้ายในซีรีส์นี้ของผมในฐานะคอลัมนิสต์ประจำของ The Cloud ครับ จากนี้ก็คงจะไม่ได้เจอกันบ่อย ๆ ทุกเดือนแล้ว แต่ผมยังไม่ได้หายไปไหนนะครับ ถ้ามีโอกาสเหมาะ ๆ จังหวะดี ๆ ผมจะกลับมาอีกแน่นอน ขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่าน ทั้งขาประจำที่อ่านทุกคอลัมน์แบบไม่ขาด ทั้งขาจรที่แวะเวียนเข้ามาอ่านเรื่องราวของวัดต่าง ๆ ที่ผมหยิบมาเล่าเป็นครั้งคราว อาจถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง น่าสนใจบ้าง น่าเบื่อบ้าง แต่ผมก็ยืนยันเหมือนเคยว่าผลงานทั้งหมดผ่านการเลือกและคัดมาแล้วอย่างดีทุกชิ้นครับ

ไว้พบกันใหม่ เมื่อวันนั้นมาถึงครับผม

เกร็ดแถมท้าย

  1. วัดสุวรรณารามเป็นอีกหนึ่งวัดที่เดินทางมาง่าย มีรถเมล์หลายสายผ่าน หรือจะนั่ง MRT มาลงสถานีบางขุนนนท์ก็ได้ หรือจะนั่งรถส่วนตัวก็ได้เหมือนกัน ที่สำคัญ พระอุโบสถของวัดเปิดตลอดเลยครับ เข้าไปชมได้เลย หรือถ้าใครไปบนแล้วอยากแก้บนก็ติดต่อชาวบ้านใกล้ ๆ ได้เลยครับ
  2. ส่วนวัดบางยี่ขันกับวัดดาวดึงษารามที่ผมพูดถึงไว้อาจเข้าชมยากสักหน่อย เพราะปกติพระอุโบสถของทั้ง 2 วัดที่มีจิตรกรรมฝาผนังที่ผมพูดถึงไม่ได้เปิด ต้องติดต่อขออนุญาตเข้าชมทั้ง 2 ที่เลยครับ
  3. แต่ถ้าใครสนใจหนังสือ ครูคงแป๊ะและครูทองอยู่ สองจิตรกรเอกแห่งยุคทองของศิลปะจิตรกรรมรัตนโกสินทร์ ของ น. ณ ปากน้ำ อาจหายากสักหน่อย เพราะเป็นหนังสือเก่าพอสมควรครับ แต่ถ้าใครโชคดีมีอยู่แล้วก็ยินดีด้วยครับ เพราะผมยังหามาเป็นของตัวเองไม่ได้เลย

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