เวลาพูดถึงจังหวัดชุมพร จังหวัดเจ้าของสมญานาม ‘ประตูสู่ภาคใต้’ ภาพที่น่าจะเข้ามาในหัวเราก่อนก็คงเป็นสถานที่ทางธรรมชาติ อย่างหาดทราย ทะเล ภูเขา ถ้ำ เกาะ หรือถ้าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมก็อาจเป็นพระธาตุสวี

แต่วันนี้ผมจะขอพาไปชมวัดแห่งหนึ่งครับ ไม่ได้เก่าแก่และไม่ได้มีสิ่งก่อสร้างใหญ่โตอะไรมากมาย แต่กลับซ่อนเพชรเอาไว้ในเปลือกอันแสนจะธรรมดา และวัดนี้มีชื่อว่า ‘วัดสามแก้ว’

จากเมืองหลวงสู่ชุมพร

ไม่รู้ว่าเป็นเพราะโชคดีรึเปล่าเพราะไม่ใช่ว่าทุกวัดจะมีอะไรแบบนี้ แต่ประวัติศาสตร์ของวัดสามแก้วนี้ถูกบันทึกเอาไว้บนผนังของวัด เลยจะขอเอาข้อความที่บันทึกไว้มาเล่าให้ฟังครับ

เนินที่ตั้งวัดสามแก้วนี้ แต่ดึกดำบรรพ์มา ชาวบ้านเรียกว่าเขาสามแก้ว มีเรื่องราวกล่าวเล่ากันเป็นทำนองนิทาน เคยมีพระสงฆ์อยู่จำพรรษาแล้วถึง 3 ยุค แต่อยู่ไม่ตลอด ตกเป็นที่รกร้างมาหลายปี ไม่มีสิ่งปลูกสร้างอย่างใดอย่างหนึ่งเหลืออยู่ คงมีต้นไม้ที่ใช้ได้อยู่บ้างเล็กน้อย พอเป็นเครื่องหมายว่าพระสงฆ์เคยอยู่อาศัย 

เมื่อปีฉลู พุทธศักราช 2468 เมษายน พระธรรมวโรดม (เซ่ง อุตฺตโม) วัดราชาธิวาส ครั้งยังเป็นพระธรรมโกศาจารย์กับ หลวงศรีสุพรรณดิฐ (เผียน ชุมวรฐายี) ครั้งยังเป็นนายอำเภอท่าตะเภา จังหวัดชุมพรนี้ พร้อมด้วยทายกทายิกาเริ่มถางป่าอันรกร้างและปลูกสร้างที่อยู่ชั่วคราวสำหรับพระสงฆ์สามเณร จัดให้พระสงฆ์อยู่จำพรรษาตั้งแต่นั้นมา ในปลาย พ.ศ. 2468 นั้น ได้สร้างศาลาธรรมสภาถาวรขึ้นเป็นหลักฐาน กว้าง 5 วา ยาว 10 วา ประมาณราคา 8,000 บาท

ครั้นถึงพุทธศักราช 2469 ได้รับพระราชทานเป็นวิสุงคามสีมาโดยกว้าง 2 เส้น ยาว 3 เส้น ในวันที่ 1 มกราคม พุทธศักราช 2469 วันที่ 23 ธันวาคมศกนั้น ได้พิธีฝังรากอุโบสถ สร้างอุโบสถต่อมาจนสำเร็จดังปรากฏอยู่นี้ประมาณ 16,000 บาท มี พระภัทรธรรมธาดา (จรูญ ฐิตสทฺโธ) เปรียญ 5 ประโยคเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดนี้แต่ พ.ศ. 2472 เป็นต้นมา วัดนี้มีอาณาเขตร์ คือ

ทิศเหนือจดทางสาธารณยาว 16 เส้น ทิศใต้จรดคลองหวาย…วาดยาว 11 เส้น 4 วา

ทิศตะวันออกจดเขตรทางรถไฟกว้าง 8 เส้น 13 วา ทิศตะวันตกจดที่ดิน นายอัด สุทธาภักดี กว้าง 5 เส้น

