สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT คือผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ของประเทศไทย ทุกปีจะมีการประกวดภาพถ่ายทางดาราศาสตร์จำนวน 5 ประเภท ได้แก่ Deep Sky Objects ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ วัตถุในระบบสุริยะ วิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ และปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก

ฮัท-วชิระ โธมัส คือช่างภาพดาราศาสตร์เพียงคนเดียวที่คว้ารางวัลชนะเลิศจาก NARIT มาแล้ว 4 ประเภท รวมกว่า 11 รางวัล ทั้งยังควบตำแหน่งผู้ดูแลกลุ่ม Star Hunters Club : ชมรมพรานดารา แหล่งแลกเปลี่ยน-แบ่งปันความรู้ของคนรักดวงดาวที่มีสมาชิกเกือบ 1 แสนคน

วชิระ โธมัส ช่างภาพดาราศาสตร์ผู้บันทึกภาพนานสุด 80 ชั่วโมง เจ้าของรางวัล NARIT 4 สาขา

ฮัทคือหนุ่มเชียงใหม่ผู้เริ่มจากการเป็นเด็กอาร์ต ห่างเหินจากวิทยาศาสตร์และไม่ชอบการคำนวณ กระทั่งค้นพบว่าศิลปะบนท้องฟ้าคือสิ่งที่ทำให้ภาพถ่ายทางวิทยาศาสตร์สมบูรณ์แบบขึ้น เขาจึงเริ่มสร้างเส้นทาง ‘จับช้างเผือก’ ด้วยตัวเองตั้งแต่ปี 2013 เข้าร่วมชมรมพรานดาราในปี 2015 และใช้เวลาเพียง 2 ปีในการคว้ารางวัลชนะเลิศภาพถ่ายของ NARIT เป็นครั้งแรก โดยมีเลนส์โปรดเพียง 2 ตัว กับฝีมือที่ไม่หยุดพัฒนา

ต่อจากนี้คือเรื่องราวของช่างภาพผู้เสาะหาดินแดนแห่งความมืดมิดเพื่อให้ดวงดาวเฉิดฉาย และคุณค่าที่เขาค้นพบ

วชิระ โธมัส ช่างภาพดาราศาสตร์ผู้บันทึกภาพนานสุด 80 ชั่วโมง เจ้าของรางวัล NARIT 4 สาขา

“ผมเริ่มถ่ายดาวเองโดยใช้กล้อง D7000 ความรู้เรื่อง ISO เป็นศูนย์ ตั้งค่าอะไรก็ผิดไปหมด กระทั่งได้เข้าชมรม สะสมความรู้มาเรื่อย ๆ เกิดเป็นฝันว่าอยากได้รางวัลชนะเลิศการประกวดภาพถ่ายของ NARIT ผ่านไป 2 ปี ฝันก็เป็นจริง”

ภาพจากอ่างเก็บน้ำแม่ผาแหนได้รางวัลชนะเลิศประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ ส่งให้ฮัทกลายเป็นที่รู้จักในฐานะช่างภาพดาราศาสตร์เต็มตัว ทั้งยังส่งให้พรานดาราทั้งหลายแห่แหนเข้าไปยังอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ จนสถานที่เปลี่ยวเหงากลับกลายเป็นแหล่งต้อนรับช่างภาพทุกค่ำคืน

“ผมเป็นคนชอบถ่ายภาพคนเดียว เพราะไม่ต้องคอยใคร เป็นฤกษ์สะดวกของเรา ตอนนั้นผมไปถ่ายที่อ่างเก็บน้ำห้วยลาน ตอนเช้าตรู่บังเอิญเจอคุณลุงมาวิ่งออกกำลังกาย เขาเลยแนะนำให้ผมลองไปอ่างเก็บน้ำแม่ผาแหนดู ผมเข้าไปสำรวจแล้วรอจนถึงกลางคืน ฟ้าเปิด มืด และงดงามจริง”

วชิระ โธมัส ช่างภาพดาราศาสตร์ผู้บันทึกภาพนานสุด 80 ชั่วโมง เจ้าของรางวัล NARIT 4 สาขา
วชิระ โธมัส ช่างภาพดาราศาสตร์ผู้บันทึกภาพนานสุด 80 ชั่วโมง เจ้าของรางวัล NARIT 4 สาขา
ทางช้างเผือกภาพแรก ปี 2013

