เข้าสู่ปี 2020 แล้ว อีกประมาณ 6 เดือน อีเวนต์ที่หลายคนเฝ้ารอและตระเตรียมกันมานานกำลังจะเริ่มขึ้น
คนดูอย่างเรายังรู้สึกตื่นเต้น
เมื่อโตเกียวโอลิมปิกใกล้เข้ามาทุกที ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงยิ่งรู้สึกตื่นตัว เพราะกำลังง่วนเตรียมงานให้ทันอย่างเต็มที่ ทีมก่อสร้างเร่งทำสนามและหมู่บ้านนักกีฬา ทีมสื่อหรือทีมถ่ายทอดสดเริ่มเตรียมอุปกรณ์และเทรนอาสาสมัครในท้องถิ่น เหล่านักกีฬาเองคงกำลังฝึกซ้อมอย่างเต็มกำลัง บ้างก็เริ่มแข่งรอบคัดเลือกเพื่อมาสู้ศึกชิงชัยที่โตเกียว
ถึงจะเป็น ‘คนดู’ อย่างเดียวก็ต้องเตรียมตัวนะ
อย่าเพิ่งอ่านต่อ ขอให้ลองเข้าไปดูคลิปเหล่านี้ก่อน

เมื่อลองจิ้มดูสักอันจะพบว่า TOKYO SPORTS STATION เป็นช่องที่รวมวิดีโอสั้นๆ 15 และ 60 วินาทีเกี่ยวกับเกร็ดความรู้สนุกๆ ของกีฬาในโอลิมปิกและพาราลิมปิก ตัวอย่างคลิปที่คนไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นน่าจะเข้าใจง่ายสุดคือ Boxing เมื่อเห็นภาพสโลโมชันของหมัดที่นักมวยเพิ่งแจกไปไวๆ ก็พอจะเข้าใจได้ว่า อ๋อ ท่าชกใน 1 วิเมื่อกี้มีอะไรบ้าง หรือ Sports Climbing ที่แค่ดูรูปก็รู้ว่าพี่ๆ นักกีฬาประเภทนี้เขาห้อยหัวจากตุ่มปีนเขาโดยใช้แค่ข้อเท้าเกี่ยวเองนะ!

TOKYO SPORTS STATION คือโปรเจกต์ที่ 2 บริษัทรถไฟเจ้าใหญ่ในญี่ปุ่นอย่าง Tokyo Metro (รถไฟใต้ดิน) และ East Japan Railway Company (JR East) จับมือกันทำเพื่อเตรียม ‘คนดู’ AKA ผู้โดยสาร ให้พร้อมก่อนการแข่งขัน โดยตั้งใจให้คนรู้จักและเข้าใจความสนุกของกีฬามากยิ่งขึ้น ในฐานะสปอนเซอร์หลักของงาน พวกเขาอยากบิลด์บรรยากาศให้คึกคัก และส่งเสริมให้คนทั่วไปที่ไม่ได้อินกับโตเกียวโอลิมปิกหันมาสนใจงานนี้มากขึ้น

ในเมื่อทุกๆ วันผู้คนต้องใช้รถไฟของทั้งสองเจ้านี้เป็นหลักกันอยู่แล้ว แถมเวลาที่ต้องอยู่บนรถไฟก็ไม่ใช่น้อย แทนที่จะปล่อยให้ผู้โดยสารนั่งเล่นมือถือแบบเดิม 2 ตัวท็อปแห่งวงการรถไฟอยากใช้โอกาสนี้นำเสนอข้อมูลสนุกๆ ของกีฬาชนิดต่างๆ ที่น่าจะทำให้คนตื่นเต้นขึ้นมาได้ไม่มากก็น้อย สื่อหลักที่ผลิตออกมามี 2 แบบ คือคลิปวิดีโอความยาว 15 วินาที 60 วินาที และโปสเตอร์สำหรับติดตามพื้นที่โฆษณาในรถไฟ นอกจากนั้นก็มีสแตนดี้สนุกๆ ให้คนลองสัมผัสความรู้สึกของนักกีฬาด้วย


นี่ไม่ได้มีแค่ไว้ถ่ายรูปเก๋ๆ นะ แต่เราได้ลองนอนท่าเดียวกับนักกีฬาเรือใบเลย

ตัวอย่างโปสเตอร์ในรถไฟ
คอนเซปต์หลักของเขาก็คือ ‘ยิ่งรู้ยิ่งดูสนุก’
เราไปสนุกกับเขาบ้างกันดีกว่า
คอนเทนต์ที่แย็บเบาๆ แต่ทำให้เราตื่นเต้นราวกับโดนสอยด้วยฮุคขวา
“สิ่งที่ยากที่สุดของโปรเจกต์นี้ คือการสื่อสารเสน่ห์ของกีฬานั้นๆ ให้ได้ภายในเวลาสิบห้าวินาทีหรือโปสเตอร์แผ่นเดียว” เจ้าหน้าที่บริษัทรถไฟผู้รับผิดชอบโปรเจกต์นี้เริ่มเล่า
พวกเขามอบโปรเจกต์นี้ให้เอเจนซี่เจ้าดังอย่าง Dentsu เป็นผู้สร้างสรรค์ สิ่งที่พวกเขาต้องทำอันดับแรกคือรีเสิร์ชเนื้อหาเกี่ยวกับกีฬาแต่ละชนิดในการแข่งขันอย่างหนัก เพื่อหามุมที่ทำให้คนสนใจได้ในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งถ้าเนื้อหาลึกเกินไป คนที่ไม่อินอยู่แล้ว ยิ่งไม่สนใจเข้าไปใหญ่
ดังนั้น หลักในการเลือกเรื่องจึงเรียบง่ายแต่ทำยาก คือคนเห็นแล้วต้องร้อง “เฮ้ย สนุก” ไม่ก็ “เฮ้ย ไม่เคยรู้มาก่อนเลย”
และจากที่เราส่องคลิปอย่างเพลิดเพลิน ก็พบว่าเนื้อหาแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ คือสอนวิธีดูกีฬาที่ทุกคนรู้จักกันดีให้ดูสนุกกว่าเดิม และทำให้กีฬาที่คนไม่ค่อยรู้จักหรือสนใจ ‘ว้าว’ ขึ้นมา
ยกตัวอย่างประเภทแรก Boxing
ในฐานะคนไทย เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า หมัดจะหนักหรือไม่ขึ้นอยู่กับกล้ามเนื้อต้นขาด้วย และที่ประทับใจในความคิดสร้างสรรค์สุดๆ คือ เขาเปรียบ ‘การตวัดหมัดฮุค’ เหมือนกับท่าของ ‘แมวกวัก’ ยังไงล่ะ! คำเดียวทำให้คนญี่ปุ่นเข้าใจง่ายสุดๆ แถมทำให้กีฬาชกมวยมีด้านคาวาอี้ อยากรอดูพี่นักเหมียว เอ๊ย นักมวยปล่อยหมัดเด็ดขึ้นมาทันที

ข้อมูลของกีฬาอื่นๆ ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เช่นกอล์ฟ เขาบอกว่า ให้ลูกกอล์ฟเดินแบบปูได้ด้วยนะ เป็นเทคนิคที่นักกอล์ฟงัดลูกขึ้นแรงๆ แล้วบังคับให้ลูกเบี่ยงไปด้านข้างแทนที่จะไปข้างหน้า การเทียบความสูงของเนินทั้งหมดที่นักกีฬาปั่นจักรยานต้องข้ามว่ารวมกันแล้วสูงกว่าภูเขาไฟฟูจิ กีฬายกน้ำหนักจริงๆ แล้วไม่ใช่การแข่งขันทางกายภาพ เน้นอึดยกท่อนเหล็กอย่างเดียว แต่เป็น Mind Game ด้วย เพราะต้องเล็งว่าใครจะยกน้ำหนักเท่าไหร่ กีฬายูโด ถ้าดูดีๆ จะเห็นว่าคนทุ่มก็ตัวลอยขึ้นมาจากพื้นเหมือนกัน และแบดมินตันที่ดูใสๆ เบาๆ หยอดกันไปมา ความเร็วสูงสุดของลูกตบน่ะ 493 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลยนะพวกเธอ



ส่วนการทำให้กีฬาที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักน่าสนใจมากขึ้นก็คู่ควรแก่การตบมือให้รัวๆ เช่น
กีฬายิงธนู เหมือนการยิงไข่ดาวจากระยะ 70 เมตร เพราะเส้นผ่าศูนย์กลางของเป้าประมาณ 12.2 เซนติเมตรเท่ากับไข่ดาวพอดี และการแข่งขันตอนฝนตก นักยิงธนูต้องปรับองศาตามปริมาณน้ำฝนที่โดนลูกศรด้วย

กีฬาพายเรือแคนูนี่ประทับใจมากเป็นการส่วนตัว ตอนแรกคิดว่าคือการแข่งกันพายไปถึงเส้นชัยให้เร็วที่สุดเฉยๆ ปรากฏว่ามีจุดที่ต้องพายเรือแบบฟูลเทิร์น 360 องศา! ซึ่งทำให้อยากดูขึ้นมาทันที และที่สำคัญ เขาบอกว่านักกีฬา Canadian Canoe (ชื่อประเภทกีฬา) ซึ่งใช้ไม้พายข้างเดียว คนที่ฝึกโหดจริงๆ ตำแหน่งสะดือจะเคลื่อนที่ พูดง่ายๆ คือมันเบี้ยว ไม่อยู่ตรงกลางอีกต่อไป แต่จะค่อนไปทางด้านใดด้านนึงมากกว่าเพราะฝึกกล้ามเนื้ออย่างหนักหน่วง นี่ก็เป็นอีกจุดที่น่าจับตามองในการแข่งขันสินะ


เซิร์ฟฟิ่งก็น่าสนใจ นอกจากจะสอนชื่อท่าพื้นฐาน เขายังบอกว่าเวลานักเล่นเซิร์ฟดูพยากรณ์อากาศ จะรู้เลยว่าวันรุ่งขึ้นคลื่นจะเป็นแบบไหน ส่วนกีฬาที่เพิ่งถูกเพิ่มเข้าในโอลิมปิกรอบนี้อย่าง Sport Climbing ก็พีค เขาแข่งกันที่ความไว สถิติคนไต่เร็วที่สุดตอนนี้อยู่ที่ 5 วินาที 15 เมตร นึกภาพตามง่ายๆ คือคนปีนตึกสูง 5 ชั้นใน 5 วินาทีนั่นเอง

นอกจากนี้ เขานำเสนอกีฬาพาราลิมปิกได้น่าสนใจไม่แพ้กัน เช่น คนที่เล่นเทนนิสบนวีลแชร์จะต้องหมุนเก้าอี้เฉลี่ย 500 ครั้งต่อ 1 เกม การแข่งไตรกีฬา นักกีฬาจะใช้มือทั้งหมดในการแข่งขันทั้งว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และวิ่ง บาสเก็ตบอล นักกีฬาชู้ตลงห่วงจากระยะ 3 เมตรบนวีลแชร์ได้ ซึ่งคลิปบาสนี้ทำให้คนประทับใจถึงขั้นส่งอีเมลไปชื่นชมและขอให้ทำคลิปของกีฬาพาราลิมปิกทั้งหมดด้วย


ยิง Silent Content ให้โดนกลางใจผู้โดยสารด้วยดีไซน์ที่เรียบง่าย
กลุ่มเป้าหมายหลักของสื่อนี้คือ ทุกคนที่ขึ้นรถไฟ
ดังนั้น ความยากที่สูสีกับการสร้างคอนเทนต์ คือการออกแบบสื่อที่เข้าถึงคนทุกกลุ่มทุกวัย ไม่ดึงดูดใครเป็นพิเศษ แต่ก็ต้องทำให้พวกเขาเห็นแล้วรู้สึกว่านี่มันช่างวิเศษ
อีกข้อจำกัดที่ทำให้งานยากขึ้นไปอีก คือสื่อบนรถไฟห้ามใช้เสียง คลิปกลายเป็น Silent Content เหมือนโปสเตอร์ที่ต้องประกาศความปังท่ามกลางความเงียบในที่สาธารณะ และทำให้ทุกคนพร้อมจะเงยหน้าจากมือถือของตนเอง
เมื่อโจทย์มาแบบนี้ ทีมดีไซน์จึงตัดสินใจใช้ตัวการ์ตูนแทนคนแสดงจริง เพราะเข้าถึงกลุ่มคนได้มากกว่า อีกทั้งคลิปแอนิเมะยังใช้การเคลื่อนไหวแบบการ์ตูนเรียกความสนใจได้มากกว่าด้วย โดยเน้นความเรียบง่ายทั้งลายเส้นและคู่สีเพื่อให้น่าสนใจแบบครอบจักรวาล
แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ Silent Content ไม่เฉาตายไปเงียบๆ ในรถไฟ คือความสมดุลของปริมาณตัวอักษรและภาพ
พวกเขาบอกว่าข้อมูลไม่ต้องเยอะ พวกเราเริ่มโปรเจกต์นี้ตั้งแต่ปลายปี 2017 ขอให้การเดินทาง 1,000 วันจากวันนั้นเป็นการเรียนรู้อย่างช้าๆ ตามธรรมชาติที่ผู้คนซึมซับก่อนถึงการแข่งขันในปี 2020 ก็พอ
ยิ่งรู้ยิ่งดูสนุกจริงๆ
ป.ล. โปสเตอร์หรือวิดีโอไม่ได้มีทุกขบวนนะ ภาพ : www.jreast.co.jp/tokyo2020/tss.html