ในวาระเทศกาล Dutch Sustainability Days 2019 ที่ผ่านมา The Cloud และสถานเอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย ร่วมกันจัดเวทีเสวนา Talk of The Cloud 02 : Urban Green Space ในวันพุธที่ 3 เมษายน 2562

เพื่อชวนคนเมืองมาฟังเรื่องอนาคตพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ จาก 4 วิทยากรผู้อยู่เบื้องหลังโครงการดีๆ ที่ไม่ได้พัฒนาแค่พื้นที่ แต่ช่วยชุบชูจิตใจ รวมไปถึงเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น

พื้นที่สีเขียว

เพราะจากเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนดไว้ว่าเมืองใหญ่แต่ละเมืองควรมีอัตราพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อคน

แต่ข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อมบอกกับเราว่า ปัจจุบันอัตราส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรของกรุงเทพฯ นับรวมประชากรแฝงซึ่งคาดว่ารวมแล้วจะมีประมาณ 10 ล้านคน อยู่ที่ 3.54 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น ถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานของ WHO มาก

และที่สำคัญ 3 ตารางเมตรกว่าๆ ที่ว่านับรวมทุกหย่อมพื้นที่สีเขียวเล็กๆ ทั้งหมด ตั้งแต่สวนสาธารณะขนาดใหญ่ไปจนถึงเกาะกลางถนนทั่วกรุงเทพฯ ดังนั้น จะเห็นได้ทันทีว่ามหานครแห่งนี้ไม่ได้ขาดแค่พื้นที่สีเขียวในแง่ของพื้นที่เท่านั้น แต่ยังขาดพื้นที่รองรับความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในเมืองอีกด้วย

พื้นที่สีเขียว พื้นที่สีเขียว

และพื้นที่สาธารณะที่มีคุณภาพเป็นหนึ่งในดัชนีสำคัญในการชี้วัดความน่าอยู่ของเมือง จึงไม่น่าแปลกใจที่เมือง ‘น่าอยู่’ ทั่วโลกจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียว ให้เมืองมีชีวิตชีวาจากธรรมชาติที่ยั่งยืนสำหรับผู้คน

เราจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้อย่างไรภายใต้ข้อจำกัดมากมายของเมือง นี่คือปัญหาระดับเมืองที่หลายฝ่ายกำลังเร่งหาทางแก้ไข รวมถึงวิทยากรทั้งสี่ของเราในงานนี้ด้วย ใครที่พลาดโอกาสมาฟังเสวนาไม่ต้องเสียใจ เพราะเราได้บันทึกคำตอบฉบับรวบรัดที่ได้ฟังในงาน มาให้อ่านบนหน้าจอต่อไปนี้แล้ว

Green Initiatives, Green Urban Spaces

วิทยากร : Mr.Kees Pieter Rade
เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย

พื้นที่สีเขียว

 รอบรั้วทำเนียบและสถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอแลนด์ประจำประเทศไทยเต็มไปด้วยสัตว์น้อยใหญ่มากมาย ทั้งตัวเงินตัวทองเก่าแก่ที่อยู่มานมนาน เต่าหลายตัว นกอีกหลากสายพันธุ์ ไปจนถึงงูที่ช่วยรักษาสมดุลระบบนิเวศ

พื้นที่ติดกันนี้คือทำเนียบเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณ จึงเปิดถึงกันเพื่อให้สัตว์ต่างๆ ลอดรั้วข้ามไปมาได้อย่างอิสระ ดังเช่นธรรมชาติการอยู่อาศัยอันเสรีของสัตว์

ที่ดินผืนนี้ถูกขายให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ใน ค.ศ. 1949 พร้อมบ้านที่ต่อมากลายเป็นทำเนียบเอกอัครราชทูต ซึ่งยังคงได้รับการดูแลอย่างดีมาจนถึงปัจจุบัน แต่ในส่วนของอาคารสำนักงาน เมื่อเวลาผ่านไป จำนวนเจ้าหน้าที่และงานส่วนต่างๆ มากขึ้น ทำให้พื้นที่ไม่เพียงพอ กระทรวงการต่างประเทศเนเธอร์แลนด์จึงตัดสินใจสร้างอาคารสำนักงานหลังใหม่

