2 กันยายน 2021
2 K

ในวันที่โรงพยาบาลและบุคลากรสาธารณสุขต้องรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 อย่างเหน็ดเหนื่อยจนเกินกำลัง พื้นที่อย่าง ‘ศูนย์แยกกักในชุมชน’ หรือ ‘Semi Community Isolation Center’ ที่ช่วยดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวในชุมชนถือเป็นหนึ่งในจุดสำคัญที่ช่วยควบคุม ลดการแพร่ระบาดและบรรเทาวิกฤตครั้งใหญ่นี้

Semi Community Isolation Center จัดตั้งได้โดยเริ่มต้นจากทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน มูลนิธิ ภาคประชาสังคม รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ร่วมมือกับสำนักงานทางสาธารณสุขในพื้นที่ ซึ่งต้องปฏิบัติตามแนวทางอย่างเคร่งครัด แต่ด้วยความเร่งด่วนของสถานการณ์ Semi Community Isolation Center แต่ละแห่งจึงมีข้อจำกัดแตกต่างกันไป และยังคงต้องการเพิ่มเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อที่จำนวนพุ่งขึ้นสูงต่อเนื่อง

ความรุนแรงของสถานการณ์เช่นนี้เป็นเหตุให้ วี-วิภาวี คุณาวิชยานนท์ นักออกแบบ สถาปนิก อาจารย์ และหัวเรี่ยวหัวแรงของมูลนิธิความคิดสร้างสรรค์เพื่อรับมือภัยพิบัติ (Design for Disasters หรือ D4D) ลุกขึ้นมาใช้ทักษะการออกแบบเพื่อรับมือภัยพิบัติที่สั่งสมประสบการณ์มานานกว่า 10 ปี ร่วมระดมกำลังกับหลายภาคส่วนช่วยกันสร้าง Semi Community Isolation Center ที่เป็นมิตรต่อกายใจของผู้ป่วยและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง

ในอดีต วีและทีม D4D เคยทำโปรเจกต์ส่งต่อความรู้เรื่องการรับมือกับน้ำท่วม สร้างบ้านและ ‘ห้องเรียนพอดีพอดี’ หลังอาคารบ้านเรือนได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงราย ด้วยวัสดุอุปกรณ์ราคาประหยัด ออกแบบให้ใช้งานได้ดีภายในเวลาอันรวดเร็ว

คราวนี้ เธอช่วยเนรมิตอาคารให้กลายเป็นศูนย์แยกกักตัวที่สร้างโดยประชาชน เพื่อประชาชน ต่อสู้กับภัยที่มองไม่เห็น โดยสถานที่แรกที่เปิดดำเนินการแล้วคือ ‘ศูนย์แยกกักในชุมชนมัสยิดเนียะมะตุลลอฮ์’ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร

อะไรเป็นเหตุให้เธออาสามามีส่วนร่วม และการออกแบบศูนย์แยกกักตัวต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง ชวนมากางผังและเรียนรู้ไปด้วยกัน

ศูนย์แยกกักตัวผู้ป่วยที่มัสยิดเนียะมะตุลลอฮ์ การรวมใจออกแบบโดย Design for Disasters

นักออกแบบผู้รับมือภัยพิบัติ

วีค้นพบความหลงใหลในศิลปะและการออกแบบมาตั้งแต่ยังเด็ก ฝึกฝนเรื่อยมาจนเข้าเรียนที่สาขาวิชาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเรียนต่อด้าน Fine Arts ที่ School of the Art Institute of Chicago ตามด้วยสถาปัตยกรรมภายในและสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่โรงเรียนดีไซน์โรดไอแลนด์ (RISD) และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตามลำดับ

เมื่อภาพเหตุการณ์สึนามิที่ประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2547 ฝังเข้าไปอยู่ในความทรงจำของเธอจนเก็บไปฝันอยู่หลายสิบครั้ง บวกกับเห็นสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศของโลกที่แปรเปลี่ยนไป โลกดูเผชิญกับภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง เธอจึงศึกษาอย่างจริงจัง เข้าเรียนด้าน Disaster Preparedness, Mitigation and Management หรือการเตรียมพร้อมรับมือและจัดการภัยพิบัติ ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (Asian Institute of Technology) 

