The Cloud x ไทยประกันชีวิต
แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้

ย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 2557 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.3 ตามมาตราริกเตอร์ที่จังหวัดเชียงราย แรงสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงสร้างความเสียหายและผลกระทบต่อผู้คนในพื้นที่จำนวนมาก เมื่อนาทีวิกฤตแห่งความเป็นความตายผ่านพ้นไป ความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้าคือหนทางเยียวยารักษาทุกสิ่งที่พังทลายลง

ในจังหวัดเชียงราย โรงเรียนกว่า 73 แห่งได้รับความเสียหาย ทำให้นักเรียนนับพันคนต้องหยุดเรียนอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าโรงเรียนจะได้รับการบูรณะซ่อมแซม ทีมงาน Design for Disasters (D4D) หรือเครือข่ายความคิดสร้างสรรค์เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและจัดการภัยพิบัติ ได้เข้ามาลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลและริเริ่มโครงการเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนและเด็กนักเรียน ด้วยความร่วมมือจากกลุ่มสถาปนิกไทย 9 ทีม

วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกที่เยียวยาผู้ประสบภัยด้วยงานออกแบบจากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น

เมื่อพูดถึงการรักษา แน่นอนว่าอาชีพแรกๆ ที่เรานึกถึงคงหนีไม่พ้นวิชาชีพทางสาธารณสุข แต่จริงๆ แล้วทุกคนในสังคมก็เป็นส่วนหนึ่งของการเยียวยาได้ ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไปตามความถนัด วิน-หม่อมหลวงวรุตม์ วรวรรณ แห่ง Vin Varavarn Architects (VVA) คือหนึ่งใน 9 สถาปนิกที่มาร่วมกับ D4D ออกแบบโรงเรียน 9 แห่งที่เสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ โดยทีมนักออกแบบตั้งใจสร้างมาตรฐานความเหมาะสมของอาคารในพื้นที่เขตแผ่นดินไหวของไทย

จากวันนั้นจนถึงวันนี้ มีอีกหลายโปรเจ็กต์ที่สถาปนิกอย่างวินได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน ไม่เฉพาะแค่ทางภาคเหนือ แต่ลงไปยังพื้นที่ห่างไกลทางใต้ รวมถึงชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ 

เราจะไปคุยกับวินถึงบทบาทนักออกแบบในสถานการณ์คับขัน ความสำคัญของงานสถาปัตยกรรมที่ส่งผลต่อชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะในทางการศึกษาและการเยียวยารักษาชุมชน ตลอดจนสังคมที่ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งได้ ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพใดก็ตาม

วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกที่เยียวยาผู้ประสบภัยด้วยงานออกแบบจากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น

01

จุดเริ่มต้นที่แผ่นดินไหว จังหวัดเชียงราย 

“นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมและน้องๆ ในทีมได้ทำงานเชิงสังคม-สาธารณประโยชน์กับชุมชน จากคำชวนของ อาจารย์วี (วิภาวี คุณาวิชยานนท์) โดยใช้ชื่อโปรเจกต์ว่า ‘ห้องเรียนพอดีพอดี’ สื่อถึงความพอดีในการออกแบบก่อสร้าง ตลอดจนเลือกวัสดุราคาไม่แพง หาได้ง่ายในพื้นที่ ก่อสร้างได้รวดเร็ว เพราะเด็กๆ ที่ได้รับผลกระทบก็เฝ้ารอวันกลับไปเรียนหนังสือ แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นการออกแบบเน้นประหยัด แต่ด้วยการออกแบบที่ดี พวกเราเชื่อว่าห้องเรียนเหล่านี้จะเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่ไม่ธรรมดาได้

“สมัยก่อนผมเคยคิดว่าการทำโปรเจกต์สาธารณะน่าจะง่ายกว่าโปรเจกต์แนว Commercial หรือ Business เพราะไม่มีการต่อรอง ไม่มีเรื่องตัวเลขเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างโครงการที่มีงบประมาณสูงๆ ปรากฏว่าคิดผิดถนัด เพราะโปรเจกต์ลักษณะนี้มีประเด็นสังคมที่ละเอียดอ่อนซ่อนอยู่ข้างใต้หลายมิติ ทั้งเรื่องวัฒนธรรม ความเข้าใจพื้นที่ เข้าใจผู้คน เหมือนเป็นโลกอีกใบของงานออกแบบ”

วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกที่เยียวยาผู้ประสบภัยด้วยงานออกแบบจากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น