พื้นที่สีเขียว พื้นที่สีเขียว

ความพิเศษของอาคารสำนักงานหลังใหม่ คือแทบทุกส่วนได้รับการออกแบบอย่างยั่งยืน และแสดงความสวยงามอย่างมีฟังก์ชันแบบดัตช์ ทั้งพื้นที่เปิดโล่ง การเชื่อมโยงการใช้งานระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอก ล่าสุดเพิ่งติดแผง Silver Panel ซึ่งในอนาคตจะสามารถใช้ชาร์จรถยนต์ไฮบริดและรถยนต์อิเล็กทรอนิกส์ได้

ไม่ใช่แค่สิ่งปลูกสร้างเท่านั้น แม้แต่พื้นที่สีเขียวเองก็ต้องสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นพร้อมๆ กับความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณด้วย ประเทศเนเธอร์แลนด์จึงให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความยั่งยืนเสมอมา  

พื้นที่สีเขียว พื้นที่สีเขียว

นอกจากพื้นที่สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอแลนด์ประจำประเทศไทย ท่านเอกอัครราชทูตยังยกตัวอย่าง 3 กรณีศึกษาเรื่องพื้นที่สีเขียวซึ่งออกแบบอย่างยั่งยืนที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ให้ฟังอีกด้วย

01 Floriade 2022

พื้นที่มนุษย์สร้างที่ต่อขยายลงไปในทะเลสาบเมือง Almere ขนาด 45 เฮกเตอร์ ออกแบบโดย MVRDV ซึ่งจะถูกใช้เป็นสถานที่จัดงาน Horicultural Expo ใน ค.ศ. 2022 รวมถึงเป็นพื้นที่สำหรับสร้างสำนักงาน ที่อยู่อาศัย และพื้นที่นันทนาการของเมือง

Floriade 2022 ประกอบไปด้วยสวน พื้นที่สีเขียว และกรีนเฮาส์เล็กๆ มากมายที่ร้อยเรียงเข้าด้วยกัน ภายใต้คอนเซปต์ Plaint Library ไม่ใช่แค่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณเท่านั้น แต่พื้นที่ต่อขยายแห่งนี้ยังสามารถผลิตอาหารและพลังงานสะอาดได้ด้วยตัวเอง นอกจากนี้ยังมีระบบบำบัดน้ำไปจนถึงระบบรีไซเคิลของเสียครบวงจรอีกด้วย

02 สวนแนวตั้ง (Vertical Forest) บน Hawthorn Tower

ผลงานการออกแบบของสถาปนิกชาวอิตาลี Stefano Boeri ที่เมือง Utrecht โดยต้นไม้ 360 ต้น และพุ่มไม้ 9,640 พุ่ม จะถูกปลูกบริเวณระเบียงและผนังอาคารด้านนอก ตลอดความสูง 90 เมตร

พืชพรรณที่ถูกปลูกบนตึกครอบคลุมพื้นที่แนวราบถึง 1 เฮกเตอร์ ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 5.4 ตัน และยังช่วยผลิตออกซิเจนที่จะทำให้อากาศในเมืองมีคุณภาพดีขึ้นอีกด้วย

03 The Recycled Park

สวนลอยน้ำสร้างจากวัสดุรีไซเคิลในเมือง Rotterdam นอกจากจะเป็นพื้นที่สาธารณะคุณภาพของเมืองที่ผู้คนหลั่งไหลไปเยี่ยมเยียนแล้ว สวนลอยน้ำแห่งนี้ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างที่สุด ด้วยการปลูกพืชพรรณหลากชนิด และทำหน้าที่ดักจับขยะพลาสติกในแม่น้ำ Nieuwe Maas ก่อนจะไหลไปสู่มหาสมุทร

ด้วยรูปทรงห้าเหลี่ยมของแต่ละ Modular ทำให้ The Recycled Park สามารถต่อขยายออกไปได้เรื่อยๆ แถมตอนนี้ยังมีสัตว์น้อยใหญ่มาอาศัยอยู่อย่างคึกคัก ทั้งนก แมลง ไปจนถึงสัตว์เลื้อยคลาน เป็นสิ่งแวดล้อมมนุษย์สร้างที่แสดงให้เห็นว่าความยั่งยืนเกิดขึ้นไปทุกที่และจากทุกสิ่ง

