พื้นที่สีเขียวผืนใหญ่บนถนนวิทยุ นอกจากทำเนียบเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา (เรื่องตอนแรกของคอลัมน์ The Embassy) และสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักร (เรื่องที่มียอดอ่านสูงสุดของคอลัมน์ The Embassy) ก็ยังมีพื้นที่ของสถานเอกอัครราชทูตแห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทยที่ The Cloud สนใจ

ไม่ใช่แค่พื้นที่สีเขียว ทำเนียบเอกอัครราชทูตยังเป็นอาคารโบราณที่มีประวัติความเป็นมาที่น่าสนใจมาก และได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ เมื่อปี ค.ศ. 1987

เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย นายเคส พิเทอร์ ราเดอ (Kees Pieter Rade) ซึ่งมาประจำการที่ประเทศไทยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยินดีเล่าเรื่องราวของสถานทูตให้เราฟัง

แต่ก่อนจะไปสนทนากับท่านทูต เรามาทำความรู้จักประวัติศาสตร์ของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับเนเธอร์แลนด์กันสักนิด

เยี่ยมสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ดูบ้านเก่ากว่า 100 ปี บนพื้นที่สีเขียวเกือบ 20 ไร่

เยี่ยมสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ดูบ้านเก่ากว่า 100 ปี บนพื้นที่สีเขียวเกือบ 20 ไร่

ความสัมพันธ์ยาวนานกว่า 400 ปี

การติดต่อระหว่างชาวดัตช์กับชาวไทยครั้งแรกเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1601 เมื่อเรือของ VOC (The East India Company) เดินทางมาถึงปัตตานี และตั้งสถานีการค้าที่นั่น

ปี ค.ศ. 1604 พ่อค้าของ VOC ได้ติดต่อกับกษัตริย์ของสยามที่กรุงศรีอยุธยา ทำให้เกิดการตั้งสถานีการค้าแห่งแรกที่อยุธยาในปี ค.ศ. 1608 ในปีนั้นมีคณะผู้แทนกลุ่มแรกจากสยามเดินทางไปเนเธอร์แลนด์เป็นครั้งแรก เพื่อมอบจดหมายจากกษัตริย์อยุธยาให้ Prince Maurits ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองหรืออุปราชของเนเธอร์แลนด์ในสมัยนั้น คณะผู้แทนจากสยามอยู่ที่นั่นเกือบ 2 ปี ถึงเดินทางกลับในปี ค.ศ. 1610

หลายศตวรรษต่อมา ความสัมพันธ์ของสองประเทศก็พัฒนาขึ้น แต่ก็ยังเน้นเรื่องการค้าเป็นหลัก มีชาวดัตช์ที่เป็นพ่อค้า ช่าง วิศวกร ที่ปรึกษา และอีกหลากหลายอาชีพ เดินทางมาเมืองไทยเรื่อยๆ

ตั้งสถานกงสุล

จนกระทั่งปี ค.ศ. 1858 เนเธอร์แลนด์ตั้งสถานกงสุลในกรุงเทพฯ เนื่องจากมีเรือของดัตช์มาเทียบท่าที่กรุงเทพฯ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อตั้งสถานกงสุลแห่งแรก ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเนเธอร์แลนด์ก็เริ่มขยับขยายไปสู่เรื่องอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากการค้า

ผู้ที่มาประจำการเป็นกงสุลกิตติมศักดิ์คนแรกเป็นชาวเยอรมันที่พูดไทยและดัตช์ได้ จากนั้นในปี ค.ศ. 1875 เนเธอร์แลนด์ก็ส่งนักการทูตคนแรกมาดูแล ปี ค.ศ. 1891 สถานกงสุลได้รับการยกระดับเป็นสถานกงสุลใหญ่

ปี ค.ศ. 1903 เนเธอร์แลนด์ส่ง (เฟอร์ดิแนนด์ โดเมล่า นิวเวนฮูส) Ferdinand Domela Nieuwenhuis ราชทูตคนแรกมาประจำที่กรุงเทพฯ ปี ค.ศ. 1907 สถานกงสุลใหญ่ก็ยกระดับเป็นสถานอัครราชทูต