โรงเรียนห้วยส้านยาววิทยา คือโรงเรียนที่วินได้รับโจทย์ให้ไปออกแบบห้องเรียนพอดีพอดี “เนื่องจากเป็นเหตุการณ์กะทันหันที่ไม่คาดฝัน เราจึงไม่มีเวลาและไม่มีงบประมาณเดินทางโดยเครื่องบินขึ้นไปดูพื้นที่จริง ต้องอาศัยข้อมูลจากทีม D4D ซึ่งทำการบ้านมาอย่างละเอียด โดยเฉพาะเรื่อง Site Analysis ผมจำได้ว่าได้รับกระดาษโน้ตแผ่นเล็กๆ จาก ผอ.ไพโรจน์ (ไพโรจน์ ยะจอม) ส่งจากเชียงรายมายังนักออกแบบว่า

“ท่านต้องการโรงเรียนที่พอดีเหมือนชื่อโครงการ ไม่ต้องหรูหรา แค่เป็นโรงเรียนที่พอดี มีความสวยงามอย่างธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง ผมโชคดีมากที่ได้ทำงานกับ ผอ.ไพโรจน์ ท่านเป็นครูน่ารักและให้เกียรติสถาปนิกมาก”

วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกที่เยียวยาผู้ประสบภัยด้วยงานออกแบบจากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น

02

ออกแบบเพื่อต้านภัยพิบัติในอนาคต

“สถาปนิกทั้งเก้าที่มาเข้าร่วมในโปรเจกต์นี้ ทั้งหมดเป็นออฟฟิศสถาปนิกขนาดเล็ก ไม่ใช่ Practice ใหญ่ จริงๆครั้งแรกที่เราประชุมกัน ได้ฟังไทม์ไลน์จาก D4D พวกเราทุกคนก็หันมามองหน้ากัน จะทำทันไหมนะ (ยิ้ม) ตอนนั้นสำหรับทีมเรา เราจะทำงานปกติในช่วงกลางวัน และหลังหกโมงถึงได้เริ่มทำโปรเจกต์นี้ ทำให้ทีมงานต้องทำงานกันดึกติดต่อกันทุกวันจนเสร็จตามกำหนด

“เราต้องเร่งทำแบบให้เสร็จภายในสองสัปดาห์จากวันที่ได้รับโจทย์ เพราะหลังจากแบบเสร็จ จะต้องเอาพรีเซนเทชันไปใช้ในการรณรงค์หาเงินบริจาคสำหรับค่าวัสดุและการก่อสร้าง เป็น Public Donation ที่เปิดให้คนทั่วไปร่วมบริจาคเงินสมทบทุน แต่มันยากมาก ทำยังไงก็งบไม่พอ เพราะโจทย์สำคัญของการออกแบบห้องเรียนพอดีพอดี คือต้องเป็นอาคารต้านแผ่นดินไหว ซึ่งโดยโครงสร้างที่เยอะกว่าปกติ ทำให้งบประมาณสูงตามไปด้วย

วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกที่เยียวยาผู้ประสบภัยด้วยงานออกแบบจากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น
วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกที่เยียวยาผู้ประสบภัยด้วยงานออกแบบจากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น

วินเล่าว่า ทุกคนในทีม D4D ต่างช่วยกันคนละไม้คนละมือ ไม่ใช่แค่ในส่วนของงานออกแบบ แต่รวมถึงการหางบประมาณสนับสนุนอื่นๆ ด้วย

“แต่งบประมาณก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี ทำให้ระยะเวลาการก่อสร้างถูกยืดออกไป ถึงจุดนี้ผมชื่นชมอาจารย์วีและทีมงาน D4D มากที่ไม่ยอมแพ้ สุดท้ายทีมงาน D4D มีโอกาสได้ไปคุยกับท่าน ว.วชิรเมธี ซึ่งทำโปรเจกต์เรื่องนี้อยู่ด้วย โดยท่านมีมูลนิธิที่ช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาภัยพิบัติโดยตรง จึงช่วยบริจาคเงินสมทบทุนก่อสร้างหลายโรงเรียนในโครงการนี้ ตลอดการทำงานหลายเดือนมีคนมากมายรวมไปถึงสมาคมวิชาชีพต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งสนับสนุนเงิน วัสดุอุปกรณ์ ไปจนถึงองค์ความรู้”

วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกที่เยียวยาผู้ประสบภัยด้วยงานออกแบบจากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น

03

โอกาสของโรงเรียนขยายโอกาส

โรงเรียนห้วยส้านยาววิทยาเป็นหนึ่งในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาของจังหวัดเชียงรายที่รับเด็กทุกคนเข้าเรียน ไม่ว่าจะยากดีมีจนหรือบกพร่องทางการเรียนรู้ใดๆ ก็ตาม เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ในโรงเรียนเป็นเด็กชาวเขาที่ยากจน และมีปัญหาในเรื่องสมาธิในการเรียน

“ผอ.ไพโรจน์ เล่าว่า เด็กๆ บางคนถ้าต้องนั่งเรียนอยู่ในห้องนานๆ เขาจะเริ่มเหม่อลอยไม่มีสมาธิ ครูต้องพาไปเรียนข้างๆ สนามหญ้า เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ

“นอกจากความท้าทายเรื่องพื้นที่ที่โรงเรียนตั้งอยู่บริเวณสโลปสูงชันแล้ว ก็มีเรื่องนี้ที่เราต้องให้ความสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับผู้ใช้งานโดยตรง เราไปเจองานวิจัยที่ระบุว่า ถ้าเด็กๆ ที่มีปัญหาในเรื่องของสมาธิได้อยู่ในบรรยากาศที่ร่มรื่น เป็นธรรมชาติ จะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของเขาในระยะยาวได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการออกแบบอาคารเรียนให้มีรูปแบบเหมือนศาลาไม่ใช่ห้องเรียนปิด แต่เป็นพื้นที่เปิดโล่งที่นักเรียนเกิดความรับรู้ต่อธรรมชาติรอบตัว ในขณะเดียวกันแนวคิดนี้ก็เป็นอาคารที่ประหยัดในเรื่องงบก่อสร้าง”

วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกที่เยียวยาผู้ประสบภัยด้วยงานออกแบบจากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น

บริบทเดิมของโรงเรียนห้วยส้านยาวมีธรรมชาติที่น่าสนใจอยู่แล้ว ทั้งสวนป่ามะค่าด้านหลังโรงเรียนและต้นไม้ร่มรื่นโดยรอบ วินและทีมออกแบบอาคารทรงห้าเหลี่ยมหลังคาจั่วที่ภายในแบ่งเป็น 3 ห้องเรียนในอาคารหลังเดียวกัน เพื่อประหยัดพื้นที่ในการก่อสร้าง

อาคารจัดวางพาดผ่านพื้นที่ลาดชัน ทีมออกแบบจึงตั้งใจยกอาคารให้ลอย เว้นที่ว่างใต้ถุนบริเวณพื้นต่างระดับไว้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ โครงสร้างหลักของอาคารตั้งแต่หลังคา ผนัง ไปจนถึงพื้นเสา ล้วนเป็นโครงสร้างเหล็กทั้งหมด โดยตั้งอยู่บนฐานรากคอนกรีตฝังดิน โดยโครงสร้างทั้งหมดถูกออกแบบมาให้สามารถต้านทานแรงแผ่นดินไหวได้ถึง 8 มาตราริกเตอร์

วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกที่เยียวยาผู้ประสบภัยด้วยงานออกแบบจากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น
วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกที่เยียวยาผู้ประสบภัยด้วยงานออกแบบจากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น

“นอกจากโครงสร้างหลัก เราตั้งใจใช้วัสดุท้องถิ่นที่หาได้ทั่วไปในพื้นที่เพื่อลดต้นทุน อย่างไม้ไผ่ที่ราคาถูกและหาง่าย ก็ดัดแปลงไปใช้ในหลายๆ จุดของห้องเรียนพอดีพอดี เช่น ทำแผงหลังคาไม้ไผ่สำหรับวางทับหลังคาเพื่อป้องกันความร้อน ทำเป็นชั้นวางกระถางต้นไม้ ปลูกดอกไม้ พืชผักให้เด็กๆ เรียนรู้  ซึ่งดอกไม้ต่างๆก็นำมาจากแปลงเกษตรของเด็กๆ ไปจนถึงทำพื้นระเบียงที่ออกแบบให้ระบายน้ำฝนลงสู่พื้นดินได้อย่างรวดเร็ว

“เหมือนเราไม่ได้สร้างอาคาร แต่กำลังออกแบบโครงกระดูกของอาคารขึ้นมา ถ้าวันหนึ่งข้างหน้าโรงเรียนมีงบประมาณเพิ่มเติม ก็มาเพิ่มองค์ประกอบอื่นๆ ได้ตามที่ต้องการเช่น ผนัง ประตู หน้าต่าง เป็นสถาปัตยกรรมที่รอวันเติบโตต่อไป ในสถานการณ์วิกฤตที่เหตุแผ่นดินไหวเพิ่งเกิดขึ้น ไม่มีงบประมาณ ไม่มีกำลังคนมากมาย สิ่งที่ทำได้คือต้องผลักดันโครงกระดูกชิ้นนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบให้ได้เร็วที่สุด”

04

ก่อร่างสร้างสรรค์

วินเล่าให้ฟังว่า หลังโปรเจกต์ห้องเรียนพอดีพอดีเสร็จสมบูรณ์ ก็มีงานลักษณะให้คำปรึกษาเข้ามาอยู่ตลอด ตั้งแต่มูลนิธิที่กำลังสร้างโรงเรียนอยู่ที่อื่นๆ ในภาคเหนือของประเทศไทย ไปจนถึงองค์กรรัฐบาลจากประเทศเอกวาดอร์ที่ได้รับรู้เรื่องราวของอาคารเรียนห้วยส้านยาววิทยาจากสื่อต่างประเทศ จึงติดต่อขอแบบอาคารเรียนไปใช้เพื่อฟื้นฟูชุมชนในเมือง El Matal ซึ่งประสบปัญหาแผ่นดินไหวหนักถึง 8.5 ตามมาตราริกเตอร์ หรือ กุฏิวัดที่ต้องการออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหว วินให้คำปรึกษาและแนะนำช่วยเหลือโครงการต่างๆมาโดยตลอด

จนกระทั่ง พ.ศ. 2561 วินได้รับการติดต่อจากมูลนิธิ The Build Foundation เพื่อขอแบบอาคารเรียนห้วยส้านยาววิทยา นำไปใช้ช่วยเหลือโรงเรียนบ้านฮ่องแฮ่ ที่ตั้งอยู่ในอำเภอแม่สาย และได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ตั้งแต่ปี 2557 เช่นเดียวกัน และยังไม่ได้รับงบประมาณการช่วยเหลือวินตัดสินใจร่วมมือกับมูลนิธิฯ และเสนอว่าจะให้ความร่วมมือกับโครงการของมูลนิธิฯที่มีประโยชน์ต่อเด็กนักเรียนที่ขาดโอกาสอย่างต่อเนื่องต่อไป  

วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกที่เยียวยาผู้ประสบภัยด้วยงานออกแบบจากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น

“เรานำแบบโรงเรียนห้วยส้านยาววิทยามาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาต่อ อย่างฐานรากที่มีการปรับเปลี่ยน เพราะพื้นดินบริเวณที่ตั้งโรงเรียนบ้านฮ่องแฮ่เป็นทุ่งนา ที่มีความเป็นดินเหลว ไม่ยึดตัว จึงให้วิศวกรสำรวจชั้นดิน (Soil Test) และพบว่าถ้ายังใช้ฐานรากแผ่แบบเดิมจะอันตรายมาก เราก็เปลี่ยนฐานรากเป็นเข็ม

“จริงๆ แล้วอาคารทรงห้าเหลี่ยมหลังนี้ เราตั้งใจออกแบบไว้ให้เป็นอาคารที่ Multi-function คือไม่ใช่เป็นได้แค่อาคารเรียน แต่สามารถปรับเปลี่ยนดัดแปลงเป็นอาคารประเภทอื่นๆได้ด้วยจะเป็นบ้านหรือเป็นศูนย์ชุมชนก็ได้ เมื่อนำมาปรับใช้กับโรงเรียนบ้านฮ่องแฮ่ที่มีบริบทแตกต่างจากโรงเรียนห้วยส้านยาววิทยา แม้จะมีต้นแบบมาจากอาคารเดียวกัน แต่ให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน

วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกที่เยียวยาผู้ประสบภัยด้วยงานออกแบบจากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น