รวมเป็นเนื้อที่ 86 ไร่ 8 วา

จารึกไว้แต่วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2475

เป็นยังไงบ้างครับ ละเอียดแบบสุด ๆ ไปเลยใช่ไหม เพราะมีประวัติ ชื่อผู้ที่มาฟื้นฟู บอกกระทั่งวัน เดือน ปี เงินที่ใช้ หรือแม้แต่อาณาเขตแบบวัดเป็นหน่วยวัดแบบโบราณกันไปเลย ซึ่งข้อความชุดนี้ทำให้เรารู้ว่าพื้นที่ของวัดสามแก้วนี้เคยมีวัดมาก่อนแล้ว ก่อนที่พระธรรมวโรดม (เซ่ง อุตฺตโม) แห่งวัดราชาธิวาสสมัยยังเป็นพระธรรมโกศาจารย์และหลวงศรีสุพรรณดิฐ (เผียน ชุมวรฐายี) ตอนที่ยังเป็นนายอำเภอท่าตะเภาร่วมกับชาวบ้านฟื้นฟูวัดนี้ขึ้นมาใหม่ และสร้างศาลาธรรมสภาและอุโบสถพร้อมด้วยกุฏิสงฆ์ขึ้นมา น่าเสียดายว่าศาลาธรรมสภาหลังที่ว่าถูกรื้อไปแล้ว แต่อุโบสถของวัดยังคงอยู่เป็นหลักฐานของการฟื้นฟูวัดขึ้นใหม่ในครั้งนั้น

วัดสามแก้ว วัดงามแห่งชุมพรที่มีอุโบสถสไตล์ฝรั่งเรียบง่ายและจิตรกรรมฝีมือตาอดีตนายก

อุโบสถสไตล์โมเดิร์นแห่งยุครัตนโกสินทร์

ผมเชื่อว่าความรู้สึกแรกของหลายคนเมื่อเห็นอุโบสถของวัดสามแก้วครั้งแรกน่าจะเป็น “นั่นใช่โบสถ์แน่เหรอ” เพราะดูจากรูปลักษณ์ภายนอกแล้วไม่มีอะไรที่ดูเหมือนอาคารในวัดเลย หน้าบันก็ไม่มี

ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ไม่มี แถมใบเสมาก็ไม่รู้อยู่ตรงไหน ดูยังไงก็เหมือนตึกธรรมดาไม่ก็กุฏิพระแบบหรู ๆ หน่อย แต่เชื่อผมเถอะว่านี่คืออุโบสถเนื่องในพุทธศาสนาจริง ๆ ครับ

ต้องเท้าความก่อนว่าหนึ่งในปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในศิลปะไทยในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 คือการปรับเปลี่ยนทางด้านรูปแบบงานสถาปัตยกรรมไทยให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น และหนึ่งในตัวอย่างสำคัญ คือพระอุโบสถ วัดราชาธิวาส ที่ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นำเอาแนวคิดต่าง ๆ มาผสมผสานเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นอาคารที่ในสมัยนั้นมี 1 ไม่มี 2 เพราะมีรูปทรงที่แปลกพิสดารอย่างมาก (ใครสนใจผมเคยเขียนถึงไปแล้ว เปิดอ่านไปพร้อมกันได้เลย)

คราวนี้ลองย้อนกลับไปดูประวัติกันอีกทีจะพบว่าหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงในการปฏิสังขรณ์วัดสามแก้วก็คือพระธรรมโกศาจารย์ ซึ่งในเวลานั้นดำรงสถานะเป็นเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส ท่านจึงเคยเห็นอาคารพระอุโบสถแบบทันสมัยที่สุดในเวลานั้นมาแล้วในวัดของท่านเอง สิ่งนี้จึงอาจเป็นแรงบันดาลใจสำคัญในการออกแบบอุโบสถหลังนี้ก็ได้ 

ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมอุโบสถหลังนี้จึงมีบางอย่างที่แอบดูคล้ายพระอุโบสถ วัดราชาธิวาส เช่น คันทวย ประตู หน้าต่าง แต่มีรูปทรงที่ดูแล้วแปลกตาโมเดิร์นก็คงหนีไม่พ้นหลังคาแบนราบเพราะปกติแล้วอาคารแบบไทย ๆ ต้องมีหลังคามุงกระเบื้องเสมอ ๆ ซึ่งหลังคาแบบนี้ส่วนใหญ่ใช้กับกุฏิมากกว่า แต่นี่เล่นเอามาใช้กับอุโบสถ เลยทำให้อาคารหลังนี้ดูแปลกตาไปเลย

