6 กุมภาพันธ์ 2019
10 K

“สังเวยชีวิตในไทย! ชายชิลี ‘นักปั่นจักรยาน 5 ทวีป’ ถูกรถชนดับอนาถ”

“ไทยครองแชมป์ เสียชีวิตบนถนนมากที่สุดในโลก”

“กรมทางหลวง ชี้ครึ่งปีแรก อุบัติเหตุพุ่ง 6% ตายอื้อ เหตุขับรถซิ่ง”

“เด็ก 16 ปี ขี่ย้อนศรชนรถเครนถูกเหยียบเสียชีวิต ผู้ปกครองร่ำไห้แทบขาดใจ”

คงเดาได้ไม่ยากใช่ไหมครับว่าประโยคข้างต้นคือพาดหัวข่าวเกี่ยวกับอุบัติเหตุบนท้องถนนของไทยเราในรอบ 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจริงๆ มันก็คงเป็นอย่างนี้มานานแล้ว แต่สถิติมีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนที่ติดอันดับโลกน่ะคงเพิ่งได้มาไม่นานนัก ซึ่งแน่นอน มันไม่ใช่สิ่งที่น่าภาคภูมิใจ

กฎจราจร

แปลกแต่จริงครับ เมื่อทุกคนรู้ว่าความสูญเสียบนท้องถนนแบบที่ไม่ควรเกิดขึ้นเหล่านี้เป็นปัญหา และทุกคนก็อยากแก้ปัญหานี้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความสูญเสียเหล่านี้กลับทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าอย่างนั้นปัญหาในเรื่องนี้ของไทยจริงๆ แล้วมันอยู่ที่ไหน และควรแก้อย่างไรถึงจะได้ผล?

เชื่อแน่ว่า หากถามลอยๆ เช่นนี้ หนึ่งในคำตอบที่เรามักจะได้ยินกันคือ มันแก้ไม่ได้หรอก เพราะปัญหาอยู่ที่นิสัยของคนไทย เข้าทำนองทำอะไรตามใจคือไทยแท้!

กฎจราจร
กฎจราจร

ผมคงไม่อยู่ในสถานะที่จะสรุปได้ว่าคำตอบจริงๆ คืออะไร แต่ที่มั่นใจคือ ปัญหานี้ไม่ได้อยู่ที่ไทยเราไม่มีกฎหมายจราจรที่เพียงพอครับ เพราะหากลองสืบค้นดู จะเห็นว่า พ.ร.บ. จราจร 2522 ของไทยเรานั้นมีข้อห้ามและวิธีบริหารจัดการจราจรแทบทุกอย่างแล้ว เรียกได้ว่ากฎหมายของไทยเราทัดเทียมประเทศศิวิไลซ์อื่นๆ แล้ว มีเขียนแม้กระทั่งว่า รถต้องหยุดให้คนที่ข้ามถนนตรงทางม้าลาย ไม่อย่างนั้นโดนปรับ 1,000 บาท แล้วในชีวิตจริงมีใครบ้างที่หยุด!

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ กฎหมายน่ะไม่ใช่ตัวปัญหา แต่การ (ไม่) บังคับใช้กฎหมายนั่นแหละเป็นตัวปัญหา

หากใครที่คิดว่าปัญหาการไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ ไม่สามารถแก้ได้ เพราะมันฝังอยู่ในดีเอ็นเอของคนไทยโดยส่วนใหญ่แล้ว ลองไปดูทั้งตัวอย่างจริงและสถานการณ์สมมติที่จะเล่าต่อไปนี้ดูครับ

สำหรับท่านที่อาศัยอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นในยุโรป สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฯลฯ คงได้เห็นถึงการเคารพกฎจราจรของคนบ้านเขาเมืองเขา ซึ่งทำให้คิดไปได้ว่า คนบ้านเขาดีกว่าคนไทย?

กฎจราจร

ผมเคยเถียงกับเพื่อนหลายคนในประเด็นนี้ครับ เพื่อนผมหลายคนเชื่ออย่างปักใจว่า ปัญหาการไม่เคารพกฎจราจรเป็นที่ ‘คนไทย’ พูดง่ายๆ คือ เพื่อนกลุ่มนี้เชื่อว่าถ้าเอาคนไทยออกนอกประเทศให้หมด ปัญหานี้จะหมดไป

ผมถามเพื่อนกลุ่มนี้ว่า สมมติว่ามีคนไทยคนหนึ่งอายุ 50 ปี สมมติว่าชื่อจ้อย ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างมาแล้ว 30 ปี ซึ่งตลอดเวลาที่เป็นพี่วินนั้นพี่จ้อยก็ขี่ย้อนศรหรือขี่บนฟุตปาธมาโดยตลอด ที่นี้ พี่จ้อยสมัครล็อตโต้กรีนการ์ดของสหรัฐฯ แล้วดันได้รับเลือกให้ไปตั้งรกรากใหม่ในสหรัฐฯ เพื่อนๆ คิดว่าเมื่อไปถึงสหรัฐฯ แล้ว พี่จ้อยจะยังคงขี่มอเตอร์ไซด์ย้อนศรหรือขี่บนฟุตปาธต่อไปไหมครับ

