ไม่นานมานี้มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การใช้ภาษาถิ่น รวมไปถึงเรื่องเครื่องแต่งกายชาติพันธุ์ในรัฐสภาออกมาให้ถกกันอย่างดุเดือด ประกอบกับในวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมาถือเป็นวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก ทีมของเราจึงอยากจะพาไปเยี่ยมชมมิวเซียมเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ทำงานนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีวิธีการสื่อสารที่สนุกสนาน ชวนให้รู้สึกว่าเรื่องชาติพันธุ์ไม่ได้ไกลตัวอย่างที่คิด ว่าแล้วก็ตามเรามาขึ้น ‘รถบ้าน’ ที่มีชื่อว่า ‘วิวิธชาติพันธุ์’ ด้วยกันเลยดีกว่า

1
ขึ้นรถ
ใช่แล้ว สถานที่แห่งนี้ไม่ได้มีโถงอาคารเหมือนพิพิธภัณฑ์อื่นๆ แต่กลับจัดแสดงเนื้อหาอยู่ในรถบ้านขนาดเล็กกะทัดรัด ด้านในมีครัวจิ๋ว รายล้อมไปด้วยตู้ไม้ใส่หนังสือ และเบาะที่นั่งได้ไม่เกินสี่ห้าคน ประกอบด้วยข้าวของจากชาติพันธุ์ต่างๆ เรียงรายกันอยู่ ให้บรรยากาศอบอุ่นเหมือนนั่งอยู่ในบ้านของใครคนหนึ่ง โชคดีเหลือเกินที่เราได้พูดคุยกับ ดร.ชิตชยางค์ ยมาภัย และ ดร.พธู คูศรีพิทักษ์ สองหัวแรงผู้ขับเคลื่อนโปรเจกต์นี้มาตั้งแต่ต้น ให้เราได้ทำความรู้จักเรื่องราวเบื้องลึกเบื้องหลัง อีกทั้งความเป็นมาของสิ่งที่อยู่รอบตัวเราทั้งหลายเหล่านี้
“ชื่อวิวิธชาติพันธุ์ ‘วิวิธ’ แปลว่า ความหลากหลาย ส่วน ‘ชาติพันธุ์’ ก็คือกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกันโดยมีวัฒนธรรมร่วมหรือวิถีเดียวกัน ชื่อภาษาอังกฤษคือ Vivid Ethnicity ‘Vivid’ มีความหมายว่า สีสันอันสดใส พอรวมกับ ‘Ethnicity’ จึงมีความหมายว่า ตัวแทนสีสันอันสดใสของกลุ่มคนชาติพันธุ์ที่หลากหลาย” อาจารย์พธูเริ่มอธิบายคอนเซปต์ของพื้นที่สุดพิเศษแห่งนี้ให้เราฟัง

“เรามาจากสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ทำงานวิจัยด้านภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์มาโดยตลอด ก่อกำเนิดจากการศึกษาภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ก่อน เมื่อครั้ง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชปรารภแก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. คุณหญิงสุริยา รัตนกุล ว่า ‘ดูซิ แม้วเขาไม่ชอบให้คนเรียกว่าแม้ว เราก็ยังเรียกเขาอยู่ได้ เขาเป็นม้ง แค่นี้เรายังไม่รู้เลย แล้วเราจะไปทำอะไรได้’
“ถือเป็นจุดกำเนิดที่ทำให้คุณหญิงพยายามศึกษาทำความเข้าใจกลุ่มชาติพันธุ์ในเชิงลึก เพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างคนต่างวัฒนธรรมให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยก่อตั้งโครงการศูนย์ศึกษาวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชียอาคเนย์ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท และบัดนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย งานวิจัยเริ่มต้นจากงานภาษาศาสตร์ จากนั้นจึงต่อยอดมาศึกษาเรื่องวัฒนธรรม ต่อมาได้สร้างเป็นหลักสูตรปริญญาโทด้านภาษาศาสตร์ วัฒนธรรมศึกษา ภาษาและการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม และปริญญาเอกอีกสองสาขาคือ ภาษาศาสตร์ กับ พหุวัฒนธรรม”
อาจารย์พธูเล่าต่อว่า “ที่สถาบันมีพิพิธภัณฑ์ที่อยู่คู่กันมาตั้งแต่เปิดอาคาร ชื่อว่า ‘พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาวัฒนธรรม’ ซึ่งเนื้อหาจะเกี่ยวกับงานวิจัยของสถาบัน การทำงานภาคสนามเพื่อทำความเข้าใจภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มีโซนหมู่บ้านจำลอง นิทรรศการถาวรนี้อยู่แบบเดิมมาเป็นสิบปีแล้ว
“จนเมื่อปีที่แล้ว ทีม iCulture ของเราสังกัดสถาบันวิจัยภาษาฯ ได้รับทุนจากงบประมาณแผ่นดินในโครงการเสริมสร้างความผูกพันต่อสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อการเปลี่ยนแปลงผ่านพิพิธภัณฑ์ ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้มีแผนพัฒนานิทรรศการถาวรแล้ว ยังจัดทำนิทรรศการเคลื่อนที่พิเศษ ‘วิวิธชาติพันธุ์’ เพื่อตระเวนสอนวิธีการเรียนรู้ผ่านกระบวนการคิดเชิงออกแบบให้แก่นักเรียนและชุมชนใน 7 จังหวัดใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งหลังจากจบโครงการแล้ว โครงการยังดำเนินต่อเนื่องด้วยตัวเอง แถมยังขยายพื้นที่ปฏิบัติการกว้างไกลไปทั่วประเทศด้วย”
2
การจัดการเรียนรู้ตามบริบท
“การนำนิทรรศการวิวิธชาติพันธุ์ออกไปสัญจรเผยแพร่ความรู้ ขับเคลื่อนด้วยกำลังสำคัญ 3 คน ถ้าเราสัญจรไปตามโรงเรียนก็อาจจะต้องมีอาสาสมัครมาช่วยเฉพาะกิจ ซึ่งการเรียนการสอนจะมีลักษณะแตกต่างกันไป เมื่อขึ้นมาบนรถบ้านคันนี้ จะเห็นว่ามีคอลเลกชันหลักคือ คลังห้องสมุด มีสารานุกรมกลุ่มชาติพันธุ์จากอาจารย์หลายท่านที่ทำมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสถาบันฯ รวมถึงงานวิจัยใหม่ๆ เชิงพัฒนาหรือแก้ปัญหาต่างๆ ในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ร่วมสมัยมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีวัตถุจัดแสดงที่ได้มาจากการลงพื้นที่วิจัยในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเราก็นำมาใช้เป็นสื่อการสอนด้วย”
พูดไม่ทันขาดคำ กาแฟดริปจากกลุ่มคนลัวะ (ละว้า) ที่แม่ฮ่องสอนก็ถูกยกขึ้นมาเสิร์ฟ บทสนทนาของเราก็ดำเนินต่อพร้อมกลิ่มหอมของกาแฟที่ฟุ้งไปทั้งรถ

อาจารย์พธูหยิบหนังสือสารานุกรมว่าด้วยชาวลัวะขึ้นมาให้เราดูหน้าตาของผู้ผลิตสิ่งที่เรากำลังถืออยู่ในมือไปพลางๆ
“ยกตัวอย่างที่ช่างชุ่ย เราได้โจทย์ให้สอนเรื่องอาชีพ เราจึงชูเรื่องการเป็นนักพิพิธภัณฑ์ เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่สื่อถึง 4 สายงาน แบ่งเป็นฐาน 1. นักวิจัย ฐานที่ให้ฝึกตั้งคำถาม เก็บข้อมูล หาคำตอบ 2. นักอนุรักษ์ ที่ฐานนี้จะได้ฝึกปฏิบัติการเป็นนักอนุรักษ์ ด้วยการขุดค้นหาชิ้นส่วนเครื่องปั้นดินเผา ล้างทำความสะอาด และนำมาต่อให้เป็นใบ เพื่อนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ เป็นกิจกรรมที่เสริมสร้างความเข้าใจกระบวนการอนุรักษ์ 3. นักกิจกรรมการศึกษา ฐานนี้จะให้ลองออกแบบกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ ด้วยการร้อยลูกปัดจากชาติพันธุ์ต่างๆ 4. ภัณฑารักษ์ ฐานที่ให้ลองเอาชุดตุ๊กตาของแต่ละชาติพันธุ์มาจัดแสดง พร้อมเขียนคำบรรยายบนบอร์ดเล็กๆ
“ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับความสนุกสนานในการลองเป็นนักพิพิธภัณฑ์ตามตำแหน่งที่แตกต่าง ซึ่งกิจกรรมที่จัดที่ช่างชุ่ยจะต่างกับกิจกรรมที่เราจัดตามมหาวิทยาลัย รายวิชาบริหารธุรกิจ บางแห่งให้โจทย์ว่าอยากได้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม เราก็สอนให้ได้ โดยเริ่มจากการตั้งคำถามกับเด็กว่า ถ้าคุณต้องไปทำงานกับชุมชน คุณคิดว่าจะเป็น Local to Global หรือ Global to Local


“เราใช้สินค้าชาติพันธุ์จาก Museum Shop ที่ได้มาจากแต่ละชุมชน มาประกอบเป็นธุรกิจการค้าแบบจำลอง ให้เขาลองวางแผนธุรกิจ ลงมือทำขนมด้วยตนเอง ออกแบบการจัดร้านกาแฟชาติพันธ์ุด้วยตนเอง และทดลองนำผลิตภัณฑ์ไปขายจริง ภายในสามชั่วโมงที่เรียนนี่แหละ ขายเพื่อน ขายอาจารย์ ปรากฏว่าขายดีมาก!” อาจารย์หัวเราะ
“หรืออีกกรณีคือไปมิวเซียมอื่นๆ อย่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง หรือพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ กระบวนการจะเน้นไปทางการสนทนามากกว่าที่นี่ ส่วนมากจะจุดประเด็นจากวัตถุจัดแสดงในนิทรรศการเช่นกัน”
3
สิ่งของล้วนเล่าเรื่อง
เมื่อพูดถึงสิ่งของ อาจารย์บอกว่าหลายอย่างในรถนี้ชุมชนก็บริจาคมาให้ใช้สอนเรื่องวัฒนธรรมของเขา “อย่างเสื้อของปราชญ์ชาวปกาเกอะญอ เขาไม่ขายให้ แต่ถ้าเอามาใช้ในพิพิธภัณฑ์เขายกให้เลย รวมทั้งหม้อยา (ไปป์) ที่ทำจากเงินด้วย แล้วก็มีหม้อยาไม้ที่พือพือเขานั่งสูบๆ อยู่แล้วก็ยื่นให้เลย”

อาจารย์พธูเล่า “พือพือแปลว่าคุณตาค่ะ” นอกจากนั้น อาจารย์พธูยังหยิบ ‘ครกไม้ไผ่’ ที่ใช้ตำน้ำพริกมาให้ดูอีกหนึ่งชิ้น ได้มาจากโครงการอีโคมิวเซียมดอยสี่ธาร ณ อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่
“เราเคยขอพือพือว่าอยากเอามาไว้ในมิวเซียม ซึ่งแกไม่ได้พูดภาษาไทยนะคะ แกพูดภาษากะเหรี่ยง วันที่แกยกครกไม้ไผ่มาให้แกก็มานั่งตำให้ดู แกคงอยากสาธิตให้เห็นวิธีการใช้” ซึ่งของเหล่านี้ยังเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในงานวิวิธชาติพันธุ์ด้วย เช่น มึซาโต๊ะ (แปลว่าน้ำพริก) แบรนด์ ‘พีพีพือพือ’ โดยโลโก้เป็นรูปของคุณตาคุณยายชาวปกาเกอะญอ ข้าวชาวดอย หรือกาแฟที่คั่วจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ (iCoffee) ซึ่งเป็นสินค้าที่ทีมงานช่วยกันพัฒนา เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน

“ผลของงานวิจัยที่ผ่านมา เราพบว่าหนึ่งในวิธีการสืบสานวัฒนธรรมที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือการทำสินค้าที่กินได้นี่แหละ” อาจารย์พธูยิ้ม
4
ว่าด้วยความหลากหลายของ ‘ไทย’
ในขณะที่มือของเรากำลังกางหน้าหนังสือที่เขียนโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะเรื่องแผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย ว่าด้วยการบันทึกแหล่งที่มาของภาษาอันหลากหลายจากแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ เราเห็นจุดหลากหลายสีพิมพ์กระจายอยู่ทั่วแผนที่ของประเทศไทย แต่ละจุดอธิบายถึงของการใช้ภาษาพื้นถิ่นต่างๆ ชวนให้นึกในใจว่าจุดเหล่านี้ทำให้แผนที่นี้ดูสวยงามมีสีสันเหลือเกิน และชี้ให้เห็นว่าความหลากหลายทางชาติพันธุ์นั้นมีอยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ไม่ใช่แค่บนภูเขาหรือตามขอบชายแดนอย่างที่หลายๆ คนเคยคิด

“ในประเทศของเรามีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ประมาณ 70 ชาติพันธุ์ แบ่งตามตระกูลภาษาได้เป็น 5 ตระกูลภาษา ซึ่งลายบนรถบ้านคันนี้ก็ดึงจุดเด่นกลุ่มชาติพันธุ์มาจาก 5 ตระกูลภาษานี้ อันแรกเป็นลายของภาษาตระกูลจีน-ทิเบต ซึ่งลวดลายคล้ายกากบาท มาจากเสื้อชาวปกาเกอะญอ อันที่สองมาจากตระกูลออสโตรเอเชียติก ซึ่งถอดแบบมาจากสร้อยของคนลัวะ ส่วนอันที่สามเป็นตระกูลไท เอามาจากลายหน้าหมอนของชาวไทดำ อันที่สี่เป็นออสโตรเนเซียน หรือพวกชาวเลหมู่เกาะในเอเชีย พวกมอแกลน อูรักลาโว้ย ฯลฯ ซึ่งกราฟิกก็มาจากลายฝาบ้านของชาวมอแกลน อันสุดท้ายเป็นภาษาของตระกูลม้ง-เมี่ยน ถอดลายมาจากกางเกงของชาวเมี่ยนหรือเย้านั่นเอง”
5
การเคารพและความภูมิใจในความต่างของกันและกัน
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจระหว่างบทสนทนาของเรา คือแต่ละคนบนรถจะเริ่มพูดถึงความเกี่ยวโยงของตนกับชาติพันธุ์ต่างๆ บ้างบอกว่าตัวเองเป็นคนเหนือ เลยคุ้นชินกับชาวม้ง อีกคนพูดขึ้นว่าตนมีเชื้อมอญอย่างภาคภูมิใจ
อาจารย์บอกว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก

“เคยเอารถคันนี้ไปที่ลำพูน ไปที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 26 ซึ่งมีนักเรียนจำนวนมากที่เป็นชนกลุ่มน้อย เขาก็เข้าแถวขึ้นมาเล่นบนรถกัน พอถามว่าเป็นคนจากที่ไหนก็ไล่ตอบกันมามากมายว่าลาหู่ ลีซู ม้ง อาข่า เย้า ฯลฯ ส่วนน้องที่เป็นคนไทยธรรมดาก็ยังพยายามบอกมาว่า เอ่อ ผมเป็นคนพื้นราบครับ”
เราเรียนรู้ได้จากบทสนทนาที่เกิดขึ้นว่า สถานที่นี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เขาจะพูดถึงและแลกเปลี่ยนระหว่างกันและกันเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของตัวเอง อีกทั้งประสบการณ์บนรถคันนี้ได้สร้างความมั่นใจแก่พวกเขา ให้เรื่องราวของเขามีความสำคัญ
“ที่น่าตกใจคือ ตอนเอาไปใช้กับเด็กกรุงเทพฯ ปรากฏว่าพวกเขารู้เรื่องเกี่ยวกับชาติพันธุ์ที่หลากหลายน้อยมาก ซึ่งพอนึกย้อนกลับไป ตัวเราเองตอนเด็กๆ ก็ไม่รู้เรื่องนี้เหมือนกัน เพราะมันไม่มีในบทเรียน”

