‘แพร่’ คือเมืองเล็กอันเงียบสงบท่ามกลางธรรมชาติแสนยิ่งใหญ่

เมืองเล็ก ๆ ที่มาวันสองวันไม่มีทางพอ หรือจะมาเป็นสิบวันก็ยังดื่มด่ำกับเสน่ห์ได้ไม่ครบทุกแง่มุม แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา ค่อย ๆ รู้จัก แล้วคุณจะค่อย ๆ รักแพร่ เดี๋ยวจากมาเที่ยว คุณอาจจะอยากมาอยู่เช่นเดียวกับเรา

จำได้ว่าการแอ่วเวียงโกศัยจริงจังครั้งแรกเริ่มด้วยการตามรอยคำขวัญประจำจังหวัด หม้อห้อมไม้สัก ถิ่นรักพระลอ ช่อแฮศรีเมือง ลือเลื่องแพะเมืองผี คนแพร่นี้ใจงาม ซึ่งระหว่างทางก็พาเราค้นพบมนต์เมืองเหนือมากมาย โดยเฉพาะศิลปะและธรรมชาติที่ขาดไม่ได้เด็ดขาด ส่วนประโยคท้ายสุดของคำขวัญ เรียกว่าติดอยู่ในสายเลือดของชาวเวียงโกศัยเลย

จากการทำใจแล้วทำใจอีก เราเลือกลิสต์กิจกรรมน่าลองจนเหลือ 12 สิ่ง ไม่ไกลเกินไป ลองทำตามได้ไม่ยาก พร้อมลิสต์สอดไส้อีกเล็กน้อยที่อยากให้ลองเลี้ยวหลงไปกับธรรมชาติดูบ้าง

#01
ลองกิ๋นขนมจีนน้ำย้อยกับไก่ทอด

ขนมเส้นหรือขนมจีน คือสิ่งที่มาแล้วต้องกิน ไม่อย่างนั้นเหมือนมาไม่ถึง โดยเฉพาะขนมจีนน้ำย้อยและขนมจีนน้ำเงี้ยว เมนูพื้นบ้านที่กลับไปทีไร คุณแม่ต้องทำต้อนรับทุกครั้ง

ร้านโปรดของเราคือ ‘ขนมจีนน้ำย้อยเมืองแป้ โจ-หยก’ ตั้งอยู่ในกาดน้ำทอง มีที่จอดรถอยู่หน้าร้าน

สาเหตุที่เรียกขนมเส้นน้ำย้อย เพราะเป็นขนมจีนเส้นสด เมื่อนำเส้นขึ้นจากน้ำจะยังมีน้ำย้อยลงมา ตัวเส้นนุ่ม ละเอียด และหนึบ ขนาดเส้นค่อนข้างเล็ก แตกต่างจากขนมจีนแป้งหมักที่กินประจำ

ปกติจะเสิร์ฟพร้อมน้ำซุปใส แบบนี้เรียกว่า ‘ขนมจีนน้ำใส’ หรือ ‘ขนมจีนน้ำหมู’ แต่เมื่อไหร่ที่เอาน้ำพริกน้ำย้อย (ทำจากหอมเจียว) เติมลงไป เมื่อนั้นจะรวมกันเป็น ‘ขนมจีนน้ำย้อย’ ฉบับสมบูรณ์

ซิกเนเจอร์อีกอย่างของที่นี่คือเรือเก่าซึ่งตั้งอยู่กลางร้าน ด้านในวางครกน้ำพริกน้ำย้อยเอาไว้ ทั้งหอม กรอบ เผ็ด เข้มข้น ที่สำคัญคือเติมได้ไม่อั้น เช่นเดียวกับผักและเครื่องเคียงอื่น ๆ

เราขอแนะนำให้สั่งไก่ทอดมากินกับน้ำพริกน้ำย้อย เพราะเนื้อฉ่ำ ๆ และหนังกรอบ ๆ ของไก่เป็นการจับคู่ความอร่อยที่ลงตัวแบบน้อยคนจะรู้

#02
ลองอ้อยอิ่งในถ้ำผานางคอย

ใครชอบเดิน เชิญถ้ำผานางคอย อำเภอร้องกวาง นี่คือสถานที่โปรดในการเดินถ้ำเบา ๆ ไม่ยาวและไม่ยาก อากาศเย็น แถมถ้ามาคนละฤดูยังได้บรรยากาศที่แตกต่างโดยสิ้นเชิง

