ท่ามกลางความพลุกพล่านของซอยรมณีย์ ถนนสายเล็กใจกลางย่านเมืองเก่าภูเก็ตซึ่งแน่นขนัดด้วยนักท่องเที่ยวหลากเชื้อชาติตลอดทั้งวัน จุดหมายสำคัญอันดับ 1 ที่คนเหล่านี้มุ่งมองหา คงเป็นร้าน ‘Torry’s Ice Cream’ ที่มีโฉมหน้าเป็นตึกแถวสีชมพูหวาน

‘Phuket Wonders’ คือข้อความที่ปรากฏอยู่ในโลโก้ร้าน ซึ่งถ้าดูจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เวียนแวะมาถ่ายภาพ ลูกค้าที่นั่งในร้าน และการตบแต่งภายในที่ให้บรรยากาศหรูหราประหนึ่งภัตตาคารดังในยุโรป ก็ดูจะเป็นฉายาที่สมเหตุสมผลกันอยู่

แต่ความมหัศจรรย์ของร้าน Torry’s ไม่ได้มีแค่ความงามที่เห็นด้วยตา เพราะการสร้างแบรนด์ สินค้า ภาชนะ บรรจุภัณฑ์ และอีกมากมายของที่นี่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าที่ต้องรับรู้ด้วยหัวใจ

Torry’s Ice Cream ร้านไอศกรีมที่ตั้งใจส่งมอบรสชาติขนมพื้นบ้านภูเก็ตให้คนทั้งโลกได้ลิ้มรส

นี่คงเป็นร้านไอศกรีมแห่งแรกที่นำเมนูขนมพื้นเมืองภูเก็ตมาคิดประดิษฐ์เป็นเมนูใหม่

เป็นร้านไอศกรีมน้อยแห่งที่เลือกใช้วัตถุดิบซึ่งดีต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเอื้อประโยชน์ต่อคนท้องที่

และน่าจะเป็นร้านไอศกรีมเพียงแห่งเดียวบนเกาะภูเก็ตที่พากเพียรสร้างแบรนด์ให้สวยงาม เป็นสากลในโลกยุคใหม่ โดยไม่หลงลืมอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมดั้งเดิม

ทั้งหมดนี้วางอยู่บนวิสัยทัศน์ ‘Deliver Phuket taste and treasure to the world – ส่งมอบรสชาติและสมบัติอันล้ำค่าของภูเก็ตสู่นานาประเทศ’

สิ่งมหัศจรรย์แห่งจังหวัดภูเก็ตที่ชื่อว่า Torry’s มีความเป็นมาอย่างไร คอลัมน์ The Enterpreneur ชวนคุณผลักประตูเข้าไปสนทนากับ ทอรี่ วงศ์วัฒนกิจ ภายในร้านแสนสวยของเขา

ไอศกรีมดับร้อน

บรรทัดล่างสุดของโลโก้แบรนด์เขียนว่า ‘EST. 2015’ บ่งบอกว่าร้านนี้ก่อตั้งในปี 2015 เมื่อทอรี่เดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกามาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดอีกครั้ง

หนุ่มชาวไทยเชื้อสายจีนคนนี้เป็นลูกหลานจังหวัดภูเก็ตโดยแท้ คุณพ่อคุณแม่ผู้ประกอบกิจการร้านขายวัสดุก่อสร้าง ส่งเขาไปเรียนที่รัฐมิชิแกนตั้งแต่ระดับชั้นไฮสกูล ก่อนไปศึกษาต่อด้านศิลปะและการออกแบบที่มหาวิทยาลัยในนครชิคาโกจนกระทั่งสำเร็จ ทอรี่จึงเริ่มคิดอยากกลับไทยพร้อมกับพี่สาว

Torry’s Ice Cream ร้านไอศกรีมที่ตั้งใจส่งมอบรสชาติขนมพื้นบ้านภูเก็ตให้คนทั้งโลกได้ลิ้มรส

“หลังเรียนจบจากชิคาโก ทอรี่ก็คุยกับพี่สาวว่า ถ้าย้ายกลับเมืองไทย เราจะมาเปิดร้านไอศกรีมกัน ตอนนั้นก็คิดกันแบบตลก ๆ ครับว่า ภูเก็ตร้อน งั้นเรามาขายไอศกรีมกันดีกว่า”