ปี ค.ศ. 1957 ตำแหน่งราชทูตก็ยกระดับเป็น เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม

เยี่ยมสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ดูบ้านเก่ากว่า 100 ปี บนพื้นที่สีเขียวเกือบ 20 ไร่

เริ่มต้นจากทุ่งนา

ประวัติศาสตร์ของพื้นที่ผืนนี้เริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ. 1911 ในยุคของรัชกาลที่ 6 ยุคน้ันบริเวณนี้ยังเป็นนาข้าว แต่ก็เริ่มมีการพัฒนาพื้นที่เพื่อการพาณิชย์บ้าง เมืองในยุคนั้นขยายตัวอย่างรวดเร็ว ราคาที่ดินบริเวณนี้พุ่งสูงขึ้น ชาวนาจึงทยอยกันขายที่ดินและย้ายออกไปอยู่นอกเมือง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ (โอรสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และบิดาแห่งภาพยนตร์ไทย) เป็นหนึ่งในคนที่ซื้อที่ดินจากชาวนาที่ย้ายออกไป พื้นที่จำนวน 23 ไร่

เยี่ยมสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ดูบ้านเก่ากว่า 100 ปี บนพื้นที่สีเขียวเกือบ 20 ไร่

มีการสร้างบ้านซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล เป็นอาคาร 2 ชั้น หลังคาจั่ว และมีส่วนหนึ่งเป็นหอคอยสูง 3 ชั้น จุดเด่นของอาคารหลังนี้คือหลังคาที่ซ้อนชั้นขึ้นไปในส่วนหอคอย มีการตกแต่งด้วยไม้แกะสลักและเสาประดับที่ยอดจั่ว

ข้อมูลจากสมาคมสถาปนิกสยามบอกว่า บ้านหลังนี้เคยเป็นที่พักของนายแพทย์อัลฟองส์ ปัวส์ แพทย์หลวงชาวฝรั่งเศส ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งย้ายออกไปในปี ค.ศ. 1913

เยี่ยมสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ดูบ้านเก่ากว่า 100 ปี บนพื้นที่สีเขียวเกือบ 20 ไร่เยี่ยมสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ดูบ้านเก่ากว่า 100 ปี บนพื้นที่สีเขียวเกือบ 20 ไร่

เปลี่ยนมือ

ปี ค.ศ. 1914 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ขายที่ดินและบ้านให้กับพระยาราชสาส์นโสภณ ซึ่งในปี ค.ศ. 1915 ได้ขายต่อให้กับกรมพระคลังข้างที่ (สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในปัจจุบัน) ชื่อเจ้าของที่ดินผืนนี้จึงเป็นพระมหากษัตริย์ โดยมีอธิบดีกรมพระคลังข้างที่เป็นผู้มีอำนาจจัดการแทน

15 ปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระราชทานที่ดินและอาคารให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช

ท่านเคยเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส เสนาบดีกระทรวงกลาโหม และผู้นำของเหตุการณ์ที่เรียกว่า ‘กบฏบวรเดช’ ทำให้ต้องลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่กัมพูชา 16 ปี ท่านทรงเปิดโรงงานทอผ้าที่กัมพูชา เมื่อกลับมาเมืองไทยท่านทรงตั้งโรงงานทอผ้าที่อำเภอหัวหิน ซึ่งทุกวันนี้โด่งดังระดับโลกในชื่อ โขมพัสตร์

ปี ค.ศ. 1932 พระองค์เจ้าบวรเดชเขียนจดหมายถึงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ผ่านกรมพระคลังข้างที่ เพื่อขอพระบรมราชานุญาตขายที่ดินคืนให้กรมพระคลังข้างที่ 2 ไร่ เพราะอยากได้เงินไปปรับปรุงบ้าน ได้เงินมา 15,000 บาท ถือเป็นการปรับปรุงบ้านครั้งแรกและครั้งเดียวก่อนที่จะกลายเป็นสถานทูตเนเธอร์แลนด์ในอีก 17 ปีต่อมา