ก่อนจะเป็นผู้บุกเบิกการถ่ายภาพดาราศาสตร์ที่อ่างเก็บน้ำแม่ผาแหน เขาเป็นเพียงเด็กอาร์ตจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่พยายามหางานทำให้ตรงสาย แต่เมื่อเวลาผ่านไป ฮัทตกตะกอนได้ว่า หางานที่เลี้ยงชีพตัวเองได้ แล้วเอาเวลาไปสร้างงานศิลปะอย่างที่ชอบดีกว่า

พ่อของฮัทเป็นช่างภาพในหน่วยงานราชการ ลูกชายจึงได้จับกล้องฟิล์มมาตั้งแต่เด็ก หลังจากนั้นการถ่ายภาพก็เป็นงานอดิเรกของเขาเรื่อยมา

วชิระ โธมัส ช่างภาพดาราศาสตร์ผู้บันทึกภาพนานสุด 80 ชั่วโมง เจ้าของรางวัล NARIT 4 สาขา

“แต่ผมทำงานตอนเช้า มีเวลาถ่ายรูปแค่ตอนเย็น ผมตั้งคำถามว่า ต้องรอถึงเสาร์-อาทิตย์เลยเหรอถึงจะได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ต่อให้ตอนเย็นรีบไปแสงก็หมดก่อน ผมเลยลองถ่ายกลางคืนในเชียงใหม่ดู แต่วิวส่วนใหญ่ก็มีแค่วัด ที่อื่น ๆ คนถ่ายไปหมดแล้ว

“วันนั้นผมขับรถเลยจากบ้านไปครึ่งชั่วโมง ทุกอย่างมืดสนิท แต่บนฟ้ามีดาว ผมลองถ่ายทางช้างเผือกดูด้วยอุปกรณ์เท่าที่มี ไม่สวยหรอก แต่มันคือครั้งแรก หลังจากนั้นผมศึกษาทุกอย่างด้วยตัวเอง ดูยูทูบของคนต่างชาติ เข้าชมรม จนตอนนี้จากที่เป็นแค่สมาชิก ผมก็ได้เป็นแอดมินหลักที่ช่วยดูแลทุกคน”

วชิระ โธมัส ช่างภาพดาราศาสตร์ผู้บันทึกภาพนานสุด 80 ชั่วโมง เจ้าของรางวัล NARIT 4 สาขา

ฮัทบอกว่าดาวแต่ละดวงมีสีของตัวเอง และตัวเขาก็มีความชอบมอบให้ดาวสีฟ้าเป็นพิเศษ

“Blue Sisters คือภาพกระจุกดาวลูกไก่ ได้ที่ 2 หมวด Deep Sky Objects ซึ่งความฝันของผมจริง ๆ คือการพิชิตที่ 1 เพราะถือเป็นหมวดที่ต้องใช้ฝีมือสูง คือที่สุดของที่สุดสำหรับผม

“ต้องเล่าย้อนไปนิดว่า ตอนเข้าชมรม ผมเห็นปฏิทินดาราศาสตร์ของ NARIT ซึ่งเอารูปที่ส่งประกวดแล้วได้รางวัลมาใส่ไว้ในแต่ละเดือน เป็นฝีมือคนไทย ถ่ายที่เมืองไทย ผมคิดว่าสักวันต้องมีรูปตัวเองขึ้นปฏิทินของ NARIT ให้ได้ รูปดาวลูกไก่ก็ได้ขึ้น แต่ยังไม่ชนะเลิศ”

วชิระ โธมัส ช่างภาพดาราศาสตร์ผู้บันทึกภาพนานสุด 80 ชั่วโมง เจ้าของรางวัล NARIT 4 สาขา
วชิระ โธมัส ช่างภาพดาราศาสตร์ผู้บันทึกภาพนานสุด 80 ชั่วโมง เจ้าของรางวัล NARIT 4 สาขา