The Bird Wave Bridge

วิทยากร : นำชัย แสนสุภา
ภูมิสถาปนิกจากบริษัท Shma

พื้นที่สีเขียว

‘กรุงเทพมหานคร’ หรือ BMA มีแผนแม่บทในการรวมสวนจตุจักร ขนาด 155 ไร่ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ขนาด 196 ไร่ และสวนวชิรเบญจทัศ หรือสวนรถไฟ ขนาด 375 ไร่ เข้าด้วยกัน ภายใต้ชื่อ ‘อุทยานสวนจตุจักร’ ตั้งแต่ พ.ศ. 2551 แต่แผนที่ว่านี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเสียที

The Bird Wave Bridge คือสะพานไม้หน้าตาเรียบง่าย ความยาวเพียง 50 เมตร ที่ทอดตัวข้ามคูน้ำที่กั้นกลางระหว่างสวนวชิรเบญจทัศและสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เชื่อมทั้งสองสวนสาธารณะเข้าหากัน และทำให้ ‘อุทยานสวนจตุจักร’ ขยับเข้าใกล้ความเป็นจริงอีกก้าวใหญ่

สะพานแห่งนี้ถูกออกแบบด้วยหลักคิดการสร้าง Landmark นั่นคือต้องมีคาแรกเตอร์โดดเด่น เป็นที่สนใจ น่าจดจำ สามารถสร้างความต่อเนื่องด้านการใช้งานของผู้คนระหว่างสวนได้จริงๆ และคอนเซปต์หลักในการออกแบบ The Bird Wave Bridge นั้นก็เรียบง่ายมาก คือทำอย่างไรให้สิ่งปลูกสร้างใหม่ไม่ไปรบกวนและเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมเดิม

The Bird Wave Bridge, สวนจตุจักร, สวนรถไฟ

The Bird Wave Bridge, สวนจตุจักร, สวนรถไฟ

จากการสำรวจของสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดกิจกรรมดูนกบริเวณนี้อยู่บ่อยๆ ทำให้ทราบว่าคูน้ำที่ตั้งของ The Bird Wave Bridge เป็นที่อยู่อาศัยของนกหลากหลายสายพันธุ์   

ดังนั้น ฟังก์ชันรองนอกเหนือจากการเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกิจกรรมระหว่างสวนสาธารณะของสะพานไม้แห่งนี้ คือการเป็นพื้นที่ด้อมๆ มองๆ เหล่านกที่แวะเวียนกันมา จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องมีที่นั่งพร้อมช่องเปิดที่เจาะไว้เป็นระยะตลอดความยาวของสะพาน ช่องเหล่านั้นเอาไว้แอบส่องนกนั่นเอง

ไม่เฉพาะนกเท่านั้น แต่พื้นที่แถวนี้เป็นมิตรและเชื้อเชิญสัตว์หลากหลายสายพันธ์มาอยู่อาศัย เพราะมีปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ในธรรมชาติอย่างครบถ้วน ได้แก่ แหล่งอาหารและน้ำ ที่กำบังที่ปลอดภัย และที่อยู่อาศัยให้สัตว์ได้เลี้ยงดูลูกของตน ตั้งแต่นกที่อาศัยบนยอดไม้ ไปจนถึงฝูงปลาและสัตว์เลื้อยคลานที่แหวกว่ายอยู่ในสระ

ทุกการออกแบบมีฟังก์ชันทั้งหมด แม้แต่ Curve หรือความคดโค้งของรูปทรงสะพาน เพราะบางจุดต้องหักเลี้ยวอ้อมต้นไม้เดิมที่มีอยู่ สะพานแห่งนี้มีรูปร่างเหมือนลูกคลื่น จึงเป็นที่มาของชื่อ The Bird Wave Bridge ซึ่งใช้ไม้เก่ามารีไซเคิลในการก่อสร้างทั้งหมด

The Bird Wave Bridge, สวนจตุจักร, สวนรถไฟ

The Bird Wave Bridge, สวนจตุจักร, สวนรถไฟ

โครงการที่กำลังจะถูกผลักดันต่อไปคือ การเปลี่ยนที่จอดรถ JJ Green เป็นสวนขนาด 26 ไร่   