ปี ค.ศ. 1936 พระองค์เจ้าบวรเดชทรงลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ ในช่วงปี ค.ศ. 1936 – 1939 บ้านหลังนี้ถูกปล่อยเช่าให้กับสมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษใช้เป็นสำนักงานและ Clubhouse

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพญี่ปุ่นเข้ามาใช้ที่นี่เป็นสำนักงาน

เยี่ยมสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ดูบ้านเก่ากว่า 100 ปี บนพื้นที่สีเขียวเกือบ 20 ไร่

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

หลังสงครามสิ้นสุด ปี ค.ศ. 1946 ที่นี่ถูกปล่อยเช่าให้กับ Salesian บาทหลวงนิกายโรมันคาทอลิก เพื่อใช้เป็นสำนักงานและโบสถ์ส่วนตัว ส่วนอาคารไม้ชั้นเดียว 2 หลังที่ทหารญี่ปุ่นสร้างไว้ ถูกใช้เป็นศูนย์ฝึกอาชีพของเด็กกำพร้าและเด็กด้อยโอกาส ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นโรงเรียนอาชีวศึกษาดอนบอสโก

หลังจากที่รัฐบาลออกกฏหมายนิรโทษกรรมให้นักโทษการเมืองทุกคดี ปี ค.ศ. 1948 พระองค์เจ้าบวรเดชก็เสด็จกลับประเทศไทย และขายบ้านพร้อมที่ดินผืนนี้ให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1949 ด้วยราคา 1,850,000 บาท

ต่อมารัฐบาลเนเธอร์แลนด์ตัดสินใจขายที่ดินสองแปลงส่วนที่ติดกับถนนวิทยุ ซึ่งถูกพัฒนาเป็นอาคารสำนักงาน

เยี่ยมสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ดูบ้านเก่ากว่า 100 ปี บนพื้นที่สีเขียวเกือบ 20 ไร่

เยี่ยมสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ดูบ้านเก่ากว่า 100 ปี บนพื้นที่สีเขียวเกือบ 20 ไร่

อาคารหลังใหม่

เมื่อเวลาผ่านไปส่วนงานต่างๆ และจำนวนเจ้าหน้าที่ที่เพิ่มขึ้น ทำให้อาคารสำนักงานหลังเก่ามีพื้นที่ไม่เพียงพอ ในปี ค.ศ. 2001 จึงได้สร้างอาคารอีกหลังตรงส่วนติดฝั่งถนนวิทยุให้เป็นส่วนงานพิธีการ ส่วนงานกงสุล และวีซ่า

เมื่อทางกระทรวงต่างประเทศเนเธอร์แลนด์เห็นว่าอาคารสำนักงานหลังเก่าเล็ก และไม่ได้มาตรฐานสำนักงานสมัยใหม่ จึงได้ตัดสินใจรื้ออาคารหลังเก่า รวมถึงหลังที่สร้างติดส่วนถนนวิทยุออกไป และสร้างอาคารสำนักงานหลังใหม่บริเวณฝั่งซอยต้นสนขึ้นมาแทนในปี ค.ศ. 2004 แล้วเสร็จในปี ค.ศ. 2005 เป็นสำนักงานในปัจจุบัน

ตัวอาคารแสดงถึงความเป็นดัตช์ผ่านการออกแบบที่เปิดโล่ง โปร่งใส สวยแบบมีฟังก์ชัน และเหมาะกับแสงแบบซีกโลกตะวันออก รวมถึงออกแบบให้มีความเชื่อมโยงระหว่างชีวิตภายในและภายนอกอาคาร ที่เลือกบริเวณฝั่งต้นสนในการสร้างอาคารสำนักงานเพราะจะได้หลีกเลี่ยงการจราจรที่คราครั่งบนถนนวิทยุ รวมถึงเรื่องของการรักษาความปลอดภัยด้วย ที่อยู่และทางเข้าเป็นทางการของสถานทูตจึงเปลี่ยนมาเป็นฝั่งซอยต้นสนตั้งแต่นั้นมา

จากนั้นก็มีการบูรณะทำเนียบเอกอัครราชทูต และเติมอาคารสองชั้นเข้าไปอีกหลังเพื่อใช้เป็นที่พักของเอกอัครราชทูต เสร็จในปี ค.ศ. 2007 จากนั้นก็มีการจัดสวนใหม่ให้โปร่งโล่งขึ้น เพื่อให้มองจากถนนวิทยุเข้ามาแล้วเห็นตัวบ้านได้

แต่ก็ยังถือว่าพื้นที่แห่งนี้ยังเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้ที่สำคัญต้นหนึ่งก็คือ ต้นสนประดิพัทธ์ ซึ่งเป็นรุ่นราวคราวเดียวกับที่ปลูกในซอยต้นสนจนกลายมาเป็นชื่อซอย (ปัจจุบันแทบไม่เหลือแล้ว)

เรื่องราวของชาวดัตช์ที่เกี่ยวกับสวนอีกเรื่องที่น่าสนใจก็คือ

เมื่อเนเธอร์แลนด์เข้าไปปกครองอินโดนีเซียก็นำความรู้ในการจัดสวนไปให้ ทำให้ชาวชวามีความสามารถในด้านการจัดสวน อย่างการปลูกต้นมะขามรอบสนามหลวง และการจัดสวนลุมพินีนั้นก็เป็นฝีมือของชาวชวา

ตอนนี้ก็ถึงเวลาสนทนากับท่านเอกอัครราชทูตแล้ว

เยี่ยมสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ดูบ้านเก่ากว่า 100 ปี บนพื้นที่สีเขียวเกือบ 20 ไร่

ก่อนจะเป็นเอกอัครราชทูตประจำเป็นประเทศไทย คุณเคยเป็นทูตอาร์กติกมาก่อน

ใช่ ผมเป็น Arctic Ambassador คนแรกของเนเธอร์แลนด์ แต่ผมไม่ได้อยู่ที่อาร์กติกนะ (หัวเราะ) ไม่มีนักการทูตประจำอยู่ที่อาร์กติก ผมทำงานให้กระทรวงการต่างประเทศ รับผิดชอบนโยบายของประเทศที่เกี่ยวกับขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ ในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำ ความมั่นคงทางอาหาร และพลังงาน เราต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าเกิดอะไรขึ้นที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ เช่น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ซึ่งมันสำคัญกับเนเธอร์แลนด์มาก เพราะพื้นที่หนึ่งในสามของเราอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล สนามบินที่อัมสเตอร์ดัมอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 4 เมตร ถ้าระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเราจะมีปัญหามาก

เป็นตำแหน่งที่ไม่เหมือนนักการทูตทั่วไป

แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทูตอาร์กติกต้องไปร่วมงานประชุมนานาชาติเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของอาร์กติก ทำงานด้านความสัมพันธ์พหุภาคีกับประเทศในอาร์กติก ประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนีก็มีทูตอาร์กติก เราคุยกับพวกเขาทั้งเรื่องการทำงานเชิงอนุรักษ์และงานเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งไม่เหมือนงานของทูตที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประเทศ

เยี่ยมสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ดูบ้านเก่ากว่า 100 ปี บนพื้นที่สีเขียวเกือบ 20 ไร่ เยี่ยมสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ดูบ้านเก่ากว่า 100 ปี บนพื้นที่สีเขียวเกือบ 20 ไร่

อะไรคือสิ่งที่คุณเสิร์ชหาเป็นอย่างแรกเมื่อรู้ว่าต้องมาทำงานเมืองไทย

เรื่องที่ผมรู้อยู่แล้วคือ ไทยเป็นประเทศที่สวยมาก อาหารก็อร่อย ผมเคยมาเที่ยวที่นี่เมื่อ 20 – 25 ปีก่อน แหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทยมีชื่อเสียงมากที่เนเธอร์แลนด์ มีนักท่องเที่ยวชาวดัตช์มาเที่ยวเมืองไทยกว่า 200,000 คนต่อปี เมื่อเทียบกับประชากร 17 ล้านคนของเรา ถือว่าเยอะมาก

ในแง่ของการทำงาน ผมพบว่าไทยเป็นประเทศที่น่าสนใจมาก เป็นตลาดที่มีประชากร 70 ล้านคน เป็นโอกาสที่ดีของภาคธุรกิจดัตช์ที่จะมาทำธุรกิจที่นี่ ซึ่งปกติก็ติดต่อทำธุรกิจกันอยู่แล้ว เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในสหภาพยุโรป เนเธอร์แลนด์คือตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปของไทย เมื่อส่งไปถึงรอตเตอร์ดัมก็กระจายต่อไปยังเยอรมนี เบลเยียม สินค้าส่งออกอันดับหนึ่งจากไทยคือ สินค้าเกษตร ส่วนสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งจากเนเธอร์แลนด์มาไทยก็คือสินค้าเกษตรเช่นกัน (เจ้าหน้าที่เสริมว่า นอกจากสินค้าเกษตร ยังมีสินค้าจำพวกเครื่องจักรและอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์รวมถึงเภสัชภัณฑ์ด้วย)

งานถัดมาคือเรื่องกงสุล เราคาดว่ามีประชากรชาวดัตช์ 20,000 คนอยู่ในเมืองไทย ที่ใช้คำว่าคาดเพราะเราไม่มีการสำรวจ มันเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา เรามีกฎหมายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวที่เข้มงวดมาก เราต้องดูแลประชากรชาวดัตช์สองหมื่น และนักท่องเที่ยวสองแสนคน

เนเธอร์แลนด์เป็นเมืองหลวงจักรยานของโลก

ใช่เลย คุณรู้ไหมว่า ชาวเนเธอร์แลนด์มีจักรยานเฉลี่ยคนละ 1.7 คัน มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก อันดับสองคือเดนมาร์ก 1.1 คัน ตามมาห่างมาก (หัวเราะ)

คุณเป็นนักปั่นไหม

คุณคุ้นเคยกับการแข่งขันจักรยานทางไกลในยุโรปไหม มีเส้นทางแข่งขันคลาสสิกเส้นหนึ่งจากฝรั่งเศสไปเบลเยียม ยาว 220 กิโลเมตร ผมไม่ได้ไปแข่งในรายการนั้นนะ แต่ตอนหนุ่มๆ ผมกับเพื่อนๆ 4 คน เอาจักรยานเสือหมอบไปปั่นเส้นนี้ 5 ครั้ง ปั่นกันสนุกๆ แบบมือสมัครเล่น แต่การปั่นจบในหนึ่งวันก็ถือว่าไกลอยู่

ตอนอยู่อัมสเตอร์ดัม คุณใช้จักรยานในชีวิตประจำวันไหม

แน่นอนที่สุด ผมปั่นจักรยานทุกวัน อย่างแรกเลยเพราะมันดีต่อสุขภาพ ต่อส่ิงแวดล้อม มันคือวิธีเดินทางจากจุดเอไปจุดบีในอัมสเตอร์ดัมที่เร็วที่สุด ถ้าขับรถไปต้องเสียค่าจอดรถชั่วโมงละ 200 บาท ไปธุระ 3 ชั่วโมง ก็ 600 บาท แพงอยู่นะ มีรูปหนึ่งที่คลาสสิกมากๆ ตอนที่ประธานาธิบดีโอบามามาประชุมที่เนเธอร์แลนด์ เขาเดินทางมาที่ประชุมด้วยเฮลิคอปเตอร์ 5 ลำ ส่วนนายกรัฐมนตรีของเราขี่จักรยานไป มันแตกต่างกันมากๆ (หัวเราะ)

เยี่ยมสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ดูบ้านเก่ากว่า 100 ปี บนพื้นที่สีเขียวเกือบ 20 ไร่ เยี่ยมสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ดูบ้านเก่ากว่า 100 ปี บนพื้นที่สีเขียวเกือบ 20 ไร่ เยี่ยมสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ดูบ้านเก่ากว่า 100 ปี บนพื้นที่สีเขียวเกือบ 20 ไร่

อะไรคือความท้าทายที่สุดในการเป็นเอกอัครราชทูตที่ประเทศไทย

ผมต้องพยายามไม่กินเยอะ (หัวเราะ) ความท้าทายอย่างหนึ่งคือ การผสานความแตกต่างของสองวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน ไทยมีวัฒนธรรมเฉพาะของตัวเอง ดัตช์ก็เช่นกัน มันน่าสนใจที่เราจะรวมสองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน นี่คือส่วนหนึ่งของงานเรา การดูแลชุมชนชาวดัตช์ที่นี่ก็ท้าทาย ที่เหลือเป็นเรื่องของความรื่นรมย์ในการทำงานแล้ว ผมได้รับสิทธิพิเศษในการทำงานที่นี่ท่ามกลางบรรยากาศที่เปรียบเหมือนโอเอซิสกลางเมืองใหญ่ที่มีประชากร 10 ล้านคน ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นคอนกรีต ผมรู้สึกพิเศษมากที่ได้ทำงานที่นี่ และได้พักที่นี่


บ้านหลังนี้ใช้จัดงานบ่อยแค่ไหน

เจ้าหน้าที่สถานทูตบอกว่า ในรอบปีหรือ 52 สัปดาห์ เราจะมีงานประมาณ 52 งาน แต่ผมว่ามันบ่อยกว่านั้นนะ เราจัดงานสัปดาห์ละ 1 – 2 งาน เรามีงานที่หลากหลายมาก นอกจากในตัวบ้าน เรายังใช้พื้นที่บริเวณสวนจัดหลายๆ งาน เมื่อเร็วๆ นี้เราจัดงานปาร์ตี้เฉลิมฉลองวันชาติมีแขก 900 คน มีวงดนตรีมาเล่นตั้งแต่เย็นถึงช่วงดึก (เจ้าหน้าที่เสริมว่า ทุกครั้งที่จัดงานปาร์ตี้ทางสถานทูตจะส่งจดหมายแจ้งให้เพื่อนบ้านโดยรอบทราบล่วงหน้าเพราะงานจะมีเสียงรบกวนถึงบริเวณใกล้เคียง) อีกทั้งยังมีฉายหนังกลางแปลง จัดงานระลึกถึงการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง เราลดธงครึ่งเสาและยืนไว้อาลัย เมื่อวานมีงานประชุมเอกอัครราชทูตดัตช์ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย เราประชุมร่วมกันปีละครั้ง พรุ่งนี้จะมีงานพูดคุยและนิทรรศการภาพถ่ายเรื่อง LGBTI นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมวันนี้ในตัวบ้านจึงดูโล่งและมีรูปของงานนิทรรศการมาแขวนตามผนัง 


คุณชอบมุมไหนที่สุดในบ้าน

ตรงนี้เลย (โซฟารับแขก) มันสบายมาก ในครัวก็ดีนะ มันเป็นครัวที่สวยมาก มีหน้าต่างเล็กๆ มองออกไปเห็นสวน เป็นครัวที่รื่นรมย์ต่างจากครัวทั่วไป อีกที่ที่พิเศษมากๆ ก็คือ หอคอยด้านบน เป็นห้องเล็กๆ ร้อนหน่อย แต่เป็นสถานที่ที่ดี ถ้าคุณไม่อยากคุยกับใครก็ขึ้นไปบนนั้นแล้วปิดประตู (หัวเราะ)

เยี่ยมสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ดูบ้านเก่ากว่า 100 ปี บนพื้นที่สีเขียวเกือบ 20 ไร่

เยี่ยมสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ดูบ้านเก่ากว่า 100 ปี บนพื้นที่สีเขียวเกือบ 20 ไร่

พื้นที่ชั้นสองใช้ทำอะไร

ไม่ได้ใช้งานมากนัก ตอนนี้ใช้เก็บของเป็นหลัก มีห้องพักแขก แล้วก็มีทางเดินเชื่อมไปบ้านพักของผมซึ่งเป็นอาคารที่สร้างใหม่อยู่ติดกัน ในอนาคตผมอยากใช้พื้นที่นี้จัดนิทรรศการศิลปะ แสดงภาพวาด


คุณชอบพื้นที่สีเขียวในสถานทูตไหม

มันเยี่ยมมาก ผมชอบสัตว์ที่นี่มาก ผมเรียกมันว่า อีกัวน่า เออ ภาษาไทยเรียกว่าอะไรนะ (หันไปถามเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ตอบว่า ตัวเงินตัวทอง) มันตัวใหญ่มาก ยาวเกือบ 2 เมตร จะเรียกว่าเป็นจระเข้ตัวน้อยๆ ก็ได้ มันว่ายน้ำตลอดเวลา กินปลาในน้ำ มีรังซึ่งผมเดาว่าอยู่ใต้บ้านหลังนี้ ตอนกลางคืนคุณจะเห็นมันกลับรัง หายไปใต้บ้านหลังนี้ ผมชอบตอนกลางคืนนะ คุณจะได้ยินเสียงเหมือนป่ากลางกรุงเทพฯ ที่นี่มีกระรอกตัวน้อยปีนต้นไม้ มีนก มีสัตว์อื่นๆ เราควรรักษามันไว้ให้เป็นสมบัติของกรุงเทพฯ ให้เป็นพื้นที่สีเขียวที่เชื่อมต่อจากพื้นที่ของทำเนียบเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของเรา (เจ้าหน้าที่เสริมว่า มีปู่เต่าเป็นสัตว์ที่อยู่คู่สถานทูตมานานมาก พี่ๆ คนสวนที่อยู่มานานบอกว่าปู่เต่าอยู่มาก่อนเขา คาดว่าเกิน 40 ปี ท่านทูตเพิ่งมาประจำที่นี่ยังไม่มีโอกาสเจอปู่เต่าของเรา)

เยี่ยมสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ดูบ้านเก่ากว่า 100 ปี บนพื้นที่สีเขียวเกือบ 20 ไร่ เยี่ยมสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ดูบ้านเก่ากว่า 100 ปี บนพื้นที่สีเขียวเกือบ 20 ไร่

เยี่ยมสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ดูบ้านเก่ากว่า 100 ปี บนพื้นที่สีเขียวเกือบ 20 ไร่

เวลาว่างคุณทำอะไร

นอกจากอ่านหนังสือ ผมพยายามวิ่งสัปดาห์ละ 2 วัน ที่สวนลุมพินี ผมไปวิ่งตอนเย็น มันสนุกมากที่ได้วิ่งที่นั่น เพราะมีคนไทยวิ่งกันเป็นพันคน ทั้งหนุ่ม แก่ อ้วน ผอม วิ่งเร็ว วิ่งช้า และเดิน ผมวิ่งจากสถานทูตไป 700 เมตร วิ่ง 2 รอบ 5 กิโลเมตร วิ่งกลับมาก็ 6.5 กิโลเมตร


คุณวิ่งคนเดียวเหรอ

ใช่ แต่วันอาทิตย์ผมไปวิ่งกับชมรมวิ่งนักการทูต เราพบกันวันอาทิตย์ตอนห้าโมงเย็น คุยกันสัก 10 นาที แล้วต่างคนก็ต่างวิ่งตามจังหวะของตัวเอง เราวิ่งความเร็วไม่เท่ากัน ไม่ได้แข่งกัน สมาชิกทั้งหมดน่าจะมีประมาณ 15 คน มีทูตไอริช สวีเดน นิวซีแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ บางครั้งก็มีเพื่อนๆ ทูตมาด้วย แต่ไม่เคยมากันครบสักที เป็นกลุ่มที่ดี