วัดสามแก้ว วัดงามแห่งชุมพรที่มีอุโบสถสไตล์ฝรั่งเรียบง่ายและจิตรกรรมฝีมือตาอดีตนายก

ทีนี้ ใบเสมาล่ะ ในเมื่อเป็นอุโบสถหรือโบสถ์ก็ต้องมีใบเสมา ถูกไหมครับ ซึ่งวัดสามแก้วมี ‘เสมา’ ครับ เพียงแต่เสมาของวัดสามแก้วนั้นไม่มี ‘ใบเสมา’ ครับ เพราะ ‘เสมา’ ของที่นี่มีหน้าตาเป็นก้อนหินธรรมชาติที่ฝังเอาไว้กับพื้นเพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าอาคารหลังนี้เป็นอุโบสถจริง ๆ

ซึ่งไอเดียคล้าย ๆ กันนี้ก็เจอที่วัดราชาธิวาส เพราะทางนั้นก็ไม่มีใบเสมาแต่ใช้หลักเสมาแทน และเพื่อกันคนเข้าใจผิดหรือไปเตะถูก เลยมีครอบกั้นเอาไว้ (ซึ่งเป็นเรื่องดี เพราะผมเคยเผลอไปเตะโดนเสมาแบบนี้ที่วัดแห่งหนึ่งโดยไม่ตั้งใจมาแล้ว)

วัดสามแก้ว วัดงามแห่งชุมพรที่มีอุโบสถสไตล์ฝรั่งเรียบง่ายและจิตรกรรมฝีมือตาอดีตนายก

พระพุทธชินราชที่ไม่มีซุ้ม

พอเข้าไปด้านในอุโบสถ สิ่งที่สะดุดตาก่อนเป็นอันดับแรกคือพระประธานสีทองที่ตั้งตระหง่านอยู่ข้าง ๆ ร่วมกับพระสาวกคู่และพระพุทธรูปขนาบ และแม้จะเคยเป็นวัดมาก่อน แต่พระประธานองค์นี้เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อใช้เป็นพระประธานในอุโบสถหลังนี้โดยเฉพาะ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยซึ่งดูเผิน ๆ แล้วก็เป็นพระพุทธรูปธรรมดาที่ดูแล้วคล้ายกับพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย แต่ถ้ามองดี ๆ จะพบว่าพระพุทธรูปนี้มีกลิ่นอายแบบพระพุทธชินราช เช่น พระพักตร์ที่ดูเหลี่ยมหรือนิ้วพระหัตถ์ที่ยาวเท่ากัน ใช่แล้วครับ พระพุทธรูปองค์นี้มีต้นแบบมาจากพระพุทธชินราชครับ เพียงแต่ตัดซุ้มเรือนแก้วที่เป็นภาพจำออกไปเลยอาจดูยากนิดหนึ่ง

วัดสามแก้ว วัดงามแห่งชุมพรที่มีอุโบสถสไตล์ฝรั่งเรียบง่ายและจิตรกรรมฝีมือตาอดีตนายก

หลายคนอาจคิดว่า ในเมื่อจะสร้างวัดใหม่ ทำไมยังต้องไปจำลองพระพุทธชินราชมาอีก ทำไมไม่ออกแบบใหม่ไปเลย หรืออย่างน้อยก็น่าจะใช้ศิลปะทางภาคใต้ก็ยังดี ต้องบอกว่าในสมัยนั้นการจำลองพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มาใช้เป็นพระประธานถือเป็นเทรนด์ใหม่ที่เริ่มมีขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 แล้ว และมีพระพุทธรูปหลายองค์ที่ถูกจำลองมาก่อน เช่น พระพุทธสิหิงค์หรือพระพุทธชินราช แม้แต่พระประธานของวัดราชาธิวาสเองก็ยังเป็นพระสัมพุทธพรรณี พระพุทธรูปสำคัญซึ่งเคยประดิษฐานร่วมกับพระแก้วมรกตเหมือนกัน

วัดสามแก้ว วัดงามแห่งชุมพรที่มีอุโบสถสไตล์ฝรั่งเรียบง่ายและจิตรกรรมฝีมือตาอดีตนายก