และโครงการปิดหัวท้ายถนนที่ผ่ากลางสวนสาธารณะทั้งสามแห่ง เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่สวนทั้งหมดเข้าด้วยกัน โดยไม่ได้รื้อถนนออก หรือตัดต้นไม้เพื่อสร้างสิ่งปลูกสร้างเพิ่มแบบแผนเดิมเมื่อหลายปีก่อน แต่กั้นประตูและเชื่อมทางเดินเป็นช่วงๆ ให้กิจกรรมระหว่างสวนเชื่อมต่อกันเท่านั้น

พื้นที่สีเขียว

หลังจากเชื่อมสวนผืนยักษ์เข้าหากันแล้ว คนเมืองจะมีเส้นทางวิ่งมินิมาราธอนความยาว 10.5 กิโลเมตร ผ่านทั้งสามสวนที่มีวิวทิวทัศน์สีเขียวที่ไม่ซ้ำกันเลย โดยทาง BMA มีแผนที่จะเปิดประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของชาวกรุงเทพฯ และทำให้ ‘อุทยานสวนจตุจักร’ เกิดขึ้นจริงในสักวัน

The Healing Garden

วิทยากร : อาจารย์กชกร วรอาคม
ภูมิสถาปนิกจากบริษัท Landprocess และอาจารย์พิเศษคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พื้นที่สีเขียว

แม้ว่าประเทศเนเธอร์แลนด์จะอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลหลายเมตร แต่ด้วยวิทยาการด้านการจัดการน้ำที่มีมาหลายร้อยปี ทำให้สามารถควบคุมระดับน้ำทะเลที่เข้าออกและเชื่อมต่อกับผืนดินได้ หากระบบเหล่านี้หยุดทำงานในวันใดวันหนึ่ง ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน พื้นที่กว่าครึ่งหนึ่งของประเทศจะจมน้ำทะเล

ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยและอีกหลายประเทศทั่วโลกก็กำลังจมน้ำทะเลเช่นกัน พื้นที่บริเวณชายขอบของกรุงเทพฯ ถูกน้ำทะเลกัดเซาะและค่อยๆ จมไปหลายพันไร่ตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมา

ประเทศเนเธอร์แลนด์และกรุงเทพฯ มีความคล้ายคลึงกันในแง่ความเป็นพื้นที่ปากแม่น้ำ (Delta Area) ที่น้ำจากพื้นที่ๆ สูงกว่าจะไหลลงมาเพื่อออกสู่มหาสมุทร แต่ในแง่การจัดการนั้นเรียกได้ว่ามีประสิทธิภาพแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

พื้นที่สีเขียว

เนเธอร์แลนด์มีการสร้างแนวเขื่อนไว้ตามพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ รวมถึง Sea Wall บริเวณรอยต่อไปสู่มหาสมุทร แม้จะเต็มไปด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่เนเธอร์แลนด์ก็เก็บและดูแลรักษาร่องรอยทางประวัติศาสตร์อย่างลำคลองสายเก่าแก่ไว้อย่างครบถ้วน

เพราะคลองไม่ใช่แค่คูระบายน้ำ แต่เป็นหนึ่งในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียวของเมือง เช่นเดียวกับกรุงเทพฯ ที่มีลำคลองเก่าแก่อยู่มากมาย หากพัฒนาอย่างถูกต้อง จะสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้คนได้ไม่รู้จบ

กรุงเทพฯ เป็นเมือง 3 น้ำ คือน้ำป่า น้ำทะเล และน้ำฝน ดังนั้น คนเมืองไม่ต้องกลัวน้ำท่วม เพราะไม่ว่าอย่างไรพื้นที่นี้ก็จะน้ำท่วมแน่นอน คำถามคือ เราจะใช้ชีวิตอย่างไรกับน้ำต่างหาก เพราะคนสมัยก่อนอาศัยอยู่ในบ้านเรือนแพ บ้านเรือนไทย ก็สามารถใช้ชีวิตร่วมกับน้ำด้วยดีได้เสมอมา

พื้นที่สีเขียว

ด้วยเทคโนโลยี สวนสามารถเป็นได้มากกว่าแค่พื้นที่สีเขียว อย่างสวนบำบัดลอยฟ้าของโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่ง Healing Garden เป็นเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก เพราะตอนนี้โลกไม่ได้มองว่าโรงพยาบาลรักษาแค่ร่างกายอีกต่อไป แต่จะต้องเยียวยาไปถึงจิตใจด้วย