การจะขายไอศกรีมดับร้อน ฟังดูเหมือนคำหยอกล้อกันเล่นระหว่างน้องชายกับพี่สาว แต่เมื่อพูดไปแล้ว ทอรี่ก็ยึดถือความคิดดังกล่าวเป็นจริงเป็นจัง โดยก่อนที่เขาจะย้ายกลับภูเก็ต ทอรี่เลือกเรียนที่ Penn State Berkey Creamery ณ Penn State University สถาบันผู้ผลิตไอศกรีมเก่าแก่ที่สุดในสหรัฐฯ พร้อมกับบินไปดูและเรียนรู้วิธีทำเจลาโตถึงแหล่งกำเนิดอย่างอิตาลีด้วย

รสภูเก็ต

วัฒนธรรมเก่าของเมืองภูเก็ตเรียกว่า ‘บ้าบ๋า’ เป็นจุดบรรจบที่ลงตัวระหว่างกระแสวัฒนธรรมจีนของผู้อพยพที่หลั่งไหลเข้ามาเมื่อ 100 กว่าปีก่อน ผสมผสานกับวัฒนธรรมของคนท้องถิ่นเดิมแถบแหลมมลายู นอกจากนี้ การเป็นเกาะกลางทะเลอันดามันยังนำพาฝรั่งต่างชาติให้เดินทางมาเยือนด้วย ทุกชนชาติต่างเป็นผู้ให้และผู้รับวัฒนธรรมของกันและกัน จนได้วัฒนธรรมลูกผสมที่แทรกซึมอยู่ทั้งในศิลปะ ภาษา เสื้อผ้า การใช้ชีวิต รวมไปถึงอาหารการกินทั้งหลายแหล่

จะเห็นได้ว่าชื่ออาหารและรูปแบบการทำหลายอย่างของภูเก็ตได้รับมาจากชนชาติจีน โดยเฉพาะกลุ่มจีนฮกเกี้ยนซึ่งเป็นจีนกลุ่มใหญ่ที่สุด เป็นต้นตระกูลคนภูเก็ตส่วนใหญ่ในปัจจุบัน

Torry’s Ice Cream ร้านไอศกรีมที่ตั้งใจส่งมอบรสชาติขนมพื้นบ้านภูเก็ตให้คนทั้งโลกได้ลิ้มรส

“ภูเก็ตเรามีความผสมผสานระหว่างจีนกับตะวันตกมากนะครับ ทุกบ้านมีวัฒนธรรมการดื่มชายามบ่าย (Afternoon Tea) หลังทานข้าวเที่ยงเสร็จ พอเวลาประมาณบ่าย 2 – 3 เราจะซื้อขนมพื้นเมืองมาตั้งที่โต๊ะ ชงน้ำชา แล้วทานขนมพื้นเมืองพวกนี้” ลูกหลานชาวภูเก็ตพูดภาษาฝรั่งชัดแจ๋ว สมที่ได้ไปเรียนอยู่เมืองนอกมานานปี

“อย่างเมนูนี้ชื่อจะฟังดูทะลึ่งนิดหนึ่ง เรียกว่า ‘บี๊โก่หมอย’ บี๊โก่ แปลว่า ข้าวเหนียวดำ ส่วน หมอย แปลว่า ต้ม ก็คือข้าวเหนียวดำต้ม เหมือนข้าวเหนียวเปียกดำในภาคกลาง คุณแม่ทอรี่ทำทุกเช้าครับ”

Torry’s Ice Cream ร้านไอศกรีมที่ตั้งใจส่งมอบรสชาติขนมพื้นบ้านภูเก็ตให้คนทั้งโลกได้ลิ้มรส

แม้ได้ตักตวงความรู้จากต่างแดนมาเต็มที่ แต่ทอรี่ก็ไม่เคยลืมเทือกเถาชาวภูเก็ตในตัวตน เขาระลึกอยู่เสมอว่าเกาะนี้เต็มไปด้วยขนมหวาน อาหารพื้นบ้านพื้นเมืองอันเป็นเอกลักษณ์ หากจะเปิดร้านไอศกรีมเป็นของตัวเอง เขาต้องใส่ความเป็นภูเก็ตไว้ในเมนูที่ทำด้วย

“คอนเซปต์หลัก ๆ คือเราพยายามเอาขนมพื้นเมืองภูเก็ตที่คนรุ่นเราไม่ทานกันแล้วกลับมาทำให้มีชีวิตอีกครั้งผ่านการเล่าเรื่อง ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ขนมพื้นเมืองพวกนี้ทานง่ายขึ้น เข้าได้ในทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่ารุ่นพ่อแม่ รุ่นเรา หรือรุ่นที่เด็กกว่าเรา คนทุกรุ่นจะกินได้ และรสชาติออริจินัลก็จะยังคงอยู่”