อาจารย์บอกว่าทั้งหมดนี้โยงไปสู่วัตถุประสงค์หลักของโครงการที่ นอกจากจะเป็นการจัดส่งความรู้เข้าสู่ชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เข้าถึงยากแล้ว ยังอยากให้เกิดสังคมที่เคารพความแตกต่างของกันและกัน เริ่มจากวัฒนธรรม ภาษา เชื้อชาติ สถานะ ไปจนถึงลักษณะทางกายภาพ เช่น ผู้พิการ
“นอกจากนี้ ยังสร้างสำนึกรักในชาติพันธุ์ของตัวเองด้วย เราจะเห็นตัวอย่างจากคนกลุ่มน้อยที่เข้ามาอยู่เมืองใหญ่ บางครั้งเขาทำเป็นลืมอัตลักษณ์ของตัวเอง คืออยากเท่ หรืออยากมีความ Urban แต่พอคุยถึงชาติพันธุ์ตัวเองไปสักพักก็รู้สึกภูมิใจในบ้านเกิด อยากจะกลับไปพัฒนาบ้านของตัวเอง”
อาจารย์ยังแอบกระซิบว่า อีกเหตุผลที่ชาวบ้านชอบรถคันนี้คือ เมื่อถึงเวลากลางคืน มันเปลี่ยนเป็นจอฉายหนังกลางแปลง ฉายให้ผู้คนในหมู่บ้านดูกันด้วย
6
ต่อจากนี้ไป
เวลาไหลผ่านเราไปอย่างรวดเร็ว รู้ตัวอีกทีกาแฟแก้วที่ 2 ของเราก็หมด และถึงเวลาต้องลงจากรถบ้านอันแสนอบอุ่นคันนี้เสียแล้ว ด้วยความประทับใจเราจึงถามอาจารย์พธูถึงแผนการต่อยอดโครงการนี้ให้ยั่งยืนทิ้งท้ายก่อนจากกันด้วย

“ตอนแรกที่เราออกแบบโปรเจกต์นี้ มันเป็น Special Exhibition แต่มาตอนนี้เราก็ไม่รู้ว่าอายุมันจะยาวต่อไปได้อีกแค่ไหน ทั้งอายุของรถนิทรรศการที่ผ่านการเดินทางมามาก อีกส่วนก็คือการปฏิบัติงาน ที่ตอนนี้ทำผ่านกลุ่ม iCulture หรือกลุ่มพันธกิจวัฒนธรรมสถานบริรักษ์ ซึ่งอนุมัติจัดตั้งโดยสถาบันฯ เพื่อพันธกิจด้านพิพิธภัณฑ์ และวัฒนธรรมสถาน ของสถาบันฯ เราทำทุกอย่างด้วยตนเอง เป็นงานระดมทุนเพื่อพิพิธภัณฑ์ งานจิตอาสา บูรณาการศาสตร์ต่างๆ และบูรณาการการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ

“ที่ผ่านมา เนื่องจากเราต้องทำวิจัยอยู่แล้ว บางครั้งก็เอาทุนวิจัยนั้นมาดำเนินการต่อ ส่วนบุคลากรก็คือฝึกนักศึกษาในคณะมาบ้าง เราก็อยากจะขับเคลื่อนงานพิพิธภัณฑ์ให้ตอบโจทย์สังคมในอนาคตด้วย”
ในขณะที่โบกมืออำลารถบ้าน เราเสียดายที่ยังมีเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งเรายังไม่รู้และอยากรู้อีกมาก ทั้งเรื่องความเชื่อ ดนตรี ประเพณี ความรัก ฯลฯ แต่เวลาดันหมดเสียก่อน คิดไปถึงคนที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านั้น ว่าพวกเขาจะอยากเรียนรู้หรือแสดงออกเรื่องชาติพันธุ์ของเขาบ้างไหมนะ? แล้วนอกจากที่นี่ (และรัฐสภา) แล้ว ยังมีพื้นที่ไหนที่เขาแบ่งปันตัวตนของเขาได้? มีวิธีอื่นอีกไหมที่จะช่วยไม่ให้เรื่องเล่าของพวกเขาจางหายไปในฝุ่นควันของความศิวิไลซ์?

ติดตามข่าวคราวเพิ่มเติมของวิวิธชาติพันธุ์ได้ที่
Facebook : RILCAmuseumstudies
Website : museumlc.mahidol.ac.th