‘ถ้ำผานางคอย’ มาจากตำนานความรักราว 800 ปีก่อน มีคนเล่าไว้หลายเวอร์ชัน แต่ขอสรุปไว้ดังนี้ เจ้าหญิงอรัญญาณีและทหารหนุ่ม คะนองเดช แอบครองรักกันจนเจ้าหญิงตั้งครรภ์ ทั้งสองหนีออกจากเมืองโดยมีทหารของพระบิดาไล่ตาม เจ้าหญิงถูกธนูยิงเข้าที่อกจึงต้องหลบในถ้ำ ฝ่ายสามีออกไปหาเสบียง แต่ถูกสังหาร หลังจากเจ้าหญิงประสูติพระโอรส เธอตั้งจิตอธิษฐานว่าจะขอรอชายผู้เป็นที่รักจนกว่าเขาจะกลับมา ร่างของเธอจึงเปลี่ยนเป็นหินรูปหญิงสาวนั่งอุ้มลูกอยู่ที่ปลายสุดของถ้ำ

ภายในเต็มไปด้วยหินงอกหินย้อยและแสงสี ให้ทั้งความสงบ ลึกลับ และวังเวง เรามุ่งหน้าไปตามทางเดินไม้ที่มีให้ แต่ให้ก้าวย่างอย่างระวัง เพราะบางแผ่นค่อนข้างผุ

หากไปช่วงหน้าฝน ทุกท่านจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเดินบนแผ่นไม้ซึ่งบัดนั้นจะกลายเป็นสะพาน เนื่องจากน้ำไหลเข้าถ้ำทำให้เกิดเป็นเวิ้งน้ำสีดำสนิท มองไม่เห็นก้น อย่าเดินออกนอกทางเด็ดขาด เว้นเสียแต่เข้าหน้าแล้ง ภายในถ้ำแห้งเหือด ท่านเดินลัดไปบนหินได้บางจุด ขณะที่บางจุดเป็นโพรงลึกลงไป แม้ไม่มีน้ำก็ยังมองไม่เห็นปลายทางเช่นเดิม

#03
ลองตระเวนกิ๋นขนมจีนน้ำเงี้ยว

ขนมจีนน้ำเงี้ยวคืออีกเมนูซิกเนเจอร์ของแป้ เป็นอาหารพื้นเมืองเครื่องแน่น ทั้งเลือดไก่หรือเลือดหมู ซี่โครงหมู หมูสับก้อน ดอกเงี้ยว และมะเขือเทศ (บางร้านใส่ตีนไก่ด้วย แต่ไม่ค่อยเจอ)

สิ่งที่เห็นเด่นมาแต่ไกลส่วนใหญ่คือความส้มสดของน้ำเงี้ยว ขณะที่บางร้านเป็นน้ำเงี้ยวแบบใส เช่น ‘ขนมจีนป้าดา’ (เจ้าเก่าหลังนารีรัตน์ 40 กว่าปี) ถนนคำลือ ตำบลในเวียง และอีกร้านที่สีสดอย่าบอกใครคือ ‘ร้านปั๋นใจ๋’ ซอยวีระ อยู่ในเวียงเช่นกัน

จริง ๆ แล้วขนมจีนน้ำเงี้ยวมีหลายร้านมาก กระจายกันทั่วไปชนิดที่ออกไปยังสถานที่ท่องเที่ยวนอกเมืองก็ยังเจอ หรือจะเป็นแม่ค้าหาบเร่ในกาดก็อุดหนุนได้ เพราะรสชาติแตกต่างกันตามสูตรของแต่ละครอบครัว เลยอยากให้ลองกินหลาย ๆ ร้านเพื่อหารสชาติที่ใช่ หรืออย่างน้อยก็จะได้รู้ว่าเมืองแป้เขามีขุมทรัพย์น้ำเงี้ยวเยอะและหลากหลายไม่แพ้ที่อื่นเลยทีเดียว

(ส่วนในภาพคือขนมจีนน้ำเงี้ยวลำแต๊ ๆ ฝีมือคุณแม่ของผู้เขียนเอง ตอนนี้ยังไม่มีร้าน)

#04
ลอง Social Detox ด้วยธรรมชาติ 3 แห่ง

กินแล้วก็ต้องย่อย เรามาทำ Social Detox กันที่แก่งเสือเต้น อุทยานแห่งชาติแม่ยม อำเภอสอง