Torry’s Ice Cream ร้านไอศกรีมที่ตั้งใจส่งมอบรสชาติขนมพื้นบ้านภูเก็ตให้คนทั้งโลกได้ลิ้มรส

ในการสร้างแบรนด์ Torry’s Ice Cream ทอรี่ประยุกต์เอาขนมพื้นเมืองแต่ละเมนูไว้ในไอศกรีมของร้าน ทำให้ลูกค้าที่มาลิ้มรสได้เห็นไอศกรีมที่มีหน้าตาและรสชาติแปลกไปจากทุกร้าน แทนที่จะมีแค่รสวานิลลา ช็อกโกแลต มะนาว ส้ม ฯลฯ เมนูแนะนำประจำร้านนี้มีทั้งไอศกรีมบีโกหมอย ไอศกรีมโอ้เอ๋ว เป็นต้น

“ในประวัติร้านฉบับภาษาอังกฤษมีเขียนไว้เลยนะครับว่า ‘Torry is trying to bring local snacks back to life by retelling stories through heritage’ ” 

ขายประสบการณ์พร้อมความสุข

ทอรี่เริ่มพัฒนาแบรนด์ขึ้นมาครั้งแรกช่วงปี 2015 ระยะแรกยังไม่มีหน้าร้าน เมื่อจะทดลองขายครั้งแรกก็ย่างเข้าเดือนตุลาคม ประจวบกับช่วงเทศกาลถือศีลกินผัก อันเป็นงานใหญ่ประจำปีของจังหวัดภูเก็ต ตลอดเทศกาลนี้ คนทั้งเมืองต่างพร้อมใจกันนุ่งขาวห่มขาว รักษากายใจให้บริสุทธิ์ด้วยการงดเว้นอาหารคาวและเบียดเบียนชีวิตสัตว์ทุกชนิด

“ตอนนั้นทอรี่ทดลองขายครั้งแรก ทำเป็นไอศกรีมเจและ Plant-based ทั้งหมด มีประมาณ 30 รสชาติ แต่สมัยก่อนคนยังไม่พูดคำว่า Plant-based กันหรอกครับ เขาก็พูดกันแค่เป็น Vegan Ice Cream ทอรี่ทำทั้ง Based กะทิ Based นมอัลมอนด์ นมถั่วเหลือง ฯลฯ คอนเซปต์หลักนอกจากการทำขนมพื้นเมือง คือเราไม่ใส่สี ไม่ใส่กลิ่นในไอศกรีม ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะเราต้องการสอนคนว่า Premium Homemade Ice Cream คืออะไร และรสชาติผลไม้จริง ๆ ควรเป็นยังไง”

Torry’s Ice Cream ร้านไอศกรีมที่ตั้งใจส่งมอบรสชาติขนมพื้นบ้านภูเก็ตให้คนทั้งโลกได้ลิ้มรส

ทอรี่ทดลองขายไอศกรีมในรูปแบบส่งขายและบริการเสิร์ฟอาหารนอกสถานที่เป็นเวลานานกว่า 1 ปี ทั้งจัดโต๊ะในงานแต่งงาน งานวันเกิด รวมถึงทำโรดโชว์ประจำแบรนด์ตนเอง งานอีเวนต์ที่สำคัญในจังหวัดทุกงานต้องมี Torry’s Ice Cream ไปร่วมด้วยเสมอ ถึงแม้ว่าภายหลัง ทอรี่จะรวบรวมเงินทุนเช่าที่ทำร้านเป็นหลักแหล่งได้แล้ว แต่บริการส่งไอศกรีมนอกสถานที่ก็ยังคงทำสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

“ทอรี่พูดเสมอเลยครับ ว่า We are not selling just an Ice cream, We are selling local experience and happiness นั่นคือเราไม่ได้ขายแค่ไอศกรีม แต่เราขายประสบการณ์ความเป็นพื้นเมืองภูเก็ตและความสุขไปด้วย มันคืออะไร เดี๋ยวมาอธิบายกันต่อนะครับ”

Torry’s Ice Cream ร้านไอศกรีมที่ตั้งใจส่งมอบรสชาติขนมพื้นบ้านภูเก็ตให้คนทั้งโลกได้ลิ้มรส

ท้องถิ่น-อินเตอร์

สิ่งที่อยู่บนโต๊ะตรงหน้าทอรี่ขณะนี้ คือกล่องใส่ไอศกรีมสำหรับซื้อกลับบ้านหรือนำไปส่งให้ลูกค้า ด้วยโทนสีและลายเส้นของรูปวาดที่ฉายชัดอยู่บนภาชนะอันงดงามเลอค่า ลวงตาให้ใครต่อใครพากันเข้าใจผิดว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ชั้นนำจากอังกฤษหรือฝรั่งเศส ทั้งที่เป็นแบรนด์ท้องถิ่นของคนภูเก็ตนี่เอง

“Thai don’t support Thai” อดีตนักเรียนนอกพูดยิ้ม ๆ

Torry’s Ice Cream ร้านไอศกรีมที่ตั้งใจส่งมอบรสชาติขนมพื้นบ้านภูเก็ตให้คนทั้งโลกได้ลิ้มรส

“มองภาพรวมแล้วเหมือนยุโรปใช่มั้ยครับ แต่ว่าถ้าดูรายละเอียดแล้ว มันคือภูเก็ตทั้งหมด เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าภาพลักษณ์อะไรที่เป็นไทยจนเกินไป คนไทยจะไม่ชอบ โจทย์ที่เกิดขึ้นคือต้องทำยังไงก็ได้ให้แบรนด์ดูอินเตอร์ที่สุด แต่ในความอินเตอร์ก็ต้องมีความเป็นอารยธรรมภูเก็ตให้มากที่สุด เลยออกมาเป็นภาพรวมแบบที่เห็นครับ”

ครั้นได้ฟังเจ้าของร้านพูดเองอย่างนี้ สายตาที่จับจ้องไปยังภาพเขียนก็ต้องเพ่งมองด้วยความพินิจพิจารณามากขึ้น จึงพบว่ารายละเอียดภายในภาพทุกภาพสะท้อนวัฒนธรรมบ้าบ๋าภูเก็ตทั้งสิ้น

รูปวาดเหล่านี้มีรูปสัตว์ทั้งหมด 5 ตัว แต่ละตัวสวมใส่เสื้อผ้า มีพฤติกรรมเหมือนกับมนุษย์ ทอรี่กล่าวว่าสัตว์แต่ละตัวไม่ใช่แค่วาดออกมาให้สวยงาม หากมีความหมายแฝงเป็นสัญลักษณ์แทนคนในครอบครัวและคนที่เปรียบเสมือนครอบครัวของทอรี่ทั้งสิ้น

Torry’s Ice Cream ร้านไอศกรีมที่ตั้งใจส่งมอบรสชาติขนมพื้นบ้านภูเก็ตให้คนทั้งโลกได้ลิ้มรส

เริ่มจากตัวละครตัวแรก คือแพะ แต่งชุดสากล ถือหนังสือ แบกกระเป๋า หันหลังให้กับลูกโลกและเรือ เป็นตัวแทนของทอรี่ที่ออกเดินทางเผชิญโลกกว้าง แต่ในภาพก็ยังแฝงสิ่งของที่ฟ้องถึงรากเหง้าความเป็นเด็กภูเก็ต คือโถเปอรานากันและเข็มกลัดรูปดาวที่เรียกว่า ‘ปิ่นตั้ง’

ตัวละครตัวที่ 2 คือจระเข้ สวมชุดนายเหมืองแบบสุภาพบุรุษชาวภูเก็ตยุคเก่า ถือไอศกรีมยืนอยู่หน้าร้าน เป็นตัวแทนของคุณพ่อซึ่งเกิดในตระกูลเค้ แปลว่า จระเข้ ซึ่งมีอีกความหมายหนึ่ง คือ เปิดออก จึงยืนกินไอศกรีมรับแขกอยู่หน้าร้านที่เปิดรับลูกค้า

ตัวละครตัวที่ 3 คือนก ใส่ชุดครุยยาว ‘ปั่วตึ่งเต้’ มงกุฎดอกไม้ไหว สวมเครื่องประดับ ‘กรอสัง’ แบบเจ้าสาวชาวภูเก็ต เป็นตัวแทนของพี่สาวของทอรี่ผู้รักสันโดษและหลงใหลในวัฒนธรรมบ้าบ๋าภูเก็ต บนโต๊ะข้าง ๆ นกยังมีชุดขนมพื้นเมืองที่ใช้รับประทานพร้อมกับชายามบ่าย และมี ‘เสี่ยหนา’ หรือปิ่นโตลงรักโบราณที่วางอยู่กับพื้นด้วย

ตัวละครตัวที่ 4 คือแมว สวมใส่ชุดย่าหยา กำลังนวดแป้งทำขนมอยู่บนโต๊ะ หมายถึงคุณแม่ของทอรี่ เพราะท่านมีชื่อเล่นว่า แมว สิ่งที่ทำอยู่บนโต๊ะคือบีโกหมอยที่ทำเป็นประจำทุก ๆ เช้า

และตัวละครตัวสุดท้าย คือกุ้งมังกรภูเก็ต (Phuket Lobster) ซึ่งกระดองมี 7 สี ใช้สื่อถึงพนักงานในร้าน Torry’s ซึ่งมาจากทุกถิ่นทุกทิศ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนหลักขององค์กร

นอกเหนือจากภาพวาดบนภาชนะและบรรจุภัณฑ์ ทอรี่ยังลงทุนจัดทำภาพ Photoshoot ของแบรนด์ให้ดูดีมีสไตล์ ชวนให้คิดถึงภาพถ่ายโฆษณาของแบรนด์ชั้นนำระดับโลกมากกว่าเป็นแค่แบรนด์ไอศกรีมก่อตั้งใหม่ในจังหวัดเล็ก ๆ ของไทย แต่ก็เหมือนเช่นภาพวาดที่เขาได้เล่าไปแล้ว นายแบบและนางแบบทุกคนในภาพต้องสวมใส่เครื่องแต่งกายที่บ่งบอกอัตลักษณ์ของภูเก็ตเสมอ

ย่านเงินย่านทอง

ทอรี่เริ่มสร้างแบรนด์เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ปี 2015 เก็บหอมรอมริบเป็นเวลาเกือบ 1 ปี ก่อนจะได้ที่ตั้งร้านแห่งแรกในซอยรมณีย์ ซึ่งสมัยนั้นเคยเงียบกริบเพราะอดีตที่ไม่สู้น่าจดจำของซอยนี้

“ซอยนี้มันเคยเป็นซ่องเก่าในสมัยก่อน เลยชื่อ ‘รมณีย์’ เหมือนกับแหล่งเริงรมย์ รมณียสถาน อะไรทำนองนั้น คนที่โตมาในภูเก็ตเขาจะถือมากว่าห้ามเดินเข้าซอยนี้ อย่าเดินผ่านซอยนี้ แต่สิ่งที่คนไม่ค่อยจะรู้กันก็คือมันเป็นซ่องแค่ 4 – 5 หลัง นอกนั้นเป็นที่อยู่ พอทอรี่มาเช่าที่ทำร้าน คนก็วิจารณ์กันค่อนข้างเยอะว่าทำไมมาเปิดร้านแรกในชีวิตตัวเองในซ่องเก่า แต่เรารู้ว่าบ้านนี้ที่เรามาเช่าไม่ได้เป็นซ่อง”

Torry’s Ice Cream ร้านไอศกรีมที่ตั้งใจส่งมอบรสชาติขนมพื้นบ้านภูเก็ตให้คนทั้งโลกได้ลิ้มรส

ปี 2016 ที่ทอรี่เริ่มเปิดร้าน พื้นที่ร้านตั้งโต๊ะนั่งได้เพียง 5 โต๊ะ แต่ด้วยชื่อเสียงของ Torry’s Ice Cream ที่ระบือออกไป ทำให้ลูกค้าหลายคนเลือกที่จะต่อคิวรอ บางครั้งยาวเป็น 30 – 40 คิว แต่เมื่อไรที่ตกเย็น ซอยนี้จะแปรสภาพเป็นซอยเปลี่ยวทันใด ไม่มีแม้กระทั่งไฟถนน เหลือแค่ไฟหน้าร้านของเขาที่ยังส่องสว่างจวบจน 3 ทุ่มซึ่งเป็นเวลาปิดร้าน

“เมื่อก่อน 6 โมงเย็นก็มืดสนิทแล้วครับ เงียบเป็นซอยร้างเลย มีเรื่องตลก ๆ ว่า ถ้าทอรี่ยืนอยู่หน้าร้าน เห็นใครเดินเข้าซอยนี้ รู้เลยว่านี่ลูกค้า เพราะมีร้านเราร้านเดียว”

Torry’s Ice Cream ร้านไอศกรีมที่ตั้งใจส่งมอบรสชาติขนมพื้นบ้านภูเก็ตให้คนทั้งโลกได้ลิ้มรส

แต่ในปัจจุบัน ซอยรมณีย์ที่เคยเกือบจะเป็นซอยร้างพลิกสภาพเป็นซอยเล็กที่แลลานตาไปด้วยร้านค้านานาประเภท เป็นจุดเช็กอินหลัก ๆ ในย่านเมืองเก่าที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายภาพบันทึกความทรงจำว่าเขานั้นมาถึงภูเก็ตแล้ว ซึ่งร้านของทอรี่ที่ได้รับการขยายเป็น 2 ห้องเมื่อปี 2017 ก็คือจุดที่ถูกถ่ายภาพมากที่สุด ราวกับเป็นแลนด์มาร์กประจำย่านนี้ไปแล้ว

เรื่องนี้ทอรี่ยังรู้สึกภาคภูมิใจลึก ๆ ที่ร้านไอศกรีมของเขามีส่วนช่วยชะล้างอดีตที่ไม่น่าจดจำไปเสีย

“สิ่งที่ทอรี่ตั้งใจมาก ๆ เลยก็คือจะเปลี่ยนซอยนี้ จากที่คนพูดถึงในแง่ไม่ดี ให้พูดในแง่ดีให้ได้ วันหนึ่งที่ทุกคนผ่านซอยนี้ เขาจะต้องเปลี่ยนคำพูด ปัจจุบันทุกคนพูดถึงว่านี่คือย่านเงินย่านทอง ทุกคนลืมไปแล้วว่าที่นี่เคยมีอะไรครับ”

Torry’s Ice Cream ไอศกรีมโฮมเมดในย่านเมืองเก่า ผู้ประยุกต์สูตรจากขนมโบราณจนลูกค้ายกให้เป็น ‘สิ่งมหัศจรรย์แห่งภูเก็ต’

ดีต่อคน ดีต่อโลก

Torry’s Ice Cream ไม่เพียงเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่นภูเก็ตให้นานาชาติได้รู้จักเท่านั้น อีกสิ่งหนึ่งที่ทอรี่มุ่งผลักดันไม่แพ้กัน คือความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและเพื่อนร่วมโลก

ในส่วนของบรรจุภัณฑ์ เชื่อหรือไม่ว่านอกจากความสวยเตะตาของหีบห่อที่ใช้ส่งไอศกรีม ยังเป็นวัสดุที่รีไซเคิลได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แถมยังออกแบบมาเพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ โดยผู้สั่งซื้อไอศกรีมและขนมพื้นเมืองจะนำไปใส่เข็มเย็บผ้า เก็บเหรียญสะสม เศษเงิน หรือนาฬิกา ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ทอรี่ตั้งใจให้เป็น

Torry’s Ice Cream ไอศกรีมโฮมเมดในย่านเมืองเก่า ผู้ประยุกต์สูตรจากขนมโบราณจนลูกค้ายกให้เป็น ‘สิ่งมหัศจรรย์แห่งภูเก็ต’

ถ้าพูดถึงวัตถุดิบ นม น้ำตาล วิปครีม ทั้งหมดที่ทอรี่ใช้ล้วนเป็นของสดใหม่และออร์แกนิก นมกับวิปครีมส่งตรงมาจาก Dairy Home ที่อำเภอปากช่อง โดยตัววิปครีมนั้นมีความพิเศษมาก เพราะเป็นวิปครีมพาสเจอไรซ์ สดใหม่กว่าวิปครีมที่เห็นทั่วไปซึ่งเป็นแบบ UHT ส่งมาในกล่อง อยู่ได้นานเป็นเดือน

รองมาจากวัตถุดิบหลัก ทอรี่ยังได้ทำงานร่วมกับกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ไทย ด้วยการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ออร์แกนิกของพวกเขามาใช้ในร้าน รวมไปถึงวิสาหกิจชุมชนสับปะรดภูเก็ต ทอรี่ซื้อน้ำสับปะรดที่ผลผลิตล้นตลาดมายืดอายุให้อยู่ได้นานขึ้นด้วยการนำมาทำเป็นรสไอศกรีม นั่นคือเมนู ‘Phuket Pineapple Sorbet’ ซึ่งพิเศษตรงที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำตาลอยู่เลยแม้แต่เปอร์เซ็นต์เดียว ความหวานที่ลูกค้าจะได้รับประทานทั้งหมดมาจากสับปะรดล้วน ๆ 

Torry’s Ice Cream ไอศกรีมโฮมเมดในย่านเมืองเก่า ผู้ประยุกต์สูตรจากขนมโบราณจนลูกค้ายกให้เป็น ‘สิ่งมหัศจรรย์แห่งภูเก็ต’

“ไม่ว่าสับปะรด นมแพะ หรือแม้แต่ช็อกโกแลต เราก็ใช้ของชุมชนที่ปลูกในภูเก็ตครับ นอกจากนี้เรายังร่วมมือกับเชฟท้องถิ่น เพราะอยากสนับสนุนเชฟภูเก็ตอายุน้อยที่มีฝีมือ เราเชิญเขามาทำงานร่วมกัน 

ให้เขาได้สนุกกับการเล่าเรื่องผ่านไอศกรีมในมุมมองของเด็กท้องถิ่นคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ที่โตมากับที่นี่ วัตถุดิบ หรืออะไรก็ตามที่เป็นพื้นเมือง แล้วเล่าเรื่องใหม่ผ่านไอศกรีมครับ”

Torry’s Ice Cream ไอศกรีมโฮมเมดในย่านเมืองเก่า ผู้ประยุกต์สูตรจากขนมโบราณจนลูกค้ายกให้เป็น ‘สิ่งมหัศจรรย์แห่งภูเก็ต’

สิ่งมหัศจรรย์แห่งภูเก็ต

ป้ายหน้าร้านที่ซอยรมณีย์ เดิมเคยเขียนว่า ‘Torry’s Ice Cream’ และคงอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานานครัน ตราบจนวันที่ทอรี่ปรับปรุงแบรนด์ใหม่ เขาจึงนำคำที่ลูกค้าชาวต่างชาติมักพูดด้วยบ่อย ๆ มาใส่ในโลโก้รุ่นใหม่ รวมถึงป้ายหน้าร้านแผ่นนี้ด้วย

“เวลาลูกค้ามาที่ร้าน เขาชอบพูดกับทอรี่ว่า ร้านของยูเหมือนสิ่งมหัศจรรย์ของภูเก็ตเลย หรือไม่ก็ ไม่เคยเห็นร้านไหนอลเวงขนาดนี้มาก่อนเลย พอวันหนึ่งที่ทำ Rebranding ก็รู้สึกว่าต้องเปลี่ยนแล้ว เพราะตอนหลังเราไม่ได้ทำแค่ไอศกรีม เราทำขนมพื้นเมืองด้วย ก็เลยเปลี่ยนเป็น Phuket Wonders ดีกว่า ดูลึกลับดี ไม่รู้ขายอะไร อันนี้มาจากลูกค้านะครับ ไม่ใช่ทอรี่คิดไปเองว่าเราเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของจังหวัดภูเก็ตนะ ฮ่า ๆ”

ผลงานรุ่นใหม่ล่าสุดที่เจ้าของร้าน Torry’s ยินดีนำเสนอให้ได้ชมกันก็คือขนมตุ๊กตา หรือ ‘อากองเปี้ย’ ในภาษาจีนฮกเกี้ยน ที่คนภูเก็ตมักเรียกเพี้ยนเป็น ‘กองอาเปี้ย’ ที่ทางร้านอบขึ้นเอง

“อากอง แปลว่า ตุ๊กตา เปี้ย แปลว่า ขนมอบ ความพิเศษตัวนี้คือน้ำเชื่อมหมักนาน 6 เดือนเพื่อมาทำตัวแป้ง เลยมีความนุ่มและรสชาติซับซ้อน ตัวไส้มี 2 รสครับ มีรสสับปะรดภูเก็ตและรสถั่วแดง ภาษาอังกฤษเรียกว่า Mooncake Biscuit วิธีทำเป็นเทคนิคเดียวกับเวลาทำขนมไหว้พระจันทร์เลยครับ”

ขนมตุ๊กตา ปัจจุบันในภูเก็ตนิยมใช้แม่พิมพ์รูปปลาเพียงอย่างเดียว จึงมีอีกชื่อว่า ขนมปลา ด้วยเหตุนี้

เพื่อบรรจุขนมพื้นบ้านอย่างขนมตุ๊กตา ทอรี่ได้ออกแบบหีบห่อที่ดูหรู ดูแพงมาใส่ขนมพวกนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากเขาเห็นว่าขนมพื้นบ้านทั่วไปมักใส่ในถุงพลาสติกใสที่ดูธรรมดา นำไปใช้งานต่อไม่ได้ ทั้งที่ขนมพื้นบ้านก็มีดีเหมือนกัน จึงคู่ควรที่จะใส่ในกล่องที่ดูดี สมคุณค่า

“ธีมของร้านนี้ สรุปสั้น ๆ ก็คือ Tasting heritage, Treasuring memory คือได้ลิ้มลองอารยธรรม วัฒนธรรม ความเป็นภูเก็ต เราให้ค่ากับความทรงจำแก่คนที่มา นอกจากได้ลิ้มรสชาติความเป็นภูเก็ตแล้ว ยังได้ความทรงจำดี ๆ เหมือนขุมทรัพย์กลับไปด้วย”

Torry’s Ice Cream ไอศกรีมโฮมเมดในย่านเมืองเก่า ผู้ประยุกต์สูตรจากขนมโบราณจนลูกค้ายกให้เป็น ‘สิ่งมหัศจรรย์แห่งภูเก็ต’

หลายปีที่ทอรี่พัฒนาแบรนด์ไอศกรีมควบคู่ขนมพื้นบ้าน เขาได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีหลายอย่าง เป็นต้นว่าความรับรู้เรื่องขนมภูเก็ตในหมู่ชาวต่างชาติ จากที่หลายปีก่อน นักท่องเที่ยวจากเมืองไกลมาที่ร้านแล้วไม่กล้าสั่งอะไรนอกจากวานิลลาหรือซันเดสักก้อน ทุกวันนี้ชาวต่างชาติร้อยละ 99 ไม่ต้องเปิดเมนูก็สั่งได้ทันทีว่า “ไออยากได้บีโกหมอย (Bicomoi)” เสมือนว่าทุกคนทำการบ้านกันมาก่อนว่าสิ่งเหล่านี้คือเมนูเด็ดประจำร้าน ผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันให้ขนมพื้นบ้านพื้นเมืองภูเก็ตเป็นที่รู้จักจึงตื้นตันใจเป็นที่สุด

Torry’s Ice Cream ไอศกรีมโฮมเมดในย่านเมืองเก่า ผู้ประยุกต์สูตรจากขนมโบราณจนลูกค้ายกให้เป็น ‘สิ่งมหัศจรรย์แห่งภูเก็ต’

ด้วยความสำเร็จอย่างยิ่งยวดของ Torry’s Ice Cream ในการประชุมของ Louis Vuitton Asia ทอรี่ยังได้รับเกียรติให้ขึ้นบรรยายเรื่องการสร้างแบรนด์ของเขา และขนมพื้นบ้านในจังหวัดที่เขาเติบโตมาให้ทีมงานของหลุยส์ วิตตอง กว่า 150 ชีวิตจากทุกประเทศในเอเชียและโอเชียเนียได้ฟัง… สิ่งเหล่านี้ถือว่ามาไกลเกินฝันสำหรับทอรี่ เจ้าของร้านไอศกรีมเล็ก ๆ ในต่างจังหวัดที่เพิ่งทำกิจการมาได้ไม่ถึง 10 ปี

Thank you for visiting

our little corner of the world.

May the winds guide you back to us and the tastes & tokens

of our heritage linger in your hearts forever.

ข้อความขอบคุณลูกค้าที่ซุกซ่อนอยู่บนกล่องสินค้าของ Torry’s กล่าวไว้ดังนี้

ขอบคุณที่มาเยี่ยมชมมุมเล็ก ๆ ในโลกใบนี้ ขอให้สายลมได้พัดพวกคุณเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง ขอให้รสชาติและอารยธรรมความเป็นภูเก็ตได้ตราตรึงใจคุณไปตลอดกาล

ทอรี่ทิ้งท้ายกับเราว่า สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเขาไม่ใช่เงินตรา แต่เป็นการทำอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่งที่มีความหมายเพื่อบ้านเกิดของเขา นี่คือสิ่งที่ Torry’s Ice Cream ยึดมั่น ตั้งใจทำ และหวังจะเป็นแสงเล็ก ๆ ที่ร่วมทอประกายไฟฝัน ให้ทุกคนเห็นได้เห็นคุณค่าว่าของพื้นบ้านในประเทศเราต่อยอดไปได้อีกไกล

Torry’s Ice Cream ไอศกรีมโฮมเมดในย่านเมืองเก่า ผู้ประยุกต์สูตรจากขนมโบราณจนลูกค้ายกให้เป็น ‘สิ่งมหัศจรรย์แห่งภูเก็ต’

ภาพ : Torry’s Ice Cream

Lessons Learned

  • ทำทุกอย่างด้วยแพสชัน เพราะสิ่งนี้เป็นเหมือนพลังผลักให้เราขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า
  • อย่าไปตีกรอบทุกอย่างมากจนเกินไป จนทำให้ไม่กล้าลองอะไรใหม่ ๆ
  • เปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา เพราะจะทำให้เราได้นำกลับมาพัฒนาธุรกิจ

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

อธิวัฒน์ สุขคุ้ม

เป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ ทำเพจรีวิวชื่อ ‘วาดแสง’ ชอบในการท่องเที่ยว เขา ทะเล ถ่ายภาพ กล้องฟิล์ม แคมปิ้ง รักอิสระ เป็นคนภูเก็ตโดยกำเนิด