มีหลายปัจจัยที่บอกว่ายังไม่ถึงเวลาของเขา และปัจจัยที่มองข้ามไม่ได้คือเรื่องอุปกรณ์ ฮัทบอกว่าไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อยต้องดีพอที่จะถ่ายภาพให้คม สัญญาณภาพชัด แสงอวกาศชัด รายละเอียดสีไม่เพี้ยน ซึ่งนักล่าดาวมืออาชีพก็มีข้อแนะนำมาแชร์ให้นักล่าดาวฝึกหัดอยู่บ้าง

“ทุกคนไม่กล้าตั้งค่า ISO สูง ตอนแรกผมก็ใช้ ISO แค่ 200 – 400 แล้วคิดว่าจะมาขุดใน Photoshop เอา แต่มันช้ำและเละ ผมจะบอกว่าไม่ต้องกลัวเรื่อง Noise เพราะใช้โปรแกรมลบได้ สิ่งที่เราต้องการคือสัญญาณภาพ แสงจากอวกาศ ซึ่ง Photoshop ช่วยเราไม่ได้ 

“ตอนไปบรรยาย ผมบอกทุกคนให้ตั้ง ISO ขั้นต่ำ 3200 ทุกคนโอเค แต่พอไปเดินดู แทบจะตีมือ มืดไปหมดเลย” เขาหัวเราะ เพราะบางภาพเขาตั้ง ISO สูงถึง 12000 เลยทีเดียว

วชิระ โธมัส ช่างภาพดาราศาสตร์ผู้บันทึกภาพนานสุด 80 ชั่วโมง เจ้าของรางวัล NARIT 4 สาขา
สถานที่ที่ไม่มีมลพิษทางแสง จาก skyglowproject.com

อีกเรื่องสำคัญที่เมินเฉยไม่ได้คือการเช็กแสงรบกวน เขาใช้เว็บไซต์ Light Pollution Map ซึ่งแบ่งเป็นโซน 0 – 9 โดยโซน 0 เรียกว่าเป็นดินแดนในฝันอันมืดสนิท ส่วนการเช็กวันเวลาถ่ายภาพทางช้างเผือก ฮัทผู้ไม่ชอบการคำนวณได้คำนวณด้วยใจรักไว้เป็นสาธารณประโยชน์สำหรับทุกคนที่อยากวางแผนถ่ายทางช้างเผือกตลอดทั้งปี โดยเขานำการขึ้นลงของดวงจันทร์ และช่วงเวลาของ Astronomical Twilight มาใช้ประกอบการคำนวณ หรือใครจะดูผ่านโปรแกรมท้องฟ้าจำลองฟรีอย่าง Stellarium ก็ได้

วชิระ โธมัส ช่างภาพดาราศาสตร์ผู้บันทึกภาพนานสุด 80 ชั่วโมง เจ้าของรางวัล NARIT 4 สาขา

จากที่ 2 ทะยานสู่ที่ 1 ของหมวด Deep Sky Objects ปี 2021 และได้ปรากฏอยู่ใน ปฏิทิน NARIT ประจำปี 2022 พร้อมด้วยภาพยามค่ำคืน ‘ปลายฤดู ที่ปลายนา วัดนาคูหา’ อำเภอเมืองแพร่ อีกหนึ่งแหล่งฟ้ามืดและจังหวัดโปรดของฮัท

“รูปนี้ผมถ่ายที่ อ.สูงเม่น ใช้เวลา 80 ชั่วโมง คืนละประมาณ 5 – 6 ชั่วโมง รวม 2 เดือนกว่า ถ่ายแบบพาโนรามา 5 พาแนล ใช้เลนส์ 250 mm แล้วก็ถ่าย 2 ฟิลเตอร์ด้วย ฟิลเตอร์เฉพาะทางเอาไว้จับสีแดง ใช้เวลาพาแนลละ 10 ชั่วโมง จากนั้นถ่ายด้วยฟิลเตอร์ธรรมดาเพื่อให้ได้สีของดาวอีก 30 ชั่วโมง กรรมการบอกว่า เอาที่ 1 ไปเลย เพราะยังไม่มีใครถ่ายแบบผม” เขาหัวเราะร่า