“การออกแบบเพื่อรับมือและจัดการกับภัยพิบัติต่างจากการออกแบบทั่วไป ในสภาวะปกติ เจ้าของโครงการคือลูกค้าที่เราต้องนำเสนอไอเดีย และหาจุดร่วมให้ตรงกับความต้องการของเขา แต่ในภัยพิบัติ โจทย์คือชุมชนและสังคม เป็นการทำงานกับปัญหาที่เกี่ยวกับความเป็นความตายของผู้คน สิ่งที่เราทำคือ วิเคราะห์ปัญหา หาแนวทาง และประสานเพื่อเชื่อมให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันช่วยทำงานตามกำลังและศักยภาพของแต่ละฝ่ายได้เต็มที่ โดยยังคงมีอิสระในการขับเคลื่อนอยู่ เพราะต้องทำงานบนความเร่งด่วน” นักออกแบบผู้ศีกษาศาสตร์นี้มาโดยตรงกล่าว

ภัยพิบัติมีหลายรูปแบบ ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติเอง เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วม พายุ อากาศหนาวหรือร้อนจัด และเกิดจากฝีมือมนุษย์ เช่น สงคราม ซึ่งการรับมือแต่ละรูปแบบก็มีความแตกต่างกันออกไป 

จากความตั้งใจอันแรงกล้า วีต่อยอดความสนใจโดยการชักชวนผู้คนจากสหวิชาชีพมาร่วมกันก่อตั้ง D4D เมื่อ พ.ศ. 2553 ให้เป็นเครือข่ายอาสา ร่วมกันรับมือภัยพิบัติต่างๆ ควบคู่ไปกับการทำงานด้านสถาปัตยกรรมและออกแบบตกแต่งภายใน รวมถึงเปิดสตูดิโอให้เช่าถ่ายงานเพื่อเลี้ยงชีพ

“D4D เกิดขึ้นจากเพื่อนๆ กัลยาณมิตรหลายชีวิตที่ร่วมช่วยกันด้วยจิตอาสา ทำหลายโปรเจกต์ตลอดสิบปีที่ผ่านมา จนกระทั่งปีที่แล้ว (พ.ศ. 2563) D4D จดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิได้สำเร็จ ในบางช่วงเราก็ทำงานกันอย่างอัดแน่น บางช่วงก็ค่อยเป็นค่อยไป แล้วแต่สถานการณ์และกำลังที่มี เราเป็นมูลนิธิเล็กๆ ที่ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่ประจำ แต่เวลามีภัยพิบัติหรือวิกฤตต่างๆ เราสามารถรวมตัวและชวนผู้คนมาร่วมงานกันได้ภายในเวลาที่รวดเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่จะตอบรับมาช่วยเหลือเลย ถ้าไม่ติดขัดอะไร เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งที่เราทำเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม” 

เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทยพุ่งขึ้นสูงหลักพันและหมื่น เธอรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อสังคมอีกครั้ง ด้วยความถนัดที่มี

“ตอนกลางเดือนกรกฎาคม เราเห็นสถานการณ์รุนแรงขึ้น ตอนตีสามก็ยังนอนไม่หลับ คิดไม่หยุด เลยลุกขึ้นมาลองเอาแปลนสตูดิโอที่เป็นโกดังเก่าของเราในเขตทุ่งครุที่ช่วงนี้ไม่มีลูกค้าอยู่แล้ว มาจัดเตียงใน AutoCAD ดู เผื่อทำเป็นศูนย์แยกกักตัว แล้วส่งไฟล์พร้อมรายละเอียดเพื่อนบ้านรอบข้างให้ ผอ.เขต ลองพิจารณาดูเลย” วีเล่างานที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน

เมื่อถึงรุ่งเช้าซึ่งเป็นวันอาทิตย์ ธนาชิต ชูติกาญจน์ ผอ.เขตทุ่งครุ และเจ้าหน้าที่เขตลงพื้นที่เพื่อสำรวจทันที เป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมมือกันเพื่อผลักดันโปรเจกต์ครั้งใหม่

ศูนย์แยกกักตัวผู้ป่วยที่มัสยิดเนียะมะตุลลอฮ์ การรวมใจออกแบบโดย Design for Disasters
ศูนย์แยกกักตัวผู้ป่วยที่มัสยิดเนียะมะตุลลอฮ์ การรวมใจออกแบบโดย Design for Disasters

ก่อร่างสร้าง Semi Community Isolation Center

องค์ประกอบของ Semi Community Isolation Center มีหลายส่วนที่ต้องคิดคำนึงให้รอบคอบ

ตั้งแต่สถานที่ที่โล่งและกว้างเพียงพอ มีสิ่งแวดล้อมถูกสุขลักษณะสำหรับดูแลผู้ป่วยและผู้คนโดยรอบ จะเป็นโรงเรียน วัด สนามกีฬา หรืออาคารอเนกประสงค์ก็ได้ แต่ชุมชนเพื่อนบ้านต้องยินยอมให้มีการจัดตั้งในพื้นที่ด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าไรในภาวะเช่นนี้ 

เมื่อรอบข้างโกดังของวีมีความกังวลใจ ทางเขตจึงเร่งหาพื้นที่ใหม่ ส่วนวีก็พูดคุยกับพื้นที่อีกหลายแห่ง วันละหลายสิบสายเพื่อหาความเป็นไปได้อื่นๆ จนเจอมัสยิดเนียะมะตุลลอฮ์และศูนย์การเรียนดรุณอินเตอร์นอเลจจ์ ที่ทางชุมชนเป็นผู้ริเริ่มไอเดีย ยินยอมให้แปลงพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์ โดยแจ้งกับทางเขตรับทราบ

“ต้องขอบคุณทางกรรมการมัสยิดและชุมชนที่อยากทำอยู่แล้ว และ ผอ.เขตที่ให้โอกาสเราและพันธมิตรมาช่วยกันทำให้เกิดขึ้นจริง เมื่อเพื่อนบ้านอนุญาตให้ทำ ไม่ว่าจะมีสิ่งที่ต้องทำกี่อย่างหรือจะยากแค่ไหน เราเชื่อว่าจะต้องมีวิธีการและแผนแบบต่างๆ เพื่อไปถึงเป้าหมายให้ได้” 

ศูนย์แยกกักตัวผู้ป่วยที่มัสยิดเนียะมะตุลลอฮ์ การรวมใจออกแบบโดย Design for Disasters
ภาพ : บ้านและสวน

เมื่อทางสถานที่พร้อม ก็เข้าสู่ขั้นตอนการออกแบบองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งวีได้รับการช่วยเหลือจากหลายภาคส่วนที่ยินดีมาร่วมมือกันนับร้อยชีวิต จนไม่อาจกล่าวในบทความนี้ได้หมด

เช่น ในด้านการให้คำปรึกษา วีได้รับคำแนะนำจาก อดิเรก แสงใสแก้ว เลขาธิการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทยที่ผ่านการลงพื้นที่และผลักดันศูนย์พักคอยในชุมชนมาก่อน

และ ธวัชชัย โตสิตระกูล ที่เคยผ่านประสบการณ์ดูแลสมาชิก 6 คนในครอบครัวที่ติดเชื้อโควิด-19 ให้อาการดีขึ้น ร่วมเป็นจิตอาสาดูแลผู้ป่วยด้วยสมุนไพรและประสานงานกับแพทย์แผนไทย ภายใต้คำปรึกษาจากผู้ทรงคุณวุฒิจากสภาการแพทย์แผนไทยและโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โดยมีมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรฯ ให้การสนับสนุนยาสมุนไพรทั้งหมด