เพื่อนผมเกือบทุกคนตอบเหมือนกันว่า พี่จ้อยจะไม่ขี่มอเตอร์ไซค์ย้อนศรหรือบนฟุตปาธอีกต่อไปเมื่อไปอยู่ในสหรัฐฯ

อ้าว ไหนบอกว่าการไม่เคารพกฎจราจรมันแก้ไม่ได้เพราะอยู่ในดีเอ็นเอของคนไทยไงครับ แล้วทำไมถึงคิดว่าพี่จ้อยจะเลิกขี่รถย้อนศรได้ ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่แกทำอยู่ในกมลสันดานของแกมาจนชินกว่าครึ่งชีวิต

คำตอบที่ได้ทำให้ผมเชื่อว่าปัญหาการไม่เคารพกฎจราจรของไทยจนนำไปสู่ความสูญเสียบนท้องถนนจำนวนมากในแต่ละปีนั้น เป็นที่ ‘ระบบ’ หรือปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยครับ

ข่าวต่างๆ เกี่ยวกับฝรั่งที่เมื่อมาไทยแล้วขับขี่แบบผิดกฎหมายจราจร โดยหลายรายถึงขั้นเสียชีวิต คงอธิบายได้ดีถึงระบบที่ไม่เวิร์กของเราว่า ในทางกลับกัน ทำไมฝรั่งพวกนี้อยู่บ้านตัวเองไม่กล้าทำผิดกฎ แต่พอมาไทยแล้วถึงหลิ่วตาตามพี่ไทยเรา ขี่มอเตอร์ไซค์ไม่ใส่หมวกกันน็อก ย้อนศร ฯลฯ

ถ้ามองว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง งั้นเราจะแก้อย่างไรดีล่ะ?

ผมคงไม่หาญกล้าขนาดจะตอบปัญหาระดับชาตินี้ในบทความชิ้นนี้หรอกครับ เพียงแต่มีข้อเสนอแนะบางประการที่ได้จากการสังเกตการบริหารจัดการเรื่องจราจรของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่ผมในฐานะข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศได้มีโอกาสมาทำงานอยู่รวมๆ กันถึงกว่าครึ่งทศวรรษแล้ว

โดยรวมๆ สังเกตได้ว่า การเคารพในกฎจราจรและกฎหมายอื่นๆ ของประเทศเขาเกิดจาก 2 ปัจจัยหลักที่เสริมๆ กันอยู่ คือ

การเคารพในสิทธิและหน้าที่ของกันและกันและของตนเองด้วย โดยไม่เกี่ยงว่าใครจะยากดีมีจนอย่างไร เช่น คนขับขี่ก็ต้องเคารพสิทธิของคนเดินถนนหรือผู้ขี่จักรยาน และต้องรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยโดยใส่หมวกกันน็อก คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่ดื่มเหล้าก่อนขับขี่และไม่ขี่รถบนฟุตปาธ ขณะเดียวกันคนเดินถนนก็ต้องเคารพสิทธิของคนขับขี่และรู้หน้าที่ของตนเองโดยไม่ข้ามถนนในที่ห้าม เป็นต้น การเคารพในสิทธิและหน้าที่ของกันและกันนี้ได้นำมาซึ่งกลไก ‘การลงโทษทางสังคม’ (Social Sanctions) อย่างหลวมๆ เลยครับ หากมีใครทำผิดแปลกแหวกแนวขึ้นมา ซึ่งในภาพใหญ่ ทำให้คนมีความยับยั้งชั่งใจที่จะกระทำผิดกฎ

การมีกฎหมายที่ ‘แรง’ และบังคับใช้ได้จริงกับทุกคนโดยเท่าเทียมกัน ตลอดจนมีช่องทางที่ง่ายและแก้ปัญหาได้รวดเร็วเมื่อมีการทำผิดกฎ (เช่น หากมีคนมาจอดรถหน้าบ้านเราในเวลาห้ามจอดหรือกีดขวาง ก็สามารถโทรแจ้งไปที่เจ้าหน้าที่ และเพียงไม่กี่นาทีเจ้าหน้าที่ก็มาเคลียร์ปัญหาให้ โดยประชาชนไม่ต้องมาทะเลาะกันเองจนกระทั่งใช้ขวาน!)

กฎจราจร
กฎจราจร

2 ปัจจัยหลักข้างต้นได้ค่อยๆ พัฒนาจนกลายเป็น ‘ระบบ’ ที่ไม่ทำให้เกิดอุบัติเหตุที่น่าจะป้องกันได้และลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และทรัพยากรของรัฐในการดูแลปัญหาที่ตามมาจากการขาดระบบที่มีประสิทธิภาพได้มากโข  (ข้อมูลจากเว็บไซต์ BLT Bangkok ระบุว่า ในปีๆ หนึ่ง ไทยมีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนเฉลี่ยกว่า 20,000 คน หรือคิดเป็นชั่วโมงละ 2 – 3 ราย ผู้บาดเจ็บ 1 แสนคน และในจำนวนนี้ กลายเป็นผู้พิการ 60,000  ซึ่งทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณกว่า 5 แสนล้านบาทในการดูแล)

ถึงตรงนี้ หลายคนคงบอกว่าการสร้างระบบดังกล่าวต้องเริ่มจากการปลูกฝังกันตั้งแต่เล็กๆ และเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลา (นาน) ขณะที่อีกหลายคนคงบอกว่า คงยากที่ระบบเช่นว่านี้จะเกิดขึ้นในไทย ผลก็คือปัญหานี้และวิธีการที่ใช้แก้ปัญหากันอยู่กลายเป็นเรื่องพายเรือในอ่างวนๆ กันไป

กฎจราจร

โดยส่วนตัว ผมยังโลกสวยครับ มองว่าปัญหานี้มีทางแก้ได้ และไม่ใช้งบเพิ่มขึ้นด้วยหากเราใช้วิธีแก้ที่ตรงจุด เลยอยากฝากแง่คิดไว้สักเรื่องสองเรื่องครับ

หนึ่ง เพื่อให้เห็นผลเร็วและวัดผลง่าย อยากจะเสนอให้เริ่มสร้างระบบเช่นว่านั้นโดยจำกัดวงในพื้นที่ที่ไม่ใหญ่นักก่อน เช่น หมู่บ้านปลอดการผิดกฎจราจร ตำบลตายบนท้องถนนเป็นศูนย์ ฯลฯ แล้วดึงภาคส่วนต่างๆ ในหมู่บ้านนั้นมาร่วมกันวางแผน ขับเคลื่อน และประเมินผล (จะเรียกประชารัฐ PPP หรือ CSR อะไรก็เอาเถอะ) และต้องกำหนดระยะเวลาดำเนินการไว้ให้ชัดเจนด้วย จะ 6 เดือนหรือ 1 ปีก็ว่ากันไป โดยภาครัฐ (ในท้องถิ่น) มีหน้าที่ช่วยสร้างกลไก / กฎเกณฑ์การบริหารจัดการ ส่งเสริม ให้คำปรึกษาและกำลังใจ ส่วนภาครัฐส่วนกลางก็อาจจัดเวทีประกวดหรือนิทรรศการ เพื่อให้แต่ละหมู่บ้านที่ทำโครงการเช่นนี้มาเสนอผลงานและแบ่งปันประสบการณ์กันครับ

สอง ในระหว่างที่หมู่บ้านหรือตำบาลต่างๆ กำลังเริ่มสร้างระบบของตัวเอง โทรทัศน์ช่องต่างๆ ควรนำเรื่องนี้มาบอกเล่าให้เห็นความคืบหน้าหรือปัญหา / อุปสรรคกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ไม่ใช่เสนอเฉพาะคลิปหรือข่าวอุบัติเหตุแบบไฟไหม้ฟาง ยิ่งหากมีช่องโทรทัศน์ที่ทำเรื่องนี้เป็นวาระของช่องตนเองเลยก็ยิ่งดี ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ครับ ในเมื่อข่าวอย่างจิ้งจกยกมือไหว้ขณะพระสวดมนต์ ตัวเงินตัวทองไปตั้งหลักปักฐานอยู่ในศาลพระภูมิ ควายสองหัว ฯลฯ ยังกินพื้นที่ข่าวได้ในแต่ละวันเลย

แค่ฝันว่า วันหนึ่งผมจะต้องวางแผนไปท่องเที่ยวพื้นที่แถบอีสานแห่งหนึ่งที่ได้รางวัลตำบลตายบนท้องถนนเป็นศูนย์ และกำลังสร้างกระแสให้ตำบลอื่นๆ ทำตาม ก็ตื่นเต้นแล้วครับ อย่าปลุกผมนะ!

Writer & Photographer

Avatar

โกศล สถิตธรรมจิตร

นักการทูตไทยที่มีความตั้งใจว่าอยากผลิตงานเขียนที่สะท้อนเรื่องราวดีๆ ที่ได้พบได้เห็นในขณะไปประจำการในต่างประเทศ เพื่อจุดประกายให้ใครก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ นำไปใช้เพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศไทย จบการศึกษาด้านรัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ อดีตพนักงานบริษัททัวร์ อดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษของไทย และเคยประจำการในฐานะนักการทูตในสหรัฐฯ (นิวยอร์ก และลอสแอนเจลิส) และเมืองหนึ่งทางตอนใต้ของจีน