วชิระ โธมัส ช่างภาพดาราศาสตร์ผู้บันทึกภาพนานสุด 80 ชั่วโมง เจ้าของรางวัล NARIT 4 สาขา

และอีกภาพที่ใช้เวลาวางแผน 2 ปี คือ ‘Mars in Sagittarius’ ฮัทบอกว่าเขาตั้งชื่อภาพจากชื่อเพลง และคิดว่าคงเจ๋งดีหากถ่ายภาพดาวอังคารกับเนบิวลาลากูนที่อยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนูได้จริง ซึ่งสุดท้ายเขาก็ทำได้

“ดาวอังคารอยู่ใกล้โลกเลยเปลี่ยนตำแหน่งทุกคืน โอกาสที่ดาวอังคารโคจรมาอยู่ตรงทางช้างเผือกมีแค่ 2 ปีครั้ง ผมคำนวณว่าจะอยู่ตำแหน่งนี้อีกทีในวันที่ 6 มกราคม 2567 แต่ว่าตอนนั้นทางช้างเผือกยังขึ้นไม่สูง เพราะฉะนั้น โอกาสถ่ายให้ได้แบบนี้อีกก็วันที่ 12 ตุลาคม 2574” 

วชิระ โธมัส ช่างภาพดาราศาสตร์ผู้บันทึกภาพนานสุด 80 ชั่วโมง เจ้าของรางวัล NARIT 4 สาขา
Mars in Sagittarius

ตอนเริ่มสนทนา ฮัทบอกว่าเขาไม่ได้บ้าถ่ายภาพดาวขนาดนั้น แต่ตอนนี้เราไม่เชื่อเขาแล้ว เพราะนอกจากภาพที่ใช้เวลาถ่ายร่วม 80 ชั่วโมง เขายังมีภาพอื่นที่นั่งรอนอนรอทั้งคืนอีกไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง

ปัจจุบัน ชื่อ วชิระ โธมัส ชนะเลิศมาแล้วถึง 4 หมวด นับเป็นคนเดียวที่ส่งผลงานและคว้ารางวัลมาเกือบครบ เว้นแต่เพียงหมวดปรากฏการณ์ที่เกิดในบรรยากาศของโลก

“พระอาทิตย์ทรงกลด ฟ้าผ่า ต้องใช้ความบังเอิญ วางแผนไม่ได้ ผมเลยยังไม่คิดจะประกวดหมวดนี้ อีกอย่างคือผมร้อน” เขาหัวเราะให้กับเหตุผลที่ชาวไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้

‘วชิระ โธมัส’ จากเด็กอาร์ต สู่ช่างภาพดาราศาสตร์ผู้มีท้องฟ้ายามราตรีเป็นห้องทำงาน เจ้าของรางวัลชนะเลิศ NARIT 4 สาขา

“น้ำเหล่านี้ไม่ได้มาจากธรรมชาติ มันเอ่อล้นมาจากอ่างเก็บน้ำ ผมถ่ายที่อำเภอลอง จังหวัดแพร่เช่นกัน เป็นความฝันที่จะได้ถ่าย Landscape กับทางช้างเผือก ผมอยากได้ฉากหน้าเป็นน้ำ เพราะให้ความรู้สึกนิ่งสงบ แต่ส่วนใหญ่น้ำตกในไทยจะสูง จนผมไปเจอสถานที่นี้ในเพจแพร่รีวิว สวย ไม่สูง ไม่บังช้างแน่นอน”

ฮัทใช้ความรู้ทางศิลปะของเขาในการจัดองค์ประกอบภาพให้งดงาม นำพื้นฐานด้าน Landscape เข้ามาเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับดวงดาว โดยเขามีเลนส์ตัวโปรดเพียง 2 ตัวคือ 14 mm ไว้สำหรับเก็บช้างเผือก และ 250 mm ไว้สำหรับ Deep Sky Objects

‘วชิระ โธมัส’ จากเด็กอาร์ต สู่ช่างภาพดาราศาสตร์ผู้มีท้องฟ้ายามราตรีเป็นห้องทำงาน เจ้าของรางวัลชนะเลิศ NARIT 4 สาขา
วัดนาคูหา รางวัลชมเชย ประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ ปี 2021