สวนแห่งนี้เน้นการใช้พลังธรรมชาติบำบัดหรือ Ecotherapy จึงประกอบไปด้วยต้นไม้ไร้สารพิษ ไร้หนาม แถมยังมีกลิ่นหอมและมีผิวสัมผัสหลากหลายเพื่อกระตุ้นการรับรู้

พื้นที่สีเขียว

พื้นที่สีเขียว

สวนบำบัดลอยฟ้าแบ่งการใช้งานออกเป็นหลากหลายโซน ตั้งแต่เส้นทางเดินกายภาพบำบัดที่โรยพื้นด้วยกรวดหลายขนาดสำหรับกดจุดใต้ฝ่าเท้า ไปจนถึงสนามหญ้าเขียวขจีขนาดใหญ่ ที่บุคลากรการแพทย์มักขึ้นมาใช้ เป็นสถานที่จัดกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์กันอยู่บ่อยๆ

นอกจากนี้ สวนบำบัดลอยฟ้ายังถือเป็นหลังคาเขียวที่ช่วยลดอุณหภูมิอาคาร รวมถึงช่วยดูดซับน้ำฝนเหมือนแก้มลิงเล็กๆ ให้กับกรุงเทพฯ อีกด้วย

พื้นที่สีเขียว

ปลูกปักษ์รักษา

วิทยากร : อาจารย์จุลพร นันทพานิช
อาจารย์พิเศษคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พื้นที่สีเขียว

ประเทศไทยอุดมไปด้วยศาสตร์หลากแขนง ความรู้อยู่ในห้องเรียนและอยู่ในคน คนธรรมดาๆ อย่างชาวบ้านที่ใช้ชีวิตอยู่บนภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาเนิ่นนาน

ที่คอร์ตกลางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ 19 ปีที่แล้ว นักศึกษารุ่นแรกที่จะจบการศึกษาอยากทดลองปลูกต้นไม้ อาจารย์จุลพรจึงนำกล้าต้นยางนามาให้นักศึกษาเพาะขึ้นที่กลางคอร์ต ปัจจุบันต้นยางนาเติบโตสูงใหญ่ให้ร่มเงาแก่ทั้งอาคารและผู้คน

ผืนดินรกร้างว่างเปล่าใด หากไม่ได้ถูกใช้งานทำประโยชน์ หรือแม้จะก่อสิ่งปลูกสร้าง แต่หากเว้นพื้นที่สำหรับปลูกต้นไม้ไว้ จะให้ประโยชน์มหาศาล ทั้งร่มเงา เพิ่มความบริสุทธิ์ให้อากาศ และสร้างระบบนิเวศให้กับพื้นที่โดยรอบ

พื้นที่สีเขียว

อาจารย์จุลพรยกตัวอย่างการออกแบบหมู่บ้านจัดสรรและบ้านเช่าระยะยาวที่ตำบลหน้าทอน อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายใต้แนวคิดที่จะเก็บพื้นที่ป่าดั้งเดิมรวมถึงปลูกป่าเพิ่มเติม ให้ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์มากที่สุด แม้จะมีเพียงไม่กี่สิบหลัง แต่คิวจองยาวเหยียด สร้างผลประกอบการเชิงรายได้และธรรมชาติอย่างมหาศาล

พื้นดินธรรมชาติไม่ได้ถูกโบกฉาบปูนอย่างหมู่บ้านจัดสรรทั่วไป ช่วยดูดซับน้ำลงสู่บ่อดินธรรมชาติในหมู่บ้าน ซึ่งมีสมรรถนะการดูดซับมากกว่า 10 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง

อีกหนึ่งโครงการที่อาจารย์จุลพรยกตัวอย่างคือ การออกแบบอาคารและภูมิทัศน์ที่จังหวัดมหาสารคาม ที่ดินผืนไม่ใหญ่ขนาดประมาณ 7 ไร่ เดิมทีจะสร้างเป็นหอพัก แต่ต่อมาเจ้าของเปลี่ยนใจปลูกต้นไม้บนพื้นที่เกือบทั้งหมด จนกลายเป็นป่าผืนย่อมกลางเมือง และต่อมาสร้างอาคารพาณิชย์หลังน้อยปล่อยเช่า ทำกำไรได้เทียบเท่ากับการสร้างหอพักเต็มพื้นที่ แถมยังช่วยให้ระบบดูดซับน้ำผิวดินทำงานได้อย่างสมบูรณ์

พื้นที่สีเขียว

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