ต๋อง-อานนท์ ธิติประเสริฐ เป็นบาริสต้า เป็นเจ้าของร้าน Roast8ry ที่เชียงใหม่ และเป็นคนเอาจริง
2011 คือปีที่ต๋องลงแข่ง World Latte Art Championship ครั้งแรก
2017 คือปีที่เขาได้แชมป์โลกมาครอง หลังลงแข่งรายการเดิมอีก 2 ครั้งในปี 2015 และ 2016
นับจากวันนั้น ต๋องไม่ได้นอนกอดถ้วยแชมป์โลก แต่ลงมือวางแผนถึงเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ คือการพิสูจน์ว่านักทำลาเต้อาร์ตก็ชงกาแฟเก่งไม่แพ้ใคร
เขาใช้เวลา 2 ปีในการเปลี่ยนสาย มุ่งสู่แชมป์ Coffee in Good Spirits คนแรกของไทย ก่อนจบด้วยการเป็นอันดับ 6 ของโลก ส่งให้เขาเป็นคนแรกและคนเดียวที่เข้าสู่รอบ Finalist ระดับโลกได้ถึง 4 ครั้ง
หลังบ่มเพาะประสบการณ์และฝึกปรือฝีมือจนกล้าแกร่ง เขาตัดสินใจแข่งขันบาริสต้าไทยเป็นครั้งแรกในปี 2023
ก่อนขึ้นเวที ต๋องถามตัวเองเสมอว่า เขาคู่ควรที่จะเป็นแชมป์รึเปล่า
คำยืนยันที่เปี่ยมไปด้วยความมั่นใจ พร้อมทักษะที่ใครก็ปฏิเสธไม่ได้ ทำให้เขาคว้าแชมป์บาริสต้าไทยมาครองด้วยคะแนนทิ้งห่าง
ต๋องรู้ว่าตัวเองเก่ง แต่ก็รู้ด้วยว่าเขายังขาดอะไร นั่นเป็นเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้เขาไม่เคยแพ้
นี่คือผลผลิตจากความมุ่งมั่นของชายหนึ่งคนที่เพียงใฝ่ฝันอยากเป็นบาริสต้าที่ดี
Please Enjoy.
Take life one sip at a time.
วันที่ประกาศผลว่า อานนท์ ธิติประเสริฐ ได้แชมป์บาริสต้าไทย ทำไมคุณถึงน้ำตาไหลออกมา
ผมแอบสะใจนิดหนึ่งครับ
เพราะ
คนชอบบอกว่าเราทำลาเต้อาร์ตเป็น แล้วทำกาแฟเป็นรึเปล่า ซึ่งจริง ๆ แล้วผมอาจทำกาแฟได้ดีกว่าคนที่คิดก็ได้ ผมตั้งใจเรื่องกาแฟมาทั้งชีวิต เพียงแค่ลาเต้อาร์ตเป็นสกิลล์ที่โดดเด่นที่สุด
การชนะบาริสต้าก็เป็นเส้นทางที่ยาวนานนะครับ ผมวางแผนไว้ตั้งแต่ปี 2018 หลังได้แชมป์ลาเต้อาร์ตว่าอยากลงแข่งบาริสต้า ผมอยากพิสูจน์ว่าคนทำลาเต้อาร์ตก็ทำกาแฟดี ๆ ได้
แผนของคุณมีอะไรบ้าง
หลังจากได้แชมป์โลกลาเต้อาร์ต ผมมีโอกาสได้ไปชงกาแฟกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ได้ไปชงคู่กับแชมป์โลกบาริสต้าบ้าง แชมป์โลก Brewers บ้าง แชมป์โลกคั่วบ้าง แชมป์โลกใน Coffee in Good Spirits แชมป์โลกในทุก ๆ สาย แล้วผมรู้สึกว่า ทำไมการทำกาแฟของพวกเขากับเราต่างกันมากขนาดนี้
ผมไม่รู้หรอกว่า ณ ตอนนั้น แต่ละส่วนแตกต่างกันยังไง รู้แต่ว่าเขาดูเก่งกว่าผม ก็เลยอยากเรียนรู้ศาสตร์ของการเป็นบาริสต้าเพิ่มเติม เพราะถ้าลาเต้อาร์ตสวยอย่างเดียวแต่กินไม่ได้ก็ไม่ใช่กาแฟ
ทุกครั้งที่ไปโชว์ ผมจะพูดเรื่องนี้ตลอดว่า ก่อนที่เราจะทำลาเต้อาร์ตให้สวย เราต้องทำกาแฟให้อร่อยก่อน ซึ่งการสกัดช็อตที่ดี การสตีมนมที่ดี การเลือกลาเต้อาร์ตให้เหมาะสมกับแก้วแต่ละรูปแบบ เรารู้พอ ๆ กับคนที่เป็นบาริสต้าแล้วในระดับหนึ่ง แต่การจะทำกาแฟให้ออกมาดีมีหลายวิธีและหลายอุปกรณ์มาก
ผมเริ่มไปเป็นกรรมการแข่งขันบาริสต้า ไปลงแข่งงาน Coffee in Good Spirits Championship เข้ารอบระดับโลก หาข้อมูลเมล็ดกาแฟ การทำช็อต ฝึกฝนให้ทักษะการทำกาแฟของเราเหมาะที่จะเป็นแชมป์บาริสต้าได้ กว่าจะได้คอนเซปต์นี้มาผมก็เดินทางไปประเทศคอสตาริกา ปานามา หลาย ๆ ปี เพื่อไปศึกษาโพรเซสที่นู่นให้เข้าใจจริง ๆ ค่อย ๆ เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ เป็นแผนระยะยาว เพราะเราไม่ได้แค่อยากเป็นแชมป์
ผมอยากจะเปลี่ยนอะไรสักอย่างในวงการโดยใช้ความรู้ที่เราสั่งสมมา แล้วอัดให้อยู่ในช่วงเวลาของการแข่งขัน 10 – 15 นาที ให้น้อง ๆ ที่ชอบบาริสต้าหรือลาเต้อาร์ตอยู่แล้วได้เดินต่อ
การแข่งขันปีนี้ที่เพิ่งจบไป คุณอยากเปลี่ยนอะไรในวงการ
อยากเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อกาแฟกลิ่นชัด ๆ แบบ Artificial
เรากินกาแฟ Ferment หลาย ๆ ตัวก็ไม่รู้หรอกว่ามาจากที่ไหน เพราะกลิ่นมันกลบตัวกาแฟไปหมดแล้ว ยิ่งกลิ่นสตรอว์เบอร์รี กลิ่นลิ้นจี่ กลิ่นบลูเบอร์รี ทำให้คนทำกาแฟที่เขาตั้งใจพัฒนาทุกกระบวนการมาตั้งแต่ต้นจริง ๆ ถูกลืมไป
ทุกวันนี้ทุกคนอยากได้กาแฟที่กลิ่นชัด ๆ ผมอยากเปลี่ยนความคิดว่า กาแฟที่กลิ่นชัดมาก ๆ ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นกาแฟที่ดีเสมอไป อยากให้ทุกคนมองคุณภาพจริง ๆ มองแหล่งที่มาของมัน ตั้งแต่สายพันธุ์ การปลูก โพรเซสทั้งหมด มากกว่าที่จะมองว่ากาแฟตัวไหนกลิ่นชัดไม่ชัด เพราะมีเรื่องราวข้างหลังมากมายกว่าจะได้กาแฟดี ๆ ออกมา 1 แก้ว
เล่าถึงที่มาที่ไปของคอนเซปต์การแข่งขันรอบสุดท้ายให้ฟังหน่อย
ผมได้มาจากตอนที่ไป Cupping กับคนในวงการระดับโลก
เวลาทุกคน Cupping เขาจะมองแก้วคล้าย ๆ กัน คือเลือกตัวที่คุณภาพสูงสุด แล้วทุกครั้งที่เลือกก็จะพูดเรื่องความหวานอย่างเดียว เลยเป็นที่มาให้ผมฉุกคิดว่าสิ่งหนึ่งที่กาแฟคุณภาพสูงมีเหมือนกันหมดคือความหวาน แต่ไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้เลย ทุกคนพูดถึงยีสต์ วิธีการหมัก รสชาติที่ได้จากการโพรเซส ลืมไปว่ากาแฟคือผลไม้ชนิดหนึ่ง สิ่งสำคัญที่สุดคือความหวานที่อยู่ในผลไม้แต่ละตัว
พอได้คอนเซปต์ว่าอยากพูดเรื่องความหวาน ก็แตกออกมาเป็น 3 คอร์สให้เชื่อมโยงกัน มาจากการเบรกคาร์โบไฮเดรตในตัวกาแฟออกมาเป็นน้ำตาล 3 ชนิด แต่ละตัวทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งมีผลกับเท็กซ์เจอร์ ความบาลานซ์ รวมไปถึงรสชาติด้วย
แต่ผลคะแนนรอบแรกคุณไม่ค่อยดีเท่าไหร่ รู้ตัวไหมว่าทำผิดพลาดอะไรไป
เรารู้อยู่แล้วว่าหลังจากที่ทำเสร็จ ตอนประกาศผลก็เสียวนะ กลัวหล่น Top 10 ด้วยซ้ำ พอรอบชิงเราก็ไม่พลาดเหมือนเดิม เก็บกลับมาครบทั้งหมด เป็นความสะใจส่วนตัวที่เราเห็นความผิดพลาดแล้วแก้ไขได้
โมเมนต์ที่น้ำตาไหลคือมันย้อนหลาย ๆ เรื่องกลับมา เวลาคือเหตุผลส่วนใหญ่ที่ทำให้ผมไม่ได้แชมป์โลก
ตอนแข่ง Coffee in Good Spirits คือเลยไป 19 วินาที ตอนแข่งลาเต้อาร์ตปี 2015 เลยไปนาทีกว่า แต่แข่งบาริสต้ารอบนี้ผมใช้เวลาไป 14.58 นาที มันสะใจตรงที่เราเอาชนะข้อด้อยของตัวเองจนกลายเป็นจุดแข็ง ทั้งเรื่องเวลาและเทคนิค
ผมแข่งรายการในประเทศไทยมาทั้งหมด 6 ครั้ง ลาเต้อาร์ต 3 ครั้ง Coffee in Good Spirits 2 ครั้ง บาริสต้า 1 ครั้ง ทุกครั้งที่แข่ง ผมไม่เคยแพ้
แต่ผมไม่ได้คิดว่าจะต้องชนะตลอด ผมแค่คิดว่าอยากทำให้ได้เหมือนตอนซ้อมโดยไม่มีข้อผิดพลาด แล้วก็ขอให้คนเก่งที่สุดชนะ ถ้าเราเต็มที่แล้วสุดท้ายยังแพ้ แสดงว่าคนที่ชนะเขาเหมาะสมที่จะเป็นตัวแทนประเทศ
ผมแข่งเพื่อให้รู้ว่าเราอยู่ตรงไหน ยังมีอะไรที่พัฒนาได้อีกรึเปล่า ผมอยากเป็นบาริสต้าที่ดีขึ้นทุกวัน ในทุก ๆ เรื่อง แล้วก็ไม่มีวันที่เราจะได้คะแนนเต็มหรอก ต่อให้เป็นแชมป์ก็ตาม
กดดันไหมที่ต้องลงแข่งในฐานะแชมป์ที่ชนะมาตลอด
เล็กน้อยครับ แค่คิดว่าต้องทำให้ดีที่สุด
เราทำกาแฟทุกวันก็เหมือนการฝึกซ้อม ให้ลูกค้าได้สิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้ด้วยสกิลล์ที่เรามี ณ เวลานั้น แล้วก็ค่อย ๆ พัฒนาสกิลล์ในแต่ละด้านไปเรื่อย ๆ เป็นโบนัสของลูกค้า เป็นโบนัสของร้าน
คนแรกที่ ต๋อง อานนท์ ขอบคุณ หลังได้แชมป์บาริสต้าไทยคือใคร
โค้ชครับ ขอบคุณที่ทำให้ผมอยากเป็นบาริสต้าที่ดี
หลาย ๆ เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ คือไม่ต้องบอกก็ได้ ผมนับถือในทุก ๆ อย่าง ทุก ๆ เรื่องที่เขาทำ ช่วยสร้างลักษณะนิสัยที่ดีให้ผมไปด้วย เราอยู่ด้วยกัน 6 วันเอง แต่ที่ซ้อมมาคือเกือบ 2 เดือน แต่ 6 วันนั้นทำให้ผมเปลี่ยนความคิดการทำกาแฟไปเยอะมาก ทำให้รู้ว่าความสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญ
ผมขายได้วันละ 700 – 800 แก้ว แต่ทุกแก้วคือดีที่สุดของกาแฟตัวนี้แล้ว รสชาติคงที่ ผมสะใจที่เข้าใจมัน ควบคุมมันได้ สะใจที่เราก้าวไปอีกขั้นหนึ่งของการเป็นบาริสต้าที่ดี เหมือนได้เข้าสู่การเป็นแชมป์โลก
ยังไง
ทุกอย่างที่เขาทำกับผมทำคล้ายกันประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ทั้งทัศนคติ วิธีแข่ง รูปแบบการซ้อม หรือความคิดเกี่ยวกับกาแฟ
เขาชอบถามตัวเองก่อนแข่งว่า เราเหมาะสมที่จะเป็นแชมป์โลกรึเปล่า ซึ่งผมก็ถามตัวเองตลอดเหมือนกัน แล้วผมถามมากที่สุดก็คือตอนแข่งบาริสต้าไทยนี่แหละที่ผมรู้สึกว่า เราเข้าใจกาแฟจริง ๆ เข้าใจการสกัดช็อตกาแฟจริง ๆ
มีคนทำกาแฟเก่งกว่าผมเยอะแน่นอน เพียงแต่มันคือความมั่นใจที่ผมสั่งสมมาจากประสบการณ์ จากความพยายาม ในทุก ๆ สกิลล์ของบาริสต้า ตั้งแต่กาแฟนมจนถึงการสกัดเอสเปรสโซ่ เป็นความคิดที่เชื่อว่าเราสมควรได้รับจริง ๆ
นอกจากความรู้ความสามารถ คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ ต๋อง อานนท์ มี แล้วบาริสต้าคนอื่นไม่มี
หลัก ๆ น่าจะเป็นความสนุกในการทำกาแฟ กับนิสัยชอบเรียนรู้เฉพาะตัวครับ
ทุกคนมีความสามารถและทักษะที่ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว และผมเชื่อว่าบาริสต้าคนอื่น ๆ ก็มีหลาย ๆ อย่างที่เก่งกว่าผมแน่ ๆ แต่ผมโชคดีที่ทำอาชีพนี้มานาน มีประสบการณ์ในหลาย ๆ สายการแข่ง มีความพยายาม และเปิดใจในการเรียนรู้สิ่งใหม่เกี่ยวกับกาแฟ ไม่ว่าจากใครก็ตาม เพื่อมาพัฒนาตัวเอง บวกกับตำแหน่งและชื่อเสียงที่ค่อย ๆ สะสมมายาวนาน ทำให้มีโอกาสได้เจอคนเก่ง ๆ มากกว่าคนอื่น
ผมมีความสามารถที่ทุกคนรอบข้างเชื่อมั่นว่าต้องทำได้ดี แต่ก็อ่อนน้อมพอที่ทุกคนกล้าจะติ กล้าจะพูด แนะนำผมได้ เหมือนผมสร้างบรรยากาศไร้อีโก้ที่ทุกคนพร้อมจะสอนผมตลอดเวลาแบบไม่เกรงใจ โดยไม่ได้คิดว่าผมเป็นแชมป์โลก
เช่น ตอนที่ผมขอให้โค้ชที่เป็นแชมป์บาริสต้ามาเลเซีย ช่วยสอนการสตีมนมให้ เขาก็บอกว่า เห้ย จะมาสอนอะไรแชมป์โลกลาเต้อาร์ต แต่เราคิดว่าเขาสตีมกับเครื่องนี้ได้ดีกว่าเรา ก็พูดตรง ๆ ให้เขาสอนให้ แม้แต่คนไม่กินกาแฟมาดูผมซ้อม เขาก็กล้าจะแนะนำผมเลยครับ (หัวเราะ)
Instant human, Just add coffee
คุณเป็นคนมั่นใจในตัวเองมาตั้งแต่ก่อนเจอกาแฟไหม
เป็นตั้งแต่เด็กแล้วครับ เมื่อก่อนได้ที่ 1 เยอะ ตอนเด็ก ๆ สมองดี เป็นตัวแทนจังหวัด เป็นตัวแทนคณิตศาสตร์ ตัวแทนภาษาไทย ตัวแทนวาดรูป ตัวแทนเล่นดนตรี ทุกสายคนละอย่างกันเลย มีอย่างเดียวที่ผมโง่มาจนถึงปี 4 คือภาษาอังกฤษ ช่วงนั้นเข้าไปฝึกในห้องสมุดประมาณ 3 เดือนก่อนไปออสเตรเลีย ก็ไปแข่งรายการของมหาลัยจนได้แชมป์
ในชีวิตของผม ถ้าอยากทำอะไร ผมจะทำให้ดีที่สุด จะค่อย ๆ เก็บมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมั่นใจว่าเราทำได้ดีแล้วถึงจะไปลงแข่ง
เพราะอะไรถึงทำให้เป็นเด็กแบบนั้น
ผมชอบเล่นเกมครับ พวก RPG เป็นสิ่งที่สร้างนิสัยอดทนให้ผม เพราะเกมจะค่อย ๆ เก็บเลเวล แล้วเก็บเลเวลซ้ำ ๆ ในจุดเดิมได้เรื่อย ๆ ถ้าชอบเกมนั้นก็จะไม่เบื่อเลย
กาแฟก็เหมือนเกมหนึ่งที่ผมเล่น แค่เป็นเกมที่ยาวนาน และผมก็ค่อย ๆ เก็บเลเวลมาเรื่อย ๆ
เป็นคนชอบเอาชนะไหม
ชอบเอาชนะอยู่นะ ที่อยากเรียนรู้เรื่องพวกนี้ ผมว่าลึก ๆ ในใจคงคิดด้วยแหละว่า เดี๋ยวกูทำให้พวกมึงดู เพียงแต่ออกมาในรูปแบบของความถ่อมตัว (หัวเราะ)
ข้างในคือ เรารู้ว่าเราเก่ง แต่ข้างนอกคือทุกคนพร้อมที่จะสอนผม เขารู้ว่าผมต้องรับแน่ ๆ เพราะเราไม่ได้มีอีโก้อะไรเลย นี่เป็นอีกอย่างที่ผมมีมาตั้งแต่เด็ก ผมฟัง ทำตาม แล้วก็คิดต่อให้เจ๋งขึ้นได้ด้วย
ถ้าอานนท์ลงแข่ง เขาก็อยากให้อานนท์เข้ารอบ อยากให้อานนท์ไปได้ไกล ทุกคนพร้อมให้ผมชนะ บวกกับความตั้งใจและทักษะที่ผมมีอยู่จริง ๆ ด้วย
ทำไมยังต้องคอยพิสูจน์ตัวเองเรื่อย ๆ ในเมื่อได้แชมป์มาโดยตลอด
ถ้าคนจะดูถูกก็หาช่องได้เสมอ แต่เขาไม่น่าจะพูดกันแล้ว เพราะเดี๋ยวยิ่งพูด ผมก็จะไปลงแข่งเรื่อย ๆ (หัวเราะ)
ความจริงผมอยากพิสูจน์แค่เรื่องที่ตัวเองชอบ อย่างที่บอกว่าไม่ได้แข่งเพราะอยากชนะ แต่แข่งเพราะอยากพัฒนา พอเราเริ่มเรียนรู้สกิลล์บาริสต้า ทำให้เราเข้าใจแล้วว่าทำไมคนนี้ถึงเก่งกว่าเรา แล้วก็รู้ด้วยว่าเขาทำเพราะว่าเข้าใจจริง ๆ ไม่ลอกคนอื่นมา
แปลกมากเลยนะ กับแค่ไม่กี่สิบวินาที ทำให้รู้เลยว่าใครเป็นบาริสต้าที่ดีหรือเป็นแค่คนที่จำเขามา
แต่การที่คนไทยหลายคนจะยอมรับว่าตัวเองเป็นคนเก่งเป็นเรื่องยาก เพราะถูกสอนมาให้ถ่อมตัว และไม่ค่อยใจดีกับตัวเองเท่าไหร่
จริง ๆ คนไทยมี 2 ขั้วในตัวคนเดียว นี่เป็นสาเหตุที่ผมเป็นแชมป์โลกไม่ได้สักที เพราะผมถ่อมตัวเกิน
จากความผิดพลาดตอนที่ได้ที่ 6 ได้ที่ 5 ได้ที่ 10 หรือ 11 ทำให้เรารู้ว่าลักษณะเฉพาะตัวสำคัญ ถ้าอยากเป็นแชมป์โลก ไม่ใช่แค่ Finalist ต้องมีความมั่นใจว่าเราไปได้ เราทำได้ ผมเป็นคนแรกและคนเดียวในไทยจนถึงตอนนี้ที่เคยเข้า Finalist โลก 4 รอบ และได้แชมป์โลกมาในปี 2017
ตอนนั้นถ้ามีใครถาม ผมก็บอกว่า I’m gonna win the world champ for sure this time. พอพูดแบบนั้น ผมก็จะได้จริง ๆ จากการที่รู้อยู่แล้วว่าเราสร้างเทคนิคใหม่ที่เปลี่ยนโลกลาเต้อาร์ตได้ขนาดนี้ก็ต้องได้แชมป์แล้วแหละ เราไม่ควรถ่อมตัวมากจนเกินไป เพราะคนอื่นจะไม่คิดว่าเราสมควรได้
ผมสร้างบรรยากาศให้คนรู้สึกว่า พวกเราสู้มันไม่ได้หรอก ไม่ว่าจะเป็นการแข่งสายไหนก็ตาม เราไปด้วยความพร้อมและความมั่นใจ แต่เราก็พร้อมที่จะช่วยทุกคนด้วย
อีกขั้วที่ย้อนแย้งคือคิดว่าตัวเองเก่งกว่าคนอื่นเสมอ บางคนมีความมั่นใจที่ล้นไปเลย พอได้เป็นแชมป์ก็โดนกลืนหายไป เพราะเขามั่นใจว่าเจ๋งสุดอยู่แล้ว ไม่ได้พัฒนาอะไรต่อ
คุณเคยไปถึงจุดที่คิดว่าตัวเองเจ๋งสุดไหม
เคยเยอะเลยครับ
ตอนที่ผมกลับจากออสเตรเลียใหม่ ๆ ผมว่าผมเก่งสุดในประเทศไทย กูทำกาแฟมาวันละพันแก้ว แข่งลาเต้อาร์ตได้ที่ 3 เมืองไทยไม่รู้จัก Flat White ไม่รู้จัก Single Origin จะเก่งกว่ากูได้ยังไงวะ แต่เรากลับมาแพ้ ตอนนั้นคิดว่าเขาไม่เข้าใจการแข่งระดับโลก แต่พอผ่านมาถึงจุดหนึ่ง ผมเข้าใจเลยว่า ถ้าเราเก่งจริง ๆ ไม่ว่ารายการไหนก็ต้องชนะได้
ฉะนั้น ทุกครั้งที่แพ้ แทนที่จะไปมองคนอื่น เราต้องมองย้อนมาดูตัวเองก่อนว่าทำเต็มที่รึยัง เราเก่งแบบที่เราคิดรึเปล่า หรือการแพ้หลายรอบเป็นเพราะเราไม่เก่งจริง ๆ มันมีคนเก่งกว่าเสมอ
แล้วกาแฟก็ไม่ใช่ทุกอย่างของโลกนี้ ผมเป็นแชมป์โลกลาเต้อาร์ตไม่ได้หมายความว่าแชมป์โลก Formula One จะเก่งน้อยกว่าผม ไม่ได้หมายความว่าผมเจ๋งที่สุด ผมพร้อมที่จะรับความคิดเห็นของทุกคน
แต่ในอีกทางหนึ่งก็รู้สึกว่า ชีวิตเรานี่ดีเกือบสุดแล้ว แต่ผมก็มีความมั่นใจว่าเราก็แพ้ใครคนหนึ่งอยู่ตลอดเหมือนกัน
ผมผ่านประสบการณ์มาเยอะ บางทีอารมณ์ไม่ดีหรือทำกาแฟห่วย ๆ ลูกค้าก็ผิดหวังกับกาแฟที่ร้าน ซึ่งเราไม่มีวันรู้เลยว่าไอ้แก้วที่เราช่างแม่ง อาจเป็นแก้วที่เขาคาดหวังที่สุดในชีวิตการกินกาแฟ
คิดว่าต๋องในวัยนี้หาตรงกลางให้กับ 2 ขั้วนี้ได้รึยัง
ผมว่าเพราะบาลานซ์ได้เนี่ยแหละ เราเลยได้แชมป์โลก
บางคนชนะแล้วอาจจะลืมบริษัทเก่าไปเลย แต่ผมไม่เคยเป็นอย่างงั้นเลยครับ เพราะผมทำมาตั้งแต่ล้างจาน ผมเคยลำบาก ไม่มีเงินสักบาท พอมามีเงิน 100 ล้านก็กลับมาโดนโกงจนเหลือ 1,700 บาท ชีวิตผมขึ้นสุดลงสุด ก็เลยเข้าใจว่าไม่มีใครเจ๋งไปตลอดหรอก
ตอนผมอยู่ออสเตรเลีย คนที่เป็นแชมป์โลกเคยบอกกับผมว่า สิ่งที่จะทำให้เราดูดีในสายตาคนอื่นคือการพูดถึงคนอื่นในเรื่องดี ๆ ไม่ได้พูดถึงตัวเองในเรื่องดี ๆ ผมก็จำมาใช้จนกลายเป็นนิสัยไปแล้ว ผมมองแง่ดีของทุก ๆ เรื่อง แล้วเอาตรงนั้นมาปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น เพราะมองแง่ร้ายไปก็ไม่ได้พัฒนาตัวเอง
ถ้ามองย้อนกลับไปในชีวิตตัวเอง ไอ้ที่ว่าเกือบสุดแล้ว ยังขาดอะไรอยู่
โห แชมป์โลกบาริสต้าอยู่แล้วครับ ผมจะพยายามทำให้เต็มที่ เพื่อให้ได้ไปอยู่ตรงนั้น หรืออย่างน้อยอยู่ให้ใกล้ที่สุดก็ยังดี
แต่ผมไม่ค่อยมองไปไกลเท่าไหร่นะ เพราะจะกลายเป็นเลอะเทอะไปหน่อย เหมือนห้องรก ๆ จะจัดทุกอย่างในครั้งเดียวคงทำไม่ได้ เราค่อย ๆ โฟกัสแต่ละเรื่อง ผมเลยแข่งแค่ปีละครั้ง เลือกที่ชอบที่สุด เลือกที่พร้อมที่สุด ณ เวลานั้น
แม้จะไม่ได้คิดไกลขนาดนั้น แต่ถ้าได้แชมป์โลกแล้วจริง ๆ จะมีอะไรที่คุณอยากไปให้ถึงอีก
ถ้าได้แชมป์โลกบาริสต้าก็ไม่น่ามีแล้วนะ มันเหมือนเป็นจุดสูงสุดของบาริสต้า แชมป์โลกบาริสต้ากับแชมป์โลกลาเต้อาร์ตไม่เคยมีใครทำอะไรแบบนั้นได้
แล้วต๋องจะวิ่งตามอะไรต่อไป
เออเนอะ… (หัวเราะ)
ถ้าในเชิงของตำแหน่งอาจจะพอแล้ว ผมคงเอาความรู้ที่ได้กลับมาพัฒนาร้าน เพราะเราไม่ได้อยากจบที่เป็นแชมป์ สำคัญคือเป็นแชมป์แล้วอยากทำอะไรให้วงการมากกว่า และถ้าเบื่อจริง ๆ เดี๋ยวค่อยกลับมาแข่งก็ได้มั้ง (หัวเราะ)
เพราะตอนนี้อินแค่บาริสต้าอย่างเดียว แม้แต่ลาเต้อาร์ตก็ไม่ค่อยได้อินแล้ว แค่รักษามาตรฐานให้เทรูปยาก ๆ ได้
กลัววันที่ตัวเองจะอันดับลดน้อยลงหรือฝีมือแพ้ให้กับกาลเวลาและสมรรถภาพทางร่ายกายไหม
ต้องเป็นอย่างงั้นอยู่แล้ว แค่เตรียมพร้อมไปเรื่อย ๆ มากกว่า ค่อย ๆ เปลี่ยนสายไปเรื่อย ๆ ไม่ได้กลัวว่าจะมีแชมป์ประเทศไทยคนใหม่หรือคนไทยจะเป็นแชมป์โลก ผมยินดีด้วยซ้ำถ้าจะมีใครสร้างชื่อเสียงให้ประเทศอีก อย่างน้อยเราก็เคยไปอยู่ตรงนั้นมาแล้ว ไม่ได้อยากเป็นคนไทยคนเดียวที่เคยไปตรงนั้น
เราชอบกาแฟมากกว่าชอบเป็นที่ 1 ตลอดเวลา ผมไม่ได้อยากเก่งที่สุด ผมแค่อยากทำกาแฟให้ดี
เด็กรุ่นใหม่เขาเก่งกันมาก แทนที่จะตะบี้ตะบันพยายามจะเป็นที่ 1 ของลาเต้อาร์ต สู้ให้เด็กพวกนี้เขาได้เฉิดฉายดีกว่า แล้วเราก็ไปทำอย่างอื่น เพื่อพัฒนาวงการกาแฟของเรา
เหนื่อยบ้างไหมกับการเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ และไม่หยุดพยายาม
อืม ยังเลย ทำมา 16 ปีแล้ว
เพราะอะไรถึงอยู่กับของสิ่งเดียวมาได้เกือบ 20 ปีโดยที่ไม่เบื่อซะก่อน
ผมยังสนุกกับกาแฟ ถ้าทำโดยไม่สนุก แล้วจะมีความหมายอะไร
เหมือนตอนที่ผมล้างจาน ส่งหนังสือพิมพ์ หรือขัดส้วมที่ซิดนีย์ ผมก็สนุกไปกับงานในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มีแต่เราที่เข้าใจ เดี๋ยวมันจะมีอะไรที่เราพัฒนาต่อได้เรื่อย ๆ ผมบาลานซ์ทั้งความสนุกและจริงจังในแต่ละสเตปในแต่ละตัวเลขที่เกิดขึ้นระหว่างการทำกาแฟ
เหมือนเราปีนเขา โคตรเหนื่อย แต่พอถึงยอดแม่งสะใจว่ะ ผมมีความรู้สึกแบบนี้ตลอดเวลา เพราะเป้าหมายของเราคือทำให้ดีที่สุด สนุกที่สุด ส่วนชัยชนะถือเป็นโบนัส
คุณมักถามตัวเองก่อนขึ้นแข่งทุกครั้งว่าดีพอที่จะเป็นแชมป์รึยัง ถ้าให้วิเคราะห์ตัวเองตอนนี้ คิดว่า ต๋อง อานนท์ ดีพอที่จะได้แชมป์โลกรึยัง
ถ้าเอาผมตอนนี้ไปแข่งเลย ประเมินจากประสบการณ์ก็น่าจะอยู่ที่อันดับ 6 – 12 ของโลกครับ
เรามองโลกด้วยความจริง เรารู้อยู่แล้วว่าการแข่งระดับโลกมีกติกายังไง ให้คะแนนยังไง ต้องแก้ปัญหาในแต่ละส่วนที่ยังไม่เพอร์เฟกต์ มีอะไรให้เราปรับปรุงอยู่เสมอ ตอนนี้สิ่งเดียวที่ชัดคือคอนเซปต์
ถ้าเราได้แชมป์โลกบาริสต้าหรือเป็น Top 3 ของโลกขึ้นมาจริง ๆ ก็คงทำให้ทุกคนหันมาสนใจเรื่องคุณภาพของกาแฟมากขึ้น สังเกตบาริสต้ามากขึ้น
ประเมินตัวเองตลอดเวลาไหม
ติดเป็นนิสัยไปแล้วครับ
หลังจากแข่งขันมาอย่างโชกโชน ทุกวันนี้ในฐานะบาริสต้าคนหนึ่ง ชงกาแฟด้วยความรู้สึกแบบไหน
อยากทำให้ดีที่สุดในทุก ๆ แก้ว
ตอนแข่งเรารู้อยู่แล้วว่าทำไมแก้วนี้ได้ 3 ได้ 3.5 ได้ 4 เราอยากให้ได้ 5 ผมก็ชงด้วยความรู้สึกแบบนั้น แต่ไม่ได้ซีเรียสว่าทำไมไม่ได้วะ ก็สนุกไปกับมันตลอด แค่คิดในทุก ๆ แก้วว่าถ้าปรับตรงนี้จะดีขึ้นไหม เพราะอากาศวันนี้เป็นแบบนี้กาแฟเลยออกมาเป็นแบบนี้รึเปล่า ตัวบดใช้ติดต่อกันมากี่ครั้ง คิดตลอดเวลาที่ทำ แล้วก็ทำให้ดีที่สุด
เคยอยากชงกาแฟเฉย ๆ โดยไม่ต้องคิดอะไรไหม
มันกลายเป็นกิจวัตรไปแล้วที่จะลิงก์กาแฟกับทุกอย่าง แต่ไม่ได้เครียดมากว่าจะต้องคิดเรื่องแข่ง ผมก็ใช้ชีวิตไปปกติ
ตอนแข่งลาเต้อาร์ต ซ้อมเสร็จก็ไปเที่ยว แค่จะไม่พัก ทุกวันจะต้องซ้อมให้ได้ ไม่ว่าจะเจ็บป่วย ฝนตกหนัก พายุเข้า หรือมีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิต ผมจะซ้อมให้ได้วันละ 3 รอบ หรืออย่างต่ำ 2 ชั่วโมง
ถามสนุก ๆ ว่าตั้งแต่เข้าวงการกาแฟมา ชงกาแฟไปทั้งหมดกี่แก้ว
โห ผมชงเฉลี่ยวันละ 500 แก้ว ทำมาแล้ว 16 ปี
ทั้งชีวิตก็ประมาณ 3 ล้านแก้วครับ