เราถามเขาว่าในแต่ละภาพมีจุดประสงค์ในการเล่าเรื่องใดเป็นพิเศษไหม เขาบอกว่าภาพเขาอาจไม่ได้เล่าเรื่องอะไรมากมาย แต่ถือเป็นการสร้างสรรค์งานศิลปะ 1 ชิ้นที่เขาตั้งใจเฟ้นหาสถานที่ อดรนทนรอ ตลอดจนหาความรู้และแรงบันดาลใจเพื่อพัฒนางานให้ดีที่สุด

‘วชิระ โธมัส’ จากเด็กอาร์ต สู่ช่างภาพดาราศาสตร์ผู้มีท้องฟ้ายามราตรีเป็นห้องทำงาน เจ้าของรางวัลชนะเลิศ NARIT 4 สาขา

“ปี 2000 มี Super Moon นี่เป็นภาพจริง ไม่ได้ขยายดวงจันทร์ คุณอาจจะเคยเห็นมาก่อน เพราะตอนนั้นมีคนเอาไปเผยแพร่เยอะมาก บอกว่าฝีมือช่างภาพเชียงใหม่ ผมถ่ายจากคันคลองชลประทานซึ่งอยู่ห่างจากดอยสุเทพไป 5 กิโลเมตร ใช้เลนส์ 600 mm

“สังเกตว่าองค์พระธาตุดอยสุเทพเป็นสีทองตัดกับดวงจันทร์ เพราะผมดูเวลาเอาไว้ เขาจะเปิดไฟเจดีย์ตอนตี 4 แล้วปิดประมาณ 6 โมง รูปนี้เลยถ่ายตอนประมาณตี 5” ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น แต่นอกจากสถานที่ที่ไปง่าย ถ่ายง่ายแล้ว ฮัทยังชอบลุยเดี่ยวไปยังสถานที่ที่ไม่มีใครรบกวนด้วย

‘วชิระ โธมัส’ จากเด็กอาร์ต สู่ช่างภาพดาราศาสตร์ผู้มีท้องฟ้ายามราตรีเป็นห้องทำงาน เจ้าของรางวัลชนะเลิศ NARIT 4 สาขา

แล้วอะไรคือสิ่งจำเป็นที่อยู่ในกระเป๋าของนักล่าดวงดาวบ้าง

“ของที่พกไปด้วยก็ต้องไฟฉาย เก้าอี้ หนาวก็ต้องมีผ้าห่ม น้ำมันก๊าดไว้ใช้ก่อไฟ อีกอย่างที่ขาดไม่ได้ คือขนมปัง ไม่ได้เอาไว้กินนะ เอาไว้ให้หมา (หัวเราะ) หรือบางทีก็กระดูกไก่ ซื้อข้าวเหนียวไก่ให้เลยก็มี (หัวเราะต่อ)

“เวลาไปถ่ายที่กิ่วฝิ่น จะมีหมาอยู่ 2 – 3 ตัวตามเราขึ้นมา ผมเลยเอาให้เขากิน เขาน่ารักตรงที่ไม่มารบกวนเลย นั่งมองอยู่ไกล ๆ ถ้าเจออะไรเขาก็เห่าไล่ให้ เช่น สัตว์ป่า อีเห็น” – หรือหมาเห็นอะไรที่ฮัทไม่เห็นหรือเปล่า เราถามแทรก เขาตอบเป็นเสียงหัวเราะตามประสาคนเฮฮาที่ ‘ไม่กลัวผี’

‘วชิระ โธมัส’ จากเด็กอาร์ต สู่ช่างภาพดาราศาสตร์ผู้มีท้องฟ้ายามราตรีเป็นห้องทำงาน เจ้าของรางวัลชนะเลิศ NARIT 4 สาขา
‘วชิระ โธมัส’ จากเด็กอาร์ต สู่ช่างภาพดาราศาสตร์ผู้มีท้องฟ้ายามราตรีเป็นห้องทำงาน เจ้าของรางวัลชนะเลิศ NARIT 4 สาขา

เจ้าตัวบอกว่า สำหรับช่างภาพดาราศาสตร์ ผีทำร้ายเราไม่ได้เท่า ‘แสง’ เพราะแสงคือสิ่งที่รบกวนการถ่ายภาพยามค่ำคืนมากที่สุด มากถึงขั้นที่เขาต้องกำหนดกติกามารยาทให้สมาชิกชมรมช่วยกันรักษา

“นั่นเป็นอีกเหตุผลที่ผมชอบไปคนเดียวด้วย เพราะบางทีเราไปสถานที่ใหม่ ต้องเปิดไฟฉายสำรวจพื้นที่ ถ้าเราอยู่คนเดียว แสงก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ถ้ามีคนอื่นอยู่ แสงไฟฉายอาจไปเข้ากล้องของเขาได้

“นอกนั้นก็เป็นมารยาททั่วไป ถ้าคุณอยากปักขากล้อง ถ่ายนาน อาจไม่เหมาะที่จะไปหลายคน เพราะทุกคนคงอยากแชร์ตำแหน่งสวย ๆ สำหรับผม การไปคนเดียวก็สะดวก แต่ไปกับเพื่อนก็ดี ยิ่งถ้าคุณถ่าย Deep Sky หลายชั่วโมง การมีเพื่อนคุย มีเพื่อนดื่ม ถือเป็นความสุขอีกอย่างหนึ่ง” ผู้เชี่ยวชาญเล่า พร้อมชี้ให้ดูผลลัพธ์ที่พุงอย่างอารมณ์ดี

‘วชิระ โธมัส’ จากเด็กอาร์ต สู่ช่างภาพดาราศาสตร์ผู้มีท้องฟ้ายามราตรีเป็นห้องทำงาน เจ้าของรางวัลชนะเลิศ NARIT 4 สาขา

นี่คือดาวหาง NEOWISE เข้าใกล้โลกที่สุดในรอบเกือบ 7,000 ปี เป็นที่ฮือฮาของสังคม เพราะมีขนาดใหญ่จนเห็นด้วยตาเปล่า ฮัทจับจังหวะที่ดาวหางอยู่ใกล้โลกที่สุด สว่างที่สุด และถ่ายนานที่สุดเอาไว้ จนคว้ารางวัลชนะเลิศประเภทภาพถ่ายวัตถุในระบบสุริยะ ปี 2020

‘วชิระ โธมัส’ จากเด็กอาร์ต สู่ช่างภาพดาราศาสตร์ผู้มีท้องฟ้ายามราตรีเป็นห้องทำงาน เจ้าของรางวัลชนะเลิศ NARIT 4 สาขา

นี่คือรูปที่เขาใช้เวลาถ่าย 8 ชั่วโมง ใช้ตัวช่วยที่เรียกว่า ‘มอเตอร์ตามดาว’ เพื่อติดตามตำแหน่งวัตถุบนท้องฟ้า หากวางกล้องไว้บนมอเตอร์ตามดาว เมื่อจุดกระจายของฝนดาวตกเริ่มขึ้นสูง กล้องจะแหงนตามจนวนกลับมาอีกด้าน และความโชคดีของฮัท คืออากาศที่แม่โถแห้งมาก เขาจึงไม่ต้องกลัวว่าจะมีน้ำค้างหยดใส่เลนส์กล้อง

“ผมตั้งกล้องตอน 21.30 น. เก็บตอน 05.30 น. นั่งดูฝนดาวตก Geminids ซึ่งมาจากกลุ่มดาวคนคู่ วิธีการคือเราหากลุ่มดาวคนคู่ก่อน แล้วเล็งไปที่ตรงนั้น

“เวลาคนถามว่าจำชื่อดาวได้ยังไง ก็ผมนั่งมองฟ้าตั้งหลายชั่วโมง อยู่ว่าง ๆ ไม่มีอะไรทำ พอเห็นดาวแล้วสงสัยเลยเปิดแอปฯ ดู วันถัดไปเจอดาวหน้าเดิมก็เริ่มจำได้ จำไปจำมาวันละดวงสองดวงก็จำได้เยอะเลย”

‘วชิระ โธมัส’ จากเด็กอาร์ต สู่ช่างภาพดาราศาสตร์ผู้มีท้องฟ้ายามราตรีเป็นห้องทำงาน เจ้าของรางวัลชนะเลิศ NARIT 4 สาขา

Solar Eclipse

‘วชิระ โธมัส’ จากเด็กอาร์ต สู่ช่างภาพดาราศาสตร์ผู้มีท้องฟ้ายามราตรีเป็นห้องทำงาน เจ้าของรางวัลชนะเลิศ NARIT 4 สาขา

Lunar Eclipse

“นี่คือสุริยุปราคาที่รัฐออริกอน สหรัฐอเมริกา ปี 2017 ตอนนั้นผมไปทำงาน เลยขนอุปกรณ์ไปไม่เยอะ ถ่ายทุก 4 นาทีโดยไม่ขยับกล้อง แล้วค่อยเอามารวมกัน ตื่นเต้นที่สุดตอนมันเริ่มเข้า เพราะเป็นครั้งแรกที่ผมเห็นสุริยุปราคาเต็มดวง สวยมาก” เขาอธิบายและโชว์ภาพต่อไป คือจันทรุปราคา 

“ปี 2018 ดวงจันทร์ขึ้นทิศตะวันออก ผมเลยเลือกจุดชมวิวดอยสุเทพ แล้วเรารู้ว่าจะเต็มดวงตอน 20.00 น. เลยเลือกไปเก็บตั้งแต่ 18.28 – 21.36 น. เป็นรูปที่ส่งประกวดตลอด แต่ไม่ได้รางวัล” ฮัทเล่าด้วยน้ำเสียงปกติ เขาไม่รู้สึกเสียดายหรือเสียใจ เพราะผลงานเหล่านี้คือผลลัพธ์จากแพสชันอันแรงกล้า

‘วชิระ โธมัส’ จากเด็กอาร์ต สู่ช่างภาพดาราศาสตร์ผู้มีท้องฟ้ายามราตรีเป็นห้องทำงาน เจ้าของรางวัลชนะเลิศ NARIT 4 สาขา
Gecko Nebula – ตุ๊กแกอวกาศ

“คิดไปแล้วผมโชคดีนะที่ได้ถ่ายรูปตามใจตัวเอง ยิ่งเวลาผ่านไปก็ภูมิใจมากขึ้น เพราะมีน้อง ๆ มองเราเป็นตัวอย่าง ศึกษาจากเรา ผมดีใจแล้วก็จะไม่หยุดพัฒนางานของตัวเอง ดูงานต่างชาติเป็นแรงบันดาลใจ ดาวดวงนี้ไม่เคยเจอ แต่คิดว่าสักวันเราจะถ่ายให้ได้บ้าง อย่างเช่นภาพนี้ Gecko Nebula ตอนแรกคิดว่าคงเล็กและถ่ายยาก แต่ที่ไหนได้ เลนส์เราก็ถ่ายได้นี่หน่า” เขาเว้นวรรค

“จะกลัวอะไร ในเมื่อท้องฟ้ามีสิ่งใหม่ ๆ ให้เราถ่ายเสมอ” ฮัทยิ้มทิ้งท้าย

ตราบใดที่มนุษย์ยังรู้จักดวงดาวไม่หมดทั้งจักรวาล อวกาศก็ย่อมมีอะไรให้เราค้นพบต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

‘วชิระ โธมัส’ จากเด็กอาร์ต สู่ช่างภาพดาราศาสตร์ผู้มีท้องฟ้ายามราตรีเป็นห้องทำงาน เจ้าของรางวัลชนะเลิศ NARIT 4 สาขา
การถ่ายภาพคือการสร้างงานศิลปะ ภาพดาราศาสตร์คือการบันทึกทางวิทยาศาสตร์ที่ทุกรายละเอียดต้องถูก ผมแค่ทำให้วิทยาศาสตร์น่าจดจำด้วยศิลปะ

Writers

วรรณิกา อุดมสินวัฒนา

วรรณิกา อุดมสินวัฒนา

ติดบ้าน ชอบดื่มชา เล่นกีฬาไม่ได้เรื่อง

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

ศรีภูมิ สาส่งเสริม

ช่างภาพเชียงใหม่ ชอบอยู่ในป่า มีเพื่อนเป็นช้าง และชาวเขาชาวดอย