ในด้านระบบระบายอากาศ เธอได้รับความช่วยเหลือจาก ผศ.ดร.ประพัทธ์ พงษ์เกียรติกุล หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่เข้ามาให้คำแนะนำปรึกษาทางนี้โดยเฉพาะ รวมถึง ธเนศวร ศิริอาชวะวัฒน์ พร้อมด้วยทีมงานภาคเอกชนที่ออกแบบและติดตั้งระบบ จัดหาวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ท่อลม พัดลมที่มีตัวกรอง เพื่อให้เกิดการกรองเชื้อโรคและอากาศไหลถ่ายเทอย่างเหมาะสม และยังมีการปรับระบบจัดการของเสียที่ทางเขตเข้ามาช่วยดูแล เป็นตัวอย่างของความช่วยเหลือที่เกิดขึ้น

ศูนย์แยกกักตัวผู้ป่วยที่มัสยิดเนียะมะตุลลอฮ์ การรวมใจออกแบบโดย Design for Disasters

ในฐานะผู้ประสานงาน วี และ ยุ-จิรนันท์ ศรีพิทักษ​์ พนักงานที่ย้ายจากการดูแลสตูดิโอมาช่วยส่วนนี้แทน ยังคิดคำนึงถึงความต้องการของผู้ป่วยและพยายามสรรหาความร่วมมือที่จะเข้ามาตอบโจทย์ได้อยู่เรื่อยๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

“เราทำงานให้กับชุมชน เสียงย่อมมีหลากหลาย ต้องรับฟังรอบด้าน ในสถานการณ์แบบนี้อาจจะยากหน่อยตรงที่เราคุยกันแบบเจอกันจริงๆ ได้ยาก แต่ต้องสื่อสารให้ดี” วีเล่า บางวันเธอตื่นขึ้นมาตอนเช้าและโทรศัพท์ต่อเนื่องจนถึงดึกดื่น

ความพยายามในการคิดอย่างครอบคลุมโดยทีมงานจิตอาสา พร้อมคำแนะนำจากอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่งผลให้ทั้ง 29 เตียงภายในมัสยิดอยู่ห่างกันเกิน 1.5 เมตร แต่ละเตียงมีปลั๊กไฟ พัดลม และที่กั้นหัวเตียง ที่ได้รับการออกแบบให้มีลวดลายสวยงามสบายตา เป็นกำลังใจให้แก่ผู้ป่วย จากสองครอบครัวนักออกแบบและจิตอาสาที่ร่วมกันมาเพนต์สีสันที่ปลอดภัยจากสารระเหย ปราศจากกลิ่น แบบที่โรงพยาบาลเลือกใช้ ซึ่งที่กั้นนี้มีขึ้นเพื่อกั้นไม่ให้เท้าผู้ป่วยชี้ไปที่หัวของผู้อื่นโดยตรง เพราะต้องจัดเตียงไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ให้เท้าหันไปทางทิศตะวันตกตามความเชื่อทางศาสนา 

ภายในยังมีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ลำโพงขยายเสียง และกล้องวงจรปิด ที่ได้รับการสนับสนุนจากหลากหลายภาคส่วน ไว้ให้อาสาสมัครจากชุมชนที่ผลัดเปลี่ยนเวรกันมาดูแล สามารถเห็นความเคลื่อนไหวและสื่อสารจากอาคารข้างๆ โดยไม่ต้องเข้ามาในพื้นที่ให้เสี่ยงไปมากกว่าเดิม

และ Semi Community Isolation Center นี้จะสมบูรณ์ ต้องมีสถานพยาบาลจับคู่อย่างเป็นทางการ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการส่งต่อผู้ป่วยในกรณีที่ผู้ป่วยเปลี่ยนสถานะจากกลุ่มสีเขียวเป็นสีเหลืองหรือแดง แต่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินงาน พบว่าโรงพยาบาลหลายแห่งรับผู้ป่วยเต็มกำลังแล้ว ทางออกคือการนำองค์ความรู้ด้านสมุนไพรและภูมิปัญญาไทย โดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์แผนไทย เข้ามาช่วยบรรเทาสถานการณ์ และทางเขตเป็นผู้ช่วยเชื่อมต่อกับสถานพยาบาลที่เป็นไปได้ในกรณีฉุกเฉิน

ความร่วมมือที่เกิดขึ้นนี้มีผู้คนเกี่ยวข้องนับร้อยชีวิตที่วีจดบันทึกชื่อไว้เป็นอย่างดี คอยอัปเดตความเคลื่อนไหว ตั้งคำถาม แลกเปลี่ยนความคิด ผ่านทางหน้าเฟซบุ๊กของเธอ โดยไม่ลืมกล่าวถึงบุคคลและองค์กรที่เข้ามาส่งเสริมกัน เพื่อให้รู้สึกว่าโปรเจกต์นี้คือการช่วยคิด ช่วยแก้โจทย์ไปด้วยกัน ไม่ใช่งานของเพียงใครคนใดคนหนึ่ง

“หัวใจสำคัญคือเราตั้งใจให้สิ่งนี้เป็นไปเพื่อสาธารณประโยชน์ ไม่ใช่เพื่อตัวเอง พอสื่อสารความรู้สึกนี้ออกไป แม้จะเป็นผ่านทางโทรศัพท์ก็ตาม เราคิดว่าคนรับรู้ได้ถึงความตั้งใจที่มีเหมือนกัน และอยากเข้ามาช่วยกันให้เกิดขึ้นจริง”

เพื่อคนที่อยู่ในสังคมร่วมกัน

ศูนย์แยกกักตัวที่มัสยิดแห่งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เมื่อสังคมยังมีความต้องการ วีและทีมงานพร้อมจะมาร่วมช่วยกันเท่าที่กำลังจะพอมี

“ใครพอมีสถานที่ที่ประเมินแล้วว่าห่างไกลจากชุมชน และเห็นหนทางการทำเป็นศูนย์แยกกักตัวในชุมชน หรือชุมชนอยากทำ แต่ยังหาสถานที่ไม่ได้ เรากับเพื่อนๆ มีความพร้อมที่จะไปทำงานร่วมกัน หรือช่วยกันเชื่อมต่อกับเครือข่ายต่างๆ ที่ช่วยเหลือได้”

แม้เป็นงานอาสา แต่ก็ถือเป็นงานที่ใช้เวลาและพลังชีวิตเยอะเหมือนกัน แต่วียังมีกำลังใจและความตั้งใจดีๆ ที่ทำให้พร้อมเดินหน้าต่อ

ภาพ : บ้านและสวน

“ถ้าถามว่าทำงานตรงนี้เหนื่อยหรือท้อไหม มันก็มีบ้างเป็นเรื่องปกติของชีวิตในบางวัน หลายคนอาจถามว่าเราทำไปทำไม เราเพียงรู้สึกว่าเราทำแล้วมีความสุข รู้สึกว่าเวลาที่ผ่านไปในแต่ละวันมีคุณค่า เราเชื่อว่าทุกคนเลือกจะคิดหรือตัดสินใจในการใช้ชีวิตได้ตามที่เหมาะสมในแบบของตัวเอง สำหรับเรา เมื่อเรายังพอมีกำลังและเวลา เราก็อยากทำอะไรให้เป็นประโยชน์กับที่ที่เราอยู่ในสังคมแห่งนี้” นักออกแบบผู้ทำงานด้านสังคมมาอย่างต่อเนื่องเล่าความคิด

ใครพอเห็นหนทางการร่วมมือเพื่อสร้างโปรเจกต์ที่เป็นประโยชน์กับสังคม ขอชวนติดต่อเข้ามาหาเธอได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ Design for Disasters

แล้วเราจะผ่านพ้นภัยพิบัตินี้ไปด้วยกัน

Facebook : Design for Disasters

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป