ห้องมุมสุดบนชั้น 5 อาคาร 2 ของ The Racquet Club แห่งนี้ คือออฟฟิศ The Cloud

100 เปอร์เซ็นต์ พอฉันบอกว่าออฟฟิศ The Cloud อยู่ที่ไหน  

คำถามตามมาถ้าไม่ ‘อยู่ในฟิตเนส?’ ก็คงเป็น ‘เข้าไปในฟิตเนสเลยหรอ?’

ไม่ใช่แค่คนถามที่สงสัย ฉันเองก็สงสัย สโมสรกีฬาแบบไหนกันนะที่คิดสร้างพื้นที่ใช้สอยได้คุ้มค่าขนาดนี้

ลองคิดภาพตามว่า เพียงแค่ฉันเดินลงบันได 2 ชั้น ก็เข้าไปออกกำลังกายสัก 30 นาที แล้วกลับขึ้นมาทำงานได้ง่ายดาย หรือเดินออกมาพักสมองด้วยการยืนมองคนตีแบดมินตันได้จากทางเดินระหว่างบันไดไปยังห้องทำงาน และบางวัน เพื่อนฉันบางคนเดินลงไปลองเสื้อผ้าแข่งกับแม่บ้านญี่ปุ่น แล้วกลับขึ้นมาพร้อมถุงช้อปปิ้งเป็นของแถม

The Racquet Club สโมสรกีฬาของชาวสุขุมวิทที่ยืนหยัดผ่านความเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ปี 23

แต่เมื่อมองจากภายนอกกลับแทบจินตนาการไม่ออกเลยว่าตึกหน้าตาธรรมดาแห่งนี้ บรรจุโลกอีกใบซึ่งประกอบด้วยสถานที่เล่นกีฬามากมายกว่า 10 ชนิด ทั้งฟิตเนส แบดมินตัน หน้าผาจำลอง ฯลฯ ได้อย่างไร แถมพื้นที่บางส่วนถูกจัดวางฟังก์ชันให้เป็นพื้นที่ร้านค้า ออฟฟิศ และห้องประชุมให้เช่าด้วยนะ

ใช่ค่ะ ห้องประชุมที่อยู่ข้างๆ ห้องสควอชกับแร็กเก็ตบอลเลย

ฉันไม่รู้ว่าในสายตาสถาปนิกจะคิดเห็นว่าอย่างไร แต่สำหรับฉัน การจัดสรรพื้นที่ใช้สอยให้ครบทุกตารางเมตรบนพื้นที่ดินราคาสูงลิบลิ่วนั้นน่าสนใจพอๆ กับการคิดสร้างสโมสรกีฬาขนาดใหญ่กลางซอยสุขุมวิทเมื่อ 39 ปีก่อน

คุณอมรา พงศาพิชญ์

ล็อบบี้หน้าทางเข้าโซนสปอร์ตคลับในอาคารเดียวกันนี้ คือสถานที่นัดหมายกับ คุณอมรา พงศาพิชญ์ และ คุณศวิสาข์ ภูมิรัตน หนึ่งในทายาทรุ่นที่ 2 และ 3 ของ The Racquet Club เธอทักทายฉันด้วยท่าทีสบายๆ ก่อนเชื้อเชิญให้เข้าไปนั่งในห้องประชุมเล็กข้างร้านมินิมาร์ทตรงข้ามทางเข้า แล้วเริ่มต้นเล่าเรื่องสโมสรกีฬาที่ยืนหยัดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของย่านสุขุมวิท และภายใต้พื้นที่กว่า 4,000 ตารางเมตรแห่งนี้ ซ่อนเรื่องราวอะไรไว้ให้ฟัง

แรกอยู่

“ย้ายมาอยู่ตั้งแต่แถวนี้เป็นท้องนา” คุณอมราเริ่มต้นเล่า

ย้อนกลับไปในวันที่ยังเรียกชื่อตำบลคลองตัน อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร สมัยนั้นยังเป็นทุ่งนาที่เรียกว่าทุ่งบางกะปิ หากไล่เรียงชื่อเจ้าของที่ดินในแถบย่านพร้อมพงศ์ก็พบว่าบางส่วนเป็นของ อำมาตย์ตรี หลวงประชัญคดี (มิตร ภูมิรัตน) ท่านมีศักดิ์เป็นคุณปู่ของคุณอมรา เชื่อขนมกินได้เลยว่าที่ดินในแถบย่านนี้จึงเป็นมรดกตกทอดแก่ลูกหลานในวงศ์ตระกูล

ราวๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลุ่มคหบดีผู้มีฐานะ ข้าราชการชั้นสูง เริ่มย้ายมาตั้งรกรากสร้างครอบครัวที่นี่ ประกอบกับช่วงสร้างถนนสุขุมวิทให้เชื่อมต่อออกไปยังจังหวัดในภาคตะวันออก ซึ่งรัฐบาลในยุคนั้นก็ให้ความสำคัญในการพัฒนาที่ดินแถบนี้ให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจ ย่านนี้จึงเติบโตและพัฒนามาเรื่อยๆ

“คุณพ่อคุณแม่มาสร้างบ้านอยู่ จำได้ว่ามันไม่มีอะไรเลย ช่วงแรกทางเข้าจะเข้าจากซอยพร้อมพงษ์ หรือซอยพร้อมมิตร ซึ่งยังเป็นถนนดินลูกรัง มีคนหาบของมาขายแบบนั้นเลย สมัยก่อนเราเรียกซอยด้วยชื่อแทนที่จะนับเลข ตอนหลังเพิ่งมาตัดถนนซอยกลางคือซอยสุขุมวิท 49 ส่วนพร้อมพงษ์ปัจจุบันคือซอยสุขุมวิท 39 บ้านเราอยู่ระหว่างซอย 49 กับ 39 จากนั้นคนก็เริ่มย้ายเข้ามาอยู่ทีละน้อย และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ใครที่ชอบบ้านไทยๆ เขาก็สร้างแบบไทย บ้านไหนชอบความสะดวกแบบฝรั่ง ก็สร้างแบบฝรั่ง

“ตั้งแต่เด็กๆ ตอนไปโรงเรียนชั้นประถมหนึ่งที่โรงเรียนมาแตร์เดอี กว่าจะถึงโรงเรียน รถติดตลอด เพราะสุขุมวิทคือถนนที่ทุกซอยทะลุถึงกันได้” คุณอมราเล่าพลางนึกย้อนกลับไป

ถ้าคุณยังนึกภาพไม่ออก เราขอชวนเดินสำรวจตรอกซอกซอยไล่เรียงตั้งแต่ซอยสุขุมวิท 39 จรดช่วงซอยสุขุมวิท 49 จะเห็นบ้านสวยหลายหลังเป็นบ้านไม้หลังคาจั่วองศาน้อย หน้าอาคารมีแผงกันแดดเล็กบาง ส่วนรอบบ้านมีหน้าต่างบานกระจก บางหลังเป็นบ้านหลังคาทรงปั้นหยา แม้แต่บ้านทรงขนมปังขิงที่ซ่อนตัวอยู่ในซอยลึก รวมตึกแถวพร้อมเหล็กดัดหลากหลายแพตเทิร์นนี่ก็ด้วย

อาคารบ้านเรือนในโซนนี้เคยเป็นดีไซน์ทันสมัยที่สุดของยุค 70 – 80 แน่ล่ะ สมัยนั้นเรียกว่าโมเดิร์น โก้เก๋ พอปัจจุบันก็กลายเป็นสไตล์เรโทรที่ไม่ได้เฉิ่มเชยแม้เวลาจะผ่านไป

แรกเริ่ม

เมื่อเริ่มมีคนมาตั้งรกราก กิจการร้านค้าก็เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน รวมไปถึงสโมสรกีฬาชื่อสุดจ๊าบแห่งนี้ด้วย

คุณอมราเล่าว่า แรกเริ่มคุณพ่อและคุณแม่ของเธอใช้ที่ดินบริเวณนี้ทำธุรกิจบ้านเช่า ซึ่งมีบ้านเพียงไม่กี่หลัง พอช่วงสงครามเวียดนาม ประเทศไทยเป็นที่ตั้งของฐานทัพทหารอเมริกา ทำให้ชาวต่างชาติเริ่มเข้ามาอาศัยอยู่ย่านนี้มากขึ้น บ้านเช่าก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นตามมา ด้วยความหัวสมัยใหม่ของคุณพ่อ จึงคิดทำสระว่ายน้ำให้ลูกบ้านใช้ สระว่ายน้ำสระนี้เลยกลายเป็นสระว่ายน้ำแรกและเป็นสระเดียวที่มีอยู่ในละแวกนี้

The Racquet Club สโมสรกีฬาของชาวสุขุมวิทที่ยืนหยัดผ่านความเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ปี 23
The Racquet Club สโมสรกีฬาของชาวสุขุมวิทที่ยืนหยัดผ่านความเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ปี 23

แรกรุ่น

ขณะที่รุ่นพ่อแม่ทำกิจการบ้านเช่า ลูกทั้งห้าคนก็ถูกส่งให้เรียนไปต่อต่างประเทศ และเห็นว่าเมืองศิวิไลซ์ไหนๆ ก็มีสปอร์ตคลับทั้งนั้น เมื่อทุกคนเริ่มเรียนจบและกลับมาอยู่ไทย จึงคิดช่วยกันทำธุรกิจสปอร์ตคลับขึ้นราว พ.ศ. 2523

“ที่เมืองนอกทุกโรงเรียนมียิม ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนมัธยม ประถม หรือมหา’ลัย ก็ต้องมียิม มีสระว่ายน้ำ ตอนที่เรากลับมาเป็นช่วงที่สงครามเวียดนามกำลังจะจบ เลยคิดขยายธุรกิจจากบ้านเช่าเพิ่มเป็นสปอร์ตคลับด้วย อาคารหนึ่งเป็นตึกแรกที่สร้าง ตามด้วยคอร์ตแบดมินตันหกคอร์ต แร็กเก็ตบอล และสควอช ส่วนคอร์ตเทนนิสอยู่ด้านนอก หน้าตาเหมือนยิมในอเมริกาที่มีคอร์ตตีเส้น หลังคาสูง ระยะแรกก็คิดอย่างนั้น เราเลยเรียกว่า The Racquet Club เพราะทั้งสี่ชนิดกีฬาใช้แร็กเก็ตทั้งนั้น” เธอต่อบทสนทนาหลังหยุดคิดไปชั่วครู่

“แต่สามสิบเก้าปีที่แล้วคนไทยแทบไม่รู้จักด้วยซ้ำว่าแร็กเก็ตบอลและสควอชคืออะไร” ฉันถามขึ้นด้วยความสงสัย

The Racquet Club สโมสรกีฬาของชาวสุขุมวิทที่ยืนหยัดผ่านความเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ปี 23

“เราก็สร้างในจำนวนน้อยกว่า เรามีแบดมินตันหกคอร์ต เพราะคนไทยเล่นแบดมินตันมากกว่าเพื่อน คอร์ตเทนนิสสองถึงสามคอร์ตข้างนอก แล้วแร็กเก็ตบอลหนึ่งคอร์ต สควอชสองคอร์ต แต่ที่เราอยากให้มีเพราะคิดว่าอีกไม่นานกีฬาชนิดนี้จะเป็นที่รู้จักและมีคนเริ่มเล่นมากขึ้น”

“สมัยนั้นในบ้านเรายังไม่ค่อยมีสปอร์ตคลับ เพราะการเล่นกีฬาน่าจะเป็นกิจกรรมของคนมีฐานะด้วยหรือเปล่าคะ” ฉันเอ่ยสั้นๆ แทนคำถาม

“ใช่ เข้ายากด้วยนะ” เธอรีบต่อบทสนทนา

The Racquet Club สโมสรกีฬาของชาวสุขุมวิทที่ยืนหยัดผ่านความเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ปี 23

“เมื่อก่อนส่วนใหญ่จะเป็นคลับ เป็นสโมสรทางการ มีไม่กี่ที่ อย่างราชกรีฑาสโมสร ใครจะเข้าต้องมีคนสนับสนุน ต้องมีป้ายติดรถ มีตราประทับ ช่วงที่กลับมาใหม่ๆ ก็เคยมีคนชวนเข้าไป แต่พอไปแล้วรู้สึกว่ามันไฮโซเชียว เราเรียนมานุษยวิทยาก็เลยติดดินหน่อย พอมาทำของเราเองก็ให้คนเข้าง่ายขึ้น เพราะเราคิดทำให้คนทั่วไปได้มีที่เล่นกีฬาบ้าง แรกๆ เปิดให้คนเข้ามาเล่นน้ำด้วยราคาสามสิบห้าบาทต่อครั้ง ช่วงหลังถึงปรับมาเป็นแบบสมาชิกรายปี

“หลังจากนั้นจึงมาขยายมีฟิตเนส ตอนแรกยังไม่ได้คิดจะทำ แต่บังเอิญมียิมในซอย 24 เขากำลังจะเลิกกิจการก็เลยมาขายต่อเครื่องกีฬาสำหรับฟิตเนสหลายเครื่องทีเดียว แล้วตอนนั้นเรามีแค่อาคาร 1 เก็บอยู่ที่ใต้ที่จอดรถเต็มไปหมด แต่คิดแล้วก็โชคดีที่ตัดสินใจซื้อมาเก็บไว้ก่อน พอสร้างตึก 2 นี้เสร็จถึงได้ย้ายขึ้นมา เลยทำให้เรามีฟิตเนสค่อนข้างใหญ่” คุณอมราเล่าจบ เธอหันไปชวนให้คุณศวิสาข์ผู้เป็นหลานพาฉันเดินเข้าไปสำรวจด้านใน The Racquet Club และเล่าเรื่องราวในปัจจุบันให้ฟัง

แร็กเก็ตคลับ

The Racquet Club มีอาณาเขตตั้งแต่ซอยสุขุมวิท 49/7 – 49/11 นับรวม RQ49 Mall เฮลธ์&ไลฟ์สไตล์มอลล์ RQ Residence เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ให้เช่า RQ Sport Club สโมสรกีฬาครบวงจรภายในพื้นที่ 5 อาคารที่รวมกีฬามากกว่า 10 ชนิด ทั้งปีนผาจำลอง ฟิตเนสเซ็นเตอร์ แบดมินตัน เทนนิส ว่ายน้ำ สควอช แร็กเก็ตบอล สนุกเกอร์ ปิงปอง บาสเก็ตบอล ฟุตซอล มวยไทย คลาสกีฬาแบบกลุ่ม ไปจนถึงพื้นที่ออฟฟิศและร้านค้าให้เช่า

เมื่อเดินเข้าผ่านทางล็อบบี้ ที่ด้านในว่างระหว่างอาคาร 1 – 3 เป็นหน้าผาจำลองขนาดใหญ่ พื้นที่นี้ฉันทดไว้ในใจเอาไว้แล้วว่ามันช่างเป็นการใช้พื้นที่ได้อย่างฉลาดและคุ้มค่ามาก เพราะมันช่างพอเหมาะพอเจาะกับขนาดหน้าผาจำลองสูง 12 เมตรนี้เสียจริง

นอกจากรุ่นก่อตั้งจะสร้างสระว่ายน้ำเป็นสระแรกในย่านนี้แล้ว มาถึงเจเนอเรชันที่ 3  ยังคิดเอาหน้าผาจำลองขนาดใหญ่ที่สุดมาเป็นเจ้าแรกๆ ด้วย

หน้าผาจำลอง The Racquet Club
หน้าผาจำลอง The Racquet Club

ไม่ทันจะก้าวเท้า พลันหูได้ยินเสียงลูกขนไก่ปะทะตาข่ายไม้แบด ตีคู่กับเสียงพื้นรองเท้ากระทบไม้ปาร์เก้ดังเอี๊ยดอ๊าดที่แสนคุ้นเคย

คอร์ตแบดมินตันพื้นไม้ปาร์เก้

พื้นที่ระหว่างอาคาร 2 และ 3 เป็นคอร์ตแบดมินตันพื้นไม้ปาร์เก้จำนวน 5 คอร์ต ส่วนอาคาร 1 มี 6 คอร์ตเป็นพื้นยาง อาคารสูงโปร่งถูกครอบด้วยหลังคาโครงเหล็กอย่างวันเก่า หากเดินต่อจนถึงชั้น 3 ของอาคาร 3 เป็นฟิตเนสที่เต็มไปด้วยเครื่องเล่นทันสมัยเช่นเดียวกับการตกแต่งภายในด้วยสีสันจัดจ้านชวนให้อยากออกกำลังขึ้นอีกสองเท่าตัว 

สโมสรกีฬาของชาวสุขุมวิทที่ยืนหยัดผ่านความเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ปี 23
สโมสรกีฬาของชาวสุขุมวิทที่ยืนหยัดผ่านความเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ปี 23

ส่วนชั้น 4 เป็นห้องสควอชและแร็กเก็ตบอล ชั้น 5 เป็นห้องปิงปอง ดาดฟ้าเป็นคอร์ตเทนนิส 7 คอร์ต ข้างกันเป็นสนามบาสเก็ตบอลขนาดย่อม ส่วนสนามฟุตซอลจะอยู่บนดาดฟ้าอาคาร 4 และสระว่ายน้ำอยู่ด้านนอกบริเวณอาคาร 5

The Racquet Club สโมสรกีฬาของชาวสุขุมวิทที่ยืนหยัดผ่านความเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ปี 23

ความสงสัยแรกของฉันว่าทำไมที่นี่ถึงมีออฟฟิศให้เช่า ถูกตอบด้วยการเข้ามาสำรวจที่นี่อย่างจริงจัง เพราะเมื่อต้องสร้างคอร์ตสูงตามมาตรฐาน พื้นที่เหลือรอบๆ อาคาร อย่างเช่น ชั้น 3 – 5 ของอาคาร 2 จึงกลายมาเป็นออฟฟิศให้เช่า รวมถึงฝั่งด้านหน้าอาคาร 3 ที่ติดถนนก็เช่นกัน

“พื้นที่ว่างระหว่างห้องเล่นกีฬาด้านในตึก เราจัดเป็นห้องประชุม เหมือนเป็น Facility เสริม เมมเบอร์อยากจะมาเช่าก็ได้” คุณศวิสาข์เสริม

คล้ายจะเป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซเหมือนกันนะ

ไม่เพียงเป็นสโมสรกีฬาที่ครบครันเท่านั้น แต่ยังเป็นคอมมูนิตี้ของคนรักกีฬาด้วย เธอบอกว่าที่นี่จัดกิจกรรมให้สมาชิกมีส่วนร่วมและสร้างความสัมพันธ์กัน อย่าง RQ Badminton Tournament การแข่งขันกีฬาแบดมินตันที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี และมี RQ Sports Camp for Kids กิจกรรมสำหรับเด็กๆ นอกจากความสนุกสนานยังได้ฝึกทักษะกีฬาไปพร้อมกัน

ปีนผาจำลอง
The Racquet Club สโมสรกีฬาของชาวสุขุมวิทที่ยืนหยัดผ่านความเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ปี 23

ก่อนจบบทสนทนา มีคำถามสุดท้ายที่ฉันชั่งใจอยู่นานว่าจะถามดีหรือไม่ สุดท้ายก็รวบรวมความกล้าแล้วเอ่ยถามไปว่า “ตอนนี้ที่ดินย่านสุขุมวิทราคาสูงมาก ทำไม่ถึงไม่ขายหรือเปลี่ยนไปทำเป็นอพาร์ตเมนต์หรือคอนโดฯ ให้หมด” คุณอมราและคุณศวิสาข์หันไปสบตากัน ก่อนผู้เป็นป้าจะตอบคำถามยิ้มๆ

“เรามองว่ามันเป็นธุรกิจครอบครัว จากคุณพ่อคุณแม่และลูกห้าคน แต่งงานไปก็เป็นสิบคน แล้วก็มีหลาน ฉะนั้น มันก็เป็นอะไรสำหรับครอบครัวสำหรับลูกหลานของเราเหมือนกัน”

ทิ้งเวลาไว้ชั่วครู่ ฉันหันสบตาคุณศวิสาข์ก่อนเธอจะตอบคำถามเดียวกันด้วยสายตาที่ทอดมองไปข้างหน้า

“มีแต่คนถามว่าทำไมไม่คิดจะขาย เพราะขายมันได้เยอะกว่าบริหารจัดการเองเราไม่ได้อยากได้รายได้เยอะมากๆ แต่อยากสร้างคอมมิวนิตี้สไตล์ Healthy Living มากกว่า ถ้าพูดแง่ธุรกิจ การเปิดพื้นที่ให้เช่าได้เงินเยอะกว่าทำสปอร์ตคลับอยู่แล้ว เพราะว่าค่าใช้จ่ายไม่ได้มากเท่า ส่วนงานบริการ ต้องจัดการอะไรเยอะ แต่มันก็ช่วยถัวๆ กันไป 

The Racquet Club สโมสรกีฬาของชาวสุขุมวิทที่ยืนหยัดผ่านความเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ปี 23

“เราถือว่าเราสร้างคอมมูนิตี้ เราทำเพื่อสังคมในย่านนี้ เลยมองว่าถ้าไม่ขาดทุน พอมีรายได้ ก็โอเค ไม่ต้องเยอะมากนัก จริงๆ ทุกคนมีงานส่วนตัว อย่างรุ่นคุณป้าทุกคนไปทำงานข้างนอก ตรงนี้ก็ให้ธุรกิจรันของมันไปเรื่อยๆ

“เราคิดว่าต้องส่งต่อให้รุ่นลูกเราอีก เลยพยายามปรับให้ดีขึ้น แต่ละรุ่นก็มองต่างกัน อย่างคุณป้าจะให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยเป็นที่หนึ่ง สวยไม่สวยไม่เป็นไร แต่พอถึงรุ่นเรา เรามองว่ามันต้องดูดี คนเข้ามาถ่ายรูป บอกต่อ ค่อยๆ ปรับกันไปตามยุคสมัย”

เสียงหวดลูกขนไก่และเสียงรองเท้ากระทบบนพื้นปาร์เก้ยังคงดังอยู่อย่างเช่นทุกวัน แต่วันนี้ เสียงนั้นเปลี่ยนความรู้สึกฉันไปอีกแบบหนึ่งแล้ว

The Racquet Club สโมสรกีฬาของชาวสุขุมวิทที่ยืนหยัดผ่านความเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ปี 23


The Racquet Club

6,8 ซ.สุขุมวิท 49/9 ถ.สุขุมวิท คลองตันเหนือ วัฒนากรุงเทพฯ 10110

เปิดทุกวัน เวลา 06.00-23.00 น.

เบอร์โทร. 02-119-7200

ตอนนี้ Emporium Department Store กำลังมีคอลเลกชันพิเศษ ‘SUKHUMVIT COLLABORATIVE COLLECTION’ ที่ชวนร้านค้ากว่า 30 ราย ในย่านสุขุมวิทมาแนะนำตัวให้ทุกคนรู้จักตัวตนในแง่มุมใหม่ๆ ผ่านสินค้าที่แต่ละแบรนด์ร่วมมือกันจับคู่ทำชิ้นพิเศษขึ้นมาในธีม Life’s Good 

ตามไปสัมผัสตัวตนของคนสุขุมวิทและเข้าถึงชีวิตแบบ Life’s Good ได้ที่ ‘HERE’ Collaborative Concept Store 6 – 26 กันยายนนี้ ที่ Emporium Department Store ชั้น G

Writer

Avatar

ปาริฉัตร คำวาส

อดีตบรรณาธิการสื่อสังคมและบทความศิลปวัฒนธรรม ผู้เชื่อว่าบ้านคือตัวตนของคนอยู่ เชื่อว่าความเรียบง่ายคือสิ่งซับซ้อนที่สุด และสนใจงานออกแบบเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (กับเธอ)

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