ขับรถเข้าใกล้แก่งเสือเต้นขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะสัญญาณอินเทอร์เน็ตหรือสัญญาณโทรศัพท์ก็ใช้ไม่ได้ นี่คือเรื่องจริง หากแผนที่ของคุณเริ่มค้าง ไม่ต้องตกใจ ขับตรงไปตามทางและมองป้ายแก่งเสือเต้นเอาไว้

นี่คือสถานที่สงบใจท่ามกลางธรรมชาติที่เราชอบมาก หากยืนเงียบ ๆ รับลม เราจะได้ยินเสียงน้ำตกที่ดังแว่วมาจากป่า วันไหนเหนื่อยล้าก็หย่อนขาลงน้ำเย็นได้ ขับรถมาง่าย โดยเฉพาะจากอำเภอสอง หากไม่มาฤดูท่องเที่ยว แทบจะไม่มีคน เสมือนทั้งป่าและน้ำเป็นของเราคนเดียว จะมานอนกางเต็นท์หรือเช่าบ้านพักก็ได้

ส่วนตัวเราชอบไปทริปวันเดียวกลับ จากแก่งเสือเต้นไปชมทิวทัศน์ผืนป่าสักทองอันกว้างใหญ่ที่ผาอิงหมอก ขึ้นไปแล้วจำทางลงให้ดี เพราะเราเคยหาบันไดไม่เจอจนต้องสไลด์ตูดลงมาแล้ว ขับรถไปอีกในเส้นทางเดียวกันคือหล่มด้ง ดงตะแบก แหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่น้ำขังตลอดปี มีผำ (สาหร่าย) ขึ้นปกคลุมจนเหมือนผืนหญ้า แต่รับประกันได้ว่า นี่คือสถานที่ที่ธรรมชาติอันสมบูรณ์จะช่วยเยียวยาจิตใจให้คุณได้จริง ๆ

#05
ลองไหว้พระธาตุ 3 แห่งใน 1 วัน

พระธาตุในจังหวัดแพร่มีจำนวนเยอะมาก ส่วนใหญ่ห่างกันหลายสิบกิโลเมตร แต่หากมีโอกาสและอยากลองไหว้พระดู เราขอแนะนำทริปสั้น ๆ ที่ตำนานพระธาตุทั้งสามล้วนเชื่อมโยงกัน

ในอดีตกาล พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดเวไนยสัตว์ที่ดอยแห่งหนึ่งในช่วงจวนแจ้ง ที่แห่งนั้นจึงเรียกว่า ‘พระธาตุจอมแจ้ง’ ต่อมาได้เสด็จมาประทับที่ดอยธชัคคะบรรพตและมอบพระเกศาธาตุให้แก่ขุนลัวะอ้ายก้อม ภายหลังสร้างเป็น ‘พระธาตุช่อแฮ’ สุดท้ายจึงเสด็จไปประทับบนดอยสูงที่สุดและมองดู (เล็งผ่อ) มาทางพระธาตุช่อแฮ จึงกลายมาเป็นชื่อของ ‘พระธาตุดอยเล็ง’

จากพระธาตุช่อแฮ ประจำปีขาล ลองเดินสังเกตสถาปัตยกรรมอายุนับสหัสวรรษ พินิจศิลปะการแกะสลักเทวดา ยักษ์ ฤๅษีเหยียบอยู่บนหลังสัตว์ไม่ซ้ำกันบนบานประตู 8 ทิศ หลังจากนั้นค่อยลงมาซื้อของฝาก

ขับรถวนไปต่อพระธาตุจอมแจ้ง พระธาตุเก่าแก่อายุมากกว่าพันปี ทางเดินเข้าหลังวัดไปจนถึงพระธาตุองค์เก่ามีเปรตต้อนรับตลอดทาง ถือเป็นการศึกษานรกและรู้จักเปรตแต่ละประเภท (วัดนี้คนส่วนใหญ่จะมาสักการะเพียงด้านหน้า อย่าลืมวนไปดูด้านหลังกัน) 

และที่สุดท้ายไม่ไกลนักคือพระธาตุดอยเล็ง ใครมีรถเช็กรถก่อน เพราะทางทั้งชัน ทั้งหักโค้ง พิชิตครั้งเดียวก็คิดว่าพึงพอใจแล้ว เพราะด้านบนคือวิวเมืองที่มองจากพระธาตุสูงที่สุดของจังหวัดแพร่ ลงมาอย่าลืมแวะไปทางน้ำตกเชิงทองเพื่อหาร้านอาหารนั่งกินริมลำธาร

#06
ลองอบสมุนไพรแบบล้านนาและบีบเพื่อสุขภาพ

นอกจากธรรมชาติบำบัด เราขอแนะนำสมุนไพรบำบัด ประคบ อบ แช่เท้า นั่งถ่าน ขัดผิว และบีบ (นวด) เพื่อสุขภาพที่ ‘สมุนไพรโชคทวีโอสถ’ เป็นการนวดกับหมอนวดท้องถิ่น และใช้สมุนไพรปลูกเอง ไม่ก็รับจากชาวบ้านเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน 

สูตรสมุนไพรที่ใช้ทั้งหมดมาจากตำรายาพื้นบ้านของล้านนาโบราณซึ่งจารึกไว้บนใบลาน โดยเจ้าของอย่าง นายทวี ก๋าทองทุ่ง ได้ไปร่ำเรียนตำราจากพระครู ทั้งการทำยาแก้ลูกดำ ยาแก้ลูกขาว ยาลม ประยุกต์เป็นยาทา ยาหม่อง ยาพ่น ตลอดจนศึกษาสมุนไพรที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านทุกขนาน ทั้งหมดเป็นการเรียนระหว่างอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์นานถึง 23 พรรษา

เราเริ่มด้วยการนวดเพื่อสุขภาพสบาย ๆ 1 ชั่วโมง มีการสอบถามอาการป่วย เพื่อนวดและแนะนำบริการให้ตรงจุด จากนั้นอบสมุนไพรต่ออีก 30 นาที (พักเบรกได้) สูดกลิ่นสมุนไพรให้เต็มปอด เพราะออกมาแล้วจะสดชื่นมาก เหงื่อไหลเป็นทาง แต่มีห้องน้ำให้อาบ และในอนาคตก็จะมีบริการคลินิกแผนไทยด้านการผดุงครรภ์อย่างเป็นทางการด้วย

ป.ล. อบหลายคนราคาถูกกว่า และแนะนำให้โทรจองคิวก่อน เพราะชาวบ้านไปใช้บริการกันเป็นปกติ

#07
ลองนั่งชิลล์ นอนชิลล์ ที่ Gingerbread House Gallery

‘Gingerbread House Gallery’ คือที่พักและคาเฟ่บนถนนเจริญเมือง สี่แยกสถานีตำรวจภูธรเมืองแพร่

คาเฟ่แห่งนี้เกิดจากฝีมือการแปลงโฉมของสถาปนิกชาวแพร่ บี-ธีรวุธ กล่อมแล้ว ผู้ปรับอาคารเก่า 2 ชั้นเข้ากับสถาปัตยกรรมเรือนขนมปังขิงจนกลายเป็นเรือนไม้สักประยุกต์ เขาไม่เชื่อว่านี่คือเมืองที่กำลังจะตาย จึงจับเอาความโดดเด่นของแพร่เข้ามาคืนชีวิตให้เมืองอีกครั้ง หนึ่งในนั้นคือเรื่อง ‘ไม้’ ซึ่งภายในที่พักและคาเฟ่ต่างอบอวลไปด้วยกลิ่นอายความเก่า อบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน สบายใจทั้งตอนนอน และลุกขึ้นมาทำงาน

เครื่องดื่มโปรดของเราคือ ช็อกโกแลตมินต์ แต่ซิกเนเจอร์ที่ไม่กินไม่ได้คือ คุกกี้นุ่งห้อม วาฟเฟิล ลาเต้ และโทสต์ไข่ เอาเป็นว่าพักที่นี่ มีอาหารอิ่มท้อง แถมยังได้สมาคมกับชาวแพร่ผู้น่ารัก เพราะที่นี่คือแหล่งรวมนักสร้างสรรค์ประจำเมืองแห่งหนึ่งเลย

ข้าง ๆ กันคือ ABO+ Phrae Creative Wisdom Space พื้นที่เล่าเรื่อง แชร์ประสบการณ์ จัดกิจกรรม สร้างโอกาส และสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาเมืองแพร่อย่างสร้างสรรค์ในทุกด้าน

(มีนิทรรศการหมุนเวียนด้วยนะ เช็กก่อนไปเยี่ยมชมได้)

#08
ลองกิ๋นข้าวซอยคุ้มวงศ์บุรี

เฮือนสีจมปูน่ารักคือคุ้มวงศ์บุรีที่ แม่เจ้าบัวถา สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2440 เพื่อมอบเป็นเฮือนแห่งความรักให้แก่ลูกสาวคือ เจ้าสุนันตา ครั้งสมรสกับ เจ้าพรหม ตั้งอยู่บนถนนคำลือ อำเภอเมือง แต่นอกจากการเดินชมสถาปัตยกรรมวิกตอเรียน เงยหน้าพินิจลายฉลุอันชดช้อย และย้อนเวลาหาอดีตตามห้องจัดแสดงแล้ว อีกสิ่งที่ไม่ลองไม่ได้คือ ข้าวซอย ณ ‘Vongburi Hometaurant’

ข้าวซอยที่นี่มีให้เลือกทั้งไก่ หมู และเนื้อ ซึ่งลำทั้งหมด แต่เราชอบไก่เป็นพิเศษ เพราะเนื้อหลุดออกจากกระดูกแทบจะทันที เรียกว่าไม่ต้องใช้แรงแม้แต่น้อย

ทางร้านนำสูตรจากเชียงใหม่มาประยุกต์ให้เป็นรสชาติเอกลักษณ์ของตัวเอง เข้มข้นสะใจ ไม่ต้องเติมมะนาว ไม่ต้องกินเครื่องเคียงก็อร่อย แต่ถ้าใส่หน่อยก็จะได้รสชาติอันสมบูรณ์แบบ

ใครจะมาทาน ร้านเปิดวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00 – 15.00 น. โทรเช็กก่อนก็ดีว่าข้าวซอยหมดหรือยัง เพราะเราเคยแห้วมาแล้ว

#09
ลองใส่ม่อฮ่อมแอ่วกาดกองเก่า

ปิดถนนตั้งกาด ‘กาดกองเก่า-กาดพระนอน’ ถนนคำลือ ใกล้บ้านวงศ์บุรีและวัดพงษ์สุนันท์ ยินดีต้อนฮับทุกท่าน ทุกวันเสาร์ เวลา 16.00 – 20.00 น.

นี่คือถนนคนเดินขึ้นชื่อที่เหมาะแก่การช้อปทั้งขนมพื้นบ้าน อาหารพื้นเมือง งานคราฟต์ งานศิลปะ เสื้อผ้า รวมถึงอาหารสด ผักสดส่งตรงจากสวน ระหว่างเดินก็มีดนตรีสไตล์ล้านนาดังคลอตลอดทาง เข้ากับบรรยากาศยามเย็นเป็นที่สุด

อีกหนึ่งความพิเศษที่เราสังเกตเห็น คือพ่อค้าแม่ขายและชาวเมืองแป้ส่วนใหญ่ล้วนใส่ม่อฮ่อมและผ้ามัดย้อมอย่างสามัคคี มองไปทางไหนก็เห็นแต่สีครามสวย แถมยังรวยความน่ารักและมิตรไมตรี

นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักเตรียมเสื้อม่อฮ่อมกันไม่ทัน แต่ถ้าทำได้ เราไม่อยากให้คุณแค่ซื้อม่อฮ่อมเป็นของฝาก แต่อยากให้ลองใส่ม่อฮ่อมแอ่วเมืองแป้อย่างคนแป้ดู ปี้น้องที่กาดกองเก่าใส่เป็นเพื่อนทั้งถนน เรียกว่าเอาตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม แล้วคุณจะค้นพบความใส่สบาย ความภูมิใจ และเสน่ห์ของฮ่อมแน่นอน

#10
ลองดื่มคราฟต์โซดาที่บ้านเบ้ว

‘บ้านเบ้ว’ เป็นบ้านไม้อายุกว่า 80 ปี ของพี่น้องฝาแฝด คุณยายบัวผิน และ คุณยายบัวผัน ตั้งอยู่ในกาดกองเก่า เป็นหนึ่งในบ้านโบราณที่มีให้เห็นตลอดสาย แต่ความโดดเด่นอยู่ที่ความเบี้ยวซึ่งทรุดโทรมตามกาลเวลา ประกอบกับน้ำท่วมใน พ.ศ. 2538 ทำให้ดินยุบยิ่งกว่าเก่า

ปัจจุบัน ตัวบ้านถูกปรับปรุงให้แข็งแรง และเปลี่ยนเป็นคาเฟ่ท่ามกลางบรรยากาศบ้านไม้ที่ยังมีฟังก์ชันเดิมสอดแทรก เช่น พื้นไม้ลับที่เปิดเห็นใต้ถุน และสังกะสีลอนใหญ่ซึ่งถือเป็นอีกสัญลักษณ์ของความเก่าแก่

เมนูที่อยากให้ลองดื่มดับร้อนคือคราฟต์โซดา ไม่มีแอลกอฮอล์ มีต้นกำเนิดมาจากการเก็บลูกมะม่วงหาวมะนาวโห่หน้าบ้านมาบ่ม หลังจากนั้นจึงพัฒนามาเป็นคราฟต์โซดาหลากหลายรส แต่เราขอแนะนำส้มยูซุ โยเกิร์ต และมะม่วงหาวมะนาวโห่

#11
ลองเดินริมยม เล่นน้ำเย็นที่บ้านย่านยาว

แม่น้ำหลักสายเดียวที่ไหลผ่านจังหวัดคือ แม่ยม และการตามหาที่นั่งเล่นนั่งชิลล์ยามเย็นก็ทำให้เราได้มาเจอสถานที่ลับ ณ บ้านย่านยาว ตำบลน้ำรัด อำเภอหนองม่วงไข่

คุณต้องลัดเลาะผ่านหมู่บ้าน (ถามทางไปเรื่อย ๆ) จนทะลุมาถึงริมแม่น้ำยม เสียดายว่าเราไปในฤดูแล้ง น้ำจึงแห้งอย่างที่เห็น อย่างไรก็ตาม การเดินเล่นริมยมก็ไม่ฟินเท่าการได้นั่งแช่เท้าในสายธาร ปล่อยจอยไปกับการมองอาทิตย์ตก และทิวทัศน์ฝูงควายที่ลงเล่นน้ำอยู่ไกล ๆ 

นี่คือสถานที่ลับที่ญาติคุณแม่พามา เราไม่เจอคนต่างถิ่นแม้แต่คนเดียว เจอเพียงชาวบ้านมานั่งดีดกีตาร์ร้องเพลง ปั่นจักรยาน ปูเสื่อทานข้าว และมีเด็ก ๆ เล่นน้ำอย่างสนุกสนาน

ไหน ๆ ก็มาแล้ว ลองเอื้อมมือไปเด็ดมะขามเทศริมทางมากินดู เพราะชาวบ้านก็ชักชวนให้เราทำเช่นนั้นเหมือนกัน อื้ม! หวาน อร่อย!

#12
ลองแวะซื้อไส้อั่วและของฝากที่แยกเด่นชัย

ไม่ใช่แค่ม่อฮ่อมจากทุ่งโฮ้ง ไม้สักจากสูงเม่น และของดีแต่ละอำเภอ แต่ของฝากหลากหลายน่าซื้อรวมกันอยู่ที่แยกเด่นชัย ใกล้แยกปากจั๊วะด้วย ส่วนใหญ่จะซื้อเฉพาะขากลับกรุงเทพฯ เพราะเมื่อออกจากประตูเมืองเวียงโกศัยมาสักพักก็เลี้ยวซ้ายผ่านปั๊มน้ำมันและจอดข้างทางได้เลย

มีร้านรวงให้เลือกหลากหลาย โดยเฉพาะของกินอย่างแคบหมู น้ำพริกหนุ่ม หมูทุบ หมูยอ และไส้อั่ว รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ไม้สักของดี

สำหรับเรา ไส้อั่วคือสิ่งที่ต้องลอง (กินเลยหรือซื้อแบบแช่แข็งไปฝาก) เจ้าไหนก็ได้ เพราะเกือบทุกร้านอัดแน่นไปด้วยสมุนไพรหอมหวนตามสูตรครอบครัว ส่วนภาพนี้คือไส้อั่วจากร้านชัยสองเรา 

แนะนำ ซื้อให้พอทาน (เพราะส่วนใหญ่จะเสียใจที่ซื้อน้อยไป) พร้อมให้ทางร้านอุ่นเตรียมกินจนถึงบ้าน บอกเลยว่าคุณจะหยุดไม่ได้เลยทีเดียว

กิ๋นหื้อลำ แอ่วหื้อม่วน แล้วปะกั๋นใหม่เด้อ!

Writer & Photographer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า