“หัวใจคือการหาองค์ประกอบพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อพื้นที่นี้โดยเฉพาะ แม้พื้นที่ของโรงเรียนบ้านฮ่องแฮ่จะไม่มีสวนป่า แต่ก็มีต้นไม้ใหญ่ตั้งตระหง่านให้ร่มเงาอยู่กลางพื้นที่ ต้นไม้ต้นนี้สวยงาม สิ่งที่เราทำคือสร้างอาคารสองหลังขนาบข้างต้นไม้ต้นนี้ แล้วเชื่อมอาคารทั้งสองไว้ด้วยกันด้วย Deck ใต้ร่มไม้ โดยบันไดลงจากอาคารเรียนมาสู่ Deck นี้ เราออกแบบให้มีลักษณะกึ่งบันไดกึ่งที่นั่ง

วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกที่เยียวยาผู้ประสบภัยด้วยงานออกแบบจากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น
วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกที่เยียวยาผู้ประสบภัยด้วยงานออกแบบจากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น

“พื้นที่ตรงนี้กลายเป็นเหมือนอัฒจันทร์เล็กๆ ที่เด็กๆ มานั่งทำกิจกรรมได้ คุณครูก็ชอบมาก เพราะทั้งร่มรื่นและกว้างขวาง ไอเดียเล็กๆ เหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ต้องใช้งบประมาณมากมายในการทำขึ้น แต่คือองค์ประกอบทางการออกแบบเล็กๆ ที่อาจสร้างความแตกต่างได้”

วินเล่าต่อว่า “เนื่องจากพื้นที่หน้าโรงเรียนบ้านฮ่องแฮ่เป็นสนามหญ้า แดดจ้าและร้อนมาก วินและทีมจึงออกแบบผนังข้างๆ โรงเรียนให้เป็นไม้เลื้อยคลุมโรงเรียน ให้กรองแสงแทนที่จะเป็นกระจกโล่งๆ เพราะเราทำชายคาให้สั้นขึ้นเพื่อให้เด็กๆ เห็นวิวและไม่อับลม

“ครูก็มาถามผมว่า คุณวินตั้งใจให้ไม้เลื้อยเป็นต้นอะไร ผมก็บอกว่าผมตั้งใจให้เป็นดอกไม้นะ น่าจะทำให้เด็กๆรู้สึกสดชื่น ห้องเรียนมีบรรยากาศน่าเรียน

วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกที่เยียวยาผู้ประสบภัยด้วยงานออกแบบจากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น

“เขาบอกว่าเขาไม่มีเงินซื้อดอกไม้ เขาขอปลูกเป็นพวกถั่วฝักยาว ตำลึง ได้ไหมเพราะเด็กๆ จะได้เอาไปทานได้ ส่วนแปลงดอกไม้จะให้เด็กๆ ปลูกจากเมล็ดที่หาได้ทุกวันนี้พืชผักสวนครัวพวกนั้น และแปลงดอกไม้งอกงามเขียวฟู ได้ทั้งฟังก์ชันกรองแสง แถมยังเอามาทำอาหารเที่ยงต่อได้เลย เหล่านี้คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากเขา โดยเฉพาะวิธีคิด บางทีเราอาจคิดได้ไม่ครบทุกมิติ ในขณะที่คนในพื้นที่เขาคิดในสิ่งที่เขาต้องกินต้องใช้จริงๆ”

05

โรงเรียนเล็ก บนเกาะยาวใหญ่

โปรเจกต์ล่าสุดของวินและทีม คือลงใต้ไปที่เกาะยาวใหญ่จังหวัดพังงา พวกเขาได้ไปออกแบบฟื้นฟูโรงเรียนบ้านคลองบอน โรงเรียนเล็กๆ บนเกาะกลางทะเลอันดามันที่เด็กๆ มีพรสวรรค์และพรแสวงด้านศิลปะระดับประเทศ ได้รับรางวัลระดับชาติมามากมาย แม้จะมีเพียงห้องศิลปะเล็กๆ กับครูสอนศิลปะแค่คนเดียวก็ตาม

วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกที่เยียวยาผู้ประสบภัยด้วยงานออกแบบจากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น

“เรามีโอกาสไปดูที่โรงเรียน และค้นพบว่าโรงเรียนนี้มีครูสอนศิลปะอยู่เพียงคนเดียว ชื่อคุณครูไข่ เขาสอนตั้งแต่เด็กอนุบาลจนถึงประถม แล้วก็สอนมานานกว่าสิบห้าปี ซึ่งเขาบอกว่าเดิมทีไม่มีห้องศิลปะหรอก เขาต้องเอาพื้นที่ห้องเรียน แบ่งเวลาออกมาทำพื้นที่ศิลปะบ้าง แล้วค่อยๆ ขยับขยาย 