และยิ่งไปดูจารึกที่ฐานพระประธานที่ระบุชัดเจนว่าพระพุทธรูปองค์นี้ประกอบพิธีที่วัดราชาธิวาสก่อนจะมาอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดสามแก้วนี้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่พระประธานองค์นี้จะใช้ขนบเดียวกันกับหลายวัดในกรุงเทพฯ โดยเนื้อความในจารึกนอกจากจะกล่าวถึงผู้สร้าง สถานที่ประกอบพิธียังมีการกล่าวถึงการอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพชนทั้งชายและหญิงตามขนบแบบที่ทำกันมาแต่โบราณด้วย

บทพาหุง โดย พระยาอนุศาสน์จิตรกร

ทีนี้พอเรามองไปรอบ ๆ จะพบว่าภายในอุโบสถหลังหลังนี้มีการตกแต่งจิตรกรรมที่แม้จะเป็นเรื่องราวเนื่องในพุทธศาสนาเหมือนกัน มีพุทธประวัติเหมือนกัน มีเทพชุมนุมเหมือนกัน แต่รายละเอียดและเทคนิคกลับแตกต่างแบบสุด ๆ โดยเหตุผลสำคัญน่าจะมาจากจิตรกรผู้เป็นเจ้าของผลงานนี้ ซึ่งก็เป็นเรื่องโชคดีอีกเรื่องหนึ่งที่ภายในอุโบสถหลังนี้มีข้อความที่เล่าถึงเรื่องนี้เอาไว้แล้ว ผมจะขอคัดข้อความชุดนี้มาให้อ่านสักหน่อยครับ

วัดสามแก้ว วัดงามแห่งชุมพรที่มีอุโบสถสไตล์ฝรั่งเรียบง่ายและจิตรกรรมฝีมือตาอดีตนายก

มหาเสวกตรี พระยาอนุศาสนจิตรกร (จันทรจิตรกร) รับช่วยพระธรรมวโรดมฯ (แต่เมื่อยังดำรงสมณศักดิ์เปนพระธรรมโกศาจารย์) เขียนภาพในอุโบสถนี้ วันที่ 6 มกราคม พระพุทธศักราช 2471 ได้ลงมือร่างและเขียนด้วยความพยายามมิได้คิดถึงความยากลำบาก เมื่อมีธุระจำเปนก็กลับกรุงเทพฯ ครั้นยามว่าง จึงออกมาเขียนต่อไปถึงเดือนสิงหาคม พระพุทธศักราช 2471 การเขียนภาพจึ่งแล้วบริบูรณ และมิได้คิดมูลค่าเพราะความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ขออุทิศกุศลนี้ถวายแด่สมเด็จพระราชาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ข้อความนี้การันตีเลยว่าผู้เขียนจิตรกรรมฝาผนังวัดนี้คือ พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) หนึ่งในองคมนตรีและช่างเขียนจากราชสำนักที่มีชื่อเสียงที่สุดในช่วงเวลานั้น (รวมถึงยังมีสถานะเป็นคุณตาของอดีตนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช ด้วย) มีผลงานสำคัญทั้งจิตรกรรมฝาผนังรวมถึงปกหนังสือหลายชิ้น ซึ่งผลงานในระยะแรก ๆ ของพระยาอนุศาสน์จิตรกรจะเขียนงานแบบไทยประเพณีทั่วไป

จนกระทั่งในสมัยต่อมาที่เน้นการเขียนภาพแนวใหม่ที่มีอิทธิพลจากศิลปะตะวันตกที่เน้นความสมจริง การใช้หลักทัศนียวิทยา รวมถึงการใช้สีหรือการลงพู่กันตามจิตรกรรมแบบอิมเพรสชันนิสม์ ซึ่งถือเป็นแนวทางการเขียนจิตรกรรมไทยที่ทันสมัยมาก ๆ ในเวลานั้น

วัดสามแก้ว วัดงามแห่งชุมพรที่มีอุโบสถสไตล์ฝรั่งเรียบง่ายและจิตรกรรมฝีมือตาอดีตนายก

แล้วที่วัดสามแก้วนี้ พระยาอนุศาสน์จิตรกรเขียนเรื่องอะไรบ้างล่ะ ขอแบ่งออกเป็น 2 ส่วนละกันนะครับ เริ่มด้วยผนังระหว่างประตูและหน้าต่างก่อนครับ เพราะถือเป็นเนื้อหาหลักของจิตรกรรมฝาผนังที่นี่ โดยเนื้อหาในส่วนนี้ได้นำเนื้อหาจาก บทพาหุง หรือ บทชัยมงคลคาถา ซึ่งผมเชื่อว่าหลายคนน่าจะท่องได้หรือสวดได้ หรืออย่างน้อยที่สุดน่าจะต้องเคยได้ยินมาบ้างโดย บทพาหุง นี้ถือเป็นบทสวดสำคัญที่กล่าวถึงชัยชนะสำคัญ 8 ครั้งของพระพุทธเจ้า ซึ่งชัยชนะทั้ง 8 นั้นประกอบด้วยชัยชนะเหนือพญาวสวัตตีมาร อาฬวกยักษ์ ช้างนาฬาคิรี องคุลิมาล นางจิญจามาณวิกา สัจจกนิครนถ์ นันโทปนันทนาคราช และพกาพรหม โดยเขียนร่วมกับพุทธประวัติอีกจำนวนหนึ่ง เช่น การบำเพ็ญทุกรกิริยา การแสดงโอวาทปาฏิโมกข์หรือปฐมเทศนา และเพื่อให้แน่ใจว่าคนที่มาชมจะดูออกแต่ละช่องเขียนว่าอะไรก็มีการใส่คำบรรยายภาพสั้น ๆ พร้อมชื่อคนออกเงินเขียนภาพเอาไว้ด้วย

วัดสามแก้ว วัดงามแห่งชุมพรที่มีอุโบสถสไตล์ฝรั่งเรียบง่ายและจิตรกรรมฝีมือตาอดีตนายก
วัดสามแก้ว วัดงามแห่งชุมพรที่มีอุโบสถสไตล์ฝรั่งเรียบง่ายและจิตรกรรมฝีมือตาอดีตนายก

ซึ่งนอกจากจะเป็นการระลึกถึงชัยชนะของพระพุทธเจ้าเหนือหมู่มารแล้ว เชื่อว่าการเขียนจิตรกรรม บทพาหุง นี้ยังแสดงนัยทางการเมืองด้วย เพราะในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีความวุ่นวาย ทั้งการคุกคามจากตะวันตก สงครามโลกครั้งที่ 1 และกบฏ ร.ศ. 130 ที่พยายามเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังนั้นภาพจิตรกรรมชุดนี้จึงเป็นการเปรียบเปรยรัชกาลที่ 6 เป็นดั่งพระพุทธเจ้าที่ชนะมารทั้งหลายได้

และยังเป็นการถวายพระราชกุศลแด่รัชกาลที่ 6 ซึ่งเรื่องนี้ตรงกับที่อยู่ในจารึกของวัด

สหเทวะทั้งพุทธ-พราหมณ์รวมเป็นหนึ่ง

เหนือพื้นที่ที่เขียนเรื่องพุทธประวัติและ บทพาหุง มีภาพเทพชุมนุมนั่งเรียงแถว 2 แถว โดยแถวบนเป็นแถวเทพบันเทิง กลุ่มเทพชุมนุมที่เหาะแบบเรียงแถวกัน ส่วนแถวล่างนี่แหละที่น่าสนใจ เรื่องภาพในแถวนี้คือภาพเทพชุมนุมแบบนั่งเรียงแถวกัน

วัดสามแก้ว วัดงามแห่งชุมพรที่มีอุโบสถสไตล์ฝรั่งเรียบง่ายและจิตรกรรมฝีมือตาอดีตนายก

แต่ภาพเทพชุมนุมที่นี่พิเศษกว่า เพราะเทพเจ้าที่ถูกเลือกมาไม่ใช่เทวดา ครุฑ นาค พระอินทร์ และพรหม แต่เป็นการนำเอาเทพเจ้าฮินดูทั้งพระตรีมูรติแบบครบชุด พระศิวะ พระพรหม พระนารายณ์ เทพสตรีทั้งพระอุมา พระลักษมี พระแม่โพสพ หรือเทพอื่น ๆ เช่น พระอินทร์ พระยม พระอาทิตย์ หรือแม้แต่เทพเจ้ายอดฮิตแห่งยุคอย่างพระพิฆเนศหรือท้าวเวสสุวรรณ

วัดสามแก้ว วัดงามแห่งชุมพรที่มีอุโบสถสไตล์ฝรั่งเรียบง่ายและจิตรกรรมฝีมือตาอดีตนายก
พระจันทร์ พระพิฆเนศ และท้าวเวสสุวรรณ

และเทพจากพุทธศาสนา เช่น สันดุสิตเทพบุตร เทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตดี หรือพระโพธิสัตว์ เช่น พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระโพธิสัตว์วัชรปาณี หรือแม้แต่พระพุทธเจ้าแบบมหายานที่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นพระโพธิสัตว์ เช่น พระไภษัชยคุรุ พระพุทธเจ้าแห่งการแพทย์ก็มี ซึ่งรูปเทพเจ้าหลายรูปก็มีที่มาจากประติมากรรมที่มีจริง และเพื่อป้องกันความสับสน บริเวณใต้รูปเทพเจ้าแต่ละองค์จะมีชื่อของท่านกำกับไว้หมดเลยครับ เรียกได้ว่ามาที่นี่ที่เดียวเหมือนถูกห้อมล้อมด้วยสิริมงคลแห่ง บทพาหุง และเทพเจ้ามากมายเลยครับ

วัดสามแก้ว วัดงามแห่งชุมพรที่มีอุโบสถสไตล์ฝรั่งเรียบง่ายและจิตรกรรมฝีมือตาอดีตนายก

เพชรเม็ดงามที่ซ่อนอยู่ในวัดเล็ก ๆ

จะเห็นว่า แม้ความหรูหรา ความอลังการของวัดสามแก้วจะเทียบไม่ได้กับพระอารามในเมืองหลวง และยังไม่ได้มีความสำคัญขนาดที่เป็นตัวแทนของยุคสมัยใหม่ได้ แต่วัดนี้ก็ถือเป็นหลักฐานที่แสดงถึงงานศิลปะไทยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในศิลปะไทยในระหว่างที่ศิลปะแบบไทย ประเพณีดั้งเดิมที่เขียนกันมาตลอดหลายร้อยปีกำลังถูกท้าทายและผสมผสานเข้ากับรูปแบบศิลปะตะวันตกที่เป็นแนวทางที่อยู่ในกระแสและสังคมในเวลานั้น ดังนั้น ถ้าใครไปชุมพรแล้วไม่รู้จะไปไหน ผมกล้าการันตีว่าวัดสามแก้วแห่งนี้ควรค่าแก่การไปแน่นอนครับ

เกร็ดแถมท้าย

  1. วัดสามแก้วแห่งนี้อยู่ในเขตอำเภอเมืองชุมพรเลยครับ แนะนำว่าให้ใช้รถส่วนตัวเดินทางไปจะสะดวกที่สุดครับ แต่ถ้าอยากเข้าชมภายในอุโบสถของวัดต้องขออนุญาตพระก่อนนะครับ
  2. หรือถ้าอยากดูผลงานของพระยาอนุศาสน์จิตรกรในแนวเดียวกันกับวัดสามแก้ว ก็ต้องเป็นพระวิหาร วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระวิหารทิศตะวันออก วัดพระปฐมเจดีย์ และพระที่นั่งพิมานปฐม พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐมครับ แต่ถ้าชมงานแบบคลาสสิกก็ต้องไปไกลหน่อยที่วัดบุญวาทย์ จังหวัดลำปางครับ
  3. แต่ถ้าสนใจอุโบสถทรงนี้ อาจหาชมยากสักหน่อย แต่ถ้าขึ้นไปทางเหนือก็จะเจออยู่บ้าง เช่น วัดศรีรองเมือง วัดป่าฝาง จังหวัดลำปาง หรือถ้าจะชมกุฏิหน้าตาประมาณนี้ ไปชมได้ที่วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ ได้เลยครับ

Writer & Photographer

Avatar

ธนภัทร์ ลิ้มหัสนัยกุล

ต้า วัดไทย เด็กประวัติศาสตร์ศิลปะผู้ดูวัดมาแล้วกว่าพันวัดแม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด ชื่นชอบในความงามของศิลปะทั้งไทยและเทศรวมถึงเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ปัจจุบันยังคงออกเที่ยวชมวัดทุกศาสนารวมถึงวังต่างๆ อย่างต่อเนื่องพร้อมกับนำเรื่องราวมาเผยแพร่บน Facebook อยู่เป็นระยะๆ