คุณต้องเรียนภาษาไทยไหม

ไม่ต้อง แต่ผมอยากเรียนนะ ในกลุ่มนักการทูตเราคุยเรื่องนี้กันว่า คุณต้องเรียนภาษาไทยมากแค่ไหน และคุณอยากเรียนภาษาไทยมากแค่ไหน ภาษาไทยเป็นภาษาที่ยากมาก ผมพยายามเรียนรู้ประโยคง่ายๆ แต่ถ้าให้แลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องการใช้ชีวิตเป็นภาษาไทย ผมไม่แน่ใจว่าจะทำได้นะ (หัวเราะ)

เยี่ยมสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ดูบ้านเก่ากว่า 100 ปี บนพื้นที่สีเขียวเกือบ 20 ไร่


คำศัพท์ภาษาดัตช์คำไหนแปลเป็นภาษาอื่นไม่ได้

Gezellig หมายถึง บรรยากาศสบายๆ แต่มันมากกว่านั้น มันหมายถึงรู้สึกดีที่ได้อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม รู้สึกเหมือนอยู่บ้าน รู้สึกสบาย เป็นคำที่ดัตช์มาก ชาวดัตช์ทุกคนรู้ว่าแปลว่าอะไร ถ้าคุณเดินในอัมสเตอร์ดัมหรือเมืองอื่น มองเข้าไปในอพาร์ตเมนต์ช่วงหัวค่ำ คุณจะเห็นด้านใน ไม่มีใครปิดม่าน มันเป็นความรู้สึกของการเปิดเผย เป็นความรู้สึกของการอยู่ร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดัตช์มาก คาแรกเตอร์ของชาวดัตช์คือเปิดเผย ตรงไปตรงมา ผมไม่รู้ว่ามีชาติไหนที่เปิดม่านตอนหัวค่ำแบบนี้อีกนะ นอกจากนี้เราก็ยังมีคำที่คนต่างชาติออกเสียงไม่ได้ เพราะจะมีเสียงในลำคอเยอะๆ อย่างเช่น Scheveningen (ชื่อชายหาด) หรือ Afsluitdijk (ชื่อเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ)

คำถามสุดท้าย ช่วงบอลโลกปีนี้คนดัตช์จะทำอะไรกัน

ผมคิดว่าการสัมภาษณ์นี้จบแล้วนะ (หัวเราะ) ผมเคยบอกว่า ในสถานทูตเรามีอิสรภาพในการแสดงความเห็น และเราต่อต้านการเซ็นเซอร์ แต่สิ่งหนึ่งผมห้ามแน่ๆ คือการพูดคำสองคำในประโยคเดียวกัน คุณจะพูดคำว่า World ในความหมายไหนก็ได้ คุณจะพูดว่า Cup ในความหมายไหนก็ได้ แต่ห้ามพูดคำว่า World Cup ติดกัน เพราะทีมชาติเราไม่ได้ไปแข่งด้วย (หัวเราะ)

ส่วนตัวผมเชียร์เบลเยียม ผมเคยอยู่ท่ี่นั่นนานพอสมควร ชาวเบลเยียมน่ารัก คนดัตช์ส่วนใหญ่ชอบเบลเยียมมาก พวกเขามีทีมฟุตบอลที่ดี เราจะเชียร์เบลเยียม

เยี่ยมสถานทูตเนเธอร์แลนด์ ดูบ้านเก่ากว่า 100 ปี บนพื้นที่สีเขียวเกือบ 20 ไร่

Writer

ทรงกลด บางยี่ขัน

ทรงกลด บางยี่ขัน

ตำแหน่งบรรณาธิการโดยอาชีพ เป็นนักเดินทางมือสมัครเล่น แบ่งเวลาไปสอนหนังสือโดยสมัครใจ และชอบจัดทริปให้คนสมัครไป

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan