โลกใต้เกลียวคลื่นที่แสงอาทิตย์กำลังสาดส่องลงไปตามชั้นของผิวน้ำ ผ่านความสวยงามของปะการังหลากสี ฝูงปลาและสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ว่ายตามกันไปเป็นฝูง ฟองอากาศกระจายตัวออกมาตามกระแสน้ำและแรงโน้มถ่วงลงไปดำดิ่งสู่พื้นมหาสมุทร 

ในขณะที่แสงของดวงตะวันค่อย ๆ ดับลง ซากเรืออับปางจมอยู่ในความมืดสนิทที่ปกคลุมไปรอบบริเวณ โขดหินใต้ทะเลลึกที่เงือกน้อยกำลังนั่งคิดนอนคิดถึงชีวิตในความปรารถนา เหนือพื้นมหาสมุทร ที่ที่ผิวน้ำบรรจบกับเส้นขอบฟ้า ที่ที่เธอจะแหวกว่ายทวนกระแสน้ำขึ้นไปเดินบนพื้นทรายด้วยสองเท้า

เรื่องราวของ ‘แอเรียล’ (Ariel) เงือกสาวผมแดง ลูกสาวคนสุดท้องของราชาไตรตัน ผู้ปกครองแอตแลนติกา (Atlantica) อาณาจักรใต้ทะเลของชาวเงือกใน The Little Mermaid (เงือกน้อยผจญภัย) เวอร์ชันของ Walt Disney ที่กำกับโดย John Musker และ Ron Clements จากปี 1989 พูดถึงการออกเดินทางตามหาความหมายของชีวิต การสละทุกสิ่งเพื่อความรัก ในบริบทความขัดแย้งระหว่างกายภาพของตัวละครกับสภาพแวดล้อมของโลกใต้ทะเลและโลกบนพื้นดินของมนุษย์

สำรวจสถาปัตย์ The Little Mermaid โลกใต้ทะเลลึกที่มีชีวิตชีวาแต่ก็ซ่อนความน่าสะพรึง

เค้าโครงของเรื่องดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเรื่อง The Little Mermaid and Other Fairy Tales ของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน (Hans Christian Andersen) นักเขียนชาวเดนมาร์กจากปี 1837 เรื่องราวต้นฉบับถ่ายทอดความโศกเศร้า ความเจ็บปวดของรักที่ไม่สมหวัง และการเสียสละของนางเงือกน้อยในวัย 15 ปีที่มีต่อเจ้าชาย เธอจากลาครอบครัวเพื่อตามหาความรัก ยอมถูกตัดลิ้นเพื่อแลกมากับขาทั้งสองข้าง และเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นมนุษย์ แต่แล้วหัวใจกลับต้องแตกสลาย เมื่อท้ายที่สุด ผู้หญิงที่เจ้าชายมอบความรักตอบและแต่งงานด้วยไม่ใช่เธอ ทางเดียวในการแก้คำสาปแม่มดเพื่อกลับไปเป็นเงือกอีกครั้งคือการสังหารเจ้าชาย เธอซึ่งไม่อาจตัดใจสังหารชายผู้เป็นที่รักได้ จึงยอมให้ร่างแตกสลายกลายเป็นฟองคลื่นลอยไปตามคลื่นทะเลตามคำสาป ทว่าท้ายที่สุด ด้วยการกระทำและจิตใจที่บริสุทธิ์ เธอได้ร่วมเดินทางไปกับธิดาแห่งอากาศ กลายเป็นสายลมแห่งความหวังที่คอยปัดเป่าความทุกข์โศกแก่มวลมนุษย์ 

ในปี 2003 รูปปั้นนางเงือกบนโขดหินถูกสร้างขึ้น และตั้งอยู่บริเวณท่าเรือริมอ่าวโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เพื่อเป็นการยกย่องผู้เขียน และรูปปั้นนั้นก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองไปโดยปริยาย

แน่นอนว่าเงือกน้อยแอเรียลของดิสนีย์นั้นถ่ายทอดออกมาในแนวโรแมนติก การผจญภัยของชีวิตที่โหยหาอิสระ ความกระตือรือร้นเพื่อทำตามความปรารถนาที่เธอนั้นอยากออกสำรวจโลกมนุษย์ตามแบบฉบับเทพนิยายสักครั้งด้วยสายตาตนเอง แม้ว่าจะต้องท้าทายคำสั่งของผู้เป็นพ่อก็ตาม

สำรวจสถาปัตย์ The Little Mermaid โลกใต้ทะเลลึกที่มีชีวิตชีวาแต่ก็ซ่อนความน่าสะพรึง

Under the Sea 

สถาปัตยกรรมและการออกแบบฉากในโลกของ The Little Mermaid ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในโลกของการ์ตูน ตั้งแต่ฉากอาณาจักรใต้น้ำของชาวเงือกแอตแลนติกาที่ส่องแสงระยิบระยับ ห้องเก็บของสะสมใต้น้ำของแอเรียล ฉากของซากเรือที่อับปาง แหล่งกบดานในทะเลของแม่มดทะเล ‘เออร์ซูลา’ (Ursula) ไปจนถึงฉากของปราสาทสุดโรแมนติกริมชายฝั่งของ ‘เจ้าชายเอริก’ (Prince Eric) 

ด้วยการนำของ Michael Peraza Jr. และ Donald Towns ผู้กำกับฝ่ายศิลป์ โจทย์สำคัญของพวกเขาคือการถ่ายทอดความงดงามของอาณาจักรใต้น้ำที่มีชีวิตชีวา อีกด้านหนึ่งก็ต้องถ่ายทอดความมืดและความน่าสะพรึงกลัวของโลกใต้ทะเลที่ลึกลงไป แรงบันดาลใจจากธรณีวิทยาใต้ทะเล สัตว์และพืชทะเล รวมไปถึงซากปรักหักพังของอารยธรรมโบราณถูกนำไปผสมผสานเข้าด้วยกัน ความยากอย่างหนึ่งของฉากใต้น้ำคือการที่สภาพแวดล้อมนั้นไม่หยุดนิ่ง การสร้างฟองอากาศ ภาพพื้นหลังที่สั่นไหวไปมา รวมถึงการเคลื่อนไหวของแสงที่ส่องลงมา เข้ามาช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเอฟเฟกต์ของท้องมหาสมุทร ซึ่งเป็นกลวิธีที่ทีมผู้สร้างได้เรียนมาจากภาพยนตร์ก่อนหน้านี้

สำรวจสถาปัตย์ The Little Mermaid โลกใต้ทะเลลึกที่มีชีวิตชีวาแต่ก็ซ่อนความน่าสะพรึง
สำรวจสถาปัตย์ The Little Mermaid โลกใต้ทะเลลึกที่มีชีวิตชีวาแต่ก็ซ่อนความน่าสะพรึง

เมืองแอตแลนติกา อาณาจักรของชาวเงือก นำเสนอโครงสร้างของสถาปัตยกรรมที่คล้ายปะการังที่สลับทับซ้อนกัน ตั้งอยู่กับเนินเขาใต้ก้นบึ้งมหาสมุทร ประดับประดาด้วยเปลือกหอยเรืองแสงและพืชพรรณหลากสีสัน ประกายแสงสีเหลืองอำพันกระจายตามกระแสน้ำออกไปเป็นวงกว้าง โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมให้ความรู้สึกราวกับภูเขาใต้ทะเลลูกใหญ่ที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะให้กลายเป็นประติมากรรมทางสถาปัตยกรรมที่สร้างห้องต่าง ๆ ขึ้นมาประกอบกันเป็นพระราชวังขนาดใหญ่ ตัวปราสาทประกอบด้วยห้องนอนของชาวเงือก ห้องรับประทานอาหารขนาดใหญ่ โถงทางเดิน ห้องแสดงคอนเสิร์ต และห้องโถงท้องพระโรงที่ใช้จัดเป็นลานแสดงกลางแจ้ง ลานกว้างทรงกลมที่มีชั้นหินต่างระดับก่อตัวขึ้นมา บ้างเป็นอัฒจันทร์ บ้างเป็นเวที บ้างกลายเป็นชั้นตกแต่งบนเพดาน 

ฉากลานแสดงคอนเสิร์ตของปูทะเล ‘เซบาสเตียน’ ที่ปรึกษาคู่ใจของกษัตริย์ไตรตันเป็นอีกหนึ่งซีนที่สร้างสีสันให้ใต้ท้องทะเลผ่านบทเพลง Under the Sea ที่มีท่วงทำนองและจังหวะของดนตรีเรกเก้ กลิ่นอายของทะเลแคริบเบียน พื้นทรายสีส้ม เฟอร์นิเจอร์และเครื่องดนตรีที่สร้างขึ้นจากเปลือกหอยหลายสี พร้อมกุ้งหอยปูปลาที่ร่วมแจมขับร้องไปพร้อม ๆ กัน 

เมื่อสังเกตที่โทนสีพื้นหลังของฉากนี้ เราพบว่าโทนสีเฉดสีฟ้า-เขียวที่พบในฉากของพระราชวัง เปลี่ยนเพิ่มเฉดสีมากมายเข้าไป เปลี่ยนบรรยากาศและอุณหภูมิของท้องทะเลให้อบอุ่นมากขึ้น ซึ่งอาจจะเพราะพื้นเพเดิมของเซบาสเตียนเกิดนอกชายฝั่งของประเทศจาเมกา ก่อนจะอพยพหนีพายุไต้ฝุ่นลูกใหญ่มาก็เป็นได้

สำรวจสถาปัตย์ The Little Mermaid โลกใต้ทะเลลึกที่มีชีวิตชีวาแต่ก็ซ่อนความน่าสะพรึง

โครงกระดูก ไม้ผุกร่อน เหล็กขึ้นสนิม และเชือกผูกเรือที่พันกันไปมาของซากเรืออับปางกลายเป็นแหล่งขุมทรัพย์ของแอเรียลผู้หลงใหลในเรื่องราวของมนุษย์ เธอเพลิดเพลินไปกับการสำรวจวัตถุหน้าตาประหลาด สิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ที่เธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใช้ทำอะไร เธอเก็บสะสมมันในโพรงถ้ำที่มีชั้นหินเรียงตัวสูงขึ้นไปเป็นชั้นวางของสุดลูกหูลูกตา มีเพียงแสงสว่างจากบนผิวน้ำที่ส่องลงมายังห้องสะสมแห่งนี้ ภายในรายล้อมไปด้วยสิ่งของมากมาย ความล้ำค่าของสมบัติที่ไม่ได้ถูกตีค่าด้วยเงินตรา แต่เป็นด้วยคุณค่าความสวยงาม เครื่องประดับ ไข่มุก เพชร พลอย ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับเชิงเทียน ส้อมช้อน ภาพวาด อาวุธ หนังสือ นาฬิกา หรือแว่นตา คอลเลกชันของสะสมเผยให้เห็นถึงความปรารถนาของเธอที่ต้องการอิสระในโลกของมนุษย์เดินดิน

สำรวจสถาปัตย์ The Little Mermaid โลกใต้ทะเลลึกที่มีชีวิตชีวาแต่ก็ซ่อนความน่าสะพรึง
สำรวจสถาปัตย์ The Little Mermaid โลกใต้ทะเลลึกที่มีชีวิตชีวาแต่ก็ซ่อนความน่าสะพรึง

โทนสีม่วง-ดำในถ้ำของเออร์ซูลา แม่มดครึ่งปลาหมึกแห่งท้องทะเลกับลูกสมุนปลาไหลสุดเจ้าเล่ห์ 2 ตัว เผยเป็นนัยถึงความห่างไกลและความลึกลงไปของทะเล ตัวฉากสร้างขึ้นจากซากโครงกระดูกของสิ่งมีชีวิตขนาดมหึมา ภายในถ้ำมืดมนน่าสยดสยอง เต็มไปด้วยตัวอดีตมนุษย์เงือกที่ถูกสาป อย่างไรก็ตาม แม้ภาพสเกตช์แรกของทีมผู้กำกับศิลป์จะจินตนาการถึงซากโครงกระดูกของมังกรทะเลที่เกี่ยวพันอย่างละเอียดอ่อนรอบยอดเขาเรียวยาว นำไปสู่ปากที่เปิดกว้างไปยังฐานที่มั่น แต่คณะกรรมการส่วนใหญ่กลับมองว่าฉากนี้อาจน่ากลัวเกินไปสำหรับหนังดิสนีย์ 

สำรวจสถาปัตย์ The Little Mermaid โลกใต้ทะเลลึกที่มีชีวิตชีวาแต่ก็ซ่อนความน่าสะพรึง

เหนือผิวน้ำขึ้นมาบนหาดทรายสีขาว น้ำทะเลใส ๆ ไล่เฉดสีฟ้าเข้มไปจนอ่อน บรรยากาศชิลล์ ๆ ธีมแบบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ภาพบรรยากาศของโลกมนุษย์ที่ปราศจากมลพิษทางอากาศและท้องทะเล ปราสาทในเทพนิยายของเจ้าชายเอริกตั้งอยู่บนหน้าผาริมทะเล มองออกไปเห็นมหาสมุทร หอคอยสูงตระหง่าน ซุ้มประตูขนาดใหญ่ และบันไดวนที่ทอดยาวลงมาจากชานระเบียงไปยังชายหาดโดยตรง รูปทรงภายนอกถูกออกแบบด้วยเส้นโค้งเส้นเว้า ความมนของรูปทรงที่ไม่สมมาตร ลอกเลียนลักษณะรูปทรงธรรมชาติของโลกใต้ทะเล ตามแบบสถาปัตยกรรมแบบอาร์ตนูโว (Art Nouveau) ลวดลายธรรมชาติของเถาวัลย์ ดอกไม้ เปลือกหอย เกลียวคลื่น ผสานเข้าด้วยกันอย่างประณีตหรูหราตามกรอบประตูและหน้าต่างกระจกทรงสูง

สำรวจโลกใต้ทะเลใน The Little Mermaid สถาปัตย์ของอาณาจักรชาวเงือกที่งดงาม มีชีวิตชีวา แต่กลับไร้อิสระและน่าสะพรึง
สำรวจโลกใต้ทะเลใน The Little Mermaid สถาปัตย์ของอาณาจักรชาวเงือกที่งดงาม มีชีวิตชีวา แต่กลับไร้อิสระและน่าสะพรึง

การตกแต่งภายในของปราสาทแสดงในเห็นถึงความออร์แกนิกจากลวดลายของธรรมชาติที่สื่อถึงความโรแมนติกและเสน่ห์ของท้องทะเล องค์ประกอบของงานไม้แกะสลัก เครื่องเรือนที่หรูหรา ลวดลายวอลล์เปเปอร์ ลวดลายบนพื้นกระเบื้องหินโมเสก ลื่นไหลไปตามโถงและห้องต่าง ๆ ของตัวปราสาท ในซีนที่แอเรียลกลายเป็นมนุษย์เข้ามาในปราสาทนั้นเผยให้เราเห็นห้องน้ำที่มีอ่างอาบน้ำรูปทรงเปลือกหอยอีกด้วย กลิ่นอายของสถาปัตยกรรมอาร์ตนูโวมักปรากฏอยู่ในฉากของการ์ตูนเทพนิยาย ด้วยภาษาของการออกแบบที่นำแรงบันดาลใจมาจากสิ่งที่เราพบเห็นโดยทั่วไปตามธรรมชาติ แสดงให้เห็นถึงความหรูหราที่ไม่ซ้ำใคร ราวกับว่าสิ่งของต่าง ๆ ในปราสาทมีเพียงชิ้นเดียวในโลกอย่างไรอย่างงั้น 

Hyperreal World

สำรวจโลกใต้ทะเลใน The Little Mermaid สถาปัตย์ของอาณาจักรชาวเงือกที่งดงาม มีชีวิตชีวา แต่กลับไร้อิสระและน่าสะพรึง
Disneyland Paris, France

โลกแฟนตาซีของการ์ตูนดิสนีย์ไม่ได้กำจัดอยู่แค่ในโลกของจินตนาการเท่านั้น ฉากการผจญภัยใต้ทะเลของเงือกน้อยแอเรียลกลายมาเป็นปรากฏการณ์เชิงพื้นที่ (Phenomenon) ที่ได้ต่อยอดออกมาในโลกของความเป็นจริงผ่านสภาพแวดล้อมจำลองในสวนสนุกดิสนีย์แลนด์ (Disneyland) อาณาจักรแห่งความบันเทิงที่เข้าไปเติมเต็มเรื่องราวของฉากภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ยังต้องเคลิ้มตามไปกับสภาพแวดล้อมจำลองนี้ 

การทักทายต้อนรับของพาเหรดนักแสดงคอสเพลย์ที่สวมบทบาทเป็นเหล่าตัวการ์ตูน เครื่องเล่นสวนสนุกที่ยึดโยงกับเรื่องราวและธีมจากภาพยนตร์ สินค้า ของที่ระลึก และสำคัญที่สุดคืองานสถาปัตยกรรมที่จำลองฉากสำคัญ ๆ ของเรื่องแต่ละเรื่องออกมา 

ไม่ว่าจะเป็นฉากปราสาทเจ้าหญิงเจ้าชาย ไปจนถึงฉากโลกใต้ทะเลของนางเงือกน้อย ประสบการณ์เชิงพื้นที่ที่เกิดขึ้นด้วยการออกแบบ ‘สถาปัตยกรรมเพื่อการเล่าเรื่อง’ ณ จุด ๆ นี้สถาปัตยกรรมไม่ได้ทำหน้าที่สร้างพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยอีกต่อไป แต่กลายเป็นเครื่องมือกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกและจินตนาการของผู้มาเยือนไปเสียแล้ว

สำรวจโลกใต้ทะเลใน The Little Mermaid สถาปัตย์ของอาณาจักรชาวเงือกที่งดงาม มีชีวิตชีวา แต่กลับไร้อิสระและน่าสะพรึง
The Little Mermaid : Ariel’s Undersea Adventure, California, USA

ดิสนีย์แลนด์เปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 1955 ในเมืองอนาไฮม์ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ก่อนค่อย ๆ ขยายอาณาจักรออกไปในประเทศต่าง ๆ โดยในปัจจุบันมีทั้งหมด 6 แห่ง กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ทำให้ 1 วันของใครหลาย ๆ คนเป็นวันที่น่าอัศจรรย์ ประหนึ่งเมืองที่เปิดโอกาสให้ผู้คนหลบหนีออกจากโลกความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน เหมือนกับแอเรียลใน The Little Mermaid ที่ต้องการหนีออกจากโลกใต้ทะเล ไม่ต่างกันกับความย้อนแย้งในการออกแบบดิสนีย์แลนด์และทฤษฎีสถาปัตยกรรม ซึ่งตั้งคำถามให้ผู้คนได้ฉุกคิดว่า อะไรกันแน่คือโลกแห่งความเป็นจริง 

Jean Baudrillard นักปรัชญาและนักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศส กล่าวถึงดิสนีย์แลนด์ไว้ในหนังสือ Simulacra and Simulation ของเขาในปี 1981 ว่า “Disneyland is presented as imaginary to make us believe that the rest is real.” เขาจำกัดความถึง ‘สภาวะเหนือความจริง (Hyperreal Space)’ ในการออกแบบสถาปัตยกรรมของดิสนีย์แลนด์ที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่างความจริงกับจินตนาการพร่ามัว เมื่อฉากอาณาจักรใต้น้ำในภาพยนตร์ (ซึ่งนักวาดการ์ตูนลดทอนรายละเอียดของท้องทะเลจริง ๆ ออกมาในผลงาน) ถูกยกขึ้นมาไว้บนพื้นดิน โดยมีเปลือกนอกที่ถอดแบบรายละเอียดและการตกแต่งเชิงสัญลักษณ์มากจากพิมพ์เขียวของฉากในการ์ตูน ซึ่งมีความมน ๆ มีความเทพนิยาย แต่ภายในสิ่งปลูกสร้างเหล่านั้นก็ยังยึดโยงกับโครงสร้างทางวิศวกรรมของโลกความจริงอยู่ดี

สำรวจโลกใต้ทะเลใน The Little Mermaid สถาปัตย์ของอาณาจักรชาวเงือกที่งดงาม มีชีวิตชีวา แต่กลับไร้อิสระและน่าสะพรึง

ในด้านหนึ่ง ความซับซ้อนและความขัดแย้งในการทำซ้ำระหว่างของจริงและเทียม ไม่ได้ทำให้มนต์เสน่ห์ในโลกแห่งจินตนาการนี้หายไปแต่อย่างไร ผู้คนต่างพร้อมที่จะหลุดเข้าไปสู่โลกเหนือจริงด้วยความสมัครใจชั่วคราว เพื่อดื่มด่ำไปกับเรื่องราว ตัวละคร และฉากที่สร้างขึ้น เพราะในนัยหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกใต้ทะเลของ The Little Mermaid ไม่มีอยู่จริง 

หลังจากอ่านบทความนี้แล้ว ผมขอตั้งคำถามว่า เมื่อคุณดู The Little Mermaid จบแล้ว พวกคุณอยากไป Disneyland หรือลงไปดำน้ำใต้ท้องทะเลมากกว่ากันครับ 🙂

ข้อมูลอ้างอิงและภาพประกอบ
  • Clements, Ron, and John Musker. The Little Mermaid. Buena Vista Pictures, 1989.
  • The Little Mermaid,Hans Christian Andersen, (1836) hca.gilead.org.il/li_merma.htm
  • michaelperaza.blogspot.com/2010/03/the-making-of-mermaid.html
  • disney.fandom.com/wiki/Atlantica
  • disneyland.disney.go.com/attractions

Writer

Avatar

วีรสุ แซ่แต้

เนิร์ดสถาปนิกสัญชาติไทยที่จบการศึกษาและทำงานอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ หลงใหลในสถาปัตยกรรมและแสวงหาความหมายของสถาปัตยกรรมที่มีจิตวิญญาณ