“จนตอนนี้มีห้องศิลปะเล็กๆ อยู่ห้องหนึ่ง ที่เอาไว้ให้เด็กๆ ทำกิจกรรมศิลปะ แม้จะมีข้อจำกัดขนาดนี้แต่เด็กๆ กลับสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้อย่างดีเยี่ยม ชนะรางวัลระดับชาติมากมาย ทางมูลนิธิฯ กับเราเลยเห็นตรงกันว่า ประเด็นเรื่องศิลปะน่าสนใจมาก และตัดสินใจว่าอยากจะนำเรื่องศิลปะเข้ามาเป็นตัวเล่าเรื่องของอาคารเรียนใหม่นี้แทนที่จะเป็นอาคารเรียนปกติ”

งานของนักออกแบบอย่างวินในครั้งนี้ไม่ใช่การออกแบบเพื่อต้านภัยพิบัติ แต่โจทย์เปลี่ยนเป็นการออกแบบเพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ที่สมควรจะได้รับให้มากขึ้น

วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกที่เยียวยาผู้ประสบภัยด้วยงานออกแบบจากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น
วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกที่เยียวยาผู้ประสบภัยด้วยงานออกแบบจากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น

“บริบทเปลี่ยน ขั้นตอนการทำงานก็เปลี่ยนตามไปด้วย พอเราไปถึงจึงเพิ่งรู้ว่าที่นี่เป็นชุมชนมุสลิม ที่ผ่านมา เราทำงานกับชุมชนพุทธมาโดยตลอด เราพอจะรู้วิธีสื่อสารใต้บริบทวิถีพุทธ พอเปลี่ยนมาเป็นมุสลิม ก็เหมือนต้องมาเรียนรู้กันใหม่ เพราะเขาจะมีความละเอียดอ่อน ความเคร่งครัด มีเรื่องของผู้นำศาสนาอะไรต่างๆ เข้ามาช่วยเรื่องของการตัดสินใจ

“ทางโรงเรียนเขาสเกตช์แบบแปลนของโรงเรียนมาให้ แล้วก็ส่งมาให้เรา เพราะเขามีแปลนในใจว่าอยากได้อาคารแบบนี้ คือชั้นล่างเป็นห้องศิลปะ มีห้องน้ำ มีบันไดตรงกลาง อีกฝั่งหนึ่งเป็นห้องสมุด ชั้นบนเป็นห้องเรียน หลังจากเข้าใจสิ่งที่เขาต้องการ ทีนี้เราก็กลับมามองว่าจะทำพื้นที่ให้มันดีกว่านี้ได้หรือเปล่า เราก็เลยลองปรับดูว่าจะทำอย่างไรให้เกิดสเปซที่น่าสนใจมากขึ้น”

วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกที่เยียวยาผู้ประสบภัยด้วยงานออกแบบจากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น
วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกที่เยียวยาผู้ประสบภัยด้วยงานออกแบบจากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น

ทางเดินถูกปรับให้ย้ายมาอยู่ด้านหลังอาคารเพื่อให้สามารถมองเห็นวิวภูเขาและธรรมชาติด้านหลังห้องเรียนที่อยู่ชั้น2 ถูกปรับให้หมุน 90 องศาออกมาด้านหน้า ทำให้เกิดเป็นสเปซช่องว่างระหว่างห้องเรียน ซึ่งเชื่อมต่อกับพื้นที่ชั้นล่าง เกิดเป็นDouble Space ซึ่งเอื้อต่อการสร้างเป็นพื้นที่กิจกรรมศิลปะ เนื่องจากโปร่งโล่งไม่อุดอู้ มีแสงธรรมชาติเข้าได้มากขึ้น และอากาศถ่ายเทสะดวก

แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อเด็กๆ เดินหรือนั่งเรียนอยู่ที่ห้องเรียนด้านบน เขาก็ยังมองลงมาเห็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นด้านล่างได้ด้วย สร้างความต่อเนื่องระหว่างชั้นบนและชั้นล่าง ต่างจากอาคารเดิมซึ่งแยกชั้นบนและชั้นล่างขาดจากกันอย่างชัดเจน

06

บทบาทของนักออกแบบในสังคม

ต่อมาในปี 2563 วินได้รับการติดต่อจาก มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อขอให้เข้ามาช่วยปรับปรุงแก้ไขแบบบ้านราคาประหยัดสำหรับคนไร้บ้านและคนยากไร้ในชุมชนคลองเตยให้ดีและเหมาะสมขึ้น  

โครงการนี้เป็นโครงการปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยให้กับผู้ด้อยโอกาสในกรุงเทพฯ และ 25 จังหวัดภาคกลาง ดำเนินงานโดยกองทัพภาคที่ 1 และจังหวัดต่างๆ เพื่อสนับสนุนโครงการจิตอาสา ตามพระบรมราโชบายของรัชกาลที่ 10 ซึ่งสนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่เข้ามาร่วมลงพื้นที่จริงในการปฏิบัติงานด้วย

ปัจจุบันโครงการนี้ได้เสร็จสมบูรณ์ภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือน และชุมชนทั้ง 11 ครัวเรือนได้เข้ามาอยู่อาศัยเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นช่วงประจวบกับการเริ่มระบาดของไวรัส COVID-19 โครงการนี้จึงช่วยให้ชาวบ้านมีที่พักอาศัยที่ สะอาด เหมาะสม และถูกสุขลักษณะ

วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกที่เยียวยาผู้ประสบภัยด้วยงานออกแบบจากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น
วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกที่เยียวยาผู้ประสบภัยด้วยงานออกแบบจากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น

“โปรเจ็กต์นี้เป็น โครงการตามพระราโชบายของรัชกาลที่สิบ ซึ่งจริงๆ โปรเจ็กต์จิตอาสาเพื่อช่วยเหลือชุมชนต่างๆลักษณะนี้ไม่ได้มีแค่ที่คลองเตยแต่กำลังเกิดขึ้นอยู่ทั่วประเทศ

“เนื่องจากโครงการนี้ในเฟสแรกที่ทำไปแล้วก่อนที่เราจะเข้ามาช่วย มีบ้านที่สร้างเสร็จแล้ว เราเลยขอเข้าไปดูว่าบ้านที่สร้างเสร็จนั้นพอใช้งานจริงแล้วเป็นยังไง บางหลังอยู่กันแปดชีวิต บางหลังก็อยู่คนเดียว คือมันมีความหลากหลายมาก เราเริ่มมองเห็นข้อดี ข้อด้อยของแบบเดิมได้ชัดเจนจากการเห็นการใช้งานจริง แบบเดิมมีพื้นที่ห้องครัว ห้องรับแขก ห้องนอน ซึ่งจริงๆ โดยการใช้ชีวิตจริงๆ ของเขา เขาไม่ทำครัวในบ้าน เนื่องจากกลิ่นและควันมันจะฟุ้งไปทั่วบ้าน เขาก็ไปนั่งพัดเตาข้างนอก

“พื้นที่ครัวกลายเป็นซอกเปล่าประโยชน์ ซึ่งพอเราเข้าไปดูมันกลายเป็นซอกที่นอนแคบๆ เขาเอาฟูกเข้าไปยัด แล้วก็ไปนอนอยู่ในซอก ผังบ้านจึงถูกแบ่งเป็นส่วนเล็กๆ แยกจากกันด้วยห้องน้ำกลางบ้าน เราจึงคิดว่าควรขยับห้องน้ำเพื่อรวมพื้นที่ย่อยๆ ให้กลายเป็นพื้นที่ใหญ่ และถ้าเขาอยากกั้นห้อง เขาก็สามารถทำได้ในอนาคต แต่ไปๆ มาๆ มันก็มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่เป็นอย่างที่เราคิด

วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกที่เยียวยาผู้ประสบภัยด้วยงานออกแบบจากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น

“คือตอนแรกเราออกแบบพื้นที่ภายในบ้านให้เป็นห้องโล่งๆ ไม่มีการกั้นห้อง เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผนังและประตู และคิดว่ามัน Flexible กว่า ถ้าเขาอยากกั้นห้องเขาก็หาเฟอร์นิเจอร์ ตู้ อะไรมากั้นส่วนได้ และถ้าเขาได้เห็นภายในบ้านที่เป็นห้องใหญ่ๆ น่าจะรู้สึกดีกว่า แต่ปรากฏว่ามันไม่ใช่อย่างที่เราคิด

“คือหัวหน้าชุมชนบอกเราว่า ชุมชนเขาอยู่บ้านเพิงที่มีลักษณะเป็นพื้นที่โล่งๆ มาตลอดชีวิต เขาอยากได้บ้านที่มีห้องนอน อยากมีประตูเป็นห้องๆ เป็นสัดส่วน นั่นคือสิ่งที่เขาไม่เคยมี เราก็เลยคิดได้ว่า เราอาจจะคิดในเชิงของนักออกแบบ แต่ในเชิงการใช้ชีวิตของเขา เขาไม่ได้จำเป็นที่จะต้องการแบบที่เราคิดไปทั้งหมด เราก็ปรับทำผนังกั้นห้องให้เขาตามที่ต้องการ มันคล้ายๆกับตอนที่เราไปออกแบบโครงการห้องเรียนพอดีพอดี และได้รับรู้ว่าชาวบ้านไม่ได้ชอบไอเดียของอาคารไม้ไผ่ เพราะเขาอยู่กับสิ่งนี้มาตลอดชีวิต เขาอยากได้อาคารปูน อิฐ เหล็ก ทาสีสวยๆ ที่เขาไม่เคยมี

วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกที่เยียวยาผู้ประสบภัยด้วยงานออกแบบจากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น
วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกที่เยียวยาผู้ประสบภัยด้วยงานออกแบบจากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น

“เราคุยกับมูลนิธิฯ ว่าเรายินดีที่จะร่วมทำงานกันไปเรื่อยๆ เรายินดีเอาความรู้ทางด้านการออกแบบเข้าไปช่วยและสนับสนุนโครงการที่จะช่วยเหลือเด็กๆและชุมชนที่ขาดโอกาส ส่วนตัวผมไม่เคยรู้สึกว่าเราเสียสละเลยนะ แต่ผมกลับมองว่าผมเองก็ได้อะไรหลายๆ อย่างกลับมาจากการได้ไปทำสิ่งนี้ บางอย่างที่ไม่ใช่ผลตอบแทนด้วยเงิน น้องๆในทีมก็ได้เรียนรู้ เราเองรู้สึกว่าเรามีความสุข เวลาเราทำงานในเชิง Business บางทีเราก็รู้สึกเหนื่อยและท้อได้เหมือนกัน

วรุตม์ วรวรรณ สถาปนิกที่เยียวยาผู้ประสบภัยด้วยงานออกแบบจากวัสดุและภูมิปัญญาท้องถิ่น

“พอไปทำโครงการลักษณะนี้เหมือนมันฉุดเราขึ้นมาในบางครั้ง ได้ทำงานที่ท้าทายและมีประโยชน์ ได้พบเจอรู้จักกับผู้คนมากมายที่มีมุมมองที่เป็นบวก หยิบยื่นความช่วยเหลือให้กัน แบ่งปันซึ่งกันและกัน และทำให้เรารู้สึกภูมิใจว่าวิชาชีพสถาปนิกที่เราทำก็สามารถช่วยแก้ปัญหา ช่วยคนอื่นได้จริงๆ แม้อาจจะเป็นส่วนเล็กๆ แต่ก็ทำให้รู้สึกว่าชีวิตเราไม่สูญเปล่า

“ผมยังรู้สึกดีที่สิ่งที่เราทำกลายเป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจที่ดีให้ลูกๆ ของเราได้เห็น อย่างลูกสาวผม ตอนนั้นอายุแปดขวบ ก็เคยเสนอโครงการออกแบบโรงเรียนต้านแผ่นดินไหวส่งคุณครูที่โรงเรียน หลังจากเขาได้รู้เรื่องที่ผมไปช่วยออกแบบโรงเรียนที่เชียงราย

“ผมเคยคิดว่าความหมายของการมีชีวิตของผมมันคืออะไร เราได้ทำงานที่เรารักก็จริง ทุกวันตื่นขึ้นมาเพื่อทำงานหาเงิน  โอเค เราได้รับการยอมรับในระดับนึง ได้รับรางวัลต่างๆ บ้าง แต่นี่คือสาระสำคัญที่เราต้องการจริงๆ ในชีวิตหรือเปล่า สุดท้ายเราจะตายไปพร้อมกับสิ่งเหล่านี้เท่านั้นเองหรือ ชีวิตเราน่าจะทำอะไรได้มากกว่านั้นนะ พอมาได้มาทำงานในลักษณะมากขึ้นเรื่อยๆ ผมรู้สึกได้ว่านี่คือสิ่งที่เคยขาดไปและเป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องการทำในชีวิต และในอนาคตเส้นทางนี้ที่เราเดินมาอาจจะพาเราให้ค้นพบบางอย่างต่อไปอีกก็ได้”

ขอบคุณภาพจาก Vin Varavarn Architects (VVA)

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan