วันที่ 1 ตุลาคม ปี 1964 ก่อน Tokyo Olympic จะเริ่มต้นเพียง 9 วัน รถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็น ‘ฮิคาริ’ หมายเลข 1 และ 2 วิ่งออกจากสถานีโตเกียวและสถานีชินโอซาก้าพร้อมกันด้วยความเร็ว 210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ความเร็วนั้นทำให้ญี่ปุ่นชิงตำแหน่ง ‘อันดับ 1 ของโลก’ มากอดไว้ได้ก่อนการแข่งขันจะเริ่มต้นด้วยซ้ำ

สำหรับประเทศแพ้สงครามที่กำลังพยายามฟื้นตัวและสร้างภาพลักษณ์ใหม่สู่ความทันสมัย ไม่มีอะไรจะช่วยส่งเสริมความน่าเชื่อถือได้มากไปกว่าความเจริญทางเทคโนโลยีที่ก้าวข้ามยอดฝีมือฝั่งตะวันตกไปได้

การมาถึงของชินคันเซ็นจึงมีความหมายกับคนญี่ปุ่นมากไปกว่าความสะดวกสบายในการเดินทาง แต่เป็นตัวแทนความเชื่อมั่นและความหวังความเร็วสูงที่จะพาพวกเขาสู่ชีวิตใหม่ด้วยเช่นกัน

แม้ชินคันเซ็นกับโตเกียวโอลิมปิก 1964 จะเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง แต่ Tokyo Olympic 1964 ไม่ได้เป็นผู้ให้กำเนิดรถไฟชินคันเซ็น เป็นแค่ตัวเร่งให้รถไฟที่คนญี่ปุ่นพร้อมใจกันเรียกว่ารถไฟความเร็วสูงในฝัน ‘สร้างเสร็จ’ และ ‘วิ่งเร็ว’ ขึ้นต่างหาก

รถไฟที่เร็วที่สุดในโลก 2020
รถไฟชินคันเซ็นฮิคาริ หมายเลข 1 ภาพ : www.agui.net
รถไฟที่เร็วที่สุดในโลก 2020
ตั๋วรถไฟที่ระลึกการเริ่มวิ่งครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 1964

Tokaido Shinkansen Series 0 เปิดตำนานรถไฟความเร็วสูงในฝัน

เส้นทางแรกของรถไฟชินคันเซ็นคือ สายโทไคโด ที่เชื่อมเมืองหลักญี่ปุ่นทั้งสาม ได้แก่ โตเกียว นาโกย่า และโอซาก้า

ต้องเกริ่นก่อนว่า มีรถไฟสายโทไคโดอยู่แล้ว เป็นรถไฟธรรมดาที่รับบทหนักในการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเมื่อสงครามสิ้นสุดลง นอกจากการขนส่งสินค้าต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว ประชากรในญี่ปุ่นยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความต้องการใช้รถสาธารณะเพิ่มขึ้นจนญี่ปุ่นพัฒนาตามไม่ทัน

เมื่อรถไฟสายนี้หยุดซ่อมบำรุง เรียกได้ว่าสะเทือนไปหลายภาคส่วน แนวทางในการแก้ไขที่ญี่ปุ่นคิดตอนนั้นมี 2 อย่างคือ หนึ่ง เพิ่มราง สอง สร้างเส้นทางใหม่ โดยที่ไม่ได้ตั้งใจให้สายโทไคโดเป็นรถไฟความเร็วสูงมาก่อนเลย

ส่วน ‘Dangan-ressha’ หรือโครงการรถไฟความเร็วสูงนั้น พัฒนามาตั้งแต่ปี 1939 ก่อนสงครามโลกเสียอีก แผนเดิมเป็นรถไฟเชื่อมญี่ปุ่น-เกาหลี-จีน แต่ชะงักไปเพราะติดสงคราม

แม้จะเริ่มก่อสร้างอุโมงค์ไปแล้วบางส่วน อุโมงค์ที่เสร็จแล้วบังเอิญเป็นอุโมงค์ที่ใช้กับเส้นโทไคโดได้พอดี ประจวบกับที่ญี่ปุ่นพยายามสร้างรถไฟสายด่วนจี๋ที่เดินทางระหว่างโตเกียวและโอซาก้าได้ภายใน 3 ชั่วโมง

โครงการทั้งสองจึงมาบรรจบกันอย่างลงตัว คลอดน้อง ‘โคดามะ’ รถไฟด่วนบิสิเนสออกมาในปี 1959 และใช้ไปพลางเริ่มการก่อสร้างชินคันเซ็นในปีเดียวกันนั้นเอง

แผนรีโมเดล ชินคันเซ็น ครั้งแรกในรอบ 13 ปีของญี่ปุ่นเพื่อทวงแชมป์ความเร็วโลก
Kodama รถไฟ Business Limited Express

เพียง 1 เดือนหลังเริ่มโครงการชินคันเซ็น ญี่ปุ่นก็ถูกเลือกให้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ด้วยความร้อนรนอยากจะตามตะวันตกให้ทันใจจะขาด รัฐบาลจึงประกาศเสกชินคันเซ็นต้อนรับโอลิมปิก คราวนี้กรี๊ดกันทั่วประเทศเลย (คนทำน่าจะกรี๊ดสุด เพราะเพิ่งเริ่มก็โดนเร่ง เหลือเวลาทำแค่ 5 ปีกับความยาว 515 กิโลเมตร)

ลำพังความคาดหวังจากประชาชนในประเทศก็หนักมากอยู่แล้ว ยิ่งมีสายตาจากนานาชาติมากดดันเพิ่มด้วย ทีมงานหัวหมุนรีบซื้อที่ดิน สร้างราง สร้างอุโมงค์ กันยกใหญ่ บางช่วงติดปัญหาการซื้อที่ดิน เหลือเวลาสร้างจริงแค่ 2 ปีก็มี

นอกจากเวลาที่ทำท่าไม่พอ เงินก็ไม่พอด้วย อาจจะด้วยความรีบหรืออะไรก็ตาม งบบานเท่าตัว ต้องไปกู้ธนาคารโลกมา 80 ล้านดอลลาร์ฯ

แผนรีโมเดลชินคันเซ็น ครั้งแรกในรอบ 13 ปีของญี่ปุ่นเพื่อทวงแชมป์ความเร็วโลก
การสร้างอุโมงค์สำหรับรถไฟความเร็วสูง Dangan-ressha ภาพ : www.jiji.com
แผนรีโมเดลชินคันเซ็น ครั้งแรกในรอบ 13 ปีของญี่ปุ่นเพื่อทวงแชมป์ความเร็วโลก
การเช็กรางรถไฟก่อนเริ่มใช้งานจริงในปี 1964 ภาพ : www.jiji.com

สิริรวมโครงการนี้ใช้เงินไป 380,000 ล้านเยน แต่ญี่ปุ่นก็ได้รถไฟหัวกระสุนที่กลายเป็นโลโก้สุดคลาสสิกของประเทศไม่แพ้ภูเขาไฟฟูจิใช้มาจนถึงปัจจุบัน และจุดประกายให้ประเทศอื่นๆ เช่นฝรั่งเศสและอิตาลี รีบพัฒนารถไฟมาสู้แทบไม่ทัน

ส่องชินคันเซ็นยุคบุกเบิก

ใครอยากเห็นภาพน้องโคดามะสมัยยังเป็นรถด่วนขอให้ไปดูหนังเรื่อง Always: Sunset on Third Street ภาค 2 ส่วนชินคันเซ็นซีรีส์ 0 (ชินคันเซ็นรุ่นแรก) ต้องดูภาค 3 ซึ่งจำลองความตื่นเต้นของผู้คนที่มีต่อโตเกียวโอลิมปิกและชินคันเซ็นได้อย่างมีชีวิตชีวา

แผนรีโมเดล ชินคันเซ็น ครั้งแรกในรอบ 13 ปีของญี่ปุ่นเพื่อทวงแชมป์ความเร็วโลก
แผนรีโมเดล ชินคันเซ็น ครั้งแรกในรอบ 13 ปีของญี่ปุ่นเพื่อทวงแชมป์ความเร็วโลก
ชินคันเซ็นในหนังเรื่อง Always

หลังจากรับเทคโนโลยีเรื่องรถไฟมาจากอังกฤษ ญี่ปุ่นพยายามพัฒนารถไฟความเร็วสูงที่ไม่สร้างภาระให้รางมาโดยตลอด ผลของความเหน็ดเหนื่อยนั้นคือรถไฟชินคันเซ็นซีรีส์ 0 นี้นี่เอง ซึ่งต้องขอบคุณ 3 วิศวกรเอกจากตระกูลชิมะที่มาช่วยพัฒนารถไฟญี่ปุ่นตั้งแต่รุ่นปู่ รุ่นพ่อ ถึงรุ่นลูก

ความพิเศษของชินคันเซ็นซีรีส์ 0 คือการติดมอเตอร์ทุกตู้ (ก่อนหน้านั้นจะมีทั้งตู้ที่มีและไม่มี) ทำให้น้ำหนักของแต่ละตู้ไม่ต่างกันมาก ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาลดลง และเมื่อขนาดของมอเตอร์เล็กลง ก็มีพื้นที่ให้ผู้โดยสารนั่งมากขึ้น

ส่วนชื่อ ‘ฮิคาริ’ นั้นได้มาจากการโหวตทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งมีคนร่วมด้วยช่วยกันถึง 550,000 คน เมื่อฮิคาริเข้าวิน อีกขบวนเลยใช้ชื่อโคดามะให้คล้องจองกัน สมัยนั้นชินคันเซ็นซีรีส์ 0 มีแค่ 12 ตู้ แบ่งเป็นรถไฟชั้น 1 และชั้น 2 (ปัจจุบันคือ Green Car และที่นั่งธรรมดา) ที่นั่งชั้น 1 เป็นเบาะไนลอนสีฟ้าตัดสีเงิน ส่วนตู้หรูเป็นสีทอง ความน่ารักคือมีตู้บุฟเฟต์ที่ขายอาหารตามสั่ง

แผนรีโมเดล ชินคันเซ็น ครั้งแรกในรอบ 13 ปีของญี่ปุ่นเพื่อทวงแชมป์ความเร็วโลก
โฉมหน้าของรถไฟที่เร็วที่สุดในโลกในตอนนั้น รถไฟหน้าทู่สีฟ้าขาว มีวงกลมสีเทาอยู่ตรงปลายสุดของตู้คนขับ ซึ่งญี่ปุ่นเรียกว่า ดังโกะฮานะ (แปลว่า จมูกเป็นลูกดังโกะ) ภาพ : www.jiji.com
แผนรีโมเดล ชินคันเซ็น ครั้งแรกในรอบ 13 ปีของญี่ปุ่นเพื่อทวงแชมป์ความเร็วโลก
ตู้ที่นั่งชั้น 1 ภาพ : news.mynavi.jp/
แผนรีโมเดล ชินคันเซ็น ครั้งแรกในรอบ 13 ปีของญี่ปุ่นเพื่อทวงแชมป์ความเร็วโลก
ตู้ที่นั่งชั้น 2 ภาพ : www.agui.net
แผนรีโมเดล ชินคันเซ็น ครั้งแรกในรอบ 13 ปีของญี่ปุ่นเพื่อทวงแชมป์ความเร็วโลก
เมนูในตู้บุฟเฟต์

Shinkansen N700 Supreme วิ่งสู่ตำนานบทใหม่ของชินคันเซ็นสายโทไคโด

มาดูเรื่องราวความเร็วในวันที่ชินคันเซ็นไม่ใช่ที่หนึ่งอีกต่อไปกันดีกว่า

รถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นเริ่มต้นที่ความเร็ว 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โคดามะสมัยเป็นรถด่วนในปี 1959 ทำไว้ได้ 163 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนฮิคาริในปี 1964 อยู่ที่ 210 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ปัจจุบันความเร็วสูงสุดของรถไฟชินคันเซ็นซีรีส์ N700A ‘โนโซมิ’ คือ 285 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ความเร็วสูงสุดที่ใช้วิ่งจริงประมาณ 260 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนิดๆ เมื่อเทียบในหมู่รถไฟพาณิชย์ด้วยกันจึงยังตามหลังจีน อิตาลี และฝรั่งเศส

ญี่ปุ่นไม่อยู่เฉยอยู่แล้ว พวกเขากำลังพัฒนา ‘ชูโอชินคันเซ็น’ รถไฟ Maglev ที่เร็วที่สุดในโลกขบวนใหม่ด้วยโจทย์สุดท้าทายคือ การเดินทางระหว่างโตเกียว-โอซาก้าภายใน 1 ชั่วโมง! ตอนนี้ความเร็วสูงสุดคือ 603 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วิ่งจริงประมาณ 505 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โตเกียว-นาโกย่าจะใช้เวลาแค่ 40 นาทีเท่านั้น ส่วนโตเกียว-โอซาก้า 67 นาที คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการถึงนาโกย่าได้ในปี 2027

อ๊ะ แล้วโตเกียวโอลิมปิก 2020 จะไม่มีอะไรใหม่ๆ เลยเหรอ

คำตอบคือ มี!

หนึ่ง ญี่ปุ่นวางแผนจะประกาศความเป็น ‘อันดับ 1 ของโลก’ ด้านความเร็วของรถไฟอีกครั้งในงานโตเกียวโอลิมปิก 2020 ด้วยการเดบิวต์ชูโอชินคันเซ็น ซึ่งรายละเอียดของงานยังเป็นความลับ ต้องรอติดตามกันต่อไป

หนึ่ง รถไฟชินคันเซ็นซีรีส์ N700 Supreme ที่ไม่เน้นความเป็นที่หนึ่ง แต่ขอเป็นคนแรก

แผนรีโมเดล ชินคันเซ็น ครั้งแรกในรอบ 13 ปีของญี่ปุ่นเพื่อทวงแชมป์ความเร็วโลก
แผนรีโมเดล ชินคันเซ็น ครั้งแรกในรอบ 13 ปีของญี่ปุ่นเพื่อทวงแชมป์ความเร็วโลก
รถไฟชินคันเซ็นซีรีส์ N700S ภาพ : asia.nikkei.com

ญี่ปุ่นแง้มเรื่องชินคันเซ็นรุ่นใหม่ N700S (Supreme) ที่จะเริ่มให้บริการพร้อมการแข่งขันโอลิมปิกมาสักพัก และเชิญสื่อไปชมความกิ๊วก๊าวของนางเป็นระยะ

เมื่อกลางปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นประกาศความสำเร็จในการใช้รถไฟชินคันเซ็นซีรีส์ N700S วิ่งด้วยความเร็ว 360 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หลังจากทดสอบมาถึง 5 ครั้ง เจ้าหน้าที่บอกว่า อาจจะไม่นิ่มเท่าโนโซมิคนดีคันเดิม แต่แทบไม่รู้สึกว่าสั่นแน่นอน

แผนรีโมเดล ชินคันเซ็น ครั้งแรกในรอบ 13 ปีของญี่ปุ่นเพื่อทวงแชมป์ความเร็วโลก
แผนรีโมเดลชินคันเซ็น ครั้งแรกในรอบ 13 ปีของญี่ปุ่นเพื่อทวงแชมป์ความเร็วโลก
แผนรีโมเดล ชินคันเซ็น ครั้งแรกในรอบ 13 ปีของญี่ปุ่นเพื่อทวงแชมป์ความเร็วโลก
การทดสอบความเร็วรถไฟชินคันเซ็น N700S ภาพ : trafficnews.jp

แต่ที่ทุ่มเททดสอบเป็นเรื่องเป็นราวขนาดนี้ แค่แจ้งให้ทราบเฉยๆ ทางเจอาร์ไม่ได้มีแผนจะปรับความเร็วชินคันเซ็นต้อนรับโตเกียวโอลิมปิก 2020 แต่อย่างใด จะเปลี่ยนก็แค่เพิ่มจำนวนรถไฟโนโซมิและโละรถไฟซีรีส์ 700 ที่วิ่งได้สูงสุด 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อปรับให้ทุกขบวนเป็น N700 ที่วิ่งได้ 285 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

เจ้าหน้าที่บอกว่า การปรับแบบนี้ทำให้ประสิทธิภาพการให้บริการรถไฟโดยรวมดีขึ้นมากกว่าการเพิ่มความเร็วรถไฟแค่ไม่กี่ขบวน นอกจากนี้ ถึงตอนนี้จะวิ่งได้ 360 กิโลเมตรต่อชั่วโมงโดยไม่มีปัญหาก็จริง แต่ญี่ปุ่นทางโค้งเยอะ จุดที่ได้วิ่งเต็มสปีดมีไม่มาก ไม่คุ้มกับต้นทุนในการเตรียมรางให้วิ่งได้ด้วยความเร็วระดับนั้น

“เราทดสอบและประกาศผลอย่างเป็นทางการเพราะอยากจะบอกความตั้งใจที่จะทำให้ N700S เป็นรถไฟมาตรฐานของประเทศ อีกหน่อยรถไฟญี่ปุ่นทั่วประเทศควรจะได้ใช้รถไฟรุ่นนี้ ไม่ใช่แค่สายโทไคโดเท่านั้น”

แต่นี่คือการรีโมเดลชินคันเซ็นทั้งหมดครั้งแรกในรอบ 13 ปี จุดขายคือ Smarter, Quieter แน่นอนว่า N700S ซ่อนทีเด็ดไว้อีกเพียบ

เริ่มจากความสะดวกสบายที่ปรับปรุงใหม่เพื่อผู้โดยสารโดยเฉพาะ เช่น เก้าอี้ใหม่เอนเบาะนุ่มขึ้น ปลั๊กไฟสำหรับทุกที่นั่ง ไวไฟฟรีทั่วคัน มีพื้นที่สำหรับวางกระเป๋าเดินทางเยอะขึ้น (แต่ต้องจองที่ล่วงหน้านะ) จอแสดงข้อมูลในตู้รถไฟใหญ่ขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ และมีกล้องดูแลความปลอดภัยให้ทรัพย์สินนอกตู้โดยสาร

แผนรีโมเดล ชินคันเซ็น ครั้งแรกในรอบ 13 ปีของญี่ปุ่นเพื่อทวงแชมป์ความเร็วโลก
แผนรีโมเดลชินคันเซ็น ครั้งแรกในรอบ 13 ปีของญี่ปุ่นเพื่อทวงแชมป์ความเร็วโลก
ที่นั่งในตู้ Green Car, ที่เก็บกระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ ภาพ : www.jrailpass.com/blog/shinkasen-n700s

สำหรับความเก๋ไก๋ในแง่นวัตกรรม ชินคันเซ็น N700S เป็นรถไฟความเร็วสูงขบวนแรกของโลกที่มีแบตเตอรี่ ทำงานได้แม้เกิดภัยพิบัติ เช่นแผ่นดินไหวหรือไฟดับ ความตั้งใจคือ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน รถไฟก็ยังพาผู้คนไปยังจุดที่ปลอดภัยได้

ญี่ปุ่นในปัจจุบันนี้มีพร้อมทุกอย่าง เป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วแถวหน้าของโลก จึงไม่จำเป็นต้องทุ่มเงินเล่นใหญ่พิสูจน์ตัวเองดันรถไฟแม็กเลฟออกมา แค่บอกให้ทั่วโลกรู้ว่า ‘ทำได้’ ก็เพียงพอ

แม้วันนี้จะยืนหนึ่งเรื่องความเร็วไม่ได้ ยืนเคียงข้างเรื่องความปลอดภัยก็เท่ไม่แพ้กัน

Writer

Avatar

ณิชมน หิรัญพฤกษ์

นักศึกษาเอกภาษาญี่ปุ่นที่คิดเลขไม่ได้ อ่านแผนที่ไม่ออก แต่รักการเดินทาง / ผู้ประสานงานใน a day และ HUMAN RIDE ฉบับญี่ปุ่น / เจ้าของคอลัมน์ made in japan และหนังสือ 'ซะกะ กัมบัตเตะ!' ปัจจุบันใช้เวลาว่างจากการหาร้านคาเฟ่กรุบกริบไปนั่งเรียนปริญญาโทที่โตเกียว และโดนยัดเยียดความเป็นไกด์เถื่อนให้อยู่เป็นระยะ